ช่วงนี้มีคนใกล้ตัวของผมเจอคน Copy บทความค่อนข้างเยอะ ซึ่งเท่าที่นับๆ ดูก็น่าจะมีอยู่ 4-5 เว็บแล้ว เว็บไซต์ Content Shifu เองก็เพิ่งโดน Copy ไปเช่นกัน

Reaction ที่ผมเจอมาจากเพื่อนๆ ของผมนั้นมีหลายอย่างแตกต่างกันตั้งแต่โกรธ โมโห เซ็ง หรือนอย แต่มีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำเหมือนๆ กันก็คือการโพสต์ถามบนโลก Social ดูว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ พวกเขาควรจะทำยังไง

ผมลองคิดๆ ดูแล้ว การที่คนใกล้ตัวของผมเจอคนที่โดน Copy บทความติดๆ กันขนาดนี้ คนบนโลกออนไลน์อื่นๆ น่าจะเจอเหตุการณ์แบบนี้เป็นจำนวนไม่น้อย ผมก็เลยอยากจะเขียนบทความที่ว่าด้วยเรื่องของการจัดการ “แมวขโมย” ซึ่งผมคิดว่าน่าจะใช้การได้ดีมาให้คุณได้อ่านกัน

ผมจะพยายามแนะนำวิธีการเป็นขั้นตอน และก็จะเริ่มจากเบาไปหาหนัก ถ้าคุณทำถึงขั้นสุดท้ายตามที่ผมบอก ผมคิดว่าบทความที่คุณใช้ความคิด และเสียหยาดเหงื่อแรงกายเขียนขึ้นมานั้นจะมีโอกาสถูกละเมิดลิขสิทธิ์น้อยลงอย่างแน่นอนครับ
ป.ล. หลักการนี้สามารถเอาไปใช้กับการที่คุณถูก Copy รูปภาพ หรือวีดีโอได้เหมือนกัน

ก่อนจะจัดการกับคน Copy บทความ… เริ่มจากการจัดการตัวเองก่อน

การตั้งรับที่ดีที่สุดคือการรุกฉันใด การแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันฉันนั้น (เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย ฮา)

ถ้ามีคน Copy บทความของคุณไป คุณอาจจะต้องเสียเวลาส่งข้อความไปพูดคุยหลายครั้ง แต่ถ้าคุณสามารถป้องกันล่วงหน้า ไม่ให้คน Copy บทความของคุณไปก่อนได้ คุณจะเสียเวลา และเสียอารมณ์น้อยกว่าเดิมเยอะเลย

วิธีที่ผมคิดว่าใช้ได้ดีในการป้องกันไม่ให้คน Copy บทความของคุณก็คือ

เขียนบทความให้มีคุณภาพ

การเขียนบทความให้มีคุณภาพครับ ซึ่งคำว่าคุณภาพของผมนั้น นอกจากที่คุณควรที่จะเขียนบทความให้ลึก ลงรายละเอียดแล้ว คุณควรที่จะเขียนบทความให้แตกต่าง (Unique) และเป็นตัวของตัวเองด้วย (อ่านเพิ่มเติม: วิธีการเขียนบทความให้มีคนอ่าน)

การเขียนบทความให้มีคุณภาพ และแตกต่างจะทำให้คนที่จะ Copy บทความของคุณไปต้องคิดให้ดีๆ ก่อน เพราะว่ามันจะสามารถดู เช็ค และตรวจสอบได้ไม่ยาก

เขียนคำแจ้งเตือน

การเขียนข้อความแจ้งเตือนไว้ในส่วนของ Footer ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ ซึ่งผมมีคำแจ้งเตือนแนะนำอยู่ 3 อย่างครับ

1. Copyright

ใส่คำแจ้งเตือนว่าทุกอย่างบนเว็บไซต์นี้เป็นลิขสิทธิ์ของคุณ เช่นของ Content Shifu ก็จะเป็น Copyright © 2017 by Content Shifu

2. DMCA

DMCA ย่อมาจาก Digital Millennium Copyright Act ซึ่งพวกเขาจะมี Badge ให้คุณด้วย และถ้าเว็บไซต์ของคุณถูก Copy บทความไปในขณะที่ติด Badge นี้อยู่ คุณสามารถใช้ Take Down Service ของพวกเขาได้

เดี๋ยวผมจะอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในขั้นตอนการจัดการกับคนที่ Copy บทความนะ

3. Creative Commons

อธิบายง่ายๆ เลย Creative Commons เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่สัญลักษณ์นี้ไปติดอยู่นั้นมีลิขสิทธิ์ แต่สามารถเอาไปใช้ได้ภายใต้สัญญาของ Creative Commons (เช่นคุณอาจจะติด Creative Commons ที่บอกว่าบทความบนเว็บไซต์ของคุณนั้นสามารถเอาไปใช้ได้ แต่ห้ามดัดแปลง ห้ามเอาไปใช้ในเชิงการค้า และต้องอ้างอิงแหล่งที่มา เป็นต้น)

คุณสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Creative Commons ได้ที่นี่ หรือเข้าไปอ่านบทความเกี่ยวกับ Creative Commons ของรูปภาพ ที่ Content Shifu เคยเขียนไว้ได้ที่นี่

ป.ล. จริงๆ แล้ว Creative Commons เป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ช่วยป้องกันการ Copy แต่ช่วยสนับสนุนให้คนเอาคอนเทนต์ของคุณไปใช้ในรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งถ้าคุณไม่ได้กังวลเรื่องที่บทความจะถูก Copy แต่กังวลเรื่องเกี่ยวกับว่าบทความของคุณจะถูกเอาไปใช้ในทางไหนบ้าง Creative Commons ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจนะครับ

ใช้เครื่องมือ

คุณสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ในการป้องกันการ Copy ได้ เช่นถ้าสมมุติคุณใช้ WordPress มันจะมี Plugin ต่างๆ ให้คุณเลือกใช้มากมายอย่าง WP-CopyProtect หรือ WP Content Copy Protection & No Right Click

ส่วนตัวผมเองนั้นไม่ค่อยชอบวิธีนี้เท่าไหร่ เพราะผมเชื่อว่าวิธีการป้องกันแบบการสร้างบทความให้แตกต่าง หรือวิธีการแจ้งเตือนนั้นเป็นวิธีที่ดีกว่า

ก่อนจะ Copy บทความ… มาอ่านตรงนี้ก่อน

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ชอบ Copy บทความจากแหล่งต่างๆ มาไว้ในเว็บไซต์ของตัวเอง (ไม่ว่าจะแบบตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ) ผมอยากให้คุณลองอ่านสิ่งที่ผมจะเขียนถึงต่อไปนี้ก่อนนะ

ยิ่งคุณ Copy มากเท่าไหร่ Authority คุณยิ่งน้อยเท่านั้น

ในแง่ของ Search Engine การที่คุณ Copy บทความมาทั้งดุ้นนั้นจะทำให้ Google มองคุณเป็น “ของเก๊” ซึ่งเป็นสิ่งที่ Google ไม่ให้ค่า เพราะฉะนั้นในระยะยาวการที่คุณจะติด Google ด้วยบทความที่คุณ Copy มานั้นจึงเป็นเรื่องยาก

ถ้าในแง่ของคนอ่าน ถ้าคุณ Copy บทความมา คนอ่านที่คุณจะมาเสพบทความของคุณนั้นจะเป็นเพียงคนอ่านขาจรที่มาแล้วก็ไป และพวกเขาก็จะคิดว่าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บ Clickbait เว็บนึง ไม่มีทางที่พวกเขาจะมองคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Authority) ในด้านนั้นๆ ไปได้หรอก

การ Copy Paste เป็นการกระทำที่มักง่าย

การที่คุณลอกบทความที่ต้องใช้ทั้งความรู้ ความพยายาม และเวลาในการเขียน แล้วเอาไปแปะในที่ของคุณเพื่อหาประโยชน์จากมัน (ไม่ว่าจะเป็น Traffic หรือ Ads) แล้วก็ให้เครดิตตัวเล็กๆ ท้ายบทความ หรือไม่ให้เลย อันนี้เป็นการกระทำที่เรียกได้ว่ามักง่าย

ถ้าคุณชอบบทความนั้นๆ และอยากจะช่วยแชร์เรื่องราวดีๆ ออกไป วิธีที่ดีที่สุดคือให้แชร์ลิงก์จากต้นฉบับเลยครับ

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณไม่ใช่ Steve Jobs, Elon Musk หรือ Stephen Hawkings มีโอกาสสูงมากๆ ที่บทความในหัวข้อที่คุณเขียนนั้นจะเคยมีคนเขียนมาก่อนแล้ว การจะเขียนให้ต่างไปเลยอาจจะเป็นเรื่องยาก ซึ่งคำแนะนำของผมคือ

1. ถ้าคุณจะแปลบทความมาจากต่างประเทศ อย่าแปลมาแบบคำต่อคำ ให้ Paraphase แล้วอาจจะใส่ความคิดของคุณลงไปบ้าง

2. เขียนหัวข้อเดียวกันไปเลย แต่ใช้วิธีการเล่าเรื่อง หรือการอธิบายที่ต่างกัน และที่สำคัญ ทำให้เยอะกว่า และดีกว่า (เช่นถ้ามีคนเขียน 10 วิธีในการหาเงินออนไลน์ คุณอาจจะแข่งด้วยการเขียน 50 วิธีในการหาเงินออนไลน์ เป็นต้น)

คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่แพ้ใคร

ในหลายๆ ด้าน ประเทศไทยเราอาจจะยังสู้ประเทศอื่นไม่ได้ แต่ผมเชื่อมาตลอดว่าคนไทยมีความ Creative ที่ไม่แพ้ใคร (ดูได้จากงานโฆษณาที่เรียกน้ำตาแห่งความซึ้งได้จากคนมากมายทั่วโลก หรือการเอาเครื่องมือต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ – เช่นการใช้ Facebook Live ขายของ) ผมเชื่อว่าถ้าคุณลองใช้ความคิด หยิบเอาความรู้ ความสามารถที่คุณมี รู้จักขอบเขตสิทธิ และหน้าที่ของคุณ เอาทั้งหมดมาสร้างสรรค์เป็นผลงานออกมา ผมเชื่อว่างานของคุณจะออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ อยากแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม: จรรยาบรรณนักเขียนออนไลน์: กรณีศึกษาน่าคิด พร้อมคำแนะนำ 7 ข้อที่คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ควรปฏิบัติ เพื่อให้งานดี ไม่มีดราม่า

วิธีการจัดการกับคนที่ Copy บทความแบบ Step by Step

วิธีเหล่านี้ เป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยากมาก และจะค่อยๆ เริ่มจากเบาไปหาหนักนะครับ

1. หาข้อมูล

เรามาเริ่มกันตั้งแต่ขั้นการหาว่าบทความของคุณถูก Copy ไปไว้ที่ไหนบ้างรึเปล่า

เครื่องมือที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ Copyscape ครับ วิธีการง่ายๆ เลยก็คือคุณสามารถเอาลิงก์ของบทความที่คุณอยากจะเช็คใส่ลงไปใน Copyscape แล้วเดี๋ยวตัวโปรแกรมจะบอกมาว่ามีใคร Copy บทความของคุณรึเปล่า แต่ถ้าคุณไม่อยากจะ Copy ลิงก์ของคุณไปใส่แบบหน้าต่อหน้า คุณสามารถใช้บริการ Copyscape Premium ได้ครับ ราคาตกอยู่ที่ 0.05$ ต่อหน้า

2. เก็บข้อมูล: Capture หลักฐานมาให้หมด

เมื่อคุณรู้แล้วว่ามีคน Copy บทความของคุณ ขั้นตอนต่อไปคือขั้นการเก็บหลักฐาน ซึ่งผมแนะนำให้ Capture หน้าจอที่เว็บไซต์นั้นๆ Copy บทความของคุณมาให้หมด ครบทุกหน้า (ถ้าคุณใช้ Chrome เป็น Browser โปรแกรมที่ผมแนะนำคือ Awesome Screenshot)

จากน้ันเข้าไปที่ who.is และใส่ Domain ที่คุณอยากเช็คลงไปเพื่อเช็คว่าใครเป็นเจ้าของ แล้วก็ Capture หน้าจอเก็บข้อมูลมา

ป.ล. บางคนอาจจะปิดบังชื่อของตัวเองไว้ แต่ไม่เป็นไร เพราะคุณยังคงรู้ชื่อ Domain Provider และ Hosting Provider ของพวกเขาอยู่ดี และถ้าคุณไม่สามารถติดต่อเจ้าของเว็บไซต์ได้ ให้ข้ามไปขั้นตอนที่ 5 เลยครับ

ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ใช้ในขั้นตอนที่ 4 เป็นต้นไป

3. ส่งอีเมลไปพูดคุย

ผมแนะนำว่าเวลาคุณส่งอีเมลไปคุยกับคนที่ Copy บทความของคุณ คุณอย่าไปพ่นไฟใส่เขา วิธีที่น่าจะได้ผลดีกว่าก็คือการส่งไปพูดคุยแบบสุภาพ และอาจจะเสนอทางเลือกเป็น 2 ทางเช่น

1. ให้เขา Rewrite อีกรอบ โดยที่ให้มีเนื้อหาบางส่วนอ้างอิงบทความของคุณ จากนั้นก็ให้เครดิตคุณกลับมา นอกจากว่าจะทำให้คนที่ Copy บทความ เอาบทความที่ Copy ออกแล้ว คุณอาจจะได้ Backlink กลับมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำ SEO ของคุณด้วย

2. ให้เขาเอาบทความที่ Copy คุณมาออกจากเว็บไซต์ของเขา

ย้ำอีกครั้งว่าอย่าไปหยาบใส่ เพราะมันจะไม่มีอะไรดีขึ้น เน้นคุยกันด้วยเหตุผลกันจะดีกว่า ดีไม่ดี คุณอาจจะได้แฟนคลับอันเหนียวแน่นเพิ่มอีกคนด้วย เพราะการที่เขา Copy บทความของคุณไป แสดงว่าเขาน่าจะชื่นชอบผลงานของคุณมากๆ ในระดับนึง

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างอีเมลที่ผมเคยส่งไปคุยกับคนที่ Copy บทความของผมไป อาจจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่สุด (เพราะในตอนนั้นพยายามบังคับตัวเองให้ไม่พ่นไฟอยู่ ฮา) แต่เป็นตัวอย่างที่ใช้ได้ผล ลองเอาไปปรับใช้ดูได้นะครับ

สวัสดีครับ ผมแบงค์ จาก Content Shifu นะครับ

ผมบังเอิญเจอว่าเว็บไซต์ xxxx ได้นำบทความ “xxxxxx” ที่เป็นลิขสิทธิ์ของ Content Shifu ไปลงเว็บไซต์ xxxx โดยไม่ได้รับอนุญาต

ผมขอเสนอวิธีแก้ 2 วิธีครับ

1. คุณเจ้าของเว็บ xxxx ทำการเขียนบทความใหม่โดยใช้ภาษา และแนวคิดของตัวเอง และถ้าจะเอาบทความนี้ของ Content Shifu ไปใช้อ้างอิง รบกวนช่วยส่ง Backlink กลับมา

2. ถ้าวิธีการแรกไม่สะดวก ผมขอรบกวนให้ช่วยลบบทความของผมออกจากเว็บไซต์ด้วยนะครับ

บทความทุกบทความที่ผมเขียนขึ้นมาใช้เวลาเป็นหลักวัน บางบทความก็เป็นหลักเดือน ซึ่งผมไม่อยากให้ถูกเอาไปใช้ในลักษณะนี้ครับ

หวังว่าคุณเจ้าของเว็บไซต์ xxxx จะเข้าใจนะครับ

ขอบคุณมากๆ ครับ

4. ส่งอีเมลไปอีกครั้ง

ถ้าคุณคุยดีๆ ด้วยเหตุผลแล้วแต่ว่าเขาไม่เข้าใจ (เงียบหาย ไม่ยอมตอบ) คุณอาจจะลองส่งอีเมลไปอีกครั้ง แต่ถ้าเขายังไม่สนใจ หรือไม่ยอมตอบอีก คุณก็อาจจะต้องยกระดับการพูดคุยให้ซีเรียสขั้นไปอีกขั้น

โดยในขั้นนี้ให้คุณเอาข้อมูลที่อยู่ในขั้นที่ 2 มาใช้ พร้อมทั้งแจ้งเตือนโดยระบุเกี่ยวกับเรื่องกฏหมายเข้าไปด้วย

Shifu แนะนำ
ในขั้นนี้ Template ที่ใช้อาจจะเป็น

สวัสดีคุณ xxx (ชื่อ และนามสกุลที่ได้จากในขั้นตอนที่ 2)

เนื่องจากว่าเว็บไซต์ xxx ที่มีการจด Domain ไว้ที่ xxx และใช้บริการ Server ของ xxx ได้ทำการนำเอาบทความ“xxxxxx” ที่เป็นลิขสิทธิ์ของ Content Shifu ไปลงเว็บไซต์ xxxx โดยไม่ได้รับอนุญาต

ในฐานะที่ผมเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Content Shifu ผมขอให้คุณดำเนินการเอาบทความ “xxxx” ออกจากเว็บไซต์ของคุณภายใน 3 วัน มิเช่นนั้น ผมจำเป็นต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1. แจ้ง Domain และ Hosting Provider ของคุณว่าเว็บไซต์ xxxx ได้นำเอาบทความ “xxxx” ที่เป็นลิขสิทธิ์ของ Content Shifu ไปลงเว็บไซต์ xxxx โดยไม่ได้รับอนุญาต และขอให้ Domain และ Hosting Provider ดำเนินการแทนผม

2. แจ้ง Google, Facebook และบริการอื่นๆ ที่คุณใช้ในการหาคนเข้าชมเว็บไซต์ และหารายได้เพื่อมาสนับสนุนการกระทำผิดของคุณให้เลิกสนับสนุนคุณ (ผลลัพธ์จากตรงส่วนนี้จะเป็นการถูกแบนจาก Search Engine, Adwords, Adchoice และช่องทางการหารายได้อื่นๆ)

3. ดำเนินคดีตามกฏหมาย

Shifu แนะนำ
ผมมีเกร็ดความรู้เพิ่มเติมเพื่อคุณสามารถเอาไปใช้พูดคุยกับคนที่ Copy บทความของคุณไปมาฝากครับ (ข้อมูลส่วนนี้ได้ผมได้มาจาก ด.ร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ แห่ง iTax)

1. บทความเป็นวรรณกรรมอย่างนึงที่ผู้เขียนเป็นคนสร้างขึ้นมา เราจะเรียกผู้เขียนว่าเป็น “ผู้สร้างสรรค์” ดังนั้น ผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ (พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์) ทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานนั้นโดยไม่ต้องไปจดทะเบียน และมีอายุความคุ้มครองจนถึงเวลาที่ผู้เขียนตาย + 50 ปี

เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้เดียวมีสิทธิในการดัดแปลง แก้ไข ทำซ้ำ เผยแพร่ ได้ ถ้าคนที่ดัดแปลง แก้ไข ทำซ้ำ เผยแพร่ ก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นความผิดตามกฎหมาย

2. บทลงโทษ ปกติจะเป็นโทษปรับขั้นต่ำตั้งแต่ 20,000 และอาจจะขึ้นไปถึง 200,000 บาท แต่ถ้าทำเพื่อการค้า โทษปรับจะขยับขึ้นไปเป็นขั้นต่ำ 100,000 และอาจขึ้นไปถึง 800,000 บาท และมีโทษจำคุกด้วยตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี และนอกจากความผิดทางอาญา เจ้าของลิขสิทธิ์ก็สามารถเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่างหากได้ด้วย

3. มันจะมีข้อยกเว้นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่นิดหน่อย เป็นหลักที่ในวงการจะเรียกว่า Fair Use เช่น คัดลอกไปบางส่วนเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการวิจารณ์ เป็นต้น

คุณสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้ที่บอสใหญ่อย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา

5. เมื่อเขาไม่ยอมเอาออกบทความที่ Copy ออกให้ ก็ถึงเวลาที่คุณจะเอาออกด้วยตัวเอง

ผมคิดว่าเกือบทุกเคสน่าจะคลี่คลายได้หลังจากที่ผ่านวิธีการในข้อที่ 4 มา แต่ถ้าคนที่ Copy บทความของคุณยังคงนิ่งเฉยกับคำเตือน ก็ถึงเวลาทำในสิ่งที่เตือนให้เป็นจริง ซึ่งวิธีการต่างๆ มีดังนี้

1. เข้าไปใช้บริการ Take Down Service ของ DCMA

เข้าไปยัง DCMA ที่คุณเคยสมัครไว้ จากนั้นก็เลือก Take Down Service ซึ่งสำหรับ Account ฟรี คุณจะสามารถขอให้ DCMA Take Down บทความของคุณที่ถูก Copy ได้ปีละหนึ่งครั้ง (ถ้าคุณจ่ายเงินเดือนละ 10$ คุณจะสามารถขอให้ DCMA Take Down ได้ปีละ 10 ครั้ง)

เมื่อ DCMA รับคำขอของคุณแล้ว พวกเขาจะไปจัดการคุยกับ Domain และ Hosting Provider ของเว็บไซต์ที่ Copy บทความของคุณไปเอง (หลักๆ ก็คือขอให้ Host นั้นบอกให้เจ้าของเว็บไซต์เอาคอนเทนต์เหล่านั้นออก หรือไม่เว็บไซต์ก็จะโดนแบน)

2. แจ้ง Google, Facebook และช่องทางอื่นๆ ที่คน Copy ใช้หา Traffic / เงิน

** ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่โหดร้ายที่สุดในบทความนี้เลยครับ ถ้าเป็นไปได้อย่าให้มาถึงขั้นนี้กันเลยนะครับ คุยกันก่อนจะดีที่สุด

คุณสามารถแจ้ง Google เพื่อให้ Google เอาคอนเทนต์นั้นๆ ออกจาก Search Engine หรือแบน Account Adsense ได้ หรือถ้าเป็น Facebook ก็จะเป็นการเอาคอนเทนต์ออกจากเพจนั้นๆ

โดยที่คุณสามารถเข้าไปแจ้ง Google ได้ที่นี่ และ Facebook ได้ที่นี่ ถ้าเป็นแบรนด์อื่นนอกเหนือจาก 2 แบรนด์นี้ ให้คุณลองใช้ Google ค้นหาคำว่า “ชื่อแบรนด์” Copyright Infringement ดู เช่น Amazon Copyright Infringement

ถ้าในกรณีที่ต้องการให้มีหน่วยงานมาช่วยจัดการแก้ปัญหา หรือจัดการเรื่องการฟ้องร้องสามารถทำได้โดย

1. ติดต่อสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368

2. ติดต่อที่เพจกรมทรัพย์สินทางปัญญา

3. ติดต่อทนายทำเรื่องฟ้องคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา

** ขอบคุณ ด.ร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ แห่ง iTax สำหรับข้อมูลในส่วนนี้ด้วยครับ

สรุป

และนี่ก็คือวิธีการป้องกันไม่ให้บทความดีๆ ของคุณถูก Copy ไปใช้ รวมไปถึงวิธีการแก้ไขในกรณีที่มีคน Copy บทความของคุณไปจริงๆ นะครับ

ผมแนะนำว่าพยายามทำจากเบาไปหาหนัก แล้วก็พยายามอย่าพ่นไฟใส่กัน น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดนะครับ

ขอเป็นกำลังใจให้คนที่สร้างสรรค์บทความดีๆ มาให้คนไทยได้อ่านนะครับ : ) และถ้าหากใครที่กำลังมองหาบทความดีๆ เกี่ยวกับ Content Marketing อยู่ล่ะก็ ขอเชิญที่เว็บไซต์ของเราเลย มีคอนเทนต์ดีๆ รอคุณอยู่อีกเพียบ

ตาคุณแล้ว

คุณเคยถูก Copy บทความบ้างรึเปล่า? แล้วคุณมีวิธีจัดการยังไงบ้าง? หรือคุณมีวิธีที่ดีกว่าที่ผมเขียนไปข้างต้นมาแนะนำให้ผม และคนอ่านคนอื่นๆ รู้ไหม? พิมพ์มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ