ผมเชื่อว่าการที่คุณเข้ามาอ่านบทความนี้น่าจะเป็นเพราะว่าคุณกำลังเจอปัญหากับการที่ Facebook ลด Reach ของ Page อยู่ และผมก็เชื่ออีกว่าคุณน่าจะเคยได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง หรือว่าได้อ่าน “ไอเดีย” ในการแก้ไขปัญหานี้มาบ้างแล้วแน่ๆ

เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ ผมจะไม่ได้แค่มาเขียนแชร์เรื่องไอเดีย แต่จะมาแชร์ “วิธีการ” หรือ “How-to” รวมไปถึง “Tools” หรือ “เครื่องมือ” ในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย

ถ้าคุณกำลังรู้สึกว่าอนาคตของธุรกิจคุณช่างดูมืดมนจากการที่เจอปัญหา “เพจร้างห่าง Reach” ลองอ่านบทความนี้ดู รับรองว่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ถ้าคุณเข้ามาอ่านบทความนี้หลังจากเวลาผ่านไปนานมากๆ พวกเราไม่รับรองว่าสิ่งที่คุณอ่านจะยังใช้ได้จริงอยู่

 

ก่อนจะแก้ปัญหา… ต้องเข้าใจรากของปัญหาก่อน

ผมอยากจะเอา Mission Statement ของ Facebook มาให้คุณได้อ่านก่อน

“Founded in 2004, Facebook’s mission is to give people the power to build community and bring the world closer together. People use Facebook to stay connected with friends and family, to discover what’s going on in the world, and to share and express what matters to them.”

จะเห็นได้ว่าใน Mission Statement นั้น ไม่มีคำไหนที่พวกเขาเขียนถึง Business, Marketing, Commerce หรือ Advertising เลย ความเข้าใจตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่าคุณจะพยายามทำทุกอย่างตาม Facebook มากแค่ไหน หรือจะใช้เทคนิคพิเศษอะไร ถ้าสิ่งที่คุณทำมันไม่ใช่ มันไม่ได้ตรงกับทิศทางที่ Facebook จะมุ่งไป คุณก็ยังคงจะต้องเหนื่อยอยู่ดี

ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าคุณก็ไม่ควรใช้ Facebook ในการทำธุรกิจอีกต่อไปแล้ว ใช่รึเปล่า?

จริงๆ คือไม่ใช่ เพราะ Facebook เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และ Facebook ไม่สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่หารายได้เลย เพราะคนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ไม่ได้มีแค่ตัวบริษัท (หรือ Mark Zuckerberg) และผู้ใช้งาน แค่เพียง 2 กลุ่ม แต่มันจะมี “ผู้ถือหุ้น” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ 3 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้น Facebook ยังคงต้องพึ่งแบรนด์ และนักการตลาด เหมือนกับน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าอยู่ดี

เพราะฉะนั้นในวันนี้สิ่งที่ผมจะมาแชร์ จะมีอยู่ 2 อย่างคือ

  • On Facebook – ทำอย่างไรถึงจะใช้ประโยชน์จาก Facebook ในฐานะหนึ่งใน Digital Platform ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก
  • Off Facebook – ยังมีแพลตฟอร์ม เครื่องมือ และช่องทางอื่นๆ อีกหลายช่องทางนอกเหนือจาก Facebook ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณไปต่อได้

On Facebook – ปรับตัวอย่างไร หากยังต้องอยู่กับเฟสบุ๊ค

ยังไงเราก็ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Facebook ยังเป็นแพลตฟอร์มทรงพลังที่เราต้องพึ่งพา และถ้าเรายังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพา Facebook อยู่ มีเรื่องอะไรบ้างที่ Content Shifu อยากแนะนำ?

มีสองเรื่องที่อยากพูดคุยกันในบทความนี้คือ:

1. ถ้าเรายังต้องพึ่งพา Facebook Page อยู่ แนวทางการใช้ควรจะเป็นยังไง

2. ถ้า Page ลด Reach แล้วมีอะไรภายใต้แพลตฟอร์ม Facebook ที่น่าจะช่วยเพิ่ม Reach ให้เราได้บ้าง?

1. แนะนำการใช้ Facebook Page

สำหรับการใช้ Facebook Page พวกเรามีคำแนะนำ 3 เรื่องที่อยากฝากไว้ในใจคนทำเพจ 1. Make it Right 2. More creative 3. More technical

Make it right

คุณจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า Facebook เปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน คุณแค่ไปเช่าเขาอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณยังอยากเช่าบ้านของพวกเขาอยู่ เขาบอกอะไร พูดอะไร คุณก็ควรทำตาม เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่คุณควรทำก็คือ “Make it right” อะไรที่ Facebook ไม่ชอบ หรือสั่งห้ามก็อย่าไปทำ

ตัวอย่างเช่นเรื่อง Engagement Bait (การบอกให้คนมาปฏิสัมพันธ์กับคุณในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรมชาติ) ที่ Facebook ประกาศว่า “ไม่ชอบ” และจะลดความสำคัญของมันลงไป

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณอยากรู้ว่า Facebook มีการปรับอัลกอริทึมอะไรมาแล้วบ้าง ชอบ ไม่ชอบ อะไร คุณสามารถเข้าไปดูได้ที่ Facebook Newsroom หรืออ่านบทความที่พวกเราสรุปมาให้: สรุป 7 อัลกอริทึม Facebook ชอบหรือลงโทษเพจแบบไหนบ้าง

More creative

facebook dynamic creative

นอกจาก Make it right แล้ว การ Make it more creative; การใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปทุกครั้งในการทำคอนเทนต์ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ เพราะ Engagement ที่เป็นธรรมชาติยังสำคัญอยู่ นั่นทำให้ความ Creative มีบทบาทเสมอ

ความ Creative เป็นเรื่องที่พูดยาก ไม่มีถูกผิด และต้องอาศัยการลองทำการลองเรียนรู้กันไป สมมติว่าเราขายรถ ก็ต้องเรียนรู้กันไปเองว่า จะพรีเซนต์รถยังไงให้ออกมาคนสนใจมากสุด

เครื่องมือนึงที่อาจช่วยลดเวลาตรงนี้ได้ เช่น Dynamic creative ของ Facebook Ad 

เราอาจลองอัปโหลดรูปไป 5 รูป เขียนแคปชันไป 3 อัน Dynamic creative จะจับคู่ที่ไม่ซ้ำออกมาเป็น 5×3 = 15 อัน เมื่อคุณปล่อยไปทั้งหมด ก็ดูว่าคู่ไหนให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เราก็สามารถทดลองและเรียนรู้กันไปได้ ไม่ต้องกลัวถูกผิดเหมือนแต่ก่อน

Facebook มีเครื่องมือใหม่ๆ หลายตัวให้เราได้เล่น ได้ลอง อย่าลืมทดลองเพื่อการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของคุณให้ไกลกว่าเดิม

More technical

เครื่องมือของ Facebook ไม่เพียงแต่มีไว้ในด้านคอนเทนต์อย่างเดียว แต่รวมถึงด้าน Technical (เชิงเทคนิค) ด้วย ซึ่งเรื่องอย่าง Facebook Pixel, Facebook Remarketing, Custom Audience นั้นเรียกได้ว่าเป็นความรู้เชิงพื้นฐานที่คนอยากที่จะทำการตลาดบน Facebook ต้องรู้ไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่คุณอาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอาจจะเป็นเรื่องอย่าง Automated Rules ที่ช่วยให้คุณตั้งค่าต่างๆ ให้เป็นอัตโนมัติได้เช่นตั้งค่าให้ปิด Facebook Ads เมื่อราคาโฆษณาของวันนี้เพิ่มขึ้นกว่าของเมื่อวาน 20% เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม: วิธีตามไปหลอกหลอนลูกค้าที่เข้าเว็บไซต์ด้วย Facebook Remarketing

Shifu แนะนำ
ส่วนตัวผมเอง ผมคิดว่า Facebook ไม่ใช่ Earned Media และไม่ใช่ Platform ในการกระจายคอนเทนต์ไปหากลุ่มคนใหม่ๆ ได้ฟรีๆ อีกต่อไปแล้ว ในยุคถัดไปแบรนด์น่าจะใช้ Facebook เป็นที่โต้ตอบกับ Community และ Support ลูกค้ามากกว่า

2. มีอะไรนอกจาก Facebook Page ที่น่าจับตามอง

Facebook Page นั้นถือได้ว่าเป็นฟีเจอร์หลักของ Facebook มาเป็นเวลานาน ซึ่งผมคิดว่าแทบจะทุกธุรกิจในประเทศไทยนั้นน่าจะมี Page ของตัวเองเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ซึ่งการที่ทุกคนแห่กันมาสร้าง Page และซื้อโฆษณานั้น มันก็ยิ่งทำให้ Feed ใน Page นั้นมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคอนเทนต์ที่เป็นแบบ Organic และคอนเทนต์ที่เป็นแบบโฆษณา

เรียกได้ว่าปัจจุบันนี้พื้นที่ใน Feed ของ Facebook Page นั้นเป็น Red Ocean แล้วก็ว่าได้

เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่อยากที่จะอยู่ในสมรภูมิอันเดือดพล่าน และคุณอยากจะหาทางเลือกบน Facebook ที่จะเป็นทิศทางแห่งอนาคต (อย่างน้อยก็อีก 1-2 ปี) ทางเลือกที่ว่านั่นมีอยู่ 2 ทางครับ

2.1 Facebook Group

ถ้าคุณย้อนกลับไปดู Mission Statement ของ Facebook น่าจะจำได้ว่า Facebook อยากที่จะให้คนมาปฏิสัมพันธ์กัน และแชร์สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับพวกเขา ซึ่ง Facebook Group นั้นเรียกได้ว่าตอบโจทย์ตรงส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะตัว Group จะทำให้เกิดการพูดคุย และเปลี่ยนในเรื่องที่คนใน Group สนใจ อีกครั้ง Facebook ยังได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ของ Group มากขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Poll, Group Chat และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าคุณยังไม่ได้ลองหาทาง Leverage Facebook Group ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่คุณจะเริ่มต้นลองดูแล้วครับ

2.2 Facebook Messenger

สำหรับประเทศไทยนั้น Chat Commerce นั้นได้เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว และคนไทยเองก็คุ้นกับว่าพูดคุย ซื้อขายผ่าน Chat มากกว่าระบบตระกร้า (ที่พยายามทำทุกอย่างให้เป็นแบบอัตโนมัติ) เหมือนกับเมืองนอก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Facebook นั้นก็ได้เริ่มให้ความสำคัญกับระบบ Chat มากยิ่งขึ้น

ซึ่งผมมองว่าในอนาคตอันใกล้นี้ Facebook Messenger จะทำตัวคล้ายๆ กับ LINE@ หรือ Email ซึ่งก็คือให้คนมาติดตามแบรนด์ผ่าน Messenger (ลองคิดภาพของ LINE@ กับ Email ดู ถ้าเป็น LINE@ ก็จะกระตุ้นให้คน Add LINE และถ้าเป็นอีเมลก็จะกระตุ้นให้คน Subscribe อีเมล) และแบรนด์จะสามารถ Broadcast ข้อความออกไปหาผู้ติดตามเป็นจำนวนมากได้

ซึ่งเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับ Facebook Messenger นั้นก็มีอยู่หลายอย่าง และอย่างนึงที่ฮอตสุดๆ ก็คือซอฟท์แวร์ Chatbot

ซึ่งซอฟท์แวร์ในการสร้าง Chatbot นั้นผมมีแนะนำอยู่ 2 ตัว ซึ่งก็คือ Chatfuel กับ ManyChat ซึ่งซอฟท์แวร์ทั้ง 2 ตัวนี้จะช่วยให้คุณสร้าง Chatbot มาเพื่โต้ตอบกับคนที่พูดคุยกับคุณมาได้แบบอัตโนมัติ รวมไปถึงสามารถส่งข้อความ Broadcast หาคนที่เคยพูดคุยมาหาคุณได้อีกด้วย)

ผมอยากให้คุณไปลองเล่นซอฟท์แวร์ทั้ง 2 ตัวนี้ดูนะครับ รับรองว่าใช้ไม่ยาก

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณอยากหาแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ Facebook เพิ่มเติม ผมแนะนำให้ไปอ่านที่ jonloomer.com, socialmediaexaminer.com, blog.bufferapp.com และ adespresso.com ครับ

Off Facebook – อย่าวางไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว

3. Facebook เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล Digital Marketing

หลายๆ ครั้งที่ผมมักจะได้ยินคนใช้คำศัพท์ว่า “การตลาดบน Facebook” เหมือนเป็นทุกสิ่งอย่างของการทำ Digital Marketing

ในความเป็นจริงแล้ว Facebook นั้นถือเป็นซอฟท์แวร์, ช่องทาง และเครื่องมือหนึ่งตัวแค่นั้นเอง ยังมีอะไรอีกหลายอย่างบนโลก Digital ที่คุณจะสามารถใช้เพื่อช่วยธุรกิจของคุณได้

Social Media ไม่ได้มีแค่ Facebook

ตัว Social Media เองก็ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้คุณได้เลือกใช้อีกมากมาย ซึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะไปได้ในตลาดไทยคือ YouTube, Instagram, LINE, Linkedin และ Twitter ซึ่งวิธีการเลือกใช้ในความเห็นของผมมีอยู่ 2 วิธีคือ 1. เลือกใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ 2. เลือกใช้ให้เหมาะกับแรงของคุณ (แรงเงิน และแรงงาน)

ถ้าคุณต้อง Manage Social Media หลายตัว ก็อาจจะใช้เครื่องมืออย่าง Buffer หรือ Hootsuite เป็นตัวช่วย หรือลองดาวน์โหลด eBook 36 เครื่องมือ + 6 เว็บไซต์ที่จะติดปีกให้กับ Social Media ของคุณไปอ่านเพิ่มเติมดูก็ได้

คุณยังมีที่ขายของออนไลน์อีกมากมาย

ถ้าคุณไม่ได้ใช้ Facebook แค่เป็นที่สื่อสารกับปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า แต่เป็นที่ที่เอาไว้ขายสินค้าด้วย คุณก็อาจจะลองใช้ Marketplace อย่าง Lazada, 11Street หรือ Shopee ควบคู่ไปด้วย หรือถ้าคุณขาย Service (เช่นทำเว็บไซต์ ออกแบบ เขียนคอนเทนต์) คุณก็อาจจะใช้ประโยชน์จาก Platform อย่าง Fastwork หรือ Freelance Bay ก็ได้

หลักการคิดง่ายๆ ก็คือลูกค้าอยู่ไหน คุณก็อยู่ที่นั่น คุณยังมีเครื่องมือ และช่องทางอื่นๆ (ที่มีคนสร้างไว้แล้ว) ให้คุณเอาไปสามารถใช้ประโยชน์ได้

ถ้าคุณต้องจัดการกับ Marketplace หรือ Platform การซื้อขายหลายตัว เครื่องมืออย่าง XCommerce ก็สามารถช่วยให้คุณจัดการการขายผ่าน Social Media, Website และ Marketplace รวมไปถึง Invoice ออก Invoice ได้ผ่าน Platform ของพวกเขา Platform เดียว

ถึงแม้ว่า Social Media และ Marketplace จะดี แต่ Platform เหล่านี้ยังคงเป็นเพียงแค่บ้านเช่า…

การที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของ Platform นั่นก็หมายความว่าทุกอย่างของคุณจะอยู่ในกำมือของเจ้าของ Platform เหล่านั้น พวกเขาจะบีบก็ตาย จะคลายคุณก็อาจจะอยู่ไม่ง่าย การที่ Facebook ลด reach นี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่คุณควบคุมอะไรไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมมักจะแนะนำคนที่ทำธุรกิจออนไลน์แทบจะทุกคนก็คือการเป็นเจ้าของ “เว็บไซต์”

เว็บไซต์คือรังอันอบอุ่นที่เปรียบเสมือนอสังหาริมทรัพย์บนโลกออนไลน์ของคุณเองที่คุณสามารถดูแล และปรับเปลี่ยนได้ตามใจ และที่สำคัญการเป็นเจ้าของเว็บไซต์จะทำให้ธุรกิจของคุณนั้นมีโอกาสถูกค้นเจอบน Search Engine มากกว่า

อ่านเพิ่มเติม: ทำไมต้องมีเว็บไซต์? ในเมื่อการทำธุรกิจบนบนโซเชียล หรือช่องทางอื่นๆ ก็ดีอยู่แล้ว

ในความเห็นของผม ถ้าคุณทำขายสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค (เช่นเครื่องดื่ม หรือเสื้อผ้า) หรือคุณเป็นธุรกิจที่พึ่งตั้งใหม่ เว็บไซต์อาจจะยังไม่จำเป็น แต่ถ้าคุณทำธุรกิจ 3 รูปแบบนี้ ได้แก่ 1. ธุรกิจแบบ B2B 2. ธุรกิจที่แก้ปัญหาให้คน 3. ธุรกิจที่มูลค่าต่อชิ้น/Transaction สูง ผมคิดว่าการมีเว็บไซต์จะช่วยให้ธุรกิจคุณไปได้ดีในระยะยาวครับ

ถ้าคุณอยากเป็นเจ้าของเว็บไซต์ เครื่องมือในการสร้างเว็บไซต์ที่ผมแนะนำมากที่สุดคือ wordpress.org ครับ

(ทางเลือกอื่นๆ คือ Wix และ Squarespace ครับ) หรือถ้าคุณอยากทำเว็บไซต์ eCommerce ก็อาจจะลองไปดู Woocommerce (Plugin ของ WordPress ที่เริ่มต้นใช้งานฟรี), Magento (ในกรณีที่คุณมี SKU ของสินค้าเกิน 10,000 ชิ้น) หรือ Bentoweb (eCommerce Platform ของไทยที่ใช้งานง่าย)

อ่านเพิ่มเติม: อยากจ้างทำเว็บไซต์ซักเว็บ ต้องจ่ายเท่าไหร่?

4. ข้อมูลคือพลัง

ข้อมูลคือพลัง ข้อมูลคืออำนาจ ใครที่เป็นเจ้าของข้อมูลจะเป็นเจ้าของพลังอำนาจ

ข้อมูลทุกอย่างที่อยู่บน Facebook ไม่ว่าจะเป็นฐานแฟน คนกดไลก์ คนที่ทักทายคุณเข้ามา ทุกอย่าง… คุณไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย Facebook ต่างหากที่เป็นเจ้าของ

ผมขอลองยกตัวอย่างจาก Facebook Insights นะครับ จากรูปภาพข้างบนคุณจะเห็นได้ว่าข้อมูลที่คุณมีจะเป็นเพียงแค่ข้อมูลไม่ระบุตัวตนเท่านั้น เช่นจากคนที่ติดตามคุณทั้งหมด มีผู้หญิงติดตามคุณ 49% ผู้ชาย 51%

Facebook จะไม่มีทางยอมมอบพลังอำนาจ (หรือให้ยืม) ของพวกเขามาฟรีๆ แน่นอนครับ ถ้าคุณอยากให้คนเห็นคุณ หรือถ้าคุณอยากได้ข้อมูลของคนที่อยู่บน Facebook คุณต้องประมูลจ่ายโฆษณาแข่งกับคนอื่น

เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ามันจะดูยาก แต่ผมแนะนำให้คุณเริ่มเก็บข้อมูลของกลุ่มคนที่จะเป็นลูกค้าตั้งแต่วันนี้เลยครับ ข้อมูลที่คุณจะเก็บอาจจะเป็นชื่อ อีเมล เบอร์โทร ตำแหน่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คุณคิดว่าสำคัญกับธุรกิจของคุณ ซึ่งเมื่อคุณมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของคุณแล้ว คุณจะสามารถส่งคอนเทนต์ หรือเสนอสินค้าให้ตรงตามกับใจพวกเขามากยิ่งขึ้น (โดยที่ข้อมูลที่คุณมีเกี่ยวกับลูกค้าของคุณนั้นเป็นของคุณจริงๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของที่เช่ามา)

หลักการในการเก็บข้อมูลมีอยู่ 4 พยางค์ครับ “ยื่นหมู ยื่นแมว” การที่คุณต้องการอะไรบางอย่างที่มีมูลค่าจากลูกค้าของคุณ คุณจะต้องส่งมอบคุณค่าก่อน ตัวอย่างง่ายๆ ไม่ต้องเอาจากไหนไกล ดูจาก Content Shifu ก็ได้ครับ เราส่ง eBook ให้กับคุณเพื่อแลกกับชื่อ อีเมล ตำแหน่ง และบริษัทของคุณ

ซึ่งหลังจากที่เก็บข้อมูลมาแล้วคุณจะสามารถเอาข้อมูลไปทำการตลาดผ่าน Marketing Automation หรือทำ CRM (การบริการความสัมพันธ์กับลูกค้า) ต่อได้ครับ

สำหรับเครื่องมือในการเก็บข้อมูลของลูกค้า คุณสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ Google Forms หรือ Typeform ครับ

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเก็บข้อมูลของลูกค้า ผมอยากให้คุณลองเข้าไปดูคอร์ส Online Lead Generation ใน Content Shifu Academy ซึ่งเป็นศาสตร์ และศิลป์ที่ว่าด้วยเรื่องของการเก็บรายชื่อของลูกค้าให้มาอยู่ในมือของคุณครับ

สรุป

และนี่ก็คือกลยุทธ์การทำ On Facebook และ Off Facebook ที่พวกเราอยากจะแนะนำเพื่อจัดการกับปัญหา “Page ร้างห่าง Reach ทำอย่างไรในวันที่ Facebook เปลี่ยนไป” นะครับ

ถ้าคุณอ่านบทความนี้จบแล้ว สิ่งที่พวกเราอยากจะขอก็คือ ขอให้อย่าเชื่อพวกเราไปซะทั้งหมด เพราะถึงแม้เราจะสามารถคาดการณ์อนาคตได้ แต่เราไม่สามารถทำนายทายทัก หรือฟังธงอนาคตได้ เราไม่รู้เลยว่าอนาคตจริงๆ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณควรทำคือไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือไปทดลองทำจริงๆ อะไรที่มันเข้าท่า ก็เก็บไว้ทำต่อ ส่วนอะไรที่ไม่เข้าท่า ก็เรียนรู้ แล้วก็โยนทิ้งไป

เพราะสุดท้าย คนที่คุณจะเชื่อถือได้มากที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหนเลย ก็เป็นตัวคุณเองนั่นแหละ

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเขียนโดยแบงค์ และอร และเนื้อหาในบทความนี้ถูกใช้พูดในงาน Creative Talk Conference 2018