“ทำไมทำเว็บไซต์ ‘แค่นี้’ ถึงแพง?” – คำถามทำนองนี้กับคำว่า “แค่นี้” นี่ล่ะ ที่เคยทำให้เหล่าฟรีแลนเซอร์ เว็บสตูดิโอ หรือเอเจนซีที่รับทำเว็บไซต์ หัวเสีย หัวร้อน กันไปนักต่อนักแล้ว

แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้ในด้านนี้มากนัก เขาก็คงจินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่า ราคาจ้างทำเว็บที่รู้สึกว่าแพง มันมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง 

แต่ไม่เป็นไรครับ ในบทความนี้ เราจะมาแตกรายละเอียดราคาทำเว็บไซต์กันว่า “ทำเว็บหนึ่งเว็บมีต้นทุนอะไรบ้างถึงต้องเป็นราคานี้” เพื่อให้ฝั่งผู้ว่าจ้างเข้าใจและฝั่งทีมรับจ้างแฮปปี้นะครับ

7 ปัจจัยหลักๆ กับคำถามที่ว่า ทำไมราคารับทำเว็บไซต์ถึง ‘แพง’ จัง

1.คำตอบที่ง่ายที่สุด คือ ขนาดของเว็บไซต์

แน่นอนว่า เว็บไซต์ขนาด 10+ หน้าเพจกับเว็บไซต์ที่มี 50+ หรือ 100+ หน้าเพจ ราคาย่อมต่างกัน ยิ่งเว็บไซต์มีจำนวนหน้าเพจมากเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น 

จำนวนหน้าเพจที่มาก เว็บไซต์ก็โหลดหนักมาก ทีมรับจ้างทำเว็บไซต์ก็ต้องหา Server ที่มีพื้นที่รองรับเพียงพอ และถ้าไม่ใช่แค่จำนวนหน้าที่แค่ ‘เยอะ’ แต่ยังทำเว็บไซต์ที่มีโครงสร้าง (Site Structure) ที่ซับซ้อน หลายชั้น ภาระในการออกแบบ การเขียนโค้ดเว็บไซต์ก็มากขึ้น ต้องอาศัยแรงและเวลาในการพัฒนามากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ เมื่อเป็นเว็บไซต์ขนาดใหญ่ ก็มีเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Website Performance) ที่ผู้พัฒนาจะต้องใส่ใจ เพื่อให้เว็บโหลดเร็ว ไม่สะดุด ใช้งานได้สะดวก

ตัวอย่าง Site Structure ของเว็บไซต์ขนาดเล็ก

ตัวอย่างเว็บไซต์ขนาดเล็ก

ที่มารูปภาพ

ตัวอย่าง Site Structure ของการทำเว็บไซต์ขนาดใหญ่

ตัวอย่างเว็บไซต์ขนาดใหญ่ที่ Site Structure มีความซับซ้อน

ที่มารูปภาพ

2.เรื่องของระบบและฟังก์ชันบนเว็บไซต์ที่อยากได้

“อยากได้เว็บไซต์ที่มีฟังก์ชันมากขึ้น ก็ต้องจ่ายมากขึ้น”

เว็บไซต์ประเภท Blog ที่ให้ความรู้ลงบทความเท่านั้น อาจมีราคาไม่สูงเท่าไร (และถ้ายิ่งซื้อ Website template มาใช้ก็ไม่แพงเลย) แต่ถ้าต้องการให้เว็บไซต์ทำได้มากกว่านั้น ก็ต้องทำเว็บไซต์ที่มีระบบรองรับหรือติดตั้งซอฟต์แวร์เสริม (Plug-in)

ถ้าคุณอยากได้เว็บไซต์ขายของ ก็จำเป็นที่จะต้องมีระบบร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) ต้องการระบบจัดการคลังสินค้า (Inventory Management System) ถ้าคุณต้องการเก็บ Contact ของผู้เข้าใช้งานเพื่อทำการตลาดต่อไป คุณอาจต้องการ Lead Generation Software ฯลฯ ตลอดจนการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ต่างๆ  (Plug-in integration) ก็ต้องอาศัยความความรู้-ความเชี่ยวชาญในการเลือกซื้อและติดตั้ง และแน่นอนว่า มีค่าซอฟต์แวร์ด้วย

Shifu แนะนำ
อ่านเกี่ยวกับ Lead Generation แนวคิดการเก็บรายชื่อ ‘ว่าที่’ ลูกค้า เพิ่มเติมในบทความนี้ 

3.ต้นทุนเวลาและความเชี่ยวชาญของทีมพัฒนา

คุณประเมินระยะเวลาที่ใช้ทำเว็บ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และแรงของทีมพัฒนาเว็บไซต์เท่าไร?

หากจ้างทำเว็บไซต์ง่ายๆ หรือใช้ Web template คุณอาจจะไม่ต้องการ “Dev” มือดี และเว็บไซต์อาจเสร็จได้ในเวลาเพียง 1 – 3 วัน เท่านั้น

แต่สำหรับเว็บไซต์คุณภาพนั้น ต้องอาศัยทีมงานในหลายๆ ตำแหน่งด้วย ได้แก่ ทีมพัฒนาเว็บไซต์ (Web Developer) ทีมนักออกแบบเว็บไซต์ (UX/UI Designer) และผู้ดูแลโปรเจกต์ (Project Manager) ฯลฯ อีกทั้ง กว่าเว็บไซต์จะเสร็จ อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ เพราะมีหลายขั้นตอนมากๆ 

กระบวนการคร่าวๆ ในการทำเว็บไซต์ ‘แบบมืออาชีพ’ หนึ่งเว็บไซต์ก็จะมีตั้งแต่…

  • การทำความเข้าใจธุรกิจหรือความต้องการของผู้ว่าจ้าง 
  • การทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย (Target Audience) หรือ Persona เพื่อออกแบบเว็บไซต์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง การทำรีเสิร์ชเพื่อศึกษาประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ (UI: User Experience)
  • ขั้นตอนการออกแบบ Design System และ UI (User Interface) หรือหน้าตาเว็บไซต์ เช่น ชุดสีบนเว็บไซต์ ปุ่มกด ฟอนต์ แนวทางการใช้ภาพ ฯลฯ 
  • การวางแผนและออกแบบ Wireframe หรือแบบจำลองเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ว่าจ้างทำเว็บไซต์ตรวจสอบก่อนเริ่มพัฒนาเว็บไซต์จริง
  • ขั้นตอนการออกแบบและเขียนโค้ดทำเว็บไซต์จริง
  • การตรวจสอบ ทดลองการใช้งานจริง และรับฟีดแบกเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์
  • ส่งมอบงาน

Wireframe ของทีม รับทำเว็บไซต์

ตัวอย่าง Wireframe หรือแบบจำลองทำเว็บไซต์ก่อนเริ่มงานจริง 

จากกระบวนการดังกล่าว คงเห็นแล้วว่า การทำเว็บไซต์ (แบบมืออาชีพ) ไม่ใช่เรื่อง ‘แค่นี้’

ถ้าคุณจ้างทำเว็บไซต์ในราคาหลักพันหรือหลักหมื่นต้นๆ แน่นอนว่า ทีมพัฒนาฯ คงไม่ยอมลงแรงลงเวลาเป็นเดือนๆ เพราะไม่คุ้มแน่ๆ และถ้าจ้างทำเว็บราคาถูก ผู้จ้างก็อาจต้องรับความเสี่ยงที่เว็บไซต์จะออกมาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เว็บเกิด Bug ต่างๆ หลังจากปล่อยเว็บไซต์ไปแล้ว (ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้ใช้ Web template เช่น WordPress เป็นต้น)

นอกจากนี้ เรื่องการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ คือ ทักษะเฉพาะทาง และคำว่า “Specialist = ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้” พวกเขาต้องสั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์กว่าจะสามารถทำงานตรงนี้ได้

4.ดีไซน์ +++ (บวกๆๆ เพราะมีรายละเอียดมากกว่าที่คิด)

เว็บไซต์ในสมัยนี้หากดีไซน์ไม่ดี ก็ไม่มีทางที่จะแข่งขันกับเว็บไซต์อื่นๆ ได้เลย และเว็บไซต์ที่ได้รับการยอมรับว่าสวย ก็มักจะเป็นเว็บไซต์ที่ดูไม่มีดีไซน์เท่าไหร่เลย แต่ทำไมถึงแพงนัก!?

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ Layout เรียบง่าย - Spotify

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ Layout เรียบง่าย - Starbacks

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มี Layout เรียบง่าย

จากตัวอย่างเว็บไซต์ของ Spotify และ Starbucks งานดีไซน์ของทั้งสองเว็บนี้ ไม่ได้มีราคาเพียงหลักหมื่นและไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดเพียงชั้นเดียวแน่นอน 

Layout ที่เรียบง่าย ดีไซน์ที่สะอาดตาผ่านการทำรีเสิร์ช UX มาอย่างดี เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานแก่ผู้ใช้ที่ดีที่สุด รวมทั้ง เป็นการออกแบบ “User Journey” บอกเขาให้รู้ว่าต้องทำอะไร คลิกตรงไหน อีกทั้ง ยังออกแบบ UI ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์แบรนด์ (Branding) หรือ CI (Coporate Identity) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า 

ขั้นตอนการออกแบบเว็บไซต์นั้น ไม่ได้มีแค่การออกแบบภาพ รู้เรื่องสี หรือองค์ประกอบศิลป์เท่านั้น กว่าจะออกแบบเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ ดีไซเนอร์ต้องทำความเข้าใจธุรกิจ รู้จักกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนต้องมีความรู้เรื่องการตลาดและความรู้ทางเทคนิค เช่น ภาษา CSS การออกแบบเว็บไซต์ให้ Respensive บนอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

5. Support หรือบริการช่วยเหลือ/ให้คำปรึกษา

หลังทำเว็บไซต์เสร็จและเพิ่งปล่อยเว็บไซต์ออกมาใช้งานใหม่ๆ มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเจอ Bug เล็กๆ น้อยๆ หรือมีปัญหาที่เจ้าของเว็บไซต์อาจจะไม่เข้าใจ เรื่องของ Support จึงเป็นเรื่องสำคัญ และอาจรวมอยู่ในค่าให้บริการทำเว็บด้วย

แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกเจ้าที่จะมีบริการ Support 

หากจ้างฟรีแลนเซอร์ในการทำเว็บไซต์ น้อยรายมากถึงจะมีบริการ Support หรือถ้ามีอาจจำกัดจำนวนครั้งและระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือเพียงสั้นๆ การใช้บริการฟรีแลนเซอร์จึงเหมาะสำหรับเว็บไซต์ขนาดไม่ใหญ่ ไม่ได้มีฟังก์ชันซับซ้อนมาก และถ้าใช้ Website template ที่ดีๆ ก็จะมีความเสถียรและมีบริการ Support ของบริการอยู่แล้ว

แต่สำหรับเว็บไซต์ธุรกิจที่ใช้เว็บไซต์ในการทำการตลาด รวมทั้ง ปิดการขายอย่างจริงจัง ควรจ้างเอเจนซีรับทำเว็บอย่างจริงจังที่มีบริการ Support ในระยะยาว หรืออาจมี Training การดูแลเว็บไซต์เบื้องต้นกับเจ้าของเว็บไซต์ด้วย …ซึ่งแน่นอนว่า บริการที่ชัวร์กว่า ก็ยอมมีราคาสูงกว่า

Shifu แนะนำ
เวลาที่คุณจะตกลงจ้างเว็บสตูดิโอหรือเอเจนซีทำเว็บไซต์ ควรสักถามบริการให้ความช่วยเหลือหรือ Support ให้รู้เรื่องตั้งแต่แรกว่า มีบริการนี้หรือไม่ จะช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง ระยะเวลาให้ความช่วยเหลือนานเท่าไร และที่สำคัญ คือ บริการนี้รวมอยู่ในราคารับทำเว็บแล้วหรือเปล่า 

6. ต้องการให้ทีมทำเว็บทำ Web Content ให้ด้วยหรือไม่

เอเจนซีหรือบริษัทรับทำเว็บ อาจมีบริการทำ Web content ให้ด้วย ซึ่งต้องมีทีมนักเขียนหรือ Copywriter หรือ Content writer เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องเพิ่มค่าแรงเข้าไปอีก ทั้งนี้ ถ้าเราเตรียมคอนเทนต์ของเราไว้ก่อนแล้ว และต้องการให้ทีมพัฒนาอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์และปรับแต่งเล็กน้อย (เพื่อให้เหมาะกับเว็บไซต์และ SEO) เรตราคาก็จะถูกลงมา

ทั้งนี้ บริการทำ Web content อย่างจริงจัง (หมายความถึง เว็บไซต์ที่ต้องบรรจุข้อมูลมากๆ เป็นเว็บไซต์ที่คนเข้ามาเพื่อหาข้อมูล) จะมีเฉพาะบริษัทรับทำเว็บไซต์เท่านั้น หากจ้างฟรีแลนซ์มักจะไม่มีบริการนี้ เราต้องเตรียมทำคอนเทนต์ต่างๆ ให้พร้อม และให้ผู้พัฒนาเว็บอัปโหลดให้เท่านั้น

Shifu แนะนำ

ทุกวันนี้ การทำคอนเทนต์และอัปโหลดลงเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องยาก คุณเองก็สามารถทำได้เองผ่าน CMS (Content Management System) หรือเครื่องมือจัดการคอนเทนต์บนเว็บไซต์ เช่น WordPress 

ไม่ว่าจะแก้ไขคอนเทนต์บนหน้าเว็บเพจ เขียนบล็อกสร้างหน้าเพจใหม่ ก็สามารถศึกษาและทำได้ด้วยตัวเอง คุณสามารถเริ่มต้นเรียนรู้วิธีใช้ WordPress ในเบื้องต้นได้ในบทความนี้ครับ 

7.ความต้องการอื่นๆ และเรื่องจิปาถะของการทำเว็บไซต์

ความต้องการอื่นๆ เช่น ต้องการให้เว็บไซต์ SEO Ready พร้อมทำอันดับบนหน้าเสิร์ช ต้องการ 2 ภาษา 3 ภาษา ต้องการ Resource ให้คนกรอกฟอร์มดาวน์โหลดเพื่อเก็บ Contact ฯลฯ (หรือการทำ Lead Generation) เหล่านี้ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความเข้าใจของทีม อีกทั้ง ยังอาจต้องเพิ่มทีมงานในการทำงานเพิ่มเติม เช่น Content Writer, Seo Specialist, Digital Marketing เป็นต้น

นอกจากนี้ เรื่องการทำเว็บไซต์ ยังมีเรื่องจิปาถะระหว่างทางมากมาย อยากปรับตรงนั้น อยากเปลี่ยนตรงนี้ ทีม Web Developer ตลอดจนทีม Web Designer ก็ต้องเสียเวลาและแรงในการปรับแก้ ซึ่งราคาทำเว็บของบริษัทจ้างทำเว็บก็รวมเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วย (แต่เขาเองก็มีลิมิตนะครับ ว่าแก้ได้กี่ครั้ง ถ้าจะให้แก่เป็นสิบเป็นร้อยครั้ง คงไม่มีทีมทำเว็บเจ้าไหนไหวเหมือนกัน)

สรุป

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงจะพอเห็นภาพแล้วนะครับว่า การทำเว็บ ไม่ใช่เรื่อง ‘แค่นี้’ จริงๆ ด้วยมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากมาย ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญในหลายๆ สาขา ทั้ง Web Development, Design, Marketing ฯลฯ ตลอดจนระยะเวลาและแรงงานของทีมงานที่ต้องอาศัยเวลาปลูกปั้นทำเว็บเป็นเดือนๆ นั่นคือ ต้นทุนที่แปลงออกมาเป็นราคารับทำเว็บไซต์ครับ

ตาคุณแล้ว

คุณกำลังอยากทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองหรือเปล่า อยากรู้ไหมว่าเว็บไซต์ที่คุณต้องการ คุณต้องเตรียมงบไว้เท่าไร ลองใช้น้องลูกคิด Calcula’te ช่วยคำนวณราคาทำเว็บไซต์ของคุณดูได้นะครับ จะเอาถูกแพงอย่างไร ลองปรับความต้องการให้เหมาะสมกับงบประมาณก่อนได้ครับ 🙂

Calcula'te คำนวณราคา รับทำเว็บไซต์