เว็บไซต์คือหนึ่งใน Digital Asset ที่ทรงพลังที่สุด เพราะมันคือ Owned Asset ที่เราสามารถควบคุมได้ และมันเป็นสิ่งที่จะมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราสร้างและดูแลอย่างถูกวิธี

ผมมักชอบพูดเปรียบเปรยเสมอๆ ว่า ใครที่อยากสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ให้มองเว็บไซต์เป็นสมองหรือหัวใจ แล้วใช้ช่องทางอื่นๆ เช่น Social Media หรือ Email เป็นแขนขาในการดึงคนเข้ามา

หลายๆ คนมักจะมองสลับกัน คือมอง Social Media เป็นสมองหรือหัวใจ ซึ่งสุดท้าย มันเหมือนกับการที่เราไปเช่าบ้านของเขาอยู่ และเราต้องทำตามกฏระเบียบของเขาทุกอย่าง สุดท้าย อำนาจในมือจะไม่ได้อยู่ที่เรา

ในบทความนี้ ผมจะมาแชร์วิธีการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress แบบง่ายๆ เป็นขั้นเป็นตอน

สาเหตุที่ผมเลือกแนะนำ WordPress เป็นเพราะว่า WordPress เป็นที่เป็นระบบการสร้างเว็บไซต์ (CMS) ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก (น่าจะราวๆ 40% กว่าๆ)

คุณอาจจะมีคำถามในใจว่า ถ้าคุณไม่ใช่ Tech Guy คุณจะทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ได้จริงๆ ใช่ไหม ซึ่งผมรับรองว่าคุณไม่จำเป็นต้องมี Coding Skill ใดๆ เพราะผมเองที่เป็นคนเขียนคอนเทนต์นี้ขึ้นมาก็ไม่มี Coding Skill เช่นกัน

ค่อยๆ อ่าน แล้วค่อยๆ ทำตามไปด้วยกันนะครับ ผมจะพยายามใช้คำศัพท์เฉพาะให้น้อยที่สุด หรือถ้าใช้ก็จะอธิบายเพิ่ม รับรองว่าถ้าคุณอ่านไป ลงมือทำไป คุณจะมีเว็บไซต์ของตัวเอง/ของธุรกิจได้ตามที่ตั้งใจแน่ๆ ครับ 🙂

ป.ล. หลักๆ เวลาพูดถึง WordPress มันจะมี 2 แบบคือ WordPress.com ที่ดูแลโดยบริษัทแม่ของ WordPress ชื่อ Automattic (ข้อดีคือมีคนดูแลให้ แต่ต้องจ่ายเงินรายเดือน และอาจจะไม่ยืดหยุ่นเท่าอีกแบบ) และ WordPress.org ที่เป็น Open Source (ข้อดีคือมีความยืดหยุ่นและทำอะไรได้หลากหลายกว่า แต่ก็แลกมาด้วยกับการดูแลที่มากกว่า)

ในบทความนี้ผมจะขอโฟกัสไปที่ WordPress.org นะครับ

5 ขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress

ขั้นที่ 0: ทำแผนธุรกิจและแผนการตลาด

ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่คุณควรทำให้ดีก่อนสร้างเว็บไซต์ เพราะมันจะเป็นตัวบอกว่าคุณจะขายอะไร ลูกค้าของคุณคือใคร คุณจะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร และเว็บไซต์จะเข้าไปมีส่วนช่วยธุรกิจของคุณได้อย่างไร

ในบทความนี้ผมจะไม่ลงรายละเอียดให้คุณเยอะในเรื่องเหล่านี้นะครับ ผมขอใช้วิธีการส่ง Link มาให้คุณไปอ่านเพิ่มเติมต่อเอาเองครับ

ขั้นที่ 1: เลือก Domain & Hosting

Domain

Domain เปรียบเสมือนชื่อแบรนด์/ป้ายร้าน เลือกให้ดี คนจะยิ่งเชื่อถือ

ซึ่งคนแต่ละคน ธุรกิจแต่ละธุรกิจ มีชื่อไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตไม่แตะตรงส่วนนี้

ส่วนที่ผมอยากจะแนะนำคือนามสกุล อย่างเช่นนามสกุลของ contentshifu.com ก็คือ .com

ในความเห็นของผม .com คือ The Best ถ้าเลือกได้ ให้เลือกจด .com เป็นอันดับแรก และ Domain เฉพาะอย่าง .co.th (สำหรับบริษัท) .ac.th (สำหรับสถาบันการศึกษา) .go.th (สำหรับภาครัฐ) .org (สำหรับองค์กร/สมาคม) เองก็เป็นอันที่ดีมากๆ เช่นเดียวกัน

แต่ถ้าจด Domain เหล่านี้ไม่ได้จริงๆ ผมคิดว่ารองลงมานามสกุล .co เป็นอันที่โอเค และขั้นถัดๆ มาคือพวก .asia .me

นอกนั้นแล้ว ส่วนตัว ผมไม่แนะนำเลย

สำหรับที่ที่เอาไว้จดโดเมน ผมเคยใช้ 2 เจ้านี้มา และก็ยังคงเป็น 2 เจ้านี้ทีผมแนะนำคือ GoDaddy และ Namecheap

ไม่ว่าคุณจะเลือกเจ้าไหน อย่าลืมทำพวก 2-Factor Authentication (ระบบ Password 2 ชั้น) เพราะ Domain คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเว็บไซต์ของคุณ

Hosting

Hosting เปรียบเสมือนที่ดินที่เอาไว้สร้างพื้นที่ร้าน เป็นที่ที่เอาไว้เก็บข้อมูลทุกๆ อย่างของเว็บไซต์ของคุณ

Hosting เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะกำหนดความเร็ว (และความปลอดภัย) ของเว็บไซต์ ยิ่งโหลดเร็ว/ปลอดภัย ประสบการณ์การใช้งานของคนที่เข้าเว็บไซต์ก็จะดี

ปัจจุบัน Hosting ที่คนนิยมใช้กันคือ Cloud Hosting

รูปแบบ Hosting ที่ผมไม่แนะนำเลยคือ Shared Hosting (ว่าง่ายๆ คือเว็บไซต์ของเราจะไปอยู่ในพื้นที่เดียวกับเว็บของคนอื่น) ถ้าเว็บอื่นทำหน่วง เราก็จะหน่วงด้วย ถ้าเว็บอื่นทำพัง เราก็จะพังด้วย ราคาของ Hosting แบบนี้จะถูกว่าแบบด้านบนค่อนข้างมาก แต่ก็เสี่ยงกว่ามากเช่นกัน

Hosting ที่ผมใช้มาอย่างยาวนานคือ Cloudways (+ Digital Ocean) อาจจะต้องเข้าใจ Technical หน่อย แต่พอใช้งานเป็นแล้ว จะจัดการง่ายและยืดหยุ่นมากๆ และที่สำคัญทีม Support ก็ดีด้วย

อีกตัวที่ผมเคยใช้มาตอนเริ่มต้นเรียนรู้การทำเว็บไซต์ใหม่ๆ คือ SiteGround ที่เมื่อเทียบกับ Cloudways แล้ว แทบจะไม่ต้องใช้ความรู้เชิง Technical เลย และเวลามีปัญหา เขาก็ดูแลและแก้ไขให้ได้ดีมากๆ


Shifu แนะนำ

จริงๆ Godaddy & Namecheap ก็มี Hosting เหมือนกัน แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของพวกเขา ผมเลยชอบ Cloudways มากกว่า แต่ถ้าคุณอยากจัดการทั้ง Domain & Hosting ก็ใช้ Platform เดียวได้ครับ อันนี้เป็นแค่ความชอบส่วนตัวของผม

 

ขั้นที่ 2: ติดตั้ง WordPress

ปกติ Hosting ดังๆ ทุกเจ้าจะมีบริการติดตั้ง WordPress แบบอัตโนมัติอยู่แล้ว เพราะอย่างที่บอก WordPress เป็นระบบการสร้างเว็บไซต์ CMS ที่คนใช้เยอะที่สุด

อย่างรูปทางด้านบนเป็นตัวอย่างใน Interface ของ Cloudways ที่คุณสามารถเลือกติดตั้ง WordPress แบบธรรมดา หรือ WordPress พร้อม Woocommerce (ซึ่งเป็นระบบ eCommerce ได้)

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ตั้งค่า Username และ Password เรียบร้อย คุณก็จะสามารถเข้าไปใช้งานหลังบ้านของ WordPress ได้แล้ว

ขั้นที่ 3: เลือก Theme มาใช้งาน

Theme เปรียบเสมือน Buil-in ต่างๆ ที่เอามาตกแต่งร้านให้สวยงาม

ในตลาด มี Theme จากนักพัฒนามากมายน่าจะเป็นหมื่นๆ แสนๆ Theme

แต่ในเมื่อคุณมาอ่านบทความนี้ที่ผมเขียนแล้ว ผมขอหยิบเอาอันที่ผมใช้อยู่หรือเคยใช้และคิดว่าดีมาแนะนำนะครับ

ตัวที่ผมชอบที่สุดและใช้กับหลายเว็บไซต์ของผมที่สุดคือ Astra ที่ตัวฟรีของเขาก็มีฟีเจอร์ที่ดีและเยอะมากๆ แล้ว (หรือถ้าอยากปรับแต่งได้มากขึ้นก็อัปเกรดเป็น Astra Pro ได้)

นอกจากนั้นแล้ว ตัว Hello Theme ที่สร้างโดย Elementor

และ Seed Theme ของ Seed Webs ที่เป็นบริษัทของคนไทย

2 ตัวนี้ก็เป็นทางเลือกที่ผมคิดว่าน่าสนใจเช่นเดียวกัน

ทีนี้เดี๋ยวผมจะลองติดตั้ง Theme แล้ว Demo ให้ดูนะครับ ผมขอ Demo ด้วย Astra เพราะเป็นตัวที่ผมมี License อยู่ทั้งหมดครับ

วิธีการที่ผมคิดว่าเริ่มต้นง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่คืออย่าเริ่มสร้างทุกอย่างจากศูนย์ เพราะมันจะงงมาก ผมแนะนำให้ลองไปเลือก Template ที่อยากได้ Import มันเข้ามา และเริ่มแก้ไขจากตรงนั้น (อย่างของ Astra เองก็จะมี Template ให้เลือกมากมาย)

ทีนี้ เดี๋ยวผมจะขอแนะนำเมนูสำคัญๆ ใน WordPress ที่คุณควรจะต้องรู้จักให้คุณทำความคุ้นเคยนะครับ

  • Settings

เป็นเมนูที่เอาไว้ตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับเว็บไซต์ของคุณ

General Menu: เมนู General เป็นเมนูที่เอาไว้ตั้งชื่อเว็บไซต์, Tagline และวิธีการแสดงผลต่างๆ ของเว็บไซต์

Permalink เป็นการตั้งค่าวิธีการแสดงผลของลิงก์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญมากๆ สำหรับเรื่อง SEO ผมแนะนำให้ตั้ง Custom Structure ให้เป็น /%category%/%postname%/ ตามรูป หรือ /blog/%postname%/

  • Customize

เมนู Customize จะอยู่ใต้ Appearance เป็นเมนูที่เอาไว้ปรับแต่ง Theme ของคุณ

  • Pages

เป็นเมนูที่เอาไว้เก็บ Page ทุกๆ หน้าของเว็บไซต์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นหน้า Home, About, Service, Contact ทุกอย่างควรจะถูกสร้างจากตรงนี้

  • Menu

เมนู Menu จะอยู่ใต้ Appearance เป็นเมนูที่เอาไว้จัดการ Menu (ตรงๆ ตัวเลย 😂) ซึ่งคุณจะสามารถจัดการ Header Menu, Footer Menu, Mobile Menu หรือเมนูต่างๆ (ถ้ามี) ผ่านที่นี่

  • Posts

เป็นเมนูที่เอาไว้จัดการบทความ/คอนเทนต์ต่างๆ ของเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งโดยปกติแล้ว โซนนี้แหละจะเป็นโซนที่คุณจะได้เข้ามาใช้งานบ่อยที่สุด


Shifu แนะนำ

เรื่องนี้อาจจะ Technical นิดนึง แต่เป็นเรื่องที่แนะนำให้ทำคือการติดตั้ง Child Theme เพื่อที่ว่าเวลาคุณอัปเดต Theme หลัก ค่า Settings ต่างๆ ยังคงอยู่ อย่างของ Astra เองก็จะมี Child Theme Generator ให้ใช้ ให้คุณอัปโหลด Theme หลักของคุณขึ้นมาบนนี้ และมันจะทำการ Generate Child Theme ขึ้นมาให้คุณ จากนั้นคุณก็เอา Child Theme อันนี้แหละไปติดตั้งบนเว็บไซต์ WordPress ของคุณ (เข้าไปที่เมนู Appearance, Themes และ Add New)

 

ขั้นที่ 4: ติดตั้ง Plugin

ถ้า Theme คือ Built-in ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์หลักของร้าน Plugin ก็เหมือนอุปกรณ์และของตกแต่งที่ทำให้เว็บไซต์ทำงานตามที่เราอยากได้

ซึ่ง Plugin เป็นสิ่งสำคัญในโลก WordPress มากๆ และ Ecosystem ของ Plugin นั้นทำให้เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากๆ เลย

ผมมักชอบพูดประจำว่าเว็บไซต์กว่า 95% ของโลกใบนี้ ใช้ WordPress สร้างขึ้นมาได้ หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือการมีอยู่ของ Plugin หลายๆ แสนตัวนี้เลย

พอมันมีหลายแสนตัว การเลือกก็เลยเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมา แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป ผมลองผิดลองถูกมาให้แล้ว (น่าจะเป็นหลักสิบปี 😅) Plugin ต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวที่ผมใช้อยู่/เคยใช้ และอยากจะเอามาแนะนำ

  • Page Builder (ช่วยให้ปรับแต่งเว็บไซต์ได้มากขึ้น): Spectra หรือ Elementor (ตัวใดตัวหนึ่ง)
  • SEO (ช่วยให้ติดอันดับบน Search Engine ได้ดีขึ้น): Rank Math
  • Social Sharing (ปุ่มแชร์ไปยัง Social Media ต่างๆ): Seed Social
  • Security (ทำให้เว็บไซต์มีความปลอดภัยมากขึ้น): Wordfence, Akismet และ Really Simple SSL
  • Form (สร้างฟอร์มให้คนมากรอกข้อมูล): Contact Form 7, Fluent Forms หรือ Gravity Forms (ตัวใดตัวหนึ่ง)
  • Backup (สำรองข้อมูล): All-in-one Migration
  • Consent Management (ระบบจัดการการขอความยินยอมจากคนเข้าเว็บไซต์): Cookie Notice & Compliance for GDPR / CCPA
  • Image Optimization (ระบบช่วยย่อขนาดรูป): ShortPixel
  • CDN หรือ Content Delivery Network (ระบบช่วยนำส่งเนื้อหา): Cloudflare
  • Script Management (ระบบบริหารจัดการสคริปจากภายนอก): GTM4WP – A Google Tag Manager (GTM) plugin for WordPress

ขั้นที่ 5: เชื่อมต่อ

เมื่อคุณสร้างเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัว Domain ของเว็บไซต์ของคุณยังเป็น URL แบบแปลกๆ อยู่ (เช่นถ้าเว็บจาก Cloudways ก็จะเป็น wordpress-xxxxxx-xxxxxx.cloudwaysapps.com) เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในขั้นนี้คือการชี้ Domain มายัง Hosting ของคุณ

ทาง Godaddy และ Namecheap มีวิธีการชี้ Domain ไปยัง Hosting อย่างละเอียดอยู่ ผมขออนุญาตส่งให้คุณไปอ่านต่อนะครับ

นอกจากการเชื่อม Domain & Hosting แล้ว การเชื่อมต่อกับ Platform ข้างนอกก็เป็นเรื่องสำคัญ ปกติ Script ยอดนิยมที่มักจะเอาเอามาฝังไว้ในเว็บไซตืก็จะมีพวก Facebook Pixels Google Tag, Tiktok Pixel, LINE Pixel และ Google Analytics Script ซึ่งถ้าคุณติดตั้ง Plugin Script Management (ในขั้นตอนที่ 4) ไว้แล้ว คุณสามารถติดตั้ง Google Tag Manager เพื่อบริหารจัดการ Script ต่างๆ ที่นั่นได้

สรุป

เว็บไซต์เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงบนโลกออนไลน์ ยิ่งทำดีๆ ดูแลดีๆ มูลค่าจะยิ่งสูงขึ้น

ซึ่ง WordPress เป็นเครื่องมือในการสร้างเว็บไซต์ (CMS) ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก สร้างเว็บไซต์ได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้อง Coding ก็สามารถทำได้

แต่ต้องจำเอาไว้นะครับว่า เว็บไซต์เป็นหนึ่งใน Owned Media ที่มีพลัง Awareness ไม่ได้สูง ถ้าจะให้ดี คุณควรจะต้องทำ Paid Media และ Earned Media ไปด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม: Paid, Owned, Earned Media คืออะไร ทำไมเราต้องรู้จัก แล้วจะบริหารยังไงให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด

ตาคุณแล้ว

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ คุณยังไม่ได้เริ่มต้นสร้างเว็บไซต์สักที ผมขอชวนให้คุณมาเริ่มสร้างได้แล้วครับ

One Day หรือ Day One ทางเลือกนั้นเป็นของคุณ

สร้างเสร็จแล้ว อย่าลืมส่งมาให้ผมและทีม Content Shifu ชื่นชมกันด้วยนะครับ 🙂


Shifu แนะนำ

บทความนี้เป็นเพียง Basic การทำเว็บไซต์ด้วย WordPress

ถ้าคุณกำลังมองหาทีมผู้เชี่ยวชาญในการทำ SEO หรือต้องการคำปรึกษา เราขอแนะนำ SEO MASTER ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำ SEO หรือเว็บไซต์ อยากรู้ว่า SEO MASTER จะช่วยธุรกิจของคุณได้อย่างไรบ้าง ติดต่อเพื่อพูดคุยกับ SEO MASTER ได้ที่นี่!