ในยุคที่ธุรกิจหันมาโฟกัสการทำ Digital Marketing กันมากขึ้นแบบนี้ แน่นอนว่า มีข้อมูลมากมายที่เหล่า Owner Manager หรือแม้กระทั่งตัวนักการตลาดที่กำลังพยายาม Transform หรืออยาก Up-Skills ตัวเองต้องเรียนรู้ และนำมาปรับใช้กันอีกมาก 

แต่รู้หรือไม่ว่า ข้อมูลหรือความเชื่อหลายๆ อย่างที่รู้กันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป บางเรื่องอาจจะเคยเป็นเรื่อง ‘จริง’ สำหรับการทำการตลาดในยุคก่อนๆ แต่ก็ต้องยอมรับแล้วว่า วิถีเดิมๆ หรือความเชื่อที่มีมานั้นมันไม่สามารถที่จะพาธุรกิจเดินไปในอนาคตได้

แล้วเรื่องไหนบ้างล่ะ ที่ทำให้การทำ Digital Marketing ของคุณกำลังย่ำอยู่กับที่?

จะมีความเชื่อไหนบ้างที่ต้องรื้อถอนแล้วเสริมสร้างกันใหม่?

มาหาคำตอบกันในบทความนี้กันเลยดีกว่าค่ะ ????

ยาวไปอยากเลือกอ่าน


New call-to-action

ความเชื่อที่ 1: Content is King

‘คอนเทนต์ คือ ราชา แค่ทำคอนเทนต์ดีๆ เข้าว่า เดี๋ยว Traffic  มาเอง’

มีใครที่กำลังดำเนินแผนการทำคอนเทนต์ด้วยคติประจำใจแบบนี้อยู่หรือเปล่าคะ? 

ถ้าคำตอบคือ ‘ใช่’ เท่ากับว่าคุณกำลังเสียเวลาและโอกาสของการได้ Traffic ไปแบบฟรีๆ เพราะการทำคอนเทนต์ดีๆ ออกมาก็ไม่ได้การันตีว่า คนจะเห็นคอนเทนต์คุณ แล้วจะนำมาสู่ Traffic ที่คุณต้องการได้เสมอไป 

ปรับความเข้าใจใหม่

การทำคอนเทนต์ที่ดีจึงไม่ควรถูกปล่อยออกมาเดี่ยวๆ แต่ควรมาควบคู่กับทำ Content Marketing Strategy สำหรับช่องทางต่างๆ ด้วย 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เลยกับการทำ SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการเรียก Traffic ให้เข้าถึงคอนเทนต์ของคุณได้ด้วยการทำอันดับให้ติดหน้าหนึ่งบนหน้า Google ซึ่งพระเอกของการทำ SEO ไม่ใช่เเค่เนื้อหาคอนเทนต์ที่ดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเทคนิคการทำ SEO ที่มีปัจจัยในหลายด้านที่ต้องเรียนรู้และปรับแต่งเว็บไซต์ให้ดีกับผู้ใช้งานและ Search Engine ถึงจะพาคอนเทนต์นั้นๆ ขึ้นสู่หน้า 1 เพื่อเรียกยอด Traffic แบบที่หวังได้ 

ดังนั้น Content is King อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไปสำหรับการทำ Digital Marketing แต่ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของคุณนำเอาคอนเทนต์ไปใช้งานเพื่อ Lead กลุ่มเป้าหมายมาจากช่องทางไหน เพื่อที่คุณจะได้วางแผนการทำคอนเทนต์เพื่อสนับสนุนให้เกิด Traffic จากช่องทางนั้นๆ ได้ดีมากขึ้นอีกด้วย

ความเชื่อที่ 2: ทำโฆษณาหรือคอนเทนต์ให้คนเห็นเยอะๆ ยิ่งดี 

หากพูดถึง Metric ที่หลายคนมักใช้วัดผลลัพธ์การทำ Digital Marketing อยู่บ่อยๆ คงหนีไม่พ้น ค่า Reach ค่า Impression และค่า Engagement ที่บ่งบอกถึงยอดการเข้าถึง การมองเห็น และการมีส่วนร่วมของโฆษณาหรือคอนเทนต์นั้นๆ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า ยิ่งค่าเหล่านี้มีมากเท่าไหร่ยิ่งดี 

แต่ในความเป็นจริงแล้วผลลัพธ์เหล่านี้ มีเยอะ ไม่ได้แปลว่าดีเสมอเสมอไป…

เพราะถ้าหากคุณทำโฆษณาแล้วปล่อยให้ Impression สูงๆ ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายของคุณมีขนาดเล็ก นั่นหมายความว่า คนกลุ่มเดิมๆ ซ้ำๆ เห็น Ad ของคุณบ่อยเกินไป และอาจนำไปสู่ความรำคาญ 

หรือถ้าปล่อยให้ได้ Reach เยอะเกินพอดี ผลในการทำการตลาดครั้งนี้คือ คุณอาจจะได้มาแต่ Audience ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ ซึ่งนั่นไม่นำไปสู่ Conversion ที่ธุรกิจต้องการได้อย่างแท้จริง

ปรับความเข้าใจใหม่

ปริมาณผู้ชมเยอะๆ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่จำนวนของผู้ชมที่ตรงกลุ่มเป้าหมายต่างหากล่ะที่สำคัญกว่า

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญและโฟกัสในการวัด Metric จะมีอยู่ด้วยกัน 2 อย่างคือ…

  • การหาตัวชี้วัด Metric ที่ดี โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของอุตสาหกรรมให้ดีเสียก่อนว่า จริงๆ แล้วธุรกิจต้องการอะไร และมีอะไรเป็นโจทย์ เพื่อที่จะเลือกลงทุนและลงแรงได้อย่างถูกจุด
  • เลือก Metric ให้ตรงกับ Objective และอุตสาหกรรมของธุรกิจที่คุณกำลังทำอยู่ ก็จะช่วยทำให้มุมมองต่อการวัดผลลัพธ์ทางการตลาดตรงกับความต้องการของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น และยังเป็นการหา Audience ที่ตรงกลุ่มได้มากขึ้นอีกด้วย 

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำธุรกิจ B2B ซึ่งมีสินค้าและรูปแบบบริการที่ซับซ้อนกว่าธุรกิจในรูปแบบ B2C ที่ซื้อแล้วจบไป การวัดผลลัพธ์ของธุรกิจคุณก็คงจะไม่ใช่ยอด Impression สูงๆ จากการทำคอนเทนต์ตามกระแส (Topical Content) ที่เรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือการเข้าถึงในปริมาณมากๆ 

แต่ควรจะเป็นการวัดผล Conversion จากการทำการตลาดในกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ตาม Sales cycle ที่เหมาะสมกับธุรกิจประเภท B2B ที่มีกระบวนการตัดสินใจซื้อ-ขายที่ยาวนานมากกว่า

ความเชื่อที่ 3: Social Media เป็นเรื่องของ Top of Funnel

ปกติแล้วเรามักคุ้นชินภาพของการใช้ Social Media ในการสร้าง Brand Awareness ซึ่งถือเป็น Sale Funnel ขั้นบนสุด ของกระบวนการการขายที่สามารถเปลี่ยนจากคนแปลกหน้าให้เป็นคนรู้จักได้ 

 Tofu-mofu-bofu

ที่มา: webascender

ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น…เพราะเราสามารถใช้ Social Media เพื่อนำไปสู่ขั้น MOFU และ BOFU ซึ่งเป็นขั้นที่กลุ่มเป้าหมายเริ่มพิจารณาหาทางเลือก (Consideration) และขั้นของการตัดสินใจซื้อ (Decision) ได้ด้วยเช่นกัน

ปรับความเข้าใจใหม่

แล้วเราใช้ Social Media ในขั้น MOFU และ BOFU ได้อย่างไร? 

  • ตัวอย่างการใช้ Social Media ในขั้น MOFU

ในขั้น MOFU เป็นขั้นของการพิจารณา การหาข้อมูล (Consideration) ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากบนโลกออนไลน์ เพราะอาจจะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ในไม่กี่วินาที โดยเราสามารถใช้ Social Media เข้ามาช่วยกระตุ้นในขั้นนี้ได้ เช่น การยิง Ad โฆษณา เมื่อคนเห็น Ad แล้วเกิดความสนใจ ก็จะทักมาสอบถาม และอาจจะตัดสินใจซื้อได้เลยทันที หรือการทำคอนเทนต์บน Social Media เพื่อสนับสนุนการขาย หรือโปรโมตโปรโมชั่นที่ช่วยให้คนสนใจ และเกิดความรู้สึกอยากซื้อมากยิ่งขึ้น

  • ตัวอย่างการใช้ Social Media ในขั้น BOFU

เช่น การทำ Call-to-Action บนโพสต์ที่ทำลงบน Social Media ที่ชัดเจน และเชื่อมโยงกันกับประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมายที่เคยได้รับจากคอนเทนต์ใน 2 ขั้นแรกที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการใช้ Retargeting Ad กับคนที่รู้ว่า เขามีความสนใจแน่ๆ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้อีกช่องทางหนึ่ง ฯลฯ

ความเชื่อที่ 4: การทำ Digital Marketing วัดผลลัพธ์การขายออฟไลน์ไม่ได้

เพราะในอดีตการทำการตลาดบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ไม่ได้เชื่อมต่อถึงกันเหมือนอย่างปัจจุบัน จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เราไม่สามารถวัดผลลัพธ์หรือ Tracking การทำ Digital Marketing ที่ส่งผลไปยังการขายของหน้าร้านได้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเราสามารถทำได้โดยการนำเครื่องมือมาช่วยได้แล้ว

ปรับความเข้าใจใหม่

สำหรับวิธีการวัดผลหรือ Tracking ในการซื้อขายแบบออฟไลน์ เราสามารถทำได้ง่ายๆ แล้วด้วยการนำ Tools ด้าน Digital Marketing ที่เรียกว่า CRM (Customer Relationship Management) ซึ่งเหมาะจะใช้กับธุรกิจรายใหญ่เข้ามาช่วย

เพียงแค่นำไฟล์ข้อมูลที่ได้ทั้งจากฟอร์มที่ให้ผู้ใช้งาน/ลูกค้ากรอก และติดตามกิจกรรมแบบออฟไลน์มาทำเป็นไฟล์ .CSV แล้ว Import เข้าระบบ เพื่อทำการ Matching ข้อมูลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ว่า มีกิจกรรมบนโลกออนไลน์อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจกลายมาเป็นลูกค้าของคุณจริงๆ เท่านี้คุณก็สามารถวัดผลลัพธ์ทางการตลาดออนไลนืที่ส่งผลไปยังออฟไลน์ได้แล้ว

แนะนำ CRM ที่ช่วยคุณได้

นอกจาก CRM แล้วคุณยังสามารถใช้เครื่องมือพื้นฐานอย่าง Facebook Offline Events ซึ่งเป็นเครื่องมือที่อยู่ใน Facebook Business Manager ที่ใช้วัดผลลัพธ์ว่ามีคนมองเห็นสินค้าหรือบริการของเราบนโลกออนไลน์แล้วกลายมาเป็นลูกค้าจริงๆ ที่หน้าร้านกี่คน ด้วยการนำข้อมูลของลูกค้าหน้าร้านมาเปรียบเทียบกับข้อมูลบน Facebook Pixle และโฆษณาของเราบน Facebook 

หน้าต่างของการ Tracking บน Facebook Business Manager โดยที่คุณสามารถเลือกสร้างรายชื่อแบบออฟไลน์ได้จากหน้านี้

ความเชื่อที่ 5: ต้องใช้ Media ให้ครบทุกแพลตฟอร์ม

คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า Omnichannel ที่หมายถึง การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง และการเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ รวมให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งคำนี้อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่า การที่จะทำ Digital Marketing ให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องใช้ Mediaให้ครบทุกแพลตฟอร์ม 

…ทั้งๆ ที่คุณไม่จำเป็นต้องเหนื่อยในการดูแลสื่อที่อยู่ในมือมากมายขนาดนั้นเลยสักนิด

ปรับความเข้าใจใหม่

จริงๆ แล้ว โจทย์ในการทำ Digital Marketing ของธุรกิจคือ การตามหาให้เจอว่า ลูกค้าหรือ Persona ของธุรกิจอยู่ที่ไหน เขาตัดสินใจซื้อสินค้าจากอะไร เขามีช่องทางไหนที่เลือกใช้ในการเข้าถึงสินค้าและบริการได้บ้าง หลังจากนั้นคือ การเสิร์ฟสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ถึงที่ที่พวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม ซึ่งนี่ก็คือความหมายของการทำ Omnichannel ที่ถูกต้อง 

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำธุรกิจขายเสื้อผ้า อาจจะเริ่มจากการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นอย่างไร  พวกเขาชอบที่จะใช้แพลตฟอร์มไหนในการซื้อของบ้าง เช่น พวกเขาอาจจะหาดูเสื้อผ้าจาก IG เป็นหลัก แต่ถ้าจะให้ซื้อจริงๆ จะต้องทำการทัก Line มาเพื่อสอบถามข้อมูล หรืออาจจะ Inbox มาทาง Facebook แทน แต่สุดท้ายอาจจะต้องการเห็นซื้อสินค้าแล้วเดินมาช็อปที่หน้าร้านเองเลยก็ได้ เป็นต้น

ความเชื่อที่ 6: ทำ Digital Marketing ไม่จำเป็นต้อง Cross Platform

จากความเชื่อในข้อที่แล้ว ถึงแม้จะมีหลายแพลตฟอร์มในมือ แต่ถ้าคุณไม่ได้สนใจที่จะใช้งานในแต่ละ Platform ให้ Cross กันได้จริง ผลลัพธ์ของการเข้าถึงตัวเป้าหมายก็ยังเป็นไปไม่ได้อยู่ดี เพราะโจทย์ของการทำ Digital Marketing ในทุกวันนี้ คือการเข้าไปให้ถึงในทุกๆ ที่ที่เขาอยู่นั่นเอง

ปรับความเข้าใจใหม่

ลองสมมติง่ายๆ ว่า คุณกำลังจะซื้อของสักชิ้นที่มีมูลค่า อาจจะเป็นรถหรือบ้าน คุณจะทำอะไรบ้าง?

คุณอาจจะเริ่มจากการ Search ข้อมูล, ดูรีวิวจาก Youtube, เข้าชมเว็บไซต์จากหลายๆ แพลตฟอร์ม จนสุดท้ายอาจจะไปเจอ Social Ad ก่อนจะตัดสินใจซื้อ หรือถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ คุณกลับเจอ Retargeting Promotion ใน Social Media อีกรอบ และนั่นเป็นโปรโมชั่นที่คุณตามหา สุดท้ายคุณจึงตัดสินใจซื้อในที่สุด 

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีตายตัว แต่ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่คนทำธุรกิจและนักการตลาดจะต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ เพื่อให้เจอจุดที่นำมาสู่การทำการตลาดแบบ Cross platform แบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายให้กับธุรกิจได้อีกด้วย

ความเชื่อที่ 7: เลือกใช้เครื่องมือที่ดีที่สุดนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

Marketing Tools ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการทำ Digital Marketing ให้สำเร็จและได้ผลดี แต่การใช้ Tool ที่ดีที่สุด ไม่ได้รับประกันว่า จะช่วยทำให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่คุณหวังไว้ออกมาในรูปแบบที่ดีที่สุดได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่คุณต้องคำนึงถึงด้วย

ปรับความเข้าใจใหม่

เพราะศาสตร์การทำ Digital Marketing มีมากมายหลายอย่าง จึงไม่มี Tool ไหนที่ใช้แล้วดีที่สุด ตอบโจทย์ที่สุดสำหรับทุกคน

ดังนั้น การเลือกเครื่องมือจึงควรอยู่ที่ความเหมาะสมในหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของทีมงาน, รูปแบบของลูกค้า, ความสามารถของทีม, ฟีเจอร์ของ Tool, งบประมาณที่มี ฯลฯ มากกว่าการเชื่อในรีวิวที่มีคนบอกมาเพียงอย่างเดียว แต่ควรนำปัจจัยที่ว่ามานี้ หยิบมาประกอบการพิจารณาควบคู่ไปด้วย

Shifu แนะนำ
แต่ถ้าคุณอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับ Marketing Tools ที่ไม่ใช่แค่การรีวิว แต่ยังบอกคุณสมบัติ และความเหมาะสมของการใช้งานให้คุณรู้ด้วย แนะนำให้ลองดูเครื่องมือที่เราแนะนำได้จากรายการ Martok Martech ของเราที่จะมาเล่าเรื่องของเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานของคุณง่ายขึ้นได้เลยที่ลิงก์นี้ >>> https://www.youtube.com/Contentshifu

ความเชื่อที่ 8: การตลาดคือการทำโฆษณา (Outbound Marketing)

หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องลงทุนสร้าง Assets หรือ Owned media ด้วย ในเมื่อมีช่องทางการทำโฆษณาที่สามารถลงทุนไปแล้วเห็นผลลัพธ์ได้เลยในทันทีอย่างการทำโฆษณา (Outbound Marketing) อีกทั้งยังมองว่านี่คือวิธีการทำการตลาดที่ช่วยทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้ด้วย

ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะการทำ Ad ช่วย Target กลุ่มเป้าหมายให้คุณได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่แผนการทำการตลาดในระยะยาวที่ยั่งยืน และใช้ได้ผลตลอดไป 

ปรับความเข้าใจใหม่

การทำ Owned media เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการทำ Digital Marketing ที่มีประสิทธิภาพ เพราะนี่คือช่องทางที่ยั่งยืนที่สุดที่คุณจะใช้ในการโปรโมต, สร้างฐานแฟน แถมยังได้เป็นเจ้าของข้อมูลของ Audience เอง ซึ่งข้อมูลนั้นคุณสามารถนำมาต่อยอดด้วยการฟูมฟักกลุ่มเป้าหมาย (ตาม Inbound Marketing Flywheel) จนสุดท้าย Convert กลับมาเป็นลูกค้า (Customer) ของคุณได้เรื่อยๆ อีกด้วย

ดังนั้น อย่าลืมที่จะแบ่งงบประมาณมาเพื่อพัฒนา Owned media ของคุณให้แข็งแรงมากขึ้นด้วยนะคะ 🙂

(ถ้าอยากรู้ว่า Owned media มีอะไรบ้าง และจะบริหารการใช้สื่อประเภทนี้ได้อย่างไร ตามอ่านต่อได้ในบทความ Paid, Owned, Earned Media คืออะไร ทำไมเราต้องรู้จัก แล้วจะบริหารยังไงให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด)

ความเชื่อที่ 9: ทำ SEO แล้ว ไม่ต้องทำ SEM

มีหลายคนเหมือนกันที่เข้าใจผิดว่า SEO = SEM (ซึ่งเรื่องนี้เราแก้ความเข้าใจผิดไปแล้วในบทความ SEM คืออะไร) และก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่มองว่า SEO SEM แต่ก็เลือกที่จะลงมือทำแค่ SEO มากกว่า เพราะการทำ SEM ดูแล้วไม่คุ้มค่า ต้องใช้เงินในการลงทุนทำ แถมยังดูไม่เท่เท่ากับการทำ SEO ซึ่งเป็น Traffic แบบ Organic ที่น่าลงทุนทำมากกว่า

ซึ่งก็ไม่ผิดที่คุณจะคาดหวังกับการทำ SEO เพราะนั่นเป็นช่องทางแบบ Evergeen อีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้คุณได้มาซึ่ง Traffic แต่รู้หรือไม่ว่า การหวังพึ่งพาแค่ SEO เพียงอย่างเดียว โดยไม่วางแผนการทำ SEM ควบคู่ไปด้วย อาจทำให้คุณสูญเสียความเป็นไปได้ในการขายไปแบบไม่รู้ตัวได้ด้วยเช่นกัน 

ปรับความเข้าใจใหม่

แน่นอนว่า การทำ SEO เป็นเรื่องที่ดีสำหรับธุรกิจ แต่ด้วยระยะเวลาที่กว่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์นั้นค่อนข้างนาน และมีความค่อยเป็นค่อยไป หากในช่วงนั้นคุณต้องการเพิ่มยอดขายแบบรวดเร็ว อยากได้ Lead ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายในทันที การทำ SEM เป็นอีกช่องทางที่ทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จัก และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงเป้าหมายมากที่สุดช่องทางหนึ่ง 

เพราะข้อดีของการทำ SEM ควบคู่ไปกับการทำ SEO ด้วยก็คือ จะช่วยทำให้ลูกค้าค้นหาเจอเราได้ง่าย (จากการBid ซื้อโฆษณาใน Keyword ที่กลุ่มเป้าหมายของเราค้นหา) และเราก็มีโอกาสนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงได้พบกับ Lead หรือผู้มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าเราได้มากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น การลงทุนทำ SEM จึงไม่ใช่แค่การเสียเงินซื้อโฆษณาไปแบบเสียเปล่า หากคุณตั้ง Objective ที่ตรงกับประสิทธิภาพที่ SEM สามารถทำให้คุณได้ รับรองว่าคุณจะได้ Conversion ที่ต้องการกลับมาอย่างแน่นอน

ความเชื่อที่ 10: Data = เก็บ

“Big Data” ยิ่งข้อมูลเยอะ ก็ยิ่งใช้ประโยชน์ได้มาก 

…นี่จึงเป็นที่มาของความเข้าใจผิดในข้อนี้ เพราะจริงๆ แล้ว ในการทำธุรกิจข้อมูลทั้งหมดที่คุณเก็บมานั้น อาจไม่ได้สร้างผลประโยชน์ให้คุณได้ หากคุณไม่รู้วิธีการนำมาใช้ให้ถูกต้อง

ปรับความเข้าใจใหม่

ถึงแม้ว่า การเก็บข้อมูลจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำ Digital Marketing แต่การตีความข้อมูลให้เกิด Insight นั้นกลับเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะการเก็บข้อมูลไว้เยอะๆ นั้นมีค่าใช้จ่ายแฝงมากมายที่คุณอาจไม่ได้คำนวณ แถมข้อมูลทุกอย่างนั้นอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่นำมาใช้ได้จริงด้วย 

อย่างของ Content Shifu เอง ก่อนหน้านี้เรามี Data Fields ที่เราใช้เก็บ Leads ทุกอย่างไว้ในนั้น แต่ไม่ได้ทำการแยกประเภท Leads ไว้อย่างชัดเจน จนสุดท้าย Fields นั้นไม่ได้นำมาใช้ให้ประโยชน์ได้จริง เพราะใช้งานยากมากจนเกินไป เราจึงต้องเสียเวลาในการทำ Fields ขึ้นมาใหม่อีกรอบ แต่คราวนี้เราเลือกเก็บเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นกับการทำการตลาดเท่านั้น

ความเชื่อที่ 11: ทำการตลาด ยิ่งมีเทคนิคเยอะ ยิ่งได้ผลลัพธ์ดี

บางคนเชื่อว่า จะทำการตลาดทั้งที ต้องรู้เทคนิคเยอะๆ และหยิบออกมาใช้ให้มากๆ แล้วผลลัพธ์ที่ได้มันจะออกมาดีเอง ซึ่งนั่นไม่จริงเสมอไป 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรู้ก็ส่วนหนึ่ง เทคนิคก็ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่สิ่งที่ควรโฟกัสมากกว่านั้นคือการรู้จักเลือกใช้ให้เป็นต่างหาก

ปรับความเข้าใจใหม่

ดังนั้น สิ่งที่คนทำ Digital Marketing ควรให้ความสำคัญเลยก็คือ.. 

  • รู้จักลูกค้า 

โดยตอบให้ได้ว่า Who (เขาเป็นใคร), What (เขาต้องการอะไร), Why (ทำไมเขาถึงเลือกใช้บริการของคุณ) และ How (วิธีการซื้อสินค้าหรือบริการ เขาเดินทางมาเจอคุณได้ยังไง)

  • เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า 

ถ้าหากสินค้าหรือบริการของคุณสามารถอยู่ช่วยเหลือและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ไม่ยากเลยที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อและใช้แบรนด์ของคุณ 

  • เลือกกลยุทธ์ที่ใช่ 

ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกเทคนิคที่คุณรู้มา ขอแค่คุณเลือกใช้เทคนิคด้านการตลาดแบบถูกคน ถูกที่ และถูกเวลาก็เพียงพอ

ความเชื่อที่ 12: การตลาดมีสูตรสำเร็จ 

เห็นคนอื่นทำสำเร็จมาแล้ว ลองทำตามบ้าง…แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่เหมือนกัน เพราะสูตรสำเร็จที่คุณคิดไว้นั้นไม่มีอยู่จริงในโลกของการทำ Digital Marketing ทุกคนจำเป็นต้องมี ‘ท่า’ เป็นของตัวเอง

ปรับความเข้าใจใหม่

แน่นอนว่า การเรียนรู้จากความสำเร็จของคนอื่นถือเป็นสูตรลัดที่ทำให้คุณไม่ต้องเสียเวลาคิดเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถหยิบเอา Case Study ในการทำ Digital Marketing ของใครไปใช้ได้เลยในทันที

เพราะทุกอุตสาหกรรมและทุกธุรกิจมีเป้าหมาย และรูปแบบการขายสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจงเป็นของตัวเอง หากคุณต้องการที่จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เข้าไปนั่งในใจลูกค้า เรื่องของการทำการตลาดเพื่อโปรโมต Branding คือจุดสำคัญที่ต้องโฟกัส ถ้าคุณไม่แตกต่าง ไม่ได้นำเสนอตัวเองในมุมใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ก็ยากที่จะเข้าไปเป็นตัวเลือกที่ลูกค้าของคุณต้องการได้

ดังนั้น คุณควรรู้ว่า รูปแบบการทำการตลาดแบบไหนถึงจะเหมาะกับธุรกิจและเข้าถึงใจกลุ่มลูกค้าของคุณได้มากที่สุด มากกว่าตามหาหรือพยายามทำตามสูตร (ที่คิดว่า) สำเร็จเพียงอย่างเดียว

ความเชื่อที่ 13: ความสำเร็จจะคงอยู่ตลอดไป

มีหลายธุรกิจเหมือนกันที่เริ่มทำ Digital Marketing แล้วก้าวไปสู่จุดที่เรียกได้ว่า คุ้มทุน หรือกระโดดไปถึงจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นเลือกที่จะหยุดทำ เพราะเชื่อว่า ความสำเร็จนี้จะคงอยู่ตลอดไป 

ปรับความเข้าใจใหม่

คุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้หรือเปล่า? 

Ad ตัวเดิมที่เคยยิงได้ดี …ไปๆ มาๆ ก็เริ่มเฉา

Ranking ที่เคยติดหน้าแรก Google …ไปๆ มาๆ ก็เริ่มตก

นั่นแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จของการทำ Digital Marketing นั่นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เส้นชัยที่คุณมองหานั้นไม่ได้มีอยู่ตรงหน้า แต่คุณต้องพัฒนากลยุทธ์และแผนการด้านตลาดไปเรื่อยๆ เพราะในทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อัลกอริธึมต่างๆ ทั้งของ Social Media และ Search Engine ก็มักจะอัปเดตให้ใหม่อยู่เสมอ 

ดังนั้น เราในฐานะของคนทำงานด้านนี้ จึงมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน Digital Marketing เพื่อให้ปรับตัวและแข่งขันกับตลาดได้อยู่ตลอดเวลา

สรุป

จะเห็นได้ว่า หลายความเชื่อเกิดจากชุดข้อมูลเดิมๆ ในอดีตที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องถูกต้องมาก่อน หรือเป็นอาจจะเป็นเทคนิคที่ได้ยินต่อๆ กันมา แต่หยิบมาทำตามกันแบบผิดวิธีหรือยังคงมีความเข้าใจผิดอยู่  

ก็หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ที่ช่วยทำให้คุณได้มุมมองการทำ Digital Marketing ที่ถูกต้อง และช่วยให้คุณสามารถวางแผนและคาดหวังผลลัพธ์ที่ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้นนะคะ 

Shifu แนะนำ
ทำธุรกิจแล้วอยากเข้าใจวิธีการทำ Digital Marketing ให้มากขึ้น

เรามีคอร์สที่ช่วยให้ทำให้ทีมผู้นำในองค์กรของคุณได้ลงมือทำ Workshop ในโจทย์ธุรกิจจริง พร้อมลองแก้ปัญหาของทีมเกี่ยวกับการทำ Digital Marekting จริงด้วยคอร์สอบรมภายในองค์กร

พิเศษ! สมัครเรียนตอนนี้ เราออกแบบหลักสูตรเพื่อองค์กรของคุณโดยเฉพาะด้วยนะคะ [ดูรายละเอียดได้ที่นี่ ????]

New call-to-action

ตาคุณแล้ว

It All Starts With Your Mindset! 

อ่านมาถึงตรงนี้มีความเชื่อไหนที่คุณยังทำอยู่บ้าง? ถ้ายังมีนี่คือโอกาสดีที่คุณจะได้ลองเปลี่ยนกลยุทธ์การทำ Digital Marketing ใหม่แล้วนะคะ 

ถ้าลองปรับแล้วดีขึ้น อย่าลืมมาแชร์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณให้เรารู้ เพื่อเป็น Case Study ต่อไปได้ในช่อง Comment ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ ????