Blog

10 เทรนด์ MarTech ของประเทศไทยประจำปี 2025 อ้างอิงจาก Thailand’s MarTech Report 2025

• 7 กุมภาพันธ์ 2025

เทรนด์ MarTech ในประเทศไทย ประจำปี 2025

Share on

Share on

MarTech หรือ Marketing Technology เป็นคำศัพท์ที่มาแรงมากๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทุกๆ ปี Content Shifu และ Hummingbirds Consulting จะร่วมมือกันจัดทำ Thailand’s MarTech Report ขึ้นมา เป็นระยะเวาติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว ซึ่ง Thailand’s MarTech Report 2025 เป็นเล่มล่าสุดที่เราจัดขึ้นมา

และผมอยากเอา 10 เทรนด์ที่น่าสนใจที่วิเคราะห์มาจากข้อมูลใน Report รวมถึง Insight ที่ผมได้มาจากการทำงานร่วมกับ Brands, MarTech Providers และ Platforms ต่างๆ มาแชร์ให้คุณได้อ่านกันครับ

ถ้าพร้อมแล้ว มาอ่านกันไปทีละข้อเลย!

Thailand's MarTech Report 2025

ป.ล. ถ้าคุณอยากศึกษาเพิ่มเติม คุณสามารถเข้าไปดาวน์โหลด Thailand’s MarTech Report 2025 เวอร์ชั่นภาษาไทย กว่า 140 หน้าได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

10 เทรนด์ MarTech ของไทยปี 2025

1. คนรู้จัก เข้าใจ และตื่นตัวเรื่อง MarTech มากขึ้น

ช่วง 3-4 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปพูด ไปแชร์ เรื่อง MarTech ที่บริษัทต่างๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งหนึ่งในคำถามสำคัญที่ผมชอบถามผู้เรียนก่อนเริ่มคือ “มีใครเคยใช้ MarTech บ้าง?” และ “มีใครที่เคยได้ยิน MarTech บ้าง?”

ในช่วง 3-4 ปีก่อน แทบจะไม่ค่อยมีใครยกมือเลย แต่มาในปี 2024-2025 เวลาผมถาม 2 คำถามนี้ มีคนยกมือแสดงตัวขึ้นมามากกว่าก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด (ประมาณ 25-30% ของคลาสเลย)

นอกจากนั้นแล้ว ตัว Thailand’s MarTech Report ปี 2023 & 2024 นั้น ก็ถูกดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 10,000 ครั้งด้วย ซึ่งผมคิดว่าเล่มของปี 2025 ก็น่าจะมีอัตราการถูกดาวน์โหลดที่มากไม่แพ้ปีที่ผ่านๆ มาแน่ๆ ครับ

2. ว่าด้วยเรื่องงบประมาณที่ธุรกิจต่างๆ ลงทุนใน MarTech

ข้อมูลจาก Thailand’s MarTech Report 2025 ได้สรุปไว้ว่า ค่าเฉลี่ยของงบประมาณของ MarTech เมื่อเทียบกับรายได้องค์กรจะอยู่ที่ 4% และเมื่อเทียบกับงบการตลาดทั้งหมดจะอยู่ที่ 32%

แต่ถ้าดูเป็นค่ากลาง ค่ากลางของงบประมาณของ MarTech เมื่อเทียบกับรายได้องค์กรจะอยู่ที่ 1% และเมื่อเทียบกับงบการตลาดทั้งหมดจะอยู่ที่ 20%

ผมแนะนำให้คุณลองเอาไปเปรียบเทียบกับงบที่องค์กรคุณวางไว้ดูว่าเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับตัวเลขด้านบน ถ้าตัวเลขน้อยกว่ามากๆ การพิจารณาลงทุนเพิ่มขึ้นอาจจะเป็นเรื่องที่ดีเพื่อทำให้คุณแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ ได้

💡 Shifu แนะนำ

ใน Report เล่มนี้มีการใส่ค่ากลางเข้ามาด้วยเนื่องจากว่าตัวเลขในบริษัทของผู้ตอบแบบสอบถามมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ถ้ามีข้อมูลแค่ค่าเฉลี่ย อาจจะทำให้การตีความมีการผิดเพี้ยนไป อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าเฉลี่ยและค่ากลางได้ที่นี่

3. จักรวาล MarTech จะยิ่งแตกหมวดหมู่ย่อยมากขึ้น

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผมได้เห็น MarTech ไทยเกิดใหม่ที่น่าสนใจอยู่หลายตัว เช่น AI Beacon (Location-based Ads บน LINE) หรือ Etailligence (eCommerce Listening Platform)

Platform ต่างประเทศเองก็วางแผนที่จะเข้ามาในตลาดไทยเยอะมากๆ หรือตัวที่อยู่อยู่แล้วก็วางแผนที่จะทำการตลาดแบบเจาะจงที่ประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะ MarTech ที่จับตลาดลูกค้าที่ขาย Consumer Products ที่ผมได้คุยกับพวกเขามากเป็นพิเศษเลย

แต่สำหรับ Platform สาย B2B นั้นยังมีน้อยอยู่ และผู้เล่นต่างชาติก็อาจจะยังไม่ได้พยายามเข้ามาตีตลาดในไทยมากนัก ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสของ Local Platform ที่อยากครองตลาดเลย

เนื่องจากว่าตัวเลือก MarTech มาหลากหลายมาก ผู้เลือก MarTech Tools จึงควรจะเจาะจงประเภทและ Use Case ของ MarTech ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้เครื่องมือที่ตอบโจทย์ที่สุด โดยที่ไม่ต้องมีการปรับแต่งเพิ่มเติม หรือเชื่อมต่อกับ MarTech อื่นๆ เพิ่มเติมมากนัก

เช่นถ้าจะเลือก MarTech สาย CRM ก็ต้องเจาะลึกลงไปว่าต้องการหา CRM สำหรับธุรกิจแบบ B2C หรือ B2B หรือถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็ต้องลองดู CRM สำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะของคุณเลย (ในตลาดมี MarTech หลายๆ ตัวที่ถูกสร้างขึ้นเฉพาะบางอุตสาหกรรมเช่น Healthcare หรือ Construction)

นอกจากเรื่องอุตสาหกรรมแล้ว ขนาดธุรกิจที่แตกต่างกัน ก็อาจจะนิยมใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นถ้าในหมวดหมู่ย่อย CRM for B2B องค์กรขนาดเล็ก (มีพนักงานในองค์กรต่ำกว่า 100 คน) จะนิยม HubSpot มากที่สุด (13%) ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ขึ้น (มีพนักงานในองค์กรมากกว่า 200 คน) จะนิยม Salesforce มากที่สุด (15%)

4. MarTech Stack ไม่ใช่แค่ MarTech Tools

จากรูปทางด้านบนจะเห็นได้ว่าปริมาณ MarTech Tools ที่คนวางแผนจะเลือกใช้นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าในปี 2024 จะตกลงเหลือเฉลี่ยแค่ 13.16 เครื่องมือ แต่ในปี 2025 นั้น คนวางแผนจะใช้งาน MarTech Tools เฉลี่ยถึง 19.28 เครื่องมือเลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้วจำนวนหมวดหมู่เฉลี่ยที่ใช้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น เวลามองเรื่องการใช้เครื่องมือ MarTech ไม่ควรจะมองเครื่องมือเป็นตัวๆ แต่ควรจะมองเป็น Stack หรือมองว่าจะทำให้เครื่องมือหลายๆ ตัวที่คุณจำเป็นต้องใช้ทำงานร่วมกันได้อย่างไร

เพราะถ้า MarTech ไม่เชื่อมกัน ปัญหานี้คือตัวอย่างปัญหาที่อาจจะเกิดได้ เช่นลูกค้าอัปเดตอีเมลบน Website แล้ว ในถัง CRM ไม่อัปเดต ส่งผลให้ประสบการณ์ลูกค้าไม่ดี

5. ความง่ายและความคุ้นชินเป็นเรื่องสำคัญ

MarTech ที่ใช้งานง่าย มีโอกาสที่จะถูกเลือกใช้งานสูงกว่า ตัวอย่างเช่น Canva ที่ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกมือใหม่หรือมือโปรก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ หรือเครื่องมือ Project Management ที่ฟีเจอร์ไม่เยอะแต่ใช้งานง่ายอย่าง Trello ก็เป็นตัวที่คนเลือกใช้งานเยอะมากๆ เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว MarTech ที่อยู่ในตลาดมานานกว่าและยังใช้งานได้ดี ก็เป็นกลุ่ม MarTech ที่มีผู้ใช้งานเยอะเช่นกัน เพราะความคุ้นชินเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งการเปลี่ยนไปใช้ MarTech ตัวอื่นยังมี Switching Cost ที่สูงทั้งในแง่ งบประมาณ เวลาในการ Implement และเวลาในการเรียนรู้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น SEO Plugin อย่าง Yoast ที่ยังมีผู้ใช้งานเยอะในสาย SEO ทั้งๆ ที่ SEO Plugin ตัวใหม่มาแรงอย่าง RankMath นั้นมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจและหน้าตาที่ใช้งานง่ายกว่า

6. MarTech ที่ดี จะเริ่มเป็น AI-Embedded Tool

การใช้งาน GenAI กลายเป็นกระแสหลักมา 2-3 ปีแล้ว ซึ่งส่วนมากนักการตลาดมักจะใช้ GenAI ไปกับเรื่องการหาไอเดีย ขยายไอเดีย หรือการสร้างคอนเทนต์

แต่ในโลกของ MarTech AI ถูกเอามาใช้งานมากกว่านั้น

โดยที่ MarTech เจ๋งๆ หลายๆ รายเริ่มที่จะเอา AI เข้ามาผสมผสานใน Workflow การทำงานของตัวเครื่องมือ (หรือที่ผมชอบเรียกว่า AI-Embedded Tool) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดของ Salesforce ที่เปิดตัว Agentforce ที่เป็น Agentic AI ช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ GenAI ในการ Support ลูกค้าได้แล้ว

และมันมี Use Case อื่นๆ อีกมากมาย ที่ MarTech ชั้นนำทำ

7. ธุรกิจเริ่มเข้าใจว่าจะต้องเริ่มจาก Strategy ไม่ใช่ Tools

หนึ่งในเนื้อหาสำคัญใน Thailand’s MarTech Report คือหลัก 5P ที่คนที่อยากใช้ MarTech ให้สำเร็จต้องเข้าใจ

ซึ่ง P ที่ 1 ที่เป็น P เริ่มต้น ไม่ใช่ Platform แต่เป็น Planning & Strategy

ซึ่งเนื้อหาในข้อนี้เป็นข้อที่ต่อเนื่องมาจากข้อ 1 (คนรู้จัก เข้าใจ และตื่นตัวเรื่อง MarTech มากขึ้น)

เมื่อคนและธุรกิจรู้จัก เข้าใจ และตื่นตัวมากขึ้น ก็จะเข้าใจว่า MarTech ไม่ใช่ไม้กายสิทธิ์ที่จะเสกผลลัพธ์ให้ได้ทุกอย่าง แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แผนที่วางไว้ประสบความสำเร็จ

8. MarTech ต่างชาติให้ความสำคัญกับประเทศไทยมากขึ้น

เท่าที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ MarTech Providers ต่างชาติหลายๆ เจ้ามา ประเทศไทยคือหนึ่งในตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะสำหรับ MarTech Providers ที่มีลูกค้าเป็นบริษัทที่ขายสินค้า/บริการให้คนจำนวนมาก (เช่น FMCG, Retail, Finance)

คือประเทศไทยอาจจะไม่ถึงกับเป็นตลาดหลักของพวกเขาใน Asia ไม่เป็นที่โฟกัสเท่าสิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี แต่ประเทศไทยอยู่ในวงสนทนาของ MarTech หลายๆ ราย เวลาเขาวางแผนการทำการตลาดในเอเชีย

และในงานแถลงข่าวของ Thailand’s MarTech Report 2025 ที่เรามีการแจก Awards ให้กับ MarTech ที่เป็นที่นิยมด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ MarTech ดังๆ ต่างชาติที่เราเชิญมาร่วมงานกันเกือบทุกเจ้า ทั้ง Salesforce, Canva, HubSpot, Zoom, Zendesk, Insider และอื่นๆ อีกหลายราย (จะมีแค่บางรายไม่ได้เชิญเพราะหาทางติดต่อ Contact Person ไม่ได้จริงๆ เช่น OpenAI หรือ WordPress)

นอกจากนั้นแล้ว Platform ดังๆ ที่โฟกัสประเทศไทยอยู่แล้วอย่าง Microsoft, Google, TikTok, LINE และ Meta ต่างก็มาร่วมงานด้วยเช่นกัน

ถ้าประเทศไทยไม่ใช่ตลาดที่พวกเขาสนใจและให้ความสำคัญ ผมคิดว่าพวกเขาก็อาจจะไม่ได้มากันเยอะขนาดนี้ครับ

ในฐานะ User ผมคิดว่าการขอให้ MarTech Providers มา Demo หรือ Present ข้อมูลให้ดู เป็นสิ่งที่ทำได้ และหลายๆ เจ้าพร้อมที่จะทำด้วยครับ ตราบเท่าที่คุณคุยกับเขาแบบ Corporate Deal ซึ่งผมคิดว่าถ้า Investment ต่อปี เกิน 100,000 บาทขึ้นไป น่าจะไม่ใช่เรื่องยากในการนัดครับ

9. MarTech Providers สัญชาติไทยเริ่มมีที่ยืนมากขึ้น

ใน Thailand’s MarTech Report เล่มปี 2023 ข้อมูลอย่างนึงที่ผมเห็นก็คือ MarTech Providers ต่างชาติเป็นที่นิยมมากกว่า MarTech Providers ไทยในแทบจะทุกๆ หมวดหมู่

อาจจะมีแค่บางหมวดหมู่ย่อยเช่น Social Listening และ CRM for B2C ที่มีข้อจำกัดเรื่องภาษา และการเชื่อมต่อกับ Platform อย่าง LINE ที่ MarTech สัญชาติไทยยังเป็นผู้นำอยู่

แต่จากสถิติใน Thailand’s MarTech Report เล่มปี 2024 & 2025 พบว่า MarTech Providers สัญชาติไทยเริ่มตีตื้นมาได้ดียิ่งขึ้น

เช่น Connect X ในหมวดหมู่ Marketing Automation, Zipevent ในหมวดหมู่ Event/Webinar, Lnwshop ในหมวดหมู่ E-Commerce & Shopping Cart Platform และ ZWIZ ในหมวดหมู่ Chat Commerce

ซึ่งในความเห็นของผม สาเหตุเป็นเพราะ MarTech สัญชาติไทยเข้าใจบริบทของการทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นอย่างดี และมีความได้เปรียบเรื่องภาษา

10. อนาคตของ MarTech Providers = MarTech + Managed Service

เนื่องจากตลาดในประเทศไทย เป็นตลาดที่ยังไม่ได้ใหญ่มาก และ User ในประเทศไทยหลายๆ คน โดยเฉพาะใน Corporate ไม่ได้อยากได้แค่เครื่องมือไปใช้งาน แต่อยากได้ Total Solutions ที่จะมาตอบโจทย์ในการทำการตลาดให้กับพวกเขาจริงๆ เพราะฉะนั้น MarTech Providers ในไทยเอง นอกจากจะมี Tool แล้ว ยังอาจจะต้องให้คำปรึกษาหรือลงมือทำให้ด้วย

แต่ถ้า MarTech Providers รายไหน ไม่ได้มี Expertise เรื่องการให้คำปรึกษาหรือการลงมือทำการตลาดให้จริงๆ ท่าที่ผมมักจะเจอก็คือเขาจะไป Partner กับ Agency หรือ Consulting Firm ครับ

ตัวอย่าง Solutions ของ MarTech Providers ที่รวมบริการที่ปรึกษาหรือลงมือทำให้ด้วยแล้วจะมีหน้าตาประมาณนี้ครับ

  • Social Listening Tool + Social Insight Analysis
  • Marketing Automation Tool + Automated Journey Builder
  • Influencer Marketing Tool + Influencer Management
  • CRM for B2C Tool + Campaign Creation & Management
  • Content Management Tool + Website Creation

สรุป

และนี่คือ 10 เทรนด์ MarTech ของประเทศไทยในปี 2025 นี้

ถ้าคุณอยากดูข้อมูลเพิ่มเติม คุณสามารถดาวน์โหลด Thailand’s MarTech Report 2025 กว่า 140 หน้า ไปศึกษาต่อได้ครับ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!

Share on

Bank Sitthinunt

Writer

Bank Sitthinunt

เจ้าของเว็บไซต์ Content Shifu นอกจากเรื่อง Inbound Marketing, Digital Marketing และ MarTech แล้ว ยังสนใจเรื่อง Entrepreneurship, Productivity, Self-Development และ Talent Development รวมถึงเป็นแฟนตัวยงของทีม Manchester United อีกด้วย

More From Me