ในยุคที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคน รวมถึงในการทำการตลาดที่ต้องอาศัยข้อมูลที่หลากหลายเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการตลาดที่แม่นยำ API หรือ Application Programming Interface จึงกลายเป็นเครื่องมือที่นักการตลาดรุ่นใหม่ควรรู้จักและใช้งานให้เป็น เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และประสิทธิภาพในการทำงานที่มากยิ่งขึ้น
แต่ API คืออะไร? ใช่ทำอะไรได้บ้าง? แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในการทำการตลาดได้อย่างไร? มาหาคำตอบได้ในบทความนี้!
ยาวไป อยากเลือกอ่าน?
API คืออะไร ทำงานอย่างไร
API หรือ Application Programming Interface ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างซอฟต์แวร์สองตัวที่แตกต่างกัน ผ่านการส่งคำขอและตอบสนองตามฟังก์ชันการทำงานเพื่อให้ซอฟต์แวร์ทั้งสองตัวสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อเราต้องการเช็กสภาพอากาศ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ แอปนั้นไม่ได้เก็บข้อมูลสภาพอากาศไว้เอง แต่ใช้ API ดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา หรือเวลาเราสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันของร้านอาหาร แอปนั้นจะใช้ API สื่อสารกับระบบของร้านอาหารเพื่อส่งคำสั่งและรับการยืนยัน เป็นต้น
API มีกี่ชนิด
จริง ๆ แล้ว การจำแนกประเภทของ API นั้น มีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับมุมมองและเกณฑ์ที่ใช้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ประเภทของ API ที่พบบ่อยและเป็นที่นิยมใช้กันมีดังนี้
- Private API: API ที่ใช้งานภายในองค์กรเท่านั้นและไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้งาน ใช้ในการเชื่อมต่อและประสานงานระหว่างระบบภายในขององค์กร โดยมักใช้สำหรับระบบภายในองค์กรที่ต้องการความปลอดภัยสูง
- Public API: API ที่เปิดให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไปและนักพัฒนาทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มักใช้สำหรับบริการที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลหรือฟังก์ชันการทำงานให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป เช่น การสร้างแอปพลิเคชัน การเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย หรือข้อมูลสภาพอากาศ เพื่อช่วยในการกระจายข้อมูลและบริการ เพิ่มความยืดหยุ่นในการพัฒนาแอปพลิเคชัน
- Composite API: API ที่รวมการเรียกใช้หลาย ๆ API เข้าด้วยกันเพื่อดำเนินการที่ซับซ้อนในคำขอเดียว ใช้ในการลดจำนวนการเรียก API เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างระบบ ลดเวลาและทรัพยากรในการเรียกใช้ API หลาย ๆ ครั้ง และเพิ่มความสะดวกในการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อน
- Partner API: API ที่เปิดให้เฉพาะพันธมิตรทางธุรกิจหรือคู่ค้าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น มักใช้สำหรับบริการที่มีข้อตกลงทางธุรกิจหรือต้องการควบคุมการเข้าถึง เช่น ระบบการชำระเงิน หรือการจัดการลูกค้า เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลและการใช้งาน และสร้างความร่วมมือที่มั่นคงระหว่างองค์กร
API สำคัญอย่างไรในเชิงการตลาด
API หรือ Application Programming Interface เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมต่อที่ช่วยให้นักการตลาดสามารถเข้าถึงข้อมูล ฟังก์ชันการทำงาน และเครื่องมือต่าง ๆ จากหลากหลายแหล่ง และยังมีความสำคัญในด้านอื่น ๆ ได้แก่
รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง

นักการตลาดสามารถใช้ API เพื่อดึงข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เว็บไซต์วิเคราะห์ และเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ติดตามพฤติกรรมลูกค้า เพิ่มเข้าใจเทรนด์ตลาด และวัดผลประสิทธิภาพของแคมเปญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น สามารถเชื่อมต่อกับ APIของ Facebook เพื่อดึงข้อมูล insights เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย หรือใช้ API ของGoogle Analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าชมเว็บไซต์เพื่อพัฒนาแคมเปญการตลาดต่อไป
วิเคราะห์ข้อมูลแม่นยำ

API ช่วยให้นักการตลาดสามารถนำข้อมูลจากหลายแหล่งมารวมและวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลบางชนิดมี API ที่ช่วยให้นักการตลาดเชื่อมต่อข้อมูล นำเสนอข้อมูลเชิงลึก และสร้างรายงานโดยไม่ต้องใช้โค้ด โดยนักการตลาดสามารถใช้ API ของGoogle Analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าชมเว็บไซต์ ร่วมกับข้อมูล CRM เพื่อสร้างภาพรวมของลูกค้าที่สมบูรณ์ได้
เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
อย่างที่บอกว่า API เปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างซอฟต์แวร์สองตัวที่ช่วยประสานให้ทั้งสองซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล API จึงช่วยให้นักการตลาดสามารถทำงานอัตโนมัติ ประหยัดเวลา และลดข้อผิดพลาด เช่น การเชื่อมต่อกับ API ของระบบ CRM เพื่ออัปเดตข้อมูลลูกค้าโดยอัตโนมัติ หรือใช้ API ของเครื่องมือโฆษณาเพื่อสร้างและจัดการแคมเปญโฆษณา
ปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า
อีกหนึ่งประโยชน์ของ API ในเชิงของการตลาดก็คือ การเพิ่มความประทับใจให้กับลูกค้า ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ราบรื่นและตรงใจลูกค้า ช่วยในการจัดการข้อมูลลูกค้าเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าได้ดีขึ้น เช่น การเชื่อมต่อกับ API ของระบบชำระเงินเพื่อให้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้สะดวก หรือใช้ API ของระบบแชทบอทเพื่อตอบคำถามและให้บริการลูกค้าได้อย่างตรงจุด
เชื่อมโยงระบบการทำงานได้อย่างราบรื่น

API ยังช่วยให้นักการตลาดเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ภายในองค์กร เข้าด้วยกัน ช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการระบบและเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างทีม เช่น การเชื่อมต่อกับ API ของระบบ CRM กับระบบอีเมล เพื่อส่งข้อความที่ตรงใจลูกค้า หรือใช้ API ของระบบ ERP กับระบบการจัดการสินค้าคงคลังเพื่อติดตามสินค้าที่คงเหลือในคลังสินค้า
API ใช้ทำอะไรได้บ้าง
ทำงานได้อย่างอัตโนมัติ
ปกติถ้าเราใช้แรงงานคนในการทำงานจำนวนมาก ก็มักจะต้องใช้คนหลายคนและใช้เวลาค่อนข้างมากในการทำงานนั้น แต่ถ้าเราใช้ API เราสามารถสั่งงานระบบได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากกว่า เนื่องจาก API สามารถทำงานซ้ำๆ แบบอัตโนมัติ เช่น การอัปเดตข้อมูลในระบบ CRM, การสร้างรายงาน, การส่งข้อความแจ้งเตือน, โอนเงินอัตโนมัติ หรือติดตามสถานะการจัดส่ง ช่วยลดเวลาที่ใช้ในงานที่ซ้ำซ้อน ลดความผิดพลาดจากมนุษย์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
กลยุทธ์ Email Marketing ที่ง่ายกว่าเดิม

แทนที่จะนั่งร่างอีเมลและส่งถึงผู้รับทีละฉบับ API ช่วยให้นักการตลาดสามารถส่งอีเมลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องเสียเวลาสร้างอีเมลทีละฉบับ ผ่านการเชื่อมต่อกับ API ของระบบอีเมลเพื่อส่งอีเมลที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย หรือใช้ API ของระบบ CRM เพื่อดึงข้อมูลลูกค้าและส่งอีเมลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าแต่ละคน ทำให้นักการตลาดสามารถจัดการแคมเปญการตลาดผ่านอีเมลได้ง่ายขึ้น ปรับแต่งเนื้อหาในอีเมลให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และยังสามารถติดตามผลและวิเคราะห์ฟีดแบคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวบรวม ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูล
API ช่วยในการดึงข้อมูลจากหลายแหล่ง ประมวลผลข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ เช่น การดึงข้อมูลจากโซเชียลมีเดียในใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ทำให้นักการตลาดได้ข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัย อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างลึกซึ้ง โดยนักการตลาดสามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจาก API ในการตัดสินใจและวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ติดตามชื่อเสียงของแบรนด์ผ่านทางออนไลน์
API ช่วยให้นักการตลาดสามารถติดตามว่าผู้คนพูดถึงแบรนด์ของตนอย่างไรบนโลกออนไลน์ หรือที่เราอาจรู้จักกันในรูปแบบของ Social Listening Tool ต่าง ๆ โดย API จะทำการเชื่อมต่อเข้ากับ API ของเครื่องมือดักฟังในโซเชียลมีเดีย โดยดึงข้อมูลความคิดเห็นและการพูดถึงแบรนด์จากโซเชียลมีเดีย, บล็อก, และเว็บไซต์ข่าวสารต่างๆ เพื่อติดตามและวิเคราะห์ชื่อเสียงของแบรนด์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้นักการตลาดรู้ถึงความคิดเห็นและความรู้สึกของลูกค้า และสามารถตอบสนองต่อปัญหาและข้อสงสัยได้ทันที
เพิ่มประสิทธิภาพ SEO

ในแง่ของการทำ SEO API ช่วยให้นักการตลาดสามารถเข้าถึงข้อมูล SEO ช่วยในการวิเคราะห์คำค้นหา ติดตามอันดับเว็บไซต์ และประเมินประสิทธิภาพของแคมเปญ SEO เช่น เชื่อมต่อกับ API ของเครื่องมือ SEO เพื่อวิเคราะห์คีย์เวิร์ด หรือใช้ API ของGoogle Search Console เพื่อติดตามประสิทธิภาพของเว็บไซต์ ทำให้สามารถวิเคราะห์และปรับปรุงคำค้นหาให้เหมาะสม ติดตามการจัดอันดับของเว็บไซต์ และวางแผนกลยุทธ์ SEO ที่มีประสิทธิภาพได้
สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
API ช่วยในการเชื่อมต่อและจัดการการสื่อสารระหว่างระบบต่างๆ เช่น ระบบ CRM, ระบบการจัดการลูกค้า, และแพลตฟอร์มการตลาด ทำให้สามารถสร้างการสื่อสารที่ราบรื่นและต่อเนื่อง ลดความซับซ้อนในการจัดการข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างทีม เช่น เชื่อมต่อกับ API ของระบบแชทบอทเพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดต่อกับธุรกิจได้สะดวก หรือใช้ API ของระบบวิดีโอคอลเพื่อจัดประชุมออนไลน์
ตัวอย่างการใช้ API ในปัจจุบัน
Social Media API
Cr. yeswebdesigns
โดยปกติแล้วโซเชียลมีเดีย เช่น Instagram, Facebook, Twitter, และ YouTube มักจะมี API ที่ช่วยทำหน้าที่ในการดึงข้อมูลข้อผู้ใช้งาน ข้อมูลการติดตาม ประวัติการรับชมเนื้อหา มาใช้เพื่อวิเคราะห์การใช้งานต่างๆ เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด อีกทั้งยังช่วยนักการตลาดในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ที่อยู่ พฤติกรรมการใช้งาน เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักการตลาดในการนำไปวิเคราะห์ทำแคมเปญการตลาดได้อีกด้วย
Google Ads API
Cr. jeevangupta
API ของGoogle มักจะถูกใช้สำหรับจัดการแคมเปญโฆษณาบน Google Ads วิเคราะห์ข้อมูลโฆษณา และการติดตามประสิทธิภาพของโฆษณา ผ่านการดึงข้อมูลสถิติการโฆษณา เช่น จำนวนคลิก, CTR, และ Conversion เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแคมเปญและการโฆษณา และยังสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับแพลตฟอร์มอื่น เช่น ระบบ CRM เพื่อการวิเคราะห์และการจัดการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
Weather Apps

อีกหนึ่งในแอปพลิเคชันที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวันก็คือแอปวิเคราะห์สภาพอากาศบนโทรศัพท์มือถือ โดยAPI ในแอปพลิเคชันจะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับ API ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อดึงข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละวันมาวิเคราะห์และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวมาแสดงผลในที่หน้าแอปพลิเคชัน ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละวันได้อย่างสะดวกโดยที่ไม่ต้องไปค้นหาสภาพอากาศแต่ละวันทางอินเทอร์เน็ต
สรุป
ปัจจุบัน API เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะอยู่ในแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวันโดยไม่รู้ตัว ในแง่ของการตลาด API เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักการตลาด ช่วยให้นักการตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าได้อีกด้วย
ตาคุณแล้ว
สำหรับนักการตลาดอย่างเรา การทำความรู้จักเครื่องมืออย่าง API มีส่วนช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้นควรเริ่มศึกษาการทำงานของ API ตั้งแต่วันนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น!