เพราะคนเราใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่บน Social Platform แถมยังเลือกใช้สลับไปมาอยู่ตลอดเวลาแบบไม่รู้จักเบื่อ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้จะมี Insight อะไรบ้างที่ธุรกิจและนักการตลาดจะนำมาต่อยอดในการทำ Marketing ได้บ้างในปีนี้

…และคำตอบของคำถามนี้ เราก็ได้มาจากการเข้าร่วมฟังและอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ภายในงาน Thailand Zocial Awards 2020 (TZA 2020) ที่ปีนี้มาในธีม ‘SHIFT: Make it SHIFT’ คอนเซปต์งานดีๆ ที่ช่วยกระทุ้งความคิดของเหล่านักการตลาดให้พร้อมใจกันยกระดับการทำงานบน Social Platform ด้วยข้อมูลที่น่าสนใจจากวิทยากรมากมายหลายสิบท่านเลยทีเดียว

ซึ่งในบทความนี้เราจะขอจับประเด็นและสรุป Insight ที่น่าสนใจ มาขมวดรวมเป็น 6 ทิศทางของเทรนด์ Social Media ให้คุณเข้าใจได้ง่ายๆ และมองเห็นทิศทางของการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ในปีนี้ได้มากขึ้นด้วยค่ะ ?

สรุป เทรนด์ Social Media ในปี 2020 กับทิศทางที่ต้องตามให้ทัน

1. เมื่อเสียงบน Social Media เป็นเรื่องเดียวกับ Data 

เทรนด์ Social Media เรื่องแรกที่น่าสนใจสำหรับปี 2020 นี้ คือเทรนด์ของการ ‘ฟังเสียง’ บนโลก Social Media ที่ทางคุณกล้า ตั้งสุวรรณ CEO ของ Wisesight ได้นำ Social Listening Tool มาผูกโยงกับเรื่องของการวิเคราะห์ ‘Data’ ซึ่งเป็น Insight ที่ช่วยธุรกิจทำการตลาดได้ง่ายขึ้น ด้วยการเปิดตัว ‘ค่า P90’ ซึ่งถือเป็น Highlight ของงานนี้เลยก็ว่าได้ค่ะ

วัดค่า Performance ของ Post บน Social Media ด้วยค่า P90

คุณกล้าได้อธิบายว่า P90 เป็นสถิติและข้อมูลของอัตรา Engagement  Distribution (Comment, Share, Video views, etc.) ที่กลั่นออกมาจากเสียงของคนบนโซเชียลมิเดียต่อโพสต์ต่างๆ ในแต่ละแพลตฟอร์ม โดยค่าเฉลี่ยของแต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีมาตรฐานตัวเลขที่แตกต่างกันไป รวมถึงในแต่ละอุตสาหกรรมเองก็ใช้ค่าเฉลี่ยในการวัดผลที่แตกต่างกันตามระดับการแข่งขันในการทำการตลาดของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมบน Social Media 

ตัวอย่างค่า P90 จากการเก็บข้อมูลของ Social Listening Tool

ซึ่งถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ เลย ‘ค่า P90’ ก็คงเป็นเหมือนค่ากลาง (Benchmark Measurement) ของการวัดตัวเลข Performace บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการวัด Social Metric, Influencer Rating และ Industry Benchmark ว่าโพสต์หนึ่งโพสต์ควรมี Engagement เท่าไหร่ถึงจะสามารถสู้กับแบรนด์อื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้นั่นเอง 

และนอกจากการใช้ Social Listening Tool เพื่อฟังเสียงผู้คนบนโลกโซเชียล แล้วนำมาสร้างมาตรฐานค่าเฉลี่ยเพื่อวัด Performace แล้ว เครื่องมือตัวนี้ยังทำให้ข้อความที่ไหลวนอยู่กลายเป็นแหล่ง Data ในด้านอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับธุรกิจได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น…

  • ทำให้รู้ถึงผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงไปของตลาดได้เร็วขึ้น (Dynamic Market) จากการฟังเสียงบนโลกโซเชียลมิเดีย 

ยกตัวอย่างเช่น การที่แบรนด์หนึ่งแบรนด์ทำให้ลูกค้าคนหนึ่งไม่ประทับใจ แล้วเขานำไปบ่นลงโซเชียลที่มีคนเห็นจำนวนมาก หลังจากนั้นก็เกิดกระแสแอนตี้แบรนด์ของคุณ จนในที่สุดก็นำไปสู่การสูญเสีย Customer Loyalty ให้กับคู่แข่งไป โดยที่คุณก็ไม่รู้ว่าเกิดมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ ซึ่งถ้าคุณใช้ Social Listening ก็จะทำให้เห็นว่า มีใครพูดถึงแบรนด์ของคุณในแง่ไหนบ้าง

  • ทำให้มองเห็นภาพที่กว้างมากขึ้น (Holistic View) 

เช่น การที่ลูกค้าของธุรกิจคุณหายไป หรือไม่เคยมาใช้บริการธุรกิจของคุณเลย จริงๆ แล้วพวกเขาอยู่ที่ไหน พวกเขาหันไปสนใจสินค้าของคู่แข่งตัวไหน หรือจะใช้ในการมองว่า คู่แข่งของคุณมีอยู่ตรงไหนบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาปรับปรุงการทำการตลาดของธุรกิจให้ดีและดึงดูดใจลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น

  • ทำให้เก็บ Data จำนวนมากได้จากการใช้ AI Power 

เพราะ Social listening เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล แค่ในปี 2019 ทาง Wisesight ก็ระบุจำนวนตัวเลขของข้อความพูดคุยบนโลก Social Media มาให้แล้วว่า มีอยู่ถึง 7.2 พันล้านข้อความเลยทีเดียว

ดังนั้น การใช้ AI เข้ามาช่วยในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลก็จะทำให้เรามองเห็นถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ ซึ่งก็ช่วยให้ธุรกิจเลือกช่องทางการสื่อสาร การวางกลยุทธ์ ไปจนถึงขั้นเลือก Influncer ได้จากการใช้ Social listening เพียงแค่เครื่องมือเดียว

2. Video เป็นแพลตฟอร์มที่ยังคงมาแรง

แม้จะผ่านมาแล้วหลายปี แต่เทรนด์ Video ก็ยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรงอยู่เสมอบนโลกโซเชียลมิเดีย และในปี 2020 นี้ หลายๆ แพลตฟอร์มเองก็ชูจุดเด่นด้านนี้ขึ้นมาให้เราได้เห็นมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

Facebook 

เทรนด์ Social Media จาก Facebook

สำหรับในปี 2020 นี้ รูปแบบคอนเทนต์ที่เป็น Video ของ Facebook ดูเหมือนจะโฟกัสไปที่ ‘Facebook Watch’ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ยอดนิยมที่มียอดผู้ชมเฉลี่ยถึง 140 ล้านครั้ง และใช้เวลาเฉลี่ยในการดูถึง 26 นาที

ด้วยการเติบโตที่สูงบวกกับเทรนด์ของวิดีโอที่ดูแล้วมีแต่จะแรงขึ้นเรื่อยๆ จากพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ Facebook Watch พัฒนาฟีเจอร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการเจาะจงหมวดการเล่นวิดีโอในระดับ Personalized ของแต่ละบุคคล, ชวนเพื่อนมาดูวิดีโอ แล้วแสดงความเห็นกันได้แบบ Realtime หรือที่เรียกกันว่า การจัดปาร์ตี้รับชม ตลอดไปจนถึงการสร้าง Poll ที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้มากขึ้นกว่าที่เคย

TikTok

TikTok ถือได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างเทรนด์วิดีโอแนวใหม่ให้เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลมิเดียเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะนี่คือแหล่งกำเนิดของ Short-form VDO ที่กลายเป็น Viral เยอะที่สุดทั้งในเวลานี้และในอนาคต 

เทรนด์การใช้งาน Tiktok กับการถือกำเนิดของ Short-form VDO ที่กลายเป็น Viral เยอะที่สุด

และในงานนี้ TikTok ก็ได้เปิดเผยถึง Key Features ที่ทำให้การสร้างสรรค์และการเผยแพร่วิดีโอบนแพลตฟอร์ม TikTok ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าใครอยากจะจับเทรนด์ด้านวิดีโอแห่งอนาคตไว้ในมือละก็…ต้องอย่าพลาดแกะสูตรสำเร็จจาก 4 Key Features นี้เลยค่ะ

  • Feed: ไม่ว่าจะเป็นครีเอเตอร์หน้าใหม่หรือหน้าเก่าบน TikTok ก็สามารถปั้นผลงานที่มียอดวิวหลักล้านได้โดยไม่มีข้อจำกัด ด้วยระบบ Machine Learning ในการวิเคราะห์คอนเทนต์วิดีโอ และส่งต่อไปถึงคนที่สนใจในวิดีโอเหล่านั้น โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องจำนวนของ Follower
  • Edit: วิดีโอบน TikTok เป็นคอนเทนต์ที่ทำขึ้นมาได้ง่ายๆ ด้วย Effect และ Sticker ที่มีให้เลือกใช้ได้หลากหลาย ทำให้ครีเอเตอร์สายวิดีโอเลือกใช้ช่องทางนี้ในการสร้างผลงานจนเป็น Viral ให้กับแพลตฟอร์มนี้ได้นับหลายพันชิ้น
  • Music: เรียกได้ว่าเป็น Highlight เด็ดของ TikTok เลยก็ว่าได้กับการที่มีคลังเพลงถูกลิขสิทธิ์ไว้ให้เหล่าครีเอเตอร์ได้เลือกใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่
  • Campaign & Challenge: สิ่งที่ทำให้วิดีโอของ TikTok กลายเป็น Viral ได้ในวงกว้างนั่นคือ การสร้างแคมเปญและท้าทายให้คนอื่นๆ มาลองทำตาม ซึ่งจุดนี้เองก็เป็นสิ่งที่หลายแบรนด์เล็งเห็นถึงวิธีการทำการตลาดและเลือกที่จะโปรโมตแบรนด์ผ่านการทำ Campaign & Challenge บนแพลตฟอร์มนี้อีกด้วย

YouTube

ถ้าพูดถึง Video แน่นอนว่าเราต้องนึกถึงเจ้าตลาดอย่าง Youtube แน่นอน แต่สำหรับปี 2020 นี้ทาง Google ได้ออกมาบอกแล้วว่า Youtube ในสายตาผู้ใช้งาน ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่คนใช้ไปกับเรื่องของความบันเทิงอย่างเดียวอีกแล้ว 

แต่ Youtube เป็นเครื่องมือที่คนใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการค้นหาความรู้ด้วยการ Search มากขึ้น โดยดูได้จากเทรนด์ของคอนเทนต์ที่หลายๆ ประเภทที่เป็นแนวความรู้ อย่างเรื่อง Finance มีอัตราการเติบโตขึ้นถึง 4.5 เท่าในปีที่ผ่านมา แถมบางคนยังมองว่า Youtube เป็นแพลตฟอร์มทีวีบนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบ Search Engine ได้อีกด้วย

3. การทำงานร่วมกับ Influencer เป็นไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

จะเห็นว่าในปี 2019 ที่ผ่านมาเป็นปีทองสำหรับเหล่า Influencer ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ไม่ว่าแบรนด์ไหนก็หันมาจับลูกค้าผ่านการโฆษณาของ Influencer กันทั้งนั้น 

ซึ่งความร้อนแรงของตลาดนี้ก็ยังส่งผลมาจนถึงปี 2020 ด้วยเช่นกัน แต่คราวนี้ไม่ใช่แค่แบรนด์แล้วที่ลงทุนกับเหล่าคนดัง ในฝั่งของแพลตฟอร์มเองก็เริ่มที่จะหันมาลงทุนและทำงานร่วมกันกับ Influencer ในรูปแบบที่จริงจังกันมากขึ้นด้วย

การสนับสนุน Influencer ของ Tiktok

เริ่มต้นกันที่ Social Platform มาแรงอย่าง TikTok ที่เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตขึ้นมาจากการสร้าง Influencer รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ TikTok กลายเป็นพื้นที่ของครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่ต้องการแสงสปอร์ตไลท์ในการโชว์ผลงานที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง

ซึ่งทาง TikTok เองก็มีรูปแบบการสนับสนุนการทำงานของ Influencer ด้วยการทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นวิดีโอได้ง่าย และใครก็กลายเป็น Influencer ได้จาก 3 สิ่งนี้ ได้แก่

  • การพกพาสะดวก จากการเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายบนมือถือ แต่สามารถทำคลิปวิดีโอสนุกๆ ได้เทียบเท่ากับการตัดต่อระดับมือโปร
  • มีเทคโนโลยี คือการที่เป็นแอปพลิเคชันที่มีลูกเล่นด้านเทคโนโลยีทั้ง Effect และ Sticker ทำให้ Influencer มีทางเลือกในการสร้างสรรค์ผลงานได้ง่าย
  • มี Community โดยการเป็น Content Discovery Platform ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเพื่อนกันบนแพลตฟอร์ม ก็สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ของคนอื่นได้

นอกจากนี้หากแบรนด์ต้องการโปรโมตสินค้าต่างๆ ผ่าน Influencer ในช่องทาง TikTok ทางแพลตฟอร์มก็มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ชื่อว่า Clisk คอยดูแลให้การทำงานระหว่างแบรนด์และ Influencer เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด

เทรนด์การทำงานกับ Influencer ของ Facebook Watch

หรืออย่าง Facebook ที่ในปีนี้ก็มีโปรเจกต์ใหญ่ในการทำคอนเทนต์พรีเมียมในรูปแบบต่างๆ ที่ก็ใช้พลังของ Influencer มาผลักดันการทำพรีเมียมคอนเทนต์บน Facebook Watch เช่น การจับ ‘สอดอ สไตล์’และ ‘เอม ตามใจตุ๊ด’ มาทำรายการร่วมกัน, การเปิดตัวรายการใหม่ของวู้ดดี้ที่จะฉายเฉพาะบน Facebook Watch เท่านั้น ฯลฯ

Shifu แนะนำ
เพราะวิธีการทำคอนเทนต์ของ Influencer ในปัจจุบันกว่า 97% สามารถทำงานข้ามหมวดอย่างน้อย 2 หมวด เช่น สายท่องเที่ยวสามารถทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารได้ด้วย ฯลฯ การใช้งาน Influencer จึงดูคุ้มค่ากว่าการลงทุนซื้อโปรดักชันใหญ่ๆ แค่ช่องทางเดียว

และด้วยความสามารถของ Influencer ที่เติบโตขึ้น เทรนด์การทำงานร่วมกันกับ Influencer ในปีนี้จะเป็นไปในรูปแบบที่จริงจัง และต้องวัดผลได้มากขึ้น โดย Wisesight ก็ริเริ่มการทำ Influencer Report ซึ่งเป็นการจัดอันดับผลงานของ Influencer ทั้งตลาดในทุกด้านผ่าน Data และ ซึ่งจะช่วยทำให้แบรนด์สามารถเลือกใช้ Influencer ที่ตรงทั้งใจและตรงทั้งกลุ่ม Target ได้มากขึ้นด้วย

4. หลายแพลตฟอร์มเริ่มจริงจังกับการทำตลาด E-Commerce

E-Commerce ในปีนี้ดูจะเป็นเทรนด์ที่ดุเดือดมากขึ้นจากการที่ Social Platform หันมาเอาจริงเอาจังกับการสร้างฟีเจอร์เพื่อตอบสนองต่อการติดต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไปจนถึงขั้นปิดการขายได้เลยบนแพลตฟอร์มของตนเอง เช่น

Story Feature ของ Facebook และ Instagram กับการอัปเดตความร้อนแรงของการใช้งานสตอรี่ที่ในแต่ละวันมีคนแชร์มากว่า 1 พ้นล้านครั้งทั่วโลก โดยผู้ใช้ก็ไม่ได้มีแต่ Gen Z แต่เป็นผู้ใช้งานในทุก Gen จึงทำให้ฟีเจอร์สตอรี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แบรนด์ใช้เพื่อโปรโมตถึงคนในวงกว้างได้ 

การเติบโตของ Facebook Story และ IG Story

จากผลสำรวจของ Facebook ก็พบว่า คนที่ดู Story กว่าร้อยละ 60 เมื่อเห็นสินค้าจะเกิดความรู้สึกอยากที่จะเลือกซื้อสินค้านั้นๆ และประเทศไทยมีอัตราการสนใจการซื้อมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 1.7 เท่า นี่จึงเป็นการเปิดตลาดทางฝั่ง E-Commerce ของฟีเจอร์สตอรี่ที่แบรนด์เองก็น่าจะลองนำเทรนด์นี้ไปพิจารณาเพื่อนำไปโปรโมตสินค้าดูเหมือนกันนะคะ

เทรนด์การใช้ Facebook Messenger

ขณะที่สตอรี่กำลังมา ช่องทางการติดต่อสื่อสารแบบเดิมๆ อย่าง Massenger ก็ยังคงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทางแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Facebook และ LINE ใช้เป็นเครื่องมือในการมุ่งสู่ตลาด E-Commerce ของปี 2020 นี้ด้วย

โดย Facebook และ LINE ใช้วิธีการทำ Conversational Commerce ซึ่งเป็นตัวเลขของการซื้อขายในรูปแบบของ Chat มากขึ้น อย่างในฝั่งของ Facebook คนขายของออนไลน์ในไทยก็นิยมใช้ Facebook Massenger ในการพูดคุยและติดต่อกับผู้ซื้อจนถึงขั้นปิดการขายออนไลน์ได้ถึง 40% 

หรืออย่าง LINE เองก็กำลังนำเทรนด์ของการ Chat และ Shop บนแพลตฟอร์มของตนเองมาสร้างจุดขายให้กับกลุ่มแบรนด์และธุรกิจขนาดเล็กได้มีช่องทางการโฆษณาสินค้าของตัวเองแบบใหม่จากการเพิ่มเพื่อนกับ Official Account ซึ่งส่งผลให้มีการซื้อ-ขายหลังเพิ่มเพื่อน (Add Friend) แล้วสูงถึงร้อยละ 45 เลยทีเดียวค่ะ

5. มุมมองของการวัด Metrics ที่เปลี่ยนไป

เรื่องของการวัดผลลัพธ์ของการทำการตลาดก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจในปีนี้ ภายในงาน TZA 2020 จึงเปิดให้มี Session การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้จาก 3 ผู้เชี่ยวชาญในวงการโฆษณา เอเจนซี่ และการทำสื่ออย่าง Ad Addict, Brand Baker และ Workpoint มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของการวัด Metrics ที่เปลี่ยนไปในปี 2020 นี้ 

โดยเรื่องแรกที่เราสรุปออกมาเป็น Key Takeaway ได้ก็คือ สาเหตุที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนทำงานด้านการตลาดหรือธุรกิจไม่สามารถหาตัวชี้วัด Metrics ที่ดีได้ ซึ่งทั้ง 3 ท่านมีเหตุผลที่นำมาอธิบายแตกต่างกันไป แต่เรารวบรวมมาให้แล้วเป็น 5 สาเหตุ ดังนี้

  • เกิดจากการที่แต่ละอุตสาหกรรมมี Metric ในการวัดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
  • เกิดจากการที่แต่ละแพลตฟอร์มในการทำการตลาดมีธรรมชาติของการวัดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น การใช้ค่ามาตรฐานในการวัดที่ต่าง, ชื่อเรียกที่ต่าง หรือระบบการเก็บ Metric ที่เฉพาะในรูปแบบของตนเอง ฯลฯ
  • แต่ละแพลตฟอร์มที่นักการตลาดใช้งานไม่สามารถ Synchronize กันได้ จึงทำให้การทำการตลาดแต่ละ Social Media เหมือนแยกกันทำ
  • รูปแบบการทำ Content Marketing ที่มีความแตกต่างกัน ทำให้การวัดผลเป็นเรื่องยาก
  • การยึดติดกับตัวเลขบางอย่างมากจนเกินไป เช่น การวัดผลของการใช้ Influencer ที่หลายคนก็มักจะพูดถึงแต่เรื่อง Engagement เพียงอย่างเดียว โดยลืมไปว่าสุดท้ายแล้ว Metric ที่เราอยากได้มากที่สุดคืออะไรกันแน่

เทรนด์การวัด Metrics ของการทำ Social Media

หลังจากที่รู้ถึงสาเหตุกันไปแล้ว คราวนี้จะเป็น Key Takeaway ในเรื่องของการวัด Metric ในปี 2020 นี้ที่เมื่อฟังแล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่า จริงๆ แล้วเราควรโฟกัสและแก้ไขตรงจุดไหนบ้างจึงจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น…

  • การทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของอุตสาหกรรมให้ดีเสียก่อนว่า จริงๆ แล้วธุรกิจต้องการอะไร และมีอะไรเป็นโจทย์ เพื่อที่จะเลือกลงทุนและลงแรงได้อย่างถูกจุด
  • เริ่มต้นตั้ง Objective ดีและตรงกับอุตสาหกรรมจะช่วยทำให้มุมมองต่อการวัดผลลัพธ์ทางการตลาดตรงกับความต้องการของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น 
  • มองให้เห็นภาพรวมและใช้ Data อื่นๆ ร่วมให้มากขึ้น เช่น จากอดีตที่เรามักจะสนใจแค่เรื่องของค่า Rech หรือ Impression แต่ในปีนี้ควรที่จะต้องเริ่มต้นโฟกัสไปที่การหา Audience ที่ตรงกลุ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ จากการฟังเสียงใน Social Media หรือ Channel อื่นๆ ที่เรามีอยู่ในมือ
  • อย่ายึดติดกับตัวเลข Engagement เยอะๆ มากจนเกินไป แต่ธุรกิจควรจะรู้ว่า Quality Engagment สำหรับธุรกิจคืออะไรและจะต้องเก็บมาเพื่อทำอะไรต่อมากกว่า

6. เสียงบนโลก Social กลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่ทรงพลัง

ใครจะคิดละคะว่า วันหนึ่ง Social Media จะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีส่วนช่วยสะท้อนสังคมได้ในหลายๆ ด้าน แถมยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมในหลายๆ เรื่องได้ ไม่ว่าจะเป็น…

การสะท้อนสังคมในมุมมองดาร์กๆ ผ่านการพิมพ์ข้อความลงบนโซเชียลมิเดียที่คุณจะพบว่า บนโลกโซเชียลมีการพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการพนันถึง 120,000 ข้อความ, มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการ Bullying หรือการกลั่นแกล้งกันกว่า 775,000 ข้อความ และที่มากที่สุดเลยก็คือข้อความที่เกี่ยวข้องกับการขายบริการอย่างเปิดเผยที่มีสูงถึง 1.3 ล้านข้อความ!

หรือในแง่ของการสนทนาที่ดียังกลายเป็นกระแสที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมและกระจายข่าวสารเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตัวตามสถานการณ์ในทิศทางที่ดีขึ้นได้

เทรนด์การใช้ Twitter ของคนไทยกับเรื่องโคโรน่าไวรัส

อย่างเช่น การพูดคุยกันบน Twitter ที่ได้ชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์มสนทนา Realtime อันดับ 1 ที่ใครหลายคนใช้ในการค้นหาเทรนด์และติดตามข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ผ่านการใช้ #Hashtag ในการพูดคุยเรื่องเดียวกัน และล่าสุดกับการใช้ #โคโรน่าไวรัส ในการพูดคุยและส่งต่อข้อมูลกับเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ โดยมีคนพูดถึงและ Retweet กว่า 2 ล้านครั้งภายในระยะเวลาแค่ 1 เดือน

ซึ่ง Social Media ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นแต่ยังกลายเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในสังคมได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีของพะยูนน้อยมาเรียมที่หลังจากมีข่าวการตายของมาเรียมขึ้นมา ก็เกิดเหตุการณ์รณรงค์เกี่ยวกับการลด ละ เลิก ใช้พลาสติกกันแบบวงกว้าง จนกลายเป็นเทรนด์ Zero Waste, ECO หรือ Greenery ต่างๆ ซึ่งถ้าแบรนด์สามารถปรับตัวตามทันกระแสเหล่านี้ได้ แบรนด์ก็จะได้ใจของผู้บริโภคในจุดนี้ไปได้อีกมากเช่นกัน

สรุป

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนก็คงจะเริ่มมองเห็นเทรนด์ที่ยังคงอยู่และเปลี่ยนไปของการใช้ Social Media ไม่มากก็น้อยแล้วใช่ไหมคะ? 

ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวที่น่าสนใจของแต่ละแพลตฟอร์มที่ทำให้เหล่านักการตลาดมีลูกเล่นในการทำแคมเปญเพิ่มขึ้นได้อีกเยอะทั้งจากการโฟกัส ปรับ และเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับพวกเราเหล่านักการตลาดแล้วล่ะว่า จะสามารถหยิบจับแพลตฟอร์มและ Insight เหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อทำการตลาดได้ด้วยหรือไม่ 

ก็หวังว่า เทรนด์ Social Media ของปี 2020 นี้ที่เราสรุปมาฝากจากงาน Thailand Zocial Awards  จะทำให้คุณมองเห็นทิศทางการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ได้ชัดเจนขึ้นนะคะ 🙂

ตาคุณแล้ว

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้ Social Media เหล่านี้ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยยังไงบ้างคะกับเทรนด์ที่เรานำมาเสนอ? มีเทรนด์ Social Media ไหนที่คุณเห็นต่างไปนอกจากนี้บ้าง? ลอง Comment มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันกับเราได้เลยค่ะ