เมื่อไม่กี่วันก่อน Timeline ของอรมีประเด็นดราม่าให้ต้องเกาะติดสถานการณ์

พี่ที่รู้จักซึ่งเป็นคนทำคอนเทนต์ให้กับเว็บข่าวมาแรงเว็บหนึ่ง เปิดเผยว่าบทความของตนถูกเว็บไซต์ข่าวอีกเว็บหนึ่งก็อปปี้ไป

บทความนี้เขียนขึ้นโดยประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกเป็นการสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาว่ามีอะไรบ้างที่คนทำคอนเทนต์และเจ้าของเว็บไซต์ควรระวัง และส่วนที่สองเป็นการสรุปคำแนะนำต่างๆ ทั้งหมดสำหรับคนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ควรทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นดราม่า หรือการโจมตีในเรื่องจรรยาบรรณ

Disclaimer: ต้องบอกก่อนว่าเรื่องราวในบทความนี้เป็นการสรุปมาจากการเล่าของฝั่งผู้เสียหายเป็นหลักค่ะ อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีเจตนารมณ์ที่เขียนขึ้นมาโดยเป็นการให้กรณีศึกษาแก่คนทำคอนเทนต์ออนไลน์เท่านั้น คอนเฟิร์มว่าไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อทับถมโจมตีฝ่ายคู่กรณีในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

กรณีศึกษา: 3 เรื่องน่าคิดจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

ไม่ได้ก็อป เพราะรีไรท์ไปบ้างแล้ว?

ในเหตุการณ์ดังกล่าว หลังจากที่ผู้เสียหายโพสต์ข้อความระบุว่าคู่กรณีได้ก็อปปี้คอนเทนต์ของตนอย่างแน่นอน เพราะมีเนื้อหาเหมือนกันกับต้นฉบับถึง 80% และมีแนวทางการตั้งชื่อบทความคล้ายกัน แต่คู่กรณีออกมาให้การปฏิเสธ เพราะไม่ได้ก็อปเหมือนกัน 100%

ทางที่ดีที่สุด คอนเทนต์ที่ดีควรจะเกิดจากการเริ่มต้นเขียนใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เกิดจากการรีไรท์ และไม่ว่าจะเป็นการรีไรท์หรือเป็นการเขียนใหม่หมด หากคนทำคอนเทนต์ทราบแก่ใจว่าเนื้อหาของตนมีการอ้างอิงมาจากแหล่งที่มาใดมาก่อน ก็ควรให้เกียรติที่จะระบุถึงแหล่งที่มานั้นๆ สำหรับวิธีการใส่อ้างอิงที่ดี เราจะแนะนำในส่วนที่สองหลังจากนี้

ฉัน(คิดว่า)ฉันไม่ผิด เพราะฉะนั้นจึงขอไม่ยอมรับผิด

แม้ว่าภายหลังทางเว็บไซต์จะรับผิดและลงโทษกับนักเขียนเรียบร้อยแล้ว แต่โชคร้ายที่ React ในครั้งแรกนั้นเป็นลักษณะของการยังไม่ยอมรับผิด

จากตอนแรกที่ความรู้สึกของผู้เสียหายคือความเซ็ง แต่พอมีการไม่ยอมรับเกิดขึ้น ก็เลยเกิดเป็นความไม่พอใจ

เข้าใจว่าเป็นเพราะว่า บ.ก. ของเว็บไซต์ได้สอบถามกับนักเขียนของตนแล้วนักเขียนปฏิเสธ จึงไม่ยอมรับผิดในตอนแรก “ความรู้สึกที่เหมือนกับตนเองถูกใส่สีตีไข่” คงทำให้ฝ่ายคู่กรณีไม่อ่อนให้กับฝ่ายผู้เสียหายในตอนแรก

…โดยส่วนตัว เราเข้าใจความรู้สึกนั้นของผู้เสียหายนะ เคยมีอยู่ครั้งนึงที่ Content Shifu ได้รับคอมเมนต์เชิงลบจากผู้อ่าน แต่เราคิดว่ามันไม่เป็นความจริง ก็พาลทำให้รู้สึกเดือดได้ …แต่สิ่งที่อรบอกได้คือ อย่าให้ไฟเจอกับไฟเลยค่ะ ถ้าเขากำลังรู้สึกในเชิงลบ เราก็อย่าไปสู้รบต่อ เพราะมันไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น หากเรารู้ว่าตอนเขามา เขามาแบบเป็นไฟ เราก็จะรู้ว่าตอนเราตอบกลับไป เราก็ไม่ควรเป็นไฟ แต่เราควรทำตัวเป็นน้ำ ขอโทษไว้ก่อน รับผิดไว้ก่อน และแสดงความรับผิดชอบให้เห็น มันไม่ได้แปลว่าคุณจะเสียเกียรติหรอกค่ะ

ประเด็นเรื่องปัญหาบนโลกออนไลน์มีกรณีศึกษาให้เห็นค่อนข้างมากทีเดียว Pantip.com เป็นช่องทางนึงที่คนดูแลคอนเทนต์ควรตามไปศึกษา ว่าแบรนด์มีวิธีรับมือกับปัญหาบนโลกออนไลน์ (Online Crisis Management) กันยังไง

ผลลัพธ์คือถูกโจมตีหนักกว่าเดิม และถูกขุดคุ้ย

จะบอกว่าเมื่อเกิดความไม่พอใจแล้ว ปัญหามันก็จะเริ่มบานออก บานออก พาลทำให้บทความอื่นๆ บนเว็บไซต์นั้นถูกเพ่งเล็งและถูกเสียดสีไปด้วย สำหรับเคสนี้ถือว่าค่อนข้างซวยทีเดียว เพราะตัวเว็บไซต์นั้นเองครั้งนึงเคยเขียนบทความในทำนองว่า “วิธีรับมือเมื่อมีคนก็อปคอนเทนต์” แต่แล้วตนก็กลับเป็นฝ่ายกลายเป็นโจทก์ในประเด็นเรื่องก็อปคอนเทนต์เสียเอง

..แบบนี้ก็ได้หรอ?

เล่นเอาบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งจับมาเป็นประเด็นทำคอนเทนต์ขำๆ อย่าง “วิวัฒนาการของคนก็อปคอนเทนต์” ในภาพนี้

ภาพนี้เป็น Personal use โพสต์ขึ้นบน Facebook ส่วนตัวของพี่เปาเจ้าของไอเดีย  โดยผู้เขียนได้ขออนุญาตพี่เปาเรียบร้อยแล้วเรื่องนำภาพมาให้ชาว Content Shifu ได้ดูกัน

 

ถึงแม้สุดท้ายเรื่องราวจะผ่านไปด้วยดี คอนเทนต์ที่ถูกก็อปปี้นั้นได้ถูกลบออกไปแล้ว (รวมถึงคอนเทนต์ที่สอนรับมือไม่ให้คนก็อปคอนเทนต์ ก็ถูกลบไปด้วยเช่นกัน) แต่นักเขียนนั้นก็ถูกลงโทษและเว็บไซต์ก็เสียชื่อเสียง นี่ก็คือกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นที่อยากฝากเอาไว้กับคนทำ Online Content ค่ะ

นอกจากการเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อรอยากจะขอฝากแนวทางปฏิบัติสำคัญๆ เป็นเช็คลิสต์สำหรับคนทำคอนเทนต์ว่ามีข้อปฏิบัติอะไรบ้างที่ควรทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณเกิดขึ้น

7 คำแนะนำสำหรับคนทำคอนเทนต์ออนไลน์

1. จงเล่าแต่ความจริง และนำเสนอความถูกต้อง

มีโอกาสได้เห็นผลงานของบล็อกเกอร์คนนึงอยู่เนืองๆ ภายหลังกลับพบว่าเขาไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเท่าไร เนื่องจากเคยมีประวัติว่าเคยแต่งเรื่องเท็จมาโกหกใน Pantip.com

การไม่พูดปดนั้นเป็นจรรยาบรรณทั่วไปของการใช้ชีวิตอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ ทันทีที่คุณกด Publish ออกไป นั่นเท่ากับว่าคุณเป็นสื่อเรียบร้อยแล้ว จรรยาบรรณของสื่อควรจะต้องสืบสาวเรื่องราวต่างๆ ให้ดี และนำเสนอแต่ความจริงเท่านั้น ไม่หลอกหลวงผู้รับสาร

หากเป็นข้อมูลจากแหล่งอื่น ควรต้องตรวจสอบดีๆ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้รับแจ้งข่าวการเปิดตัวโครงการชื่อ เช็กก่อนแชร์ (checkgornshare) มาเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบข่าวจริงข่าวเท็จ โดยเว็บไซต์นี้จะมี Inspector เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ มาคอยช่วยเช็กข่าวให้ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ โดยส่วนตัวยังไม่เคยลองใช้นะคะ ใครสนใจเข้าไปลองได้เลยค่ะ

2. โปร่งใส

กล้าเปิดเผยเจตนารมณ์ของคอนเทนต์ หากงานชิ้นไหนเป็นงานที่มีสปอนเซอร์ หรือทำเพื่อการโฆษณา ก็ควรบอกอย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องปิดบังหรือตีเนียนก็ได้ มันไม่ผิดอะไรที่หากเราทำคอนเทนต์ดี และมีคนสนใจจ้าง แต่มันจะผิดต่อผู้บริโภคถ้าเขาไม่เข้าใจว่าจุดประสงค์ของคอนเทนต์จริงๆ แล้วคืออะไร

3. Headline อย่าบิดเบือนเกินกว่าของข้างใน

ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เราเข้าใจดีกว่าการตั้งชื่อบทความมีความสำคัญมากๆ กับโลกออนไลน์ที่คนกวาดตาอ่านชื่อ/ดูรูปก่อน ก่อนจะตัดสินใจดูต่อ แต่อย่าทำให้เป็น Click-bait จนเกินไป ชื่อบทความควรมีความสอดคล้องกับคอนเทนต์นั้นๆ เรื่องนี้ถือเป็นอีกประเด็นของความโปร่งใสและการเล่าความจริง ต้องโปร่งใสและจริงใจตั้งแต่คอนเทนต์ ไปจนถึงชื่อบทความ

4. ให้เครดิตกับแหล่งที่มา

อย่าอายที่จะบอกว่าข้อมูลของเราได้รับการอ้างอิง หรือมีเว็บอื่นๆ เป็นแหล่งที่มา

Shifu แนะนำ
บนโลกออนไลน์นั้น การใส่เครดิตให้ ถือเป็นมารยาทที่พึงกระทำ และไม่ควรใส่เป็น Text เปล่าๆ แต่ควรใส่เป็นลิงก์เพื่ออ้างอิงกลับไปยังแหล่งที่มานั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งสามฝ่าย
  • เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ได้รับความโปร่งใส และรู้แหล่งที่จะศึกษาต่อเพิ่มเติม
  • เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของไอเดีย บทความดีๆ ที่ถูกอ้างอิง ควรมี Backlink กลับไปหา เพื่อให้ Search Engine ทราบว่าเป็นบทความที่มีประโยชน์ (ตามมารยาท ควรใส่เป็นลิงก์แบบ Do-Follow ไม่ใช่ No-Follow)
  • ช่วยให้เว็บของคุณดูน่าเชื่อถือ มีการระบุถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกหลายประการที่คุณควรลิงก์ไปหาเว็บคนอื่น อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Why Outbound Link? ทำไมการใส่ลิงก์ไปหาเว็บคนอื่น ถึงดีต่อเว็บของเรา

ก่อนนำมาอ้างอิง ทางที่ดีที่สุดคือควรขออนุญาตก่อนเลย จะได้เคลียร์แน่นอนไม่มีปัญหาตามมา แต่ปกติแล้วถ้าเป็นเว็บไซต์แนวข่าวซึ่งนำเสนอข้อเท็จจริงสู่สังคมอยู่แล้ว คุณสามารถนำมาอ้างอิงแล้วให้เครดิตได้

แต่ถ้าเป็นแนว Know How หรือความคิดเห็นเฉพาะของใครคนใดคนนึง ในเคสนี้ควรจะขออนุญาตก่อน เพราะก็มีความเป็นไปได้ที่เจ้าของความคิดอาจจะไม่ได้อนุญาตให้ใครก็ได้หยิบไปใช้

5. ระวังเรื่องลิขสิทธิ์

ส่วนใหญ่มักจะเป็นประเด็นกับรูปภาพ คนทำคอนเทนต์ทราบกันดีว่าการใส่รูปภาพนั้นจะช่วยให้คอนเทนต์น่าสนใจขึ้นเยอะ วิธีที่ดีที่สุดคือใช้ภาพที่ถ่ายเอง ทำเอง แต่บางครั้งโอกาสมันก็ไม่เอื้ออำนวย คำแนะนำที่ให้ได้คือ

  1. ขออนุญาต: หากเราทราบชัดเจนว่าอยากได้รูปจากแหล่งไหนมาประกอบ ทางที่ดีคือควรขออนุญาตกับเจ้าของภาพตรงๆ
  2. ใช้รูปภาพ Royalty-free โดยการซื้อภาพหรือหาจากแหล่งแจกฟรี

โดยส่วนตัวเว็บที่เราคิดว่าใช้ง่ายและชอบใช้ประจำคือ Pixabay.com กับ Unsplash.com ค่ะ Unsplash เหมาะกับรูปแนวไลฟ์สไตล์วิถีชีวิต มีภาพสวยๆ เยอะมาก แต่อาจจะไม่ค่อยหลากหลาย ส่วน Pixabay จะมีภาพหลากหลายกว่า เซิร์จอะไรก็มักจะเจอ

Shifu แนะนำ
นอกจากสองแหล่งนี้ ยังมีแหล่งอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก รวมถึงนอกจากแหล่งหารูปแล้ว วิธีการเอามาใช้ก็สำคัญ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือหารูปฟรี พร้อม 4 เทคนิคการใช้งานอย่างถูกต้อง

6. ยอมรับในข้อผิดพลาด และแก้ไขอย่างไม่รีรอ

เราทุกคนล้วนผิดพลาดกันได้ แต่สำคัญที่ว่าเรายอมรับผิดและแก้ไขมัน “เร็ว” แค่ไหน ยิ่งเป็นออนไลน์แล้ว มีความคาดหวังสูงมากว่าการแก้ไขควรเกิดขึ้นโดยท่วงที ถ้าหากยังแก้ไขไม่ได้เร็วนัก อย่างน้อยการชี้แจงแสดงความรับทราบก็ควรทำให้เร็วไว้ก่อน

ผู้รับสารมีอิสระในการคอมเมนต์ เช่นเดียวกับเราผู้ส่งสาร มีอิสระในการทำคอนเทนต์ เพราะฉะนั้นจะถือสาคอมเมนต์ที่บางครั้งก็ทำให้เราหมดกำลังใจ แต่พยายามเปลี่ยนให้คอมเมนต์เหล่านั้น เป็นไฟในการทำงานดีกว่า

หากมีคนช่วยคอมเมนต์ ก็ควรปรับปรุงตาม อย่างไรก็ตาม เราก็ควรเลือกดูด้วยว่าคอมเมนต์ไหนเป็นประโยชน์ บางครั้งเราก็ทำให้ทุกคนถูกใจไม่ได้ “อ่านไม่รู้เรื่อง” เป็นคอมเมนต์ที่เราเคยเจอ เพราะว่าเนื้อหาที่เราเขียนมันไม่ Mass ค่อนข้างมีความ Niche ไม่ก็ Technical ถ้าคนที่คอมเมนต์ใกล้เคียงกับ Persona ของเรา นั่นแปลว่าเราเองที่ล้มเหลว แต่ถ้าคนๆ นั้นไม่ใช่ Persona ของเรา ก็รับทราบเอาไว้ แต่เน้นทำให้คนที่เป็น Persona ถูกใจจะดีกว่า

7. Adding Value

จากกรณีศึกษาข้างต้น หากเรารู้อยู่แก่ใจว่าคอนเทนต์ที่เรากำลังจะทำ มีคนอื่นที่ทำไว้อยู่แล้ว จริงๆ แล้วสิ่งที่ควรทำที่สุดไม่ใช่การรีไรท์แล้วให้เครดิต แต่สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการมองหาว่าคอนเทนต์นี้ยังมีอะไรที่เราเขียนเสริมเพิ่มเติมได้อีกไหม เพื่อเป็นการ Add Value ลงไปเพิ่มเติม ในขณะที่คอนเทนต์ออนไลน์มีเยอะแยะไปหมด แต่คอนเทนต์ออนไลน์ที่เป็นประโยชน์ เราว่ายังมีความต้องการอีกเยอะ

ยกตัวอย่างบทความนี้ จริงๆ มีแค่ส่วนแรกส่วนเดียวก็สามารถนำมา Publish เป็นบทความ ตั้งชื่อว่า “กรณีศึกษา คนทำคอนเทนต์อย่าทำแบบนี้ ถ้าไม่อยากถูกมองว่าผิดจรรยาบรรณ” อะไรแบบนี้ก็ทำได้ แต่โดยส่วนตัวเราเองมองว่าเราอยาก Add Value เข้าไปเพิ่มเติม ก็เลยเพิ่มส่วนที่สองเข้ามา เผื่อให้เป็นเช็กลิสต์ข้อควรปฏิบัติสำหรับคนทำคอนเทนต์ออนไลน์ แล้วก็ได้เป็นการแนะนำบทความต่างๆ ให้ได้เข้าไปศึกษากันต่อด้วย

Digital Content Writer hbspt.cta.load(3944609, ‘0594cf2a-25fd-4a59-a653-25a01034c6d2', {});

Shifu แนะนำ
เราเคยเขียนเกี่ยวกับโทษของ Duplicate content และคำแนะนำในการทำ Original content ไว้แล้ว ขออนุญาตแนะนำให้ตามไปอ่านต่อกันค่ะ : )

สิ่งต่างๆ ที่เขียนในบทความนี้ ผู้เขียนเป็นคนเรียบเรียงเขียนใหม่เอง แต่ว่าบางไอเดียก็ได้มาจากการอ่านบทความของต่างประเทศ โดยบทความที่เราอยากจะแนะนำให้อ่านกัน คือ บทความนึงของ journalism.co.uk หัวข้อว่า Five Online Standards and Ethics Pointers for Journalists อันนี้เขียนดีกระชับอ่านง่าย ส่วนอีกอันคือ  Code of Ethics for Bloggers, Social Media and Content Creators ซึ่งเขียนเกี่ยวกับจรรยาบรรณสื่อไว้ไม่น้อยทีเดียว (แต่อ่านยากไปนิดนึง) ลองเข้าไปดูต่อกันได้นะคะ

สรุป

ข้อผิดพลาดควรระวังเกี่ยวกับจรรยาบรรณการทำคอนเทนต์ออนไลน์

  • รีไรท์บ้างแล้วถือว่าไม่ก็อป
  • ไม่ยอมให้เครดิตอย่างถูกต้อง
  • ไม่รีบแสดงความรับผิดชอบ/ยอมรับผิดแต่เนิ่นๆ
  • เนื้อหาบิดเบือน ไม่เป็นความจริง
  • ไม่โปร่งใสพอ
  • ไม่ระวังเรื่องลิขสิทธิ์ หรือการขออนุญาต
  • ไม่มีการ Add Value เพิ่มเติม

ตาคุณแล้ว

ทุกวันนี้โลกออนไลน์ทำให้ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อกันได้ง่ายขึ้น ในขณะที่เมื่อก่อนคนทำสื่อส่วนใหญ่จะจบจากนิเทศศาสตร์ ได้ยินมาว่าเขาต้องเรียนเรื่องจรรยาบรรณสื่อกันอย่างเข้มข้นทีเดียว แต่พอเป็นออนไลน์ เรื่องนี้กลับยังไม่ได้ถูกนำออกมาพูดมากซักเท่าไร หวังว่าการเล่าถึงกรณีศึกษาที่เกิดขึ้น และคำแนะนำด้านจรรยาบรรณเบื้องต้นทั้ง 7 ข้อนี้ จะมีประโยชน์สำหรับทุกๆ คนที่สนใจทำคอนเทนต์ออนไลน์กันนะคะ

เช่นเคยค่ะ คอมเมนต์ได้ (แต่ถ้าให้ดี อย่าแรงเป็นไฟเลยเนอะ) ขอบคุณมากค่ะ