วิธีการเขียนบทความบทโลกออนไลน์นั้นแตกต่างกับวิธีการเขียนบทความบนโลกออฟไลน์ค่อนข้างมาก อะไรที่ใช้ได้ดีบนโลกออฟไลน์อาจจะใช้ไม่ได้ผล หรือใช้ได้ไม่ดีในโลกออนไลน์

ในความคิดของผม สาเหตุก็เป็นเพราะว่าการเขียนออนไลน์นั้นต้องใช้ศาสตร์พอๆ กับศิลป์ การที่คุณเขียนเนื้อหาที่มีความรู้ น่าติดตาม และน่าสนใจอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอในการดึงดูดให้คนเข้ามาอ่าน ในหลายๆ ครั้งคุณต้องมีความเข้าใจเรื่องเชิงเทคนิคอย่าง SEO, Analytics และวิธีการทำ Marketing บนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ด้วย

บทความนี้เหมาะอย่างยิ่งกับนักเขียนบนโลกออฟไลน์แต่อยากจะผันตัวมาเขียนแบบออนไลน์ หรือใครก็ตามที่อยากจะเริ่มเขียนบทความบนโลกออนไลน์ ผมรับรองว่าถ้าอ่านบทความนี้จบ เลเวลในการเขียนออนไลน์ของคุณจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

Shifu แนะนำ
บทความนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการเขียนบทความ (Internal Factor) เป็นหลัก ผมจะไม่เขียนถึงวิธีการโปรโมต หรือโฆษณาบทความ (External Factor) เพราะถ้าเขียนถึงเรื่องพวกนี้ด้วย มียาวแน่นอน

 

นอกจากนั้นแล้ว บทความนี้จะโฟกัสที่ Website ถ้าคุณเขียนบทความลง Facebook อาจจะเอาไปปรับใช้ได้แค่บางข้อ (ทั้งนี้ สำหรับนักการตลาดและนักเขียนที่สนใจทำ Inbound Marketing คอนเทนต์คือหัวใจของทุกสิ่งทุกอย่าง ผมไม่แนะนำอย่างยิ่งที่จะฝากหัวใจของคุณไว้กับ Facebook เพียงอย่างเดียว – ลองอ่านบทความ “เหตุผลที่คุณไม่ควรพึ่งแต่โซเชียลมีเดียในการทำธุรกิจ” ดูนะครับ)

วิธีการเขียนบทความบนโลกออนไลน์ให้มีคนอ่าน

1. เข้าใจคนอ่าน

ก่อนที่จะเขียนบทความเพื่อแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง คุณต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาของคนอ่านคืออะไร จริงไหมครับ?

บนโลกออฟไลน์ การทำความเข้าใจว่าคนอ่านอยากอะไร อยากอ่านเรื่องราวแบบไหน อาจจะต้องอาศัยประสบการณ์ การคาดการณ์ และการค้นคว้าของผู้เขียนค่อนข้างเยอะ แต่บนโลกออนไลน์นั้นมีเครื่องมือหลายๆ ตัวที่ช่วยให้คุณสามารถทำความเข้าใจว่าคนอ่านอยากจะรู้เรื่องอะไร

เครื่องมือตัวแรกที่มีประโยชน์มากๆ เลยก็คือ Google Trends ซึ่งคุณสามารถลองใส่ Keyword เพื่อค้นหาดูได้ว่าหัวข้อบทความที่คุณอยากจะเขียนนั้นมีเทรนด์เป็นยังไงบ้าง ถ้ากราฟเป็นแบบขาขึ้น แสดงว่าหัวข้อนั้นๆ น่าจะเป็นหัวข้อที่คนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่นผมลองใส่คำว่า Content Marketing ลงไป แล้วเลือกตั้งว่าดูเฉพาะของประเทศไทยในช่วง 5 ปีหลังสุด กราฟที่ออกมามันขึ้นๆ ลงๆ แต่โดยรวมแล้วยังอยู่ในขาขึ้นอยู่ แสดงว่าหัวข้อเรื่อง Content Marketing นั้นยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจครับgoogle-keyword-planner-for-how-to-write-a-good-article

เครื่องมือที่ 2 ที่ผมอยากแนะนำให้คุณใช้ก่อนที่จะเริ่มเขียนบทความก็คือ Google Keyword Planner เพื่อหาคำค้นหาที่ถูกคนค้นหา แล้วจากนั้นผมก็จะสร้างบทความเชื่อมกับ Keyword นั้นๆ ครับ ตัวอย่างเช่นบทความนี้ผมลองค้นหา Keyword คำว่า “การเขียนบทความ” ซึ่งตัว Google Keyword Planner เองนั้นบอกว่ามีคนค้นหาอยู่ประมาณ 1,000-10,000 คน ซึ่งผมถือว่ามีปริมาณที่เยอะพอสมควรครับ

ถ้าอยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับการใช้ Keyword โดยละเอียด ผมแนะนำให้ไปอ่านบทความ 4 เทคนิคทำ SEO ที่นักเขียนต้องรู้! เพิ่มเติม

2. วางโครงสร้างบทความให้ดี

ผมเชื่อว่าคุณน่าจะเคยเรียนวิธีการสร้างบทความที่ดีมมาบ้างว่าบทความที่ดีจะต้องประกอบด้วย บทนำ (Introduction) เนื้อหา (Body) และสรุป (Conclusion) แต่ผมมีขั้นตอนการวางโครงสร้างเพิ่มเติมอีกเล็กๆ น้อยๆ ที่ถ้าแทรกเข้าไปในบทความแล้ว จะทำให้บทความน่าอ่านขึ้นอีกเยอะเลย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เรียกว่า 4P; P-Promise P-Picture, P-Proof และ P-Push

Promise คือการสัญญาว่าคนอ่านจะได้รับอะไรบางอย่าง หลังจากบทความนี้จบ อาจจะเป็นความรู้ วิธีการแก้ปัญหา หรืออะไรก็ได้ที่มีประโยชน์กันคนอ่าน

Picture คือการทำให้คนอ่านเห็นภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะทำได้โดยการอธิบายเชิงลึก ยกตัวอย่าง การใส่รูป หรือการใส่วีดีโอ

Proof คือการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คุณเขียน สิ่งที่คุณทำมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจจะทำให้โดยการอ้างอิงข้อมูลแหล่งที่มา

Push คือการกระตุ้นให้คนอ่านทำอะไรบางอย่างหลังจากที่ได้อ่านบทความจบ

ตัวอย่างสำหรับวิธีนี้อาจจะยาวไปสักนิด แนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “4P เคล็ด(ไม่)ลับในการเขียนเพื่อเพิ่มยอดขาย

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณอยากเรียนรู้เรื่องการเขียนบนโลกดิจิทัลเพิ่มเติม ผมแนะนำให้คุณไปดูคอร์สเรียน Digital Content Writing Certification ของ Content Shifu Academy ครับ 🙂

3. ใส่ความเป็นกันเองลงไป – make it personal

ถ้าให้เลือกระหว่างคุยกับคน กับคุยกับหุ่นยนต์ เป็นคุณ คุณอยากจะคุยกับใครครับ?

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงตอบว่าอยากจะคุยกับคนมากกว่าแน่ๆ เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และมนุษย์ต้องการการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ยิ่งเป็นโลกออนไลน์ที่ไม่เห็นหน้าค่าตากันแล้ว ผมคิดว่าการใส่ “ความเป็นกันเอง” และ “ความเป็นมนุษย์”ลงไปนั้นจะทำให้บทความของคุณน่าอ่านขึ้นอีกเยอะ

เวลาเขียนบทความ ใช้คำว่า เรา เธอ ผม คุณ หรือฉันให้เยอะๆ บอกให้คนอ่านรู้ว่าบทความนั้นๆ มี มนุษย์ เป็นคนเขียน และบทความนั้นๆ เขียนให้ มนุษย์ ด้วยกันอ่าน

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ เลยก็คือการใส่ประวัติ และรูปของคนเขียนลงไปในบทความด้วย เพื่อทำให้คนอ่านรู้สึกใกล้ชิดกับคนเขียนมากยิ่งขึ้นครับ

Shifu แนะนำ

ตัวอย่างไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล จากบทความนี้ได้เลยครับ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ คุณน่าจะเห็นผมใช้คำว่า “ผม” และ “ครับ” หลายครั้งอยู่ และในส่วนท้ายของบทความก็จะมีข้อมูล Bio ที่ทำให้คุณรู้จักกับผมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่านอกจากเรื่องที่จริงจังอย่าง Digital Marketing และเรื่องงานแล้ว ผมยังใส่ชื่อทีมฟุตบอลที่ผมเชียร์ลงไปด้วย (ปีนี้ขอแชมป์นะครับ 🙂 )

ในทุกๆ บทความของ Content Shifu ก็จะมีชื่อผู้เขียนอยู่ตอนท้ายซึ่งถึงแม้สไตล์ของนักเขียนแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ “ความเป็นมนุษย์” ครับ

4. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และสนุก

คนที่จะเข้ามาอ่านบทความบนโลกออนไลน์ของคุณเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะอ่าน Textbook เล่มหนาๆ หรือว่า Wikipedia และที่สำคัญคนที่อยู่บนโลกออนไลน์นั้น มีความอดทนต่ำมาก ถ้าเขา หรือเธอรู้สึกว่าเนื้อหาของคุณไม่น่าเสพ เขาก็พร้อมที่จะกดปิดได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนอกจากใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปแล้ว อย่าลืมใช้ภาษาที่อ่านง่าย และสนุกด้วยนะ

วิธีการง่ายๆ ที่ทำตามได้ไม่ยากคือ

ใช้ภาษาพูด – เวลาคุณคุยกับเพื่อนคุณคุยยังไง เวลาคุณเขียนก็เขียนแบบนั้นแหละ แต่ให้มันสุภาพหน่อยแค่นั้นเอง

ยกตัวอย่าง และเปรียบเทียบ – การยกตัวอย่างจะทำให้คนเห็นภาพ และยิ่งถ้าเป็นตัวอย่างที่เจ๋ง มันจะทำให้คนมีอารมณ์ร่วม และรู้สึกคล้อยตาม

ถ้าต้องใช้ศัพท์เฉพาะ ต้องอธิบาย – อย่าไปคิดเอง เออเองว่าคนที่เข้ามาอ่านจะรู้ทุกอย่างที่คุณเขียน พยายามเขียนอธิบายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เขียนให้เหมือนกับว่าคนอ่านไม่รู้เรื่องที่คุณเขียนอยู่เลย (ถ้าเขารู้แล้ว เขาจะเลือกข้ามไปเอง)

Shifu แนะนำ
nooneoi-youtube-hamburger-icon

ตัวอย่างของหัวข้อนี้คือบทความสาย Tech ของพี่หนูเนยอย่าง “การลาจากของปุ่ม Hamburger บนแอพฯ YouTube เวอร์ชั่นแอนดรอยด์” พี่เขาเริ่มสร้างความประทับใจตั้งแต่การใช้แฮมเบอร์เกอร์จริงๆ เป็นภาพประกอบ จากนั้นค่อยวกกลับไปเรื่องปุ่ม Hamburger จริงๆ บนแอพ YouTube แล้วก็ยังมีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Facebook อีกด้วย เอาเป็นว่าลองไปอ่านดูเลยดีกว่าครับ ขนาดผมไม่ใช่สาย Tech ขนาดนั้น ผมยังคิดว่ามันน่าสนใจเลย

5. เว้นบรรทัดบ่อยๆ

วิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลมากครับ

ในการเขียนบทความออฟไลน์นั้น คำว่าเว้นบรรทัดบ่อยๆ อาจจะหมายถึงการที่ในหนึ่งพารากราฟมีประเด็นสัก 3-4 ประเด็นรวมกัน และมีความยาวประมาณ 10 บรรทัด

แต่สำหรับโลกออนไลน์นั้น การเว้นบรรทัด ควรจะทำบ่อยกว่านั้นมากๆ สาเหตุนั้นเป็นเพราะปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่แล้ว คนอ่านจะเข้าถึงบทความต่างๆ ผ่านมือถือมากกว่าผ่านเดสก์ทอป ซึ่งด้วยความที่มือถือนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ถ้าคุณเขียนโดนไม่เว้นบรรทัดเลย หรือนานๆ เว้นที มันจะทำให้ข้อความคิดกันเป็นพรืดแนะดูไม่น่าอ่านครับ

สูตรง่ายๆ ที่ผมใช้เป็นประจำเลยก็คือใน 1 พารากราฟควรจะมีประเด็นไม่เกิน 2 ประเด็น และความยาวไม่เกิน 5 บรรทัดเมื่ออ่านจากบนเดกส์ทอป

ลองเอาไปใช้ดูได้นะครับ รับรองว่าทำให้บทความอ่านง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะ

Shifu แนะนำ

neil-patel-short-paragraph

ตัวอย่างของหัวข้อนี้คงหนีไม่พ้นปรมาจารย์ด้าน Digital Marketing อย่าง Neil Patel ครับ ถ้าคุณคิดว่าบทความที่ผมเขียนนั้นยาวแล้ว ลองเข้าไปอ่านบทความของป๋าแกสักอัน แล้วจะรู้ว่าบทความของป๋าแกยาว และละเอียดกว่าผมเยอะมากครับ เฉลี่ยๆ แล้วบทความนึงน่าจะไม่น้อยกว่า 5,000 คำ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งถ้าลองเข้าไปสังเกตดูจะเห็นว่าบทความของป๋าแก ถึงแม้จะยาวมาก แต่อ่านไม่ยากครับ เพราะป๋าแกคอยเว้นบรรทัดอยู่ตลอด

6. ใช้ Internal Link และ External Link ให้เป็นประโยชน์

Internal Linking (การลิงก์ไปหาบทความอื่นๆ ในเว็บไซต์ตัวเอง) และ External Linking (การลิงก์ไปหาเว็บไซต์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เว็บไซต์ตัวเอง) นั้นเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรมองข้ามเลยล่ะ

Internal Linking นั้นใช้สำหรับการดึงคนอ่านให้ไปอ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเทียบการทำ Internal Linking กับการใส่แค่ Related Post (บทความที่เกี่ยวข้อง) ที่เป็นแบบอัตโนมัติแล้วละก็ การทำ Internal Linking จะทำให้คนคลิ๊กไปหาบทความต่างๆ เยอะกว่ามาก

ส่วน External Linking นั้นมีไว้เพื่ออ้างอิง และแสดงให้คนอ่านเห็นว่าคุณมีความรู้เรื่องนั้นๆ จริงๆ อย่าไปกลัวว่าการทำ External Linking จะเป็นการส่ง Traffic ไปที่อื่น เพราะว่าถ้าคนอ่านเห็นคุณค่าของบทความที่คุณลิงก์ไปหาแล้ว คนอ่านย่อมจะเห็นคุณค่าของบทความของคุณเช่นกัน

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างสำหรับหัวข้อนี้จะเป็นของ Content Shifu เองครับ ถ้าลองเลื่อนกลับไปดูๆ ผมมีการใส่ Internal Linking กลับไปหาบทความที่เคยเขียนไปแล้วจำนวน 8 ครั้ง และ External Linking อีก 2 ครั้ง ผมว่าคุณต้องมีกดเข้าไปดูลิงก์ใดลิงก์หนึ่งบ้างแหละ 🙂

7. ชีวิตต้องติดวัด

การวัดผลคือหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดสำหรับการเขียนบทความบนโลกออนไลน์ เพราะมันจะทำให้คุณรู้ว่าบทความแบบไหนที่คนอ่านชอบ และให้ความสนใจ บทความแบบไหนที่ควรต้องปรับปรุง

Shifu แนะนำ

เครื่องมือที่ใช้ในการวัดประสิทธิภาพของบทความอย่างง่ายๆ แต่ใช้ได้ผลก็คือ Google Analytics ครับ ซึ่งใน Google Analytics นั้น คุณจะเห็นข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับบทความของคุณไม่ว่าจะเป็น Page view, Average Time on Page, Bounce Rate และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งคุณสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวบอกเบื้องต้นได้ว่าบทความไหนดี หรือไม่ดี

นอกจากนั้นแล้ว การใช้เครื่องมืออย่าง Google Data Studio เพื่อ Display ข้อมูลต่างๆ ให้เป็น Dashboard ให้ดูง่ายๆ ก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจครับ

สรุป

และนี่ก็คือวิธีการเขียนบทความบนโลกออนไลน์ให้มีคนอ่านนะครับ

ในหลายๆ ครั้ง ปัจจัยที่บ่งบอกว่าบทความจะน่าอ่าน หรือไม่น่าอ่านนั้น ขึ้นอยู่กับหัวข้อ หรือใคร/อะไรที่ถูกอ้างถึงในบทความ

เช่น ถ้าเป็นเรื่องราวดารา หรือข่าวคราวดราม่า คนอ่านก็จะสนใจ และรู้สึกน่าติดตามเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะทาง หรือเรื่องที่มันจริงจัง เช่นวิธีการศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือการเรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษา C+ หลายๆ คนอาจจะไม่สนใจ และคิดว่ามันน่าเบื่อ

มันก็จริงส่วนหนึ่งครับ แต่ก็ไม่จริงไปซะทั้งหมด เพราะบทความจะน่าอ่าน หรือไม่น่าอ่านนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอด้วย!

บทความที่มีหัวข้อที่สนุกสนาน เร้าใจ และกระชากอารมณ์ อาจจะกลายเป็นบทความที่ไม่น่าอ่าน ถ้าการนำเสนอน่าเบื่อ และขาดการเรียบเรียงอย่างมีศิลปะ

ในทางกลับกันบทความที่เป็นทางการ และจริงจัง อาจจะเป็นบทความที่น่าอ่านสุดๆ ก็ได้ ถ้าการนำเสนอนั้นดูน่าสนใจ ไหลลื่น และดูเป็นธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น มันสำคัญว่าคุณกำลังเขียนเรื่องอะไร แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณเขียนยังไง ถ้าคุณเขียนให้ดี รู้ว่าเขียนเพื่อใคร มีคนอ่านแน่

ป.ล. บางข้อที่ผมเขียนนั้นก็เป็นข้อเท็จจริง (Fact) ที่เอาไปใช้ได้จริง บางข้อก็เป็นความคิดเห็น (Opinion) เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องเชื่อผมไปทุกอย่าง ลองอ่านแล้วเลือกเอาไปปรับใช้กับสไตล์ และวิธีการเขียนของคุณดูนะครับ

อ่านเพิ่มเติม: ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! วิธีการตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน และ 7 วิธีการเขียนบทความออนไลน์แบบไล่คนอ่านไปไกลๆ

ตาคุณแล้ว

ถ้าคุณตั้งใจอ่านจนจบมาถึงตรงนี้ แสดงว่าวิธีการเขียนของผมยังพอไปวัดไปวาได้อยู่ แต่ถ้าคุณอ่านไม่จบ หรืออ่านข้ามๆ มา แสดงว่าผมยังฝึกฝนมาไม่ดีพอ ถ้าผมมีคำแนะนำให้ผมแก้ไข หรือปรับปรุงตรงไหน เขียนมาบอกผมได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ 🙂

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณอยากเรียนรู้เรื่องการเขียนบนโลกดิจิทัลเพิ่มเติม ผมแนะนำให้คุณไปดู Digital Content Writing Certification ของ Content Shifu Academy ครับ