ในช่วงที่ผ่านมา DeepSeek กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงเทคโนโลยี (Tech) และบทสนทนาในวงกว้างจากหลายมุมมอง จากประสบการณ์ของผมที่ได้เปิดสำนักงาน Yell Shanghai และมีโอกาสคลุกคลีกับเทคโนโลยีจีนในด้านการตลาดและโฆษณามาพอสมควร ผมอยากแชร์เรื่องราวและแนวคิดของจีน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า Tech Ecosystem ของแดนมังกรมีวิธีคิดที่แตกต่างจากโลกภายนอกอย่างไร
สะท้อนถึงการเติบโตของวงการ Tech ในจีน เป็นอย่างดี
ที่มา: National Bureau of Statistics of China
เพราะสิ่งที่เราเห็นจาก DeepSeek อาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏให้เราเห็นเท่านั้น เบื้องลึกที่นอกเหนือจากการมาของ AI จีน ซึ่งเพิ่งเขย่าโลกจนทำให้หุ้นสหรัฐร่วงระนาวแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ รากฐานของวงการ Tech ในจีน ที่เอื้อต่อการแข่งขันต่างหาก
ลองไปดู 7 ประเด็นน่าสนใจ ที่ทำให้ MarTech ในจีน แข็งแกร่งจนนำลิ่วไปไกลถึง 7 ก้าวกันว่ามีอะไรบ้าง
1. Firewall และ Internet Censorship
“กำแพงเมืองจีนในโลกเทคโนโลยี” แม้ว่าจีนจะมีนโยบายระดับโลกเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แต่ในทางปฏิบัติ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากต่างประเทศจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดของจีน กำแพงไฟร์วอลล์ของจีนจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์และแพลตฟอร์มจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น Google, Facebook, X, YouTube และแน่นอนว่า ChatGPT ไม่สามารถใช้งานในจีนและฮ่องกงได้ ดังนั้น ก้าวแรกของวงการ Tech ในจีน จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ที่ถูกกำกับให้เป็นไปตามทิศทางของประเทศ มากกว่าการสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพในการใช้งาน
2. กฎหมายการเก็บข้อมูลในประเทศและความเป็นส่วนตัว
กฎหมายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และ กฎหมายความมั่นคงด้านข้อมูล ของจีน กำหนดให้บริษัทต้องจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศและต้องผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PIPL) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ GDPR ของสหภาพยุโรป กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจัดเก็บ รวบรวม และประมวลผลข้อมูลผู้ใช้ กฎหมายเหล่านี้ทำให้การปฏิบัติตามข้อบังคับด้านข้อมูลของจีนเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับบริษัทต่างชาติ
3. อุปสรรคด้านกฎระเบียบ
บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบที่ซับซ้อน รวมถึงการขออนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือการบังคับใช้กฎหมายของจีนที่ถูกอัปเดตอย่างเคร่งครัดและฉับพลัน อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติ ซึ่งบางครั้งต้องปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ
การเข้าสู่ตลาดจีนมักต้องผ่านกระบวนการขอใบอนุญาตที่ซับซ้อนและใช้เวลานานจากหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอต่างชาติ จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจาก National Radio and Television Administration (NRTA) ก่อนให้บริการในจีน แม้แต่ แอปพลิเคชัน หรือ เกมมือถือ ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ในจีนได้
4. การแข่งขันจากบริษัทท้องถิ่นในจีน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสนับสนุนอุตสาหกรรม Tech จากรัฐบาลจีนมีส่วนช่วยอย่างมากในการแข่งขัน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เช่น Tencent, Alibaba และ Baidu ล้วนเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในตลาด ด้วยความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและออกแบบบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวจีนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ พวกเขายังมี ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) จากความเข้าใจ Local Insight ในหลายด้าน ซึ่งส่งผลให้ บริษัทเทคโนโลยีจากต่างชาติ ต้องเผชิญกับความท้าทายและการแข่งขันที่ยากขึ้นอีกเท่าตัว
5. การตรวจสอบจากรัฐบาลและความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ
เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ อย่างในกรณีของสหรัฐฯ ที่ตั้งข้อกังขาต่อแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง TikTok แสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์มจากต่างชาติที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีนย่อมถูกจับตามองอย่างแน่นอน แม้ว่าจีนจะมีจุดดึงดูดที่น่าสนใจจากจำนวนประชากรและผู้ใช้งานแพลตฟอร์มมหาศาล แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในหลายมิติเมื่อต้องการลงทุนในประเทศจีน
6. อุปสรรคทางวัฒนธรรมและภาษา
แพลตฟอร์มที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นได้ มักประสบปัญหาในการดึงดูดผู้ใช้งาน โดยเฉพาะด้าน UX และ UI หากสังเกตดีๆ แพลตฟอร์มในจีน มักถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้าย Super App ที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน สำหรับผู้ใช้ต่างชาติอาจมองว่าดูลายตา แต่สำหรับผู้ใช้ชาวจีนแล้ว นี่คือสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี ดังนั้น User Interface แบบตะวันตกจึงอาจไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ในจีน อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญคือ การออกแบบที่ต้องคำนึงถึงความเฉพาะตัวของภาษา เนื่องจากโครงสร้างประโยค วรรคตอน และลักษณะตัวอักษรภาษาจีนแตกต่างจากภาษาอื่น ส่งผลให้การจัดวางข้อความให้เหมาะสมกับ Interface ของแพลตฟอร์ม เป็นเรื่องที่ท้าทาย
7. ข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของ (Ownership Restrictions)
ในบางอุตสาหกรรมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือครองหุ้น เช่น ธุรกิจคลาวด์ (Cloud) บริษัทต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 50% และหากเป็น แพลตฟอร์มออนไลน์ (Online Platform) ไม่เพียงแค่ถือหุ้นแบบ 100% ไม่ได้ แต่ยังจำเป็นต้อง ร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทท้องถิ่น และต้องปฏิบัติตามกฎการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด
ตัวอย่างของบริษัท Tech ต่างชาติในจีน ได้แก่
- Apple iCloud – Apple ต้องร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น Guizhou-Cloud Big Data (GCBD) เพื่อให้บริการ iCloud ในจีน โดย Apple ถือหุ้นเพียงบางส่วน ในขณะที่ GCBD เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานหลักทั้งหมด
- Microsoft Azure – ต้องร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น 21Vianet เพื่อให้บริการคลาวด์ในจีน โดย Microsoft เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับ 21Vianet และควบคุมการดำเนินงาน
- LinkedIn (เวอร์ชันจีน) – ดำเนินงานผ่าน Joint Venture กับบริษัทท้องถิ่น โดย LinkedIn ถือหุ้นเพียงบางส่วน และต้องปฏิบัติตามกฎการเซ็นเซอร์ของจีน
สรุป
การดำเนินงานในจีนทำให้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากต่างประเทศต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ต้องแข่งขันสูง และยังต้องรับมือกับปัจจัยด้านความอ่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าตลาดจีนจะเปิดโอกาสมากมาย แต่ข้อจำกัดที่เข้มงวดมักมีมากกว่าผลประโยชน์ ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่ง ต้องถอนตัวออกจากตลาด หรือ ดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัดของรัฐบาลจีน
ปัจจัยเหล่านี้แหล่ะครับ ที่ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนได้รับการปกป้อง ส่งผลให้ การเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดจากบริษัทเทคโนโลยีจีนเป็นเรื่องที่ยากมาก นอกจากนี้ ปัจจัยด้านชาตินิยม ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแพลตฟอร์มในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับบริษัทต่างชาติ
ท้ายที่สุด เราต่างรู้ดีว่า จีนเป็นประเทศที่มีความสามารถในการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม ดังคำกล่าวของชาวจีนที่สะท้อนถึงการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นจากคนรุ่นก่อน “青出于蓝而胜于蓝” (qīng chū yú lán ér shèng yú lán)
สำหรับ EP1 ผมขอปูพื้นฐานไว้เพียงเท่านี้ก่อน แล้วมาติดตามกันต่อกับเรื่องราวของ MarTech ในจีน ใน EP หน้า ครับ
ที่มา:
- https://bigdatachina.csis.org/unpacking-linkages-between-the-chinese-state-and-private-firms/
- https://learn.microsoft.com/en-us/azure/china/overview-operations
- https://thehackernews.com/2021/05/how-apple-gave-chinese-government.html
- https://nypost.com/2025/01/28/business/deepseek-app-stores-user-data-in-china-sparking-us-security-concerns-experts