ถือเป็นงานที่ Content Shifu ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังและอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ในทุกปีเลยก็ว่าได้นะคะ กับงานสัมมนา E-Commerce ครั้งยิ่งใหญ่จาก Priceza ซึ่งในปีนี้มี Guest Speakers เก่งๆ มากมายจากหลายวงการมาร่วมแชร์ประสบการณ์ พร้อมแนะวิธีการปรับตัวให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยให้อยู่รอดได้ในยุคไร้พรมแดนในหัวข้อ “Thailand E-Commerce Trends 2020″ 

วันนี้เราจึงเก็บทุกประเด็นที่น่าสนใจที่ได้จากภายในงานมาวิเคราะห์และย่อยเนื้อหาให้เข้าใจง่ายตามแบบฉบับของ Content Shifu รับรองเลยว่า หากคุณอ่านบทความนี้จบแล้วจะช่วยให้คุณเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของ E-Commerce ไทยในปี 2020 นี้ได้อย่างแน่นอนค่ะ ?

Priceza เผย ตลาด E-Commerce ไทยยังโตขึ้นได้อีก

สรุป ทรนด์ E-Commerce-ไทย

เริ่มต้นช่วงแรกของงานด้วยข้อมูลที่น่าสนใจจากคุณไว-ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO ของ Priceza ที่นำ Insight ด้าน Data ของเว็บไซต์ Priceza ซึ่งเป็น Platform ค้นหาและเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์มาเผยให้เห็นถึงเทรนด์ของอัตรการซื้อสินค้าหรือ Sale Conversion Rate (ข้อมูลจากกราฟฝั่งซ้าย) เฉลี่ยในแต่ละปี

ซึ่งในปีนี้ Priceza มี Sale Conversion Rate (SCV) เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8.71% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปี 2018 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 4.69% แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 86% โดยสินค้าที่มี SCV มากที่สุดจะเป็นสินค้าในประเภท Mom & Baby รองลงมาเป็นกลุ่ม Health & Buaty และกลุ่มอื่นๆ ไล่เรียง % ไปตามลำดับ (ข้อมูลจากกราฟฝั่งขวา) 

เมื่อเรานำข้อมูล Insight นี้มาพิจารณาแล้วจะเห็นถึงความพร้อมในการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยที่มีมากขึ้นในทุกๆ ปี บวกกับอิทธิพลของเทคโนโลยีและสื่อต่างๆ ที่ทำให้คนไทยใช้เวลาไปกับการท่องอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ยิ่งทำให้ตลาด E-Commerce มีช่องทางและโอกาสในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์อีกมากมายกว่าหลายปีที่ผ่านมา

เตรียมรับมือ! 6 เทรนด์ E-Commerce มาแน่ ในปี 2020

เพราะการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาด E-Commerce ทำให้ Priceza มองเห็นแนวโน้มของธุรกิจร้านค้าออนไลน์ในปี 2020 ว่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคไร้พรมแดนแบบเต็มตัวจากกระแสของเทรนด์ ดังต่อไปนี้

1. การทำตลาด E-Commerce ไทยจะดุเดือดขึ้น เพราะการเข้ามาของธุรกิจต่างชาติ

เทรนด์ E-Commerce ไทย

หากนับจำนวนของสินค้าที่อยู่บน 3 Marketplaces เจ้าใหญ่อย่าง Lazada, Shopee และ JD Central จะพบว่า ในปี 2018 ทั้ง 3 แพลตฟอร์มมีสินค้ารวมกันอยู่ที่ 74 ล้านชิ้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปี 2019 แล้วจะเห็นว่า มีจำนวนสินค้าที่เติบโตมากขึ้นถึง 174 ล้านชิ้นหรือมากถึง 2.4 เท่า (ข้อมูลจากกราฟฝั่งซ้าย)

โดยจำนวนสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากว่า 77% เป็นสินค้าที่มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ส่วนจำนวนสินค้าจากประเทศไทยเองนั้นกลับมีสัดส่วนอยู่บนแพลตฟอร์มที่น้อยกว่ามาก (ข้อมูลจากกราฟฝั่งขวา)

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ตลาด E-Commerce ของไทยกำลังเข้าสู่สนามแข่งขันกับชาวต่างชาติที่ไหลทะลักเข้ามาทำธุรกิจในบ้านเรามากยิ่งขึ้น แน่นอนว่า ในปี 2020 นี้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าบ้านอย่างเราๆ อาจจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นกันอีกสักหน่อยกับจำนวนสินค้าที่มีในตลาดมากขึ้นจากชาวต่างชาติ

เทรนด์ E-Commerce ไทยปี 2020

แต่ถ้ามองในแง่ของยอดขายก็ยังถือว่าเป็นโชคดีที่คนไทยยังเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ภายในประเทศมากกว่าถึง 86% อาจจะด้วยปัจจัยด้านการขนส่ง ความเชื่อมั่นในตัวร้านค้า หรือการรับประกันสินค้าต่างๆ ที่ต่างประเทศยังไม่สามารถตีตลาดคนไทยในส่วนนี้ได้ 

แต่ในปี 2020 นี้เทรนด์การซื้อสินค้าอาจเปลี่ยนไป เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เปิดการค้าเสรี (Free Trade) ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าจากต่างประเทศรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม และนี่คือจุดที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญและเตรียมที่จะปรับตัวลงสนามแข่งขันกันมากขึ้น 

(ส่วนแนวทางการปรับตัวควรจะออกมาในรูปแบบไหน ในตอนท้ายบทความจะมีสรุปไว้ให้อีกทีค่ะ)

2. แบรนด์จะหันมาทำ Direct to Customers มากขึ้น

ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเทรนด์ E-Commerce ไทยในปี 2020 ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ๆ จะเริ่มให้ความสำคัญกับการทำ Direct to Customers ซึ่งเทรนด์นี้เกิดขึ้นจากการที่แบรนด์อยากจะทำความเข้าใจและรู้ใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้าง Customer Loyalty ให้กับธุรกิจของตัวเอง 

รวมถึงแบรนด์เองก็อยากจะเป็นเจ้าของ Data ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญที่จะทำให้แบรนด์รู้ทุกอย่างว่า ผู้ใช้งานแต่ละคนดูอะไร ชอบอะไร ซื้ออะไร รุ่นไหน เมื่อไหร่ หรือแม้แต่คาดการณ์ว่าในอนาคตพวกเขาจะอยากซื้ออะไรได้โดยไม่จำเป็นต้องทำผ่านช่องทาง E-Marketplace ต่างๆ อีกต่อไป

สรุปเทรนด์ E-Commerce-ไทย

ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจาก Nike ที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายใหม่โดยการประกาศยุติการขายสินค้าผ่าน Amazon และหันมาทำ Direct to Customers โดยมุ่งเน้นการขายสินค้าบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่างๆ ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยยกระดับประสบการณ์ลูกค้าให้มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น รวมถึงตัวแบรนด์ Nike เองก็ได้รับ Insight ที่น่าสนใจจากการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรงด้วยเช่นกัน

3. Social Commerce เป็นช่องทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เทรนด์ E-Commerce ไทย

หากพูดถึงช่องทางการทำ E-Commerce ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นตลาด Social Commerce ซึ่งเมื่อนำข้อมูลสัดส่วนของ Platform ต่างๆ ในตลาด E-Commerce มาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่า ในฝั่งของ Social Media ถือเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลในด้านการซื้อขายสูงสุดถึง 40% 

สรุปเทรนด์ E-Commerce ไทย

และเมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันในหลายๆ ประเทศ จะพบว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้นำของตลาด Social Commerce โดยมีจำนวนคนไทยที่เคยชอปปิงผ่านช่องทาง Social Media ต่างๆ สูงถึง 40% ซึ่งเรียกได้ว่ามีจำนวนที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจอีกด้วย

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า Social Commerce เป็นช่องทางที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ และในปี 2020 นี้ ตลาด Social Commerce จะยิ่งคึกคักและตอบสนองการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นได้อีกจากการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งหลายสามารถปิดการขายได้เลยในแอปพลิเคชันเดียว ยกตัวอย่างเช่น Facebook Pay, Instragram Shopping, Line Shopping เป็นต้น 

4. Ride-Hailing Delivery จะถูกผนวกเข้ากับ E-Commerce

ในปี 2019 เทรนด์ธุรกิจ Ride-Hailing Delivery  ในไทยถือว่าเติบโตขึ้นมากโดยเฉพาะภาค Food Delivery และในปี 2020 นี้ Priceza ได้สรุปและคาดการณ์ไว้ว่า เทรนด์ธุรกิจ Ride-Hailing Delivery จะขยายตัวเข้ามาในภาค E-Commerce ดังตัวอย่างรูปแบบธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้านด้านล่าง 

เทรนด์ E-Commerce ไทย 2020

สำหรับตลาด E-Commerce ของประเทศอินโดนีเซีย ในแพลตฟอร์ม E-Marketplace ต่างๆ จะมีฟีเจอร์การจัดส่งในรูปแบบ Ride-Hailing Delivery ที่พร้อมทั้งส่งตรงสินค้าถึงมือผู้บริโภคภายในวันเดียว (Same Day Delivery) อยู่ด้วย 

ดังนั้น การแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2020 ของไทยจะดุเดือดขึ้นกว่าปี 2019 เพราะสินค้าต่างๆ จะเน้นบริการจัดส่งที่รวดเร็วมากขึ้นอย่างแน่นอน

5. เทรนด์การขายผ่าน E-Marketplace ยังคงมาแรง

E-Commerce ไทย

สำหรับข้อนี้จะเป็นการสรุปประเด็นจาก 3 Speakers ของ Lazada, Shopee และ JD Central ที่เห็นพ้องต้องกันว่า ในยุคนี้การชอปปิงออนไลน์ไม่ได้เป็นแค่ช่องทางส่งเสริมการขาย แต่เป็นไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นเพื่อความบันเทิงมากขึ้น

 

และในปี 2020 ก็ถือเป็นเวลาที่ดีที่ธุรกิจทั้งหลายจะเริ่มสร้างตัวตนบนไว้บน E-Marketplace ทั้งนี้ ก็เพื่อรวบรวมฐานลูกค้าและ Data ในตลาด E-Marketplace ที่กำลังมาแรง ด้วยการสร้าง Brand Official Shop ของตัวเองบน Platform ของ E-Marketplace 

เพราะจากข้อมูลของสินค้าทั้งหมด 44,000 แบรนด์ มีจำนวนร้านค้าแค่ 1,700 ร้าน หรือคิดเป็น 4% เท่านั้นที่เข้ามาทำตลาดใน E-Marketplace ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าในปี 2020 นี้จะมีจำนวนสินค้าและจำนวนร้านค้าที่เป็น Brand Official Shop เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและไม่เสียโอกาสในการขายให้กับพ่อค้าคนกลางหรือตัวแทนใดๆ 

ซึ่ง E-Marketplace ทั้งหลายเริ่มปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยการจัดแคมเปญให้ร่วมสนุก อย่างช่วง 11.11 ที่กระตุ้นให้คนออกมาใช้จ่ายได้มากขึ้น ทำให้เว็บไซต์ Marketplace หลายแบรนด์สร้าง Engagement ที่ดีได้คล้ายกับ Social Media Platform เลยทีเดียว

6. Omni Channel คือโอกาสที่ห้ามลืม

อีกหนึ่งเรื่องที่พูดถึงกันตั้งแต่งาน Priceza เมื่อปีที่แล้ว กับการทำธุรกิจในรูปแบบ Omni Channel ซึ่งเป็นการผสมผสานช่องทางการขายทั้งแบบ Offline และ Online เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อในการชอปปิงสินค้า (Seemless Experience) ให้กับลูกค้าได้มากขึ้นเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งสำหรับเมืองไทย 

เทรนด์ E-Commerce 2020

โดยในปี 2019 นี้ก็มีธุรกิจใหญ่อย่าง Central Retail ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มียอดขายหลักเกือบ 100% มาจากออฟไลน์ได้ลองนำ Omni Channel มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้สัดส่วนของยอดขายจากการทำ Omni Channel มีเปอร์เซ็นการเติบโตขึ้นมาเป็น 2.6% 

เมื่ิอนำเปรียบเทียบกับตลาดอีคอมเมิร์ซทางฝั่งอเมริกา จะเห็นว่า ยอดขายจากการทำ Omni Channel ของประเทศอเมริกาเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 40.9% แสดงให้เห็นว่า ยอดขายจากการทำ Omni Channel ของไทยยังมีโอกาสเติบโตที่สูงขึ้นได้อีกมาก

นอกจากนี้ธุรกิจในรูปแบบ Omni Channel ยังมีประโยชน์ในด้านการเพิ่มอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลของ Central ที่มีอัตราเฉลี่ยของรายจ่ายต่อปีเพิ่มสูงขึ้น 190% จากการ Tranform รูปแบบธุรกิจจากแบบ Offline มาเป็น Omni Channel

Priceza แนะแนวทางที่ผู้ประกอบการควรปรับตัวในปี 2020

นอกจากจะอัปเดตเทรนด์แล้ว Priceza ยังแนะแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ E-Commerce เพื่อต้อนรับรูปแบบการค้าขายที่ไร้พรมแดนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2020 ไว้ดังต่อไปนี้

1. ทำสินค้าให้ดีและแตกต่าง

เพราะเทรนด์การค้าขายแบบไร้พรมแดนของ E-Commerce ส่งเสริมให้ต่างชาติมากรายหลั่งไหลเข้ามาจับธุรกิจค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในบ้านเรามากยิ่งขึ้น 

ในฐานะผู้ประกอบการไทยก็ต้องมองให้เห็นถึงช่องทางที่จะทำให้สินค้าของเราโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำให้สินค้าที่มีอยู่ในมือนั้นมีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร รวมถึงคัดสรรให้คุณภาพของสินค้าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

เพราะจากข้อมูลการชอปปิงออนไลน์ของคนไทยในปัจจุบันมักจะนำสินค้าที่ตามหาอยู่นั้นมาเปรียบเทียบคุณภาพและราคาก่อนการตัดสินใจซื้อทุกครั้ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับตัวสินค้าให้มาก เพื่อที่สร้างความโดดเด่นและเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคในยุคใหม่ให้ได้มากที่สุด

2. พัฒนาและสร้างความประทับใจให้กับการบริการ

‘การบริการ’ ถือเป็นอีกปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ E-Commerce ในยุคไร้พรมแดน เพราะการที่จะทำให้ลูกค้าติดหนึบจนไม่อยากหนีไปซื้อสินค้าจากเจ้าอื่นได้นั้น นอกจากเรื่องของสินค้าที่ต้องดีและมีคุณภาพแล้ว ก็ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจผ่านการบริการของเราให้ได้มากที่สุดด้วย

แน่นอนว่าการทำ Direct to Customer (DTC) ที่เป็นการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้ธุรกิจบรรลุในจุดประสงค์ในด้านการให้บริการได้ ซึ่งในแง่ของกระบวนการที่จะทำให้ลูกค้าสัมผัสกับความรู้สึกพึงพอใจจากการให้บริการของเราโดยตรงได้นั้น จะต้องประกอบขึ้นจากหลายปัจจัยสำคัญ เช่น 

2.1 การมีช่องทางการชำระเงินที่สะดวก 

ในปัจจุบันคนไทยใช้จ่ายเงินผ่านการทำธุรกรรมแบบ EOD (E-Payment on Delivery) อย่างการโอนเงินผ่าน Internet Banking, E-wallet หรือตัดผ่านบัตรเครดิตรวมแล้วถึง 83% ดังนั้น ธุรกิจจึงควรพัฒนาการบริการให้สามารถใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้นด้วย

2.2 การส่งสินค้าที่รวดเร็ว 

ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของ JIB ร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่วางจุดขายให้กับแบรนด์ตัวเองในด้านการบริการที่น่าประทับใจ โดยใช้เวลาส่งแค่ 3 ชั่วโมงสินค้าก็ถูกจัดส่งถึงมือของลูกค้า แถมยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เรียกว่าเป็น โมเดลที่ประสบความสำเร็จของการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ภายในวันเดียวเลยก็ว่าได้

2.3 บริการ Customer Support และการการันตีสินค้า

ความมั่นใจไม่ใช่สิ่งที่ซื้อได้ แต่สร้างขึ้นมาได้ ดังนั้น ธุรกิจ E-Commerce จำเป็นที่จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดกับธุรกิจด้วยการการันตีสินค้า รวมถึงการทำ Customer Support ที่ช่วยตอบคำถามลูกค้าทั้งในช่วงสอบถาม, ตัดสินใจซื้อ ตลอดจนช่วงหลังการขายด้วย

2.4 การเพิ่มช่องทางให้ครอบคลุม 

เพราะทุกวันนี้ลูกค้าซื้อสินค้าผ่านหลากหลายช่องทางบนโลกออนไลน์ ธุรกิจที่ทำอยู่จึงควรมีช่องทางการเข้าถึงที่ครอบคลุมทั้ง Social Commerce, E-marketplace และ Direct Channel เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายในต้นทุนการทำที่ไม่สูง รวมถึงเพิ่มความสามารถในการเก็บฐาน Data ที่ทำให้เราเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

Shifu แนะนำ
นอกจากนี้ เทรนด์ของการวัดผลจากช่องทาง Social Commerce เองก็กำลังจะเปลี่ยนไป จากการวัด Engegement Rate, Reach หรือ CTR ในปี 2020 จะเริ่มเพิ่มตัวชี้วัดใหม่อย่าง Sale Conversion Rate เข้ามามากขึ้น เพื่อวัดว่าการทำการตลาดออนไลน์มีประสิทธิภาพและปิดการขายได้มาก-น้อยอย่างไร

สรุป

ทั้งหมดนี้คือ เทรนด์ของ E-Commerce ไทย ในปี 2020 ที่ Content Shifu สรุปได้จากงาน Priceza E-Commerce Summit 2020

ก็ถือว่าเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองทั้งในแง่ของการเติบโต และการ Transform ไปสู่รูปแบบธุรกิจที่เอื้อต่อความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารและปรับตัวให้เท่าทันอยู่เสมอ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายที่จะนำพาไปสู่การเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ตาคุณแล้ว

คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยยังไงกับเทรนด์ E-Commerce ในบทความนี้บ้าง? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยค่ะ 🙂