News

ซื้อโฆษณาผ่าน Facebook/Google ต้องจ่าย VAT 7% ตั้งแต่ 1 กันยา 2021 เป็นต้นไป

• 20 สิงหาคม 2021

e-Service

Share on

Share on

1 กันยายน 2021 นี้ มีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับภาษีที่ผู้ประกอบการ มืออาชีพในองค์กร และฟรีแลนซ์ที่ทำงานในสาย Digital ต้องรู้ โดยเฉพาะบริษัทหรือคนที่มีการซื้อโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างเช่น Facebook และ Google

รู้จักกับพ.ร.บ. อี-เซอร์วิส

พ.ร.บ. อี-เซอร์วิส เป็นพ.ร.บ. ที่จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2021 ที่ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศ แต่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นในประเทศไทย และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ตัวอย่างเช่น Facebook, Google, Amazon, Agoda, Airbnb หรือ Netflix เป็นต้น

รูปจาก Facebook

Content Shifu เองก็เริ่มได้รับข้อมูลจากผู้ให้บริการที่ส่งมาแจ้งเตือนถึงความเปลี่ยนแปลงนี้แล้วเหมือนกัน

ใครกระทบอย่างไรบ้าง?

สำหรับนิติบุคคลที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่างภ.พ. 20 จากกรมสรรพากร

ถ้าคุณเป็นนิติบุคคลที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ที่มีการซื้อโฆษณา (หรือทำธุรกรรม) ผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ และมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะต้องจ่ายและนำส่ง VAT 7% ในทุกๆ เดือน และเอาไปเคลม Tax Credit ในเดือนถัดไปอยู่แล้ว

แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคุณน่าจะเป็นปัจจัยภายนอกมากกว่า ซึ่งถ้าคุณมีคู่แข่งที่ไม่ได้มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่มาก การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้คุณแข่งขันได้มากขึ้น เพราะคู่แข่งของคุณต้องแบกรับต้นทุนทางด้านภาษีมากขึ้น

สำหรับนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถ้าคุณเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นี้อยู่ดี ซึ่งวิธีการเสียภาษีคือแพลตฟอร์มต่างๆ จะบวกค่าใช้จ่ายเพิ่ม 7% โดยอันโนมัติเลย

สมมติว่าเมื่อก่อนคุณจ่ายค่าโฆษณาผ่าน Facebook/Google อยู่ 10,000 บาทต่อเดือน หลังจากวันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป คุณจะต้องจ่าย 10,700 ต่อเดือน (ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นมาอีก 700 บาท)

นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มควรปรับตัวอย่างไร?

อย่างแรกคือต้องยอมรับความจริงว่าพ.ร.บ. กำลังจะถูกประกาศใช้แล้ว ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็เลี่ยงไม่ได้ และเราเองก็ไม่แนะนำให้หลบเลื่ยงด้วย

อย่างที่สองคือต้องปรับตัวและพัฒนา คำแนะนำจาก Content Shifu คือนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจด้วยการพึ่งพาแพลตฟอร์มจากต่างชาติ จะต้องหาสินค้าหรือบริการที่แตกต่าง เร่งสร้างแบรนด์และที่สำคัญเร่งหา Unique Selling Points / Competitive Advantages ของตัวเองที่ทำให้เหนือกว่ารายอื่นๆ

สรุป

และนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากพ.ร.บ. อี-เซอร์วิส ที่จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2021 ซึ่งธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยที่มีการทำธุรกรรมกับบริการจากต่างประเทศควรจะต้องรู้ไว้และปรับตัว

ถ้าคุณอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ Digital Marketing หรือการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณสามารถเข้าไปอ่านคลังความรู้ของ Content Shifu ได้ที่นี่ หรือไปศึกษาหาความรู้เชิงลึกได้ที่นี่

Share on

Bank Sitthinunt

Writer

Bank Sitthinunt

เจ้าของเว็บไซต์ Content Shifu นอกจากเรื่อง Inbound Marketing, Digital Marketing และ MarTech แล้ว ยังสนใจเรื่อง Entrepreneurship, Productivity, Self-Development และ Talent Development รวมถึงเป็นแฟนตัวยงของทีม Manchester United อีกด้วย

More From Me