การทำงานในประเทศจีนสอนให้ผมรู้ว่า เครื่องมือดีหรือไม่อยู่ที่คนใช้ ก็เปรียบเสมือนการใช้ Martech Platform ที่แม้จะออกแบบมาดีแค่ไหน แต่ถ้าเราใช้แบบไม่เข้าใจ Insight ของคน ก็เหมือนกับเราเอากระบี่อันดับหนึ่งไปให้คนไม่เป็นวรยุทธ์ใช้ (พูดเป็นหนังกำลังภายในไปนั่น)
วันนี้ผมเลยอยากจะชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจ Market Calendar ที่ว่าด้วยวันหยุด และช่วงเวลาสำคัญสำหรับการทำการตลาดของประเทศจีนในรอบปี โดยจะขอแบ่งออกเป็น 3 ช่วงของปีนะครับ
ยาวไป อยากเลือกอ่าน?
มกราคม – เมษายน
ช่วงวันปีใหม่สากลอาจจะไม่ค่อยคึกคักเท่าไหร่ เพราะคนจีนมองว่าไม่ใช่ปีใหม่ของเขา แต่ก็ถือเป็นความสนใจในหมู่วัยรุ่น รวมถึงการพบปะเพื่อนฝูงในบรรยากาศหน้าหนาว
แต่ Highlight สำคัญจะอยู่ที่ปลายมกราคมที่คึกคักมาก ๆ ในการออกแคมเปญทางการตลาดล้อไปกับเทศกาลที่คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมด้วย เด็กนักเรียนที่เรียนต่างประเทศหลายครอบครัวก็นิยมบินกลับมาในช่วงปิดเทอมใหญ่ปลายปี และขยายวันหยุดอยู่ถึงตรุษจีน
ส่วนกุมภาพันธ์ช่วงเทศกาลโคมไฟเชื่อมต่อกับวาเลนไทน์ จะเป็นของวัยรุ่น วัยทำงาน และการเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
เดือนมีนาคมจะเป็น Theme ของผู้หญิงเพราะมีวันสำคัญของผู้หญิงสองวันติดคือ Girl’s Day และ International Women’s Day เราจะเห็นกิจกรรมการตลาด หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวกับผู้หญิงเปิดตัวช่วงนี้บ่อย และที่ขาดไม่ได้คือช่วงเปิดเทอมของเด็กนักเรียนจีน
ส่วนเดือนสุดท้ายในไตรมาสแรกอย่างเมษายน ชาวไทยเชื้อสายจีนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับเทศกาลเชงเม้งที่ไหว้บรรพบุรุษ เดือนนี้ก็เป็นอีกเดือนที่นิยมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับ Outdoor เพราะเป็นช่วงเวลาอากาศดีที่ผู้คนทำกิจกรรมนอกบ้านกันเยอะ
พฤษภาคม – สิงหาคม
เดือนแรกในไตรมาสที่สองของปี ถือว่าเข้าหน้าร้อนจีนอย่างเป็นทางการ มีวันสำคัญอย่างวันแรงงาน และวันแม่นะครับ ซึ่งเดือนพฤษภาคมมักจะเป็น Theme การขอบคุณในสิ่งที่ผู้มีพระคุณทำให้กับเรา และยังมีความเชื่อว่า เดือนนี้เป็นเดือนที่เชื่อว่าการกินบ๊ะจ่าง จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้าย และถือเป็นการอวยพรด้วย
ส่วนมิถุนายน เป็นเดือนที่การแข่งขันทางด้านการตลาดร้อนแรงมาก ๆ ครับ เพราะประกอบไปด้วยวันเด็ก เทศกาลช้อปปิ้ง 618 ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลอะไรแบบนั้น ที่เจ้าภาพหลักคือ แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง จิงตง (京东) และการสอบเกาเข่า (高考) คือการสอบเอนทรานซ์ของจีน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมจีนที่ผู้ปกครองคาดหวังในเรื่องการศึกษาลูกมาก ๆ
ดังนั้นเดือน 6 ของปี เป็นช่วงสำคัญในการทำการตลาดที่พลาดไม่ได้เช่นกัน ส่วนเดือนกรกฎาคมจะลดอุณหภูมิของการลดแลกแจกแถมลงมา เพราะวันสำคัญในเดือนนี้จะมี วันสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นวันเดียวกับการส่งมอบ Hong Kong คืนกลับประเทศจีน มีข้อมูลจาก Social Listening เพิ่มเติมว่า เดือนนี้จะเป็นเดือนที่คนให้ความสนใจกับการทาน Healthy กันเป็นพิเศษ
ส่วนเดือนสุดท้ายในไตรมาสอย่างสิงหาคมมีความน่าสนใจคือเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และมีวันน่ารัก ๆ อย่าง ชีซีเจี๋ย (七夕节) หรือวาเลนไทน์จีนนี่เอง ซึ่งระดับความร้อนแรงของ Keyword เกี่ยวกับความรักที่ค้นหาในช่วงนี้ก็สูสีกับวันวาเลนไทน์เลย รวมถึงการค้นหาแหล่งขอพรอธิษฐาน หรือสิ่งของที่มีความหมายในด้านส่งเสริมความรักในช่วงนี้ก็จะเป็นที่นิยมเป็นพิเศษ
กันยายน – ธันวาคม
โค้งสุดท้ายของปีเริ่มที่เดือน 9 อย่างเดือนกันยายนจะมีความน่าสนใจที่วันครู และช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวมากกว่า 5,000 กิจกรรม มีการจัดการแสดงต่างๆ การท่องเที่ยวชนบท ไลฟ์โชว์ เทศกาลอาหารจานเด็ด การแข่งขันกีฬา และอื่น ๆ อีกหลากหลายกิจกรรมทั่วทุกพื้นที่ประเทศจีน
เดือนตุลาคมเป็นอีก Highlight ที่คนทำตลาดจีนพลาดไม่ได้เพราะเป็นช่วง Golden Week วันชาติจีน คาบเกี่ยวกับช่วงไหว้พระจันทร์ ซึ่งช่วงนี้จะหยุดกันจริงจัง ตามสนามบิน สถานีรถไฟผู้คนจะหนาแน่นมาก ๆ แบรนด์ต่าง ๆ ก็จะมีโปรโมชั่นเฉลิมฉลองมามากมาย ผมเองก็มักจะรอซื้อของในช่วงนี้ประจำครับเพราะราคาดีจริง ๆ
ส่วนพฤศจิกายนก็ถือว่าเข้าหน้าหนาวอย่างเป็นทางการ พร้อมเทศกาลที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง 11.11 ที่กระตุ้นยอดกันต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ไปจนถึง Thanks Giving และ Black Friday เลย คนจีนยุคใหม่ถูกกระตุ้นทุกเทศกาลนะครับ แต่จะแสดงออกมากน้อยก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงวัย จนมาถึงเดือนสุดท้ายของปี จริง ๆ ก็มีการเก็บตกตั้งแต่ 12.12 คริสมาสต์
วันปีใหม่ ที่คาแรคเตอร์ของเดือนนี้จะเน้นคนรุ่นใหม่เป็นหลักเพราะเป็นเทศกาลทางตะวันตก เน้นแนวเพื่อนออกมาสังสรรค์กันครับ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ จะถูกประดับไฟสวยงามเพื่อรับเทศกาล แต่ละเมืองก็จะมีเลเวลการเฉลิมฉลองต่างกันไป บางที่ไม่ได้บอกว่าประดับไฟคริสมาสต์ แต่ใช้การประดับไฟเพื่อฉลองเทศกาลโคมไฟล่วงหน้าในปีถัดไปเลย
สรุป
เป็นยังไงบ้างครับ สำหรับข้อมูลกิจกรรมการตลาดในปี 2025 ของจีน ถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดเต็ม ๆ ก็ดาวน์โหลดกันได้เลย ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับคนที่ต้องการทำตลาดกับคนจีน ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่นักท่องเที่ยวมาไทย หรือจะเป็นการทำตลาดในประเทศจีนเอง
💡 Shifu แนะนำ
ชวนมาทำความเข้าใจ Market Calendar ที่ว่าด้วยวันหยุด และช่วงเวลาสำคัญสำหรับการทำการตลาดของประเทศจีนในรอบปี ดาวน์โหลด Resource ได้ที่นี่

จริง ๆ แล้ว ในจีนเองก็มีเครื่องมือสำหรับการทำ Content Schedule ให้ตรงกับ Season เหมือนกันนะครับ เป็น Platform จีน สำหรับการดูแล Social Media ที่ครอบคลุมทุก Platform หลัก ๆ ในประเทศจีนเลย ซึ่งเราสามารถรวมศูนย์การทำงานมาที่ทีม Content ของเราได้ และที่สำคัญ ทำงานง่ายมาก และทำจากต่างประเทศได้ เพราะส่วนใหญ่ Platform ของจีนเวลาที่เราใช้ International Version จะใช้ Feature บางอย่างเหมือนในประเทศจีนไม่ได้ เช่น TikTok กับ Douyin แต่ด้วยวิธีนี้ถ้าเรามี Social Media ที่ทำในเวอร์ชั่นจีน ก็สามารถให้ทีมงานที่นั่งอยู่เมืองไทย หรือที่ไหนในโลกก็ใช้ได้เหมือนกันผ่าน Social Media Management Platform ก็ช่วยทำให้เราสามารถทำงานกับจีนได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีทีมอยู่ในประเทศจีนเลยด้วยซ้ำ
ตาคุณแล้ว
จริง ๆ แล้วโลก MarTech จีนกว้างใหญ่มาก ไว้คราวหน้าผมจะพาเข้าสู่การหาข้อมูลรีเสิร์ช สำหรับคนที่อยากทำความเข้าใจตลาดจีนแต่ยังไม่มีพื้นฐาน ไว้ติดตามกันตอนต่อไปครับ