สรุปปรากฏการณ์การปรับอัลกอริทึมของ Facebook ในประเด็นที่คนทำเพจควรทราบ
หลายๆ คนคงทราบกันอยู่แล้วว่าเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 Mark Zuckerberg ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการที่หน้าเพจของตน ถึงการปรับเปลี่ยน Facebook Newsfeed ให้เน้นโชว์ของเพื่อน ครอบครัว และกรุ๊ป มากกว่า …ซึ่งตีความว่าคอนเทนต์จากเพจจะลดบทบาทลงในหน้า Feed นั่นเอง…
นับเป็นประกาศที่เป็นปรากฏการณ์มากที่สุด เพราะสื่อทั้งไทยและเทศพร้อมใจกันรายงานข่าวนี้กันครึกโครม
คุณทราบ Core Value (คุณค่า) ของ Facebook แล้วหรือยัง?
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจนักสำหรับหลายคน เพราะเจ้าของเพจเห็นเองมาบ้างอยู่แล้ว (จากที่ก่อนหน้าได้เขียนไปในบทความ รวมบทสนทนาคลุกวงในวงการบล็อกเกอร์ ว่า “Facebook ลด Reach” เป็นหนึ่งในบทสนทนายอดฮิตที่ใครๆ ก็ชอบพูดกันในปีที่ผ่านมา)
ที่สำคัญกว่านั้นคือ อันที่จริงแล้ว ตั้งแต่ปี 2016 Facebook ก็เคยได้ออกมาพูดได้ทำนองนี้แล้วครั้งนึงในประกาศ Building a Better News Feed for You ในโพสต์นั้น Adam Mosseri ซึ่งเป็น Head of News Feed ของแพลตฟอร์ม ได้ระบุถึง Core Value ของมันว่า “Values เหล่านี้เป็นไกด์ไลน์ให้กับแนวคิดของเรา และเป็นแนวทางที่เราใช้รักษาแก่นของ News Feed เวลาที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้น”
สรุป News Feed’s Core Value เด่นๆ ที่เขาพูดถึง เช่น
- เพื่อน และครอบครัว มาก่อน >> ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับที่มาร์กประกาศออกมาในปี 2018 นี้
- ‘ข้อมูล' ที่น่าสนใจ มาก่อน >> ในที่นี้เราตีความได้ว่าหมายถึง คอนเทนต์ที่มีประโยชน์
- โพสต์ที่ ‘น่าสนใจ/น่าสนุก' มาก่อน >>ในที่นี้เราตีความได้ว่าหมายถึง คอนเทนต์ที่พบว่ามี Engagement ดี
- เรื่องจริง เรื่องเชื่อถือได้ (“Authentic”) มาก่อน
แน่นอนว่าการมี Core Value มันคือการมีแก่นที่นำมาสู่ Actions ค่ะ เช่น การลงโทษข่าวปลอม หรือพวก click-bait พวกคอนเทนต์สแปม เพราะขัดต่อความ Authentic (เฟสบุ๊คเรียกโพสต์พวกนี้ว่า Hoaxes)
เมื่อศึกษาดูมากขึ้นก็พบว่า ประกาศหลายๆ ประกาศของ Facebook ก่อนหน้านี้ มีประโยชน์มากสำหรับหลายๆ คนกำลังสนใจว่าจะปรับตัวอย่างไรดี
…จึงนำมาสู่จุดประสงค์ของบทความนี้คือ การสรุปความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่ Facebook เคยออกมาประกาศเกี่ยวกับแนวทางการทำงานของเฟสบุ๊ค หรือที่เราเรียกกันว่า อัลกอริทึมของเฟสบุ๊ค (Facebook's Algorithm)
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
สรุป 7 อัลกอริทึมน่าสนใจใน Facebook ที่คุณอาจจะพลาดไป
จาก Core Value ข้อสามที่เราตีความว่า Engagement ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง นับเป็นเรื่องที่เราว่าหลายๆ คนก็คงรู้กันอยู่แล้ว และคงตั้งหน้าตั้งตาปลุกปั้น Engagement กันอย่างเต็มที่
แต่อย่าเพิ่งมุทะลุไปในทางนั้นก่อน เพราะอัลกอริทึมของเฟสบุ๊ค (Facebook's Algorithm) เองก็คิดมาตรการต่างๆ ออกมาค่อนข้างละเอียด ซึ่งสิ่งที่เราอยากให้คุณทราบก่อน ได้แก่
1. Engagement ไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพของพฤติกรรมด้วย
เรามักจะคุ้นเคยว่า Engagement หมายถึงปริมาณยอด Likes หรือ Reactions ต่างๆ, ยอด Comments และยอด Shares แต่ความจริงนอกจากตัวชี้วัดเชิงปริมาณแล้ว แพลตฟอร์มยังสนใจตัวชี้วัดเชิงคุณภาพด้วย
ดังที่ Software Engineer ของเฟสบุ๊คได้ออกมาอัปเดตระบุว่า “จากการศึกษาในครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าเรื่องราวแบบไหนที่คนจะสนใจอยากเห็นเป็นอันดับแรกๆ ในหน้าฟีด แม้ว่าพวกเขาจะไม่คลิก ไม่กดไลก์ หรือไม่คอมเมนต์ก็ตาม” อีกทั้งยังบอกว่า “เรื่องราวที่จะได้เห็นต้นๆ นั้น จะมีทั้ง 1.) โพสต์ที่เราคิดว่าคุณจะกด Engage (Like/ Comment/ Share) และ 2.) โพสต์ที่(จากการศึกษาของเรา)เราคิดว่าคุณจะสนใจ ทั้งสองอย่างผสมกัน”
แม้ว่าจะไม่ได้ออกมาเปิดเผยชัดๆ ว่าดูยังไง วัดอะไรบ้าง แต่ก็มีกูรูหลายท่านเคยยกตัวอย่างเกี่ยวกับการวัดคุณภาพมาบ้าง เช่น Jon Loomer ที่ได้เขียนไว้ว่า “Ultimately, posts that lead to long, thoughtful comments will have the most success on Facebook. And it just makes sense.” หรือก็คือ โพสต์ที่มีคอมเมนต์ที่เขียนแบบผ่านกระบวนการคิดมาก่อนพอสมควร (ไม่ใช่คอมเมนต์ง่ายๆ สั้นๆ ปริมาณมาก)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประกาศล่าสุดของ Mark รวมถึงบทสัมภาษณ์ของ Adam Mossei ที่ย้ำนักหนาถึง ‘Meaningful social interactions' จึงน่าเชื่อถือว่า Facebook มีตัวแปรเชิงคุณภาพของ Engagement มาวัดร่วมด้วยไม่ใช่เพียงเฉพาะปริมาณ
2. มีบทลงโทษสำหรับ Engagement ที่ไม่เป็นธรรมชาติ
ลองดูวีดีโอนี้สิคะ..
.
.
แฮ่! เมื่อครู่คุณแอบเผลอคิดว่ารูปข้างบนเป็นวิดีโอจริงๆ หรือเปล่า?
หากคุณจะเผลอคิดแบบนั้นก็ไม่แปลกค่ะ เพราะทั้งแคปชันและรูปของเรา มันค่อนข้างจงใจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นวิดีโอ
ลักษณะแบบด้านบนเราเรียกว่า Video Clickbait หรือการลงภาพที่หลอกว่าเป็นวิดีโอเพื่อให้คนคลิก เมื่อคนคลิกก็เป็นการหลอกเฟสบุ๊คว่า คน Engage นะ เรียกได้ว่าทำเอาตอนเดือนสิงหาคม 2017 เฟสบุ๊คต้องออกมาประกาศว่าจะมีมาตรการลงโทษโพสต์ที่แอบโกง Engagement เช่นนี้
นอกจากกลนี้แล้ว ยังมีกลต่างๆ อีกมากมายที่มีคนหัวใสคิดขึ้น นั่นทำให้ตอนธันวาคม 2017 ถึงกับต้องออกมาประกาศจะต่อต้านพฤติกรรม ‘Engagement Bait' ทั้งปวง (หลอกเพื่อปั๊ม Engagement) อย่างจริงจัง
โดยตัวอย่างคอนเทนต์ประเภทดังกล่าว Facebook ได้ออกมายกตัวอย่างอย่างเช่น
- Vote baiting: โพสต์ที่ขอให้คนโหวตด้วยการกด Reaction
- React baiting: โพสต์ที่เขียนแคปชันขอให้คน React กันตรงๆ
- Share baiting: โพสต์ที่ขอให้คนกดแชร์ เพื่อแลกมาซึ่งอะไรบางอย่าง
ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
รวมถึงก่อนหน้านี้ที่เคยประกาศมาแล้วว่าไม่ปลื้ม ก็คือการเขียนแคปชันสไตล์ Clickbait หรือแม้กระทั่งการแชร์หน้าเว็บที่มีหัวข้อในนั้นเป็นข้อความสไตล์ Clickbait เช่น “เธอก้มมองไปยังใต้เตียงของเธอ และพบกับ ‘สิ่งนี้' !!” หรือ “ว้าว! ชาขิงนี่แหละคือความลับแห่งความเยาว์วัย ไม่เชื่อคุณต้องลองดูนี่!” สำหรับอะไรแนวๆ นี้ ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มจะไม่ชอบ เชื่อว่าคนอ่านเองก็ไม่ชอบเช่นกัน = =*
3. วัดคุณภาพของคอนเทนต์
เมื่อข้อหนึ่งได้พูดถึงคุณภาพของการ Engage ไป ทีนี้ขอกลับมาที่ประเด็นรากฐานที่สุดที่ใครๆ ก็พูดกัน คือเรื่อง Quality หรือคุณภาพของคอนเทนต์
ที่ Facebook นั้น เขาเรียกคอนเทนต์ที่ดีว่าเป็น ‘Informative' คือให้ข้อมูล มีเนื้อหาสาระ
หากสาระดี ถึงแม้จะเป็นการแชร์ลิงก์จากเว็บภายนอก Algorithm ของเขาก็ระบุว่าให้การต้อนรับดีบนฟีด และจะพยายามเอาลิงก์ที่ไม่ได้คุณภาพออกไป
บล็อกของ Buffer เคยเขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และให้ข้อมูลว่า จากประสบการณ์ของพวกเขา ทั้งคอนเทนต์ที่ให้ความรู้ และคอนเทนต์ที่ให้ความสนุก ล้วนมีผลลัพธ์ที่ดีบน Facebook
มีข่าวดีสำหรับคนทำคอนเทนต์คุณภาพอีกเรื่องก็คือ เมตริกซ์อย่าง ‘Time spent viewing' (เวลาที่ใช้ในการดู) ก็ถูกติดตาม หากคอนเทนต์มีการใช้เวลาในการอ่านมาก ก็ย่อมดีกว่าที่คนแทบจะไม่หยุดอ่าน ซึ่งโพสต์ที่ยาวอาจได้เปรียบ หรืออาจไม่ได้เปรียบก็ได้ เพราะจริงๆ เขาวัดที่เวลาเมื่อเทียบกับความยาวของโพสต์ด้วย
4. ความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มา
ต่อเนื่องเกี่ยวกับการแชร์ลิงก์ อีกประกาศหนึ่งที่ออกมา ก็ระบุเรื่อง Context About Articles เล่าว่า Facebook มีการอัปเดตเรื่องการเก็บโปรไฟล์ของเว็บต่างๆ ว่าเว็บไหนเป็นเว็บที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ และแสดงข้อมูลออกมา
“เพื่อให้คุณตัดสินใจได้ว่าบทความไหนเป็นบทความที่ น่าอ่าน น่าแชร์ น่าเชื่อถือ” กล่าวโดย Andrew Anker ตำแหน่ง Product Management Director ส่วน News ลองเข้าไปดูวีดีโอด้านในที่เขาพูดถึงเรื่องนี้ได้ค่ะ
5. วัดคุณภาพประสบการณ์การใช้งานของเว็บ (UX)
ปัจจัยเกี่ยวกับตัวประสิทธิภาพของเว็บไซต์นั้นๆ เองก็มีผลเหมือนกันนะ ปัจจัยเหล่านี้ Google's Algorithm เองก็ใช้วัดและจัดอันดับเว็บ ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่
- ประสบการณ์ของผู้ใช้ (UX)
กล่าวโดยสรุปคือ เว็บไหนที่ดูเหมือนสแปม หรือมีประสบการณ์ของผู้ใช้งานที่ไม่ดี (UX ไม่ดี) เขาก็จะไม่อยากนำมาแสดงในหน้าฟีด
6. ไม่โอเคมากๆ กับข่าวปลอม
สำหรับเรื่องคอนเทนต์ ‘ความถูกต้อง' เป็นประเด็นสำคัญ เพราะ ‘ข่าวปลอม' มีออกมาตาม Social media เยอะมาก และเป็นศึกที่แพลตฟอร์มโดนข้อกล่าวหาบ่อยๆ
สิ่งที่ควรทราบคือ Facebook มีทีมงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องข่าวปลอมโดยเฉพาะ หากตรวจจับได้มีการลงข่าวปลอม เพจนั้นทั้งเพจจะถูกบล็อกไม่ให้สามารถซื้อ Ad ได้ (ประกาศเมื่อสิงหาคม 2017)
7. ไม่ใช่ทุกวีดีโอมีค่าเท่ากัน
ใครๆ ก็เห่อวีดีโอ เพราะดูจะเป็นอะไรที่เหมือนว่า Facebook จะพยายามดันอย่างเต็มที่ แต่ว่าไม่ใช่ทุกวีดีโอมีค่าเท่ากัน
หากเป็นประเภทวีดีโอ การวัด Engagement จะมีความลึกถึงระดับความตั้งใจจะดู และการกลับมาดูซ้ำ
ความตั้งใจจะดู (Intent) เช่น การที่คนค้นหาจากการเสิร์ช หรือคลิกดูวีดีโอโดยตรงจากหน้าเพจ
สำหรับการกลับมาดูซ้ำ วัดเป็นระดับเพจ ถ้าคนนั้นชอบดูวีดีโอเพจนั้นซ้ำๆ ก็จะมีโอกาสนำมาโชว์มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอัตราปริมาณการดู ว่าดูนานแค่ไหน นับเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยหากเป็นวีดีโอที่ยาวและมีเปอร์เซนต์เท่ากันกับวีดีโอที่สั้น วีดีโอที่ยาวนั้นจะได้รับการแสดงผลมากกว่า (นับว่าคิดมาเป็นอย่างดี เพราะวีดีโอที่ยาวมีโอกาสต่ำกว่าที่คนจะตั้งใจดู แปลว่ามันต้องดีจริง)
สรุป
ปรับตัว
การลดการแสดงผลของเพจบน News Feed ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แค่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเริ่มยอมรับ ว่า Social Media ไม่ใช่บ้าน บทความนี้ไม่ได้บอกให้คุณทุบที่นี่ทิ้ง เพราะ Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญ เพียงแต่หากเราอยู่บ้านเช่า เราก็ต้องปรับตัวตามกฏของสถานที่นั้นๆ และบทความนี้ก็เป็นการรวบรวมแนวคิดทั้งหลายที่เจ้าบ้านเคยประกาศออกมา
ครีเอทีฟ บนพื้นฐานของความเป็นธรรมชาติ
คนไทยเรามีความคิดสร้างสรรค์ แต่ทว่าบางครั้งความคิดสร้างสรรค์แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจนำมาซึ่งแนวทางที่ผิดก็เป็นได้ กลยุทธ์ Engagement Bait เป็นกลยุทธ์ที่อาจเคยเท่ แต่ตอนนี้กลับไม่ใช่แนวทางที่ดีเสมอไป
สุดท้ายมันเหมือนเรากลับมาอยู่ในทางสามัญ เน้นความจริงกันมากขึ้น เน้นงานคุณภาพ และสร้างฐานผู้ติดตามอย่างเป็นธรรมชาติ นี่ยังคงเป็นแนวทางที่ใช้ได้ดี ไม่ว่าคุณจะสนใจมีบ้านในแพลตฟอร์มไหน
ตาคุณแล้ว
หวังว่าบทความสไตล์รวบรวมข้อมูลและสรุปให้ชิ้นนี้จะ ‘Informative' และ ‘Authentic' สำหรับคุณ หากคุณมีความคิดเห็นหรือมีข้อมูลน่าสนใจที่คุณจะพบเจอมาอยากมาแชร์ คุยกับเราในคอมเมนต์ได้เลยค่ะ