Chapter 1



Introduction to Digital Advertising

โฆษณาออนไลน์คืออะไร? พามารู้จัก Digital Advertising 101 ตั้งแต่เริ่มต้น

ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาเฟอร์นิเจอร์จากแบรนด์ชื่อดังอย่าง IKEA ที่โชว์บน Facebook โฆษณาของแบรนด์อุปกรณ์กีฬายอดฮิตอย่าง Adidas บน Youtube หรือโฆษณาของรถ Benz ที่โผลขึ้นมาบน Google หลังจากที่คุณ Search เราเชื่อว่าคุณน่าจะเคยเห็นโฆษณาเหล่านี้มาหลายครั้ง และดึงดูดความสนใจของคุณให้อยากกดเข้าไปดูมัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่า การโฆษณาออนไลน์ (Digital Advertising) 

ในบทความนี้ คุณได้รู้จักกับการซื้อโฆษณาออนไลน์ (Digital Advertising) มากยิ่งขึ้น เข้าใจเหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรจะต้องทำโฆษณาออนไลน์ และเข้าใจความแตกต่างระหว่างการซื้อโฆษณาออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงรู้จักประเภทต่างๆ ของการซื้อโฆษณาออนไลน์และตัวอย่างที่น่าสนใจอีกด้วย

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้การทำ Digital Advertising ทาง Content Shifu มีคอร์สเรียน Facebook Ads Certification และ Google Ads Certification ให้คุณไปศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้ตั้งแต่ระดับ Basic จนถึง Intermediate พร้อมรับใบ Certification ของ Content Shifu หลังเรียนจบ

โฆษณาออนไลน์ (Digital Advertising) คืออะไร?

การซื้อโฆษณาออนไลน์ คือการที่ธุรกิจ ‘ซื้อ’ พื้นที่บนโลกออนไลน์เพื่อทำการ ‘โปรโมท’ สินค้า 

และบริการผ่านสื่อและช่องทางออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งสารไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งในส่วนนี้ครอบคลุมตั้งแต่การทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก (Awareness) การทำให้ลูกค้าพิจารณาแบรนด์ (Consideration) ไปจนถึงการทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อขายสินค้าและบริการ ของแบรนด์ (Decision)

ไม่ว่าจะเป็นตอนที่คุณกำลังเสิร์ชหาสินค้าบนอย่างบน Google หรือตอนที่คุณกำลังดูยูทูปช่องโปรด แล้วก็มีวิดีโอแคมเปญแสนคุ้นหูออกมาให้ฟัง หรือแม้แต่ตอนที่คุณกำลังนั่งดู Instagram story ของเพื่อนๆ คุณ คุณจะได้พบเจอกับการโปรโมทสินค้าและบริการจากธุรกิจหลายๆ ธุรกิจแสดงขึ้นมาระหว่างนั้น เชื่อเถอะว่าโฆษณาบางตัวทำให้ คุณคุ้นชินกับแบรนด์นั้นๆ มากขึ้นกว่าเดิมหรือบางทีอาจจะมีเผลอร้องเพลงประกอบโฆษณากันบ้าง 

ความแตกต่างระหว่างโฆษณาออนไลน์ vs โฆษณาออฟไลน์

มารู้จักกับคำศัพท์คำว่า โฆษณาออฟไลน์ (Traditional Advertising) กันก่อน

โฆษณาออฟไลน์ หรือ โฆษณาแบบดั้งเดิมคือการที่ธุรกิจซื้อพื้นที่บนสื่อดั้งเดิมเพื่อทำโฆษณาโปรโมท สินค้าและบริการของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ บนโทรทัศน์ หรือบนป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ตามทางด่วน โดยที่ผู้คนที่พบเห็นโฆษณาจะต้องเป็นผู้คนที่เดินทางหรืออยู่ ณ ตำแหน่งที่สื่อนั้นตั้งอยู่ 

ปัจจุบันคุณสามารถพบเจอโฆษณาออนไลน์ (Digital Advertising) 

และโฆษณาออฟไลน์ (Traditional Advertsing) ได้พร้อมๆ กันในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ตอนเช้าคุณอาจจะนั่งจิบกาแฟกินอาหารเช้าพร้อมกับนั่งดู Live ข่าวบน Facebook กับโฆษณาคั่นสัก 1-2 นาที พร้อมปุ่ม ‘Download Now’ และระหว่างทางไปทำงานคุณขับรถผ่านป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่พร้อมกับพรีเซนเตอร์ที่กำลังยิ้มมาให้คุณ หรือที่ทำงานเปิดดูรายการโทรทัศน์พร้อมกับโฆษณาในทุกๆ ชั่วโมง 

ทั้ง Digital Advertising และ Traditional Advertising สามารถกระตุ้นคุณให้ทำบางอย่างจากสิ่งที่เรียกว่า Call-To-Action บนโฆษณาได้ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาเครื่องออกกำลังกายในโทรทัศน์ เพื่อกระตุ้นคนดูให้โทรศัพท์มาสั่งซื้อของหรือการโฆษณาเครื่องสำอางบน Social Media เช่น Facebook เพื่อกระตุ้นให้ผู้พบเห็นกดสั่งซื้อของและธุรกิจสามารถวัดผลลัพธ์จาก Campaign เหล่านี้ได้ว่ามีลูกค้าที่ตอบรับการกระตุ้นเหล่านั้นเท่าไหร่ เพียงแต่การโฆษณาแบบดั้งเดิม สามารถวัดผลได้หลังจากเกิดการตัดสินใจขึ้นแล้วเท่านั้น ในขณะที่การทำโฆษณาออนไลน์สามารถวัดผลได้ครอบคลุมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Awareness) ช่วงระหว่างตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย (Consideration) และช่วงตัดสินใจ (Decision) 

นอกจากนั้นแล้ว ในการซื้อโฆษณาออนไลน์ คุณยังสามารถวางและกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับการทำโฆษณา หรือการทำแคมเปญได้อย่างเจาะจงและชัดเจน (Audience Segmentation) การจ่ายเงินซื้อแคมเปญและโฆษณาเพื่อส่งสารนี้ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของคุณย่อมเห็นผลมากกว่า อีกทั้งโฆษณาออนไลน์เหล่านี้สามารถช่วยนักการตลาดหรือธุรกิจวิเคราะห์ได้ว่าแคมเปญนี้มีผลลัพธ์อย่างไร ดีหรือไม่ดี ควรเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนเรื่องอื่น ในขณะที่การนำข้อมูลที่ได้จากโฆษณาออฟไลน์มาวิเคราะห์ต่อนั้นค่อนข้างยากพอสมควร 

ทั้งการซื้อโฆษณาออนไลน์และออฟไลน์เป็นการทำการตลาดที่จำเป็นต้อง ‘ซื้อ’ พื้นที่ และเป็นการช่วยแบรนด์ส่งสารไปยังลูกค้าได้จริงเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามีข้อแตกต่างกันในบางส่วน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับธุรกิจว่ามีเป้าหมายอะไรต้องการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าแบบไหนและต้องการข้อมูลจากโฆษณาแม่นยำและรวดเร็วแค่ไหน 

ทำไมแบรนด์ต้องพึ่งพาการโฆษณาออนไลน์ (Digital Advertising) 

เมื่อคุณเข้าใจการซื้อโฆษณาออนไลน์และความแตกต่างระหว่างการซื้อโฆษณาออนไลน์และออฟไลน์มากยิ่งขึ้นแล้ว มาดูเหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรจะต้องซื้อโฆษณาออนไลน์ต่อกัน

1. ผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในทุกปี

อ้างอิงจาก Digital 2021: Global Overview Report ที่รวบรวมโดย We Are Social และ Hootsuite จะเห็นได้ชัดว่าในจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ ในทุกปี โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมากขึ้น 316 ล้านคนและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียมากขึ้น 490 ล้านคน

จำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในปี 2021
รูปภาพจาก datareportal.com

จำนวนเหล่านี้สามารถบอกอะไรได้บ้าง? 

ตัวเลขเหล่านี้บอกได้ว่าโลกออนไลน์กำลังขยายตัวใหญ่มากขึ้น เปิดรับผู้คนมากมายเข้ามามากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสที่กลุ่มลูกค้าที่แบรนด์มุ่งหวังหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้าไปร่วมใช้งานโลกออนไลน์มากขึ้น และการที่แบรนด์ต้อง ‘จ่ายเงิน’ เพื่อโฆษณาสินค้าและบริการแล้วโฆษณานี้ก็ควรจะไปแสดง

ในพื้นที่ที่คนกลุ่มนั้นใช้หรือผ่านหูผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง ย่อมเป็นผลดีต่อแบรนด์ 

2. โฆษณาออนไลน์ช่วยให้แบรนด์ได้บรรลุเป้าหมาย (Goals) ของตัวเอง

อีกหนึ่งข้อสำคัญที่ธุรกิจในยุคสมัยปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาโฆษณาออนไลน์ก็เพราะว่าแบรนด์แต่ละแบรนด์นั้นมีเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป บางแบรนด์ก็จำเป็นต้องสร้างฐานลูกค้าก่อนทำการขายอย่างเต็มที่ หรือบางแบรนด์ก็มีเป้าหมายในการขายสินค้าและบริการให้ได้ และโฆษณาออนไลน์ก็มีวัตถุประสงค์ในการตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ของแบรนด์เช่นเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ Inform, Remind, และ Persuade 

  • Inform หรือแปลตรงตัวก็คือ การบอกให้รับรู้โดยที่มีเป้าหมายในการสร้าง Awareness หรือการรับรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของแบรนด์โดยที่โฆษณาออนไลน์ในช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องมีการขายสินค้าหรือบริการแบบ 100% เพราะว่านี้คือช่วงเวลาที่ผู้ฟังของคุณซึ่งในที่นี้คือ ผู้เยี่ยมชมหรือ Visitors ต้องการ ‘คำตอบ’ หรือ ‘ความรู้’ จากหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงและหน้าที่

ของคุณในช่วงเวลานี้คือ ‘การให้’ ในสิ่งที่เขากำลังตามหา ถ้าคุณสามารถให้คำตอบในสิ่งที่พวกเขากำลังต้องการได้ แบรนด์ของคุณไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แน่นอนว่าได้รับการจดจำ

ตัวอย่าง Harvard Business School Online ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและต้องการที่จะดึงดูด Visitors ที่มีความสนใจในเรื่องนี้เข้ามารู้จักแบรนด์โฆษณาออนไลน์ของ Harvard เลยเผย แพร่ออกมาในรูปแบบการเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามารู้จักผลิตภัณฑ์บนหน้าเว็บไซต์ โดยที่โฆษณานี้มี Call-To-action ที่ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจกดเข้ามา เช่น Learn More หรือ เรียนรู้เพิ่มเติม เป็นต้น 

ตัวอย่าง โฆษณาออนไลน์แบบ Inform
รูปภาพจาก Harvardbusinessschool.com

หรือถ้าอยากนำเสนอความเชี่ยวชาญที่แบรนด์มีเพิ่มเติมอาจจะช่วยให้ปรึกษาด้านการเรียนในเบื้องต้น ผ่านการใช้ Call-to-action อย่างเช่น Contact Us หรือ Get Free Consultant 

หรืออาจจะทำเป็นโฆษณาออนไลน์ที่สามารถสร้างภาพจำให้สินค้าและบริการเองได้ อาจจะผลิตเพลงง่ายๆ หรือวิดิโอสั้นดีๆ สักตัว

ถามว่าแล้วการทำโฆษณาออนไลน์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ Inform นั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ไม่สามารถมาถึงแล้วสร้าง Ads ขายของได้เลยเหรอ? จริงๆ แล้วการทำโฆษณาออนไลน์เพื่อ Inform นั้นเหมือนกับการปูพรมให้กับสินค้าและบริการที่แบรนด์กำลังวางแผนเพื่อจำหน่าย หรือผลิตออกมาในตลาดและจำเป็นอย่างมากกับแบรนด์ที่พึ่งเข้ามาสร้างฐานลูกค้าออนไลน์ หรือตั้งใจจะดึงดูด Visitor ให้ไปรู้จักกับสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น 

แน่นอนว่า ทุกคนย่อมเป็นลูกค้ากันมาก่อนทั้งนั้น การที่คนได้รู้จักความเป็นมาของแบรนด์นั้นๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการอะไร ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะซื้อมากกว่าแบรนด์ที่ไม่เคยเห็นผ่านตาเลย

  • Remind สำหรับวัตถุประสงค์สุดท้ายของการทำโฆษณาออนไลน์ก็คือ เพื่อเน้นย้ำถึงสินค้าและบริการที่แบรนด์ของคุณให้กลุ่มเป้าหมายและลูกค้า มาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเน้นย้ำ? คุณจะเสียเวลาทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไรกัน? คำตอบง่ายๆ ก็คือทำไปเพื่อให้แบรนด์เกิดเป็นภาพจำแรกๆ ที่ลูกค้าจะนึกถึง อย่าลืมว่าธุรกิจของคุณไม่ได้มีเพียงเจ้าเดียวในตลาด สินค้าและบริการที่อยู่ใน Category เดียวกับคุณอาจจะมีเป็นสิบ เป็นร้อยหรือเป็นพันในตลาด ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก กลางไปจนถึงใหญ่ วิธีการเอาชนะใจลูกค้าให้นึกถึงสินค้าและบริการของคุณเป็นสิ่งแรกนั้นก็คือการเน้นย้ำ (Remind) พวกเขาว่าสินค้าและบริการคุณอยู่ตรงนี้เพื่อลูกค้าเสมอและใช้การสื่อสารผ่านโฆษณาออนไลน์ว่าสินค้าและบริการของคุณตอบโจทย์ความต้องการ (Needs) ในเรื่องอะไร 

การทำ Reminder Advertising นั้นมีเป้าหมายในการส่งสารไปยังลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายที่กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจ (Consideration Process) ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ไหนดี หรือจะซื้อหรือไม่ซื้อดี หน้าที่ของแบรนด์ในตอนนี้คือการเข้าไปอยู่ในใจของพวกเขานั่นเอง นอกเหนือจากการช่วยลูกค้าตัดสินใจแล้วนั้น Remider Advertising ยังสามารถใช้ทำสิ่งที่ เรียกว่า Retargeting ได้อีกด้วย หรือการที่แบรนด์ส่งโฆษณาไปหากลุ่มลูกค้าที่เคยมี interaction กับแบรนด์มาก่อน เช่น การเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือ การไปเยี่ยมชมเพจ เป็นต้น

ตัวอย่าง Vimeo ปล่อยโฆษณาออกมาภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงสินค้าและบริการเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นจัดการวิดีโอแบบครบวงจร โดยใช้ Copy Writing ในการเน้นย้ำว่า Vimeo คือสถานที่ที่ทุกวิดีโอของคุณต้องการ พร้อมกับ Call-to-action เชิญชวนให้ไปทำความรู้จักและสมัครใช้งานฟรี 

ตัวอย่างโฆษณาออนไลน์แบบ Retargeting
ตัวอย่างโฆษณาออนไลน์แบบ Retargeting จาก vimeo.com
  • Persuade หรือการโน้มน้าวนั่นเอง การที่แบรนด์เลือกทำโฆษณาออนไลน์นั้นก็มีจุดประสงค์ เพื่อการโน้มน้าวให้ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ หรือ ‘ลูกค้า’ ของพวกเขาเองได้กระทำการบางอย่างที่แบรนด์คาดหวังไว้ ซึ่งในวัตถุประสงค์นี้นั้นแบรนด์สามารถทำการ ‘ขาย’ หรือ ‘โปรโมท’ ตัวเองได้อย่างเต็มที่เพราะว่ากลุ่มเป้าหมายที่คุณกำลังส่งสารไปถึงนั้นอาจจะมีความต้องการในสินค้าและบริการบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งถ้าได้พบเห็นโฆษณาออนไลน์ที่ตรงใจด้วยแล้วนั้น ยิ่งเพิ่มโอกาสโน้มน้าวใจพวกเขาให้เข้ามาเป็นลูกค้าคุณได้ 

ความจริงแล้ววัตถุประสงค์ตรงนี้ อาจจะไม่ได้หมายความถึงการ ‘ขาย’ เพียงอย่างเดียว ข้อความที่ใช้ในโฆษณาออนไลน์ของคุณไม่จำเป็นต้องขึ้นว่า ‘Buy Now’ หรือ ‘ซื้อเลย’ ตลอดเวลา เพราะว่าเป้าหมายของธุรกิจของคุณอาจจะไม่ได้ต้องการให้ลูกค้าซื้อก็ได้ แต่อาจจะเป็นการกระทำอย่างอื่นที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาตัดสินใจกระทำบางอย่างที่แบรนด์ได้คาดหวังไว้ เช่น การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของแบรนด์ เป็นต้น 

ตัวอย่าง สมมติว่าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจความสวยความงามออนไลน์ หลังจากออกแคมเปญโฆษณาออนไลน์เพื่อสร้าง Awareness เรียบร้อยแล้ว และการยิง โฆษณาที่ได้รับผลตอบรับดีมากทำให้เว็บไซต์ของคุณมีผู้เข้าชมหรือ Visitors ตามเป้าหมายก็ถึงเวลาแห่งการขายของ 

คุณเองมีทั้งสินค้าเครื่องสำอาค์และบริการเสริมความงาม คุณเลยตัดสินใจที่จะโปรโมทคลินิกผ่านโฆษณาออนไลน์และมีเป้าหมายให้คนมาซื้อ E-voucher เข้ารับบริการ โฆษณาออนไลน์ของคุณอาจจะออกมาในรูปแบบของโฆษณาตาม Social Media อย่าง Facebook และ Instagram พร้อมกับ Call-to-action ชักชวนให้ซื้อ เช่น ซื้อคอร์สนวดหน้า 1 แถม 1 หรือ Get Offer for 50% Discount เป็นต้น 

ตัวอย่าง จากแบรนด์เครื่องสำอางอย่าง The Body Shop ที่ได้ทำการยิงโฆษณาออนไลน์ในรูปแบบ “Persuade” เพราะว่าแบรนด์เลือกใช้ CTA เป็นคำว่า ‘เลือกซื้อเลย'

ตัวอย่าง โฆษณาออนไลน์แบบ Persuade
ตัวอย่างโฆษณาออนไลน์แบบ Persuade จาก thebodyshop.com

สรุปก็คือแบรนด์สามารถพึ่งพาโฆษณาออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายบรรลุตาม Buyer’s Journey ที่แบรนด์ตั้งใจวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในช่วง Awareness Stage ที่ต้องให้ผู้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้นก็เลือกใช้การโฆษณาออนไลน์แบบการบอกให้รับรู้ (Inform) หรือช่วง Consideration Stage ที่ผู้คนต้องตัดสินใจทำให้แบรนด์ควรเลือกใช้โฆษณาออนไลน์แบบแจ้งเตือน (Remind) เพื่อสร้างภาพจำของแบรนด์ และสุดท้ายคือ Decision Stage ที่ต้องการให้เกิดการกระทำ เช่น การซื้อ จริงๆ แบรนด์ก็ควรเลือกใช้โฆษณาออนไลน์เพื่อ Persuade (โน้มน้าว) ลูกค้าของตัวเอง

3. โฆษณาออนไลน์ช่วยให้แบรนด์ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น

การที่แบรนด์เลือกใช้โฆษณาออนไลน์มาเป็นกระบอกเสียงโปรโมทสินค้าและบริการของตัวเองนั้น แบรนด์ยังสามารถเลือกได้ว่าจะส่งเสียงนี้ไปยังกลุ่มลูกค้าแบบไหน บนแพลตฟอร์มอะไร หรือเลือกรูปแบบของสื่อที่ต้องการใช้สื่อสารกับพวกเขาและยังสามารถติดตามข้อมูลทุกอย่างได้อีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของการซื้อโฆษณาออนไลน์คือ 

  • โฆษณาออนไลน์ช่วยให้แบรนด์จัด Audience Segment ได้ เพราะการที่แบรนด์เลือกใช้โฆษณาออนไลน์มาโปรโมทสินค้าและบริการจะช่วยให้แบรนด์นั้นสามารถส่ง ‘สาร’ ไปยังผู้รับได้ชัดเจนและเจาะจงได้มากขึ้น เพราะว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้เครื่องมือซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถระบุได้อย่างละเอียดว่ากลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์คาดหวังให้เห็นโฆษณาจะประกอบไปด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ที่อยู่ ระดับการศึกษา รวมไปถึงพฤติกรรมและความสนใจแบบ Individual นอกจากแบรนด์จะมั่นใจแล้วว่างบที่เสียไปช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณาจริงๆ แถมพวกเขายังได้รับคอนเทนต์ที่คัดมาเฉพาะความสนใจของพวกอีกด้วย 
ตัวอย่าง Audience Segment จาก Facebook Ads
ตัวอย่าง Audience จาก Facebook Ads
  • โฆษณาออนไลน์ให้อิสระในการเลือก Ads Format และ Platform ไม่ใช่ว่าต้องใช้แค่ Facebook ถึงจะเห็น Ads เท่านั้น แบรนด์สามารถกระจายสารของตัวเองได้ในแทบจะทุกที่บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Search Platform เช่น Google หรือ Youtube บน Social Media เช่น Facebook, Instagram, Twitter,LINE หรือ Tiktok และแน่นอนว่า Platform เหล่านี้ก็ไม่ได้จำกัดให้ทำโฆษณาเป็นเพียงแต่ภาพนิ่งอย่างเดียว คุณสามารถจัดเต็มใส่ความครีเอทีฟลงบนโฆษณาออนไลน์ได้หลากหลายแนว หลากหลายไซส์ และหลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่ม Interaction ระหว่างลูกค้าและแบรนด์ได้ด้วย
  • โฆษณาออนไลน์ให้ข้อมูลที่วัดผลได้นอกจากจะช่วยให้เข้าถึงคนได้มากขึ้นแล้วยังสามารถติดตามและเก็บข้อมูลความเป็นไปเกี่ยวกับโฆษณาตัวนั้นได้ว่าเวิร์คไหมหรือไม่เวิร์ค แถมหลังจากที่หมดเวลาโปรโมทแล้วนั้น แบรนด์สามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาทำ Report และวิเคราะห์ว่าในอนาคตควรปรับหรือแก้ไขแคมเปญที่ตรงไหนได้บ้าง 

รูปแบบการซื้อโฆษณาออนไลน์

หลังจากทำความเข้าใจแล้วว่า โฆษณาออนไลน์คืออะไร มีความแตกต่างจากโฆษณาแบบ Traditional อย่างไร รวมไปถึงเหตุผลที่แบรนด์ควรหันมาพึ่งพาโฆษณาออนไลน์ 

ในส่วนนี้คุณจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่ารูปแบบของการซื้อโฆษณาออนไลน์มีแบบไหนบ้าง

โฆษณาออนไลน์แบบ Display Ads

มารู้จักกับประเภทแรกกันก่อน นั่นก็คือ Display Ads ถือว่าเป็นที่นิยมมากๆ ของการทำ โฆษณาออนไลน์เพราะว่าโฆษณาออนไลน์แบบ Display คือโฆษณาที่ใช้สื่อ เช่น รูปภาพ หรือ ภาพเคลื่อนไหว, ข้อความ (Copy Writing) และปุ่ม Call-to-Action มาสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มักจะพบเจอกันก็คือบน Google เวลาเข้าไปท่องเว็บไซต์ หรือ Youtube ที่จะโผล่ขึ้นมาเป็น banner เล็กๆ เป็นต้น

ตัวอย่าง Display Ads
ตัวอย่างประเภท Display Ads บางส่วน
รูปภาพจาก Developer.fyber.com

ประเภทของ Display Ads มีดังนี้ 

  1. Banner Ads โฆษณาที่อยู่บริเวณด้านข้างซ้าย-ขวา บน-ล่าง หรือระหว่างเนื้อหาของเว็บไซต์ 
  2. Interstitial Ads โฆษณาที่แสดงผลขึ้นมาในแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ 
  3. MREC หรือ Medium Rectangle ที่มักจะพบเจอระหว่างใช้งานเว็บไซต์หรือ Social Media 
  4. Video Ads โฆษณาผ่านวิดีโอที่มักจะเห็นผ่านตาบ่อยๆ โดยมักจะมาในรูปแบบของ Full Screen Video 
    • Rewarded Ads จะพบบ่อยเวลาเล่นเกม แล้วจะมีโฆษณาให้กดดูเพื่อแลกเปลี่ยนกับ บางสิ่ง เช่น พลังชีวิตของตัวละครในเกมจะเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  5. Rich Media Ads หรือ Playable Ads โฆษณาออนไลน์ตัวนี้ถือว่าเป็นตัวที่สร้าง Interaction กับกลุ่มเป้าหมายได้ ดี เพราะว่า Rich Media ที่ตรงตามตัวเลยก็คือมีลูกเล่นเยอะแยะให้ได้เล่น ไม่ว่าจะเป็นการ Scroll / Swipe up, การเสนอ Choices ให้เลือก, เล่นกับโฆษณาหรือแม้แต่การทำโฆษณาออกมาเป็นรูปแบบ 360 องศา พูดง่ายๆ ก็คือขายลูกเล่นเข้าไปด้วยให้คนมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น 
  6. Popup Ads รูปแบบโฆษณาที่จะเด้งขึ้นมาระหว่างใช้งานบนเว็บไซต์

โฆษณาออนไลน์แบบ Native Ads

อีกประเภทของโฆษณาออนไลน์ Native Ads คือโฆษณาออนไลน์ที่ถูกออกแบบมาให้กลมกลืนหรือแฝงตัวให้เนียนไปกับเนื้อหาบนหน้าจอของคุณ เหมือนกับว่าโฆษณาตัวนี้ไม่ได้ถูกซื้อพื้นที่มาเพื่อโปรโมท ซึ่งโฆษณาออนไลน์แบบ Native Ads นั้นจะเจาะจงไปที่กลุ่มเป้าหมายของพวกเขาเลย เนื้อหาหรือคอนเทนต์ภายในจะกลมกลืนกับเนื้อหาของสิ่งที่พวกเขากำลังอ่านอยู่ ณ ปัจจุบัน 

คุณอาจจะเคยพบเจอมาบ้างแล้ว เช่น เวลาอ่านบทความหรืออ่านข่าวบนเว็บไซต์แล้วจะมีบทความหรือข่าวอื่นๆ มาในรูปแบบของ Recommendation หรือ Suggestion ให้รู้สึกว่านี่มันคือบทความทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่การโฆษณา ซึ่งการโฆษณาแบบนี้จะลดโอกาสที่ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกรำคาญใจหรือความรู้สึกลบที่มีกับแบรนด์

ตัวอย่าง Native Ads
ตัวอย่างโฆษณาออนไลน์ประเภท Native Ads
รูปภาพจาก NT.technology

ประเภทของ Native Ads มีดังนี้

  1. In-Feed Ads / In-Content Ads โฆษณาประเภทนี้จะโผล่มาบนหน้าฟีดบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น Instagram หรือ Facebook ที่เราสามารถเห็น Ads ประเภทนี้เวลาเลื่อนหน้าฟีด แล้วตัวโฆษณาจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการค้นหาของคุณด้วย ถ้าคุณชอบออกกำลังกายหรือกินอาหารสุขภาพ ก็อาจจะมีโฆษณาคอร์สลดน้ำหนักแฝงเข้ามาที่หน้าฟีด พร้อม Call-to-Action พาคุณไปช็อปปิ้งที่หน้าเว็บไซต์ 
  2. Paid Search Ads (PPC – Pay Per Click) โฆษณาที่จะปรากฏอยู่ในหน้าการแสดงผลการค้นหาของ Google (Search Engine Result Pages) ซึ่งจะมีคำว่า Ads ตัวเล็กๆ เขียนกำกับไว้อยู่ด้วย
  3. Content Recommendation Blocks เวลาที่คุณอ่านข่าวหรือบทความออนไลน์แล้วเจอบทความที่แนะนำจากเว็บไซต์ให้ลองอ่าน นั่นคือ Recommendation Lists ที่แฝงมาให้คุณกดอ่านโดยที่หัวข้ออาจจะดึงดูดความสนใจ พอสมควร ทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้รับประโยชน์จากการคลิ๊กเข้าไปอ่าน 
  4. Promoted Lists โฆษณาออนไลน์ตัวนี้คล้ายคลึงกับ PPC เพียงแค่ว่าเปลี่ยน Platform จากหน้า Google เป็นเว็บไซต์ที่เอาไว้ซื้อของแทน คุณจะเห็นสินค้าเหล่านี้อยู่ในอันดับแรกๆ ของหน้าเว็บล่อตาล่าใจให้กดเข้าตะกร้าจ่ายเงิน
  5. Rewareded Video Ads หรือโฆษณาที่จะแฝงตามเกมเพื่อให้ผู้คนสามารถมีส่วนร่วมกับโฆษณาได้ เช่น จะได้รับรางวัลหลังจากดูโฆษณาเสร็จเรียบร้อย 
  6. Sponsored Content โฆษณารูปแบบนี้อาจจะไม่ได้พบเห็นจากตัวแบรนด์เอง แต่คุณอาจจะพบเห็นได้เวลาดูยูทูป อ่านบทความหรือฟัง Podcast แล้วมีช่วงสปอนเซอร์ว่าแบรนด์ไหนหรือผลิตภัณฑ์อะไรสนับสนุนคอนเทนต์นั้นๆ นี่ก็นับว่าเป็นอีกรูปแบบของการโฆษณาออนไลน์เช่นเดียวกัน 
  7. Influencer Partnership โฆษณาออนไลน์ตัวนี้จะพบเห็นได้บ่อยบน Social Media โดยเฉพาะ Instagram ที่เหล่า Influencer จะโพสต์ PR สินค้าหรือบริการแล้วด้านบนใน ส่วนที่ปกติจะเป็น Location กลับเขียนว่า Paid Partnership with แบรนด์เจ้าของสินค้านั้นๆ

ระหว่าง Display Ads และ Native Ads จะเลือกใช้แบบไหนดี?

ทั้งสองประเภทโฆษณาออนไลน์นั้นมีข้อดี – ข้อเสียแตกต่างกันออกไป ถ้าคุณอยากทำการโฆษณาแบบตรงไปตรงมาที่ให้ผู้คนเห็นชัดจดจำได้ทันทีว่าแบรนด์ของคุณคือใคร ขายสินค้าและบริการอะไร หรืออยากใช้ Rich Media ช่วยสร้างความน่าตื่นเต้นน่าสนใจกับโฆษณาของคุณ การเลือกใช้ Display Ads ก็เป็นตัวเลือกที่ดี แถมยังมีแนวโน้มที่กลุ่มเป้าหมายจะช่วยสร้าง action ตามที่คุณคาดหวังไว้ 

แต่ถ้าคุณอยากเลือกการโฆษณาออนไลน์ที่ไม่ได้ขายโดยตรง ไม่อยากสร้าง Negative Image ให้กับแบรนด์เพราะว่าลูกค้าบางส่วนอาจจะไม่ชอบ Display ads รวมถึงอยากให้สินค้าและบริการของคุณไปผสมผสานกลมกลืนกับเว็บไซต์ สื่อ หรือผู้คน เช่น Influencer ให้การช่วยโปรโมทนั้น โฆษณาแบบ Native Ads ก็อาจจะเหมาะกับแบรนด์คุณ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสินค้าและบริการรวมไปถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแบรนด์ด้วย บางแบรนด์อาจจะประสบความสำเร็จจากการทำ Native Ads อย่างเดียว หรือบางแบรนด์ทำแค่ Display Ads อย่างเดียว หรือบางแบรนด์ก็ทำทั้งคู่ไปด้วยกันได้ 

จะเห็นได้ว่าโฆษณาทั้ง 2 แบบนั้น มีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน แบรนด์เองก็ควรจะต้องเลือกพิจารณาทั้ง 2 ตัว เพื่อให้การซื้อโฆษณาหรือการทำแคมเปญออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สินค้าและบริการบางตัวเหมาะที่ใช้ช่องทางออนไลน์ บางตัวเหมาะกับช่องทางออฟไลน์หรือบางตัวก็สามารถใช้ทั้งสองช่องทางควบคู่กัน

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้การทำ Digital Advertising ทาง Content Shifu มีคอร์สเรียน Facebook Ads Certification และ Google Ads Certification ให้คุณไปศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้ตั้งแต่ระดับ Basic จนถึง Intermediate พร้อมรับใบ Certification ของ Content Shifu หลังเรียนจบ

สรุป

มาถึงตรงนี้ คุณอาจจะมองเห็นภาพของคำว่า ‘การซื้อโฆษณาออนไลน์’ หรือ Digital Advertising ได้ชัดมากขึ้น ว่ามีความหมายอย่างไร และโฆษณาออนไลน์แตกต่างกับโฆษณาออฟไลน์อย่างไร รวมไปถึงเหตุผลที่ว่าทำไมแบรนด์ในยุคสมัยปัจจุบันต้องปรับตัวเข้ามาใช้ Digital Advertising ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของจำนวนผู้ใช้งานออนไลน์ที่มีมากขึ้น ความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแบรนด์และความสะดวกสบายที่แบรนด์ได้รับจากการใช้งานโฆษณาออนไลน์ และสุดท้ายคือการพาคุณไปรู้จักประเภทของโฆษณาออนไลน์ว่ามีประเภทและรูปแบบไหนบ้างที่เหมาะสมกับแบรนด์ของคุณมากที่สุด

ในหัวข้อถัดไป คุณจะได้รู้จักกับช่องทางการซื้อโฆษณาออนไลน์หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่าน Social, Search หรือ Marketplace ซึ่งคุณจะได้เรียนรู้จุดเด่นจุดด้อยของช่องทางแต่ละช่องทาง และเลือกทำโฆษณาผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับธุรกิจหรือโจทย์ของคุณมากที่สุด