ในบทความก่อนหน้านี้ พวกเราได้เขียนถึง 4 เทคนิคทำ SEO ที่นักเขียนต้องรู้! เขียนบทความให้กลายเป็นตำนานบน Google ไปแล้ว ซึ่งวิธีทั้ง 4 วิธีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำ SEO แบบที่เรียกว่า On-page SEO หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าการทำ SEO บนเว็บไซต์ของตัวเอง
ในบทความนี้ ผมจะมาขอเขียนถึง Off-page SEO ที่หมายถึงการทำ SEO นอกเว็บไซต์ ซึ่งผมคิดว่ามันน่าสนใจมากๆ เพราะว่าการที่จะทำ Off-page SEO ให้ได้ดีนั้น ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ และศิลป์ผสมเข้าด้วยกัน
ความรู้เชิงเทคนิคอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ ต้องมีความรู้ทางด้าน Soft Skill ด้วย!
ยาวไป อยากเลือกอ่าน? (TL;DR)
Off-page SEO คืออะไร?
Off-page SEO เป็นเรื่องของการใช้ศาสตร์ และศิลป์ในการทำให้เว็บไซต์ของคุณได้ลิงก์กลับมา (Backlink) จากเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ ซึ่ง Backlink นั้นจะแบ่งได้ง่ายๆ ออกเป็น 2 ชนิดคือ DoFollow และ NoFollow
- DoFollow คือการที่เว็บนั้นๆ ส่ง Backlink หาเว็บของคุณ โดยที่เขาส่งต่อประโยชน์จาก SEO มาให้คุณด้วย ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ถ้าเว็บนั้นๆ พูดถึงคุณภาพในบทความของเขา คุณก็น่าจะได้ DoFollow Link กลับมา
- NoFollow คือการที่เว็บนั้นๆ ส่ง Backlink หาเว็บของคุณ โดยที่เขาไม่ได้ส่งต่อประโยชน์จาก SEO มาให้คุณด้วย โดยปกติแล้วลิงก์ที่เป็น NoFollow จะเป็น Link ในส่วนของคอมเมนต์ ลิงก์จากเว็บไซต์ Social Media ต่างๆ และลิงก์ที่เป็น Affiliate (ลิงก์ที่เป็น Affiliate จะเป็นลิงก์ที่คุณส่งผู้อ่านของคุณไปยังเว็บขายสินค้า ถ้าผู้อ่านของคุณซื้อของในเว็บนั้นๆ คุณจะได้รับผลตอบแทนด้วย อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Affiliate Marketing ได้ที่นี่) ถึงแม้ว่า Backlink แบบ NoFollow จะไม่ได้ส่งผลต่อ SEO โดยตรง แต่มันก็มีประโยชน์ทางอ้อมเหมือนกัน เช่นมันทำให้คนเห็นคอนเทนต์ของคุณมากขึ้น จนอาจจะนำไปสู่ Backlink ที่เป็น DoFollow หรือถ้ามี Backlink ที่เป็น DoFollow ที่มากพอ ตัว Google เองก็อาจจะคิดว่าเว็บของคุณเป็นเว็บที่มีคุณภาพได้เหมือนกัน
วิธีการเช็คว่า Backlink เป็น DoFollow หรือ NoFollow
ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ จาก Backlink ของ Facebook แล้วกันนะครับ เพราะทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี
รูปข้างบนนี้เป็นโพสต์บน Facebook ที่มี Backlink กลับมายังเว็บไซต์ Content Shifu
วิธีการเช็คก็คือการกดคลิ๊กขวาที่ลิงก์นั้นๆ แล้วกดปุ่ม Inspect (ตรวจสอบ)
* ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างจาก Chrome ซึ่ง Browser ตัวอื่นๆ อาจจะมีวิธีต่างกันเล็กน้อย
พอกด Inspect ปุ๊ป คุณก็จะเห็นแท๊บที่มีตัวหนังสือมากมายโผล่ขึ้นมา อย่าพึ่งตกใจนะครับ มันไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด สิ่งที่คุณจะต้องโฟกัสจะเป็นโซนสีม่วงเทา (ตามรูปด้านบน) แล้วลองสังเกตดูว่าหลังลิงก์ที่คุณกด Inspect นั้นมีคำว่า rel=”nofollow“ อยู่รึเปล่า ถ้ามี แสดงว่าเว็บนั้นๆ จะไม่ส่งต่อประโยชน์จาก SEO มาให้คุณครับ
Off-page SEO สำคัญยังไง?
สำคัญมาก!
Off-page SEO หรือการสร้าง Backlink จากเว็บไซต์ที่มีคุณภาพนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ Google และ Search Engine ตัวอื่นๆ พิจารณา เพราะมันบ่งบอกถึงคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงเว็บไซต์ของคุณ (ถ้าอยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Search Engine Guideline ของ Google คุณสามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่) และแน่นอนว่ามันส่งผลต่ออันดับบน Google และโอกาสที่คนจะเจอเว็บไซต์ของคุณจากการ Search
ตัวอย่างเช่น ถ้าเว็บด้านการตลาดชื่อดังของประเทศไทยอย่าง Thumbsup หรือ Marketing Oops ส่ง Backlink กลับเข้ามาหา Content Shifu เพราะเห็นว่า Content Shifu มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตลาดที่น่าสนใจ Google ก็จะคิดว่า Content Shifu เป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพในสายการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้อันดับบน Google ของ Content Shifu ดีขึ้น (เหมือนยกตัวอย่างไป อ้อนไป ยังไงก็ไม่รู้แฮะ ฮ่าๆ)
เอาล่ะ ทีนี้คุณน่าจะพอรู้จักกับคำว่า Off-page SEO กันมากยิ่งขึ้นแล้ว มาเข้าเรื่องวิธีการทำ Off-page SEO กันเลยดีกว่า!
วิธีการทำ Off-page SEO แบบง่ายๆ
จริงๆ แล้ววิธีการทำ Off-page SEO นั้นมีร้อยแปด พันเก้าเทคนิค แต่ผมจะขอแชร์เทคนิคที่ผมคิดว่าทำง่าย อ่านจบปุ๊ป สามารถเอาไปทำได้ทันทีเลยแล้วกันนะ
ทุกวิธี ทุกเทคนิคที่ผมแชร์นั้นจะเป็นสายขาว (White Hat SEO) ไม่ใช่สายดำ (Black Hat SEO) ถึงแม้ว่าเทคนิคแบบสายขาวอาจจะใช้เวลานาน และเห็นผลช้ากว่า แต่มันเป็นวิธีที่ผมเชื่อมั่น และตอบโจทย์กับแนวทางการทำธุรกิจของผมมากกว่า
และถ้าคุณมีเวลา ผมอยากให้คุณอ่านบทความนี้ของ Moz ซึ่งผมชอบมากๆ เพราะตัวผู้เขียนมองคำว่า White Hat กับ Black Hat ในมุมที่ต่างออกไป – ไม่ใช่เป็นเรื่องกฏหมาย หรือศีลธรรม แต่เป็นเรื่องโอกาส และวิธีการสร้างธุรกิจในแบบของคุณ
1. คอนเทนต์คือหัวใจ
ก่อนที่ผมจะเขียนถึงเคล็ดลับ เคล็ดวิชา หรือเทคนิคอะไรก็แล้วแต่ที่ช่วยในการสร้าง Backlink สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากจะพูดถึงเป็นอย่างแรก และเป็นสิ่งที่ผมเน้นย้ำมาตลอดก็คือก็คือ การสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าต่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
คอนเทนต์ที่ดี ไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์ทุกๆ คน หากแต่ว่าช่วยให้คนบางคน คนบางกลุ่ม แก้ไขปัญหาในสิ่งที่เขา หรือเธอกำลังเผชิญอยู่ หรือช่วยเพิ่มมูลค่าในสิ่งที่เขา หรือเธอกำลังทำ
และคอนเทนต์จะอยู่ในรูปแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบทความ วีดีโอ อินโฟกราฟฟิก หนังสือเสียง และอื่นๆ ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้
ถ้ารากฐานคุณแน่นแล้ว การจะต่อยอดมันก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย : )
อ่านเพิ่มเติม: “Inbound Marketing” วิถีการตลาดแบบจอมยุทธ์
2. ทำ On-page SEO ให้ดี
On-page SEO เป็นสิ่งที่คุณควรทำตั้งแต่ตอนสร้างเว็บไซต์ และควรจะทำเพิ่มเติมทุกครั้งก่อนที่จะเขียนบทความ (ลองเข้าไปอ่านวิธีการทำ On-page SEO ในแบบฉบับของนักเขียนได้ครับ)
ทำ Sitemap บนเว็บไซต์, ทำ Keyword Research ผ่าน Google Keyword Planner ทุกครั้งก่อนเขียนบทความ, เลือกใส่ Focus Keyword ในตำแหน่ง และปริมาณที่เหมาะสมในบทความ, ใส่ Alt Tag ที่เหมาะสมลงไปในรูปทุกรูป รับรองว่า Google จะหาคุณง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะ
ทีนี้พอ Google หาคุณเจอจากการที่คุณทำ On-page SEO ได้ดีแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำต่อไปก็คือการทำให้ Google รู้ว่าคอนเทนต์ และเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพผ่านการทำ Off-page SEO
ในวิธีถัดๆ ไป ผมจะโฟกัสเรื่องการทำ Off-page SEO อย่างจริงจังแล้วครับ
นอกจาก Google Keyword Planner แล้ว เครื่องมือที่ผมอยากแนะนำให้ลองใช้ก็คือ Kwfinder ซึ่งจุดเด่นของมันคือ นอกจากมันจะช่วยแนะนำ Keyword แล้ว มันยังช่วยบอกอีกว่า Keyword นั้นๆ มีความยาก/ง่ายในการแข่งขันแค่ไหน
3. อินโฟกราฟฟิกคือราชาแห่ง Backlink
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Off-page SEO แล้วละก็ ไม่ว่าจะเป็นบทความ วีดีโอ หนังสือเสียง หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่มีคอนเทนต์รูปแบบไหนที่จะสร้าง Backlink ได้ดี และคุ้มกว่าอินโฟกราฟฟิกอีกแล้ว
สาเหตุน่ะเหรอ?
เมื่อเทียบอินโฟกราฟฟิก กับบทความ – จะเห็นได้ว่าการดูข้อมูลเป็นอินโฟกราฟฟิก มันย่อย และเข้าใจได้ง่ายกว่าการอ่านตัวหนังสือ
เมื่อเทียบอินโฟกราฟฟิก กับวีดีโอ – ถึงแม้ว่ากระแสวีดีโอกำลังมาแรง แต่การทำ Off-page SEO บนวีดีโอนั้น ไม่ได้ทำกันง่ายๆ เลย สาเหตุก็เพราะวีดีโอใช้เวลา และใช้เงินในการทำค่อนข้างสูง
อีกเหตุผลที่สำคัญมากๆ ก็คือโดยปกติแล้ว วีดีโอจะไม่ถูกเก็บไว้บนเซอร์เวอร์ของคุณเอง (เพราะมันหนัก และกินที่มากๆ) แต่มักจะถูกอัพโหลดลงบน YouTube หรือ Vimeo แทน และหลายๆ ครั้งที่เวลาเว็บไซต์อื่นๆ พูดถึงวีดีโอของคุณ หรือเอาวีดีโอของคุณไปติดไว้บนเว็บของเขา เขามักจะไม่ค่อยให้เครดิตเป็น Backlink กลับมายังเว็บไซต์ของคุณ เพราะเขาคิดว่าการติดวีดีโอของคุณก็คือการให้เครดิตไปในตัวแล้ว ซึ่งมันก็ถูกแหละ แต่แค่มันจะทำให้คุณไม่ได้รับประโยชน์จากทาง SEO เท่านั้นเอง
แต่ลำพังแค่การสร้างอินโฟกราฟฟิกอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ มันจะต้องมีตัวกระตุ้นให้เขาสร้าง Backlink กลับมาด้วย
ผมขอเอาตัวอย่างจาก Bangkokbits มาแชร์ให้ดูกันนะ วิธีการของ Bangkokbits ก็คือ ผมจ้างคนทำอินโฟกราฟฟิกเกี่ยวกับคำภาษาไทยพื้นฐาน 12 คำสำหรับชาวต่างชาติ จากนั้นผมก็เอาอินโฟกราฟฟิกนั้นๆ มาใส่ไว้ในเว็บ และตอนจบ ผมใส่คำกระตุ้นคำว่า “Share this Image On Your Site” พร้อมกับโค้ดที่สามารถให้คนที่อยากเอาไปแชร์สามารถ Copy และเอาไป Paste และส่ง Backlink กลับมาหาเว็บไซต์ของคุณได้เลย
วิธีการทำ Share This Image on Your Site แบบง่ายๆ คือการเข้าไปที่เว็บไซต์ siegemedia ซึ่งตัวเว็บจะทำการเตรียมโค้ดให้คุณพร้อมแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ และลิงก์อินโฟกราฟฟิกของคุณเอง จากนั้นก็เอาโค้ด (ตรงคำว่า Use This Code) ที่ได้ไปแปะไว้บนเว็บไซต์ของคุณ
ทำรูปให้สวยๆ ข้อมูลให้แน่นๆ รับรองว่าเดี๋ยวมันจะกลับมาส่งผลดีต่อ Off-page SEO แน่ๆ
4. จัดการ Social Media ของคุณด้วยสูตร 70 / 20 / 10
ถึงแม้ว่า Backlink ที่ได้กลับมาจาก Social Media จะเป็น NoFollow Backlink แต่ถ้า Social Signal เช่นจำนวน Like, Comment, Share และ Click มันมีจำนวนมากพอ Google ก็จะถือว่าเว็บของคุณมีคุณภาพ และจะส่งผลดีต่อ Off-page SEO ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าวิธีการทำให้คน Like, Comment, Share หรือ Click มันคงจะไม่ได้เกิดจากการขาย ขาย และก็ขาย เพียงแค่นั้น เพราะโดยปกติแล้วคนไม่ได้อยากฟังสิ่งที่คุณอยากจะสื่อสาร แต่เขาฟังสิ่งที่เขาอยากจะรับรู้
มีสูตรอันหนึ่งที่ผมเคยได้อ่านมาจาก Social Media Examiner เว็บไซต์เกี่ยวกับ Social Media ชื่อดัง และผมค่อนข้างเห็นด้วย ซึ่งก็คือสูตร 70 / 20 / 10
70 คือ 70% ของคอนเทนต์ทั้งหมดบน Social Media ของคุณจะต้องเป็นคอนเทนต์ที่สร้างคุณค่า และเป็นคอนเทนต์ที่กลุ่มเป้าหมายของคุณอยากฟัง
20 คือ 20% ของคอนเทนต์ทั้งหมดบน Social Media ที่เป็นคอนเทนต์ของคนอื่น
10 คือ 10% ของคอนเทนต์ทั้งหมดบน Social Media ที่เน้นไปในเรื่องของการขาย การจัดโปรโมชั่น หรือแคมเปญต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการขาย
และสำหรับประเทศไทย Social Media ที่มีคนเล่นมากที่สุดน่าจะเป็น Facebook, LINE และ Instagram ซึ่งผมแนะนำว่าคุณไม่จำเป็นต้องใช้ทั้ง 3 ตัว แต่ควรจะเลือกใช้เฉพาะตัวที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ
ถ้าอยากติดปีกให้กับ Social Media ของคุณ ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ต่อครับ 12 เครื่องมือที่จะติดปีกให้กับ Social Media ของคุณ
ป.ล. ถ้าคุณติดตาม Facebook ของ Content Shifu อยู่น่าจะพอสังเกตได้ว่าพวกเราไมไ่ด้ทำตามสูตรนี้ เพราะว่าคอนเทนต์ของพวกเราเองนั้นจะมีอยู่ประมาณ 30% และอีก 70% จะเป็นคอนเทนต์เจ๋งๆ จากเว็บอื่น สาเหตุนั้นเป็นเพราะพวกเราเน้นเขียนบล๊อกแบบ Long form ก็เลยทำให้ไม่สามารถโพสต์คอนเทนต์ของตัวเองบ่อยๆ ได้ (ไม่อยากอ้างนะ แต่ว่ามันใช้เวลานานจริงๆ TT_TT) แต่ในอนาคตเราจะพยายามหาวิธีผลิตคอนเทนต์ให้ได้ดีขึ้น และมากขึ้นแน่นอน
5. บนโลกของ Facebook; Group มีพลังมากกว่า Page
เคยสังเกตไหมครับว่าคุณจะเห็น Notification ของโพสต์บน Group ที่คุณเข้าร่วมอยู่บ่อยๆ?
ใช่แล้วครับ ถึงแม้ว่า Facebook จะปรับยอด Reach จากเพจต่างๆ ให้เหลือน้อยยิ่งกว่าน้อย แต่ Reach ที่มาจาก Group บน Facebook นั้นกลับยังมีค่าที่สูงอยู่มาก ที่สำคัญ นอกจากบนหน้า Feed ของคุณแล้ว Facebook ยังส่ง Notification แจ้งเตือนคุณอีกด้วย
สาเหตุก็เป็นเพราะ Facebook ให้ความสำคัญกับ Community มากกว่า Page ครับ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมแนะนำให้คุณคือการใช้ Community ที่มีคนสร้างมาอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ ถ้าคอนเทนต์ของคุณดี เอาไปปล่อยให้ตรง Group บางทีอาจจะได้ผลมากกว่าการโปรโมตใน Page ของคุณก็เป็นได้
มาลองดูตัวอย่างกันดีกว่า
สมมุติว่าผมจะหาแหล่งที่จะโปรโมตบทความของ Content Shifu ผมก็จะ Search บน Facebook โดยใช้ Keyword คำว่า Marketing จากนั้นก็กดแท็บ Groups แล้วผมก็จะลองเลื่อนๆ ดูว่า Group ไหนที่น่าจะเกี่ยวข้อง, มีจำนวนคนใน Community ที่เยอะพอ (หลักพันขึ้นไป หรือถ้าเป็นหลักหมื่นได้ก็จะยิ่งดี) และคนใน Community นั้นๆ มีการพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
บาง Group จะเป็น Public Group (ใครจะเข้าร่วมก็ได้) และบาง Group จะเป็น Closed Group (คนที่จะเข้าร่วมได้ต้องได้รับการอนุมัติจาก Admin ก่อน) และก่อนที่จะเข้าร่วมแต่ละกรุ๊ป ผมแนะนำให้เลื่อนดู Feed (ถ้าเป็น Public Group) และลองอ่าน Description ของแต่ละกรุ๊ปก่อน จะได้รู้ว่า Group นั้นๆ เป็น Group ที่เปิดกว้างกับการโพสต์บทความรึเปล่า
6. มีของดี ต้องบอกให้คนตัวใหญ่รู้!
Neil Patel นักการตลาดชั้นนำบนโลกออนไลน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการทำคอนเทนต์ คุณควรจะใช้ 5 ชั่วโมงในการโปรโมตมัน” ซึ่งวิธีนี้ใช้หลักการเดียวกับที่ Neil บอกเลย อาจจะไม่ถึงกับเป็น 1 ต่อ 5 แต่คุณต้องให้เวลากับมันระดับหนึ่งเลย
ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นธุรกิจทางด้านไอที สตาร์ทอัพ มาร์เก็ตติ้ง ไฟแน๊นซ์ หรืออะไรก็ตาม ในธุรกิจของคุณนั้นจะมี Influencer (ผู้เชี่ยวชาญที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนส่วนใหญ่) อยู่
สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่บอกให้พวกเขารู้เกี่ยวกับคอนเทนต์ดีๆ ของคุณเท่านั้นเอง
วิธี 2 วิธีที่ผมอยากจะแนะนำก็คือลองใช้ Facebook กับ Google ในการค้นหาคน/บริษัทเหล่านี้ดู ซึ่งวิธีการค้นหานั้นผมแนะนำให้ใช้วิธีเดียวกันกับวิธีที่แล้ว (วิธีที่ 5 ในการค้นหากรุ๊ปบน Facebook) คือการค้นหาโดยใช้ Keyword จากนั้นก็เอาข้อมูลของคนที่คุณอยากติดต่อมาใส่ไว้ใน Excel แล้วค่อยส่งข้อความ หรืออีเมลคุยทีละคน รูปข้างบนเป็นตัวอย่างเทมเพลตที่ผมเคยทำไว้ตอนที่ผมส่งอีเมลหา Influencer ต่างๆ
ข้อความข้างบนนี้เป็นตัวอย่างข้อความที่ผมใช้ส่งหา Influencer ต่างๆ
เท่าที่ผมพอจำได้ผมส่งไปหาคนประมาณ 100 กว่าคน มีคนตอบกลับมาประมาณ 15%, มีคนแชร์คอนเทนต์ให้ประมาณ 5% และได้ Backlink 1 อันจากเว็บไซต์ Ajarn.com ซึ่งเว็บชั้นนำสำหรับครูที่อยากสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย
ตัวเลขอาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ผมค่อนข้างพอใจกับผลลัพธ์พอสมควรเลยล่ะ
ถ้าคอนเทนต์คุณดี เดี๋ยวอะไรๆ ก็มาเอง : )
7. เป็นทหารกล้า อาสาเขียนบทความ!
การที่จะรอให้เว็บใหญ่ๆ ดังๆ พูดถึง และส่ง Backlink มาหาคุณนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะใช้เวลานาน ถ้าคุณไม่อยากรอ วิธีการอาสาเขียนบทความ (Guest Blogging) แล้วส่ง Backlink กลับมาหาเว็บของคุณผ่านตรงประวัติผู้เขียน ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจ
ในช่วงแรกคุณอาจจะต้องเริ่มสร้างชื่อเสียงจากการเขียนบล็อกของตัวเองก่อน รวมไปถึงการหาโอกาสในการอาสาเขียนบทความให้กับเว็บที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก
สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าวิธีการหาเว็บที่จะรับคนเขียนบทความให้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเว็บส่วนใหญ่จะไม่ได้ประกาศหานักเขียนอาสา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมแนะนำให้ทำก็คือ
- ลองเช็คดูก่อนว่าเว็บนั้นๆ มีชื่อเสียงจริงรึเปล่า วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเช็คด้วย Open Site Explorer ของ Moz ครับ พอใส่ลิงก์เว็บที่คุณอยากจะเช็คลงไปแล้ว Moz จะประมวลผลออกมาเป็นค่า DA (Domain Authority) และ PA (Page Authority) ซึ่งผมแนะนำว่าให้คุณเขียนให้เว็บที่มีค่า DA / PA อย่างน้อยอย่างละ 15 นะครับ
- ลองทำการบ้านดูว่ามีนักเขียนคนอื่นที่เคยมาเขียนให้เว็บนั้นๆ มาแล้วบ้างรึเปล่า และถ้าเช็คแล้วปรากฏว่ามี ลองพยายามติดต่อเว็บที่คุณอยากจะเขียนให้โดยตรงเลย ส่งลิงก์บล็อกของคุณ พร้อมผลงานในการเขียนอื่นๆ ไปให้เขาดู พร้อมบอกเหตุผลว่าทำไมถึงอยากเขียน
- ลองหาคอนเนคชั่นจากรอบๆ ตัวของคุณดู บางทีคนรู้จักของคุณ อาจจะเป็นเจ้าของเว็บ หรือทำงานอยู่ให้กับบริษัทที่เป็นเจ้าของเว็บชื่อดังก็เป็นได้ อย่างผมเองก็เคยเป็นนักเขียนอาสาให้กับเว็บข่าวเกี่ยวกับ Startup อย่าง Techsauce เพราะว่าผมรู้จักกับคนที่ทำงานที่นั่นนั่นเอง (ไม่ใช่คนอื่นคนไกล น้องอร ผู้ร่วมก่อตั้ง Content Shifu นั่นเอง ฮ่าๆ)
สรุป
และนี่ก็คือ 7 วิธีง่ายๆ ในการทำ Off-page SEO หรืออีกนัยนึงคือการสร้าง Backlink ที่มีคุณภาพนะครับ
การทำ SEO นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะมันต้องใช้ ‘ศาสตร์’ ความรู้เชิงเทคนิคค่อนข้างเยอะ กว่าจะเห็นผลใช้เวลาค่อนข้างนาน และหลายๆ ครั้งที่คุณต้องอาศัย ‘ศิลป’์ การพูดคุย และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเข้าช่วย ถ้าในวันนี้มันยังไม่ออกผลก็อย่าพึ่งท้อใจนะครับ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด การทำ SEO ก็ไม่อาจะเห็นผลภายในวันเดียวฉันนั้นครับ
ถ้าคุณอยากอ่านเทคนิคเกี่ยวกับ Off-page SEO แบบเชิงลึก ผมแนะนำให้เข้าไปอ่านบทความนี้ของ Backlinko ครับ Brian Dean ที่เป็นผู้ก่อตั้งเว็บเรียกได้ว่าเป็นเจ้าพ่อเรื่องการสร้าง Backlink เลยครับ
ตาคุณแล้ว
คุณได้เคยใช้วิธีไหนใน 7 วิธีข้างต้นในการทำ Off-page SEO บ้างไหมครับ? แล้วมีวิธีง่ายๆ แบบอื่นแนะนำผม และผู้อ่านคนอื่นๆ บ้างรึเปล่า? มาแชร์กันได้ในคอมเมนต์เลยครับ : )
[…] เป็นเทคนิคการทำ Off-page SEO […]
[…] SEO คือ เน้นการปรับแต่งเทคนิค SEO On Page และ SEO Off Page แค่นั้นก็พอ […]
[…] Shifu แนะนำนอกจากการทำ On-page SEO ซึ่งเป็นการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้ถูกใจทั้งคนอ่านและอัลกอริธีมแล้ว การทำ SEO ของคุณจะมีพลังขึ้นอีกมาก ถ้าทำ Off-page SEO เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เว็บไซต์ด้วย คุณสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความศาสตร์และศิลป์ในการทำ Off-page SEO […]
[…] Backlink คือ Backlink […]
[…] ยังมีส่วนช่วยในการทำ Off-page SEO ซึ่งส่งผลดีต่อการได้มาซึ่ง Traffic […]
[…] ผมก็เขียนต่อยอดไปเรื่อง Off-page SEO ด้วยเลย […]
ตั้งใจคลิกมาดูแค่ “Inbound Marketing” วิถีการตลาดแบบจอมยุทธ์ จนป่านนี้ตีสองแล้วยังไล่อ่านลิงค์ไม่จบเลยครับ… แนวการเขียนหลอกล่อให้ชวนติดตามอย่างยิ่ง ขอบคุณรีเสิร์ชดีๆที่ทำให้บทความเต็มปากเต็ม(ทุก)คำ
ขอบคุณครับ จริงๆ แล้วพวกเราไม่ได้หลอกล่ออะไรเลยนะครับ ฮ่าๆ
ป.ล. ค่อนๆ อ่านก็ได้ครับ พักผ่อนบ่้าง คอนเทนต์ก็ยังคงอยู่บนเว็บไซต์ไม่หายไปไหนครับ : )
เขียนดีมากเลยค่ะ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ
ขอบคุณมากๆ ครับ
ถ้ามีข้อเสนอแนะ หรือมีอะไรอยากรู้เพิ่มเติม บอกมาได้เลยนะครับ : )