อีเมลถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการทำการตลาดออนไลน์ในยุคดั้งเดิม ซึ่งจริงๆ แล้วอีเมลนั้นพึ่งมีอายุไม่ถึง 50 ปีเลย แต่ด้วยความที่ว่ามันสามารถนำมาใช้แทนเครื่องมือสื่อสารยุคก่อนอย่าง จดหมาย ได้เป็นอย่างดี แถมยังสร้างประโยชน์ในแบบที่จดหมายทั่วๆ ไปสร้างไม่ได้อีกด้วย อีเมลก็เลยเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญที่สำคัญที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน และในธุรกิจ

50 ปีที่แล้วเป็นเช่นนี้ วันนี้มันก็ยังคงเป็นเช่นนี้

หลายๆ คนอาจจะคิดว่าอีเมลนั้นตายไปพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นมาของโซเชียลมีเดีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อีเมลก็ยังคงเป็นช่องทางที่คนนิยมใช้กันอยู่ โดนเฉพาะการติดต่อสื่อสารธุรกิจ

สถิติจาก Mailchimp ที่เป็นบริการ Email Marketing ที่มีคนใช้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้เปิดเผยรายงานผลการส่งอีเมลของลูกค้าของพวกเขาออกมาในปี 2019 ผลปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของการเปิดอีเมล (Open rate) จะอยู่ที่ 21.33% และค่าเฉลี่ยในการคลิก (Click rate) จะอยู่ที่ 2.62% ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่าอีเมลนั้นยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลอยู่

most-effective-marketing-channel-by-conductor_r1

นอกจากนั้นแล้ว Conductor เองนั้นก็ได้ทำการสำรวจประสิทธิภาพของช่องทางในรูปแบบต่างๆ ผลปรากฏว่าสำหรับธุรกิจ B2B ลูกค้ามุ่งหวัง (Leads) ที่มาจากอีเมลนั้นมีคุณภาพมากที่สุด ในขณะที่ช่องทางอย่าง Social Media และ Advertising ต่างๆ นั้น คุณภาพของลูกค้ามุ่งหวัง (Leads) (สำหรับธุรกิจ B2B) นั้นจะต่ำที่สุด และสำหรับธุรกิจ B2C และ E-Commerce นั้น ช่องทางอย่าง Search กับ Advertising ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ส่วนอีเมลนั้นถือว่าให้ผลลัพธ์ธรรมดา ส่วนการทำการตลาดผ่าน Social นั้นให้ผลลัพธ์ที่ต่ำที่สุด

ถึงแม้สถิติจะบอกว่ายังไงก็ตาม ผลเหล่านั้นเป็นของต่างประเทศ การทำ Email Marketing ในประเทศไทยนั้นอาจจะให้ผลต่างออกไป

เมื่อก่อน ตัวผมเองเคยใช้ Email Marketing แล้วไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ (Open rate อยู่ที่หลักหน่วยต้นๆ ส่งก็เหมือนไม่ได้ส่ง) จนผมแอบคิดว่าช่องทางนี้ไม่น่าจะใช้ได้ผลกับคนไทย อีกทั้งผมยังเป็นคนที่ไม่ Subscribe เว็บไซต์ หรือบล็อกของใครด้วยอีเมลเลยอีกด้วย

จนกระทั่งอยู่มาช่วงหนึ่งที่ผมสนใจเรื่อง Online Marketing หนักๆ แล้วได้พบเจอกับบล็อกของ Neil Patel และ Buffer ซึ่ง 2 เว็บไซต์นี้เปลี่ยนมุมมองที่ผมมีต่อ Email ไปโดยสิ้นเชิง

จากคนที่ไม่เคยติดตามอีเมล กลายเป็นเปิดอ่านแทบทุกเมลที่พวกเขาส่งมา

และพอเอาเทคนิคที่พวกเขาใช้มาปรับใช้กับเว็บไซต์ Content Shifu ดู ผลตอบรับที่ออกมานั้นค่อนข้างดีเลยล่ะ (สำหรับอีเมล Newsletter ที่ส่งประจำทุกสัปดาห์ของ Content Shifu Open Rate เฉลี่ยอยู่ที่ 25-30% และ Click Rate อยู่ที่ 2-3%)

จริงๆ แล้วการทำ Email Marketing นั้นไม่ได้ซับซ้อน และยุ่งยากอะไรมากเท่าไหร่ สิ่งที่คุณต้องทำให้ถูกต้องนั้นมีแค่แนวคิดเท่านั้นเอง วันนี้ผมจะมาเขียนถึงการทำ Email Marketing แบบเบื้องต้น

ถ้าคุณยังเป็นมือใหม่ หรือเป็นมือเก่าที่เคยใช้ Email Marketing ในการทำการตลาดแต่ยังไม่ค่อยได้ผล ผมแนะนำให้คุณลองอ่านบทความนี้ดูครับ รับรองว่าถ้าคุณอ่านจบ คุณจะเข้าใจศาสตร์แห่ง Email Marketing ขึ้นอย่างแน่นอนครับ

Shifu แนะนำ
ลิงก์บางลิงก์ในบทความนี้เป็นลิงก์แบบ Affiliate ซึ่งหมายความว่า ถ้าคุณคลิกและซื้อสินค้าหรือบริการที่อยู่ในหน้านี้ Content Shifu อาจจะได้รับค่าแนะนำ โดยที่คุณไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น 🙂 อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลเรื่อง Affiliate ได้ที่นี่

ประเภทของการส่งอีเมล

ประเภทของการส่งอีเมลแบ่งได้ง่ายๆ เป็นทั้งหมด 2 แบบ

1. Marketing Email

อีเมลรูปแบบนี้จะเป็นอีเมลที่ส่งเป็นครั้งต่อครั้งไป และโดยปกติแล้วมักจะใช้เพื่อจุดประสงค์ในทางการตลาด/ธุรกิจ หรือว่ามี Call to action เพื่อให้คนที่ได้รับอีเมลทำอะไรบางอย่าง (ถ้าใครที่ Subscribe Content Shifu ด้วยอีเมลอยู่ แล้วได้อีเมลบทความอันนี้อยู่ อีเมลทีคุณได้รับ เป็น Marketing Email ครับ) และโดยปกติแล้วอีเมลรูปแบบนี้มักจะส่งไปให้คนจำนวนมากพร้อมๆ กัน

2. Transactional Email

ตัวอย่าง Transactional Email จาก Lazada

อีเมลรูปแบบนี้จะเป็นอีเมลที่ถูกส่งให้เป็นรายบุคคล โดยที่มันจะถูกส่งเมื่อคนที่ได้รับอีเมลทำอะไรบางอย่างที่ตรงตามเงื่อนไขการส่งอีเมล ตัวอย่างง่ายๆ เลยจะเป็นพวกเว็บไซต์ ecommerce ทันทีที่คุณซื้อของจากเว็บไซต์ ecommerce สักเว็บ ตัวเว็บไซต์ก็จะส่งอีเมลถึงคุณ ในอีเมลก็จะมีข้อมูลพวกเลข Invoice, ราคา, วันเวลาในการขนส่งอยู่ โดยที่ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเฉพาะของคุณคนเดียวเท่านั้น

สำหรับในบทความนี้ ผมจะพยายามโฟกัสไปที่ Marketing Email มากกว่า Transactional Email เพราะว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถทำความเข้าใจ และเริ่มใช้งานได้ไม่ยากนัก ในขณะที่ Transactional Email ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคเยอะกว่า

สาเหตุที่ควรจะใช้ Email Marketing Service ส่งอีเมลแทนการส่งอีเมลแบบธรรมดา

ถ้าคุณใช้อีเมลเพื่อการส่งข้อความคุยกับลูกค้า หรือเพื่อนฝูงแบบ 1 ต่อ 1 การส่งผ่านระบบอีเมลแบบปกติ (เช่นของ Gmail และ Hotmail) นั้นเป็นวิธีที่ดี และง่ายที่สุด แต่ถ้าคุณจะเริ่มส่งอีเมลไปให้กับคนสัก 50-100 คนขึ้นไป การส่งอีเมลแบบธรรมดาจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป และคุณควรจะหันมาใช้บริษัทที่ทำ Email Marketing Service โดยเฉพาะแทน เหตุผลหลักๆ แล้วมีอยู่ 4 ข้อ

1. จำนวนอีเมลที่คุณจะส่งได้

ถ้าคุณส่งอีเมลผ่าน Gmail สัก 100 อีเมลพร้อมๆ กัน มันอาจจะส่งไปไม่ถึงผู้รับ หรือโดนตีกลับ แต่ถ้าคุณใช้ Email Marketing Service ส่ง จะพัน หรือจะหมื่นอีเมลพร้อมกันก็ไม่มีปัญหา (อีเมลจะไม่ได้ส่งไปให้ผู้รับพร้อมๆ กัน แต่ Email Marketing Service นั้นจะทยอยส่งให้กับผู้รับเอง)

2. การไม่ถูกตราหน้าว่าเป็น Spam

ถ้าคุณใช้ Gmail หรือ Hotmail ส่งอีเมลไปให้กับลูกค้าของคุณเรื่อยๆ โดยที่เขาไม่สนใจคุณ สิ่งที่เขาจะทำก็คือ เขาจะจับอีเมลของคุณเข้า Folder Spam ทีนี้ในครั้งต่อๆ ไป อีเมลที่คุณส่งถึงเขาก็จะเข้าไปอยู่ใน Folder Spam นอกจากนั้นแล้วมันอาจจะทำให้อีเมลที่คุณส่งไปให้คนอื่นๆ ที่อาจจะสนใจในเนื้อหาอีเมลของคุณ นั้นถูกตราหน้าว่าเป็น Spam ไปด้วย และเวลาคุณส่งอีเมลให้เขาในครั้งต่อไป มันก็จะถูกจับเข้าไปใส่ไว้ใน Folder Spam ของเขาโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่าง Footer ในอีเมลของ Content Shifu ที่ส่งให้ผู้ติดตามเป็นประจำ

การใช้ Email Marketing Service นั้นจะมีฟีเจอร์ให้ผู้ที่ได้รับอีเมลของคุณเลือก Unsubscribe (ยกเลิกการติดตาม) ได้ ตัวอย่างเช่นในอีเมลทุกอีเมลที่ Content Shifu ส่งไปนั้นจะมีปุ่ม Unsubscribe อยู่ด้านล่าง (ถ้ายังรักกันอยู่ ก็อย่าไปกดมันนะครับ ฮา)

3. การส่งอีเมลแบบอัตโนมัติ (Email Automation)

Email Marketing Service ทุกตัวจะมีฟีเจอร์ของ Transactional Service ขนาดย่อมอยู่ ซึ่งมันทำให้คุณไม่จำเป็นต้องส่งอีเมลแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เช่นคุณสามารถตั้งค่าได้ว่า ถ้ามีคนมา Subscribe คุณด้วยอีเมล คุณสามารถตั้งค่าให้ระบบส่งอีเมลต้อนรับไปหาคนคนนั้นโดยอันโตมัติได้หลังจากที่เขา Subscribe แล้ว 1 นาที

Email Marketing Service ที่ดีจะมีบริการ Auto Resend (ส่งเมลให้กับคนที่ไม่เปิดอีเมล หรือไม่คลิกปุ่มที่คุณอยากให้คลิก) และ A/B Testing (ส่งอีเมลไปให้คน 2 กลุ่มเล็กๆ โดยที่มีหัวข้อ หรือคอนเทนต์ต่างกัน แล้วเลือกส่งอีเมลที่มีหัวข้อที่คนเปิด/คลิกมากที่สุดให้กับผู้ติดตามที่เหลือของคุณ)

4. การวิเคราะห์ข้อมูลemail-marketing-analytics

“Information is Power”

สิ่งที่บริการอีเมลทั่วๆ ไปไม่สามารถมอบให้คุณได้ก็คือส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ถ้าคุณใช้ Email Marketing Service คุณจะสามารถวัดผลได้ว่ามีคนเปิดอีเมลกี่คน มีคนคลิกตำแหน่งไหนบ้าง ถ้าคุณอยากทำถึงขนาดดูว่าคนคนไหน เปิด หรือไม่เปิดอีเมลไหนก็ทำได้เช่นกันครับ

Shifu แนะนำ
เปรียบเทียบกับการส่งอีเมลแบบธรรมดาไปแล้ว ทีนี้ผมขอเปรียบเทียบเพิ่มเติมระหว่าง Email Marketing กับ Social Media Marketing ชื่อดังอย่าง Facebook บ้างนะครับ

ข้อดีของการทำ Email Marketing ก็คือถ้าคุณเน้นเก็บอีเมลไปเรื่อยๆ อีเมลนั้นจะเสื่อมค่าช้ากว่า จำนวนผู้ติดตามบน Facebook ค่อนข้างเยอะ (ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่: รู้ก่อน รอดก่อน! เหตุผลที่คุณไม่ควรพึ่งแต่โซเชียลมีเดียในการทำธุรกิจ) และนอกจากนั้นแล้ว ถ้าคุณทำ Email Marketing ได้ดี คนอ่านจะรู้สึกเหมือนว่าคุณกำลังคุยกับเขาแบบ 1 ต่อ 1 เลยล่ะ เมื่อเทียบกันแล้ว Facebook จะเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้คุณคุยกับคนหมู่มากซะมากกว่า

สำหรับข้อด้อยเมื่อเทียบกับ Facebook ที่เห็นได้ชัดคือมันไม่ง่ายเลยที่จะขอให้คน Subscribe Email นอกจากนั้นแล้วศาสตร์แห่ง Email Marketing นั้นเปรียบเสมือนศาสตร์อีกแขนงเลย และในบางมุมอาจจะต้องมีความรู้ทางเทคนิคมาช่วยบ้าง ถ้าคุณเริ่มเรียนรู้ใหม่ๆ อาจจะต้องใช้เวลาลองผิด ลองถูกสักหน่อย

Email Marketing Service ที่แนะนำ

จริงๆ แล้วบนโลกใบนี้มีบริษัทที่ให้บริการทางด้านนี้เยอะมาก (มากแบบมากๆ) แต่มีอยู่ 2 ตัวที่ผมอยากจะแนะนำมากเป็นพิเศษ เพราะว่ามันมีฟีเจอร์พื้นฐานครบ ใช้งานง่าย และก็ราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์

1. Mailerlite

Mailerlite เป็นผู้ให้บริการ Email Marketing ที่ผมชอบมากที่สุด และ Content Shifu ก็ใช้ตัวนี้อยู่ด้วย ข้อดีของมันคือมีฟีเจอร์พื้นฐานครบ, ใช้งานง่าย, สามารถส่งอีเมลให้กับผู้ติดตามได้ฟรีเป็นจำนวน 1,000 คน (อีเมลกี่อีเมลก็ได้) และคุณสามารถใช้ฟีเจอร์การส่งอีเมลแบบอันโตมัติ (Automation) ได้ตั้งแต่เวอร์ชั่นฟรี

และที่สำคัญ ราคาของ Mailerlite เมื่อคุณมีผู้ติดตามเกิน 1,000 คนนั้น เมื่อเทียบกับตัวอื่นจะถือว่าถูกกว่าเยอะมากๆ (เกือบครึ่งต่อครึ่ง)

ส่วนข้อด้อยของมันก็คือฟีเจอร์ที่ค่อนข้างพื้นฐาน ถ้าในอนาคตคุณอยากจะทำอะไรที่แปลกประหลาด หรือซับซ้อน Mailerlite จะไม่ตอบโจทย์คุณ

ส่วนตัวผมเอง ผมได้ลองมาหลายตัว หนึ่งในตัวที่ชอบที่สุดก็คงจะเป็น Mailerlite นี่แหละครับ

ผมเคยทำคลิป Demo การใช้งาน Mailerlite ไว้ ลองเข้าไปดูได้ทางด้านล่างนี้ครับ

2. ActiveCampaign

ActiveCampaign เป็นอีกหนึ่งใน Email Marketing (Automation) ชื่อดังที่มีคนใช้บริการเยอะมากๆ จุดเด่นสำคัญของ ActiveCampaign คือระบบ Automation ที่มีฟีเจอร์ที่หลากหลายที่ใช้ได้ตั้งแต่การทำ Marketing, Sales จนถึงการทำ Customer Service

ส่วนข้อด้อยของ ActiveCampaign คือมันไม่มี Version Free ให้ใช้งาน มีแค่ Free Trial แค่ 14 วันเท่านั้นครับ

ผมเคยทำคลิป Demo การใช้งาน ActiveCampaign ไว้ ลองเข้าไปดูได้ทางด้านล่างนี้ครับ

Shifu แนะนำ
ถ้ายังรู้สึกว่าเครื่องมือ 2 ตัวนี้ยังไม่ตอบโจทย์ ลองไปดู Email Marketing Software อย่าง HubSpot, AweberGetresponse, Convertkit หรือ Drip ดูครับ หรือถ้าคุณต้องส่งอีเมลเป็นจำนวนมาก (หลายแสน หรือล้านอีเมลต่อเดือน) ดูครับ

เทคนิคในการทำ Email Marketing ให้ได้ผลดี

1. อีเมลต้องมีที่มาที่ไป

จำไว้เลยว่าสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอันขาดคือการที่คุณได้ลิสต์ของอีเมลมาโดยทีคุณไม่รู้ว่ามันมาจากไหน (อย่าขอ อย่าดึง อย่าซื้อ จากใครก็ตามที่มาเสนอให้) สาเหตุก็เป็นเพราะคนที่อยู่ในอีเมลนั้น พวกเขาอาจจะยังไม่รู้จักคุณมาก่อน และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้อนุญาตให้คุณส่งอีเมลให้พวกเขา ถ้าคุณยันดันทุรังส่งอีเมลให้พวกเขา สุดท้ายแล้วอีเมลของคุณก็จะเข้าไปอยู่ใน Folder Spam

วิธีที่ดีที่สุดในการเก็บลิสต์ของอีเมลก็คือการเก็บบนเว็บไซต์ของคุณเอง อย่างของ Content Shifu เองก็มักจะเชิญชวนให้คนเข้าไป Signup หรือกรอกฟอร์มเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลอะไรบางอย่าง เพื่อกระตุ้นให้คนที่สนใจ Content Shifu จริงๆ นั้นเลือก Subscribe ด้วยตัวของพวกเขาเอง

สำหรับ Email Marketing คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณครับ

Shifu แนะนำ
ในอนาคตอันใกล้ที่กฏหมายว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองความปลอดภัยข้อมูล (PDPA) นั้นจะถูกประกาศใช้ เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งอีเมลโดยได้รับการยินยอมจากลูกค้านั้นจะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกครับ เพราะถ้าคุณได้อีเมลมาอย่างผิดกฏหมาย คุณอาจจะถูกฟ้องร้องได้ครับ

2. ตั้งชื่อหัวข้อให้ดี

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่สำคัญมากๆ เพราะถ้าชื่ออีเมลของคุณไม่ดี คนก็จะไม่คลิก เมื่อไม่คลิก อีเมลที่ส่งไปให้พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายเลยครับ เทคนิคเบื้องต้นที่ผมอยากจะแนะนำสำหรับการตั้งชื่อหัวข้ออีเมลก็คือเทคนิคเดียวกับการตั้งชื่อบทความครับ (อ่านเพิ่มเติม: ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! 7 วิธีตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน)

เทคนิคอื่นๆ ที่ผมอยากจะแนะนำเพิ่มเติมก็จะมี การใส่ชื่อของผู้รับอีเมลลงไปในชื่อหัวข้อด้วย ซึ่ง Email Marketing Service ส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์นี้อยู่แล้วครับ

ลองเปรียบเทียบดูว่าอันไหนดูน่าคลิกกว่ากัน ระหว่าง “คุณสมชาย, เราส่งบทความใหม่เกี่ยวกับ Email Marketing มาให้คุณ” กับ “เราส่งบทความใหม่เกี่ยวกับ Email Marketing มาให้คุณ”

Shifu แนะนำ
mailerlite-custom-field

 

การใส่ชื่อของคนได้อีเมลเข้าไปด้วยเหมือนจะทำยาก และใช้ความรู้เชิงเทคนิค แต่จริงๆ แล้วมันทำได้ง่ายมากๆ เลยล่ะ ตัวอย่างเช่นของ Mailerlite สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่ใส่ {$name} เข้าไปด้วย (Email Marketing Service แต่ละเจ้าจะมีบอกอยู่ว่าคุณต้องใส่ฟังก์ชั่นอะไร), การใส่ Emoji ลงไปก็เป็นอันที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และสุดท้าย สำคัญมากๆ คือการตั้งชื่อหัวข้อให้ไม่ยาวเกินไปครับ

3. โฟกัส โฟกัส โฟกัส!

ในการส่งอีเมลหนึ่งอีเมลนั้น คุณควรจะมีเป้าหมายเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น (หรืออย่างมากที่สุด 2 อย่าง) คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าอีเมลนั้นๆ ส่งไปเพื่ออะไร เช่น อยากให้พวกเขาเปิดอ่านบทความ, อยากให้พวกเขาซื้อของ หรือเป็นแค่การแจ้งเตือนเฉยๆ เป็นต้น

Business Insider ได้เคยเขียนเหตุผล และยกตัวอย่างหลายตัวอย่างที่บอกว่า การเสนอทางเลือกมากเกินไปนั้นไม่เป็นผลดี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการส่ง Email Marketing คุณควรจะโฟกัส Key Message ที่ส่งไปเพียงแค่ 1-2 อย่างครับ

4. รูป และลิงก์ช่วยเพิ่มการคลิก

การใส่ลิงก์ที่เป็นข้อความ และรูปภาพควบคู่เข้าไปกับข้อความ และปุ่ม Call to action ที่คุณอยากจะให้คนที่ได้รับอีเมลกดนั้น จะทำให้มีโอกาสที่พวกเขาจะคลิกมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างรูปภาพและลิงก์จากอีเมลของ Content Shifu

ตัวอย่างเช่นอีเมลของ Content Shifu เกี่ยวกับเรื่องสายงาน Digital Marketing นั้น พวกเราทำการวางลิงก์ไว้ทั้งหมด 3 ที่คือ 1. ในข้อความ E-book & Event 2. ในรูปภาพ 3. ปุ่ม Call to action

ซึ่งจากรูปทางด้านบน จะเห็นได้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้คือคนที่ได้รับอีเมลนั้นมีการคลิปในที่ที่หลากหลาย (โดยเฉพาะปุ่ม CTA และรูปภาพที่จะมีคนคลิกมากเป็นพิเศษ)

5. Auto Resend เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง

Email Marketing Service (น่าจะเกือบทุกตัว) จะมีฟีเจอร์ Auto Resend ซึ่งก็คือการส่งอีเมลซ้ำไปให้กับผู้รับอีเมลคนเดิม ถ้าเขาไม่เปิดอีเมล หรือไม่คลิกปุ่ม/ข้อความในอีเมล

ตัวอย่างเช่นผมเคยส่งอีเมลเกี่ยวกับ “5 ขั้นตอนเพื่อให้ได้ทุกสิ่งที่ต้องการในชีวิต” ให้กับผู้ติดตามมบล็อกส่วนตัวของผม ซึ่งผมส่งไปวันจันทร์ และมีคนเปิด 14.99% และคลิก 2.13% หลังจากนั้นอีก 2 วัน ผมได้ตั้งค่าให้ระบบส่งอีเมลชุดเดิมแต่เปลี่ยนหัวข้อ (เป็น [W5/July Newsletter] จาก sitthinunt.com ถึงคุณ {$name}) ให้กับคนที่ไม่ได้เปิดอีเมลก่อนหน้านี้ของผม ซึ่งทำให้มีคนคนเปิดอ่านอีเมลผมอีก 11.06% และคลิก 1.60%

ฟีเจอร์นี้ถ้าใช้ได้ไม่ดีมันจะกลายเป็นน่ารำคาญ แต่ถ้าใช้ได้ดีมันจะทรงพลังมากๆ เลยครับ

6. A/B Testing เพื่อเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุด

หลักการทำ A/B Testing ของอีเมลนั้นคือการทดลองส่งอีเมลจำนวน 2 แบบไปให้กับผู้ติดตามกลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วดูว่าอีเมลแบบไหนทำให้คนเปิด/คลิกเยอะที่สุด จากนั้นจึงค่อยส่งอีเมลนั้นๆ ไปให้กับกลุ่มผู้ติดตามที่เหลือ เช่นถ้าผู้ติดตามของคุณมีทั้งหมดจำนวน 10,000 คน การทำ A/B Testing คือการสุ่มเลือกส่งอีเมลแบบที่ 1 ไปให้คน 50 คน และสุ่มเลือกส่งอีเมลแบบที่ 2 ไปให้คนอีก 50 คน พอเทสต์จนรู้ว่าอีเมลแบบไหนดีกว่าแล้ว จึงค่อยส่งอีเมลที่เหลือไปให้กับคนอีก 99,900 คน

วิธีการทำ A/B Testing ที่ดีนั้นควรจะเทสต์ทีละปัจจัย (เช่นเทสต์ชื่ออีเมล, เทสต์ชื่อผู้ส่ง หรือเทสต์เนื้อหา เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง) นอกจากนั้นแล้วการทำ A/B Testing ก็ควรจะทำตอนที่คุณมีผู้ติดตามผ่านอีเมลเยอะในจำนวนหนึ่งแล้ว

ถ้าอยากอ่านวิธีการทำ A/B Testing แบบละเอียด ลองเข้าไปดูบทความนี้ของ Zapier ดูครับ เขาเขียนได้ละเอียดดีจริงๆ

7. ส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ติดตาม

เทคนิคสุดท้ายเป็นเทคนิคที่ไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่ผมก็อยากจะพยายามเขียน พยายามย้ำ เหมือนอย่างที่เคยทำในทุกๆ บทความว่า การส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ติดตามคือสิ่งที่สำคัญที่สุด แคร์คนที่รับอีเมลให้มากหน่อย พยายามทำความเข้าใจว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร มากกว่าการที่ทำความเข้าใจตัวคุณเองว่าคุณอยากสื่อสารอะไร

ถ้าคุณเพียงเน้นสื่อสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อ คนที่รับอีเมลของคุณก็จะเปิดอีเมลของคุณกันน้อยลงเรื่อยๆ และท้ายที่สุดแล้วเขาก็อาจจะเลิกติดตาม (Unsubscribe) ไป หรือถ้าแย่กว่านั้นเขาอาจจะเก็บอีเมลของคุณลงใน Folder Spam

ถ้าคุณยังไม่เคยอ่านบทความของ Content Shifu เกี่ยวกับเรื่อง Inbound Marketing ลองเข้าไปอ่านดูได้ที่นี่นะครับ

สรุป

Email Marketing นั้นเป็นช่องทางที่คนหลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป แต่ถ้าใช้ให้ดี ใช้ให้เป็นแล้วมันมีประโยชน์มากๆ เพราะมันสามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่เครื่องมือยอดฮิตของคนไทยในยุคนี้อย่าง Facebook, Instagram หรือ LINE OA ทำไม่ได้

วิธีการใช้งานของ Email Marketing นั้นอาจจะต่างกับการใช้ Social Media หรือการทำการตลาดแบบอื่นๆ ในการทำโฆษณาอยู่ค่อนข้างมาก แต่หัวใจสำคัญแล้วก็ยังคงเหมือนกันนั่นก็คือการสร้าง และส่งมอบคุณค่าให้กับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่แค่ขายของเพียงอย่างเดียว

และสำหรับใครที่สนใจนำไปใช้ แนะนำให้อ่านต่อบทความ เจาะลึกฟีเจอร์และความสามารถของ Email Marketing Tools ครับ

ตาคุณแล้ว

คุณได้ลองผสานช่องทางที่เรียกว่า Email Marketing เข้าไปในแผนการตลาดของคุณรึยังครับ? ถ้าลองแล้ว ได้ผล ไม่ได้ผลยังไงบ้าง? หรือถ้ายัง ทำไมถึงยังไม่เคยใช้ครับ? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ 🙂