กลางปี 2016 เราเริ่มต้น Content Shifu ในฐานะเว็บน้องใหม่เว็บนึงที่อยากฝากตัวกับวงการ Digital

มาจนใกล้จะสิ้นปี 2017 แล้ว ..นับไปนับมา..พวกเราเขียนบทความรวมกันร่วมๆ หนึ่งร้อยบทความแล้ว (บทความที่คุณอ่านอยู่นี้ คือบทความที่ 99 ของเรา :))

ปีนี้คงจะพอพูดได้ว่า Content Shifu เราเริ่มพอจะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นทีม ‘บล็อกเกอร์’ ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว

ก่อนหน้านี้พวกเราเป็นมนุษย์หน้าคีย์บอร์ดโดยแท้ แต่ตอนนี้เราเชื่อว่าบล็อกเกอร์ยุคใหม่นอกจากเรื่องตั้งใจทำคอนเทนต์ของตัวเองแล้ว การได้ไปคลุกคลี ไปสัมผัสวงการ ได้ไปรู้จักบล็อกเกอร์คนอื่นๆ ก็นับเป็นเรื่องสำคัญ 

Content Shifu จึงได้มีโอกาสไปพูดคุยกับคนอื่นๆ ในวงการ Blogging มาบ้าง และบทความนี้จึงอยากขอรวบรวมออกมาเป็นเรื่องราวบทสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการบล็อกเกอร์ในปีนี้ ถ้าอยากรู้ว่าปีนี้คนสายบล็อกเกอร์ชอบชวนคุยกันเรื่องอะไรบ้าง บทความนี้เรารวมมาให้แล้วค่ะ

หมายเหตุ: ที่เล่าถึงวงการบล็อกเกอร์ในที่นี้ อ้างอิงจากงาน Blogger's Bootcamp และงานในซีรีส์เดียวกันอย่าง Blogger เจอเดย์ และ Thailand Best Blog Awards 2017 เป็นหลัก

รวม 7 บทสนทนายอดนิยมในวงการบล็อกเกอร์ปี 2017

1. Facebook ลด Reach: เราจะเป็นลูกที่ดีของ Facebook ต่อไป หรือจะทำยังไงกันต่อ

บทสนทนาที่ว่า ‘Facebook ลด Reach’ เป็นบทสนทนาที่ได้ยินกันตลอดทั้งปี

อ้างอิงจากคุณแชมป์ ทีปกร ที่เล่าถึงคุณมาร์ค Blognone อีกทีหนึ่ง Blognone ถึงกับบอกว่าตัวเองเปิดคอนเทนต์ในหมวดหมู่ ‘Facebook ลด Reach’ ออกมาเลย เพราะข่าวมันออกมาเยอะมากทั้งปี

ที่ประเด็นนี้เป็นที่ฮอตฮิต ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า Social Media อย่าง Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่จุดพลุให้คนหันมาเปิดเพจทำคอนเทนต์กันอย่างมากมาย มีสัดส่วนคนทำคอนเทนต์จำนวนมากที่เป็นสายปั้นเพจเป็นหลัก

พี่เอ็ม Khajochi แห่ง Mangozero ไม่นานมานี้ก็ได้ตั้งสเตตัสเช่นกันว่า..

คุณจะเห็นคนที่เตรียมอัดฉีดงบกับ Facebook Ad มากขึ้น กับคนที่พยายามหาวิธีที่ต้องพึ่งพิง Facebook น้อยลง

ถ้าคุณคุยกับ Content Shifu ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเราเชียร์สาย ‘อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว’ แบบสุดๆ และอันที่จริงบทความที่ 11 ของเราอย่าง เหตุผลที่คุณไม่ควรพึ่งแต่ Social Media ก็ได้เล่าถึงแนวคิดนี้ของเราตั้งแต่ปีที่แล้ว

ซึ่งจากเท่าที่พวกเราพบปะมาบ้าง ดูเหมือนแนวทางที่สอง จะเป็นแนวทางที่บล็อกเกอร์หลายๆ คนก็กำลังปรับตัวและเลือกเดินไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นค่ะ คนประเภทเดียวกันมักเจอกันเองเนอะ และสุดท้ายไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน ก็ล้วนแต่ต้องใช้เงินลงทุน และพลังงานให้ได้สู้กันต่อไป

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณสนใจเรื่องเว็บไซต์ แต่ยังไม่มีพื้นฐานด้านนี้ เราแนะนำให้ลองอ่านบทความ: รวมศัพท์ไอทียอดฮิต ที่คนคิดอยากมีเว็บไซต์ควรรู้จัก

2. Sponsored content และความโปร่งใส

ดูเหมือนว่า…ปีนี้เราได้เห็นปริมาณ Advertorial/Sponsored content มากกว่าปีก่อนเยอะพอสมควร

…เป็นเพราะวงการ Online Content เฟื่องฟูขึ้น มีแบรนด์อยากมาลงโฆษณามากขึ้น?

…หรือเป็นเพราะความจริงแล้วคนทำคอนเทนต์เปิดเผยมากขึ้นเรื่องการรับเงินค่าโฆษณา?

โดยส่วนตัวคิดว่าคำตอบคือ ค. ถูกทั้งสองข้อ

ความโปร่งใส (Transparency) เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังทวีมากขึ้นในระดับทั่วโลก อันที่จริงเรียกว่าเทรนด์อาจจะไม่ถูกนัก เรียกว่าเป็น “New Normal” (ความปกติครั้งใหม่) น่าจะถูกต้องกว่า

น่ายินดีที่วงการในไทยเรา ในปีนี้ก็ได้เห็นคนทำคอนเทนต์พูดคุยกันเรื่องนี้ และปรับตัวมาทางนี้กันมากขึ้น ^^

Shifu แนะนำ
ไม่รู้เหมือนกันว่าคุณจะมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีไหม แต่หากคุณมองหาตัวอย่างของการเปิดเผยอะไรแบบตรงไปตรงมา บทความนี้ของพวกเราที่มาแชร์(หรือแฉ)สถิติงานของตัวเอง น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่คุณสามารถลองดูได้

ถ้าสนใจเคสต่างประเทศ บทความ Transparency in Content Marketing: Trend or the New Normal? ชิ้นนี้ที่ให้แนวคิดเรื่อง New Normal ก็เป็นอีกชิ้นที่น่าอ่านค่ะ

3. จากการดีลงาน สู่การบริหารความสัมพันธ์

บล็อกเกอร์ที่เริ่มมีรายได้จากค่าโฆษณา จะรู้สึกอยากคุยขอไอเดีย แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการดีลงานกับเอเจนซี

แต่พอมาถึงจุดนึงก็คงจะเริ่มเข้าข่ายประโยคที่ว่า “ความยากของการเป็นบล็อกเกอร์มืออาชีพคือการบริหารความสัมพันธ์ห่วงถึงสองห่วงคือห่วงของผู้ว่าจ้าง กับห่วงของผู้ติดตามคอนเทนต์ ต้องส่งมอบคุณค่าให้ได้ทั้งสองฝ่าย”

บล็อกเกอร์ดีลงาน
ภาพประกอบการบรรยายโดยคุณบี สโรจ เพจสโรจขบคิดการตลาด

4. Productivity, Creativity, Technology

3 สหายนี้เป็น 3 ประเด็นที่เราหนึ่งเหมือนกันที่เวลาคนเจอกันมักชอบขอคำแนะนำ และการแลกเปลี่ยน

  • รูปนี้สวยจังใช้แอปอะไรทำ?
  • ถ่ายยังไงให้ได้แบบนี้ ใช้ Gadget/Device อะไร?
  • มีเทคนิคการคิดงานยังไงบ้าง
  • ทำงานข้างนอกควรพกอะไรบ้างที่เบาที่สุด แล้วงานดีที่สุด

เป็นต้น

โดยปกติแล้วบล็อกเกอร์จะมีความใส่ใจในการพัฒนาผลงานตัวเองอยู่แล้ว (มี Productivity ที่สูงขึ้น / มี Creativity ที่สูงขึ้น) หลังๆ มานี้เป็นยุค Mobility ที่คนทำงานไปด้วย เคลื่อนที่ไปด้วย ทั้งอุปกรณ์และแอปใหม่ๆ ก็มีเกิดขึ้นเสมอ บล็อกเกอร์รุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็เลยจะสนใจในเชิงอัปเดตเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยีมาใหม่ด้วย

แต่ละคนมักจะมีความถนัดไม่เหมือนกันที่นำมาแชร์กันได้ เช่น บางคนก็เก่งเรื่องอุปกรณ์มาก อย่างกล้องเอย มือถือเอย ขายึดกล้องไว้ทำ Live Video เอย บางคนเก่งเรื่องแอปบนมือถือที่ใช้ทำภาพ ทำวิดีโอ หรือทำคอนเทนต์ได้ดี บางคนก็เป็นซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ไปเลย สำหรับ Content Shifu พวกเราค่อนข้างเป็นสายซอฟต์แวร์บนคอม ตัวอย่างที่พวกเราเคลองเล่นลองใช้กันบ้างส่วนหนึ่ง เช่น โปรแกรมตัดต่อวีดีโอ 7 ตัวนี้ โปรแกรมทำอินโฟกราฟฟิก 5 ตัวนี้ เป็นต้น

 

5. บล็อกเกอร์มีหลากหลายมากขึ้น

พอได้ลองเจอบล็อกเกอร์ ก็จะพบว่าคนเหล่านี้ นับวันก็เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ ด้านอาชีพ ด้านที่มาที่ไปต่างๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือตัวอย่างของผู้ได้รับรางวัล Thailand Best Blog Awards 2017 by CP All ในปีนี้

ทันทีที่ทุกคนเห็นทีมบล็อก Spaceth.co ขึ้นรับรางวัล Best New Blog ก็ต่างรู้สึกว้าว! เพราะทีมงานทั้งก๊วน ล้วนแต่เป็นเยาวชนอายุช่วง 16-19 ปี เท่านั้นเอง แต่บล็อกนี้เป็นบล็อกที่มีเนื้อหาด้าน ‘อวกาศ' ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ไม่ธรรมดา

น้องๆ ทีม Spaceth.co | ภาพจากทีมงาน Thailand Best Blog Awards by CP All

ตามมาติดๆ เป็นบล็อกแนวสาระความรู้ ซึ่งผู้ได้รับรางวัลคือเพจ ‘วิทย์สนุกรอบตัว' ปรากฏว่าคราวนี้ทีมงานสลับขั้วจากรางวัลที่แล้ว เพราะทีมงานนี้เป็นถึงเหล่าคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลที่แบ่งเวลามาทำเพจให้ความรู้

ตัวแทนอาจารย์จากเพจวิทย์สนุกรอบตัว
ตัวแทนอาจารย์จากเพจวิทย์สนุกรอบตัว

จากภาคการศึกษา ตัดภาพมาที่ผู้คว้ารางวัลใหญ่ของงานอย่าง ทีมเพจ Mission to The Moon นำโดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ นักธุรกิจชื่อดังที่นอกจากเรื่องทำธุรกิจแล้ว ยังเขียนบล็อกเป็นงานอดิเรก และปิดท้ายที่รางวัลบล็อกเพื่อสังคม ซึ่งผลรางวัลคือเพจ ‘เครือข่ายจิตอาสา' จากรายชื่อทั้งหมด 4 บล็อกนี้ ก็คงพอฉายภาพของวงการบล็อกเกอร์ได้คร่าวๆ ว่า มีความหลากหลายกันมากขนาดไหน

เราค่อนข้างเชื่อว่าต่อๆ ไป ช่วงอายุจะมีความหลากหลายมากขึ้น อาชีพจะมีความหลากหลายมากขึ้น ที่มาที่ไปก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะทำเป็นงานหลัก งานอดิเรก / ทำในสิ่งที่เกี่ยวกับงาน หรือพลิกมุมมาทำในอีกสิ่งหนึ่งที่อยากท้าทายตัวเองในเรื่องใหม่ๆ

แม้ว่าปลายทางบางคนอาจทำเป็นอาชีพหลักบ้าง เป็นงานอดิเรกตลอดไปบ้าง แต่มันก็เป็นงานที่ทุกคนมักมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน คือเริ่มต้นด้วย Passion เราเลยคิดว่าวงการบล็อกเกอร์เนี่ยเป็นวงการที่มีเสน่ห์มากวงการนึงนะ 🙂

6. Digital Marketing และผองเพื่อน

จากเดิมที่บล็อกเกอร์อาจสนใจดิจิทัลโดยคิดถึงมุมมองในข้อ 3. ที่ว่าด้วยเรื่อง Productivity

เรื่องราวของข้อ 1. ที่เล่าถึงเรื่อง Facebook ปีนี้บล็อกเกอร์เราเริ่มเข้าใจกันมากขึ้นแล้วว่า สิ่งที่จะชี้เป็นชี้ตาย ไม่ใช่เรื่องคอนเทนต์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการปรับตัวตามกลไกของดิจิทัล และยังมีโลกอันกว้างใหญ่มากๆ ให้ได้ศึกษา ทักษะทางด้าน Digital Marketing ได้กลายเป็นทักษะที่คนทำคอนเทนต์จะต้องมี การลง Facebook Ad เป็นเบสิกที่ทุกคนหันมาศึกษา แต่ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ความจริงแล้วหากคนทำคอนเทนต์รู้เพิ่มเติมจะช่วยให้ได้ความได้เปรียบยิ่งขึ้น เช่น SEO หรือการทำ Analytics

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ค่อยออกว่าอะไรคือความต่างระหว่างเป็น Writer เขียนคอนเทนต์ กับเป็น Digital Writer ที่อาศัยความรู้สาย Digital Marketing มาใช้ในงานทำงานด้วย ลองอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคอร์ส Becoming A Great Digital Writer ดูก่อนได้ค่ะ

หมายเหตุ: หากคุณเขียนบล็อกเป็นงานอดิเรกอย่างเดียวเลย การเลือกโฟกัสที่คอนเทนต์ที่ตัวเองชอบทำไปเลยก็ไม่ผิดนะ 🙂

7. บล็อกเกอร์กลายเป็นอะไรที่มากกว่าบล็อกเกอร์

จากข้อ 5. เราได้เห็นคนอาชีพนู่นนี่ที่หลากหลาย เข้ามาเป็นบล็อกเกอร์

แต่ข้อสุดท้ายนี้เรากำลังอยากบอกเดี๋ยวนี้บล็อกเกอร์ก็เริ่มกลายร่างไปเป็นนู่นนี่เยอะแยะเช่นกัน

  • บ้างก็รับจ้างเขียนให้กับคอนเทนต์นอกเพจตัวเองเป็นอาชีพเสริมอย่างหนึ่ง
  • บ้างก็ศึกษาการตลาดเพิ่มเติม และรับทำ Digital Marketing ไปด้วยเลย
  • บ้างก็มีอาชีพใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือออกสินค้าต่างๆ
  • บ้างก็ได้เห็นคนที่เปลี่ยนจากการทำคอนเทนต์เพื่อดึงคนเข้าธุรกิจหลักของตัวเอง กลายร่างมาเป็นมีเดียใหม่ที่การทำคอนเทนต์ กลายเป็น New Business, New Revenue Channel ไปด้วย
    อย่างเช่นเพจ Jones Salad ที่เราก็รู้ๆ กันว่าเขาเป็นร้านขายสลัด ด้วยความที่เพจมีคนติดตามเยอะ เดี๋ยวนี้จึงมีช่องทางรายได้ใหม่นอกจากการขายสลัดของแบรนด์ตัวเอง เป็นการทำ Sponsored content โฆษณาให้แบรนด์อื่นๆ ไปด้วย (Sharing economy สุดๆ)

ส่วน Content Shifu เองก็เป็นมนุษย์บล็อกเกอร์ที่ทำนู่นนี่ไม่หยุดนิ่งเช่นกัน

การส่งท้ายนี้ก็ไม่มีอะไรมากค่ะ แค่อยากบอกคุณว่า เดี๋ยวนี้คนทำคอนเทนต์ ไม่ใช่คนทำคอนเทนต์เฉยๆ แล้ว เมื่อมอบคุณค่าบางอย่างได้ กรอบความคิดใหม่ๆ กรอบโอกาสใหม่ๆ ก็จะเข้ามาได้มากขึ้นค่ะ

สรุป

บทความนี้สรุปสิ่งที่เห็นผ่านตาผ่านหูในวงการบล็อกเกอร์ในปีนี้ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องของแนวคิดเชิงเทคนิคตั้งแต่แพลตฟอร์ม ตัวช่วยการทำงาน ทักษะใหม่ๆ รวมไปถึงแนวคิดเชิงสายอาชีพ

ตาคุณแล้ว

เนื้อหาอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ครบถ้วนทั้งหมดเพราะเขียนด้วยมุมมองของคนหนึ่งคนเท่านั้น แต่จุดประสงค์คือหวังว่าบทความนี้จะเป็นไกด์ไลน์คร่าวๆ ให้คุณมีเรื่องให้ได้ลองศึกษาต่อ และมีบทสนทนาให้ได้คุยกับคนรอบๆ ตัว หากคุณมีความคิดเห็นหรือไอเดียที่อยากบอกเล่า ก็สามารถคอมเมนต์พูดคุยกันได้เลยค่ะ