ซับโดเมน (sub domain) หรือ ซับไดเรกทอรี (sub directory) ดี?

คำถามนี้เป็นคำถามคลาสสิกที่ผมมักจะถูกลูกค้าหรือคนรู้จักถามเป็นประจำ เวลาที่พวกเขาต้องการที่จะต่อเติมเว็บไซต์เดิมของพวกเขา

ก่อนที่จะเข้าไปสู่การเปรียบเทียบ ผมขออธิบายความหมายของคำสองคำนี้และยกตัวอย่างก่อนเพื่อจะได้เข้าใจตรงกันนะครับ

สมมติว่าผมต้องการต่อเติมเว็บไซต์ contentshifu.com ให้มีฟีเจอร์เกี่ยวกับเรื่องหางานขึ้นมา

  • ถ้าผมตัดสินใจเลือกซับโดเมน หน้าตาของ URL ก็จะเป็น jobs.contentshifu.com
  • แต่ถ้าผมเลือกเป็นซับไดเรกทอรี (หลายๆ ที่เรียกว่าซับโฟลเดอร์) หน้าตาของ URL ก็จะเป็น contentshifu.com/jobs

ตำแหน่งของ jobs สลับกันนิดเดียว แต่ในเชิงเทคนิคและการใช้งานจริงแล้วมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก

ถ้าคุณกำลังจะต่อเติมเว็บไซต์ใหม่ของคุณ แต่ยังลังเลไม่แน่ใจว่าจะเลือกซับโดเมนหรือซับไดเรกทอรีดี ผมมั่นใจว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอนครับ 🙂

เทียบกันชัดๆ sub domain vs sub directory ใครแพ้ใครชนะ

ผมขอเปรียบเทียบระหว่างซับโดเมนกับซับไดเรกทอรีในทั้งหมด 5 แง่มุมนะครับ

1. ความง่ายในการ Setup และความยืดหยุ่น

ความง่ายในการ Setup และความยืดหยุ่นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญเวลาเลือกพิจารณาระหว่างซับโดเมนกับซับไดเรกทอรีเพราะมันเกี่ยวพันกับชีวิตในอนาคตของคุณ ถ้าเลือกผิด มันจะทำให้คุณเป็นหนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) และชีวิตของคุณในอนาคตยากขึ้นอีกเยอะ

ลองมาดูกันว่าซับโดเมนหรือซับไดเรกทอรีจะง่ายและยืดหยุ่นกว่า

การใช้ sub domain นั้นเปรียบเสมือนว่าคุณสร้างเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งเว็บไซต์โดยที่ sub domain กับเว็บไซต์เดิมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเชิงระบบเลย เช่นคุณสามารถใช้ภาษา .NET ในการสร้างเว็บไซต์หลัก แต่ใช้ WordPress ในการทำเว็บไซต์ที่เป็นซับโดเมนก็ได้

แต่ถ้าเป็น sub directory การใช้ระบบหรือเทคโนโลยีที่ต่างกันนั้นทำได้ยากกว่าการใช้ sub domain ยิ่งถ้าเป็นเว็บไซต์ใหญ่ (อย่างเช่นเว็บไซต์ของบริษัทมหาชน) หรือเว็บไซต์ที่มีนโยบายการรักษาความปลอดภัยที่สูง (อย่างเช่นเว็บไซต์ธนาคาร) การสร้างหรือเขียนระบบขึ้นมาเชื่อมกับเว็บไซต์หลักแบบเป็นซับไดเรกทอรีก็จะยิ่งซับซ้อน

เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องความง่ายในการ Setup และความยืดหยุ่นผู้ชนะคือ sub domain

2. ความเป็นมิตรกับ Search Engine

หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการมีเว็บไซต์คือการถูกค้นเจอโดย Search Engine เพราะฉะนั้นเวลาจะเลือกระหว่างซับโดเมนกับซับไดเรกทอรี คุณจะต้องดูด้วยว่าทางเลือกไหนให้ผลลัพธ์ที่ดีกับ Search Engine มากกว่ากัน

ผมมีแนวคิดและกรณีศึกษาจากเว็บไซต์ต่างประเทศมาแชร์ให้ได้ดูกัน

Rand Fishkin ซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อตั้ง Moz (หนึ่งในเว็บไซต์เกี่ยวกับ SEO ที่ได้รับการยอมรับที่สุดในโลก) ได้แชร์ความเห็นไว้ว่า “From an SEO perspective, everything on one sub and root is really ideal” หรืออธิบายเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่าถ้ามองจากมุมของ SEO การมีเว็บไซต์เพียงแค่เว็บเดียว (ใช้ซับไดเรกทอรี) ดีที่สุด

แต่คนจาก Google กลับเห็นต่างออกไป ซึ่งเขาได้แชร์ในช่อง YouTube ของ Google Webmaster ว่าซับโดเมนและซับไดเรกทอรี (ซับโฟลเดอร์) ให้ผลทาง SEO เหมือนกัน

ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผม ผมเชื่อ Rand มากกว่าเพราะ Rand ให้ข้อมูลและโต้เถียงโดยอิงจากผลลัพธ์และสถิติจริง (Rand ได้แชร์บทความเหล่านี้ The Sub-Domain vs. Sub-Directory SEO Debate Explained In One Flow Chart และ SEO penalties of moving our blog to a subdomain)

นอกจาก Rand แล้วยังมีผลลัพธ์และสถิติจากหลายคนและหลายเว็บที่บอกว่าซับไดเรกทอรีให้ผลลัพธ์ทาง SEO ดีกว่า (ผมชอบบทความนี้ของ cognitiveseo มากเพราะเขารวมความเห็นของ Expert หลายๆ คนไว้ในบทความเดียว) ในทางกลับกัน ผมยังไม่พบว่ามีใครหรือเว็บไซต์ไหนที่ทดสอบแล้วสรุปว่า sub domain ให้ผลลัพธ์ทาง SEO ที่ดีกว่าซับไดเรกทอรีเลย

เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องความเป็นมิตรกับ Search Engine ผมขอยกให้ซับไดเรกทอรีเป็นฝ่ายชนะ

3. ประสิทธิภาพ (และความเร็ว) ของเว็บไซต์

Kissmetrics ของ Neil Patel บอกว่าคนกว่า 47% คาดหวังว่าเว็บไซต์จะโหลดเร็วกว่า 2 วินาที และคน 40% จะออกจากเว็บไซต์ถ้าเว็บไซต์นั้นๆ ใช้เวลาโหลดนานกว่า 3 วินาที ขณะที่สถิติเกี่ยวกับเว็บไซต์ของ Amazon บอกไว้ว่าทุก 1 วินาทีที่ amazon.com โหลดช้าลง พวกเขาจะเสียรายได้ไป 1.6 ล้านเหรียญ

ธุรกิจของคุณอาจจะไม่เสียหายจากการที่เว็บไซต์โหลดช้าเหมือนกับ Amazon แต่คุณน่าจะพอเห็นแล้วว่าประสิทธิภาพ (ความเร็ว) ของเว็บไซต์นั้นสำคัญขนาดไหน

การที่ sub domain นั้นเปรียบเสมือนเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งเว็บไซต์ ทำให้ตัวเว็บไซต์บนซับโดเมนนั้นไม่จำเป็นต้องติดซอฟต์แวร์หรือ Script ให้เหมือนกับเว็บไซต์หลัก แต่ถ้าเป็นซับไดเรกทอรี มีโอกาสสูงที่ซอฟต์แวร์และ Script ต่างๆ นั้นจะถูกผูกติดกับเว็บไซต์หลัก

นอกจากนั้นแล้วสำหรับเว็บไซต์ที่เป็นซับโดเมน คุณสามารถใช้เชิร์ฟเวอร์ที่แยกออกจากเว็บไซต์หลักได้ ซึ่งทำให้เวลาที่เว็บไซต์หลักล่ม เว็บไซต์ที่เป็นซับโดเมนนั้นคุณยังคงใช้งานได้อยู่ (ในขณะที่ซับไดเรกทอรีนั้นจะล่มตามเว็บไซต์หลัก)

เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกันในเรื่องของประสิทธิภาพ (และความเร็ว) ของเว็บไซต์ sub domain เป็นฝ่ายชนะครับ

4. การวิเคราะห์และติดตามผล

นอกจากเรื่อง Seach Engine แล้ว การวิเคราะห์และติดตามผลถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญในการพิจารณาระหว่าง sub domain และ sub directory

เพราะการจะพัฒนาอะไรบางอย่างต้องเริ่มต้นจากการวัดผล ยิ่งวัดผลได้ดี ยิ่งรู้ถึงข้อจำกัด ปัญหา และแนวทางในการปรับปรุง ซึ่งจะทำให้สิ่งนั้นๆ มีโอกาสที่จะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป

เมื่อเทียบกันแล้ว การวิเคราะห์และติดตามผลซับโดเมนจะทำได้ยากกว่าเพราะอย่างที่บอกไปว่าการสร้างซับโดเมนขึ้นมาใหม่นั้นเปรียบเสมือนการที่คุณสร้างเว็บใหม่ ซึ่งจะไม่เหมือนกับซับไดเรกทอรีที่ทุกอย่างอยู่ในที่เดียวกัน

อธิบายให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นเช่นถ้าคุณต้องการติด Google Analytics, Google Tag Manager, Facebook Pixels หรือ Script อะไรก็แล้วแต่ทั้งบนเว็บไซต์หลักและซับโดเมน คุณจะต้องติด Script เหล่านี้ 2 รอบ (ถ้าคุณมีซับโดเมน 5 อัน ก็ 5 รอบ) เพราะฉะนั้นแล้วในทางปฏิบัติจริงการที่คุณจะรวมข้อมูลของทุกเว็บไซต์และนำมาวิเคราะห์จึงทำได้ยาก

สำหรับยกนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องการวิเคราะห์และติดตามผล ซับไดเรกทอรีเป็นฝ่ายชนะครับ

5. ความน่าเชื่อถือ

สำหรับในข้อนี้ ผมคิดว่าถ้าคุณเลือกใช้ชื่อให้ดูมืออาชีพและเข้าใจง่าย ความน่าเชื่อถือสำหรับ sub domain และ sub directory แทบจะไม่ต่างกันครับ (เช่น ถ้าเป็นเกี่ยวกับเรื่องงาน การเลือกใช้ jobs.website.com กับ website.com/jobs ก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างกันครับ)

สำหรับยกนี้ ผมคิดว่าเสมอกันครับ

ซับโดเมน

สรุป

ในความเห็นของผม ถ้าคุณอยากให้ Section ที่คุณอยากจะสร้างใหม่ได้รับผลประโยชน์ทางด้าน SEO อย่างเต็มที่จากเว็บไซต์ (เช่นถ้า Section ที่คุณสร้างใหม่คือบล็อก) และอยากที่จะสามารถวิเคราะห์และติดตามผลต่างๆ บนเว็บไซต์ได้อย่างสะดวก คุณควรจะเลือกใช้ซับไดเรกทอรี

แต่ถ้าคุณต้องการที่จะ Setup Section ใหม่อย่างง่ายๆ และ Section ใหม่นั้นไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์หลักมากนัก (เช่นพวก Software as a Service อย่าง MailChimp หรือ Asana ที่มักจะใช้เทคโนโลยีง่ายๆ มาสร้างเว็บไซต์หลักเพื่อจุดประสงค์ในการดึงดูดลูกค้า และใช้เว็บไซต์หรือเทคโนโลยีอีกส่วนในการให้บริการลูกค้าจริงๆ) คุณก็ควรจะเลือกใช้ sub domain

เลือกให้ถูก เลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานของคุณ และชีวิตคุณจะดีขึ้นและง่ายขึ้นอีกเยอะในระยะยาวครับ!

ตาคุณแล้ว

คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการเลือกใช้ sub domain และ sub directory ที่ผมเขียนขึ้นมา มาแชร์กันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ