เว็บไซต์ contentshifu.com สร้างขึ้นจากระบบ WordPress และเราก็เชื่อว่ามันเป็นแพลตฟอร์มที่ดีสำหรับคนอยากมีเว็บไซต์
สำหรับงาน WordCamp Bangkok ที่จะมารีวิวกันในวันนี้ เป็นงาน Conference ที่คอมมูนิตี WordPress Bangkok นำเข้ามาในไทยและจัดขึ้นที่กรุงเทพเป็นครั้งแรกในปี 2017 และ Content Shifu ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานทั้งสองปี (โดยเราได้เป็นสปีกเกอร์ในปี 2018) จึงอยากขอนำสาระบางส่วนมาฝากกัน

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้เน้นสรุปเนื้อหาหนักๆ แต่เน้นที่การรีวิวหัวข้อต่างๆ และแถมข้อมูลต่างๆ สำหรับผู้ที่สนใจให้ศึกษาต่อ

เกริ่น: รู้จักกับงาน WordCamp เพิ่มเติมสักนิด

WordCamp และ WordCamp Bangkok คืออะไร

WordCamp เป็นงาน Conference หรืองานสัมมนาสังสรรค์ที่โฟกัสเรื่อง WordPress โดยเฉพาะ เป็นงานที่จัดขึ้นทั่วโลก จัดโดย WordPress Community ในเมืองต่างๆ  เพื่อให้แฟนๆ ชาว WordPress ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กัน ถ้าสนใจว่าในต่างประเทศเขาพูดอะไรกัน คุณสามารถรับชมวีดีโอของต่างประเทศได้ที่ wordpress.tv

ส่วน WordCamp Bangkok ก็คืองาน WordCamp ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพ โดยชาว WordPress Community ในเมืองไทย (กลุ่ม WordPress Alliance นั่นเอง) โดยรวบรวมวิทยากรทั้งคนไทยและคนต่างชาติ มาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ

wordcamp
โปสเตอร์ WordCamp 2018
โปสเตอร์ WordCamp 2018

หัวข้อที่ชาว Content Shifu น่าจะชอบ

วิทยากรที่มาพูดในงานมาจากหลากหลายสาย ตั้งแต่ โปรแกรมมิง ดีไซน์ คอนเทนต์ มาร์เก็ตติง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้เราจึงอยากขอคัดมาเฉพาะบางหัวข้อที่ชาว Content Shifu น่าจะสนใจ

จากโลกเก่าสู่สื่อใหม่ – สร้างสำนักข่าวออนไลน์ด้วยเวิร์ดเพรส

หัวข้อในปี 2018 นี้บรรยายโดยคุณจ๋ง วรงค์ หลูไพบูลย์ แบ่งปันประสบการณ์การทำเว็บไซต์ให้กับสำนักข่าวต่างๆ เช่น มติชน, ReadTheCloud, Thai Publica, Roo-Young รวมถึงเว็บคอนเทนต์อื่นๆ

สำหรับสรุปเนื้อหาในหัวข้อนี้ บล็อก seedtheme โดยพี่เม่นได้เขียนเอาไว้ได้น่าอ่านและละเอียดอยู่แล้ว เช่น การแนะนำแนวปฏิบัติสำหรับคนทำคอนเทนต์ว่ามีอะไรบ้างที่ควรทำเมื่อเขียนบนออนไลน์ และมีปลั๊กอินหรือเครื่องมืออะไรบ้างที่เหมาะกับคนทำเว็บสายคอนเทนต์

Shifu แนะนำ
สำหรับคนทำคอนเทนต์ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ให้น่าสนใจและได้ผลลัพธ์ที่ดีบนออนไลน์ ทาง Content Shifu Academy มีคอร์สที่เกี่ยวข้องคือคอร์ส Becoming A Great Digital Writer: ติดอาวุธนักเขียน ให้เป็นเซียนดิจิทัลคอนเทนต์

ออกแบบเว็บไซต์อย่างเทพ แต่โค้ดไม่เป็น ทำไงดี?

หัวข้อจากปี 2018 เช่นเดียวกัน ซึ่งบรรยายโดยคุณเบนซ์ เว็บ Grappik ว่าด้วยเรื่องประสบการณ์การทำงานรับโปรเจกต์ลูกค้า แม้ตนเองจะเป็นดีไซเนอร์ ก็สามารถสร้างเว็บ WordPress ที่สวยงามโดยไม่ต้องอาศัยทักษะการเขียนโปรแกรม เจ้าตัวได้สรุปเนื้อหาไว้ในบล็อกแล้วเช่นเดียวกัน ใครที่สนใจตามอ่านได้ที่นี่

Marketing Tools for WordPress (เครื่องมือการตลาดสำหรับคนใช้ WordPress)

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่บรรยายโดยพวกเรา Content Shifu เองค่ะ โดยมาให้ข้อมูลเรื่องเครื่องมือที่นักการตลาดสามารถใช้ร่วมกับ WordPress เพื่อการทำ Digital Marketing

โดยเราแบ่งการพูดออกเป็น 6 หมวดหมู่ใหญ่ๆ ได้แก่

  • Fundamental: เตรียมเว็บให้พร้อม และเชื่อมต่อกับ Digital Assets ต่างๆ
  • Content: ตัวอย่างเครื่องมือที่ช่วยให้คอนเทนต์น่าสนใจ
  • SEO: ปลั๊กอินที่ช่วยเรื่อง SEO
  • Social Media Marketing: เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการตลาดผ่านโซเชียล เช่น การพาคนบนเว็บไปบนโซเชียล และการพาคนบนโซเชียลกลับมาที่เว็บ

รวมไปถึงหมวดหมู่ที่โดดเด่นในสไตล์ Inbound Marketing อย่าง

  • Lead Generation
  • Form
  • Landing Page
  • Email Marketing
Shifu แนะนำ


คุณสามารถดาวน์โหลดสไลด์เนื้อหาการบรรยายของเราได้ที่นี่ (เป็นการทำ Landing Page สาธิตการใช้เครื่องมือไปในตัว)

 

ตั้งแต่หัวข้อนี้เป็นต้นไป เป็นการรีวิวเนื้อหาการบรรยายจากปี 2017

ออกแบบเว็บไซต์ยังไงให้ Convert

ถ้าเคยเห็น Inbound Framework คงคุ้นเคยกับคำว่า Convert กันแล้ว แต่ถ้ายังแนะนำให้ดูบทความแนะนำ Inbound Framework นี้ก่อน

การ Convert ให้คนชมสาร กลายเป็น Lead ผู้มุ่งหวัง มีเรื่องของ ‘การออกแบบ' เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก ซึ่งวิทยากรในหัวข้อ ‘Designing WordPress Website that Convert' ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพี่โบ Bow Kraivanich ผู้ที่เคยเขียนบทความเรื่องการใช้สี กับการตลาด กับเว็บ Content Shifu มาแล้วนี่เอง

การบรรยายของพี่โบ ประกอบไปด้วยหัวข้อดังนี้

  1. การดีไซน์โดยโฟกัสที่ Conversion นั้นมีแนวคิดอย่างไร
  2. เป้าหมายในการ Convert มีอะไรได้บ้าง
  3. 5 หลักในการดีไซน์เพื่อให้ได้มาซึ่ง Conversion
  4. ปลั๊กอิน WordPress ที่สามารถช่วยคุณได้

เว็บไซต์ที่ดี คือเว็บที่ทำให้คนประทับใจ
ส่วนเว็บไซต์ที่ยอดเยี่ยม คือเว็บที่สามารถเปลี่ยนเขาให้เกิดมูลค่าได้

ความปลอดภัยของเว็บไซต์

เราเคยได้เขียนถึงข้อลำบากเล็กๆ ของการทำ Inbound Marketing ซึ่งนั่นก็คือการดูแลเว็บไซต์ รวมถึงเรื่องความปลอดภัย หรือ Security ด้วย งานในครั้งนี้มีสองหัวข้อที่ว่าด้วยความปลอดภัย ได้แก่

หัวข้อ WordPress Security

วิทยากรเป็นชาวต่างชาติชื่อ Robert Rowley ซึ่งทำงานในสาย Security คำแนะนำที่เขาได้ให้ขออนุญาตสรุปเป็น bullets สั้นๆ ไว้ตามนี้

  • ไม่ใช่ทุกเครื่องมือจะทำได้ทุกอย่าง อย่าพึ่งแต่การติดตั้ง Security plugin อย่างเดียว
  • การตั้ง Strong password สำคัญมากๆ >> อย่าตั้งพาสเวิร์ดว่า pokemon (ซึ่งคุณ Robert แกบอกว่าเป็นหนึ่งในพาสเวิร์ดยอดฮิต ฮ่าๆๆ)
  • ปลั๊กอินเป็นอีกหนึ่งในช่องโจมตี ควรอัปเดตซอฟแวร์ และปลั๊กอิน ให้เป็นรุ่นใหม่เสมอ
  • และไม่ควรมีปลั๊กอินมากเกินไป คุณ Robert เขาเชื่อใน Pure WordPress

หัวข้อ 2-Factor Authentication for WordPress Admin

คุณ Dom ได้แนะนำเรื่องการใช้ Facebook Account Kit ซึ่งเป็นการใช้ Facebook Account ในการล็อคอิน และ Verify ตัวตนของ WordPress User

ทำ Instant Article กับ AMP บน WordPress

สำหรับใครที่อาจจะยังไม่รู้จัก AMP บทความสรุปเทรนด์ปี 2021 เราได้แนะนำถึงเรื่องนี้เอาไว้ จากที่มีคนเคยรีเควสพวกเราว่าอยากให้เขียนบทความเรื่องนี้เพิ่มเติม วันนี้ขอนำเสนอเป็นสรุปจากงานนี้ก่อนเลยละกัน

คุณ Wee วิทยากรได้ทำสไลด์อธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของสองสิ่งนี้เอาไว้ และแนะนำปลั๊กอินที่คุณสามารถใช้ทำ Instant Article และ AMP ได้

ลองดูสไลด์ของคุณ Wee ได้ที่นี่

Progressive Web App

หัวข้อนี้ยังไม่เคยมีการเกริ่นใน Content Shifu มาก่อน แต่เราได้ฟังแล้วรู้สึกสนใจมาก เป็นเพราะว่า “โอ้โหเฮะ คอนเซปต์เรื่องนี้สนับสนุนเหตุผลที่เราควรทำเว็บไซต์ได้ดีมากๆ !

ธุรกิจส่วนใหญ่อยากมีแอปเป็นของตัวเอง เพราะมันใช้สะดวกกว่าเข้าเว็บ และใช้บางฟีเจอร์อย่าง Notification ได้ แต่การมีแอปมันใช้ต้นทุนไม่น้อย แถมผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ใช้แอปอย่างจริงจังแค่ไม่กี่แอป

เป็นที่มาสู่แนวคิดของ Progressive Web App คือ…ทำไมเราไม่ทำให้เว็บไซต์ มีความสามารถมากขึ้น เสมือนเป็น Mobile App ดูบ้างล่ะ?

จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เทคโนโลยีสุดล้ำ แต่มันคือการปรับแต่งเว็บนี่แหละ ตัวอย่างความสามารถที่ปัจจุบันเราสามารถปรับแต่งให้ทำบนเว็บได้ เช่น

  • แจ้ง Notification ได้
  • ซ่อน address bar ซึ่งมักโผล่อยู่บนเว็บบราวเซอร์ตลอดเวลาได้
  • ทำให้เปิดดูคอนเทนต์แบบออฟไลน์ได้ (อันนี้ยุ่งยากหน่อย)

ลองดูสไลด์ของวิทยากรพี่ตั้ง ได้ที่นี่

ก้าวแรก WordPress ต้องรู้อะไรบ้าง

สำหรับคนอยากเริ่มต้นทำเว็บของตัวเอง หัวข้อนี้ปูพื้นฐานสิ่งที่ควรทราบก่อนมีเว็บ เปรียบเทียบเว็บต่างๆ กับ WordPress และตบท้ายด้วยการแนะนำปลั๊กอิน WordPress ที่น่าสนใจ

จะมีเว็บไปทำไม ถ้าไม่รู้จักเก็บข้อมูล

สไลด์สบายๆ โดยพี่เพิร์ธ หนึ่งในแกนนำผู้จัดงาน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเรียนต่อด้าน Data Science พูดถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูล และแนะนำเครื่องมือเบื้องต้นสำหรับเจ้าของเว็บ

หัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ

ข้อข้างบนเป็นเพียง Preview ของไม่กี่หัวข้อเท่านั้น ในงานมีหัวข้อถึง 18 หัวข้อ (แบ่งเป็นสองห้อง ห้องละ 9 หัวข้อ) โดยคุณสามารถดาวน์โหลดสไลด์ของหัวข้อทั้งหมดได้ที่นี่ >> http://bit.do/wcbkk (ที่มา: กรุ๊ป WordPress Alliance)

และถ้าคุณเลือกไม่ถูกว่าเข้าไปโหลดสไลด์ไหนดี ไม่มีเวลากดดูทั้งหมด เราได้แบ่งหมวดหมู่กว้างๆ ไว้ประมาณนี้ค่ะ

เว็บแอดมิน / เว็บมาสเตอร์ / เจ้าของเว็บไซต์

สำหรับกลุ่มนี้ อันที่จริงตัวอย่างที่ได้ยกมาทั้งหมดในหัวข้อที่แล้ว ก็เป็นหัวข้อที่เหมาะกับคุณนั่นแหละค่ะ (หลอกให้อ่านก่อน ฮ่าๆ) คุณคงพอเห็นภาพว่า จริงๆ แล้วงานนี้ไม่ได้พูดแต่เรื่อง WordPress ล้วนๆ แต่เน้นเรื่องความรู้ด้านเทคโนโลยีเว็บไซต์ด้วย

ทีมนักพัฒนา / ดีไซน์

สำหรับสาย Developer หัวข้อ Progressive Web App ก็น่าจะเข้าทางคุณ นอกจากนี้ก็มีหัวข้อสำหรับ Dev อย่าง WordPress Hook, แนะนำมือใหม่หัดเป็น Web Developer, แนะนำการทำธีมภาษาไทย โดยพี่เม่น จาก SeedThemes เป็นต้น สำหรับ Designer ก็มีหัวข้อของพี่โบเป็นตัวแทน และหัวข้อของเอ็ม ว่าด้วยการดีไซน์ User Experience (User Journey)

ดิจิทัลอื่นๆ และ WordPress Community

นอกจากนี้ ก็ประกอบไปด้วยหัวข้อสำหรับ Content Editor อย่างการทำวีดีโอ และแชร์ประสบการณ์จากสื่อเก่ามาสื่อใหม่ อย่างรูปด้านบนก็เป็นรูปจากพี่จาก Amarin เล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่านของแพลตฟอร์มออนไลน์

อีกเรื่องที่แปลกใหม่ดี คือการมีวิทยากรจากต่างประเทศมาเล่าถึง WordPress Community ในประเทศต่างๆ รวมถึงการมี คุณนก คนไทยที่ได้แชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในการช่วยผลักดันวงการ WordPress ในไทย เช่น การทำธีมฟรี การแปลปลั๊กอิน แปลธีม จากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย เป็นต้น นับว่าเป็นหัวข้อที่ต้องหาฝั่งที่งานนี้เท่านั้นจริงๆ

สรุปจุดเด่นของงานนี้

  • เป็นงานแบบไม่แสวงหาผลกำไร ค่าบัตรราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งรวมค่าอาหารกลางวัน ของว่าง เครื่องดื่ม เสื้อ ของที่ระลึก รวมถึงงาน After Party ด้วย
  • เป็นที่ๆ จะได้เจอแก๊งผู้บุกเบิกวงการ WordPress รวมถึงหลายๆ ท่านในวงการเว็บไซต์ ทั้งในไทย และต่างประเทศ
  • มีบรรยากาศไม่เป็นทางการมาก ถาม-ตอบได้ คนมางานเป็นกันเอง

ความคิดเห็นส่งท้าย

เราคิดว่างานนี้เป็นงานค่อนข้างใหญ่ แต่มีความ ‘ไม่เป็นทางการ' ที่ใช้ได้เลยทีเดียว ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ วิทยากร มาจาก Crowdsourcing หรือการเปิดกว้างในการรับหัวข้อจากมวลชน ทำให้งานนี้มีความหลากหลาย และไม่จำกัดอยู่ในเฉพาะในวง WordPress เท่านั้น เรียกว่าเป็นงานเพื่อวงการเว็บก็ว่าได้

แต่การ Crowdsourcing นั้น ก็ทำให้ทีมงานมีความท้าทายเรื่องการควบคุมธีมของเนื้อหา แล้วก็เรื่องระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด (30 นาที) สำหรับแต่ละท่าน อาจจะทำให้ออกแบบเนื้อหาที่ลงรายละเอียดได้ยาก

อีกเรื่องคือ จะเห็นได้ว่าฝั่งคนที่มางานเอง ก็มีความหลากหลายมากเลย โดยส่วนตัวคิดว่าความยากของงานนี้คือการออกแบบเนื้อหาให้คนแต่ละประเภท เพราะแต่ละคนมี Job Function ไม่เหมือนกัน และมีพื้นฐานไม่เท่ากัน (นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเขียนในเชิงรีวิวงาน มากกว่าสรุปงาน เพราะคาดเดาความคาดหวังของแต่ละคนค่อนข้างยาก)

จึงขอแอบอนุญาตคอมเมนต์ สำหรับการจัดงานในครั้งต่อไป ถ้ามีการแบ่งหมวดหมู่ประเภทหัวข้อ และระดับความยาก-ง่ายของหัวข้อไว้อย่างชัดเจน น่าจะน่าสนใจยิ่งขึ้นค่ะ เป็นกำลังใจให้งานดีๆ แบบนี้ต่อไป ปีหน้าอยากไปช่วยบ้างเหมือนกัน : )

ตาคุณแล้ว

คุณคงเห็นภาพ Community คนทำเว็บไซต์ที่กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้น และพบปะกันออฟไลน์มากขึ้น งานนี้แสดงให้เห็นชัดๆ อย่างหนึ่งว่า “อย่ากลัวที่จะแชร์ต่อ” จริงอยู่ที่ออนไลน์คือแหล่งความรู้ที่ยอดเยี่ยม แต่สังคมออฟไลน์ก็หาที่ไหนไม่ได้เช่นกัน