ปัจจุบันแม้ว่าการติดต่อสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด อาจจะไม่ใช่อีเมลแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีเมลเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารเรื่องงานและสามารถใช้ปิดการขายได้อีกด้วย

จากข้อมูลของ Hubspot ปี 2566 เกี่ยวกับ อีเมล Open Rates By Industry ในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งรวมกลุ่มธุรกิจ Import and Export ไว้ด้วย มีอัตราการเปิดอ่าน อีเมล อยู่ที่ 38.49% แสดงให้เห็นว่า การทำ Email Marketing ยังได้ผลและสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติที่ทำธุรกิจส่งออกอยู่ และ อีเมล Address ของลูกค้าก็ยังเป็นสินทรัพย์ในเชิงข้อมูลที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการขายและการตลาดได้หลายรูปแบบได้อีกด้วย 

มิ้นท์จึงอยากจะชวนทุกคนให้หันมาให้ความสำคัญกับการทำอีเมลเพื่อการตลาดกันดู เพราะวิธีนี้จะช่วยเปิดโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจของเราไปสู่ตลาดระดับต่างประเทศได้อย่างที่มิ้นท์จะเขียนเล่าต่อไปนี้

นอกจากนี้ สำหรับใครที่กังวลเรื่องภาษา มิ้นท์แนะนำว่า อย่าให้การใช้ภาษามาเป็นปัญหาทำให้เราเสียโอกาสในการขาย …จากประสบการณ์ของมิ้นท์ถ้าภาษาเราอยู่ในระดับที่สื่อสารได้เข้าใจ ลูกค้าก็พร้อมที่จะเข้าใจและสื่อสารกับเราเพื่อต่อยอดธุรกิจอยู่ดีนะคะ

4 วิธีปิดการขายด้วยการทำ Email Marketing กับลูกค้าต่างชาติ

ในส่วนนี้เป็นส่วนประสบการณ์จริงที่มิ้นท์ได้ทำ Email Marketing กับลูกค้าต่างชาติและอยากแชร์กับทุกคน และเนื่องด้วยเนื้อหาส่วนนี้ค่อนข้างเยอะและลงรายละเอียด มิ้นท์จึงเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ

  1. การหาและจัดกลุ่ม Lead เพื่อทำการตลาด
  2. วิธีการทำ Email Marketing ให้ถูกใจคู่ค้า
  3. เทคนิคการ Email Marketing เพื่อนำไปสู่การปิดการขาย
  4. เจาะลึก 5 เทคนิคใช้อีเมลมัดใจลูกค้าจนปิดการขายได้จริง

1.การหา Lead และจัดกลุ่ม Lead ตามคุณภาพเพื่อทำการตลาดต่อ

Lead ที่ใช่อาจจะมาจากการไปออกบูธ จากคอนเนกชั่น จากการเจรจาธุรกิจ ลูกค้าติดต่อมาโดยตรง หรือจากการทำ Digital Marketing เพื่อหาลูกค้าจนได้ Lead 

ในส่วนของ Offline หลายคนน่าจะพอทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของการใช้ Digital Marketing มิ้นท์เขียนแชร์ไว้แล้วในกรณีศึกษา ทำ Inbound Marketing โดยธุรกิจ B2B Trading กับต่างชาติ ซึ่งเป็นการใช้ Inbound Marketing ผสานกับการใช้ Global B2B Platform อย่าง Alibaba ในการหา Lead ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Landing page ให้ติด Google หรือการทำ Lead Generation เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญที่ต้องรู้ คือ การจัดหมวดหมู่ของฐานข้อมูล โดยนอกเหนือจากการเก็บอย่างง่ายด้วย Exel file แล้ว มิ้นท์แนะนำการเก็บข้อมูลใน Mailchimp หรือ Active Campaign  ซึ่งการจัดกลุ่มก็จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะทำ Email Marketing ในอนาคต เช่น จัดกลุ่มภูมิศาสตร์ จัดกลุ่มตามความต้องการของกลุ่มสินค้า เป็นต้น

การจัดกลุ่ม Lead

อีกรูปแบบหนึ่งที่มิ้นท์มักจะใช้ในการจัดกลุ่ม คือจัดตามคุณภาพของ Lead เช่น

  • Normal Lead ที่เข้ามาเก็บข้อมูลข่าวสาร
  • Marketing Qualified Lead ที่ต้องทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง
  • Sales Qualified Lead ที่พร้อมซื้อขายกับเรา 

โดยคุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ 7 ขั้นตอนในการทำ Marketing Automation มีช่วงตอนหนึ่งที่คุณแบงค์จัดกลุ่มคนออกเป็น 8 ช่วง ซึ่งมิ้นท์ว่าอธิบายได้เข้าใจชัดเจนมากๆ เลยค่ะ

2. การทำ Email Marketing ให้ตรงใจลูกค้าจาก Insight ประสบการณ์จริง

จากประสบการณ์การทำ Email Marketing และการส่งอีเมลเพื่อคุยธุรกิจกับลูกค้าต่างชาติสายอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมาเป็นเวลากว่า 8 ปี มิ้นท์ค้นพบว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มมีการตอบสนองที่ต่างกันมากพอสมควร โดยจะขอยกตัวอย่างตัวอย่างกลุ่ม ประเทศในทวีปเอเชียนะคะ

  • กลุ่มนักธุรกิจชาวจีน  กลุ่มนี้ Email Marketing จะเห็นผลชัดเจนก็ต่อเมื่อเป็นภาษาจีน เพราะเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าส่งภาษาอังกฤษจะไม่เห็นผลนะคะ ถ้าเขามีบุคคลากรสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ เขาก็ยินดีเปิดอ่านอย่างต่อเนื่องยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าเซี่ยงไฮ้เจ้าหนึ่งของมิ้นท์ เคยพบกันสมัยออกบูธหลายปีมาแล้ว แต่พอมิ้นท์ไปเจอเข้าอีกครั้งที่งานแสดงสินค้าที่จีน เขาจำสินค้ามิ้นท์ได้แม้เห็นเพียงแค่ถุงที่มีโลโก้แบรนด์ตอนที่มิ้นท์เดินสำรวจในงานแสดงสินค้าแล้วผ่านบูธเขา และก็เล่าให้มิ้นท์ฟังว่า เขาติดตามอีเมลที่ส่งให้ตลอด รู้สึกคุ้นเคยกับเรา เพียงแต่สินค้าที่เรานำเสนอที่ผ่านๆ มา ยังไม่ใช่กลุ่มที่เขาสนใจอีกจุดสำคัญสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้คือ ต้องเร็ว ต้องไว ยิ่งคุณทำตรงจุดนี้ได้ดีเท่าไหร่ ยิ่งได้ใจลูกค้า และโอกาสปิดการขายจะสูงมาก แม้ว่าจะมีสินค้าใกล้เคียงที่เป็นแคนดิเดทในใจลูกค้าอยู่ก่อนแล้วก็ตามค่ะ
  • กลุ่มนักธุรกิจเอเชียเชื้อสายจีน จะคล้ายคลึงกับนักธุรกิจจีน แต่ไม่ต้องการความว่องไวขนาดนั้นค่ะ ยังเข้าใจว่าทุกอย่างมีขั้นตอนที่อาจลัดได้ยาก กลุ่มนี้มีอัตราการเปิดอีเมลอ่านอยู่ตลอดและต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ค่อยตอบกลับมากนัก ถ้าไม่มีการกระตุ้น หรือสนใจสินค้ามากจริงๆ กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มที่ชอบคุยงานผ่านทั้งแชทและอีเมลควบคู่กันไปค่ะ ทั้งนี้ กลุ่มนี้การทำ CRM ค่อนข้างสำคัญมากค่ะ เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการค้ามากๆ เลย
  • กลุ่มนักธุรกิจตะวันออกกลาง เป็นอีกกลุ่มที่ได้ผลมากสำหรับสายอาหารของมิ้นท์ อัตราการเปิดอ่านค่อนข้างสูง รวมถึงอัตราการตอบกลับอยู่ในเกณฑ์ที่พอใจเลยค่ะ เรียกว่า ถ้ามีการส่ง Newsletter ไปทุกครั้ง ต้องมีประเทศกลุ่มนี้ตอบกลับมาทุกรอบเลย แต่สิ่งสำคัญสำหรับกลุ่มนี้ก็ต้องการความเร็วเช่นกันค่ะ เพราะแม้จะส่งอีเมลคุยรายละเอียดกันอยู่แล้ว แต่กลุ่มนี้จะชอบโทรคุยมากกว่า ซึ่งมิ้นท์เคยปิดออเดอร์ได้ทางโทรศัพท์มาแล้วเช่นกัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสังเกต Insight ของแต่ละประเภท

เนื่องด้วยลูกค้าต่างประเทศแต่ละคนมีความต้องการที่ค่อนข้างแตกต่างและหลากหลาย ทำให้การทำ Marketing Automation อาจจะทำได้แค่ขั้นต้นๆ

ตัวอย่างเช่น Auto Reply เมื่อ SubscribeAuto reply email ตัวอย่างการทำ Email Marketing

หรือไม่ว่าจะเป็น ชุดอีเมลต้อนรับ 3 – 7 ฉบับ ในส่วนนี้จะแบ่งชุดอีเมลตามกลุ่มสินค้าที่สนใจ หรือจากช่องทางเว็บไซต์ที่ทำ Inbound Marketing แล้วลูกค้า Subscribe เว็บไซต์นั้นเข้ามาค่ะ 

Personalized email

อย่างไรก็ตาม หลังจากคัดกรอง Lead แล้ว มิ้นท์จะเน้นแบ่งกลุ่มลูกค้าตามคุณภาพของ Lead แล้วเลือก อีเมลที่ Personalize สำหรับแต่ละกลุ่ม แล้วส่งมากกว่าค่ะ

3.เทคนิคการ Email Marketing เพื่อนำไปสู่การปิดการขาย (Lead nurturing)

หลายคนอาจจะคิดว่าการเขียนอีเมลขายของให้ลูกค้าสนใจนั้นเป็นเรื่องยาก จริงๆ แล้ว ก็พอมีแนวทางในการเขียนให้น่าสนใจอยู่เหมือนกันค่ะ โดยโปรแกรมที่มิ้นท์ใช้ในปัจจุบัน จะมีทั้ง Mail Chimp และ Active Campaign ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น 

1) Newsletter เครื่องมือหลักในการทำ Lead Nurturing

  • Normal Lead ที่เข้ามาเพื่อรับข้อมูลข่าวสารเฉยๆ โดยปกติแล้ว มิ้นท์จะใช้ชุด อีเมล Lead Nurturing ให้เขารู้จักกับบริษัทและสินค้าของเรามากขึ้น เพื่อนำไปสู่การปรับเขาเข้ามาเป็น Marketing Lead ที่ต้องการทำการตลาดต่อไปค่ะเนื้อหาใน อีเมล จะไม่ได้เน้นขายของแต่อย่างได้ แต่จะเน้นเลี้ยงดูฟูมฟักความสัมพันธ์ ผ่านเรื่องราวที่เข้าใจง่าย เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ลูกค้า เสมือนกับการหยดน้ำลงบนหินทีละน้อย
  • Marketing Qualified Lead กลุ่มนี้ จากที่เราเลี้ยงดูฟูมฟักความสัมพันธ์มาพักใหญ่จนลูกค้ามีความไว้เนื้อเชื่อใจเราแล้ว จะเห็นว่าเรามีตัวตนและยินดีที่จะเปิดอ่าน Newsletter จากเรา อัตราการเปิดอ่านอีเมลในส่วนนี้ของมิ้นท์ก็เฉลี่ยประมาณ 50% เลยค่ะ

ตัวอย่าง Newsletter สนับสนุน ปิดการขาย

จะเห็นว่าเนื้อหาที่มิ้นท์เขียนต้องมีรูปที่สวยงาม รวมถึงข้อความต้องไม่ใช่การขาย แต่เหมือนการบอกเล่าเรื่องสินค้า ผ่านอีเมลของเรา เหมือนเราเขียนหาเพื่อนเพื่อเล่าเรื่อง ต่อเนื่องจากที่บอกว่าเธอรู้ไหมฉันเป็นใคร  กลายมาเป็นอัปเดตข่าวของฉันให้เธอฟัง

2) Lead Generation และ Call to action อาวุธสำคัญในการสร้างโอกาสการขาย พร้อมตัวอย่าง

หลายคนอาจจะมองว่า ส่ง Email Marketing ไป ต่อให้ลูกค้าเปิดอ่านเยอะ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้อะไรกลับมาอยู่ดี เราจึงต้องนำ Lead Generation และ Call to Action มาใช้ เพื่อชี้นำให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจหมายถึงการออเดอร์สินค้า

  • Lead Generation สำหรับกลุ่ม Sales Qualified Lead มิ้นท์ยังคงแนะนำเทคนิคยื่นหมูยื่นแมวอยู่นะคะ เพราะเป็นอะไรที่ใช้ได้ผลมาก โดยสิ่งที่มิ้นท์เลือกยื่นหมูยื่นแมวในการทำ Email Marketing ของมิ้นท์คือ Free Sample and Shipping ค่ะ 

Call to action สู่การ ปิดการขาย

  • Call to action แม้ว่าจะยื่นหมูยื่นแมวขนาดนั้นแล้ว แต่ถ้าไม่กระตุ้นในอีเมลฉบับนั้นเลย เพื่อให้ลูกค้า “ททท” หรือ “ทำทันที” เราอาจจะพลาดโอกาสในการส่งมอบให้ลูกค้า มิ้นท์จึงแนะนำว่าควรมีข้อความเช่น “Reply this Emai”l หรือ “use CODE on Website” อะไรประมาณนี้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกว่า ต้องทำแล้วจ้า ซึ่งอัตราการ Reply กลับในส่วนนี้ของมิ้นท์ค่อยๆ สูงขึ้นทีละน้อย จากแต่ก่อนที่แทบไม่มีใครตอบกลับ ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 2% แล้วค่ะ

3) Private อีเมล คือหัวใจที่นำไปสู่การปิดการขายพร้อมตัวอย่าง 

สุดท้ายแล้ว อย่างไรลูกค้าก็ต้องการอีเมลที่ตอบแบบตัวต่อตัว ส่งหาเฉพาะเขาเท่านั้น เพราะฉะนั้นการทำ Automation อาจจะได้เพียงบางส่วน และเราต้องกลับมาโฟกัสที่ความต้องการของลูกค้าจริงๆ แล้วหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การปิดการขาย โดยความสำคัญจะอยู่ที่ ‘ความใส่ใจความต้องการของลูกค้า’  ซึ่งการใช้โปรแกรม CRM ช่วยได้มากในส่วนนี้ 

มิ้นท์ขอแนะนำตัวฟรีสำหรับผู้เริ่มต้น คือ CRM ของ HubSpot ในโปรแกรมจะมี Sale pipeline ให้เราทำ CRM ว่าลูกค้าแต่ละเจ้าอยู่ใน stage ไหน สามารถบันทึก Note คุยกันที่ผ่านมาได้ ถ้าเชื่อมต่อกับอีเมล 

Deal pipeline - Pipeline ปิดการขาย ของ HubSpot

4.เจาะลึก 5 ปิดการขายด้วยอีเมลจนนำไปสู่รายรับที่เกิดขึ้นจริง

แม้จะใกล้จวนเจียนการปิดการขายแล้ว แต่หลายครั้งที่เราพลาด มิ้นท์เลยอยากจะมาแนะนำ วิธีปิดการขายลูกค้าแต่ละประเภทเพิ่มเติมด้วยค่ะ

Shifu แนะนำ

ปิดการขายด้วยอีเมล VS ปิดการขายด้วยการแชท?

ถ้าหากถามว่า ปิดการขายด้วยเครื่องมือไหน ควรให้ความสำคัญมากกว่ากัน มิ้นท์มองว่าควรให้ความสำคัญพอๆ กันนะคะ เพราะเครื่องมือทั้งสองล้วนจำเป็นทั้งสิ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้คู่กัน แชทใช้ตอบความต้องการเพื่อลดระยะเวลา แต่อีเมลใช้เพื่อสรุปข้อมูลสำคัญๆ เพื่อความเป็นทางการและลายลักษณ์อักษร

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมลูกค้าด้วยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าอินเดียชอบโทรปิดการขายได้ทางโทรศัพท์ ลูกค้าจีนปิดการขายได้ทางวีแชท ในขณะที่ลูกค้ายุโรปปิดการขายทางอีเมล

1) ลูกค้าประเภทแรก ทำไมไม่ปิดการขายฉันสักที

ปัญหา ลูกค้าอยากซื้อแล้วแต่เราไม่ขาย

ในเมื่อลูกค้ามีความต้องการแบบแน่นอนอยู่แล้ว คงไม่ต้องเวิ่นเว้อ เช่น การถามว่าจะสั่งเมื่อไหร่ แต่จงถามว่าจะสั่งอะไร และแจ้งเงื่อนไขการชำระเงินของเราไปเลย เพื่อให้ลูกค้าไม่ลังเลและดึงระยะเวลาออกไป รวมถึงให้มัดจำมาเลยจะยิ่งดี เพื่อความมั่นใจว่าคำสั่งซื้อนี้ไม่หลุดแน่นอน

2) ลูกค้าประเภทที่สอง ฉันมีปัญหา ฉันเลยไม่ซื้อ

ปัญหา ลูกค้าติดปัญหาบางอย่าง ไม่ยอมสั่งซื้อสักที

สิ่งที่เราต้องทำ คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้ารู้สึกว่า ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว เช่น การที่มีโปรโมชั่นแบบกำหนดระยะเวลา หรือการให้สินค้าตัวอย่างเป็นการสนับสนุนทางการตลาด แบบที่มากพอจนยากจะปฏิเสธ เร่งด้วยเวลาและความคุ้มค่า ให้ลูกค้ารีบตัดสินใจซื้ออย่างโดยด่วน

3) ลูกค้าประเภทที่สาม ฉันไม่รีบ ฉันรอได้

ปัญหา สนใจนะ แต่ไม่พร้อมจะซื้อตอนนี้

ลูกค้าประเภทนี้ต้องรับมือด้วยการเร่งการตัดสินใจของลูกค้า  ด้วยการยื่นข้อเสนอว่าสามารถซื้อในจำนวนน้อยๆ เพื่อไปทดลองตลาดได้ ให้สินค้าเราได้ส่งออกไปก่อน เพราะหากเราทำให้เค้ายอมจ่ายเงินจำนวนน้อยให้เราได้หนึ่งครั้ง โอกาสที่จะมีครั้งที่สองก็ง่ายขึ้น

4) ลูกค้าประเภทที่สี่  ฉันชอบเป็นคนพิเศษ

ปัญหา ราคาไม่ได้ ขอสิทธิพิเศษได้ไหม

ต้องบอกเลยว่ากรณีนี้ค่อนข้างยาก วิธีการคือต้องเตรียมตัวมาดีมากๆ ต้องมีข้อมูล และชี้ให้เค้าเห็นคุณค่าของสินค้าเรา อธิบายให้เห็นว่าลูกค้าจะมียอดขายและกำไรจากสินค้าของเราได้อย่างไร ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าของเราพิเศษจริงๆ ที่สำคัญที่ไม่ควรลืม คือของๆ เราก็ต้องพิเศษจริงๆ นะคะ

5) ลูกค้าประเภทที่ห้า ฉันสายตำหนิ

ปัญหา พูดแต่ข้อเสียของเรา แต่ไม่ซื้อสักที

หากลูกค้าพูดถึงปัญหาของสินค้าเรามากๆ เช่น คู่แข่งน้ำหนักมากกว่าเรา ราคาถูกกว่า ฯลฯ ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ชี้หรือเคลมว่าของเราดีกว่าอย่างไร น่าซื้อกว่าอย่างไร เช่น สินค้าไม่ได้ขายตลาดเดียวกัน คุณภาพคนละแบบ กลุ่มเป้าหมายต่างกัน  ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ ‘ขาย' สินค้าของเราอีกรอบเลยนะคะ

ความสำเร็จจากการปิดการขาย Lead ด้วย Email Marketing

การที่จะทำให้ลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักเราเลย ไว้เนื้อเชื่อใจผ่านการทำ Email Marketing ไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนจะมาถึงขั้นตอนนี้ ก็มีหลายส่วนที่ประกอบร้อยเรียงกันจนทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ 

มิ้นท์ขอยกตัวอย่างเคสลูกค้าเกาหลีรายหนึ่งที่อยู่ในขั้นตอนก่อนปิดการขาย ลูกค้ารายนี้อยู่ในฐานรายชื่อมานานกว่า 5 ปี (มาจากการออกงานแสดงสินค้า) แต่เพิ่งตอบกลับอีเมลเป็นครั้งแรก ยอมรับว่าแต่ก่อนมิ้นท์ไม่มีความรู้เรื่องการทำ Email Marketing อย่างทุกวันนี้ แต่พอรู้แล้วเปลี่ยนวิธีการ ด้วยการใช้ Call to action ให้ Reply อีเมล จนล่าสุดลูกค้าตอบกลับ และมีการตอบโต้กันหลายอีเมล  รวมถึงขอตัวอย่าง สินค้า เพื่อพิจารณาเพื่อสั่งซื้อในลำดับถัดไป
ตัวอย่างอีเมลที่ลูกค้าติดต่อกลับอีกหนึ่งตัวอย่างที่มิ้นท์ภูมิใจคงจะไม่พ้นลูกค้าอินเดีย รายนี้มีโอกาสได้เข้าเว็บไซต์เราก่อนมางานแสดงสินค้า และแวะมาที่งานแสดงสินค้าเพียงแค่ดูบูธและหยิบโบว์ชัวร์แลกนามบัตรเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้คุยกันนาน 

แต่เนื่องด้วยมีการส่ง Newsletter ไปตลอดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าจดจำเราได้ ตัดสินใจตอบกลับ อีเมล และขอ Whatsapp เพื่อนัดหมายมาเยี่ยมชมโรงงาน 

จะเห็นได้ว่าลูกค้ารายนี้ผ่านหลายขั้นตอนของการทำ Digital Marketing วิถี Inbound จนมีโอกาสได้เจอกันในโลก Offline ที่สำคัญหลังจากนั้น 1 เดือน มิ้นท์ก็สามารถปิดการขายได้ โดยลูกค้าโทรศัพท์มาสั่งออเดอร์หลายแสนเลยค่ะ

สรุป

จะหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจการทำ Email Marketing มากยิ่งขึ้น และสามารถวางแผนลงมือทำได้อย่างมีกลยุทธ์มากขึ้นนะคะ

สุดท้ายที่มิ้นท์อยากจะฝาก สำหรับการทำ Email Marketing กับลูกค้าต่างประเทศก็คือ “Fast but Flow, Slow but sure” ลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วต้องการให้ตอบสนองอย่างรวดเร็ว แต่ก็อย่าลืมว่า ในบางเรื่องช้าแต่ข้อมูลแน่นอน ก็จะสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้เราได้มากกว่านะคะ

ตาคุณแล้ว

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การทำ Email Marketing กับลูกค้าต่างประเทศดูเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจขึ้นไหมคะ 

ลูกค้าต่างชาติที่ทำธุรกิจด้านนี้ให้ความสำคัญกับการเปิดอีเมลอ่านอยู่แล้ว เพียงแต่คุณจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับเขาได้อย่างไร จึงจะทำให้เขากล้าที่จะสั่งซื้อสินค้ากับคุณด้วยเงินจำนวนมาก แม้อาจจะไม่เคยเจอหน้ากันสักครั้งเดียว ใครทดลองทำแล้ว มาแชร์ผลลัพธ์กันได้นะคะ