Google (Search Engine อันดับหนึ่งของโลก) มีการอัปเดตตัวเองมากกว่าปีละ 3,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยมากถึงวันละ 8 ครั้ง และนอกจากนั้นพฤติกรรมของผู้คนในการเสิร์ชหาสิ่งที่ต้องการบน Google ก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ นั่นเท่ากับว่า เทรนด์ SEO เองก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเช่นเดียวกัน

การคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายใหม่ๆ ของ Google และอัปเดตเทรนด์ SEO จึงเป็นอีกหน้าที่ที่คนดูแลเว็บไซต์ นักการตลาด คนทำ SEO สายคุณภาพ ต้องคอยติดตามอยู่ตลอด

ในปี 2022 นี้ก็เช่นเดียวกัน เราก็ได้รวบรวม SEO Trends 2022 หลักๆ ที่คิดว่า อย่างไรก็ควรรู้ ควรทำไว้ ซึ่งก็มีทั้งของปีก่อนๆ ที่ยังต้องให้ความสำคัญและเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องเริ่มศึกษาเตรียมพร้อม

ปีนี้ เราจะต้องทำอะไรกันบ้าง? มาดู 11 เทรนด์ SEO ปี 2022 เหล่านั้นกันเลยค่ะ

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

1. AI จะเปลี่ยนโฉมการทำ SEO – แนะนำ “MUM” Algorithm ใหม่ของ Google

เมื่อไม่นานมานี้ Google ได้ประกาศว่าจะใช้ Algorithm ตัวใหม่ เทคโนโลยี AI สุดล้ำที่ชื่อว่า MUM (Multitask Unified Model) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจข้อมูล หรือความหมายของคำที่เราต้องการจะ Search เพื่อให้ Google สามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนออกมาได้ตรงจุดและทำให้การ Search ของคุณง่ายขึ้น

ไปดูกันเลยว่า MUM ทำอะไรได้บ้าง?

  • เข้าใจและตอบคำถามที่ซับซ้อน สามารถเข้าใจข้อมูลจากภาพและข้อความได้พร้อมกัน พร้อมกับสามารถเชื่อมโยงเข้ากับคำถามและตอบคำถามของคุณได้
  • มีฟีเจอร์แปลภาษาอัตโนมัติ
  • มีฟีเจอร์รองรับการค้นหาด้วยเสียง (Voice Search)
  • ฟีเจอร์การค้นหาด้วยภาพ (Google Lens)
  • รองรับ Online Shopping มากยิ่งขึ้น

ต้องบอกเลยว่าฟีเจอร์ที่มาพร้อม MUM นี้ เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยี AI ที่เจ๋งมากๆ ซึ่งในมุมของคนทำ SEO เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องอัปเดตและครีเอตเนื้อหาให้ตอบโจทย์ User และ MUM Algorithm มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ Keyword การใช้ภาพและวิดีโอประกอบพร้อม Description และ Alt-Text นอกจากนี้ คนทำ SEO ยังต้องพัฒนาเนื้อหาให้มีทั้ง “คำถาม” และ “คำตอบ” อยู่เสมอ รวมทั้งปรับเนื้อหาให้เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ Voice Search ที่เป็นเทรนด์การทำ SEO เพื่อให้ MUM ค้นหาเราเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น

2. Core Web Vitals ปัจจัยจัดอันดับตัวใหม่ของ Google เพิ่มประสบการณ์การใช้งานบนเว็บไซต์

จริงๆ แล้วเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มใช้ Core Web Vitals เป็นปัจจัยในการจัดอันดับบนมือถือกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ และเมื่อไม่นานมานี้ Google ได้ออกประกาศว่า จะมี Page Experiences Update และเริ่มใช้ Core Web Vitals จัดอันดับบน Desktop ในปีหน้านี้แล้ว

คำถามคือ แล้ว Google จะเริ่มใช้จริงเมื่อไหร่? เพื่อที่พวกเราจะได้เตรียมตัวกันได้ทัน?

… Google บอกว่าจะเริ่มใช้การเพิ่ม Page Experiences เป็นปัจจัยการจัดอันดับบน Desktop เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2022 โดยจะใช้เวลาในการปล่อยและเก็บข้อมูลประมาณ 1 เดือน

Core Web Vital หมายถึงอะไร? มีอะไรบ้าง?

โดยเจ้า Core Web Vital นั้นก็หมายถึง ปัจจัยที่ Google ให้ความสำคัญและมองว่าส่งผลต่อประสบการณ์การใช้งานบนเว็บไซต์ของผู้คน (User) เป็นปัจจัยการจัดอันดับเว็บไซต์ที่เพิ่มมาอีก 3 ตัวในหมวด Page Experience ซึ่งได้แก่

  • Largest Contentful Paint (LCP)
  • First Input Delay (FID)
  • Cumulative Layout Shift (CLS)
Core Web Vital มีอะไรบ้าง?

Largest Contentful Paint (LCP) คือ

Largest Contentful Paint (LCP) คือ คะแนนของคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดของหน้าเพจว่าใช้เวลาดาวน์โหลดเพื่อแสดงผลนานแค่ไหน เช่น รูปภาพ วิดีโอ หรือ Pop-up ต่างๆ ถ้ายิ่งโหลดนาน คะแนนส่วนนี้ของเว็บไซต์ก็จะลดลง โดย LCP ที่ Google มองว่าดี คือ ไม่เกิน 2.5 วินาที เมื่อหน้าเพจกำลังโหลด

First Input Delay (FID) คือ

First Input Delay (FID) คือ การวัดความเร็วในการตอบสนอง เช่น เมื่อ User คลิกปุ่มอะไรไป แล้วหน้าเพจตอบสนองเร็วแค่ไหน ถ้ายิ่งตอบสนองเร็วก็หมายความว่าให้ประสบการณ์การใช้งานที่น่าพึงพอใจแก่ User และหน้าเพจก็จะได้คะแนนส่วนนี้สูง โดยค่า FID ควรได้น้อยกว่า 100 มิลลิวินาที

Cumulative Layout Shift (CLS) คือ

Cumulative Layout Shift (CLS) คือ คะแนนที่วัดความเสถียรของหน้าเพจ กล่าวคือ ไม่กระตุก ภาพและฟีเจอร์ต่างๆ ไม่สั่น คลิกแล้วไม่โดนปุ่ม เป็นต้น ถ้าค่า CLS ยิ่งมากแสดงว่าเว็บของเราอาจโหลดช้าและกระตุก แน่นอนว่า เป็นประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดี Google มองว่า ค่า CLS ที่ดีควรน้อยกว่า 0.1

วิธีเช็กคะแนน Core Web Vital

เราสามารถเช็กคะแนน Core Web Vital เว็บไซต์ของเราได้ โดยเข้าไปทดสอบที่เว็บไซต์นี้ https://developers.google.com/speed/pagespeed/insights/ ซึ่งเป็นเว็บเดียวกับที่ใช้เช็กความเร็วของเว็บไซต์เรา

วิธีใช้ก็แค่ 

  1. กรอกโดเมนเว็บไซต์
  2. แล้วอ่านค่าต่างๆ เพื่อการ Optimize เว็บไซต์ให้ดีขึ้นต่อไป

และนอกจากคะแนนที่ Google ประเมินเว็บไซต์เราแล้ว เขาก็ยังมีคำแนะนำให้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น 

  • Remove unused JavaScript
  • Reduce the impact of third-party code 
  • Eliminate render-blocking resources

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องทางเทคนิคเว็บไซต์ที่เราอาจจะต้องปรึกษาทีม Website Developer หรือ Programmer เพื่อหาทางปรับปรุงเว็บไซต์ต่อไป

Quick Solve สำหรับ Core Web Vital

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การเพิ่มคะแนน Core Web Vital ทำเว็บไซต์ของเราให้ใช้งานได้ลื่น ใช้งานได้คล่อง และมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับ User และ ความเร็ว คือ เรื่องสำคัญ สิ่งที่ทำได้ก่อนหากคะแนนไม่ดี ก็คือ 

  • ลด Pop-up, Banner, Slide in ที่เป็นภาระให้เว็บไซต์ต้องโหลดหนักขึ้น
  • ลดขนาดไฟล์รูปภาพ หรือใช้ไฟล์รูป Webp ???? แปลงไฟล์รูปภาพเป็น webp 
  • ใช้การ Embed วิดีโอจากภายนอก แทนการอัปโหลดตรงๆ ลงในเว็บไซต์
  • นำโค้ดต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกจากเว็บไซต์
  • ติดตั้งปลั๊กอิน จดจำ Cache เพื่อให้ User ที่เข้ามาใช้งานซ้ำ ไม่ต้องโหลดหน้าเว็บใหม่หมดตั้งแต่ศูนย์

อ่านเพิ่มเติม: 11 วิธีเพิ่มความเร็วเว็บไซต์

3. Search Intent Optimization แค่ “Keyword” ทั่วไปไม่พอ ต้อง ‘เดาใจ’ คนให้ได้

จากแต่ก่อน เวลาทำ SEO เราจะแคร์เรื่อง Keyword เป็นสำคัญ เราทำ Keyword Research เพื่อดูว่า Search Volume สูงไหม คนจะเสิร์ชแล้วเข้ามายังเว็บไซต์หรือเปล่า

แต่ตอนนี้ เท่านั้นอาจจะไม่พอ… เพราะเป้าหมายหลักของ Google คือ การส่งมอบคำตอบที่ตรงกับสิ่งที่ผู้เสิร์ชต้องการมากที่สุด

การทำคอนเทนต์โดยคิดจาก Keyword ยังคงใช้ได้ เพราะ Google ก็ยัง “อ่าน” เว็บไซต์จากคำหรือ Keyword อยู่ดี เพียงแต่ต้องเดาความต้องการของผู้เสิร์ช/ลูกค้ามากขึ้นและมีกลยุทธ์มากขึ้น

ตัวอย่างการทำ Search Intent Optimization ง่ายๆ 

  1. ใช้ Keyword ประเภท Commercial Intent เช่น “ซื้อ” “จอง” “ขาย” “ร้าน”
  2. ใช้ Keyword ที่เกี่ยวกับ Product เช่น ชื่อสินค้า ชื่อยี่ห้อ ชื่อรุ่น 
  3. แทรกพวกคำถามพื้นฐานที่คิดว่าคนจะสงสัย แล้วทำคอนเทนต์ตอบ เช่น สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้ทำอย่างไร สิ่งนี้ดีไหม เป็นต้น
  4. ใช้ Niche long-tail keyword มากขึ้น หรือคำค้นที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น “โฟมล้างหน้าผู้ชาย” “อาหารลดน้ำตาลในเลือด
  5. วางแผนทำคอนเทนต์ตาม Buyer Journey หรือขั้นตอนการตัดสินใจซื้อ เช่น “กำลังสนใจ/หาทางแก้ไขความสงสัยหรือปัญหา” “กำลังพิจารณาทางแก้ปัญหา/เลือกซื้อ” “ต้องการสุดๆ อยากซื้อแล้ว/อยากรู้แล้ว” เป็นต้น

หนึ่งในวิธีที่ใช้หา Search Intent ของคนเสิร์ชง่ายๆ ก็คือ การดู Google Search Suggestion เวลาที่เราเสิร์ชอะไรลงในบาร์ แล้ว Google แนะนำคำต่อมา หรือส่วน “Search related” ด้านล่างของหน้าเสิร์ช คือ สิ่งที่ Google เก็บข้อมูลว่าคนอยากรู้

ตัวอย่าง Google search suggestion
ตัวอย่าง Search related to ด้านล่างหน้าแสดงผลการค้นหา

ถึงแม้ตัวอย่างข้างบนจะตั้งต้นจาก Keyword เหมือนวิธีที่ใช้กันอยู่แล้ว แต่เราได้เพิ่มเรื่อง “ความต้องการ” หรือ “Intent” เข้าไป คนที่เสิร์ชด้วย Keyword ข้างต้น คือ คนที่มีความต้องการจะซื้ออยู่แล้ว และถ้าเราวางแผนคอนเทนต์ตาม Buyer Journey อย่างดี สามารถตอบความสงสัยความต้องการของคนได้จริง อย่างไร เว็บไซต์ของเราก็จะไม่ตกอันดับ แถมน่าจะเพิ่มผลลัพธ์หรือ Conversion rate ได้จาก Traffic คุณภาพอีกด้วย

ดูวิดีโอสอนเรื่อง Search Intent ได้ที่นี่

4. LSI Keyword: เพิ่มบริบทแวดล้อมให้คอนเทนต์ด้วยคำค้นที่เกี่ยวข้อง

ต่อเนื่องจากเทรนด์การทำคอนเทนต์ให้ตรงและตอบโจทย์ Search Intent ก็คือ การบอก Google ว่า คอนเทนต์ของเรานั้นเหมาะเจาะและตรงกับสิ่งที่คนค้นหาจริงๆ ด้วยการเพิ่ม “บริบท” (Context) ให้กับบทความหรือหน้าเพจ ด้วยการแทรก LSI Keyword หรือคำค้นที่เกี่ยวข้อง Related Keyword 

LSI Keyword คืออะไร?

LSI Keyword ย่อมาจาก Latent Semantic Indexing คือ สิ่งที่ Google ใช้ทำความเข้าใจบริบทและสิ่งที่คอนเทนต์บนหน้าเพจนั้นๆ ต้องการสื่อสารจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น Google จะทำความเข้าใจ “Jagour” ที่คนค้นหามาว่าต้องการหายี่ห้อรถยนต์ Jagour หรือหมายถึงเสือสายพันธุ์จากัวร์ หรือว่าจะดึงข้อมูล “Apple” ที่เป็นผลไม้หรือแบรนด์โทรศัพท์ โน้ตบุ๊คอย่าง Apple

ตัวอย่าง LSI Keyword
ที่มารูปภาพ blog.rankreveal.com

ยกตัวอย่าง LSI Keyword ของคำว่า “Apple” 

ถ้าคนต้องการหา Apple ที่หมายถึงแบรนด์ Apple …Google ก็จะทำความเข้าใจเนื้อหาจากคำที่เกี่ยวข้อง เช่น “repairs” “best buy” “tim cook” เป็นต้น

แล้ว LSI Keyword ช่วยเราทำ SEO ได้อย่างไร?

LSI Keyword คือ คำช่วยให้ Google เข้าใจบริบทของคอนเทนต์บนหน้าเว็บเพจได้ดีขึ้น ซึ่งยิ่งคอนเทนต์ของเรามีคำที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามากเท่าไหร่ Google ก็จะเข้าใจคอนเทนต์ของเราได้ง่ายมากเท่านั้น แล้วถ้ายิ่งบยริบทของบทความชัดเจนและตรงกับ Search Intent ด้วยแล้ว หน้าเพจของเราก็จะยิ่งมีแนวโม้นถูกจัดอันดับดีๆ ยิ่งขึ้นเช่นกัน

คำแนะนำก็คือ ให้เรานำคำที่คิดว่าคนน่าจะเสิร์ช (ซึ่งอาจหมายถึงการทำ Keyword Research) และเราตั้งใจจะทำคอนเทนต์ถึง ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับคำว่า “โควิด” เราก็อาจจะลองดู Google Search Intent, Search related to หรือ Suggested Keyword จาก Keyword Research Tool มาแทรกและกระจายตัวอยู่ในหน้าเพจได้ ซึ่งก็ได้แก่ “โควิด อาการ” “โควิดกรุงเทพ” “โควิด เชียงใหม่” “พื้นที่เสี่ยง”

เท่านี้ Google คอนเทนต์ของเราก็จะมีบริบทและมีน้ำหนักมากขึ้น ตรงกับ Search Intent ของคนมากขึ้นด้วยเทคนิค LSI Keyword แล้ว

5. Voice Search คนเสิร์ชด้วยเสียงมากขึ้น วิธีการเขียนต้องมุ่ง “ถาม-ตอบ”

ในปี 2021 พบว่า แนวโน้มการเสิร์ชด้วยเสียง (Voice Search) จะเพิ่มมากขึ้นจากปี 2020 ถึง 9.5% และสถิตินี้ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งที่ประเทศไทยเอง Google ก็ค่อนข้างที่จะเข้าใจภาษาไทยมากขึ้นแล้ว และผลักดัน Google Assistant ให้คอยถามว่าจะช่วยเราอย่างไรได้อีกด้วย 

และอย่างไรๆ แนวโน้มการใช้ Voice Search ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันไม่ใช่แค่จาก Google Assistant แต่ยังรวมถึงการมาเยือนของ IoT (Internet of Things) และอุปกรณ์อัจริยะที่สามารถสั่งการได้ด้วยเสียง

SEO Trends เทรนด์ SEO - Voice Search
ตัวอย่าง Assistant ที่คอยช่วยตอบคำถามจาก Voice Search
ที่มารูปภาพ suntecindia.com

อยากปรับเว็บไซต์ให้เหมาะกับ Voice Search ต้องทำอย่างไร?

จะทำอย่างไร คงต้องลองนึกไปถึงธรรมชาติของเราว่า เวลาที่เราพิมพ์และเราถามด้วยการพูดมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไป “การพูด” จะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า และการเสิร์ชด้วยเสียงก็มักจะเป็นคำถามจริงๆ จังๆ ต้องการรู้เดี๋ยวนี้ จึงไม่ใช่ แค่พูด Keyword ขึ้นมาตรงๆ 

Search query จึงอาจประกอบไปด้วยคำต่างๆ เช่น “คืออะไร” “ทำไม” “ที่ไหม” “ดีไหม” “วิธีทำ” “ใกล้ฉัน” “xxx + สถานที่” เป็นต้น

สรุปแนวทางง่ายๆ ในการปรับเว็บไซต์เพื่อ Voice Search

  • คอนเทนต์มีลักษณะถาม-ตอบ
  • คอนเทนต์ต้องตอบคำถามให้กระชับ ชัดเจน
  • ใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติ/เป็นประโยคสนทนามากขึ้น (คนพิมพ์กับคนพูดถามไม่เหมือนกัน)
  • ใช้ Niche longtail keyword ซึ่งสอดคล้องกับคำถามของคนที่สุด
  • ใช้ Bullet หรือ Listing (เป็นอีกวิธีที่ให้คำตอบแบบชัดเจน มีสิทธ์ลุ้น Google Assistant เลือกหยิบไปตอบผู้คน) 
  • ปรับ Heading 2, 3, 4 ให้เป็นคำถาม 
  • ทำ Mobile-Friendly ด้วย เพราะคนเสิร์ชด้วยเสียงจากโทรศัพท์เป็นหลัก

6. Video Content อีกเทรนด์ SEO ที่มาแรงและดูจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

วิดีโอเป็นคอนเทนต์ที่มากแรงและเติบโตขึ้นมากๆ จนไม่จำเป็นต้องยกสถิติอะไรมากพูดให้มาก เราก็รู้สึกกันได้ ทั้งการเติบโตของ Short Video อย่าง TikTok, Reels และ Storie บน Facebook และ IG รวมไปถึง YouTube Shorts ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโออย่างจริงจังก็ยังเอาด้วย

และในมุมของการทำ SEO เอง ตัว Google ที่เป็น Search Engine ที่คนใช้งานมากที่สุด ก็ยังผลักดันให้เราเสิร์ชเจอวิดีโอมากขึ้น โดยหลักๆ จะเป็น YouTube Video ซึ่งในหลายๆ คำค้นที่เสิร์ช Google ก็มักจะแนะนำคอนเทนต์ประเภทวิดีโอเป็นหนึ่งในตัวเลือกนอกจากเว็บเพจอย่างที่คุ้นเคย เท่านี้ ก็เห็นโอกาสแล้วว่า คอนเทนต์ประเภทวิดีโอสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น!


อยากให้วิดีโอมียอดวิวเยอะๆ และทำให้ติดอันดับ 1 บนหน้าเสิร์ช? ดูวิดีโอสอนทำ YouTube SEO จาก Content Shifu ได้เลยค่ะ

ตัวอย่าง Video Content ในหน้า SERPs ที่ Google แนะนำ

และนอกจาก Videos Suggestion บนหน้าเสิร์ชแล้ว การนำคอนเทนต์วิดีโอมาแปะหรือ Embed ในหน้าบทความ หน้าเพจของเรา ก็ยังทำให้หน้าเพจ “Rich” ดูสมบูรณ์ขึ้น คนชอบ และชวนให้คนใช้เวลาอยู่บนหน้าเพจนานขึ้น ก็ส่งผลดีต่อคะแนน Authority ของหน้าเพจได้เช่นเดียวกัน

7. E-A-T ยังคงเป็นสิ่งที่ Google ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

E-A-T หรือ Expertise, Authoritativeness และ Trustworthiness คือ ปัจจัยที่ Google สนับสนุนให้คนทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ทำอยู่เสมอ นั่นคือ คอนเทนต์ควรจะมีความเชี่ยวชาญ ส่งอิทธิพล และมีความน่าเชื่อถือ รู้ลึก รู้จริงในเรื่องที่คอนเทนต์กำลังเล่า

ถึงปี 2022 นี้ Google ก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่

แล้วเราต้องทำยังไงบ้าง ให้คอนเทนต์ของเราถูกหลัก E-A-T

Expertise หรือ ความเชี่ยวชาญ 

เราสามารถเพิ่มความเชี่ยวชาญของเว็บไซต์ของเราได้ ด้วยคอนเทนต์คุณภาพที่ลงลึก ให้ประโยชน์กับผู้เสพ ทั้งนี้ เพื่อที่จะเชี่ยวชาญในสายตา Google เราก็ต้องใช้เวลาสะสมความเชี่ยวชาญ ทำคอนเทนต์คุณภาพอย่างสม่ำเสมอ และทำคอนเทนต์ที่มีความเฉพาะ (Niche) 

ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Content Shifu เราโฟกัสทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ Digital Marketing มาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะดูมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ กลับกัน ถ้าวันหนึ่งเราเขียนคอนเทนต์ด้านการเงินขึ้นมา แน่นอนว่า เราก็จะยังไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ (ทั้งในสายตา Google และผู้อ่านด้วย)

Authoritativeness หรือ ความมีอิทธิพล

ข้อนี้ เราสามารถเสริม “ความมีอิทธิพล” ได้ ก็เมื่อได้รับความไว้วางใจ มีคนเชื่อถือ ซึ่งน่าจะมาจากการที่เว็บไซต์ของเราได้รับ Backlink คุณภาพ มีคนอ้างอิงถึง หรือจะเป็นการ Mention ถึงเกี่ยวกับเนื้อหาบนเว็บไซต์ของเราก็ได้

Trustworthiness หรือ ความน่าเชื่อถือ

“ความน่าเชื่อถือ” Google จะพิจารณาจากการอ้างอิงของเรา เมื่อคอนเทนต์บนเว็บของเรากำลังพูดถึงเรื่องเรื่องหนึ่งอยู่ ถ้าเราให้เครดิตหรืออ้างอิงเว็บไซต์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เว็บไซต์ของเราก็จะน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงเรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ การอ้างอิง Nasa ก็จะยิ่งน่าเชื่อถือ หรือถ้าเราอ้างอิงเว็บไซต์ที่เป็นทางการอย่าง .edu , .ac.th , .gov เหล่านี้ ก็จะเป็นหางโดเมนที่น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ อีกเทคนิคหนึ่งเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ก็คือการใส่ประวัติหรือ About ของผู้เขียนบทความ ถ้าผู้เขียนบทความเป็นนายแพทย์/แพทย์หญิง มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขียน และมีผลงานในด้านนั้นๆ ประจำ “Author” ก็ช่วยเพิ่ม Trustworthiness ให้เว็บไซต์ได้ ทั้งนี้ ก็รวมถึง About ของเว็บไซต์ด้วย ถ้ามีที่อยู่ มีอีเมลที่ติดต่อได้ชัดเจน ก็ย่อมน่าเชื่อถือกว่าเว็บไซต์โล่งๆ ที่ไม่บอกว่าใครเป็นเจ้าของ

8. Zero Position ที่หนึ่งไม่ไหวก็ขอเป็นที่ ‘ศูนย์’ กับ Featured Snippet

อันดับหนึ่งคงไม่พออีกต่อไป ตอนนี้ เทรนด์ SEO หันมาแข่งขันอันดับที่ศูนย์หรือตำแหน่ง Featured Snippet กันแล้ว

Featured Snippet คือ การ์ดตัวอย่างข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมาก่อนรายชื่อเว็บไซต์อันดับแรก เป็นตำแหน่งที่ Google คัดเลือกขึ้นมาเองเพื่อให้คำตอบแบบเร็วๆ กับผู้ใช้งาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกเว็บไซต์มีโอกาสได้ตำแหน่ง Zero Postion นี้ ถ้า Google มองว่าตอบคำถามได้ดี

Featured Snippet คือ
ตัวอย่าง Featured Snippet บนหน้าเสิร์ช (SERPs)

แล้วประสิทธิภาพของ Zero Position หรือ Featured Snippet นี้ล่ะ?

Featured Snippet คืออะไร ทำยังไง
ที่มารูปภาพ ahrefs.com

จากสถิติของ Ahrefs อาจจะดูว่า Zero position ให้ประสิทธิภาพน้อยกว่า 1# Position ใช่ไหมคะ?

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดเด่นและประโยชน์ต่อไปนี้ ก็ทำให้ Featured Snippet ได้รับความสำคัญขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในเทรนด์ SEO ที่ห้ามพลาด

  1. ไม่จำเป็นต้องไต่อันดับมาเรื่อยๆ ก็มีโอกาสขึ้นหน้าแรกเป็น Featured Snippet ได้ (จากสถิติ กว่า 95% ของคนเสิร์ชคลิกเว็บไซต์ที่อยู่บนหน้าแรก) เพิ่มโอกาสได้ Traffic
  2. เว็บไซต์ได้รับความน่าเชื่อถือ เพราะคนจะมองว่า Google คัดเลือก ‘ที่สุด’ มาให้แล้ว
  3. การ์ด Featured Snippet ดึงดูดสายตา หากตัวอย่างข้อมูลบนเว็บไซต์สามารถตอบคำถามได้ดี และมีสิ่งที่ผู้ใช้งานอยากอ่านเพิ่ม เว็บไซต์ก็จะได้ Traffic (รวมทั้งแย่ง Traffic ไปจากอันดับหนึ่งด้วย)

แล้วเราจะทำให้เว็บไซต์ติดอันดับที่ศูนย์ ถูกเลือกเป็น Featured Snippet ได้อย่างไร

จริงๆ แล้วยังไม่มีคำตอบ และ Google บอกแค่ว่า ที่เลือกมาจะเป็นคำตอบหรือข้อมูลสั้นๆ มักจะปรากฏเมื่อการค้นหาอยู่ในรูปคำถาม ดังนั้น คอนเทนต์บนเว็บไซต์จึงควรเป็นแนวทางการถาม-ตอบ ตัวอย่างในการปรับปรุงคอนเทนต์เพื่อ Featured Snippet ตามข้อสันนิษฐานง่ายๆ ก็เช่น

  • วลีหลักหรือ Keyphrase อยู่ในรูปคำถามและเนื้อหาเป็นคำตอบ
  • มีโครงสร้างบทความ/เนื้อหาชัดเจนด้วย Heading 
  • บอกขั้นตอนหรือให้คำตอบแบบ Listing
Rich Snippet

ถ้าหากว่าลอง Optimize แล้ว ก็ยังไม่ได้เป็น Featured Snippet เสียที Google เขาก็มีรางวัลปลอบใจให้สำหรับหน้าเพจที่มีโครงสร้างเนื้อหาดีด้วย นั่นคือ “Rich Snippet”

จะเห็นได้ว่า นอกจาก Title แล้ว Google ยังแสดง Site link อื่นๆ ซึ่งหยิบมาจาก Heading ในบทความอีกด้วย ก็ช่วยให้เว็บไซต์สะดุดตา น่าคลิกขึ้นมา และยังเป็นการเกริ่นให้คนเสิร์ชรู้ด้วยว่าข้างในยังมีเนื้อหาเจ๋งๆ อยู่อีก

ตัวอย่าง Rich Snippet

9. Local Search อัปเดตข้อมูลทางธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการแสดงผล

Google มีการอัปเดต Local Search เพียงเล็กน้อย โดยแนวทางการทำ Local Search สำหรับธุรกิจที่มีหน้าร้านยังคงเหมือนเดิม คือ หากธุรกิจของคุณมีเว็บไซต์ อย่าลืมเพิ่มเนื้อหาด้าน Location เพิ่มข้อมูลธุรกิจ ยืนยันที่อยู่ ใส่รูปประกอบ อัปเดตเวลาในการดำเนินการ จัดการรีวิว และอัปเดตข้อมูลบน Google My Business ให้ครบ!

อัปเดตเรื่อง Local Search จาก Google

10. Social Listening กลยุทธ์ ‘การฟัง’ ช่วยให้คุณทำ SEO ได้ปังมากขึ้น

อีกหนึ่งกลยุทธ์ช่วยทำ SEO ให้กับแบรนด์หรือธุรกิจของคุณได้ง่ายๆ โดย Social Listening คือ การฟังเสียงตอบรับใน Social จากหลากหลายช่องทาง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนในเรื่องของเวลา ทำให้เราได้ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาปรับปรุงกลยุทธ์การทำการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หรือช่วยทำให้คุณเสิร์ฟคอนเทนต์ได้ตอบโจทย์เป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น

11. Mobile Responsive: Google จะ Index เว็บไซต์ที่แสดงผลบนมือถือขึ้นมาก่อน

คงจะได้ยินเรื่อง “Mobile First” อย่างหนาหูกันมาสักพักแล้ว นั่นก็เพราะว่า ผู้คนพึ่งพาการใช้ Smart Phone มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า รวมไปถึงพฤติกรรมการเสิร์ช Google ของคนด้วย

สถิติ เทรนด์ SEO - Mobile Search
กราฟเปรียบเทียบระยะเวลา (นาที) การใช้งานบน Desktop กับ Mobile ต่อวัน
วัดจากการเข้าชมเว็บไซต์ผ่านการเสิร์ชแบบ Organic ที่สหรัฐอเมริกา
ที่มารูปภาพ: broadbandsearch.net

จากกราฟ แสดงให้เห็นว่าคนเสิร์ชผ่าน Mobile Devices มากขึ้น และมากกว่าการเสิร์ชบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งหากลองนึกจินตนาการดู เราจะออกไปไหน จะหาร้านอะไร หรือเกิดนึงสงสัยอยากค้นคว้า อุปกรณ์ที่ใกล้มือที่สุดอย่าง “มือถือ” อย่างไรก็สะดวกกว่าคอมพิวเตอร์

นอกจากในฐานะที่เราทำ SEO หรือดูแลเว็บไซต์ที่ควรจะต้องแคร์เรื่อง Mobile Responsive แล้ว Google เองก็เคยประกาศว่า จะใช้การแสดงผลที่ดีบน Mobile เป็นหนึ่งในปัจจัยการจัดอันดับเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2016 แล้วด้วย

และหากใครที่เคยสังเกต จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์อันดับรายการเว็บไซต์บนหน้าเสิร์ชบน Mobile กับ Desktop จะแตกต่างกันอยู่บ้าง นั่นก็เพราะว่า อุปกรณ์ที่เข้าถึงเว็บไซต์ก็ส่งผลต่อการคัดเลือกเว็บไซต์ของ Google ขึ้นมาแสดงเช่นกัน

รู้ว่าคนเสิร์ชผ่านมือถือมากขนาดนี้แล้ว และถ้าเว็บไซต์ยังไม่ Mobile-friendly จะไม่น่าเสียดายเหรอ?
เว็บไซต์ของคุณในสายตา Google นั้น Mobile-friendly แล้วหรือยัง ???????? คลิกเพื่อตรวจสอบ

ตัวอย่างเว็บไซต์ Mobile-friendly
ตัวอย่างหน้าตาเว็บไซต์ที่แสดงผลบน Mobile ที่ดี
ตาม Webmaster Mobile Guide ของ Google

ทั้งนี้ นอกจากการความสำคัญของ Mobile Responsive ต่อ SEO แล้ว ในด้าน Marketing และ UX (User Experience) ก็สำคัญด้วย เช่น ช่วยลดอัตราการเด้งออกจากหน้าเว็บ (Bounce rate) ใช้ให้คนอยู่บนเว็บไซต์นานขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้งานหาเมนูต่างๆ เจอ และช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางการตลาดหรือ Conversion rate ได้ 

Basic mobile-friendly website ที่ต้องมีได้แล้ว

  1. ฟอนต์ใหญ่ขึ้น อ่านง่ายขึ้น
  2. CTA หรือปุ่มควรใหญ่ขึ้น กดง่าย และชวนกด
  3. เมนูหรือ Navigator ต้องไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย
  4. ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น Banner ด้านข้าง ฟอร์มกรอก ต้องไม่มารบกวน
  5. Layout และหน้าตาเว็บไซต์บน Mobile ควรจะเรียบง่าย (เว็บไซต์ที่เรียบง่ายให้ผลลัพธ์ดีกว่า)
  6. ไฟล์ภาพ วิดีโอ และมีเดียอื่นๆ ต้องแสดงผลได้ และโหลดเร็ว
  7. เว็บไซต์ต้องโหลดเร็ว โหลดไว (สำคัญมาก เพราะถ้าใช้เวลาโหลดเกิน 3 วินาที 53% ของคนก็จะไม่รอต่อแล้ว)

สรุป เทรนด์ SEO ปี 2022

เทรนด์การทำ SEO ในปี 2022 นี้ ไม่ได้เข้าใจยากเลยใช่ไหมคะ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่อง “เก่าๆ” ที่ต่อยอดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เพียงแต่ว่าในปีนี้ เทรนด์ที่บทความนี้นำเสนอจะเป็นจุดเหนี่ยวไกแข่งขันทำ SEO กัน ในช่วงนี้ แต่สำหรับ 2 – 3 ปี ข้างหน้า ก็คงมีเรื่องใหม่ๆ ให้เราได้ตื่นเต้นปรับตัวกันอีก

สำหรับปีนี้ ขอฝากเทรนด์ปัจจัยจัดอันดับตัวใหม่ของ Google ในปี 2022 ไว้ 11 ข้อ ดังนี้ค่ะ

1. AI จะเปลี่ยนโฉมการทำ SEO – แนะนำ “MUM” Algorithm ใหม่ของ Google

2. Core Web Vitals ปัจจัยจัดอันดับตัวใหม่ของ Google เพิ่มประสบการณ์การใช้งานบนเว็บไซต์

3. Search Intent Optimization แค่ “Keyword” ทั่วไปไม่พอ ต้อง ‘เดาใจ’ คนให้ได้

4. LSI Keyword: เพิ่มบริบทแวดล้อมให้คอนเทนต์ด้วยคำค้นที่เกี่ยวข้อง

5. Voice Search คนเสิร์ชด้วยเสียงมากขึ้น วิธีการเขียนต้องมุ่ง “ถาม-ตอบ”

6. Video Content อีกเทรนด์ SEO ที่มาแรงและดูจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

7. E-A-T ยังคงเป็นสิ่งที่ Google ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

8. Zero Position ที่หนึ่งไม่ไหวก็ขอเป็นที่ ‘ศูนย์’ กับ Featured Snippet

9. Local Search อัปเดตข้อมูลทางธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการแสดงผล

10. Social Listening กลยุทธ์ ‘การฟัง’ ช่วยให้คุณทำ SEO ได้ปังมากขึ้น

11. Mobile Responsive: Google จะ Index เว็บไซต์ที่แสดงผลบนมือถือขึ้นมาก่อน

ทิ้งท้ายว่า จาก 11 เทรนด์ SEO ข้างต้น จริงๆ แล้วมันก็คือเรื่องของ “ความต้องการ” และ “ความพึงพอใจ” ของผู้ใช้งาน ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าอยากให้ Google รัก ก็ต้องทำให้ ‘คน’ รักเราก่อน เดี๋ยว Google จะมารักเราเอง” 

ตาคุณแล้ว

อ่านจบแล้ว อย่าลืมนำเทรนด์และคำแนะนำต่างๆ ในบทความนี้ไปปรับใช้กันนะคะ เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณทำอันดับได้ดีขึ้นๆ คนเข้าเยอะขึ้นๆ และนำผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาให้คุณได้ในที่สุด! ใครมีเทรนด์อื่นๆ เพิ่มเติม คอมเมนต์แนะนำกันมาได้เลยนะคะ