ถ้าบทความของคุณดี คนก็จะมาอ่านบทความของคุณเยอะ… นั่นก็จะทำให้คุณเปลืองค่า Hosting

ถ้าบทความของคุณดี คนก็จะมาพูดคุยกับคุณมากมาย… นั่นก็จะทำให้คุณต้องเสียเวลาไปตอบ

ถ้าบทความของคุณดี คนก็จะอยากซื้อของที่คุณขาย… นั่นก็จะทำให้คุณต้องเสียเวลาไปส่งของ และคอยบริการลูกค้า

ทั้งเปลืองเงิน เสียเวลา และเสียสุขภาพจิต

เบื่อรึยังกับการทำบทความดีๆ?

ถ้าเบื่อแล้ว วันนี้ผมมีวิธีเขียนบทความบนโลกออนไลน์แบบไล่คนอ่านไปไกลๆ มานำเสนอครับ รับรองว่าถ้าคุณอ่านบทความนี้จบ แล้วทำตามทั้ง 7 วิธี คนจะหนีหาย ไม่มากวนใจคุณอีกเลย

แต่ถ้าคุณไม่เชื่อผม กลับทำตรงกับข้ามทั้ง 7 วิธีนี้ คุณอาจจะต้องเสียเงิน และเสียเวลาเพื่อรองรับคนอ่าน และลูกค้าที่เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะว่าจะเลือกแบบไหน ทางเลือกเป็นของคุณ : )

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณอยากเรียนรู้เรื่องการเขียนบนโลกดิจิทัลเพิ่มเติม ผมแนะนำให้คุณไปดูคอร์สเรียนสายคอนเทนต์ ของ Content Shifu Academy ครับ : )

7 วิธีการเขียนบทความออนไลน์แบบไล่คนอ่าน

1. ตั้งชื่อบทความห่วยๆ

David Ogilvy เคยกล่าวไว้ว่า “On the average, five times as many people read the headline as read the body copy. When you have written your headline, you have spent eighty cents out of your dollar.”

หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “ถ้าหัวข้อไม่ใช่ ไม่ว่าใครก็ไม่คลิก” เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่อยากให้คนเปิดบทความของคุณอ่าน คุณต้องตั้งชื่อบทความห่วยๆ ครับ

ถ้าชื่อบทความของคุณมันแข็งทื่อ น่าเบื่อ และเข้าใจยาก คนก็จะไม่อยากกดเข้าไปอ่านเองโดยอัตโนมัติ

ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าวิธีการตั้งชื่อบทความห่วยๆ ทำยังไง ผมแนะนำให้ไปอ่านบทความ “ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! 7 วิธีตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน” ที่ผมเคยเขียนไว้ แล้วทำตรงข้ามให้หมดครับ

2. ใช้ภาษาวิบัติ

slang-phrases-in-thai

Screenshot ด้านบนเป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาวิบัติที่ยอดเยี่ยมมากๆ

ทำไมภาษาวิบัติถึงทำให้คนอ่านไม่อยากอ่าน? สาเหตุก็เป็นเพราะการอ่านภาษาวิบัตินั้นเป็นการอ่านที่ต้องแปลความหมายอีกรอบ ยิ่งถ้ามีภาษาวิบัติติดๆ กันเยอะๆ ก็จะยิ่งแปลความหมายยาก

เอ้อ อย่าสับสนระหว่างภาษาวิบัติ กับภาษาพูดล่ะ มันมีเส้นแบ่งบางๆ กั้นอยู่

ภาษาพูดเช่นพวกคำว่ายังไง, ไม่อย่างงั้น หรือกินไรยัง เป็นภาษาที่ทำให้คนอ่านรู้สึกดี และรู้สึกใกล้ชิดกับคนเขียนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากไล่คนอ่านไปไกลๆ การเขียนด้วยภาษาพูดแบบเป็นกันเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าจะเขียนให้วิบัติแล้วก็เอาให้มันวิบัติสุดๆ ไปเลย

เข้าจายม๊ายเตง?

3. เขียนให้เหมือน Textbook

จากสมการ 1 จะเห็นได้ว่าค่าความสัมพันธ์ระหว่าง x และ y แปรผกผันซึ่งกัน และกัน และถ้าตัวแปร z ยกกำลังสองนั้นถูกเพิ่มเข้าไปในสมการด้วย จะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นมีค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์เป็น 0.5 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

อ่านแล้วง่วงไหมครับ?

ผมเชื่อว่าแทบจะไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่อ่าน Textbook แล้วไม่เคยหลับคาหนังสือ เพราะว่าสิ่งที่ Textbook เน้นนั้นคือการให้ความรู้ โดยที่ไม่สนใจเรื่องความสนุกสนานสักเท่าไหร่ นอกจากนั้นแล้วเนื้อหาบน Textbook นั้นจะไม่ค่อยใช้คำว่าคุณ/เธอ/เรา/ผม ซึ่งคำเหล่านี้จะทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนว่าคนเขียนกำลังเล่าเรื่องราวให้ฟัง

คนที่อ่านบทความบนโลกออนไลน์นั้นมีสิ่งเร้าที่เบี่ยงเบนความสนใจค่อนข้างเยอะ ยิ่งคุณเขียนบทความได้ใกล้เคียงกับ Textbook มากเท่าไหร่ โอกาสที่คนจะหลับ (หรือเปลี่ยนไปอ่านอย่างอื่นแทน) ยิ่งมีมากเท่านั้น

Shifu แนะนำ

webbastard-understand-basic-seo

ตัวอย่างที่แย่ๆ ที่ทำตรงข้ามกับ Textbook หมดเลยคือบทความของ Webbastard ที่เขียนเรื่องเชิงเทคนิคอย่าง SEO เป็นภาษาพูดให้น่าติดตาม ซึ่งการเขียนแบบนี้นั้นจะทำให้คนชอบ คนไลก์ และคนแชร์

ลองเข้าไปอ่านดูได้ครับ ผมคิดว่าเจ้าของเว็บไซต์นั้นเปลืองค่า Hosting กับเปลืองเวลาในการพูดคุยกับคนที่อ่านบทความนี้ไปไม่น้อยเลยล่ะ

 
Digital Content Writer

4. เขียนโดยเว้นบรรทัดน้อยๆ

อย่างที่บอกไปในหัวข้อที่แล้วว่าคนที่อ่านบทความบนโลกออนไลน์นั้นมีความต้านทานต่อสิ่งเร้าค่อนข้างต่ำ การเขียนโดยไม่เว้นบรรทัด หรือเว้นบรรทัดน้อยๆ นั้นจะทำให้ข้อความติดกันเป็นพืด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาบทความที่เปิดผ่านโทรศัพท์มือถือ) ยิ่งเป็นภาษาไทยที่ไม่ค่อยมีการเว้นวรรคด้วยแล้วละก็ จะทำให้มันยิ่งติดกันเข้าไปใหญ่ ซึ่งการเขียนแบบนี้นั้นจะทำให้คนอ่านรู้สึกตาลาย แล้วก็จะไม่อยากอ่านไปเอง ผมแนะนำว่าใน 1 พารากราฟนั้น ให้เขียนติดๆ กันอย่างน้อย ให้เกิน 5 บรรทัด (เมื่อเปิดผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ค) และนอกจากนั้นแล้ว ใน 1 พารากราฟนั้น คุณควรจะพูดถึงหลายๆ เรื่อง หลายๆ หัวข้อ พร้อมๆ กัน ผมรับรองเลยว่าคนจะตาลายจนไม่อยากอ่านต่ออย่างแน่นอน (พารากราฟนี้มีทั้งหมด 7 บรรทัด เป็นไงบ้างครับ? เริ่มตาลายแล้วรึเปล่า?)

Shifu แนะนำ
neil-patel-short-paragraph

ตัวอย่างที่เว้นบรรทัดซะจนน่าอ่านจนเกินไปที่ผมอยากจะยกมานั้นเป็นของป๋า Neil Patel ซึ่งถ้าคุณลองเข้าไปอ่านบทความของเขา แล้วสังเกตดูคุณจะเห็นว่า เขาเว้นบรรทัดบ่อยมากๆ ซึ่งถ้าเปิดผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊คจะเห็นว่าพารากราฟนึงของเขานั้นจะมีไม่เกิน 3 บรรทัด

และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บล็อกของป๋าแกมีคนเข้าเป็นแสนๆ ต่อเดือน (เปลืองค่า Hosting มั้ยล่ะ?) และยังขายคอร์สออนไลน์ได้เป็นสิบๆ ล้านบาทต่อเดือน (ลูกค้าเยอะเกินไป จะดูแลไหวมั้ยล่ะ?)

5. มีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อ

เคยอ่านบทความยาวๆ เป็นสิบๆ บรรทัด แต่พออ่านจบแล้ว ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยบ้างไหมครับ?

มา มา ถ้าไม่เคย เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างให้ได้อ่านให้ดูว่าบทความแบบน้ำๆ นั้นเป็นยังไง

ผมขอสมมุติว่าผมขายเบ็ดตกปลา และผมอยากจะเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง “ตกปลาที่ไหนดี ตกปลาตัวไหนโดน วันนี้เรามีคำตอบ!” เพื่อให้ความรู้กับคนอ่าน

บทความที่มีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อ จะมีเนื้อหาแบบว่า การที่คุณจะตกปลาให้ได้เยอะๆ นั้น คุณต้องไปตกปลาที่ทะเลที่มีปลาชุม และเมื่อพอไปถึงทะเลนั้นๆ แล้วคุณต้องตกปลาที่เอาไปขายได้ราคาดี เพราะว่าคุณจะได้มีเงินใช้เยอะๆ สุดท้ายก็รวยเป็นเศรษฐี และชีวิตคุณก็จะมีความสุข 

สังเกตอะไรไหมครับ? บทความนี้เป็นบทความที่จะต้องให้ความรู้เรื่องแหล่งตกปลา และชนิดของปลาที่ควรจะตก แต่พออ่านเนื้อหาจริงๆ แล้ว บทความนี้ไม่ได้ให้ความรู้เชิงลึก ไม่ได้ส่งมอบคุณค่าที่แท้จริงให้กับคนอ่านเลย ซึ่งคนอ่านจะสัมผัสได้ว่าคนเขียนไม่ได้ค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง และไม่ได้ตั้งใจเขียนอย่างจริงจัง สุดท้ายคนอ่านก็จะเลิกอ่านไปเอง

ถ้าคุณอยากไล่คนอ่านไปไกลๆ วิธีการเขียนแบบลวกๆ แบบนี้ ช่วยคุณไล่คนสำเร็จแน่นอนครับ

ป.ล. บทความนี้ผมไม่มีตัวอย่างมาให้ แต่ผมเชื่อว่าคุณน่าจะหาตัวอย่างเองได้ไม่ยากครับ 🙂

6. อย่าใส่รูป/วิดีโอประกอบ

บทความสั้นๆ อาจจะไม่เห็นผลจากวิธีนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นบทความยาวๆ ผมรับรองว่าคนจะหัวหมุนจนไม่อยากอ่านแน่นอนครับ

เขียนบทความยาวๆ อย่าเอารูปที่เป็นตัวช่วยอธิบาย หรือเอาวีดีโอที่เป็นตัวอย่างมาแทรก เพราะว่ามันจะทำให้คนอ่านได้พักสายตา พักสมอง จากการที่อ่านตัวหนังสือยาวๆ

ยิ่งพวกรูปภาพฟรีจาก Unsplash หรือรูปภาพที่คุณแต่งผ่านโปรแกรม Canva นั้นยิ่งไม่สมควรเอามาใส่ในบทความ เพราะมันจะทำให้บทความของคุณมีชีวิตชีวาจนคนต้องอ่านให้จบ (และเมื่อคนอ่านจบ แล้วคนชอบ พวกเขาก็จะมาพูดคุยกับคุณต่อ)

7. โฆษณา โฆษณา โฆษณา

ยุคสมัยแห่งการอัดโฆษณาเพื่อส่งสารให้กับคนหมู่มากนั้นเป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองมากๆ ในอดีต คุณสามารถเน้นแต่โฆษณา โฆษณา และโฆษณาให้กับกลุ่มลูกค้าของคุณได้ เพราะผู้รับสารไม่ได้มีทางเลือกมากนัก แต่ปัจจุบันนั้นต่างออกไป เพราะผู้คนมีทางเลือกในการเสพคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพาคนไปทัวร์อดีต ผมแนะนำให้คุณเขียนบทความแบบเน้นโฆษณาสินค้าของตัวเองเป็นหลักครับ ไม่ต้องแคร์เยอะว่าคนอ่านจะได้คุณค่าอะไรจากบทความของคุณเปล่า เน้นขายเพียงอย่างเดียวไปเลย

การทำแบบนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่อยากกลับไปอดีต แต่อยากอยู่กับโลกปัจจุบันนั้น เลิกอ่านบทความแบบเก่าๆ ของคุณ แล้วหันไปอ่านบทความในยุคปัจจุบันของคนอื่นๆ ที่เน้นการสร้างคุณค่าแทน

Shifu แนะนำ

hubspot-buyer-journey

จากรูปของ HubSpot ในช่วงที่ Awareness สิ่งที่คุณควรทำคือส่งมอบคุณค่าแบบ Free Free Free

การเขียนบทความในเชิงโฆษณา เชิงขายแบบเต็มที่นั้น ถ้าคนอ่านอยู่ในช่วง Awareness (ช่วงที่พึ่งมาเจอเว็บไซต์/บทความของคุณ) คนอ่านคนนั้นๆ ก็จะไม่อยากอ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากไล่คนอ่านไปไกลๆ ผมแนะนำให้เขียนเพื่อขายตั้งแต่ day one เลยครับ

สรุป

7 วิธีที่ว่ามานี้คือ 7 วิธีการเขียนบทความที่จะทำให้คุณไล่คนอ่านไปไกลๆ แบบไปแล้ว ไปลับ ไม่กลับมาอีกนะครับ

1. ตั้งชื่อบทความให้ห่วย 2. ใช้ภาษาให้วิบัติ 3. เขียนให้น่าเบื่อ 4. เว้นบรรทัดน้อยๆ 5. ใส่แต่น้ำ 6. ไม่ใส่รูปประกอบ 7. เน้นโฆษณา

จาก 7 วิธีที่ว่ามานี้ ยิ่งคุณทำได้มากข้อเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งหลีกหนีบทความของคุณเยอะเท่านั้น ถ้าคุณอยากไล่คนอ่านไปให้หมด ผมแนะนำว่าทำให้ครบทุกข้อเลยครับ

ตาคุณแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณคงเข้าใจนะว่าผมเขียนประชด 🙂

สาเหตุที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าผมโดนคนไล่มาบ่อยมากกก ทั้งไทย ทั้งเทศ มีหมด ผมก็เลยเก็บเอามาตกผลึกเขียนให้ได้อ่านกัน

คุณมีวิธีในการไล่คนอ่านแบบอื่นๆ ที่อยากแนะนำผม และนักการตลาดสายคอนเทนต์ที่อ่าน Content Shifu อยู่บ้างรึเปล่า? มาแนะนำกันได้ในส่วนของคอมเมนต์เลยครับ

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณไม่อยากไล่คนอ่านไปไกลๆ แบบที่ผมแนะนำในบทความนี้ ผมแนะนำให้คุณไปดูคอร์สเรียนสายคอนเทนต์ ของ Content Shifu เพิ่มเติมครับ 🙂

New call-to-action