ในยุคนี้การทำงานแบบ Hybrid/Remote ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าระบบจัดการงานและการสื่อสารต่างๆ ไม่เอื้อ การทำงานก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ
ในบทความนี้ ผมจะมาแนะนำให้คุณรู้จักกับ Project Management Tools สุดฮิตสองตัวอย่าง Notion และ ClickUp พร้อมทั้งเปรียบเทียบจุดเด่น จุดด้อยของทั้งคู่ ซึ่งจะทำให้คุณเลือกเครื่องมือให้เหมาะกับงานและทีมของคุณได้ดียิ่งขึ้น
ไม่ว่าคุณจะเป็นฟรีแลนซ์ ทีมขนาดเล็ก หรือองค์กรขนาดใหญ่ บทความนี้ช่วยคุณได้
ถ้าพร้อมแล้ว มาอ่านไปพร้อมๆ กันเลย!
Note: บทความนี้เป็นบทความ Editorial ที่อ้างอิงประสบการณ์และวิจารณญาณของผมซึ่งเป็นผู้เขียนบทความนี้เป็นหลัก ซึ่งในบางเรื่องคุณอาจจะเห็นด้วย และบางเรื่องคุณอาจจะเห็นต่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ สิ่งสำคัญคือคุณควรจะต้องไปพิจารณาเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจใช้งานจริงด้วยครับ
ข้อมูลเบื้องต้นของ Notion & ClickUp
Notion

Notion เป็นแพลตฟอร์มที่รวมเอาความสามารถของ Note-taking, Project Management และ Knowledge Base เข้าไว้ด้วยกัน
ด้วยความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง ทำให้ Notion สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจดโน้ตส่วนตัวไปจนถึงการจัดการโปรเจกต์ขนาดใหญ่
จุดแข็งของ Notion อยู่ที่การสร้างระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้อย่างไร้รอยต่อ และการที่ผู้ใช้สามารถออกแบบ Workspace ได้ตามต้องการ
Notion มีระบบ Database ที่ทรงพลังช่วยให้จัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การแชร์และทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มทำได้ง่าย
นอกจากนั้นแล้วยังมี Template สำเร็จรูปที่หลากหลายให้เลือกใช้ ทั้งของ Notion เอง หรือของที่คนใน Community สร้างขึ้นมา
ClickUp

ClickUp เป็นหนึ่งใน Project Management Tool ที่น่าจะเติบโตเร็วที่สุด
ซึ่ง ClickUp ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือจัดการงานโดยเฉพาะ
ClickUp มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ครบครันสำหรับการจัดการโปรเจกต์ ตั้งแต่การวางแผน การติดตามงาน ไปจนถึงการวิเคราะห์ผลการทำงาน
ClickUp โดดเด่นในเรื่องของ Automation และระบบการทำงานที่ปรับแต่งได้ตามต้องการ
ด้วยฟีเจอร์ที่เยอะและหลากหลาย ทำให้ ClickUp เหมาะกับทีมที่ต้องการระบบจัดการงานที่ยืดดหยุ่น
นอกจากการจัดการงานพื้นฐานแล้ว ClickUp ยังมีฟีเจอร์พิเศษมากมาย เช่น Time Tracking, Goal Tracking และ Resource Allocation ด้วย
Notion vs ClickUp: สรุปความแตกต่างระหว่าง Notion & ClickUp แบบเร็วๆ
หัวข้อ | Notion | ClickUp |
---|---|---|
ฟีเจอร์ (Features) | ⭐️⭐️⭐️⭐️ มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะกับการสร้างเอกสารและฐานความรู้ | ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️ มีฟีเจอร์ครบครันสำหรับการจัดการโปรเจกต์โดยเฉพาะ |
ความง่ายในการใช้งาน (Ease of Use) | ⭐️⭐️⭐️⭐️ เริ่มต้นใช้งานได้ง่าย แต่ก็สามารถ Custom ให้ยืดหยุ่นได้เยอะ | ⭐️⭐️⭐️ มีฟีเจอร์เยอะ และ Tool มีการอัปเดตบ่อยๆ |
การเชื่อมต่อ (Integration) | ⭐️⭐️⭐️ การเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ยังมีปริมาณไม่มาก | ⭐️⭐️⭐️⭐️ มี Native Integration ที่หลากหลาย และมีระบบ Import จากเครื่องมืออื่นหลายตัว |
การทำงานร่วมกัน (Collaboration) | ⭐️⭐️⭐️ ใช้ทำงานร่วมกันได้ แต่ยังขาดฟีเจอร์เกี่ยวกับ Project Management ที่สำคัญ | ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️ มีฟีเจอร์การทำงานร่วมกันที่ครบครัน |
ราคา (Pricing) | ⭐️⭐️⭐️⭐️ เริ่มต้นใช้งานได้ฟรี ราคาอัปเกรดสูงกว่าเล็กน้อย แต่ถือว่าไม่ได้แพง | ⭐️⭐️⭐️⭐️ เริ่มต้นใช้งานได้ฟรี ราคาอัปเกรดถือว่าไม่แพงเกินไป |
สิ่งที่ Notion & ClickUp มีเหมือนๆ กัน
Task Management
ทั้งสองแพลตฟอร์มมีระบบจัดการงานพื้นฐานที่ครบครันและใช้งานได้จริง การสร้าง Task การกำหนดผู้รับผิดชอบ และการติดตามความคืบหน้า
และทั้งคู่ยังมีมุมมอง (View) ที่หลากหลายสำหรับการติดตามงาน เช่น List, Board, Calendar และ Timeline
Note Taking
การจดบันทึกและสร้างเอกสารเป็นฟีเจอร์พื้นฐานที่ทั้งสองแพลตฟอร์มทำได้ดี โดยรองรับการจัดรูปแบบ Text, Image และการ Embed Video
ทั้งสองแพลตฟอร์มมีเครื่องมือในการจัดการเอกสารที่ใช้งานง่าย นอกจากนั้นแล้วคุณยังสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นๆ แบบ Real Time ได้อีกด้วย
Available in Multiple Platforms
ทั้ง Notion และ ClickUp สามารถใช้งานได้บนทุกอุปกรณ์ ทั้ง Desktop, Web และ Mobile Application ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา การ Sync ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ทำได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้ทำงานได้ต่อเนื่องไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
เปรียบเทียบ Notion vs ClickUp โดยละเอียด
ฟีเจอร์ (Features)
Notion

Notion โดดเด่นในด้านความยืดหยุ่นของการสร้างเนื้อหาและการจัดการข้อมูล โดยผู้ใช้สามารถสร้าง Block ได้หลากหลายรูปแบบตามต้องการ ระบบ Database ของ Notion ช่วยให้จัดการข้อมูลได้อย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงถึงกัน
การที่สามารถปรับแต่ง View ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้ง Table, Board, Timeline และ Calendar ทำให้มองเห็นข้อมูลในมุมมองที่เหมาะกับการใช้งานอีกด้วย
ความสามารถในการสร้าง Template และการใช้ Property ทำให้ Notion เหมาะกับการสร้างระบบจัดการความรู้ขององค์กร (Knowledge Management)
การแชร์และจัดการสิทธิ์การเข้าถึงก็ทำได้ละเอียด ทำให้ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ AI ที่ช่วยในการสร้างเนื้อหาและสรุปข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
แค่เครื่องมือในการบริหารจัดการ Project ยังอยู่ในระดับพื้นฐาน
Score: ⭐️⭐️⭐️⭐️
ClickUp

ClickUp มีฟีเจอร์เกี่ยวกับ Project Management ที่ลึกกว่า Notion เพราะพวกเขามีทั้งระบบที่ช่วยจัดการ Subtask และ Dependencies (ต้องทำ A เสร็จก่อน ถึงเริ่ม B ได้)
การแสดงผลงานในรูปแบบ Gantt Chart และ Workload view ช่วยให้จัดการทรัพยากรในทีมได้มีประสิทธิภาพ
ฟีเจอร์ Time Tracking แบบ Built-in ช่วยให้ติดตามเวลาการทำงานได้โดยไม่ต้องใช้แอปเสริม
ระบบ Goals และ OKRs ของ ClickUp ช่วยให้ทีมติดตามความสำเร็จของเป้าหมายได้ชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Mind Maps และ Whiteboards ที่ช่วยในการระดมความคิดและวางแผนงาน
Score: ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ความง่ายในการใช้งาน (Ease of Use)
Notion
ถ้าใช้ Notion ในการจดโน้ตหรือทำ Simple Task Management ธรรมดา จะเริ่มต้นง่าย
แต่ถ้าอยากจะใช้ Notion เป็น Second Brain หรือบริหารจัดการ Project จริงๆ อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจระบบพื้นฐาน เนื่องจากความยืดหยุ่นที่สูง

ซึ่ง Notion มี Template Gallery ที่หลากหลายให้เลือกใช้ ช่วยให้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ การเรียนรู้ผ่าน Template เหล่านี้ช่วยให้เข้าใจการใช้งานได้เร็วขึ้น
Community ของ Notion ที่แข็งแกร่งมีการแชร์ Template และวิธีการใช้งานมากมาย ทำให้หาแรงบันดาลใจและวิธีการใช้งานได้ง่าย
Score: ⭐️⭐️⭐️⭐️
ClickUp

Clickup มี UX/UI ที่ดีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากว่าฟีเจอร์ของพวกเขาเยอะ และจากประวัติที่ผ่านมา มีการเพิ่มฟีเจอร์ และปรับเปลี่ยน Interface ค่อนข้างบ่อย
ทำให้ผู้ใช้งานต้องมาเรียนรู้หลายๆ อย่างเพิ่มเติม และเรียนรู้บางอย่างใหม่อยู่เป็นระยะ
Score: ⭐️⭐️⭐️
การเชื่อมต่อ (Integration)
Notion

Notion มี Native Integration อยู่บ้าง (20 กว่าตัว)
และคุณสามารถ Embed เนื้อหาจากภายนอกเช่น Google Docs, Figma หรือ Miro ได้โดยตรง
Score: ⭐️⭐️⭐️
ClickUp

ClickUp มี Native Integration ที่ครอบคลุมมากกว่า 50 แอปพลิเคชัน
นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังมีระบบ Import ข้อมูลจาก Project Management Tools ตัวอื่นๆ อย่าง Asana, Trello, Todoist, Jira, Monday และอื่นๆ อีกหลายตัวด้วย
Score: ⭐️⭐️⭐️⭐️
การทำงานร่วมกัน (Collaboration)
Notion

Notion มีระบบ Comment ที่ช่วยให้ทีมสื่อสารกันได้ใน Page แต่ละ Page
ซึ่งคุณสามารถกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึง และทำ Version History ได้ด้วย
นอกจากนั้นแล้ว Notion ยังมีระบบ Co-editing ที่คนสามารถเข้าไปแก้ไขคอนเทนต์ได้แบบ Real Time
ข้อด้อยของ Notion ถ้าจะใช้เป็น Project Management คือ มันจะไม่มีโซนที่เอาไว้บริหารจัดการ My Task หรือ Tasks I Assigned และทำเรื่องซับซ้อนอย่าง Workload Management ได้ไม่ค่อยดี
Score: ⭐️⭐️⭐️
ClickUp

ClickUp มีเครื่องมือการทำงานร่วมกันที่ครบครัน ทั้ง Chat, Comments, และ Mentions
ระบบ Proofing ช่วยให้ทีมสามารถรีวิวและให้ฟีดแบ็คบนไฟล์มีเดียได้โดยตรง
การแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ช่วยให้ทีมติดตามความเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Team Workload ที่ช่วยให้มองเห็นภาระงานของทีมและจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Score: ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ราคา (Pricing)
Notion

ตัวฟรีขอ Notion นั้นมีฟีเจอร์พื้นฐานที่ดีเพียงพอเลย ซึ่งมันเหมาะสำหรับการใช้งานส่วนตัวหรือทีมเล็กๆ
สำหรับ Plus Plan ราคาเริ่มต้นที่ $10 ต่อผู้ใช้ต่อเดือน มาพร้อมกับฟีเจอร์การทำงานร่วมกันที่ครบครัน
แผน Enterprise มีฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยและการจัดการระดับองค์กรเพิ่มเติม
นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังมี Notion AI ที่ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ $8 ต่อผู้ใช้ต่อเดือนอีกด้วย
Score: ⭐️⭐️⭐️⭐️
ClickUp

Free Plan ของ ClickUp มีการจำกัด Storage และ Feature บางส่วน
Unlimited Plan ของ ClickUp ราคาเริ่มต้นที่ $7 ต่อผู้ใช้ต่อเดือน และคุณสามารถอัปเกรดเป็น Business Plan ($12 ต่อผู้ใช้ต่อเดือน) เพื่อเข้าถึงฟีเจอร์อย่าง Workload Management หรือ OKR ได้
นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังมี ClickUp Brain ระบบ AI ที่ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ $7 ต่อผู้ใช้ต่อเดือนอีกด้วย
Score: ⭐️⭐️⭐️⭐️
สรุป Notion vs ClickUp: เครื่องมือไหนเหมาะกับใคร?
ในความเห็นของผม Notion เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการระบบจัดการความรู้ที่ Flexbile เน้นการสร้างเอกสารและฐานความรู้ที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงทีมที่ต้องการความอิสระในการออกแบบระบบการทำงานของตัวเอง
ส่วน ClickUp เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการระบบจัดการโปรเจกต์ที่ครบครัน ทีมที่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและต้องการเครื่องมือที่มีฟีเจอร์เฉพาะทางจะได้ประโยชน์มากจาก ClickUp ความสามารถในการปรับแต่ง Automation และทำ Time Tracking ทำให้เหมาะกับองค์กรที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน