เพราะโลกนี้ไม่ได้เป็นสีขาวเทาดำ เราทุกคนจึงอยู่กับ “สี” ตั้งแต่ตื่นยันหลับ ไม่เชื่อลองดูสีผ้าปูที่นอน เสื้อผ้าที่ใส่ อุปกรณ์เครื่องใช้ กระเป๋าถือ รถยนต์ ฯลฯ ทุกอย่างที่เราเลือกซื้อมาใช้ ส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์หลักการใช้สีมาแล้วเป็นอย่างดี

บทความนี้ เราจะมาพูดถึงความเข้าใจเกี่ยวกับสีที่นักการตลาดทุกคนควรจะมี ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ประดับความรู้ แต่เพื่อจะทำให้คุณสื่อสาร หว่านล้อม ชักจูง หลอกล่อ กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าของคุณได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือเบสิคที่เรียกว่า “สี” นี่ล่ะ

1. เข้าใจว่าสีแต่ละสีให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน

ก่อนจะไปเรื่องเทคนิคเคล็บลับหรือสถิติอะไรต่างๆ เรามาปูพื้นฐานเรื่องหลักการใช้สีกันก่อนดีกว่า ว่าสีแต่ละสีที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันนั้นสามารถส่งผลต่ออารมณ์ จิตใจ และการกระทำได้อย่างไร

สีแดง เป็นสีแห่งความเร่งรีบ ร้อน อยู่เฉยไม่ได้ ใช้กระตุ้นการกระทำได้ดี เห็นได้บ่อยกับการนำไปใช้เพื่อทำโปรโมชันกระตุ้นการขาย, ป้าย Sale ลดราคา รวมถึงการทำป้ายเตือนอันตราย หรือกระตุ้นให้คนตื่นตัว ตื่นเต้น เรียกร้องให้คนสนใจ

สีน้ำเงิน เป็นสีที่ดูแล้วรู้สึกสบายๆ เย็นๆ ดูเชื่อถือได้ ไม่หลอกลวง มักใช้ในการสื่อสารที่มีกลุ่มลูกค้าใหญ่ๆ เพราะเป็นสีที่คนส่วนใหญ่ชอบ และเป็นสีกลางๆ ใช้ได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ทุกเพศทุกวัย จึงไม่แปลกหากเราจะเห็นธุรกิจและบริการขนาดใหญ่ๆ ส่วนมากจะใช้สีน้ำเงินเป็นสีประจำแบรนด์

สีเขียว เป็นสีที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สุขภาพ โดยมากใช้ในงานที่ต้องการสื่อสารเกี่ยวกับด้านสภาพแวดล้อม ฟิตเนส สุขภาพ สีเขียวยังหมายถึงสิ่งที่เป็นแง่บวก ให้ความรู้สึกที่ลื่นไหล ไม่ติดขัด เราจึงเห็นได้ในการใช้สีเขียวเป็นตัวแทนของ “กำไร” ในขณะที่สีแดงใช้แทนการขาดทุน

สีม่วง สีม่วงเป็นสีที่เป็นทั้งสีโทนร้อนและสีโทนเย็น (เค้าถึงเรียกว่าชาวสีม่วง เพราะเป็นได้ทั้งสองฝั่ง) สีม่วงจะเกี่ยวข้องกับความหรูหรา มีพลัง อำนาจ เป็นสีที่ถ้าเลือกโทนดีๆ จะส่งผลให้มีความรู้สึกว่าสินค้าดูเป็นของมีค่า ราคาแพง ถูกคิดค้นและผลิตมาเป็นอย่างดี มักเห็นในสินค้าหรูหราและสินค้าที่เกี่ยวกับความงาม รวมถึงสินค้าประเภทชะลอความแก่

สีส้ม ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง สนุกสนาน มั่นใจ แล้วยังสามารถใช้เพื่อเรียกร้องความสนใจได้

สีเหลือง หมายถึงความมีพลัง มองโลกในแง่ดี สะท้อนถึงความสุข ความสนุกสนาน แฝงไว้กับความเป็นเด็ก ไม่หยุดนิ่ง อีกแง่ยังใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อเตือน เพื่อให้ระวัง เช่น ไฟเหลือง ป้ายจราจร สีรถแท็กซี่ เป็นต้น

สีชมพู สีแห่งความรัก และผู้หญิง ใช้เป็นตัวแทนของความสุข ความอิ่มเอม แต่บอกเลยว่าหญิงสาวที่โตแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบสีชมพู แต่คนที่ชอบมากที่สุดน่าจะเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ มากกว่า

สีดำ สีแห่งความสงบนิ่ง เฉย  เป็นจริงเป็นจัง พลังความแข็งแกร่ง ถูกใช้มากที่สุดในสิ่งของเนื่องเป็นสีเท่าเข้ากับสีอื่นได้แทบจะทุกสี  ส่วนใหญ่ใช้เพื่อแสดงถึงความฉลาด เรียบหรู ไม่เยอะ แต่ดูดี ในบางบริบทจะหมายถึงการไว้อาลัย ความสูญเสีย ความกดดัน ความเศร้าโศก เพราะสีนี้ให้ความรู้สึกนิ่งเงียบ และมืดมิดนั่นเอง

2. หลักการใช้สีกับกลุ่มเป้าหมาย

คุณรู้หรือไม่ว่า 80% ของมนุษย์ ใช้สีเป็นเครื่องมือในการรับรู้ และตัดสินใจ

เราพอจะบ่งบอกนิสัยของคนคนหนึ่งได้จากการมอง “สี” ของสิ่งของเครื่องใช้ที่คนคนนั้นใช้ ลองสังเกตง่ายๆ จากตัวคุณเองก็ได้ หากคุณเป็นคนที่ชอบใช้ของสีขาวเทาดำ คุณน่าจะมีความแมน ชอบอะไรเรียบๆ แต่มีดีเทล ไม่หวือหวา แต่ขอเนี้ยบๆ หน่อย ในทางกลับกัน หากเปิดกระเป๋ามาแล้วเจออุปกรณ์หลากสี แถมยังเป็นแนวพาสเทล เดาได้เลยว่าเจ้าของกระเป๋านั้นจะต้องเป็นสาวหวาน ชอบความมุ้งมิ้ง รักความโรแมนติก มีความเป็นผู้หญิงค่อนข้างมาก

ผู้ชาย กับ ผู้หญิง ชอบสีไม่เหมือนกัน เพราะผู้หญิงจะมองเห็นสีได้ละเอียดกว่าผู้ชาย (นั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงจึงตื่นเต้นหรืออ่อนไหวกับสีสันต่างๆมากกว่าผู้ชาย) คนส่วนมากชอบสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะชายหรือหญิง แต่ไม่ได้แปลว่าโอเคงั้นชั้นใช้สีน้ำเงินแล้วกันนะ เพราะมัน “เซฟ” ที่สุด (ขอร้องว่าอย่าเลย ไม่งั้นโลกนี้คงน่าเบื่อแย่ 🙂 แต่เราแค่ต้องการจะให้ตัดสิ่งที่ “ไม่น่าใช่” ออกไปก่อน เช่น ถ้าขายสินค้าแมนๆ อย่าเผลอไปใช้สีสดๆเชียวล่ะ ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าเป็นผู้หญิง การเลือกใช้สีที่ปลอดภัยก็อาจจะเป็นสีฟ้าอ่อน ม่วง น้ำเงิน เป็นต้น

Credit: http://coschedule.com/
Color Preference by Gender. Credit: http://coschedule.com/

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หากสินค้าของคุณมีกลุ่มผู้ใช้เป็นเด็กเล็ก อย่าลืมว่า คนซื้อสินค้านั้นคือพ่อแม่ ไม่ใช่เด็กน้อย ฉะนั้นหลักการใช้สีจะออกไปแนวสดใสอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูน่าเชื่อถือ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าสินค้านั้นไม่มีพิษมีภัยกับลูกน้อยนั่นเอง

3. สร้างจุดยืน ยึดฐานที่มั่นในสมองของลูกค้า

80% ของคน จดจำแบรนด์หรือสินค้าได้จากสีที่แบรนด์นั้นๆ ใช้

การสร้างสินค้า บริการขึ้นมา ชุดสี หรือ Color scheme คือสิ่งจำเป็นอันดับแรกๆ ที่ควรจะมีอยู่ใน communication guideline เพื่อให้คุณเองและคนในทีมใช้ จะได้ไม่หลง ไม่หลุด ไม่ตามกระแส จนไม่มีทิศทางและแนวทางเป็นของตัวเอง ซึ่งการเลือก color scheme นั้นมันมีหลายวิธี ถ้าพูดแล้วจะยาวต้องลงลึกไปถึงทฤษฏีสี เอาเป็นว่าหากอยากศึกษาเพิ่มเติม แนะนำบทความนี้ Color Theory 101: How to Choose the Right Colors for Your Designs

สำหรับคนที่ไม่ใช่ดีไซน์เนอร์ วิธีการที่ง่ายที่สุดคือลองเข้าพวกเว็บรวมชุดสีที่เค้ามีรวบรวมเอาไว้เป็น inspiration และถ้าชอบก็สามารถหยิบมาใช้ได้เลยฟรีๆ

coolors-co
ตัตอย่างเว็บไซต์ https://coolors.co ที่มีชุดสีให้เลือกชมเลือกใช้

เมื่อได้ชุดสีแล้ว กฏเหล็กคือคุณควรจะต้องใช้สีชุดเดิม ห้ามเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น หลักการใช้สีของ Content Shifu และ การออกแบบโลโก้ของ Content Shifu เอง จะสังเกตเห็นว่า Content Shifu จะมีการใช้ชุดสี น้ำเงิน แดง เป็นหลัก ทั้งบนเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพกราฟฟิก รูปที่โพส social media หากคุณเห็นภาพบน Facebook ที่มาโทนสีน้ำเงิน+แดง แล้วพบว่าเป็นโพสของ Content Shifu ซ้ำๆ บ่อยๆ เข้า  สมองของคุณจะเริ่มเกิดความความคุ้นชิน เมื่อสมองชินแล้ว สมองจะไม่คิด (เหมือนการทำอะไรที่เป็น routine หรือ habit ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ) เมื่อเห็นครั้งต่อไป สมองของคุณก็จะรับรู้และตีความไปโดยอัตโนมัติว่า “Content Shifu มาแล้วค่ะ ไหนคลิกไปอ่านซักหน่อยซิ”

content-shifu-color
การใช้สีบนเว็บไซต์ https://contentshifu.com

ถ้ายังไม่พอ ยกตัวอย่างธนาคารก็ได้ ถ้าพูดแบงค์เขียว แบงค์ม่วง รู้ใช่มั้ยว่าหมายถึงธนาคารอะไร (อย่าตอบว่าแบงค์ยี่สิบ แบงค์ห้าร้อยนะ ขอร้อง – _-“) อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่บอกได้ว่าเรามีหลักการใช้สีเป็นอย่างไร แล้วใช้สีนั้นอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนจดจำเราได้โดยไม่ต้องอ่านชื่อให้เสียเวลาด้วยซ้ำ

thai-banks-color
สีของแต่ละธนาคารในประเทศไทย

4. อยากเน้นอะไรเด่น อะไรสำคัญ หลักการใช้สีช่วยคุณได้

การคุมโทนสีเป็นเรื่องสำคัญก็จริงที่จะช่วยสร้างความสม่ำเสมอให้กับภาพลักษณ์ของสินค้าหรือแบรนด์ แต่อย่าลืมว่า เป้าหมายสูงสุดของนักการตลาด เจ้าของธุรกิจ ก็คือการ “ขาย” ฉะนั้น จะทำยังไงล่ะ ให้คนตอบสนองกับสิ่งที่เราพูดที่เราขาย?

วิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ก็คือ เลือกใช้สีที่เรียกว่า สี Accent

สี Accent คืออะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ มันก็เหมือนปากกาเน้นข้อความ ที่หลักการใช้สีของมัน จะแตกต่างจากสีดำของตัวหนังสือที่อยู่บนหน้าหนังสือ มาเน้น ให้ข้อความสำคัญของเราโดดเด่น และมองเห็นได้ชัด

ฉะนั้นการเลือกชุดสีของเรา ควรจะมี สีเน้นข้อความ 1 สี เพื่อให้เรามารถเอามาเน้นสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นปุ่ม “ซื้อเลย!”, “สมัครสมาชิกฟรี!”, “อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม” หรือแต่ใช้เป็นสีของ Headline ก็ยังได้

cta-btn
ตัวอย่างสีปุ่ม Booking บนเว็บ Airbnb ที่โดดเด่นออกมาจากหน้าเว็บขาวๆ เรียบๆ

5. เล่นได้ สนุกได้ เน้นได้ แต่ห้ามลืมฟังก์ชั่น

ไม่ผิด หากคุณต้องการจะดึงความสนใจลูกค้าด้วยการเลือกหลักการใช้สีที่มันโดดเด้งแสบๆ คันๆ ถามว่าใช้ได้มั้ย? ได้แน่นอน แต่คุณอาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้ก่อนเสมอ

  • ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องการให้คนอ่าน ก็ต้องอ่านได้ง่าย ตัวหนังสือกับพื้นหลังต้อง contrast กันมากพอ วิธีง่ายๆ ที่ทดสอบว่าสี contrast กันหรือไม่ให้ลองปริ้นภาพออกมาเป็นโทนสีขาวเทาดำ (monochrome) ดู ถ้าภาพขาวดำที่ปริ้นออกมามีสีที่ไม่ต่างกันนัก แสดงว่าเราต้องปรับปรุงให้ contrast ต่างกันมากขึ้น หรือจะลองบริการของเว็บ contrastchecker.com (Free) เลือกสีตัวอักษร และสีพื้น เว็บไซต์จะคำนวณมาให้เราเสร็จสรรพ ว่าสีที่เราเลือกไปผ่านเกณฑ์หรือไม่ เรื่องพื้นฐานเช่นนี้ไม่ควรพลาด มิเช่นนั้นข้อมูลที่คุณต้องการจะส่งต่อจะไม่มีวันถึงลูกค้าได้เลย
color-contrast-checker
ลองใช้สีม่วงเป็นพื้นหลังแล้ววางสีแดงเป็นตัวอักษร แค่มองไม่กี่วิก็ปวดตาแล้ว T_T
  • ถ้าไม่มั่นจริง อย่าเลือกสีคู่ตรงข้ามมาอยู่ด้วยกันแบบตรงๆ เช่นใช้สีตัวอักษรสีเขียวบนพื้นสีแดง เพราะเวลามองสายตาจะล้ามาก จะพาลทำให้คนออกจากเว็บ ออกจาเพจเราไปซะเปล่าๆ
complementary-wheel
วงล้อสี และสีคู่ตรงข้าม
  • ต้องยังอยู่ในโทนสีของแบรนด์ เราควรเลือกชุดสีไว้ตั้งแต่แรกว่าจะใช้สีไหนเป็นสีหลัก สีไหนเป็นสีรอง สีพื้นหลังและอย่าลืมเลือกสีที่ใช้เน้น (accent color) เอาไว้ให้ครบถ้วน และเวลาเลือกใช้ควรต้องใช้สีตามนั้นให้ถูกต้องทุกครั้ง ห้ามเลือกสีจาก color swatch เองใหม่เด็ดขาด เพราะร้อยทั้งร้อย คุณพลาดแน่ๆ (แม้แต่ดีไซน์เนอร์ผู้มีสายตาเฉียบคมเรื่องสีก็ยังยากที่จะเลือกสีเดิมได้ถูกต้องเป๊ะๆ นอกจากจะเป็นสีขาวกับดำนะ ฮ่าๆ)
starbucks-color-guidelines
Color Guidelines ของ Starbucks

สรุป

แม้ว่าคุณจะไม่ใช่ดีไซน์เนอร์ แต่เราเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็เพื่อ “คุณ” ที่ไม่เป็นดีไซน์เนอร์นี่ล่ะ! เพราะเราเชื่อว่าทุกคน โดยเฉพาะนักการตลาด ที่น่าจะสามารถนำหลักการใช้สีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเป็นเครื่องมือการสื่อสารและการทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สีสามารถบ่งบอกเรื่องราว ความรู้สึกของสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สิ่งของ ท้องถนน ตึกรามบ้านช่อง เพียงแค่เราลอง “สังเกต” และ “ตั้งคำถาม” เราเชื่อว่าคำตอบและความหมายที่ได้นั้น มันจริง และสอดคล้องกับบริบทสังคม ที่คุณจะไม่สามารถหาอ่านได้จากบล็อคหรือหนังสือเล่มใดๆ

อยากรู้อีก ลองศึกษาเรื่อง “เคล็ดลับการออกแบบ” เพิ่มเติมได้นะ

ตาคุณแล้ว

เราอยากให้คุณลองกลับไปดูสีของแบรนด์ บริษัท เว็บไซต์ ของคุณเอง แล้วลองตอบคำถามให้ได้ว่า หลักการใช้สีของคุณเป็นเช่นไร เป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มเป้าหมายของคุณหรือเปล่า และถ้าบทความนี้จะช่วยทำให้คุณสามารถพูดคุยสื่อสารกับ “คน” โดยการใช้ “สี” ได้ดีขึ้น เราก็จะปลื้มใจมาก