ยาวไปอยากเลือกอ่าน
เสิร์จเอนจิน (Search Engine) คืออะไร
เสิร์จเอนจิน (Search Engine) คือ โปรแกรมค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ใช้ Search Engine ต้องการทราบ
โดยการใช้งาน Search Engine นั้น เมื่อผู้คนพิมพ์คำหรือวลีกับสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ (หรือที่เรียกว่า คีย์เวิร์ด) ในช่องค้นหา เสิร์จเอนจิน ก็จะแสดงรายชื่อเว็บไซต์ วิดีโอ รูปภาพ หรืออื่นๆ (ขึ้นอยู่ว่าเราค้นหาอะไร) ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำนั้นๆ เพื่อให้ผู้คนได้เข้าไปหาข้อมูลที่ต้องการต่อไป
นอกจากการให้คำตอบแล้ว Search Engine ยังมีการเก็บสถิติ โปรแกรมให้คำตอบนี้จะสังเกตว่ามีผลลัพธ์ใดบ้างที่ถูกเลือก หรือไม่ถูกเลือกจากคีย์เวิร์ดนั้นๆ และใช้ข้อมูลสถิติการค้นหาเพื่อเลือกผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับการค้นหาครั้งต่อไป เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ที่ว่าสิ่งที่มันนำเสนอจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือมีประโยชน์ที่สุดสำหรับผู้ค้นหานั่นเอง (เทคนิคเหล่านี้เรียกกว้างๆ ว่า Machine Learning)
Search Engine มีกี่ประเภท
ปัจจุบัน Search Engine ที่ทั่วโลกนิยมใช้งาน มีอยู่ 2 ประเภทหลัก ดังนี้
1. Crawler Based
มีหลักการทำงานคือ ผู้ให้บริการ Search Engine จะส่งโปรแกรมเก็บข้อมูล (Bot) ไปยังเว็บไซต์ทั้งหลายบนอินเตอร์เน็ต จากนั้น Bot ก็จะไต่ไปตามเว็บเพจต่างๆของเว็บไซต์ เพื่อเก็บข้อมูลว่า แต่ละเว็บเพจมีเนื้อหาอะไร เกี่ยวข้องกับเรื่องราวอะไรบ้าง
โดย Crawler Based เป็นประเภทของ Search Engine ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดย Google Yahoo Bing Baidu รวมถึงเสิร์ชเอนจินยอดนิยมทั้งหลาย ต่างเป็นชนิด Crawler Based ทั้งสิ้น
2. Web Directory
Web Directory คือเว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อเว็บไซต์มาเป็นจำนวนมาก แล้วแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เมื่อผู้ชมเข้ามาที่ Web Directory ก็จะเข้าไปดูหมวดหมู่ที่ตัวเองสนใจ ซึ่งในหมวดหมู่นั้นจะมีรายชื่อเว็บไซต์จำนวนมาก ผู้ชมก็จะไล่พิจารณาหาเว็บไซต์ที่น่าสนใจเพื่อจะเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
โดย Search Engnie ของไทย ในรูปแบบของ Web Directory ที่ยังมีคนนิยมใช้อยู่คือ
Search Engine Marketing มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร
Search Engine Marketing คือ การทำการตลาดออนไลน์ด้วย Search Engine ซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะ เสิร์ชเอนจินคือหนึ่งในเว็บไซต์ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก แต่ละวันมีคน 3.5 พันล้านคนหาข้อมูลด้วย Search Engine ส่วนในประเทศไทย Google คือช่องทางอันดับหนึ่งที่คนใช้ค้นหาสินค้าและบริการ
ลองจินตนาการว่า เมื่อคนค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ แล้วพวกเขาเห็นสินค้าของคุณเป็นอันดับแรกๆ มันจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากมายขนาดไหน
ดังนั้น นอกจาก Search Engine มีประโยชน์ช่วยให้คนได้รับข้อมูลที่ต้องการแล้ว ยังเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้นักธุรกิจนำเสนอสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภคอีกด้วย
ถ้าคุณสนใจข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับ วิธีทำการตลาดบน Search Engine ดูได้ที่
Search Engine มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร
หากคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องการตลาดบน Search Engine หนึ่งในข้อมูลพื้นฐานที่ต้องเข้าใจคือ Search Engine มีขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง เพราะหากเข้าใจ จะสามารถปรับแต่งโฆษณาหรือเนื้อหาเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มโอกาสที่สินค้าของคุณ จะปรากฏในลำดับต้นๆของผลการค้นหาได้
โดยบทความนี้ จะขออธิบาย ขั้นตอนและหลักการทำงานของ Search Engine ยอดฮิตอย่าง Google เพราะนอกจากเป็นที่นิยมอันดับหนึ่งของไทยและเทศแล้ว เสิร์ซเอนจินอื่น (Yahoo Bing Baidu) ก็มีหลักทำงานไม่ต่างกัน
โดยหลักการทำงานของ Search Engine จะมี 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ
- การเก็บข้อมูลเว็บ (Crawling)
- ทำดัชนี (Indexing)
- ค้นหาและจัดอันดับ (Retrieval & Ranking)
1.การเก็บข้อมูลเว็บ (Crawling)
อินเทอร์เน็ตเป็นโครงข่ายข้อมูลขนาดมหึมาที่เชื่อมโยงติดต่อกันอย่างทั่วถึง ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ Search Engine จะดำเนินการค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ในทันทีที่คุณกดปุ่ม ‘ค้นหา' ดังนั้น Search Engine จะมีการ ‘Crawl' หรือการตระเตรียมข้อมูลไว้ล่วงหน้า
กรรมวิธีของ Search Engine คือการส่ง Bot ที่ถูกเรียกว่า Crawler (หรือ Spider) ไปตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ มันจะรวบรวมข้อมูลทุกส่วนของเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ ทั้ง URL รูปภาพ หัวเรื่อง เนื้อหา ตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้าย เมื่อเสร็จเว็บไซต์หนึ่ง เหล่า Crawler ก็จะมุ่งออกไปที่อื่นตามลิงก์ที่อยู่ในหน้าเพจ หรือหน้าเว็บนั้นๆ เพื่อทำการค้นหาเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด
สุดท้ายแล้วสิ่งที่ Search Engine แต่ละตัวจะได้คือคลังข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการอัปเดตเรื่อยๆ รวมไปถึงรูปภาพ วิดีโอ และอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถเข้าถึงได้
ครับ นี่เป็นแค่ขั้นแรก ขั้นต่อไปเหล่า Search Engine จะเริ่มแสดงความสุดยอดของมันให้เห็น
2.ทำดัชนี (Indexing)
ขั้นตอนการทำงานของ Search Engine ขั้นที่ 2 คือ การทำดัชนี (Indexing) โดยจะนำข้อมูลที่ได้มาแบ่งเป็นหมวดหมู่ และไม่ใช่หมวดหมู่แบบธรรมดา มันเป็นการจำแนกหมวดหมู่ยิบย่อยชนิดคำต่อคำไม่ว่าจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม ทาง Google ได้ระบุว่าเอาแค่ตัวดัชนีการค้นหาก็มีปริมาณมากกว่าร้อยล้านกิกะไบต์เข้าไปแล้ว และมันยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันๆ อีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เลยคือเวลาพิมพ์อะไรซักอย่างลงใน google มันจะขึ้น Keyword มากมายมาให้อัตโนมัติ (หากคุณไม่ได้พิมพ์ผิดหรือแปลกจนเกินไปนัก)
แล้วทำไมต้องลำบากจัดหมวดหมู่มากมายขนาดนี้ แค่เอาข้อมูลกองๆ แล้วค้นหาเลยไม่ได้หรืออย่างไร คำถามนี้คือประเด็นที่จะโยงไปหาข้อที่สามครับ ข้อที่สำคัญที่สุด
3.ค้นหาและจัดลำดับ (Retrieval and Ranking)
ลองนึกสภาพเราค้นหาคำว่า ‘สุนัข’ ในอินเทอร์เน็ตครับ
ถ้าเราไม่มีการจัดหมวดหมู่ เราก็จะเจอข้อมูลของ ‘สุนัข’ เป็นล้านๆ ที่อาจจะทั้งเกี่ยว หรือไม่เกี่ยวเลยก็ได้ เพราะตอนรวบรวมข้อมูล ตัว Search Engine จะเก็บข้อมูลมาทุกหน้า มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของย่อหน้าสุดท้ายนิยาย หรืออาจเป็นแค่คำบ่นของบล็อกเกอร์ซักคน ซึ่งต่อให้จัดหมวดหมู่แล้ว มันก็ยังคงไม่ดีพอ
แล้วอะไรล่ะที่มันจะเวิร์ค ข้อมูลอะไรล่ะที่จะโผล่มาในหน้าแรกของ Search Engine มันรู้ได้ยังไงว่า เว็บไซต์ไหนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการอะไรมากที่สุด ??
มีหลายปัจจัยสำหรับเรื่องนี้ ในตอนที่ค้นหาข้อมูล Search Engine จะทำการตรวจสอบสิ่งที่ได้มาไปในตัวเลยว่ามันสำคัญขนาดไหนครับ เช่น
- มีคำหรือวลีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ค้นหาต้องการ (Keyword) อยู่ในเนื้อหาเว็บไชต์
- Keyword เป็นหัวเรื่องหรือเปล่า
- เป็นเว็บเพจที่มีข้อมูลว่า ผู้เข้าชมใช้เวลาบนเว็บเพจพอสมควร อันเป็นสิ่งสะท้อนว่า เนื้อหาสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ค้นหาข้อมูลต้องการ
- และอื่นๆอีกหลายปัจจัย
เรียนรู้วิธีปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อให้ปรากฏบนลำดับต้นๆของ google หรือที่เรียกกันว่า การทำ SEO สอนแบบ Step by Step ตั้งแต่พื้นฐานจนครบถ้วน มือใหม่ก็ทำได้ สนใจดูที่
เมื่อประมวลผลทุกอย่างเสร็จ ผลลัพธ์ก็จะปรากฏขึ้นมาเรียงตามสิ่งที่ Search Engine คิดว่าสำคัญ และตรงกับใจเรามากที่สุด และตัดผลลัพธ์ที่ไม่น่าเกี่ยวข้องออกไป
นี่คือหลักการทำงานของ Search Engine แบบไม่ต้องอิงวิชาการมากนัก
5 Search Engine ที่คนนิยมใช้มากที่สุด
สุดท้าย ลองมาดูรายชื่อกันดีกว่าว่า 5 Search Engine ที่คนนิยมใช้มากที่สุด ในปัจจุบันนั้น มีอะไรบ้าง
Google : Search Engine ที่คนนิยมใช้มากที่สุดในโลกและยืนหนึ่งครองความเป็นเจ้าตลาดมานาน โดยปี 2021 Google มีส่วนแบ่งการตลาดของเสิร์ชเอนจินทั่โลก มากถึง 86.2% สูงกว่าอันดับ 2 ถึง 10 เท่า
Duck Duck Go : Search Engine ที่เน้นนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการปกปิดประวัติการค้นหาของผู้ใช้งาน และไม่มีการเก็บข้อมูลเพื่อการโฆษณา
Bing : Search Engine จาก Microsoft ที่เคยมีกระแสอยู่พักหนึ่งในช่วงหลายปีก่อนว่าอาจแซง Google ได้ ด้วยความไวในการค้นหาทั้งเว็บไซต์และรูปภาพ ทำให้ยังมีคนนิยมอยู่พอสมควร
Baidu : Search Engine สัญชาติจีนที่ได้รับความนิยมในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่ง Baidu จะเน้นการค้นหาด้วยภาษาจีนและผลการค้นหายภายในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก
Yahoo : Search Engine ที่มีชื่อมายาวนานและยังมีผู้ใช้งานอยู่เรื่อยๆ แม้ความนิยมของเว็บไซต์จะไม่เท่าสมัยก่อนแต่ก็ยังมีการอัปเดตสิ่งต่างๆ ในเว็บไซต์อยู่เสมอ
สรุป
หากคุณเป็นคนธรรมดาที่แค่ใช้ Search Engine ในการค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ บทความนี้ก็คงเป็นการขยายความเข้าใจเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ให้มากขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น Search Engine คืออะไร มีกี่ชนิด และมีหลักการทำงานอย่างไรบ้าง
แต่ถ้าคุณเป็นคนที่กำลังโปรโมทเว็บไซต์ตัวเอง อยากทำการตลาดออนไลน์ นี่คือพื้นฐานสำหรับการต่อยอดระยะยาวเลยล่ะครับ เพราะการรู้ว่า ‘มันทำงานอย่างไร’ นี่ละ จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘การใช้งาน’ อย่างแท้จริง
ตาคุณแล้ว
การค้นหาข้อมูลผ่าน Search Engine นั้นใครๆ ก็สามารถทำได้ แต่การค้นหาข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมไปถึงการใช้ Search Engine ให้เป็นประโยชน์สำหรับการโปรโมทเว็บไซต์หรือสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีเพียงคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่สามารถทำได้ และอย่าลืมอัปเดตข้อมูล Algorithm อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดตกอันดับ
ตอนนี้ถึงตาคุณแล้วครับ ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จาก Search Engine ให้มากขึ้นได้ขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล หรือทำให้ตัวเองอยู่หน้าแรกของการค้นหาก็ตาม