การหา Keyword คือ ขั้นตอนแรกในการทำ SEO และการทำตลาดแบบ Search Engine Marketing (SEM) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้ทราบว่า กลุ่มเป้าหมายใช้คำอะไรค้นหาข้อมูล และ ต้องการข้อมูลลักษณะไหน จึงช่วยให้นักการตลาดออนไลน์วางแผนได้ว่า จะนำเสนอเนื้อหาอะไร โปรโมทสินค้าแบบไหน ถึงจะบรรลุเป้าหมายได้
โดยบทความนี้ ผมขอแชร์ คู่มือการหา Keyword (โพสเดียวจบ) อธิบายตั้งแต่พื้นฐานว่า Keyword คืออะไร ประเภทของ Keyword โปรแกรมหา Keyword และสุดท้าย เทคนิคการหา Keyword ที่เหมาะกับคุณ ซึ่งผมเชื่อมั่นหากคุณอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ คุณจะเข้าใจ Keyword อย่างครบถ้วนทุกประเด็น และสามารถหา Keyword ทำเงินได้ด้วยตัวเองอย่างแน่นอนครับ
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
- Keyword (คีย์เวิร์ด) คืออะไร
- Keyword สำคัญอย่างไร
- รู้จักประเภทของ Keyword เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสม
- ตัวอย่าง Keyword แต่ละประเภท
- Keyword ที่ดี ควรมีลักษณะ 5 อย่าง
- Keyword Research: การหา Keyword เพื่อทำ SEO
- โปรแกรมหา Keyword: Keyword Research Tools & Keyword Planner
- วิธีหา Keyword คุณภาพ ทำ SEO ได้ผลจริง
- สรุป
Keyword (คีย์เวิร์ด) คืออะไร
Keyword (คีย์เวิร์ด) คือ คำหรือวลีที่คนใช้ค้นหาข้อมูลจาก Search engine เป็นคำที่สะท้อนถึงปัญหาหรือความต้องการของคน
ยกตัวอย่างเช่น เราอยากรู้ข้อมูลห้องพักที่เชียงใหม่ บรรยากาศดี ราคาไม่แพง เราจึงเข้า Google และค้นหาข้อมูลด้วยคำว่า “ที่พักเชียงใหม่ บรรยากาศดี ” คำว่า “ที่พักเชียงใหม่ บรรยากาศดี” นั่นแหละคือ Keyword
สำหรับเจ้าของเว็บไซต์ Keyword คือ คำหรือวลีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือเป้าหมายของเว็บไซต์ ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนว่า กลุ่มเป้าหมายต้องการอะไรและใช้คำใดในการค้นหาข้อมูล
นอกจากการหา Keyword แล้ว เรายังสามารถหา สิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ (Customer Insight) เพื่อเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้อีกหลายหลายวิธี โดยคุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Customer Insight คืออะไร และวิธีหา Insight อย่างละเอียด
Keyword สำคัญอย่างไร
1. Keyword คือ สะพานเชื่อมระหว่างลูกค้ากับเว็บไซต์
หากเราเลือกคีย์เวิร์ดบนเว็บไซต์ได้ถูกต้อง ก็จะเป็นการคัดกรองผู้เข้าเว็บไซต์ที่เป็นคนที่สนใจเนื้อหาของเว็บไซต์หรือสินค้าของเราจริงๆ จึงมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะติดตามแบรนด์หรือกลายเป็นลูกค้าในอนาคต
ในโลกออนไลน์ คุณภาพ สำคัญพอๆ กับปริมาณ จะมีประโยชน์อะไรหากมีปริมาณคนเข้าเว็บไซต์ 1 แสนคนต่อวัน แต่ไม่มีใครซื้อสินค้าของเราเลย การหา Keyword อย่างถูกต้อง จะทำให้เว็บไซต์ได้รับ Traffic คุณภาพ เพราะเขามีความต้องการอยู่แล้วจึงเสิร์ชเข้ามา
2. Keyword คือ ทำเลร้านบนโลกออนไลน์
ลองจินตนาการว่า เราเปิดร้านอาหารที่ราคาไม่แพง รสชาติเป็นเลิศ แต่ที่ตั้งอยู่ห่างไกลและเงียบเหงาราวป่าช้า ไม่มีใครเดินผ่านหน้าร้านเลย ไม่นานธุรกิจย่อมอยู่ในภาวะวิกฤต
Keyword เปรียบเหมือน “ทำเล” ของธุรกิจออนไลน์ หากเรามีการ หา keyword ที่ดี มีปริมาณคนค้นหามาก และเว็บไซต์ถูกจัดอยู่ในอันดับดีๆ ได้ ก็เหมือนเว็บไซต์หรือหน้าร้านของเราอยู่ในทำเลทอง
3. Keyword คือดัชนีชี้วัดโอกาสประสบความสำเร็จ
พิชัยสงครามกล่าวว่า “ยอดขุนพล รู้แน่ว่าชนะจึงออกรบ ไม่ใช่ออกรบเพื่อหาชัยชนะ”
การเคลื่อนทัพแต่ละครั้งต้องเสียเวลา เงินทอง เสบียง และชีวิตของทหาร แม่ทัพจึงควรรู้จุดอ่อนจุดแข็งของข้าศึกอย่างแจ่มชัด วิเคราะห์สถานการณ์ให้ขาด เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อทำศึกแล้ว จะไม่พ่ายแพ้และสูญเสียทรัพยากรต่างๆ ไปฟรีๆ
การหา Keyword แล้ววิเคราะห์ ก็เหมือนการพิจารณาโอกาสแพ้ชนะในสงคราม ทำให้เราทราบความเข้มแข็งของคู่แข่ง ต้นทุนที่ต้องใช้ โอกาสสำเร็จ หากคุณเลือกคำค้นดี คู่แข่งไม่เข้มแข็งมาก ก็มีโอกาสสูงที่การปรับแต่งเว็บไซต์จะให้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่หากเลือก Keyword ผิด โอกาสสำเร็จจะริบหรี่ เสี่ยงสูงที่จะเสียทั้งเงินและเวลาไปฟรีๆ
รู้จักประเภทของ Keyword เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสม
การจะหาคีย์เวิร์ดที่เหมาะกับเว็บไซต์หรือแคมเปญการตลาด เรื่องแรกที่คุณต้องเข้าใจและเป็นเรื่องที่สำคัญมากคือ รู้จัก “ประเภทของ keyword”
ทำไมต้องเข้าใจ เพราะเมื่อคุณลงมือหาคีย์เวิร์ด สิ่งแรกที่คุณจะเจอคือ ลิสต์คำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคุณจำนวนมาก (ดังรูปข้างล่าง) โดยคุณจะต้องระบุว่า แต่ละคำคือคีย์เวิร์ดประเภทไหน เพราะแต่ละประเภทมีวิธีการใช้งานแตกต่างกัน การเข้าใจเรื่องดังกล่าว จะช่วยคุณให้ใช้ Keyword ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
โดยประเภทของ Keyword แบ่งเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. Seed keyword
Seed keyword คือ คำที่เกี่ยวข้องถึง “สินค้า” หรือ “เป้าหมาย” ของเว็บไซต์ เป็นคำกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น หากคุณขายรองเท้าผู้ชาย Seed keyword ก็คือ “รองเท้าผู้ชาย”
Seed keyword เป็นคำที่มีปริมาณค้นหาสูง เพราะไม่ว่าคนจะค้นข้อมูลใดเกี่ยวกับสินค้านั้น ก็มักมี Seed keyword ประกอบอยู่ คนที่จะซื้อ ขาย เช็คราคา ดูรูป เปิดโรงงานรองเท้า ฯลฯ ทุกคนต่างใช้คำว่า “รองเท้าผู้ชาย” ในการค้นหาทั้งนั้น
แม้มีปริมาณค้นหาสูง แต่คุณไม่ควรหวังว่า Seed keyword จะเป็น Keyword ทำเงิน เพราะเป็นคำที่มีการแข่งขันดุเดือดเลือดพล่าน จึงทำการตลาดยาก อีกทั้งคนใช้ Seed keyword ค้นหาข้อมูล อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของคุณจริงๆ ดังนั้น Seed keyword จึงเหมาะเป็น Keyword ตั้งต้น เพื่อใช้ค้นหา Keyword อื่นๆ เท่านั้น ไม่ใช่ keyword ทำเงินแต่อย่างใด
2. Niche keyword
Niche keyword คือ คำที่ขยายความ Seed keyword อีกเล็กน้อย โดยลักษณะสำคัญของ Niche Keyword คือ เป็นคำที่บอกถึง กลุ่มหรือหมวดหมู่สินค้าและบทความ จากตัวอย่างนี้ Niche keyword คือ “ขายรองเท้าผู้ชาย Adidas”
Niche keyword เหมาะที่จะใช้เป็น Catagories หรือ Sub catagories ของเว็บไซต์ เพราะ เป็นคำที่บอก “กลุ่ม” ของสินค้าหรือเนื้อหา เนื่องจากไม่ว่าจะรุ่นไหน สีอะไร ราคาเท่าไหร่ ก็ยังครอบคลุมอยู่ในคำว่า “รองเท้าผู้ชาย Adidas” นั่นเอง
3. Niche Longtail keyword
Niche Longtail keyword คือ keyword ที่เฉพาะเจาะจง ระบุชัด รุ่นอะไร เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น “ขายรองเท้าผู้ชาย Adidas STAN SMITH รุ่น xxxx”
Niche Longtail คือ Keyword ที่คุณควรสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นคำที่ระบุถึงสินค้าของคุณ ถูกใช้โดยคนที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการจริงๆ จึงเป็น keyword ทำเงิน มีคุณค่าทางธุรกิจกว่าคำกว้างๆ ปริมาณค้นหาเยอะ แต่ไม่เฉพาะเจาะจง
ตัวอย่าง Keyword แต่ละประเภท
เพื่อให้คุณเข้าใจเรื่อง Seed | Niche | Niche Longtail มากขึ้น ผมขอยก ตัวอย่าง Keyword แต่ละประเภทของแต่ละเว็บไซต์ดังนี้
เว็บไซต์ขายชุดหุ้มเบาะรถยนต์
Seed Keyword
- ชุดหุ้มเบาะรถยนต์ (คำกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาจง)
Niche Keyword
- ชุดหุ้มเบาะรถยนต์ ลายฟุตบอล (บอกหมวดหมู่สินค้า)
- ชุดหุ้มเบาะรถยนต์ ลายการ์ตูน (บอกหมวดหมู่สินค้า)
Niche Long Tail Keyword
- ชุดหุ้มเบาะรถยนต์ ลายฟุตบอล แมนยู (คำเฉพาะเจาะจง)
- ชุดหุ้มเบาะรถยนต์ ลายฟุตบอล ลิเวอร์พูล (คำเฉพาะเจาะจง)
- ชุดหุ้มเบาะรถยนต์ ลายการ์ตูน คิตตี้ (คำเฉพาะเจาะจง)
เว็บไซต์ขายเสื้อผ้าเกาหลี
Seed Keyword
- เสื้อผ้าเกาหลี (คำกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาจง)
Niche Keyword
- เสื้อผ้าเกาหลี ผู้ชาย (บอกหมวดหมู่สินค้า)
- เสื้อผ้าเกาหลี ผู้หญิง (บอกหมวดหมู่สินค้า)
Niche Long Tail Keyword
- เสื้อผ้าเกาหลี ผู้ชาย เสื้อยืด (คำเฉพาะเจาะจง)
- เสื้อผ้าเกาหลี ผู้หญิง เดรสสวย (คำเฉพาะเจาะจง)
- เสื้อผ้าเกาหลี ผู้หญิง กางเกงแฟชั่น (คำเฉพาะเจาะจง)
จากตัวอย่าง Keyword ข้างต้น คุณคงพอเข้าใจประเภทของ Seed / Niche / Niche longtail keyword มากขึ้นแล้ว เรามาว่าถึงหัวข้อต่อไปกันเลยครับ
Keyword ที่ดี ควรมีลักษณะ 5 อย่าง
นอกจากระบุประเภทของ Seed / Niche / Niche longtail keyword แล้ว ก่อนจะเลือกใช้คีย์เวิร์ดใดบนเว็บเพจก็ต้องประเมินด้วยว่า ลักษณะของคำหรือวลีนั้นเหมาะใช้หรือเปล่า เผื่อไม่ให้เสียแรงและเวลา (อาจรวมถึงเสียเงินด้วย) กับคีย์เวิร์ดที่ไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์จริงๆ
วิธีพิจารณาเลือก Keyword มาใช้ ก็มีอยู่ 5 เกณฑ์ด้วยกัน
1. เกี่ยวข้อง
keyword ต้องเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือเป้าหมายของเว็บไซต์ เช่น ชื่อ รุ่น ยี่ห้อ ของสินค้า หรือ ปัญหาของลูกค้า ผลลัพธ์จากการใช้สินค้า ฯลฯ ยิ่ง keyword เกี่ยวข้องและเฉพาะเจาะจงไปยังสินค้าคุณเท่าไร โอกาสที่ผู้ที่เข้าเว็บไซต์จะกลายเป็นลูกค้า ยิ่งมากเท่านั้น
2. มีคนใช้
หลายคนเข้าใจผิดว่า การหา Keyword ที่ดี คือ หาคำที่บอกชื่อลักษณะสินค้าแบบตรงๆ ถูกหลักภาษา ซึ่งความจริงไม่ใช่แบบนั้น
Keyword คือ คำที่กลุ่มเป้าหมายของคุณใช้ ซึ่งอาจเป็นคำต่างคำที่หมายถึงสิ่งเดียวกัน หรือแม้แต่คำที่สะกดผิด หากมีปริมาณค้นหาสูง ก็เป็น Keyword ที่ดีได้ เช่น
- คำที่ผิดไวยกรณ์อย่างสิ้นเชิง แต่มีปริมาณค้นหาสูง แถมคู่แข่งต่ำ เช่น มอไซค์ น่ำตาล แทปเลต ฯลฯ
- คำต่างคำที่หมายถึงสิ่งเดียวกัน เช่น “คอนโด ห้องเช่า ห้องพัก ที่พัก” , “มือถือ smartphoe สมาร์ทโฟน”, “ต่างหู ตุ้มหู เครื่องประดับหู”
สรุปง่ายๆ คือ เราต้องหาให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายใช้คำอะไรในการค้นหาสินค้าของคุณ และใช้คำนั้นเป็น Keyword
3. มีปริมาณค้นหาพอสมควร
Keyword ที่ดีต้องมีปริมาณค้นหาพอสมควร เพราะยิ่งมากเท่าไร โอกาสเพิ่มยอดขายยิ่งมากเป็นเงาตามตัว Keyword ที่ไม่มีคนค้นหาหรือมีปริมาณค้นหาน้อยเกินไป ก็เหมือนทำเลขายของที่ร้างผู้คน แม้ร้านมีสินค้าดีแค่ไหน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
4. แข่งขันได้
Keyword ที่ดีต้องแข่งขันได้ หมายถึง เมื่อเลือก Keyword นี้ใส่ไปในเว็บเพจ เราสามารถทำให้คอนเทนต์หน้าที่มุ่งหวังปรากฏในหน้า 1–2 ของ Google ได้ คือสามารถแข่งขันกับเว็บไซต์อื่นๆ ได้ (ทั้งในมุมการทำ SEO กับการทำ PPC) ยิ่งอันดับเหนือกว่าคู่แข่งได้ยิ่งดี
แล้วขนาดไหนที่เรียกว่า “แข่งขันได้”
- ถ้าเราใช้ Keyword Research Tools (จะแนะนำในหัวข้อถัดไป) ตัวโปรแกรมจะวิเคราะห์ความยาก-ง่ายในการแข่งขัน หรือ Keyword Difficulty ออกมาเป็นตัวเลขหรือสีให้เราดู โดยที่เราจะพิจารณาว่า เว็บไซต์ของเราแข็งแกร่ง (Domain Authority) พอจะสู้ความแข็งแกร่งของเว็บไซต์อื่นได้หรือไม่
ลองเช็กความแข็งแกร่งของเว็บไซต์คุณได้ที่ ahrefs.com
- พิจารณาจากต้นทุนและผลตอบแทนในการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น ต้องซื้อ Ad ให้ Keyword เพิ่มเพื่อทำอันดับ หรือต้องซื้อ Backlink เพื่อเพิ่ม Authority ให้เว็บไซต์แข็งแกร่ง หากการลงทุนนั้นอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้อยู่แล้ว หรือนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางการตลาดที่น่าพึงพอใจ ก็ถือว่าแข็งขันได้
5. เป็นคำประเภท “High Commercial Intent”
เราควรให้ความสำคัญกับ Keyword แบบ “High Commercial Intent” เป็นพิเศษ เพราะเป็น keyword ทำเงิน ช่วยเพิ่มยอดขาย โดย High Commercial Intent keyword มี 2 แบบหลัก คือ
1. Buy Now Keyword คือ กลุ่มที่ถูกใช้โดยคนที่มีกำลังซื้อและต้องการสินค้าอย่างเร่งด่วน เช่น
- “จอง ที่พัก เชียงใหม่ แม่ริม” (เดินทางชัวร์ จึงต้องการจองที่พัก)
- “ขาย มอไซด์เก่า มีทะเบียน พร้อมส่ง”
- “ร้านอาหาร xxx จองโต๊ะ” (มากินแน่ กลัวโต๊ะไม่ว่าง)
2. Product Keyword คือ กลุ่มคำที่ระบุ ยี่ห้อ รุ่น ลักษณะ ของสินค้าหรือบริการ แม้เป็นคำที่มีพลังในการซื้อน้อยกว่า “Buy Now keyword” แต่ก็น่าสนใจ เพราะมันถูกใช้โดยคนที่มีใจเอนเอียงสู่สินค้าอยู่แล้ว เช่น
- “5 กองทุนรวม Ltf ผลตอบแทนสูง” (แน่ละ มีกองทุนรวมที่คุณทำตลาดอยู่ในบทความด้วย)
- “รีวิว ห้องพัก aaa สวยๆ” (บอกเล่าประสบการณ์ดีๆ กับห้องพักสวยๆ)
- “10 ที่พักเชียงใหม่ ราคาถูก”
Keyword Research: การหา Keyword เพื่อทำ SEO
Keyword Research คือ การหา Keyword หรือคำค้นที่มีคนเสิร์ชบน Search Engine และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ของคีย์เวิร์ดว่าน่านำมาใช้บนเว็บไซต์หรือเว็บเพจแต่ละหน้าหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น
- Keyword มีคนค้นหาเท่าไร (Search Volume)
- Keyword เป็นคำที่มีอัตราการแข่งขันต่ำหรือสูงเกินไปหรือเปล่า (Keyword Difficulty)
- มีคำค้นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่น่านำมาใช้ทดแทนหรือนำมาใช้ประกอบกับ Keyword หลัก (Related Keyword Suggestion)
- เพื่อดูอันดับรายการเว็บเพจที่ใช้ Keyword
ดังนั้น ประโยชน์ของการทำ Keyword Research ก็จะช่วยให้คนทำ SEO หรือทำเว็บไซต์ประเมินได้ว่า ควรเลือก Keyword ใดมาใช้งานเพื่อแข่งขันทำอันดับเว็บไซต์
โปรแกรมหา Keyword: Keyword Research Tools & Keyword Planner
คำถามต่อมา คือ แล้วเราจะหา keyword ที่เหมาะกับเว็บไซต์ได้อย่างไร
คำตอบคือ ใช้โปรแกรมหา keyword (Keyword Tool)
Keyword Tool คือ เครื่องมือที่บอกว่า คนใช้คำอะไรหาข้อมูลบน Search Engine พร้อมให้ข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น
- แสดงปริมาณคนค้นหาของแต่ Keyword
- บอกความยากง่ายในการทำ SEO ของแต่ล่ะ Keyword
- บอกราคาประเมินในการประมูลซื้อ Search Ads (โฆษณาบนหน้าเสิร์ช)
- วิเคราะห์เว็บไซต์ที่ใช้คีย์เวิร์ดที่เราค้นหาในเบื้องต้น เช่น อันดับ การแชร์ จำนวนเยี่ยมชมเว็บไซต์ เป็นต้น
Metrics พื้นฐานที่ต้องดู มีอะไรบ้าง
แม้โปรแกรมหา Keyword จะมีหลายยี่ห้อ แต่ก็มีข้อมูลพื้นฐานร่วมที่เหมือนกัน และผู้ใช้งานจำเป็นต้องทราบ ดังนี้
- Search Volume คือ จำนวนครั้งที่คนค้นหา Keyword ต่อเดือน ตรวจสอบว่าคำค้นที่เราต้องการใช้ มีคนค้นหาจริงๆ เท่าไหร่ ซึ่งจำนวน Search Volume จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทเนื้อหาและอุตสาหกรรม
- Keyword Difficulty (KD) คือ ค่าที่แสดงอัตราการแข่งขันของ Keyword แบบ Organic (ไม่ใช่ Ad) ยิ่งค่าสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งแข่งขันยาก โดย Keyword Research Tools หลายเจ้าจะแบ่งสีให้ความใจง่าย ได้แก่ สีเขียว = ง่าย ไล่ไปถึงสีส้ม/แดง = ยาก
- Cost per Click (CPC) คือ ราคาที่ต้องจ่ายต่อคลิก หากซื้อ Keyword เป็นโฆษณาให้คนเสิร์ชเจอ โดยที่ไม่ต้องทำอันดับ
- Paid Difficulty (PD/PPD) คือ ค่าที่แสดงความยากง่ายในการแข่งขัน Keyword ประเภท Search Ad (ซื้อ Ad ก็ต้องแข่งขันกับ Ad ตัวอื่นๆ เช่นเดียวกัน)
- Estimated Visits per Month (EV) คือ จำนวนครั้งที่มีการเข้าชมเว็บเพจที่ใช้คีย์เวิร์ดนั้นๆ ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูเว็บเพจที่มีคนเข้าเยอะๆ เพื่อวิเคราะห์ดูว่าทำไมคนถึงเข้ามาเยี่ยมชมเยอะ และเราจะสู้ได้อย่างไรบ้าง
โปรแกรมหา Keyword ยอดนิยม พร้อมสอนวิธีใช้
1. Google Keyword Planner (Free)
Google Keyword Planner เป็นเครื่องมือค้นหา keyword ยอดนิยม เพราะเป็นข้อมูลจาก Google โดยตรง จึงมีความน่าเชื่อถือสูงสุด ซึ่งวิธีใช้งาน Google Keyword Planner อย่างละเอียด ดูที่
2. Ubersuggest (Paid)
Ubersuggest มีจุดเด่นคือ คุ้มค่าสุดๆ เพราะราคาไม่แพง แต่ฟีเจอร์เด็ดๆเพียบ คุณสามารถใช้เครื่องมือนี้ค้นหา Keyword ตรวจสอบ Backlink ของเว็บไซต์ตัวเองและคู่แข่ง และอื่นๆ โดยวิธีใช้งาน UberSuggest ดูที่
3. Keyword Finder
Keyword Finder อีกหนึ่งเครื่องมือยอดนิยม ข้อดีคือ ใช้งานง่าย มีเครื่องมือหลากหลายให้ใช้ โดยตัวอย่างใช้งาน Keyword Finder ดูที่
วิธีหา Keyword คุณภาพ ทำ SEO ได้ผลจริง
หลังจากที่เข้าใจคอนเซปต์ของ Keyword กันดีแล้ว มาต่อกันที่วิธีลงมือปฏิบัติจริง และเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพและลองทำตามได้ เราจะขอยกกรณีตัวอย่าง ทำ SEO ให้กับ “น้ำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวาน” ยี่ห้อหนึ่ง ใน 4 วิธี ดังนี้
1. วิเคราะห์ 4W 2H
ขั้นตอนที่หนึ่ง ให้วิเคราะห์ 4W2H ของสินค้า นั่นคือ “อะไร ใคร ทำไม ที่ไหน อย่างไร เท่าไหร่” โดยมีเป้าหมายเพื่อหา “Seed keyword” ของเว็บไซต์
เมื่อวิเคราะห์เสร็จ ให้พิจารณาว่า คำไหนเหมาะจะเป็น Seed keyword โดยคำที่นิยม คือ ชื่อสินค้า ลักษณะ จุดเด่น ประโยชน์ (หรือสิ่งที่ได้)
โดยในที่นี้ จะเลือกคำว่า “หญ้าหวาน น้ำสมุนไพร ลดน้ำหนัก ลดน้ำตาล สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” มาเป็น Seed keyword
2. ใช้โปรแกรมค้นหา keyword
ต่อไป ให้นำ Seed keyword ไปค้นหาในโปรแกรมค้นหา Keyword เช่น Google Keyword Planner หรือ KWFinder โดยประโยชน์ของโปรแกรมพวกนี้คือ จะแสดง “Keyword Idea” ซึ่งเป็นคำ วลี หรือประโยค ที่เกี่ยวข้องกับ Seed keyword ออกมาจำนวนมาก พร้อมแสดงปริมาณค้นหา จำนวนคู่แข่ง และข้อมูลอื่นๆ
ข้อมูลดิบข้างต้น เราจะโหลดมาเป็นไฟล์ Excel หรือ CSV เพื่อนำไปใช้หา Niche keyword และ Niche Longtail keyword ต่อไป
3. กรองด้วยเลข
ต่อมา ให้นำไฟล์ Excel มาคัดกรองเพื่อ หา Keyword ที่ “ปริมาณค้นหาสูง คู่แข่งน้อย” จากนั้นพิจารณาว่า คำใดเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือเป้าหมาย จะได้นำมาใช้เป็น Keyword ของเว็บไซต์
โดยวิธีคัดกรองเบื้องต้น เราจะใช้ค่าคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า “ค่าเฉลี่ย” ซึ่งจะขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าเฉลี่ยด้วยตัวอย่างต่อไปนี้
สมมติว่า คุณต้องการซื้อกล้องติดหน้ารถ โดยมีข้อมูลของกล้อง 6 ยี่ห้อ
คำถามคือ หากคุณต้องการกล้องคุณภาพสูง และราคาต่ำ ควรซื้อกล้องรุ่นใด
เราตอบคำถามข้างต้นได้โดยใช้ “ค่าเฉลี่ย” ซึ่งเท่ากับผลรวมข้อมูลหารจำนวนข้อมูล ค่าเฉลี่ยคือค่ามาตรฐานของกลุ่มข้อมูล
ทำหน้าที่เหมือนรั้วกั้น แบ่งข้อมูลออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ข้อมูลสูงกว่า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
หากยี่ห้อใดมีระยะเวลาใช้งานสูงกว่าค่าเฉลี่ย นัยยะคือ สินค้ามีระยะเวลาใช้งานค่อนทางสูง (คุณภาพดี) เมื่อเทียบกับยี่ห้อทั้งหมด
หากยี่ห้อใดมีราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นัยยะคือ สินค้ามีราคาค่อนทางถูก เมื่อเทียบกับยี่ห้อทั้งหมด
จากข้อมูล ยี่ห้อ D มีระยะเวลาใช้งานสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงเป็นยี่ห้อที่ตอบโจทย์คุณที่สุด
การหา Keyword ก็เหมือนกับเลือกกล้องติดรถ Keyword ที่ดีคือ มีปริมาณค้นหาสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่มีการแข่งขันน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เพราะเป็น keyword ที่สร้าง Traffic มาก แต่คู่แข่งน้อย ลองดูวิดีโอสอนวิธีหา Keyword ด้วยวิธีข้างต้น ด้านล่างนี้
เมื่อคัดกรองเสร็จ ให้พิจารณาว่า คำใดเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือเป้าหมายของคุณ เมื่อเจอ ให้เก็บไว้ในคลังคำ เพื่อเลือกมาเป็น Niche keyword หรือ Niche Longtail keyword ต่อไป
จากตัวอย่าง คำที่น่าสนใจคือ “หญ้าหวาน สรรพคุณ” และ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล”
4. กรองด้วยคำ
จากข้อ 3 หาก หา Keyword แล้วพบว่า คำที่ผ่านการคัดเลือกมีน้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะ Keyword ที่ทั้งมีปริมาณค้นหามากและคู่แข่งน้อย ย่อมมีจำกัด คำถามคือ แล้วถ้าคุณอยากได้คำเพิ่ม หรืออยากได้ Buy now keyword สักคำ จะทำอย่างไร?
ขอแนะนำวิธี “กรองด้วยคำ” 3 ขั้นตอน ดังนี้
- ล้างการกรองด้วยตัวเลขทั้งหมด
- จากนั้น ทำการ “กรองด้วยคำ” โดยใส่คำที่น่าสนใจ เช่น “ซื้อ ขาย จอง ฯลฯ” แล้วกดคัดกรอง
- เรียงลำดับคำที่มีการแข่งขันน้อยไปหามาก แล้วพิจารณาหาคำที่น่าสนใจ
ข้อดีของวิธีกรองคำคือ คุณจะได้คำที่ตรงใจ ไม่ต้องแข่งขันมากเกินควร เพราะบางครั้ง จะเจอคำ 2 คำ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่คำหนึ่งแข่งขันง่ายกว่า จะได้เลือกคำถูกต้อง ไม่ต้องแข่งขันมากเกินจำเป็น
จากตัวอย่าง เราหา Keyword ได้ดังนี้
ด้วยขั้นตอนเท่านี้ เราก็มี keyword ที่เหมาะกับเว็บไซต์เราแล้วครับ
หากคุณมีปัญหาในการทำ SEO แล้วไม่ปรากฏบนหน้าแรก คอนเทนต์ร้างไม่มีคนดู?? สร้างลิงค์เท่าไหร่ก็อันดับก็ไม่ขึ้น ?? ให้ shifu ช่วยแก้ปัญหาให้คุณ ปรึกษากับผู้มีประสบการณ์ SEO 10 ปี ถามได้ตลอด ดูที่
คอร์สเรียน SEO | สอน SEO เพื่อติดหน้า 1 บน Google อย่างมั่นใจ
สรุป
Keyword คือ คำหรือวลีที่คนใช้ค้นหาข้อมูลจาก Search engine ซึ่งสำหรับเจ้าของเว็บไซต์ หรือนักการตลาดออนไลน์ คำเหล่านี้สะท้อนว่า กลุ่มเป้าหมายต้องการข้อมูลอะไรและใช้คำใดในการค้นหาข้อมูลนั้น
โดยเครื่องมือที่ใช้ค้นหา Keyword (Keyword Tool) มีแนะนำ 3 ตัว คือ Google Keyword Planner , Ubersuggest และ Keyword Finder
ส่วนขั้นตอนการ หา keyword ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ 1. วิเคราะห์เว็บไซต์ด้วย 5W1H 2. ใช้เครื่องมือหา Keyword 3. กรองด้วยเลข 4. กรองด้วยคำ ด้วยขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เราจะรู้ว่า Keyword ที่เหมาะกับเว็บไซต์ของเรา มีอะไรบ้างแล้วล่ะครับ