ยิ่งตลาดมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ยิ่งดี เพราะนั่นหมายความว่าคุณจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก…

เอาจริงๆ มันก็ไม่จริงเสมอไปเพราะในบางครั้งยิ่งตลาดเล็กและสินค้า/บริการของคุณตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในตลาดเล็กนั้นได้ตรงเป้าอาจจะดีกว่าก็ได้

เพราะในความเป็นจริง มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะ เป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน เพราะถ้าคุณทำแบบนั้น นั่นอาจจะหมายความว่าคุณ ไม่ได้เป็นอะไรสำหรับใครเลย

ในบทความนี้ผมจะพาคุณมารู้จักกับกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะกลุ่มที่ชื่อว่า “Niche Marketing” ครับ

“ไม่ต้องใหญ่ที่สุด ไม่ต้องกว้างกว่าใคร แต่เป็นแบรนด์ที่ใช่ สำหรับลูกค้าของคุณ”


ก่อนเข้าเนื้อหา shifu ยังมีข้อมูลการตลาดดีๆ ที่ช่วยให้เพิ่มฐานลูกค้าและโอกาสทางธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจคุณเติบโตต่อเนื่อง ดูที่

 

Niche Marketing คืออะไร?

ก่อนเริ่มอธิบายว่า Niche Marketing คืออะไร ผมขอเริ่มจากอธิบายคำว่า “Niche Market” ก่อน

Niche Market เป็นส่วนหนึ่งของตลาดในภาพใหญ่กว่าที่มีตัวตน ความต้องการ หรือความชอบแบบเฉพาะกลุ่ม (ที่แตกต่างกับตลาดในภาพใหญ่กว่า) ตัวอย่างเช่น Niche Market ของธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นคือธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นแบบไซส์ XXL โดยเฉพาะ หรือ Niche Market ของคลินิกรักษาอาการปวดตามร่างกายคือคลินิกรักษาอาการปวดจาก Office Snydrome เป็นต้น

ซึ่งการทำ Niche Marketing ก็คือการทำการตลาดแบบเฉพาะกลุ่มเพื่อ Niche Marketing เหล่านั้น เช่นสำหรับธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นแบบไซส์ XXL ทุกๆ การสื่อสารที่จะออกไปจะต้องออกไปเพื่อกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดตัวใหญ่เป็นพิเศษเท่านั้น หรือสำหรับธุรกิจคลินิกรักษา Office Syndrome ทุกๆ การสื่อสารที่จะออกไปจะต้องออกไปเพื่อกลุ่มลูกค้าที่น่าจะมีปัญหาจาก Office Snydrome เท่านั้น

ผมชอบเปรียบเทียบการทำ Niche Marketing ว่าแทนที่คุณจะทำตัวเป็นแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ (ถ้าฆ่าได้ก็จะมีชื่อเสียง แต่โอกาสเกิดขึ้นได้นั้นต่ำมากๆ) การเล่นบทเป็นคนที่หักนิ้วก้อยยักษ์ (ไม่ต้องฆ่าก็ได้ การเก็บนิ้วก้อยยักษ์มา ถึงแม้จะได้ชื่อเสียงน้อยกว่า แต่โอกาสเกิดขึ้นได้นั้นมีมากกว่า) อาจจะดีและเป็นไปได้สำหรับคุณมากกว่า

4 แนวคิดการทำ Niche Marketing ให้ได้ผลดี

1. เข้าใจลูกค้าและปัญหาที่พวกเขามี

สิ่งที่ทำให้ Niche Market แตกต่างกับ Market ในภาพกว้างๆ ก็คือตัวลูกค้านี่แหละครับ

อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า ลูกค้าใน Niche Market นั้นมีตัวตน ความต้องการ หรือความชอบแบบเฉพาะกลุ่มมากๆ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจลูกค้าครับ

ตัวอย่าง Customer Persona / Buyer Persona
ตัวอย่าง Customer Persona

ซึ่งวิธีการเริ่มต้นทำความเข้าใจลูกค้าใน Niche Market อย่างง่ายๆ คือการเริ่มทำ Keyword Research (เพื่อดูว่าลูกค้ามีปัญหาหรือมีคำถามอะไร) และ Persona (เพื่อได้มาซึ่งตัวตนในอุดมคติของลูกค้ากลุ่มนี้)

ตัวอย่างที่น่าสนใจ

เครื่องมือ R-CRM ของ Ready Planet เลือก Niche Market ที่เป็น Niche SME ไทยที่มีทีมขายมากกว่า 5 คนและธุรกิจต้องเป็นธุรกิจแบบ High-involvement (คือลูกค้าต้องคิดและพิจารณาเยอะก่อนตัดสินใจ) ซึ่ง Ready Planet เข้าใจตลาด SME ไทย ตรงที่ว่า SME ไทยอยากได้ซอฟต์แวร์ CRM ที่ใช้งานง่าย เพราะฉะนั้น Ready Planet พยายามทำ Solution ทาง CRM ของพวกเขาให้แตกต่างกับเจ้าอื่นๆ ด้วยการทำให้มันใช้งานง่าย คล้ายกับการใช้งานอีเมล ทำให้ทีมขายของลูกค้าไม่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่มากนัก

ผมเคยทำคลิปรีวิว R-CRM ไว้ ลองเข้าไปดูตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

2. เข้าใจจุดแข็งที่คุณมี

สาเหตุที่คุณไม่สามารถเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคนได้เพราะคุณไม่สามารถเก่งไปซะทุกอย่างได้

การจะทำ Niche Marketing ให้ได้ประสิทธิภาพนั้นคุณจะต้องเข้าใจจุดแข็งที่คุณมี และเอาจุดแข็งนั้นไปเป็นแรงขับเคลื่อนหรือไปเชื่อมกับความต้องการของคนใน Niche Market

SWOT Analysis
ที่มารูปภาพ th.wikipedia.org/wiki/การวิเคราะห์สวอต

วิธีการเริ่มต้นง่ายๆ ในการทำความเข้าใจจุดแข็งของธุรกิจของคุณเองนั้นคือการทำ SWOT Analysis ซึ่ง SWOT ย่อมาจาก Strengths (จุดแข็ง), Weaknesses (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส) และ Threats (ภัยคุกคาม)

ตัวอย่างที่น่าสนใจ

blockdit.com

ลงทุนแมนเป็นสื่อที่มีจุดแข็งอยู่ที่มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบในการพัฒนาตัวเองและเสพความรู้ติดตามเยอะ ซึ่งคนที่ชื่นชอบในการพัฒนาตัวเองและเสพความรู้นั้นนอกจากจะชอบเป็นผู้รับแล้ว ยังชอบเป็นผู้ให้อีกด้วย

พวกเขาก็เลยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งนั้นๆ โดยการสร้าง Social Media Platform ที่ชื่อว่า Blockdit ขึ้นมาเพื่อให้คนที่เป็นกลุ่มลูกค้าของพวกเขาเข้ามาให้และรับความรู้

3. จับจองพื้นที่ที่ยังไม่มีใครครอง

ย้อนกลับไปช่วงต้นบทความ…

ธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นแบบไซส์ XXL อาจจะเป็นธุรกิจที่ดูเฉพาะกลุ่มดี เหมาะกับการทำ Niche Marketing แต่ถ้าเกิดว่า Niche นั้นเป็น Niche ที่มีคนจับจองอยู่แล้ว การที่คุณจะเข้าไปเป็นอีกหนึ่งในผู้เล่นในตลาดเฉพาะกลุ่มอาจจะเป็นเรื่องไม่ง่าย

วิธีที่ดีกว่าคือการลองค้นหา Niche ที่ยังไม่มีเจ้าตลาดจับจอง

Ansoff Matrix
Ansoff Matrix
ที่มารูปภาพ mindtools.com

ถ้าคุณมีธุรกิจอยู่แล้ว และอยากจะลองหา Niche ที่น่าสนใจ คุณสามารถลองใช้ Ansoff Matrix ในการคิดและวางแผนได้ โดยที่ Framework ของ Ansoff Matrix จะแบ่งเป็น 4 ช่องคือ Market Penetration (ตลาดมีอยู่แล้ว คุณสามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่น), Market Development (ไม่มีตลาดมาก่อน คุณต้องเริ่มสร้างตลาดเอง), Product Development (ตลาดมีอยู่แล้ว แต่สินค้าปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์), Diversification (ทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับตลาดที่คุณอยู่และสินค้าที่คุณมีเลย)

ตัวอย่างที่น่าสนใจ

ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างจาก Content Shifu เองครับ 🙂

Content Shifu เป็นเว็บไซต์ที่ริเริ่มเอาคำว่า “Inbound Marketing” (ซึ่งเป็น Niche หนึ่งใน Digital Marketing) เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ในตอนนั้น (หลายปีที่แล้ว) คำว่า Inbound Marketing มีคนในสาย Digital รู้จักแล้วมากมาย แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก

ถ้า Content Shifu เริ่มต้นด้วยการเป็น Digital Marketing Website คนก็อาจจะไม่รู้จักและจดจำตัวแบรนด์ได้

4. ทำในสิ่งที่ “คนตัวใหญ่” ไม่โฟกัสหรือยังทำได้ไม่ดี

ถ้าคุณลองมองธุรกิจขนาดใหญ่แบบผ่านๆ คุณอาจจะคิดว่าพวกเขาช่างไร้เทียมทาน ธุรกิจไหนที่จะไปสู้หรือไปแข่งด้วยน่าจะมีแต่แพ้กับแพ้

แต่ไม่มีใครหรือธุรกิจไหนที่จะเพียบพร้อมสมบูรณ์ไปซะทุกอย่าง ทุกอย่างมีช่องว่างอยู่เสมอ (ถ้าคุณตั้งใจดู ตั้งใจศึกษา)

ตัวอย่างที่น่าสนใจ

NocNoc ตัวอย่างธุรกิจ Niche Market
nocnoc.com

Nocnoc เป็น Platform eCommerce หน้าใหม่ (ที่มี SCG เป็นเจ้าของ) ที่โฟกัสเกี่ยวกับของตกแต่งบ้านโดยเฉพาะ

ตั้งแต่เปิดตัวมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ถึงแม้ว่าพวกเขาเป็น eCommerce Platform ที่ต้องไปฟาดฟันกับยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada และ Shopee (eCommerce 2 เจ้านี้ก็มีหมวดหมู่เกี่ยวกับของตกแต่งบ้านเหมือนกัน) แต่การที่พวกเขาโฟกัสที่การเป็น “eCommerce สำหรับบ้าน” ก็ทำให้พวกเขามีที่ยืนในตลาดได้

สรุป

และนี่ก็คือ Niche Marketing และวิธีการทำ Niche Marketing ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีนะครับ

ในทุกๆ รูปแบบของธุรกิจจะมี “Niche” ซ่อนอยู่เสมอ คุณเพียงแค่ต้องตั้งใจหา Niche นั้นให้เจอ ดูว่า Niche นั้นใหญ่พอไหม และคุณจะสามารถแข่งขันได้รึเปล่า

ถ้าคุณอยากจะเจาะตลาดด้วยกลยุทธ์ Niche Marketing ลองเอาแนวคิดและ Framework ต่างๆ ที่ผมแนะนำไปด้านบนไปลองใช้ดูนะครับ 🙂

ตาคุณแล้ว

คุณมีไอเดียการทำ Niche Marketing แบบไหนที่น่าสนใจและอยากเอามาแชร์ให้ผู้อ่านคนอื่นๆ ได้รู้อีกรึเปล่า มาแชร์ได้ในคอมเมนต์เลยครับ!