เทรนด์ Content Marketing 2024 มีอะไรบ้าง?

การทำ Content Marketing นั้นมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

รูปแบบการทำคอนเทนต์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้ง Text, Image, Video หรือ Voice ความนิยมของแพลตฟอร์มก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลง เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การทำ Content Marketing ดีและง่ายขึ้นก็มีมากขึ้น

การเลือกทำ Content Marketing ได้อย่างถูก Strategy ถูก Format ถูก Platform ก็เปรียบเหมือนว่าคุณจะได้ขี่คลื่นยักษ์ เดินทางไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น

ในบทความนี้ ผมจะมาแชร์ 10 Content Marketing Trend 2024: เทรนด์การทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งในปี 2024 ที่คุณควรรู้ เพื่อทำให้คุณหา “คลื่นยักษ์” ในรูปแบบของคุณได้เจอนะครับ 🙂

ทั้งนี้ ผมมักจะพูดย้ำเสมอ ไม่ว่าการทำ Content Marketing จะมีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน เทรนด์ต่างๆ จะมีการอัปเดตอย่างไร เรื่องพื้นฐานของการทำ Content Marketing เช่นการเข้าใจ Persona หรือการทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ (เช่นการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ หรือกระตุ้นความสนใจให้คน) ก็ยังสำคัญมากๆ อยู่นะครับ

และเนื้อหาในบทความนี้มีทั้งสถิติที่ผมเอามาจากที่ต่างๆ และที่เป็นความเห็นของผมเองนะครับ อ่านแล้ว อย่าเชื่อทั้งหมด ต้องเอาไปคิดต่อ และปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของตัวเองด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม: Content Marketing แนะนำวิธีทำ Content Marketing ตั้งแต่ต้นจนเผยแพร่ผลงาน และ Digital Marketing Trends 2024: เทรนด์การตลาดออนไลน์ปี 2024 ที่สรุปมาให้แล้ว!

Disclaimer: เนื้อหาในบทความนี้ อาจจะมีมุมที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบกับ Platforms หรือ Providers บ้าง ผมพยายามจะเรียบเรียงอย่างเต็มที่และเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ในภาพรวม และไม่ให้ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ผมเองอาจจะมีกับ Platforms หรือ Providers มา Influence เนื้อหาในบทความนี้นะครับ 🙂

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

1. วิดีโอ… มาแรง

สถิติต่างๆ เกี่ยวกับวิดีโอ

โดยเฉพาะวิดีโอในรูปแบบ Bite-sized & Short-form ที่ทั้ง TikTok, YouTube (YouTube Shorts), Facebook (Facebook Reels) และ Instagram (Instagram Reels) ต่างลงมาเล่นตลาดนี้

สถิติจาก The State of Marketing Report 2023 ของ HubSpot ที่ทำการสำรวจนักการตลาดทั่วโลกกว่า 1,200 คนได้บอกไว้ว่าวิดีโอนั้นเป็น Media Format พวกเขาจะใช้ เพราะมันเป็นช่องทางที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) สูงที่สุด

รูปจาก Think with Google

นอกจากวิดีโอสั้นแล้ว วิดีโอยาวก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่

ข้อมูลจาก Google ได้บอกไว้ว่าเทรนด์การค้นหา Video Essays หรือวิดีโอที่มีความยาวระหว่าง 25 นาทีจนถึง 1 ชั่วโมงก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

โดยสรุปก็คือ วิดีโอไม่ว่าจะสั้นหรือยาวต่างก็เป็นเทรนด์ขาขึ้น มีประโยชน์และจุดประสงค์ในตัวเอง

และตัวแพลตฟอร์มที่มีต้นกำเนิดจากวิดีโอสั้นอย่าง TikTok เองก็หันมาจับตลาดวิดีโอที่มีความยาวมากขึ้น โดยที่ปัจจุบัน วิดีโอที่โพสต์บน TikTok นั้นสามารถมีความยาวได้สูงถึง 10 นาทีแล้ว

วิดีโอยาวแค่ไหนดี?

สถิติจาก HubSpot (Report เล่มเดิม) ได้ให้ข้อมูลมาว่า ถ้าเป็นวิดีโอสั้น ความยาวที่จะทำให้ Engagement Rate ดีที่สุดคือความยาวไม่เกิน 1 นาที

และถ้าเป็นวิดีโอที่ยาวขึ้น ความยาวที่จะทำให้ Engagement Rate ดีที่สุดคือ 5-30 นาที

ทั้งนี้สถิติเหล่านี้เป็นค่าเฉลี่ย สุดท้ายแล้วสั้นยาว ไม่สำคัญเท่าลีลา การเรียบเรียงและเล่าเรื่องให้น่าสนใจก็ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า

2. ไลฟ์… มาโคตรแรง

สถิติต่างๆ เกี่ยวกับการไลฟ์

ในปี 2024 การไลฟ์สด ให้คนกด CF ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ถูกจริตกับคนไทยอยู่ ดูสนุกๆ เพลินๆ รู้ตัวอีกทีของก็มาส่งถึงหน้าบ้านแล้ว ซึ่งของที่ว่าอาจจะเป็นของที่คนที่ไลฟ์เป็นเจ้าของสินค้าเอง หรือเขาอาจจะเอาของของคนอื่นมาขาย (แล้วทำ Affiliate Marketing อยู่ก็ได้)

มีกรณีศึกษาเกี่ยบกับการไลฟ์สดขายของอยู่มากมาย ตัวอย่างที่น่าจะเป็นกระแสที่สุดอันนึงในปี 2023 ที่ผ่านมาคือการที่พี่ตี๋โอ มือไลฟ์ TikTok ขายของได้ 22 ล้านบาทในไลฟ์เดียว

ซึ่งผมคิดว่าในปี 2024 น่าจะมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายอันจากหลายคนมาให้เห็นอีกแน่ๆ

และนอกจากการไลฟ์ผ่าน Social Media Platform แล้ว eCommerce Marketplace อย่าง Shopee & Lazada ก็คงจะไม่น้อยหน้า พยายามดัน Live Streaming Solutions มาแข่งด้วยแน่ๆ ครับ

3. ช่องทางเก่าๆ ไม่เก่าเลย

ช่องทางหลักที่ยากอยู่แล้ว (จะยากขึ้น)

มีสถิติที่น่าสนใจจาก DataReportal (Global Stats) ในช่วงเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมาหลายอย่าง

รูปทางด้านบนเป็นรูป Facebook Post Engagement ที่อยู่ที่ 0.02-0.03% (คิดง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนเห็นคอนเทนต์ของคุณ 10,000 คน จะมีคนไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ 2-3 คนเท่านั้น) เรื่อง Reach เองก็คงจะต่ำไม่แพ้กัน สาเหตุนั้นเป็นเพราะคนใช้งาน Facebook กันทั่วบ้านทั่วเมือง รวมถึงการที่ Facebook โดยแอปอื่นที่มาแรง มาแย่งเวลาของผู้ใช้งานไปอีกด้วย

แอปที่มาแรงที่ว่าในที่นี้คือ TikTok ซึ่งส่วนตัว จากที่ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญ และครีเอเตอร์บน TikTok หลายๆ คน ผมคิดว่าการทำคอนเทนต์บน TikTok ปี 2024 จะไม่ง่ายเหมือนปีที่ผ่านๆ มา (คือทำแล้วปัง มียอด Reach/Engagement เยอะๆ ยากขึ้น)

ทั้งนี้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มก็ยังคงมีโอกาสมากมายอยู่ในนั้น คุณเอง ในฐานะผู้ใช้งานแพลตฟอร์มในการทำธุรกิจ ก็คงต้องประเมินดูว่าจะคุ้มที่จะโฟกัสช่องทางเหล่านี้ต่อรึเปล่า

ช่องทางเก่าที่น่าสนใจ

นอกจากช่องทางที่กำลังเป็นกระแสแล้ว จากที่ผมได้มีโอกาสไปสอน ไปแชร์ มาหลายที่ ช่องทางที่แบรนด์เริ่มกลับมาให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ “อีเมล” (ซึ่งเป็นช่องทางที่ผมชื่นชอบที่สุดช่องทางหนึ่ง เพราะมันเป็นช่องทางการติดต่อกับลูกค้าที่เราเป็นเจ้าของเองจริงๆ และสามารถใช้สื่อสารแบบ 1-on-1 ได้ดี)

ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมเชื่อมาตลอดว่า Email Marketing ในประเทศไทยนั้นน่าจะเหมาะกับธุรกิจแบบ High-involvement หรือแบบ B2B เป็นหลัก

แต่หลังจากที่ได้รับอีเมลของ GQ (แบรนด์เสื้อผ้า) ความคิดผมก็เปลี่ยนไป

ธุรกิจ B2C เองก็สามารถทำ Email Marketing ได้เช่นกัน และจากที่ผมได้มีโอกาสคุยกับทีมของ GQ พวกเขาก็บอกว่า Email Marketing เป็นหนึ่งในช่องทางที่สร้างยอดขายได้เยอะที่สุดเลย

นอกจากอีเมลแล้ว อีกช่องทางในการปล่อยคอนเทนต์ที่น่าสนใจคือ Pantip ที่ในปี 2023 ที่ผ่านมาได้เปิดบริการสร้างรายได้จากโฆษณา (Google Adsense) ให้กับสมาชิกแล้ว ซึ่งมันจะทำให้มีโอกาสที่จะมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจบน Pantip มากขึ้น ถ้าใครที่ทำ Evergreen Content ที่มีคนเข้ามาอ่านเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะหารายได้แบบ Passive จาก Pantip ไปยาวๆ ครับ

4. ยุคแห่งการใช้ Generative AI (GenAI)

GenAI ช่วยทำคอนเทนต์ (แบบเบื้องต้น)

ถ้าปี 2022 เป็นปีเริ่มต้นของ GenAI และปี 2023 เป็นปีแห่งการทดลองใช้

และในปี 2024 ผมคิดว่า GenAI จะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในแทบจะทุกกระบวนการของการทำ Content Marketing ตั้งแต่การวางแผน การคิดคอนเทนต์ ไปจนถึงการช่วยผลิตคอนเทนต์ในหลายๆ รูปแบบเช่น Text, Image & Video

ตัวอย่างทางด้านบนเป็นตัวอย่างการใช้ AI ช่วยพูดภาษาอังกฤษ (โดยที่ Avatar ยังเป็นตัวเราอยู่) จากพี่จิ๊บ สุรศักดิ์ ผู้สอนคลาส Generative AI for Marketing Strategy ของ Content Shifu ครับ

ซึ่งในความเห็นของผม คำว่าแทรกซึมของ GenAI นั้นคือการที่จะเข้ามาช่วย Co-pilot ในการทำงาน แต่จะยังไม่ได้มาทดแทนคน

โดยเฉพาะภาษาไทยที่ผมคิดว่าเป็นภาษาที่ยัง Feed Data เข้าไปให้ AI เรียนรู้ยังไม่มากพอ

อ่านเพิ่มเติม: ทดสอบทำคอนเทนต์เอง vs ให้ GenAI ทำให้ ผลเป็นยังไง มาดูกัน!

ยิ่ง GenAI มา คุณภาพยิ่งต้องดี

การเข้ามาของ GenAI จะทำให้ปริมาณคอนเทนต์มีมากขึ้นอย่างมากมายมหาศาล (เป็นพันๆ หมื่นๆ เท่า) เมื่อเทียบกับไปกี่ปีที่ผ่านมา แต่คนยังคงมีเวลาเสพคอนเทนต์แค่ 24 ชั่วโมงต่อวันเหมือนเดิม (ตัดเวลานอนออกไป อาจจะเหลือ 16-18 ชั่วโมง)

เพราะฉะนั้นถ้าคุณโฟกัสที่ “ปริมาณ” คอนเทนต์ด้วยการใช้ AI ช่วยผลิตขึ้นมา โดยที่ไม่ได้มี Input หรือใส่ Context เพิ่มเข้าไปให้เนื้อหามี “คุณภาพ” เลย คอนเทนต์แบบ “กลางๆ” ของคุณก็จะถูกคลื่นคอนเทนต์ต่างๆ กลบทับไป

คำพูดที่ผมชอบพูดประจำเลยคือ คอนเทนต์กลางๆ 100 คอนเทนต์ ยังสู้คอนเทนต์เจ๋งๆ 1 คอนเทนต์ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น อย่าเพียงแต่ Leverage เทคโนโลยีอย่าง GenAI แต่ให้ Leverage ความรู้ ประสบการณ์ และการเข้าใจบริบทที่คุณมีด้วยนะครับ

เรื่องกฏหมายของการใช้ AI ผลิตคอนเทนต์ยังคงเป็นที่ถกเถียง

ในปีที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายเช่นที่ Samsung แบนการใช้งาน ChatGPT และ Generative AI ตัวอื่นๆ เพราะกลัวว่าข้อมูลจะรั่วไหล

นอกจาก ChatGPT หรือ Bard ที่เป็น Text based แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ ของรูปที่สร้างโดย AI Image Generator เช่น Midjourney หรือ Stable Diffusion ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันค่อนข้างมากๆ (เพราะผู้ใช้งานไม่รู้ว่ารูปต่างๆ ที่เอามาเทรนด์ Model นั้น ถูกหรือไม่ถูกลิขสิทธิ์)

ในขณะที่บริษัท Stock Images ชื่อดังอย่าง ShutterStock และ Getty Images ก็ได้สร้าง AI Image Generator ที่ให้ความคุ้มครองทางกฏหมายแก่ผู้ใช้งาน (ถ้ามีเรื่องฟ้องร้อง บริษัทเหล่านี้คุ้มครองให้) สาเหตุที่ทำแบบนี้ได้ก็เพราะว่าพวกเขาเอารูปจาก Creator บน Platform มาเทรนด์ AI และเมื่อรูปถูกดาวน์โหลดไปใช้ (ถูกซื้อ) Creator ก็จะได้ส่วนแบ่งตามไปด้วย

คำแนะนำของผมก็คือให้ใช้กันระวังๆ นะครับ แล้วก็ Keep เรื่องนี้ In Mind กันไว้ด้วย เพราะนอกจากเรื่องการฟ้องร้องแล้ว แบรนด์ของคุณอาจจะมีโอกาสดราม่าเข้าด้วยนะครับ

5. Automation ช่วยทุ่นแรง

เครื่องมือช่วยจัดการ Social Media

การเอา Martech หรือระบบ Automation ต่างๆ นั้นเริ่มถูกเอามาใช้กันอย่างแพร่หลายมาหลายปีแล้ว ในปีหน้าและปีถัดๆ ไป โซลูชันต่างๆ ก็จะยิ่งดีและยิ่ง Advance มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างรูปของ Buffer

ตัวอย่างการเอา Automation มาใช้ทุ่นแรงในการทำ Content Marketing เช่น การใช้พวก Social Media Management Platform เช่น Hootsuite หรือ Buffer ในการบริหารจัดการ Social Media หลายๆ ตัวพร้อมกัน

รูปการทำ Auto-comment จาก Publer

หรือการใช้เครื่องมืออย่าง Publer ที่สามารถช่วยให้คุณตั้งเวลาใส่คอมเมนต์อัตโนมัติหลังจากที่คุณโพสต์เนื้อหานั้นๆ ไป (อาจจะเพื่อใส่แหล่งอ้างอิง หรือทำให้คนรู้สึกว่าคอนเทนต์นั้นๆ มีคนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วยแล้ว

เครื่องมือช่วยไลฟ์และช่วยขาย

ถ้าคุณเห็นคนที่ไลฟ์อยู่ กระตุ้นให้คุณซื้อของด้วยการพิมพ์โค้ดอะไรบางอย่างเช่น CF01 แล้วเขาทักเข้ามาหาคุณใน Inbox พร้อมแจ้งราคาเสร็จสรรพทันที ให้รู้เอาไว้ว่านั่นไม่ใช่คน แต่เป็น Martech สาย Live Commerce ที่ช่วยทำสิ่งนี้

หรือการที่คุณเข้าไปคอมเมนต์ว่า “สนใจ” ใต้ Facebook Ads ของแบรนด์ แล้วเขาทักคุณมาทันที (แม้ว่าช่วงนั้นจะเป็นช่วงตี 4 ของวันเสาร์) อันนี้ก็เป็น Chatbot ของ Martech เหมือนกัน

ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยทำเรื่องนี้ได้มีอยู่หลากหลายตัว ผมแนะนำให้คุณเข้าไปอ่านบทความนี้เพิ่มเติม และไปดูในส่วนของ Chat Commerce Tools นะครับ

6. Niche is Bliss

Niche is Bliss, Mass is Bad เป็นคำกล่าวที่ผมคิดค้นขึ้นมา (อย่างภาคภูมิใจ 😂) และใช้พูดเป็นประจำ

การทำคอนเทนต์ของคุณ ไม่ควรจะถูกทำขึ้นมาเพื่อคนทุกคน เพราะถ้าคุณเป็นทุกสิ่งให้กับทุกคนแล้ว แสดงว่าคุณไม่ได้เป็นอะไรสำหรับใครเลย

ในโลกที่ความสนใจของคนมีความเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ใครที่ทำคอนเทนต์ที่เจาะจงสำหรับคนแค่บางกลุ่ม จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างที่จะเห็นได้ชัดในปี 2023 ที่ผ่านมาคือมีนักธุรกิจ/นักการตลาดที่หันมาทำคอนเทนต์ให้ความรู้เรื่อง AI แล้วไปได้ดีหลายคนเช่นพี่จิ๊บ (Brandbaker) พี่เอ (Insiderly) คุณโชค (Debuz) หรืออย่างพี่ตี๋โอ หรือ แอ๊ม (การตลาดการเตลิด) ที่เข้ามาจับตลาด TikTok ได้อย่างถูกจังหวะ


Shifu แนะนำ

ขายของ 2 บรรทัด

Content Shifu ทำสื่อใหม่ชื่อว่า Scale ที่อยู่ใน Niche เรื่อง Sustainable Business, Sustainable Self-development และ ESG ฝากกดติดตามกันด้วยนะครับ 🙂

 

7. อยากไปไกลต้องไปด้วยกัน

Partnership Marketing

ไปคนเดียวไปได้ไกล ไปด้วยกันไปได้ไกลกว่า

ในปีที่ผ่านมามีตัวอย่างของการทำ Collaboration & Partnership จาก Brand หรือ Influencer ดังๆ ที่ทำให้ 1+1 นั้นเป็นมากกว่าแค่ 2 อยู่หลายเคสต์

เช่นการที่แบรนด์เสื้อชื่อดังของไทยอย่าง Carnival ร่วม Collab กับแบรนด์เสื้อระดับโลกอย่าง H&M

หรืออย่างที่ร้านชาอย่างชาตรามือ Collab กับ Plantae ออกโปรตีนรสชาไทยขึ้นมา

หรืออย่าง Content Shifu เองก็มีกรณีศึกษาการ Collab กับแบรนด์หลายๆ แบรนด์ในปี 2023 ไม่ว่าจะเป็น

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ทาง Content Shifu และ Partner ได้ Leverage ความเชี่ยวชาญและฐานผู้ติดตามของกันและกัน และจากที่ทำมา ผมบอกได้เลยว่าเวิร์คมากๆ ทั้งในมุมการทำคอนเทนต์และในมุมธุรกิจครับ

การร่วมมือแบบ Affiliate Marketing ก็ยังคงโตอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากการทำ Partnership แล้ว อีกหนึ่งรูปแบบของการตลาดแบบร่วมมือที่จะยิ่งเป็นนิยมมากขึ้นคือการทำ Affiliate Marketing ที่ Brand สามารถนำสินค้าหรือบริการไปให้ Influencer/Creator ช่วยโปรโมต และถ้าขายของได้ Influencer/Creator ก็จะได้ส่วนแบ่งด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากการที่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง TikTok ใส่ฟีเจอร์นี้เข้าไปใน TikTok Shop และ LINE ก็ใส่ฟีเจอร์นี้เข้าไปใน LINE Shopping ด้วย

Marketplace อย่าง Shopee & Lazada เองก็ทำ Affiliate Marketing มาอย่างยาวนานแล้วด้วยเช่นเดียวกัน

การทำ Content Marketing แบบตัวคนเดียวก็ทำได้ แต่ถ้าร่วมมือกับ Brand / คน ที่ใช่ จะยิ่งทำให้ผลลัพธ์ของการทำ Content Marketing ไปได้ไกลยิ่งกว่า

8. ศาสตร์และศิลป์ของการใช้ “คอนเทนต์เก่า”

ของเก่า เล่าใหม่ = ของใหม่

คอนเทนต์ที่เก่า แต่ถ้าเอามาเล่าให้คนใหม่ คอนเทนต์นั้นๆ ก็จะกลายเป็นของใหม่

เช่นกัน คอนเทนต์ที่เก่า แต่เอามาเล่าด้วยวิธีการแบบใหม่ ฟอร์แมตแบบใหม่ หรือแพลตฟอร์มที่ต่างไป คอนเทนต์นั้นๆ ก็จะกลายเป็นของใหม่

สิ่งที่นักการตลาดสายคอนเทนต์ต้องเคยทำและคุ้นเคยดีก็อาจจะเป็นการทำ Content Repurposing ในรูปแบบง่ายๆ เช่นเอาเนื้อหาจากในบทความมาแปลงเป็น Social Post หรือ Social Album

นอกจากนั้นแล้ว เทรนด์การเอาคลิปที่ถ่ายและตัดต่อบน Social Media Platform บางตัว ไปลงแพลตฟอร์มอื่น (เช่นเอาคลิปที่ตัดต่อและเผยแพร่บน TikTok ไปโพสต์ต่อบน Facebook & Instagram) ก็เป็นอีกเทรนด์ที่น่าสนใจและน่าจะเกิดมากขึ้นกว่าเดิมอีกเช่นกัน

ของเก่า แก้เนื้อหา = ของใหม่

นอกจากการเอาของเก่ามาปรับ Format ใหม่แล้ว การเอาของเก่าที่ Performance ดี แต่เนื้อหาอาจจะล้าสมัยไปบ้างแล้วมาปัดฝุ่นใหม่ก็เป็นท่าที่ควรทำ

ตัวอย่างเช่นบทความนี้ที่เกี่ยวกับ Content Marketing Trends ก็ถูกปัดฝุ่นมาไม่ต่ำกว่า 4-5 รอบแล้ว

เทรนด์ Digital Marketing

หรืออย่างบทความ Digital Marketing Trends บทความนี้ก็ถูกปัดฝุ่นมาเยอะพอๆ กัน

การเอาของเก่าที่ไปได้ดีมาปัดฝุ่นใหม่ จะยิ่งทำให้ผลลัพธ์ไปได้ไกลขึ้นกว่าเก่า

9. อีเวนต์กลับมาแล้ว (แต่ไม่ได้เป็นเหมือนอดีต)

ส่วนตัวผมเอง ผมมองว่าการทำ Event Marketing ก็เป็นอีกท่าหนึ่งของการทำ Content Marketing

ถ้าทำดีๆ นอกจากจะได้ชื่อเสียง (Authority) เพิ่มขึ้นแล้ว ยอดขายก็จะตามมาอีกด้วย

ในปี 2023 ผมคิดว่าเป็นปีที่คนหันมาจัด Conference แบบ On Ground (และมี Online ด้วย) กันเยอะมากจริงๆ

แต่ในปี 2024 ผมคิดว่าปริมาณการจัด Conference อาจจะไม่ถล่มทลายเท่ากับปีก่อน เพราะคนจะเริ่มคิดมากขึ้นว่าทำแล้วได้ชื่อเสียง/ได้กำไรที่เหมาะสมรึเปล่า

คนที่ไม่ได้มีธุรกิจหลักที่จำเป็นจะต้องสร้าง Authority (ธุรกิจที่ต้องสร้าง Authority เช่นธุรกิจสื่อ ธุรกิจเทรนนิ่ง) อาจจะหันไปหาวิธีการอื่นหรือเข้าไปร่วมกับคนอื่นที่จัดแทน

ส่วนการจัดงาน Event หรือ Seminar ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก (หลักสิบหรือหลักร้อยคน) ผมคิดว่าก็ยังคงมีเยอะอยู่

ซึ่งผมเชื่อว่าการจัดงานอีเวนต์ในปีหน้าๆ นั้นจะมีวิธีการและเทคโนโลยีที่หลากหลายและน่าตื่นเต้นมากขึ้น ทั้งจากผู้จัดงานเอง หรือจาก Martech สายอีเวนต์เช่น ZipEvent, Eventpop หรือ Soldoutt

ถ้าคุณอยากที่จะทำ Event Marketing ผมแนะนำให้คุณลองไปดูตัวอย่างงานของคนที่เคยจัดมาแล้ว กับดูเรื่องการใช้งานเทคโนโลยีดีๆ เพราะมันจะช่วยให้การทำ Content Marketing ผ่านการจัดอีเวนต์ออกมาได้น่าสนใจขึ้นแน่ๆ ครับ


Shifu แนะนำ

ขายของ 2 บรรทัด

งาน Marketing Insight & Technology Conference 2024 (In Partnership with Content Shifu & Creative Talk) จะกลับมาในเดือนกันยายน 2024 ฝากติดตามกันด้วยนะครับ 🙂

 

10. ยุคแห่ง Data Collection & Content Personalization

กลางปี 2022 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act หรือที่รู้จักกันในชื่อ PDPA) ขึ้นมา

นอกจากนั้นแล้ว ในปี 2024 นั้นเป็นปีที่ Google Chrome เองประกาศว่าจะ Go Cookieless แบบ 100% โดยที่ในไตรมาสที่ 1 ทาง Google จะทดลอง Go Cookieless กับ User ประมาณ 1% ก่อน จากนั้นค่อยขยายผล

เพราะฉะนั้นธุรกิจเองก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเก็บและบริหารจัดการข้อมูลของลูกค้าหรือผู้ติดตามด้วยตัวเองมากขึ้น จะหวังพึ่งแต่ Third Party Data (เช่นข้อมูลจาก Pixel ของ Facebook) ไม่ได้

นอกจากตัวของ Platform เอง คนเองก็คาดหวังว่าคอนเทนต์ที่พวกเขาจะได้รับนั้นจะต้องมีความ Personalize หรืออธิบายง่ายๆ คือจะต้องเป็นคอนเทนต์เฉพาะสำหรับฉัน กันมากขึ้น

เพราะฉะนั้นการทำคอนเทนต์ในปีหน้าและปีถัดๆ ไป มันจะไม่ใช่การทำคอนเทนต์แบบเดียวกันให้กับผู้ติดตามของคุณทุกคนอีกแล้ว แต่สิ่งที่คุณจะต้องเริ่มคิดคือจะทำอย่างไรที่จะสามารถส่งมอบคอนเทนต์ที่เหมาะกับแต่ละ Persona ของคุณได้

ตัวอย่างจาก Content Shifu ที่เราเริ่มทำกันมาแล้วก็คือการเก็บข้อมูลดูว่าผู้ติดตามของเราทำงานในตำแหน่งไหน (Job Function) เช่นเป็น Management, HR หรือ IT หรือทำงานในอุตสาหกรรมไหน (Business Category) เช่น Media, Marketing Agency/Consulting หรือ Consumer Goods

ซึ่งในบางครั้ง เราก็จะทำการส่งคอนเทนต์หาเฉพาะคนที่ Profile บางอย่างโดยเฉพาะ เช่นถ้าเรามีคอนเทนต์เกี่ยวกับ Corporate Training กลุ่มคนที่จะได้รับเนื้อหาเรื่องนี้ก็จะเป็น HR ที่เป็นคนที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ไม่ใช่ Officer ที่ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ เป็นต้น

ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่มีมากมายเหลือเฟือคือคอนเทนต์ สิ่งที่ขาดแคลนคือเวลา เพราะฉะนั้นยิ่งคุณสามารถทำคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคนแต่ละคนได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งดี

สรุป

และนี่คือ 10 เทรนด์ Content Marketing 2024 ที่ผมอยากจะหยิบมาแชร์คุณในบทความนี้นะครับ

หลังจากอ่านจบแล้ว ผมแนะนำให้คุณกลับไปคิดต่อว่าเรื่องไหนที่คุณจะสามารถทำเพิ่มเติมเพื่อเอาไปต่อยอดกับแผนการทำ Content Marketing ของคุณในปีหน้าได้บ้าง

และสุดท้ายที่อยากเน้นย้ำคือไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรใหม่ที่ผ่านเข้ามาเป็นเทรนด์มากแค่ไหน เรื่องพื้นฐานของการเข้าใจผู้ติดตาม/ลูกค้า และการทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพที่ดียังเป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ

ขอให้ปี 2024 เป็นปีที่คุณทำ Content Marketing ได้ตามที่ตั้งใจไว้ครับ 🙂

ตาคุณแล้ว

คุณคิดว่าการทำ Content Marketing ในปี 2024 จะเป็นยังไงบ้าง? และมีอะไรที่คุณอยากจะทำเพิ่ม/เลิกทำบ้างรึเปล่า มาแชร์กันต่อได้ในคอมเมนต์นะครับ!