Google Analytics เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ทำให้คุณเข้าถึงข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์ของคุณได้อย่างละเอียด คุณสามารถวัดผลได้ตั้งแต่จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ ไปจนถึงระยะเวลาการใช้เว็บไซต์โดยเฉลี่ย นอกจากนั้นแล้วคุณยังสามารถใช้งานมันได้ฟรีอีกด้วย

แต่ถึงแม้ว่า Google Analytics นั้นจะทั้งดี ทั้งฟรี มันก็มีข้อด้อยเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อด้อยของมันก็คือรูปร่าง หน้าตาของมันที่ดูใช้งานยาก จนอาจจะทำให้มือใหม่ที่ยังไม่เคยใช้เครื่องมือนี้มาก่อนถอดใจไปตามๆ กัน

บทความนี้จะไม่ได้มาอธิบายวิธีการใช้งาน Google Analytics แบบลงลึก ลงรายละเอียด (เพราะผมเองก็รู้ไม่ค่อยเยอะเหมือนกัน ฮา) แต่จะมาอธิบายคำศัพท์พื้นฐาน เพื่อช่วยให้มือใหม่รู้จักกับเครื่องมือตัวนี้มากยิ่งขึ้น

ถ้าอ่านจบแล้ว ผมรับรองว่าคุณจะเข้าใจ Google Analytics ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

New call-to-action

คำศัพท์พื้นฐานที่น่ารู้ของ Google Analytics

1. Pageviews

Google Analytics - Pageview คือ

Pageviews คือจำนวนครั้งที่เว็บไซต์ถูกเข้าชม ซึ่งมันจะถูกนับทุกครั้งที่มีคนเข้ามา ไม่ว่าคนคนนั้นจะเคยเข้ามาแล้วหรือไม่ก็ตาม ตัว Pageviews นั้นเอาไว้ใช้เพื่อดูภาพกว้างๆ ว่ามีเว็บไซต์ของคุณนั้นถูกเข้าเยอะแค่ไหน และหน้าไหนของคุณมีคนเข้าเยอะที่สุด

ตัวเลขตัวนี้เป็นตัวชี้วัดพื้นฐานที่มักจะถูกพูดถึงบ่อยที่สุด (เวลาถูกถามว่าเว็บไซต์มีคนเข้าประมาณเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่ก็จะใช้เลขตัวนี้ในการตอบกลับไป)

2. Users

Google Analytics - Users คืออะไร

Users คือจำนวนคนที่เข้ายังเว็บไซต์ของคุณ เช่นสมมุติว่ามีคนหนึ่งคนเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ แล้วเปิดหน้าเว็บของคุณไป 5 ครั้ง จากนั้นก็ปิดไป 2 วันต่อมา เขากลับมาเปิดเว็บไซต์ของคุณอีกครั้ง Users ก็จะถูกนับว่าเป็น 1 เท่านั้น

วิธีการที่ Google Analytics ใช้บอกว่าคนคนนั้นเคยเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณรึเปล่าก็คือการฝัง Cookie หรือถ้าแปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือหน่วยความจำเล็กๆ ที่ถูกฝังไว้ใน Browser ของคนคนนั้น ถ้าเขาเข้ามาอีกรอบโดยใช้ Browser เดิม และ Device เดิม จำนวน User ก็ยังคงเป็น 1 แต่ถ้าคนคนนั้นเปลี่ยน browser (เช่นเปลี่ยนจาก Chrome เป็น Internet Explorer) หรือเปลี่ยน Device (เช่นจากโน็ตบุ๊คเป็นสมาร์ทโฟน) ตัวเลข User นั้นก็จะถูกนับค่าใหม่

โดยพื้นฐานแล้ว การที่มี Users เยอะๆ นั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามันเยอะจนห่างจาก Pageviews ไม่มากแล้วละก็ มันจะไม่ค่อยดีนัก เพราะมันเป็นการบ่งบอกว่าคนส่วนใหญ่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณครั้งเดียว แล้วไม่กลับมาอีกเลย

3. Sessions

Google Analytics - Sessions คือ

Pageviews กับ Users นั้นสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ Sessions จะมีความซับซ้อนขึ้นมาระดับนึง โดยที่ Session นั้นจะเป็นสิ่งที่คนคนนึงทำอยู่บนเว็บไซต์ของคุณภายในระยะนึง โดยที่ Session จะถูกตัดก็ต่อเมื่อ 1. user คนนั้นไม่ทำอะไรบนเว็บไซต์ของคุณเป็นเวลา 30 นาที 2. เลยเที่ยงคืนของวันนั้น (นับตามเวลาที่คุณตั้งค่าไว้ใน Google Analytics)

เช่นถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกของคุณตอน 13.00 แล้วไปกินกาแฟ แล้วกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 13.20 จากนั้นปิดเว็บไซต์ของคุณไปตอน 13.40 Session ของคุณจะเป็น 1

ถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกของคุณตอน 13.00 แล้วไปกินกาแฟ แล้วกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 13.31 Session ของคุณจะเป็น 2

ถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกของคุณตอน 23.55 แล้วไปกินกาแฟ แล้วกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 00.02 Session ของคุณจะเป็น 2

Session จะไม่น้อยกว่า user และจะไม่มากกว่า pageviews

การที่ Session น้อยนั้นอาจจะหมายความว่าคนเข้ามาแล้ว ไม่อยากกลับเข้ามาอีก หรืออาจจะแปลว่าคนเข้ามาแล้ว ได้คำตอบแล้ว ก็เลยไม่กลับมาอีกก็ได้

ถ้า Session มากนั้นก็แสดงว่าคนกลับเข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณบ่อยๆ

4. Bounce Rate

Google Analytics - Bounce Rate คือ

Bounce Rate คือเปอร์เซนต์ของคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณในหน้าใดหน้าหนึ่งแค่เพียงหน้าเดียวแล้วไม่คลิ๊กไปหน้าไหนต่อเลย

เช่น นาย ก เข้ามายัง Page A แล้วปิดเว็บไซต์ไป, นาย ข เข้ามายัง Page A แล้วคลิ๊กไปยัง Page B ต่อ, นาย ค เข้ามายัง Page B แล้วปิดเว็บไซต์ไป และ นาย ง เข้ามายัง Page C แล้วปิดไป

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่านาย ก, นาย ค และนาย ง นั้นจะ Bounce ออกจากเว็บไซต์ไปเลย ในขณะที่นาย ข นั้นเข้ามายัง Page A แล้วยังคลิ๊กไปหน้าอื่นต่อ เพราะฉะนั้นค่า Bounce Rate ก็จะเป็น 75%

Shifu แนะนำ
โดยปกติแล้ว ค่า Bounce Rate ที่ดีนั้นควรจะมีค่าน้อย เพราะนั่นหมายถึงว่า User คลิ๊กเข้าไปอ่านเว็บไซต์ของคุณหลายหน้า เว็บไซต์​ Gorocketfuel นั้นบอกไว้ว่าปกติแล้วค่า Bounce Rate จะอยู่ระหว่าง 26% – 70% โดยที่ถ้าอยู่ในช่วง 26%-40% จะถือว่าดี, 41%-55% จะถือว่ากลางๆ, 56%-70% จะถือว่าสูงไปหน่อย แต่ถ้าเกิน 70% ขึ้นไปเมื่อไหร่อาจจะถือว่าน่าผิดหวัง

5. % Exit

Exit Website

% Exit คือเปอร์เซนต์ของคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณในหน้าใดหน้าหนึ่งแล้วไม่คลิ๊กไปหน้าอื่นต่อ

อาจจะอ่านแล้วดูงง คุณอาจจะสงสัยว่ามันคล้ายกับ Bounce Rate รึเปล่า

จริงๆ แล้ว ค่า 2 ค่านี้นั้นไม่เหมือนกัน Bounce Rate นั้นจะเป็นตัวที่คิดโดยอิงจากตัว User แต่ว่า % Exit นั้นจะคิดโดยอิงจาก Page แต่ละ Page เป็นหลัก

ตัวอย่างเช่น นาย ก เข้ามายัง Page A แล้วคลิ๊กไปยัง Page B ต่อ, นาย ข เข้ามายัง Page B แล้วคลิ๊กไปยัง Page A ต่อ แล้วปิดเว็บไซต์ไป, นาย ค เข้ามายัง Page C แล้วคลิ๊กไปยัง Page A จากนั้นก็คลิ๊กไปยัง Page B และสุดท้าย นาย ง เข้ามายัง Page A แล้วปิดเว็บไซต์ไป

จากตัวอย่างนี้ นาย ก และ นาย ค นั้นไม่ได้ Exit จาก Page A แต่ นาย ข และ นาย ง นั้นเข้า Page A เป็นหน้าสุดท้ายก่อนที่จะปิดเว็บไซต์ไป

เพราะฉะนั้น % Exit สำหรับ Page A นั้นก็จะเป็น 50%

Shifu แนะนำ
ค่า % Exit ไม่จำเป็นต้องยิ่งน้อยยิ่งดีเหมือน Bounce Rate เพราะว่า Page แต่ละหน้านั้นถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกัน บางหน้านั้นก็อาจจะมี % Exit ที่สูงอยู่แล้วก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น คุณควรที่จะพิจารณาหน้าต่อหน้า มากกว่าพิจารณาแบบเหมารวมนะครับ

% Exit ตัวอย่าง

ลองดูตัวอย่างจากรูปภาพทางด้านบนจาก Digital Insights World เรามาลองพิจารณาขั้นตอนเวลาลูกค้าจะกรอกฟอร์มติดต่อกันดู

เริ่มจาก Form Received ทางด้านขวาสุด (อาจจะเป็นหน้าขอบคุณที่ user กรอกฟอร์มเข้ามาก็เป็นเป็นได้) โดยปกติแล้ว % Exit ของหน้านี้จะสูงมากๆ อยู่แล้ว เพราะมันเป็นหน้าที่เอาไว้ใช้จบขั้นตอนในการกรอกฟอร์ม และไม่ได้เชื้อเชิญให้คนทำอะไรต่อ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเห็น % Exit ของหน้านี้ขึ้นไปสูงถึง 80%-90% คุณก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลอะไร

แต่ถ้าคุณเห็น % Exit พุ่งขึ้นสูงมากในหน้า Submit Web Form (อาจจะเป็นหน้าที่มีฟอร์มให้ลูกค้ากรอก) คุณอาจจะกำลังเจอปัญหาอะไรบางอย่างก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนของคุณไม่น่าดึงดูดใจพอ, ฟอร์มนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดึงดูดสายตา หรือคุณขอข้อมูลมากเกินไป ซึ่งในหน้านี้ คุณอาจจะต้องพิจารณาปรับแก้ฟอร์มของคุณ

6. Average Session Duration

Shifu แนะนำ
ก่อนที่จะอ่านหัวข้อนี้ ผมขออธิบายวิธีการคำนวณเวลาของ Google Analytics มาอธิบายให้คุณได้อ่านก่อน ไม่อย่างนั้นคุณจะต้องงงแน่ๆ

โดยปกติแล้ว Google Analytics นั้นคิดช่วงระยะเวลาจากการคลิ๊กจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่ง เช่น ถ้า นาย ก คลิ๊กเข้าไปที่ Page A ตอน 9.00 น. จากนั้นก็คลิ๊กไปยัง Page B ตอน 9.07 น. ช่วงระยะเวลาที่อยู่ใน Page A ของ นาย ก จะเป็น เวลาที่ นาย ก คลิ๊กไปยัง Page B ลบกับ เวลาที่คลิ๊กเข้ามายัง Page A หรือก็คือ 9.07 – 9.00 = 7 นาที นั่นเอง

แล้วถ้าหลังจากที่ นาย ก คลิ๊กไปยัง Page B (ตอน 9.07 น.) เขากดปิดเว็บไซต์ไปโดยที่ไม่ได้คลิ๊กไปหน้าไหนๆ เลยล่ะ? คำตอบก็คือ Google Analytics นั้นจะไม่สามารถวัดได้ว่า นาย ก ใช้เวลาใน Page B ไปเท่าไหร่

คุณต้องทำความเข้าใจตรงส่วนนี้ให้ดี เพราะว่ามันมีผลต่อสิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไป

วิธีเช็ค Average Session Duration

Average Session Duration นั้นแปลว่าช่วงระยะเวลาเฉลี่ยของเซสชั่น ซึ่งคิดจาก Session Duration / Sessions หรือแปลว่าช่วงระยะเวลาของ Session หารด้วยจำนวน Session

อธิบายแบบนี้แล้วอาจจะงง มาดูตัวอย่างกันดีกว่า

เช่นถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณแล้วใช้เวลาอยู่บน Page A ตั้งแต่ 13.00 ถึง 13.05 (5 นาที) จากนั้นเข้าไป Page B ตั้งแต่ 13.05 ถึง 13.07 (2 นาที) แล้วจากนั้นเขาไปกินกาแฟ จากนั้นกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 14.00 แล้วก็ปิดไปตอน 14.20

ระยะเวลาของ Session ทั้งหมดจะเป็น 5+2 = 7 นาที และ จำนวน Session จะเป็น 2 (ช่วงระยะเวลา 13.00 – 13.07 นับเป็น 1 session และตอน 14.00 – 14.20 นับเป็นอีกหนึ่ง session) และค่า Average Session Duration จะเป็น 3.5 นาที

จะสังเกตเห็นได้ว่า Google ไม่เอาระยะเวลาก่อนที่ นาย ก จะปิดเว็บไซต์ (ช่วงระหว่าง 14.00 – 14.20) มาคิดรวมในระยะเวลาของ Session สาเหตุเพราะว่า Google ไม่สามารถเช็คได้ว่าเขาปิดเว็บไซต์ไปตอน 14.20 นั่นเอง

เพราะฉะนั้นตัวเลข Average Session Duration จึงเป็นตัวเลขที่เอาไว้สำหรับดูคร่าวๆ เท่านั้น มันไม่ควรเอามาใช้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญครับ

ป.ล. ผมยังไม่เห็นประโยชน์จากตัวเลขของ Average Session Duration เลย และผมก็ยังไม่รู้ด้วยว่า Google จะโชว์ค่านี้ทำไม ถ้าคุณรู้ว่ามันมีประโยชน์ยังไง ก็เขียนมาบอกกันในคอมเมนต์ด้วยนะ : )

7. Average Time on Page

Average Time on Page คืออะไร

Average Time on Page หรือแปลว่าช่วงระยะเวลาเฉลี่ยต่อหน้า ซึ่งจะคิดจาก Time on Page / (Pageviews – Exits) หรือช่วงระยะเวลาในหน้านั้นๆ หารด้วยจำนวนยอดผู้เข้าชมที่ลบด้วยจำนวน Exit

เขียนแบบนี้งงแน่ๆ เลย ไม่ต้องห่วงนะ เดี๋ยวจะค่อยๆ อธิบายให้ได้อ่านกัน 🙂

เช่น ถ้า Page A มีจำนวนยอดผู้เข้าชมอยู่ 55 คน และมี Time on Page รวมอยู่ที่ 250 นาที แต่มีคนที่อ่าน Page A แล้วปิดทันที (โดยที่ไม่ได้เข้าไปหน้าอื่นต่อ) อยู่ 5 คน Average Time on Page จะเป็น 250/(55-5) หรือ 5 นาที

อย่างที่บอกไปในข้อที่แล้ว (ข้อ 6) สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะว่า Google ไม่สามารถเช็คเวลาที่ user ปิดเว็บไซต์ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนเข้ามายัง Page A แล้วปิดเว็บไซต์ทันทีหลังจากอ่าน Page A จบ Time on Page ของคนนั้นๆ ที่ Google แสดงค่าก็จะมีค่าเป็น 0

ซึ่งมันมีปัญหาอยู่ที่ว่า Google ดันนับจำนวนของคนที่มีค่า Time on Page เป็น 0 ไปด้วย และถ้าเอาตัวเลข Pageviews ที่นับได้ไปคำนวณด้วยมันจะให้ผลออกมาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น Google ก็เลยต้องลบค่า Exit (จำนวนที่คนอ่าน Page หน้าใดหน้าหนึ่งจบ แล้วปิดเว็บไซต์ทันที) ออก เพื่อที่ว่าผลที่ได้จะตรงมากยิ่งขึ้น

Shifu แนะนำ
ถ้า Page นั้นๆ ของคุณมี Bounce Rate ต่ำ ตัวเลข Average Time on Page เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่บอกได้ว่าคน Engage กับ Page นั้นๆ ของคุณรึเปล่า

แต่ถ้า Page นั้นๆ ของคุณมี Bounce Rate สูง คุณไม่ควรจะเอาค่า Average Time on Page มาเป็นตัวชี้วัดว่าคนใช้เวลากับ Page นั้นๆ เยอะรึเปล่า เพราะว่าตัวเลขนั้นจะไม่รวมช่วงเวลาของคนที่อ่าน Page นั้นๆ ของคุณ แล้วปิดเว็บไซต์ทันทีโดยไม่ได้เปิดไปหน้าอื่น

สรุป

และนี่คือ 7 คำศัพท์พื้นฐานน่ารู้ของ Google Analytics นะครับ

ผมแนะนำให้คุณลองไปอ่านวิธีการทำ WordPress ให้โหลดเร็ว และเรื่องเกี่ยวกับ On-page  และ Off-page SEO เพิ่มเติมดูนะครับ เพราะเรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อค่าต่างๆ ใน Google Analytics เหมือนกัน

จริงๆ แล้ว Google Analytics นั้นยังมีคำศัพท์ และเรื่องราวน่ารู้อีกมากมาย บางทีก็ดูเยอะเกินไปจนอาจจะทำให้คนที่ไม่เก่งเรื่องตัวเลขไม่อยากจะเข้าใกล้ แต่ถ้าคุณอยากทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับเพราะมันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” เลยล่ะ

ค่อยๆ เรียนรู้ ศึกษา และลงมือทำไปด้วยกันนะครับ ถ้าเราไม่หยุด เราจะต้องเก่งขึ้นแน่ๆ

แล้วมาเก่งขึ้นไปพร้อมๆ กันนะครับ : )

New call-to-action

ตาคุณแล้ว

มีตรงไหนในบทความนี้ที่ผมอธิบายตกหล่นไป หรือคุณมีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Google Analytics อีกบ้างรึเปล่า? มาคุยกันต่อในคอมเมนต์ได้เลย