กำลังสนใจอยากมีเว็บไซต์ หรือเว็บบล็อกเป็นของตัวเอง แต่ก็รู้สึกว่ามันท่าจะยากและต้องใช้เวลาในการศึกษาเยอะ

อย่าว่าแต่ลงมือทำเองเลย แค่ฟังคำศัพท์เว็บไซต์ หรือภาษาที่คนในวงการเว็บไซต์เขาคุยกัน ก็งงแล้วว่า คุยอะไรกันวะ?

คำศัพท์เว็บไซต์ - แปลภาษา
ภาพจาก https://doraemon.mangawiki.org/translation-konjac/

ถ้าคุณรู้สึกว่าเรื่องราวข้างบน มันช่างคล้ายกับคุณเสียเหลือเกิน คุณคงรู้สึกว่าอยากมีโดราเอมอนอยู่ข้างๆ จะได้ขอยืมวุ้นแปลภาษามาใช้ แปลคำศัพท์เว็บไซต์ในวงการเว็บไซต์ที่เข้าใจยาก ให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ไม่เป็นไร บางทีบทความนี้อาจจะพอช่วยเป็นวุ้นแปลภาษาเว็บไซต์ให้กับคุณได้บ้าง โดยเรารวบรวมคำศัพท์พื้นฐานที่คุณมีโอกาสจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อคุยกันเรื่องการทำเว็บไซต์

เว็บไซต์ เปรียบเสมือนการมีบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นบทความก่อนหน้า เรื่อง รู้ก่อน รอดก่อน เหตุผลที่ไม่ควรพึ่งเฉพาะ Social Media หรือ ทำไมต้องมีเว็บไซต์? (ข้อดีของการมีเว็บไซต์) พวกเราได้บอกเสมอว่า เว็บไซต์ เปรียบเสมือน บ้าน ของคุณ ทีนี้เรามาคุยกันต่อว่า แต่ละองค์ประกอบที่คุณต้องทราบ ก่อนจะมีบ้านบนอินเทอร์เน็ตขึ้นมาได้ ประกอบไปด้วยคำศัพท์เว็บไซต์อะไรที่คุณควรรู้จักบ้าง

แนะนำศัพท์คอมพิวเตอร์ สำหรับมือใหม่อยากมีเว็บไซต์

Hosting คือ โครงการที่คุณไปเลือกอยู่

ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจคอนเซปต์ก่อนว่า เมื่อคุณมีเว็บไซต์ แปลว่ามันต้องรองรับคนให้สามารถเข้ามาใช้โปรแกรม หรือดูข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คที่บ้านคุณมี เพื่อใช้ทำหน้าที่แบบนี้ ปกติแล้วจะอาศัยคอมอีกแบบ เรามักเรียกว่าเครื่อง Server (เซิร์ฟเวอร์) 

ผู้ให้บริการ Hosting คือผู้ที่ให้บริการ Server เก็บเว็บไซต์ของคุณให้ การเลือก Hosting เปรียบเสมือนการเลือกโครงการที่บ้านของคุณจะไปตั้งอยู่ ซึ่งเจ้าของโครงการนั้นจะคอยตระเตรียมทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมกับคุณ (แบ่งขายเป็นแพคเกจตามปริมาณการใช้งาน) และยังเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือคุณเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการเลือกนอกจากจะเป็นเรื่องความคุ้มค่าของแพคเกจแล้ว ยังอยู่ที่ Support ด้วย หากมีปัญหาเว็บล่ม ผู้ให้บริการ Hosting คือคนที่จะช่วยตอบคำถามคุณว่าเกิดอะไรขึ้น และเขาสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้คุณได้อย่างไรบ้าง

Domain Name คือ ชื่อที่อยู่บ้าน

Hosting เป็นเรื่องหลังฉาก ผู้เข้าเว็บไม่จำเป็นต้องทราบว่าบ้านของคุณมีใครเป็น Hosting ช่วยดูแลอยู่ด้านหลัง เรื่องสำคัญต่อมาคือเรื่องหน้าฉาก บ้านของคุณจะต้องมีที่อยู่ชัดเจน เพื่อให้แขกของคุณ หรือบุรุษไปรษณีย์ ตามหาบ้านของคุณพบ Domain Name (โดเมนเนม) หรือ ชื่อโดเมน นั้นก็เปรียบเสมือน ที่อยู่ ของคุณเพื่อให้คนสามารถเข้ามาหาคุณได้

เวลาที่คุณใช้โปรแกรมแผนที่ เช่น Google Maps คุณไม่จำเป็นต้องทราบอะไรมากไปกว่า ชื่อสถานที่ ถ้าชื่อสถานที่อยู่ในระบบ คุณก็จะสามารถเจอกับสถานที่ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องปวดหัวกับข้อมูลที่ซับซ้อนอย่างละติจูด ลองติจูด ในแผนที่ (ซึ่งคอนเซปต์ของละติจูด ลองติจูดในโลกอินเทอร์เน็ต เราเรียกกันว่า IP Address)

สรุปคือ โดเมนเนมนั้นก็เหมือนกับชื่อสถานที่ เช่น เว็บไซต์ของพวกเรานี้ มีชื่อว่า www.contentshifu.com เมื่อคุณทราบชื่อนี้ของเราแล้วคุณกรอกเข้ามาในช่อง address bar คุณก็จะเจอกับบ้านของพวกเราได้อย่างง่ายๆ

โดเมนเนม

 

 

CMS (Content Management System)

หลังจากที่คุณได้โครงการที่คุณจะเข้าไปอยู่ (Hosting) และจดที่อยู่ (Domain Name) เรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็ต้องมาดูเรื่องการสร้างบ้านของคุณต่อ โปรแกรมเมอร์ที่สร้างเว็บหรือบล็อกให้คุณ อาจจะ Coding เองจากศูนย์เลยก็ได้ แต่เคสส่วนใหญ่จะไม่ใช่แบบนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเว็บที่เน้นการแสดงข้อมูลหรือคอนเทนต์ ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่จะเป็นคนเข้ามาบริหารจัดการข้อมูลบนเว็บไซต์ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ฯลฯ ก็คือ เจ้าของเว็บไซต์เอง หรือทีมงานของเจ้าของเว็บไซต์

จึงมีการใช้  CMS หรือ Content Management System เป็นซอฟแวร์ซึ่งเป็นระบบจัดการคอนเทนต์บนเว็บไซต์ ที่ทีมงานของเว็บไซต์สามารถล็อกอินเข้ามาดูแลจัดการได้ นอกจากนี้ข้อดีคือ นอกจากเรื่องการบริหารจัดการคอนเทนต์แล้ว เรื่องหน้าตาก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย สามารถใช้ธีม (Theme) หรือเทมเพลต (Template) เข้ามาครอบหน้าตาเว็บไซต์ เพียงแค่เปลี่ยน Theme ก็เปลี่ยนแปลงหน้าตา (รวมถึงฟังก์ชันการทำงาน) ของเว็บไซต์ได้อย่างสะดวก

ตัวอย่าง CMS ที่ใช้สร้างเว็บ หรือบล็อก ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ WordPress.org, Joomla, Drupal

wordpress.org blog writing
หน้าจอการทำงานของ WordPress
wordpress.org
หน้าจอการเลือกเปลี่ยน Theme (ธีม) ใน WordPress จะเห็นได้ว่าคุณสามารถเปลี่ยนหน้าตาเว็บได้ง่ายๆ ในไม่กี่คลิก

Front-End / Back-End หน้าบ้านและหลังบ้านของคุณ

พูดถึงคำว่าหน้าบ้าน และหลังบ้าน สามารถมองได้สองมุมมอง

อย่างการที่พูดถึง CMS เมื่อซักครู่ นั่นคือการพูดถึงการมีประตูหลังบ้านสำหรับแอดมินของเว็บไซต์เข้ามาจัดการคอนเทนต์ ส่วนประตูหน้าบ้านก็คือเว็บไซต์ที่ให้ User ทั่วไปได้เข้ามาใช้งาน

แต่ถ้าหากคุณมีโอกาสได้คุยกับโปรแกรมเมอร์ / Developers คุณจะได้ยินคำว่าหน้าบ้าน (Front-End) และหลังบ้าน (Back-End) ในอีกมุมมอง

Front-End Development หมายถึงการพัฒนาเว็บไซต์ในส่วนของหน้าตา ซึ่งอาจเป็นหน้าตาเว็บไซต์สำหรับ User ทั่วไปก็ได้ หรืออาจเป็นหน้าตาเว็บไซต์สำหรับ User อีกประเภท (เช่นแอดมิน) ก็ได้ สรุปก็คือ Front-End ในที่นี้คือเน้นเรื่องการออกแบบและพัฒนาฟังก์ชันการทำงานที่ทำงานร่วมกับ User และนักพัฒนา Front-End ก็เกิดจากโปรแกรมเมอร์สาย Front-End ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ที่ออกแบบหน้าตาและประสบการณ์ของผู้ใช้

Back-End Development หมายถึงการพัฒนาเว็บไซต์ในส่วนที่ไม่ได้สัมผัสกับ User โดยตรง เช่น การพัฒนาเรื่องฐานข้อมูล เป็นต้น

Website Builder / Blogging Platform เครื่องมือช่วยสร้างเว็บ และเครื่องมือช่วยสร้างบล็อก

เคสของ CMS นั้น คือเป็นซอฟแวร์ที่เข้ามาช่วยในการสร้างเว็บไซต์อีกที

  • นักพัฒนาสามารถใช้พัฒนาเว็บ โดยไม่ต้องสร้างจากศูนย์ได้
  • ผู้ใช้ที่ช่ำชอง สามารถจด Domain Name เช่า Hosting ติดตั้ง CMS เลือกธีมที่เหมาะสม ก็สามารถได้เว็บไซต์มาครอบครองได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาและใช้ความรู้ทางเทคนิคบ้างในระดับหนึ่ง (แต่คอนเฟิร์มว่าไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเป็น)

ถ้าถามว่ามีเคสที่ง่ายกว่านั้นไหม ตอบได้ค่ะว่ามี นั่นคือการใช้ซอฟแวร์ ที่สามารถช่วยสร้างเว็บ หรือช่วยสร้างบล็อก (Blog) ได้แบบสำเร็จรูปเลย

Website Platform

หมายถึงแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ที่ช่วยให้คุณสามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้อย่างง่ายๆ ส่วนใหญ่แล้วมาพร้อมกับคอนเซปต์ WYSIWYG (What you see is what you get) ความหมายก็คือ คุณเพียงแค่ คลิก ลาก วาง ทำแอคชันง่ายๆ ก็ได้ผลลัพธ์อย่างตาเห็น

ตัวอย่างเช่น บริการสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปต่างๆ อย่าง Wix.com, Shopify.com (เด่นเรื่อง E-commerce) หรือแม้แต่ WordPress.com เอง ก็เข้าข่ายประเภทนี้

Shifu แนะนำ
WordPress.com กับ WordPress.org แตกต่างกันตรงที่ WordPress.org เป็นซอฟแวร์ให้เราดาวน์โหลดไปใช้ทำเว็บของตัวเอง โฮสเอง จดโดเมนเนมเอง จัดการเองทั้งหมดต่อ ในขณะที่ WordPress.com เป็นบริการแบบ Full Service คือไม่ต้องไปหาโฮส หรือโดเมนที่ไหน ใช้บน WordPress.com ได้เลย มีทั้งแพคเกจฟรี และเสียเงิน โดยถ้าเลือกใช้โดเมนฟรี สิ่งที่คุณจะได้รับคือ contentshifu.wordpress.com (สมมติ) ถ้าคุณอยากเปลี่ยนโดเมนเป็นชื่อที่คุณต้องการ หรือเพิ่มแพคเกจการใช้งาน ก็อัปเกรดตามแพลนการใช้งานได้ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการทำเว็บไซต์สำเร็จรูปต่างๆ
wordpress.com
หน้าจอการใช้งานของ WordPress.com จะมีความเฟรนลี่กับผู้ใช้ ซับซ้อนน้อยกว่า WordPress.org

Blogging Platform

ในเคสของ WordPress นั้น สามารถทำได้ทั้งเว็บบล็อก (Blog) และเว็บเอนกประสงค์ทั่วไป แต่ในบางแพลตฟอร์มอาจเกิดมาเพื่อบล็อกเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น Blogger.com, Medium.com

ในเคส Website Builder / Blogging Platform ทั้งหมดเหล่านี้ ลักษณะจะคล้ายๆ กับการมีคอนโดมากกว่ามีบ้าน คือมีโครงการ มีที่อยู่ มาให้เราพร้อมเสร็จสรรพ เราสามารถตกแต่งภายในเองได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถรื้อทุบทำใหม่ได้อย่างอิสระ รูปแบบหน้าตาและความสามารถในการทำงานจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่แพลตฟอร์มมีนำเสนอมาให้

Caching หรือ Cache คืออะไร

จริงๆ แล้วศัพท์ตัวนี้ค่อนข้างหนักไปในเชิงเทคนิคมากขึ้น แต่เนื่องจากวันก่อนได้เจอบทสนทนาที่มีคำนี้มาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เลยขอหยิบมาเล่าให้รู้จักกันด้วยค่ะ

Cache คือส่วนของข้อมูลที่ถูกเก็บซ้ำไว้ เพื่อใช้ในการใช้งานครั้งต่อไปโดยไม่ต้องเรียกข้อมูลจากเว็บไซต์ต้นแหล่งอีกครั้ง ประโยชน์คือ เพิ่มความเร็วในการโหลดสำหรับฝั่ง User และลดโหลดปริมาณมหาศาลในฝั่ง Server หรือก็คือช่วยไม่ให้ Server รับภาระหนักจนเกิดอาการล่มนั่นเอง

สรุปก็คือ สาเหตุที่คุณควรรู้จักกับคำๆ นี้ เพราะไม่ว่าคุณจะต้องการให้เว็บโหลดเร็วขึ้น คุณก็ต้องพึ่งพา Cache หรือไม่ว่าจะต้องการลดภาระ Server คุณก็พึ่งพา Cache เช่นกัน ซึ่งในฐานะเจ้าของเว็บ แน่นอนว่าคุณสนใจทั้งคู่อยู่แล้วจริงไหม? : ) หากคุณมีการใช้ CMS เช่น WordPress อยู่แล้ว เพียงแค่ติดตั้งปลั๊กอินที่ช่วยเรื่อง Cache ก็ช่วยคุณได้แล้ว

สรุป

บทความนี้ช่วยปูพื้นฐานคำศัพท์เว็บไซต์พื้นฐานที่คนอยากมีเว็บไซต์ควรรู้จัก เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ Hosting, Domain Name, CMS => เริ่มต้นจากมีสามสิ่งนี้คุณก็สามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาได้ หรือจะใช้ Website Builder หรือ Blogging Platform เข้ามาช่วยคุณลดความซับซ้อนลงก็ทำได้ ซึ่งเราได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง WordPress.org และ WordPress.com ไป นอกจากนี้ยังพูดถึงคำศัพท์ที่คุณมีโอกาสเจอบ่อยหากคุยกับโปรแกรมเมอร์ เช่น เรื่อง Front-End, Back-End ซึ่งเกี่ยวข้องในขั้นพัฒนาเว็บไซต์ และเรื่อง Cache หรือการทำ Caching ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งาน

ตาคุณแล้ว

บทความนี้ตั้งใจจะเขียนให้อ่านง่ายสำหรับคนนอกวงการไอที ยังรู้สึกมีคำอธิบายหรือการเปรียบเปรยแบบไหนที่คิดว่ายังไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่ชัดเจนรึเปล่าเอ่ย? มาร่วมพูดคุยกับเราได้เลยค่ะ