เพราะคอนเทนต์นั้นเปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้คนเข้ามายังธุรกิจของคุณ คอนเทนต์ต่างๆ บนเว็บไซต์จึงควรได้รับการปัดฝุ่น และทำให้ดูน่าสนใจอยู่เสมอ   

พวกเราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ และเป็นช่วงเดียวกับที่ทีม Content Shifu กำลังจะปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่พอดี จึงได้ลองปรับปรุงคอนเทนต์บนเว็บไซต์ด้วยหลักการ SEO Audit ไปด้วย

แม้จะยังไม่เห็น Result อย่างเต็มรูปแบบ เพราะเพิ่งจะปล่อยเว็บใหม่ออกมาไม่นาน แต่ผลลัพธ์เบื้องต้นก็ออกมาน่าพอใจ บทความส่วนมากบนเว็บไซต์มีอันดับ SEO ที่ดีขึ้น 

วันนี้เราจึงอยากมาแชร์หลักการง่ายๆ ที่จะปัดฝุ่นคอนเทนต์บนเว็บไซต์ของคุณ ให้กลับมาเจิดจ้าบนหน้า Search Engine อีกครั้ง เหมือนได้ยืนอยู่บนสปอร์ตไลต์แห่งโลกออนไลน์

อยากรู้แล้วใช่ไหม ดีเลย ถ้าเช่นนั้น เราขอแนะนำให้คุณรู้จักกับ SEO Audit กันในบทความนี้เลยดีกว่า

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

SEO Audit คืออะไร?

SEO ย่อมาจาก Search Engine Optimization หมายถึงการปรับแต่งคอนเทนต์ของคุณ ให้ Search Engine ถูกใจ จนดึงขึ้นไปบนหน้าแรกของการเสิร์ช

Audit หมายถึง การตรวจสอบ 

ดังนั้น SEO Audit จึงเป็นการตรวจเช็กประสิทธิภาพของคอนเทนต์คุณ ว่ายังคงถูกหลัก SEO และทำอันดับได้ดีใน Search Engine อยู่หรือเปล่า และทำการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น 

จริงๆ แล้ว การทำ SEO Audit สามารถทำได้เรื่อยๆ ทุกสัปดาห์/เดือน แต่หากคุณยุ่งมาก ไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น คุณอาจดูข้อมูลหลังบ้านแบบภาพรวมและเลือกแก้ไขเฉพาะบางคอนเทนต์ได้ แต่ถ้าหากคอนเทนต์ไหนมีปัญหา Traffic ตกอย่างเห็นได้ชัด ก็ควรจะหยิบมาปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างเป็นแบบเเผนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สะดวกในการตรวจสอบและนำมาเเก้ไขอีกรอบในครั้งถัดๆ ไป

ทำไมต้องทำ SEO Audit

SEO Audit ตอบโจทย์ให้กับคนที่มีปัญหาเหล่านี้   

  • บทความจากที่เคยปัง แต่เวลาผ่านไปกลับเลือนหายไปจากหน้าแรก
  • ทำเว็บไซต์มานาน แต่สู้เจ้าใหญ่ๆ ไม่ได้สักที
  • เขียนบทความอย่างดิบดี แต่กลุ่มเป้าหมายกลับเสิร์ชหาไม่เจอ

นอกจากนี้การทำ SEO Audit ยังมีต้นทุนการทำที่ต่ำ และเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะเหตุผลที่อันดับเว็บไซต์เราตก คือ 

1.คอนเทนต์เก่า ไม่มีการอัปเดต 

2.คู่แข่งเพิ่มขึ้น ทำคอนเทนต์มาเบียดอันดับเว็บไซต์ของคุณ 

3.คอนเทนต์ดี แต่มีองค์ประกอบของ SEO Content ไม่เพียงพอ

4.ต้องการอัปเดต Keyword ที่มี Potential มากขึ้น

SEO Audit จึงเป็นกระบวนการที่ทำเพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำอันดับบน Search Engine ได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้คนหาคุณเจอได้ง่ายและเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ ตามแนวทางของ Inbound Marketing ที่ใช้หลักในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการส่งมอบคุณค่าที่มีประโยชน์แก่ผู้คนนั่นเอง

Content แบบไหนควรทำ SEO Audit ที่สุด

คราวนี้ลองมาดูเทคนิคการเลือกหยิบคอนเทนต์สำหรับทำ SEO Audit กันดีกว่า ซึ่งหลักๆ เราจะเลือกจาก 3 เกณฑ์ ดังนี้

  • คอนเทนต์ติดลมบน (ควรทำที่สุด)

ปกติแล้วเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ มักปล่อยปละละเลยคอนเทนต์ที่ทำอันดับได้ดีอยู่แล้ว และหันไปให้ความสำคัญกับบทความอื่นบนเว็บไซต์ที่อันดับน้อยกว่าแทน 

แต่นั่นคือสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะบทความดีๆ ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ ถ้าคุณมีบทความติดอันดับอยู่ แนะนำให้ตรวจเช็กและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ใครมาแย่งอันดับ 1 จากคุณได้ เพราะอันดับ 1 กับอันดับ 2 ให้ Traffic ต่างกันมาก

ซึ่งจากเว็บไซต์ Backlinko ข้างต้น มีข้อมูลสถิติอัตราการคลิก หรือ CTR (Click Through Rate) บน Google ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือ เว็บไซต์อันดับ 1 มียอดคลิกเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สูงโดดจากอันดับอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งวัดได้ 31.7% และคน 95% จะคลิกเข้าชมเว็บไซต์ที่ปรากฎนหน้าแรกเท่านั้น 

  • คอนเทนต์อันดับไม่ค่อยดี (ควรทำรองลงมา)

คอนเทนต์ที่อันดับไม่ค่อยดี หรือไม่ติดอันดับบน Search Engine สมควรทำ SEO Audit เช่นกัน เพราะเมื่อลองเช็กบทความประเภทนี้ตามหลัก SEO Audit แล้วจะเจอจุดให้ปรับแก้เยอะ และส่วนมากมักจะเป็นจุดผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยากและได้ผลลัพธ์ทาง SEO สูง 

แต่คอนเทนต์ประเภทนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำอันดับ ควรทำแผนปรับปรุงคอนเทนต์ในเชิง Long term ระยะยาว และโฟกัสกับคอนเทนต์แบบแรกที่อยู่ในสนามแข่งก่อน (เปรียบเปรยว่าหน้า 1 บน Google เป็นสนามแข่งขัน) 

  • คอนเทนต์กลางๆ (เอาไว้ทีหลังสุด)

หากเว็บไซต์คุณมีบทความเยอะๆ คุณอาจข้ามบทความประเภทนี้ไปได้ เพราะการทำ SEO Audit บทความประเภทนี้จะต้องใช้ความคิดมากเป็นพิเศษ ซึ่งโดยมากถ้าจะปรับบทความที่ทำอันดับกลางๆ ให้ดีขึ้น มักต้องปรับปรุงในเชิงคอนเทนต์ เช่น ปรับเนื้อหาให้ใหม่ขึ้น ปรับคำที่ใช้ในการอธิบาย หรือเขียนเนื้อหาใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปรับปรุงพอสมควร 

Shifu แนะนำ

ตัวอย่างจากเว็บไซต์ของเรา

เว็บไซต์ Content Shifu มีคอนเทนต์ประเภท Blog อยู่ในเว็บไซต์ทั้งหมด 219 บทความ (ณ วันเริ่มทำ SEO Audit) พวกเราเลือกปรับปรุงคอนเทนต์ใน 2 แนวทางแรก คือ คอนเทนต์ติดลมบน กับคอนเทนต์ที่ไม่ติดอันดับ (วิธีเช็กอยู่ในหัวข้อถัดไป) ซึ่งรวบรวมแล้วได้ทั้งหมด 78 บทความ ก่อนจะหันมาปรับปรุงคอนเทนต์กลางๆ ที่จะต้องทำการปรับ Title, Description กับ Alt Text ในทุกบทความ

ขั้นตอนการทำ SEO Audit ให้บทความ

ขั้นเตรียมงาน

  • List บทความทั้งหมดบนเว็บไซต์ของคุณ

วิธี list บทความ

เครื่องมือที่พวกเราใช้ คือ Spreadsheets สำหรับการ List บทความทั้งหมด ซึ่งมีอยู่กว่า 200 บทความ ขั้นตอนนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เป็นเหมือนการเริ่มต้นสร้างแผนที่ทางหลวง คุณจะเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อนปรับปรุงถนนของคุณ

ข้อแนะนำในการทำลิสต์บทความในเบื้องต้นคือ คุณควรเรียงลำดับบทความจากเก่า-ใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการอัปเดตและเพิ่มเติมบทความใหม่ๆ ลงใน Spreadsheets ได้อยู่เสมอ

  • เลือกคอนเทนต์น่าปรับด้วยเกณฑ์ต่างๆ

อย่างที่ได้เกริ่นไปคร่าวๆ แล้วว่า เว็บไซต์ Content Shifu เลือกทำ SEO Audit กับบทความที่ติดอันดับอยู่แล้ว กับบทความที่ไม่ติดอันดับเลย ในหัวข้อนี้ เราจึงจะมาลงลึกกันว่า แล้วเราใช้เครื่องมืออะไรเป็นตัวช่วยในการทำ SEO Audit บ้าง และมี Matrics ใดบ้างที่ต้องดูและนำมาวิเคราะห์ในการปรับปรุงคอนเทนต์

ใช้ Google Analytics 

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของนักทำคอนเทนต์ในยุคนี้ กับ Big Data Tools ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประชากร คนมีความสนใจเฉพาะอะไรบ้าง ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์เป็นอย่างไร มีพฤติกรรมในลักษณะใด, ใช้ Device อะไรในการเข้าใช้งาน 

หรือในด้านการทำคอนเทนต์คุณสามารถดูได้ว่า คนที่กดลิงก์มาจากเฟสบุ๊กมีจำนวนเท่าใด หรือหน้าคอนเทนต์ไหนที่ Popular มากที่สุด เป็นต้น 

ด้วยการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ได้ในเชิงลึก เราจึงจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ เพื่อดูข้อมูลว่าคอนเทนต์ใดที่ควรปรับบ้าง 

โดยคุณสามารถเข้าไปเล่นและลองเลือกใช้ข้อมูลที่ตอบโจทย์ธุรกิจคุณดูได้ แต่ถ้านึกไม่ออกบทความนี้เราจะพามารู้จักกับข้อมูล 4 ชุด ที่ Content Shifu ใช้จริงในการทำ SEO Audit ได้แก่

1. Goal Conversion Rate

Conversion Rate คือยอดอัตราส่วนของผู้ใช้งานที่เข้าเว็บไซต์ แล้วกระทำในสิ่งที่คุณต้องการ (Conversion) ต่อจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมทั้งหมด 

ในแต่ละธุรกิจ Conversion Rate จะแตกต่างกันไป อย่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ มักหวังผลในเรื่องการคลิกปุ่ม Call To Action หรือช่องให้กรอกข้อมูลเพื่อดาวน์โหลดอีบุ๊ก หรือจะเป็นยอด Visitor ต่อการ Booking สำหรับธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้แล้วแต่ว่าคุณตั้งอะไรไว้บนเว็บไซต์บ้าง 

ส่วนคำว่า Goal Conversion Rate ที่เราจะใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกคอนเทนต์จะเป็น Conversion Rate สูงสุดในคอนเทนต์บนเว็บไซต์ ซึ่งเราได้เลือกหยิบ 30 บทความที่มี Goal Conversion Rate  อันดับสูงสุดมาปรับปรุง (Top 30) หรือก็คือ 15% ของคอนเทนต์ทั้งหมด

หรือหากเว็บไซต์คุณไม่มีระบบสำหรับการสร้าง Conversion เลย แนะนำให้ลองศึกษาจากคอร์ส Website Conversion ของเรา เพื่อไม่ให้โอกาสในการ Convert ลูกค้าของคุณกลายเป็นอากาศไปอย่างน่าเสียดาย

2. ยอด Traffic

Traffic ในความหมายปกติ คือการจราจรบนท้องถนน แต่ในเชิงเว็บไซต์แล้ว Traffic จะหมายถึงจำนวนคนที่เข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณ ยิ่งตัวเลขนี้สูงก็หมายความว่าคอนเทนต์ของคุณเป็นที่ดึงดูดของคนจำนวนมาก

เราจึงเลือกหยิบคอนเทนต์จากยอด Traffic สูงที่สุด 30 อันดับ (Top 30) หรือก็คือ 15% จากบทความทั้งหมดมาทำ SEO Audit เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคอนเทนต์ให้ทันสมัยและเเก้ไขจุดที่ผิดพลาดให้ดียิ่งขึ้น

3. Referral Traffic

คือยอดรับชมเว็บไซต์ที่มาจาก Backlink หรือลิงก์จากแหล่งอื่นๆ เช่น เว็บไซต์มีชื่อเสียงกล่าวถึงเรา แล้วลิงก์มายังคอนเทนต์ของเรา หรือบทความที่ถูกคลิกมาจากลิงก์บน Social Media เป็นต้น

หากเว็บไซต์คุณมีคอนเทนต์ที่มี Referral Traffic เยอะ เราแนะนำให้คุณทำเหมือนข้อที่ผ่านมา คือ เลือกหยิบคอนเทนตืที่มีผลลัพธ์ประเภทนี้เยอะๆ มาทำ SEO Audit 15% ของบทความทั้งหมด 

4. Top Loser

คือคอนเทนต์ที่อันดับการเสิร์ชตกลงมากที่สุด อาจจะเนื่องจากโดนเบียดอันดับ, หมดความนิยม, ไม่ทันสมัยมากพอ ฯลฯ เราเลือกบทความในลักษณะนี้มา 30 บทความ (Top 30) หรือก็คือ 15% จากบทความทั้งหมด

ข้อสังเกต: ในการทำจริงจะพบว่า ผลลัพธ์จากข้อมูลทั้ง 4 ชุด จะมีหลายคอนเทนต์ที่ซ้ำกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เหมือนกัน ไม่ต้องตกใจไป ให้ทำกล่อง Checklist ไว้ว่าแต่ละคอนเทนต์เข้าข่ายรูปแบบไหนมาก ยิ่งบทความไหนเข้าเกณพ์ที่กำหนดเยอะ ก็แสดงว่าสมควรปรับปรุงเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง

  • ปรับปรุง Keyword ให้มีคุณภาพมากขึ้น 

Keyword คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำ SEO Audit เพราะนี่เป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมให้กลุ่มเป้าหมายมาอ่านคอนเทนต์ของคุณได้ง่าย เพราะมันคือคำที่พวกเขาใช้ Search หาข้อมูลใน Google

สำหรับวิธีการการปรับปรุง Keyword เราจะดูที่ตัว Keyword กับ Density ของ Keyword ในบทความของคุณว่าจัดอยู่ในประเภทที่ดีหรือไม่

จะรู้ได้อย่างไรว่า Keyword ดีหรือยัง?

เช็ก Keyword ของบทความคุณอีกครั้ง ด้วยหลักการพิจารณาหลักๆ 3 ประการ ได้แก่ 

1. เป็น Seed Keyword (คีย์เวิร์ดหลักที่มักจะเป็นคำเดี่ยวๆ เช่น รองเท้า) ที่คนค้นหาเยอะ หรือเลือก Keyword ที่เฉพาะเจาะจงขึ้น แต่ก็มี Seed Keyword เป็นส่วนประกอบและมีคนค้นหาเยอะด้วย (เช่น รองเท้ากีฬาผู้ชาย) 

2. เป็น Keyword ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคอนเทนต์ของเรา 

3. เป็น Keyword ที่ทำอันดับไม่ยากจนเกินไป  

  • รู้จักเครื่องมือที่ใช้ในการดู Keyword & Density บนเว็บไซต์ของคุณ

KW Finder 

โปรแกรม KWFinder

KW Finder เป็นเว็บไซต์ให้บริการเกี่ยวกับการค้นหา Keyword เมื่อคุณค้นหาด้วยคำที่สนใจ โปรแกรมจะประมวลผลข้อมูลออกมาเป็น Keyword แนะนำมากมาย คุณสามารถดูได้ว่า Keyword ในคอนเทนต์ของคุณว่า มีคนใช้ค้นหาเยอะหรือไม่ และมีความยากในการทำ SEO มากน้อยแค่ไหน

SERPWatcher

โปรแกรม SERPWatcher

เป็นโปรแกรมที่เอาไว้ Track เว็บไซต์ของคุณ ใช้งานง่าย โดยคุณสามารถใส่ Keyword และเว้บไซต์ที่คุณต้องการลงไป จากนั้นเจ้า SERPWatcher จะไปดึงอันดับ Keyword ของเว็บไซต์ที่เราลงข้อมูลไปขึ้นมาแสดงผล ซึ่งเครื่องมือที่สามารถใช้ดูค่า Density และ อันดับเว็บไซต์ได้เพิ่มเติมได้อีกด้วย

Google Search Console

Google Search Console เป็นเครื่องมือที่รวบรวมข้อมูลตรงจาก Search Engine อย่าง Google ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ โดย Google Search Console ดีตรงที่ เพียงคุณก็อปลิงก์บทความคุณลงไป ระบบจะลิสต์ Keyword ที่คนเสิร์ชแล้วจะเจอหน้าเว็บเราออกมาทันที 

ความจริงแล้ว Google Search Console เป็นมากกว่าการหา Keyword หากคุณอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ลองอ่านบทความ Google Search Console ตัวนี้เลยครับ

Category ของเว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นเหมือนบรรณารักษ์ในหอสมุด พวกเขาช่วยทำให้เราหาหนังสือได้อย่างง่ายดาย จากการจัดเก็บหนังสืออย่างเป็นหมวดหมู่

ดังนั้น คุณจึงควรมีการกำหนด Category ไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อที่เมื่อเวลาผ่านไป คอนเทนต์บนเว็บไซต์เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ คนอ่านที่เข้ามาอ่านก็จะสามารถเลือกอ่านในหัวข้อที่ตนสนใจได้ง่ายขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป หลายๆ เว็บไซต์มักเจอกับปัญหาคอนเทนต์ไม่มีใน Category จนต้องนำไปใส่ในหมวด Others เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันเยอะ ก็ควรต้องคิด Category ใหม่ให้บทความเหล่านี้ได้แล้ว เพราะมันจะทำให้คนอ่านเลือกอ่านตามความสนใจไม่ได้ และส่งผลต่ออันดับ SEO อีกด้วย

Shifu แนะนำ

หากคุณมีบทความหัวข้อเดียวกันเยอะ คุณมีทางเลือกอื่น ที่ไม่ต้องสร้าง Category ใหม่เพื่อเก็บบทความ 

ทางเลือกนั้นใช้สำหรับเสิร์ฟคอนเทนต์แบบเป็น Package ที่เราสามารถนำบทความแนวเดียวกัน มามัดรวมไว้ที่เดียว อันเป็นเคล็ดลับที่ช่วยเพิ่มอันดับ SEO ได้ดีไปอีกระดับ เรียกวิธีการนี้ว่า Pillar Page

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ Pillar Page จะมีลักษณะของหนังสือเล่ม ที่เราสามารถผลิตคอนเทนต์เสิร์ฟผู้อ่านได้เป็นบท หรือเป็นตอน คุณสามารถกดดูตัวอย่างได้ที่ลิงก์นี้

ข้อดีของ Pillar Page คือช่วยเสริมให้อันดับ SEO ของเราดีขึ้น เพราะ Algorithm ของ Google นั้น ชอบอะไรที่มีความ Complete เนื้อหาจบในทีเดียว ซึ่ง Pillar Page ตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ดี ก็เหมือนกับหนังสือเล่ม ที่ภายในมีเนื้อหาครบ แน่น จบในเล่มเดียว

  • ดู Title & Description & Excerpt อ่านแล้วชวนคนคลิกหรือไม่ สู้กับคู่แข่งได้ไหม

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของประตูหน้าด่านที่จะดึงดูดคนอ่านเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ คือการเขียน Title & Description และ Excerpt ให้ดึงดูดสายตา ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

Title

ชื่อเรื่องของบทความคุณ ต้องอ่านแล้วสามารถ Hook คนอ่านได้ทันที เพราะการทำ SEO Audit มีขึ้นเพื่อคาดหวังการขึ้นอันดับบน Search Engine ชื่อเรื่องคุณควรทำให้คนอ่านเลือกกดเว็บไซต์คุณ แทนที่จะเลือกอ่านบทความของคนอื่นในหน้าการค้นหา 

Description

คำอธิบายบทความที่จะแสดงอยู่ข้างล่างชื่อเรื่อง คุณควรเขียนให้กระชับ จับใจความได้ทันที และมีการเรียกนำย่อยให้คนอ่านอยากกดเข้าไปอ่านต่อ

Excerpt

เป็นคำอธิบายบทความเช่นกัน แต่จะแตกต่างกับ Description ตรงที่ Excerpt จะเป็นคำอธิบายคอนเทนต์ที่จะแสดงผลบนเว็บไซต์คุณ ซึ่งเป็นคนละจุดกับเวลาคนเสิร์ชหาใน Google

Shifu แนะนำ
เพื่อเพิ่มยอดคนอ่านแล้ว เราแนะนำให้คุณเขียน Title & Description ตามแต่บริบทที่จะนำไปใช้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เขียนเพื่อให้แสดงผลบนหน้า Google, Facebook, Twitter เป็นต้น ซึ่งหากคุณใช้ WordPress คุณสามารถติดตั้งปลั๊กอินชื่อว่า Yoast SEO ใช้ปรับแต่งข้อความได้
  • Features Image & Alt Text ต้องมี 

ภาพประกอบคือหนึ่งในสิ่งที่จะช่วย Hook คนได้ดี โดยเฉพาะการแชร์ลงบน Social Media ที่สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ดังนี้ 

Features Image

หรือภาพปกของบทความ เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของเว็บไซต์คุณได้อย่างดี ดังนั้น จึงควรทำภาพปกในแต่ละคอนเทนต์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้เห็น Brand Identity ที่ชัดเจน

เช่น ถ้าเว็บไซต์คุณมีความสนุกสนาน ขี้เล่น ภาพปกของคุณก็ควรดูแล้วสนุก มีกราฟิกน่ารักๆ หรือหากต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ คุณก็ควรทำภาพให้มีความรอบคอบ แลดูสุขุม เป็นต้น

Alt Text

เป็นชื่อของภาพประกอบในบทความ คุณควรใส่ให้ครบทุกภาพ เพราะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการทำ SEO โดย Alt Text ของภาพควรมี Keyword อยู่ในนั้นด้วย

  • ใส่ Internal Link เพื่อเชื่อมคนอ่านไปหน้าอื่น

Internal Link คือลิงก์ที่เชื่อมไปยังหน้าเว็บอื่นบนเว็บไซต์ของเรา โดย Internal Link ที่ดี คือการพาให้คนอ่านไปยังคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างเช่นประโยคนี้  ‘การใส่ Internal Link เป็นหนึ่งในหลักการทำ On Page SEO อันทรงประสิทธิภาพ’ พอคนอ่านเช่นคุณสงสัยว่า On Page SEO คืออะไร เขาก็จะกดเข้าไปเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเองได้เลย และสิ่งนี้แหละที่เรียกว่า Internal Link

  • ไล่เช็กเนื้อหาภายในคอนเทนต์ 

เรียกว่าเป็นจุดที่ยากที่สุดและส่งผลกระทบในแง่อันดับ SEO มากที่สุดเลยก็ว่าได้กับการไล่ปรับเเก้เนื้อหาภายในคอนเทนต์ใหม่ เช่น คุณอาจจะต้องกลับมาอัปเดตข้อมูลเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างข้อมูลสถิติที่ใช้อ้างอิงในบทความ ข้อมูลนี้อาจใหม่ในช่วงที่เขียน แต่ถ้าผ่านมาได้ซัก 6 ปี ก็หมายความว่าข้อมูลปี 2014 นั้นเก่ามากๆ สำหรับคนที่เข้ามาอ่านในปี 2020 (และเช่นกัน อีก 5 ปีให้หลัง ข้อมูลที่ผู้เขียนอ้างอิงตอนนี้ก็จะเก่าไปด้วยเช่นกัน) 

Shifu แนะนำ
คุณสามารถดาวน์โหลด SEO Audit Template by Content Shifu ไปใช้ได้ โดยภายในชีตจะเป็นการรวบรวมเอาสิ่งที่เราอธิบายไว้ในขั้นเตรียมตัวทั้งหมด มาจัดทำเป็นตารางให้คุณสามารถใช้งานได้ทันที

ขั้นปรับงานบนเว็บไซต์

ต่อไปนี้จะเป็นแนวทางเล็กๆ ในการปรับปรุงคอนเทนต์บนเว็บไซต์ ซึ่งแต่ละคนอาจจะใช้เครื่องมือสร้างเว็บไซต์ที่ไม่เหมือนกัน ในที่นี้เราขออ้างอิง WordPress อันเป็น CMS ยอดฮิตที่หลายเว็บไซต์เลือกใช้ และ Content Shifu เอง ก็ใช้ CMS เจ้านี้อยู่เช่นกัน

หลังบ้าน WordPress

  • ปรับ/สร้าง/ลบ Category บนเว็บไซต์ของคุณ 

ในหัวข้อนี้อาจไม่ได้ส่งผลกับ SEO มากนัก แต่เหตุผลที่เราทำ เพราะต้องการจัดหมวดหมู่ให้กับบทความ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และคนอ่านก็สามารถเลือกอ่านได้ตามหัวข้อที่ต้องการได้ง่าย

โดยเราประสบปัญหาจัดวาง Category มาไม่ได้ครอบคลุมมากนัก หลังๆ มานี้จึงมี Category ที่เป็นหมวด Others เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

เราได้ทำการโละ Category เก่า ปรับปรุงมันให้ออกมาครอบคลุมมากขึ้น อย่าง “บทความแนะนำ SEO” ก็ปรับเป็น “Search Marketing” หรือ “Blogging” ก็ปรับเป็น “Content” หรือ “Productivity” ก็ปรับเป็น “Digital Skills & Career Tips” เป็นต้น 

และเพิ่ม Category ให้ครอบคลุมคอนเทนต์บนเว็บไซต์มากขึ้น ซึ่งได้แก่ Technology, Industry Insight, Strategy & Tactic

ในส่วนของ Tags พวกเราไม่ได้ปรับปรุงอะไรมาก มีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ให้คือ Tags ของคุณ ควรเป็นคำเฉพาะที่คนจะสนใจอ่านเพิ่มเติม และเป็นคำที่ย่อยมาจาก Category อีกที

  • แนะนำ Plug In – Yoast SEO

Yoast SEO เป็น Plug In บน WordPress สำหรับการทำงานด้านคอนเทนต์ โดยสามารถจัดการวิเคราะห์และช่วยเหลือการทำ SEO และการทำคอนเทนต์ได้ ดังนี้

ปลั๊กอิน Yoast SEO

  • SEO

เราสามารถใส่ Title & Description ให้ Yoast SEO จะจำลองหน้าตาให้ ว่าหากอยู่บนหน้าการค้นหา Google แล้ว คนอ่านจะเห็นเป็นเช่นไร

  • SEO Analysis

ปลั๊กอินนี้มีฟังก์ชัน SEO Analysis ให้เราด้วย ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์คอนเทนต์ของเรา ว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องในแง่การทำ SEO หรือไม่ ก็ถือว่าสะดวกดี แต่จากการใช้งานพบว่า ฟังก์ชันนี้ยังรองรับภาษาไทยไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะบางอย่างก็ประมวลผลออกมาไม่ตรง

Shifu แนะนำ

ถ้าเว็บไซต์ของคุณเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เชื่อว่าการใช้งานฟังก์ชันนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณมาก แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณเป็นภาษาไทย ขอแนะนำเครื่องมือที่สามารถใช้งานควบคู่กันไปกับอีกเครื่องมือ นั่นคือ SEO Quake  

ซึ่งฟังก์ชันบน Google Chrome คุณสามารถใช้งานได้บน Chrome และ Browser อื่นที่รองรับ โดยเครื่องมือตัวนี้จะดึงเอาข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ ออกมาให้เราดู มีประโยชน์มากในการตรวจเช็กคอนเทนต์

  • Readability

ฟังก์ชันนี้ช่วยตรวจสอบว่าคอนเทนต์ของคุณอ่านง่ายหรืออ่านยาก พร้อมบอกวิธีแก้ไว้ให้เสร็จสรรพ เป็นฟังก์ชันนี้ค่อนข้างจะมีประโยชน์ในการเขียนบทความภาษาอังกฤษ แต่หากเป็นภาษาไทยยังมีการตรวจเช็กได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

  • Social

หากคุณต้องการเพิ่มผู้เข้าชมในแต่ละ Platform ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟังก์ชันนี้ของ Yoast SEO จะช่วยคุณได้อย่างมหาศาล

คุณสามารถปรับแต่งได้ว่าจะให้ในแต่ละแพลตฟอร์มแสดง Tiltle Description หรือภาพปกของคอนเทนต์อย่างไร 

เช่น หากเป็นในหน้าค้นหา Google การเขียน  Title (Google) เราก็ต้องเขียนให้มี Keyword อยู่ เพื่อการจัดอันดับ และต้องกระชับ บอกเลยว่าอ่านบทความแล้วจะได้อะไร แต่ Facebook ที่คนชอบความตื่นเต้นเร้าใจ คุณก็อาจปรับคำให้ดูเล่นๆ ขึ้นได้ หรือปรับในข้อความพูดคุยกับ Audience ของเราได้มากขึ้นก็ได้ด้วยเช่นกัน 

ขั้นตรวจสอบงาน

  • Performance Report 

ขณะที่ Launch เว็บไซต์ไปได้ซักพัก คุณควรทำ Performance Report เพื่อให้รู้ว่า SEO Audit ที่คุณได้ทำลงไปนั้น ส่งผลอย่างไรบ้างกับเว็บไซต์ของคุณ โดยเราจะขอแนะนำเครื่องมือที่สามารถทำ Performance Tracking กับเว็บไซต์เราได้ ซึ่งในที่นี้เราขอแนะนำ 3 เครื่องมือด้วยกัน ได้แก่

Google Search Console

โปรแกรม Google Search Console

Google Search Console เป็นเครื่องมือด้าน Website Performance ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าใช้งานได้ฟรี และเป็นเครื่องมือที่สามารถ Track ข้อมูลมากมายที่มีประโยชน์ในการทำเว็บไซต์ รวมไปถึงเรื่องของ Keyword และการวัด Performance ของเว็บไซต์ได้อีกด้วย คุณสามารถลองเข้าไปเล่นเครื่องมือนี้ได้ที่ลิงก์นี้

SERPWatcher

โปรแกรม SERPWatcher

เครื่องมือนี้ดีตรงที่ เพียงคุณใส่ Keyword ลงไป SERPWatcher จะ Tracking ให้ว่าคอนเทนต์ไหนบนเว็บไซต์ติดอันดับจากคำนั้นๆ 

เวลาทำ Performance ก็จะเอาไว้ดูภาพรวมคร่าวๆ ว่าการทำ SEO Audit กับเว็บไซต์คุณนั้น ส่งผลดีหรือผลร้ายกันแน่ โดยการเช็กอันดับว่าเพิ่มหรือลงไปเท่าไหร่

สรุป

SEO Audit เป็นบทความที่รวบรวมหลักการปรับปรุงคอนเทนต์ ให้สามารถกลับมาติดอันดับบน Google ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นแนวทางให้คุณนำไปใช้ได้ทันที ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น จำนวน Traffic, Engagement หรือ Conversion   

ตาคุณแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างการทำ SEO Audit จาก Content Shifu ต่อไปก็เป็นตาของคุณแล้ว ลองปรับปรุงเว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนบ้านของคุณให้ร่มรื่น น่าอยู่ เพื่อที่ใครเข้ามาก็จะรู้สึกรื่นรมย์ใจดูได้เลย หรือถ้าต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับ Content Marketing เพิ่มเติมล่ะก็ คลิ๊กเลย!

<!–[if lte IE 8]>
<![endif]–>New call-to-action