David Ogilvy เคยกล่าวไว้ว่า “On the average, five times as many people read the headline as read the body copy. When you have written your headline, you have spent eighty cents out of your dollar.”

ซึ่งผมถอดความเป็นไทยแบบบ้านๆ ได้ว่า “ต่อให้เนื้อหาในเว็บของคุณเจ๋งแค่ไหน ถ้าชื่อบทความมันไม่ใช่ ไม่โดนใจ คนก็ไม่คลิกไปอ่านอยู่ดี”

ถ้าว่ากันตาม Concept ของ Content Marketing / Inbound Marketing ที่ยึด Content เป็นศูนย์กลางแล้วล่ะก็ การที่คนไม่อ่าน Content ของคุณ มันจะส่งผลตามมามากมายเลยล่ะ

ยังไงน่ะเหรอ?

คนไม่อ่าน = คุณไม่ได้ Leads (ข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย)

คุณไม่ได้ Leads = ขายของไม่ได้

ขายของไม่ได้ = ธุรกิจก็ไม่เดิน

ธุรกิจไม่เดิน = …….

เว้นไว้ให้เติมคำในช่องว่างกันเองครับ 🙂

ไม่ว่าคำในช่องว่างจะเป็นอะไร ผมเชื่อว่ามันไม่ส่งผลดีกับคุณแน่นอน เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาดูวิธีที่จะทำให้บทความที่คุณทุ่มเทเขียนขึ้นมามันน่าสนใจจนคนมองข้ามไปไม่ได้กันดีกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม: SEO Writing Techniques จะเขียนบทความให้เป็นอมตะบน Google ต้องรู้เทคนิคเหล่านี้

* นอกจากชื่อบทความแล้ว ผมคิดว่าเทคนิคเหล่านี้น่าจะเอาไปใช้ประยุกต์ใช้กับชื่อหรือหัวข้อสำหรับ Facebook Ads, Google Ads หรือแม้แต่สื่อออฟไลน์ต่างๆ ได้อีกด้วย

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณอยากเรียนรู้เรื่องการเขียนบนโลกดิจิทัลเพิ่มเติม ผมแนะนำให้คุณไปดูคอร์สเรียนสายคอนเทนต์ของ Content Shifu Academy ครับ 🙂

วิธีตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน

1. ยิ่งเยอะ ยิ่งดี!

ในตอนที่จะตั้งชื่อบทความ ในหัวของคุณอาจจะมีแนวคิดมากมายที่จะทำให้ชื่อบทความมันปัง มันน่าสนใจจนคนอดใจไม่ไหวต้องคลิกเข้ามาอ่าน แต่สุดท้ายแล้ว แนวคิดเหล่านั้นก็จะกลายเป็นแค่อากาศ… ยกเว้นแต่เพียงว่าคุณจะเขียนมันออกมา

เขียนไอเดียที่คุณคิดไว้ออกมาสัก 4-5 แบบเป็นอย่างน้อย แล้วจากนั้นค่อยๆ ตัดอันที่ไม่เข้าท่าทิ้งไป

อย่างตัวบทความนี้เอง ในตอนแรกผมก็คิดไว้ 4 ชื่อ

– ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! วิธีตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน

– ชื่อดีเป็นศรีแก่บทความ! วิธีตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน

– วิธีการตั้งชื่อบทความให้โดนใจคนอ่าน จนไม่คลิกไม่ได้!

– 7 วิธีตั้งชื่อบทความน่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน

สุดท้ายแล้วก็คัดเอาชื่อแรกที่ผมมาว่าน่าจะดีที่สุดมาเป็นชื่อบทความ (พอกลับมาอ่าน ผมก็แปลกใจนะว่าไอ้ชื่อที่ 2 เนี่ย ผมคิดมาได้ยังไง! ฮา)

2. ตัวเลขคือเวท์มนตร์

“9 วิธีในการเพิ่มคนคลิกเข้าเว็บไซต์ของคุณ 200%”

สังเกตเห็นอะไรไหมครับ?

ใช่แล้วครับ วิธีนี้คือการเล่นกับ ‘ตัวเลข’

Headline with numbers

จากผลการวิจัยจาก Conductor ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่าผู้อ่านกว่า 36% ชอบชื่อบทความที่มีตัวเลขอยู่ที่สุด ส่วนเรื่องวิธีการแก้ปัญหา, How-to และการถามคำถามเป็นวิธีที่คนอ่านชื่นชอบรองลงมา

นอกจากนั้นแล้วมีผมมีผลวิจัยอีกอย่างนึงจาก Content Marketing Institute เว็บด้าน Content Marketing ชั้นนำของโลก มาแชร์ครับ เขาบอกว่าคนจะคลิกดูบทความที่ประกอบด้วยตัวเลขที่เป็นเลขคี่มากกว่าตัวเลขที่เป็นเลขคู่ถึง 20% (บทความนี้เลยใช้เลขคี่ซะเลย ฮ่าๆ)

รออะไรอยู่ล่ะครับ… ไปหาวิธีเอาตัวเลขใส่ในบทความกันเถอะ!

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างที่เล่นกับตัวเลขได้ดีมากๆ เลยคือชื่อบทความ “RSCSS: แค่เปลี่ยนวิธีคิด 1% ชีวิตการเขียน CSS ก็ดีขึ้น 99% ของ Designil ครับ

ชื่อบทความนี่เป็นชื่อที่ผมคิดว่าเล่นกับเลข 1 และ 99 ได้ดีมากๆ เลยครับ ขนาดผมไม่สนใจ CSS สักเท่าไหร่ ผมยังเผลอคลิกเข้าไปดูเลย

3. ใส่คำที่ดึงดูดความสนใจเข้าไปในชื่อของบทความด้วย

เยี่ยม! เจ๋ง! ที่สุด! หายาก! ฟรี!

เวลาพูดถึงหัวข้อนี้ทีไร ผมมักจะนึกถึงคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ทุกทีไป

เห็นมั้ยครับว่าสรรพนามตามหลังของเขามีคำที่น่าสนใจอยู่หลายคำเลย (แข็งแกร่ง, ที่สุด และปฐพี)

ลองเทียบประโยคก่อนหน้านี้กับ ‘คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม’ ดู แล้วจะเห็นเลยว่าประโยคไหนดู ‘แข็งแกร่ง’ กว่า 🙂

อีกตัวอย่างคือ บทความ “มุ่งสู่ METAVERSE เฟซบุ๊กเปิดตัว Ray-Ban Stories แว่นตาอัจฉริยะ ครั้งแรก” ของ Longtunman นั้น พอเห็นคำว่า ‘METAVERSE’ ‘อัจฉริยะ’ หรือ ‘ครั้งแรก’ คำเหล่านี้มันช่างน่าสนใจทำให้อยากคลิกเข้าไปอ่านเหลือเกิน

Shifu แนะนำ
การเขียนคำให้ถูกเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ มาดู 50 คำไทยในวงการธุรกิจที่มักเขียนผิด พร้อมวิธีเขียนให้ถูก ติดดาวไว้อ้างอิงได้เลยที่ “ 50 คำภาษาไทยที่มักเขียนผิด พร้อมวิธีเขียนให้ถูก [รวมครบ]

4. เล่นกับความกลัวของคน

ตราบใดก็ตามที่เรายังเป็นมนุษย์เดินดินอยู่ เป็นไปไม่ได้เลยครับที่เราจะไม่รู้จักคำว่า “ความกลัว”

กลัวสินค้าที่เราต้องการจะหมดก่อนเราซื้อ กลัวสินค้าที่เราต้องการจะขึ้นราคา กลัวว่าจะมีคนอื่นมาแย่งของของเราไป สารพัดสารพันความกลัวที่แต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน

เทคนิคนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Scarcity Marketing ซึ่งแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าการเล่นกับความกลัว (ที่จะขาดแคลน) ของคนเพื่อทำให้ขายได้มากขึ้น (ถ้าอยากอ่านเรื่อง Scarcity Marketing มากกว่านี้ ผมแนะนำให้ลองไปอ่านบทความของ ConversionXL ดูครับ เขียนได้ดีเลย)

สิ่งที่คุณควรทำก็คือศึกษา และพยายามทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าของคุณว่าลึกๆ แล้วเขากลัวอะไร จากนั้นหน้าที่ของคุณก็คือสร้างความกลัวให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกสักหน่อยเพื่อให้มันเป็นตัวเร่งทำให้ลูกค้าของคุณเกิดแอ๊กชั่น (ในที่นี้ก็คือคลิกบทความของคุณ)

Shifu แนะนำ
บทความ “ซื้อโฆษณาผ่าน Facebook/Google ต้องจ่าย VAT 7% ตั้งแต่ 1 กันยา 2021 เป็นต้นไป” เป็นหนึ่งในตัวอย่างบทความที่เล่นกับความกลัวของคน ซึ่งคนที่ซื้อโฆษณาผ่าน Social Media Platform ต่างๆ ในนามบุคคลนั้นต้องอยากรู้เรื่องนี้ เพราะกังวลว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก 7% นอกจากนั้นแล้ว ชื่อหัวข้อบทความยังมี Deadline (คือวันที่ 1 กันยา 2021) เข้ามาทำให้บทความนี้ Scarcity มากขึ้นอีกด้วย ระหว่างมีคำว่า “1 กันยา 2021” กับไม่มี ความน่าสนใจมันต่างกันเยอะเลย จริงไหมครับ?

5. ใส่ใจปัญหาของคนอ่าน

ก่อนจะเสนอทางแก้ให้กับคนอ่าน เราต้องเข้าใจปัญหาของเขาก่อน ถ้าทางแก้ที่เราทำนำเสนอไป ไม่ได้ไปแก้ปัญหาของเขาจริงๆ แล้วทำไมเขาถึงจะมาสนใจทางแก้ของเรา จริงไหมครับ?

วิธีการหาปัญหาของคนอ่านแบบง่ายที่สุดเลยก็คือการใช้ Google Keyword Planner ครับ ซึ่งมันจะบอกว่าในเดือนเดือนนึง คนมักจะค้นหาคำว่าอะไรบ้าง ทีนี้เราก็พอจะได้ไกด์ไลน์คร่าวๆ มา ว่าคนสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ (ถ้าเขามีความสนใจ หรือสงสัยจนขนาดต้องไป Search ใน Google แล้วล่ะก็ มันก็คงเป็นปัญหาไม่มากก็น้อยแน่ๆ)

ก่อนที่เราจะสามารถใช้ Google Keyword Planner ได้นั้น เราจะต้องสมัคร Account Google Ads (Google Adwords) ด้วย Gmail ก่อน (สมัครฟรี) พอสมัครเสร็จแล้วก็มองหาปุ่มที่เขียนว่า Tools พอคลิกแล้วก็จะเห็นคำว่า Keyword Planner ขึ้นมาครับ

หรือถ้าคุณอยากได้เครื่องมือในการทำ Keyword Research ที่มีฟีเจอร์เยอะและแม่นยำยิ่งขึ้น คุณลองไปดูเครื่องมืออย่าง KWFinder หรือ Keysearch ได้ครับ

หรืออีกวิธีที่ง่ายไม่แพ้กัน และจะทำให้เราเห็นภาพรวมความสนใจของคนไทยก็คือเครื่องมือที่เรียกว่า Google Trends ซึ่งมันจะบอกว่า Keyword ที่เราค้นหานั้นมีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างที่เน้นในเรื่องของการแก้ไขปัญหาให้กับคนอ่านคือ “ขนาดรูป Facebook | แจกเทมเพลตใช้ได้จริง พร้อมสาธิตวิธีการเอาไปใช้งาน” ซึ่งหัวข้อของบทความนี้นั้นตอบโจทย์สำหรับคนที่กำลังทำการตลาดผ่าน Facebook อยู่และต้องการอยากรู้ว่าขนาดของรูปที่ใช้งานบน Facebook นั้นมีกี่ขนาด/มีแบบไหนบ้าง

6. ไม่ ไม่ ไม่ บางครั้งการขัดใจก็เป็นสิ่งที่ดี

โดยปกติแล้วคนเรามักจะชอบที่จะตั้งชื่อบทความให้เป็นเชิงบวก เช่น 7 เคล็ดลับสร้างความรวย หรือเปลี่ยนตัวเองให้สวยวิ้งภายใน 5 วัน สาเหตุหลักเป็นเพราะคนเรามักจะโยงคำว่า “เชิงบวก” ไปหาคำว่า “ดี” นั่นเอง

ซึ่งจริงๆ แล้วการตั้งชื่อบทความให้เป็นเชิงบวกมันก็ดีนะ ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ลองจินตนาการดูว่า ถ้าคนแทบทุกคนคิดเหมือนเรา ต่างพากันตั้งชื่อบทความเป็นเชิงบวกกันทั้งหมด มันจะเป็นยังไง?

คำตอบก็คือคนก็จะคิดว่ามันก็คือบทความทั่วๆ ไปเหมือนกับของคนอื่นยังไงล่ะ

เพราะฉะนั้นเรามาลองเทคนิคที่เรียกว่า “การตั้งชื่อบทความที่ขัดใจคนอ่าน” กันเถอะ

หลักการง่ายๆ ก็คือลองมองมุมกลับ ปรับมุมมอง ใช้ชื่อที่ดูแล้วคนไม่น่าจะชอบ หรือชื่อที่ดูแล้วคนน่าจะไม่เห็นด้วยมาเป็นหัวข้อบทความ เรื่องนี้อธิบายไปก็อาจจะไม่ค่อยเห็นภาพ มาดูตัวอย่างจริงกันดีกว่า

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างการตั้งชื่อบทความที่แสนจะขัดใจที่ผมอยากเอาแสดงให้ดูคือบทความ “7 วิธีการเขียนบทความออนไลน์แบบไล่คนอ่านไปไกลๆ” ซึ่งถ้าคุณอ่านหัวข้อนี้เร็วๆ คุณก็อาจจะคิดว่า “ไม่น่าใช่นะ เราในฐานะคนเขียนบทความเอง ก็ไม่อยากจะไล่คนอ่านไปไกลๆ รึเปล่า?” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เนื้อหาในบทความนี้ก็เขียนวิธีการทำให้ผู้อ่านอ่านบทความให้จบแหละนั่นแหละ เพียงแต่บทความนี้ผมแค่เลือกใช้เทคนิค ‘ตั้งชื่อบทความให้ขัดใจคนอ่าน' เท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ผมแนะนำให้ใช้เทคนิคนี้เพียงครั้งคราวเท่านั้นนะครับ เพราะถ้าขัดใจผู้อ่านบ่อยๆ เขาอาจจะไม่อยากกลับมาอ่านบทความของคุณครับ 🙂

7. ให้สัญญา

ถ้าคุณใช้วิธีนี้ผสมกับวิธีที่ 5 (ใส่ใจปัญหาของคนอ่าน) มันจะเป็นอะไรที่ลงตัวมาก

เมื่อคุณรู้แล้วว่าผู้อ่านต้องการอะไร หรือมีปัญหาอะไร สิ่งที่คุณต้องทำต่อไปก็คือให้สัญญาว่าเขาจะได้รับสิ่งที่เขาต้องการหลังจากกดคลิกเข้ามาอ่านบทความของคุณ

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ควรจะระวังนั่นก็คืออย่าสัญญาในสิ่งที่คุณทำไม่ได้นะครับ เพราะมันจะทำให้ความน่าเชื่อถือของคุณลดลง

Shifu แนะนำ
ชื่อบทความ “วิธีเช็คว่า เว็บไซต์ของคุณ รองรับการดูบน SmartPhone หรือไม่ (ภายใน 1 วิ)” ของ Webbastard นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีอันนึงเลยล่ะ เพราะเขาสัญญาว่า หลังจากที่คุณอ่านบทความของเขาจบ คุณจะรู้ว่าเว็บไซต์ของคุณรองรับการดูบน SmartPhone หรือไม่ (ที่สำคัญ รู้ภายใน 1 วินาทีด้วยนะ)

สรุป

และนี่ก็คือ 7 วิธีการตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนทำให้คนต้องกดอ่านนะครับ

ในตอนต้นของบทความนี้ ผมบอกไปว่า ต่อให้คอนเทนต์ดีแค่ไหน แต่ถ้าชื่อบทความห่วย คนก็จะไม่เสียเวลาคลิกเข้ามาอ่าน เพราะฉะนั้นเราจึงควรที่จะใส่ใจกับชื่อบทความซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหน้าตาของคอนเทนต์ของเราให้มากๆ

และในทางกลับกัน ถ้าหัวข้อบทความของเราน่าคลิกเข้าไปอ่านสุดๆ แต่พอคลิกเข้าไปแล้วคอนเทนต์ที่เปรียบเสมือนหัวใจไม่มอบคุณค่าใดๆ ให้กับผู้อ่าน ในครั้งหน้าเขาก็จะไม่เข้ามาอ่านบทความของเราอีก

ถ้าคุณเขียนตั้งใจเขียนคอนเทนต์ให้ดี ตั้งชื่อบทความให้โดน ผมเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าคนอ่านบทความของคุณจะเห็นถึงคุณค่าที่คุณมอบให้อย่างแน่นอน

ตาคุณแล้ว

ผมตั้งใจเขียนบทความนี้มากๆ เลยนะ ไม่รู้ว่ามันพอจะมีคุณค่ากับคุณบ้างไหม? หรือคุณมีเคล็ดลับอะไรอยากแชร์ให้ผมรู้บ้างรึเปล่า? พิมพ์มาคุยกันได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ



New call-to-action