เริ่มต้นปี 2017 ได้ไม่กี่วัน ก็มีข่าวใหญ่ในวงการ Tech ออกมา นั่นคือข่าวที่ว่า Ookbee สตาร์ทอัพชื่อดังของไทย กับ Tencent ยักษ์ใหญ่จากจีน ร่วมกันทำบริษัทใหม่ เพื่อเจาะตลาด Content โดยเฉพาะ บริษัทที่ว่า มีชื่อว่า Ookbee U ซึ่งคุณหมูกล่าวว่า มีเป้าหมายเพื่อการสร้าง “Content Ecosystem” ขึ้นมา

อยากจะขอพูดคุยประเด็นนี้เพิ่มเติมนิดหน่อย ในฐานะคนสาย Tech และคนสาย Content คนนึง ความคิดเห็นจะผสมคละคลุ้งกันไปทั้งสองหมวก แต่คงจะพูดในหมวด Content มากกว่าหน่อย

เราเรียนรู้อะไรจากข่าวนี้

ในข่าวได้ระบุเอาไว้แล้วว่า แผนการหลักของ Ookbee U คือเน้นเรื่องการสร้าง UGC หรือ User-Generated Content ขึ้นมา

User-Generated Content แล้วยังไงต่อ

“คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นโดยคนทั่วไป” คือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกออนไลน์เรา มีปริมาณคอนเทนต์มหาศาล

แต่ว่าคุณเคยได้ยินนิทานอีสปเรื่อง “กิ่งไม้หนึงกำมือ” ไหมคะ นิทานนี้สอนเราว่า ถ้ากิ่งไม้อยู่เดี่ยวๆ มันจะไม่แข็งแรง เราจะหักมันได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าเรารวมกิ่งไม้ได้เยอะๆ ใช้เชือกมัดรวมมันเป็นกำ มันจะแข็งแรงมาก และเราก็หักมันไม่ไหว  “เมื่ออยู่เป็นกลุ่มจะมีพลังมากกว่า” User-Generated Content เอง ก็มีลักษณะเช่นนี้ค่ะ

Shifu แนะนำ
ยกตัวอย่างจริงก็คือ Pantip.com เว็บบอร์ดของไทย ที่สามารถรวม User-Generated Content ในมือได้มหาศาล โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีทีมคอนเทนต์มากมายหลายคน ทำให้แพลตฟอร์ม Pantip.com  โดยที่จริงๆ แล้ว Pantip ไม่ใช่กิ่งไม้ แต่ Pantip คือเชือกที่มัดไม้เหล่านั้นไว้ต่างหาก

และในส่วนของ Ookbee U เอง ที่ครอบคลุม 4 หมวดหลักๆ

1. การ์ตูน (Ookbee Comics)

2. เพลงและดนตรี (Fungjai)

3. ความคิดเห็น/ประสบการณ์ (Storylog)

4. งานเขียน/นิยายต่างๆ (ธัญวลัย/Fictionlog)

มีข้อสังเกตที่เห็นได้คือ เป็นแหล่งรวมผลงาน “คอนเทนต์เชิงความคิดสร้างสรรค์” เป็น Creativity-based ส่วน Pantip เป็น Fact-based คือมักจะเป็นคำถามและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริง

ทำไมข่าวนี้ถึงน่าสนใจ

วิเคราะห์แบบง่ายๆ คือคอนเทนต์บนโลกออนไลน์จะมีมากขึ้น เพราะมีระบบสนับสนุนต่างๆ ที่เอื้อให้คนทั่วไปหันมาทำคอนเทนต์เป็นงานอดิเรก และงานเสริมมากขึ้น มองเห็นช่องทางการหารายได้ชัดเจนขึ้น มีแพลตฟอร์มที่มีโฟกัสชัดเจน

Tencent เองก็เป็นเจ้าของ Sanook.com ซึ่งเป็น Online Portal ชั้นนำ รวมถึง Joox แพลตฟอร์มฟังเพลง และโปรดักส์คอนเทนต์อื่นๆ ที่กำลังจะตามมาในปีนี้ มองไปมองมา ความเป็น Lifestyle content นี่ก็ไม่ธรรมดา ตลาดใหญ่ไม่แพ้ E-commerce (ที่กำลังครองโดยยักษ์ใหญ่จากจีนอีกเจ้า)

ช่วงปีที่ผ่านมา มีข่าวในเชิงที่ว่า “จีนจะครองโลก” “จีนจะครองประเทศไทย” ออกมาเยอะมาก (จริงๆ เราเองก็มีส่วนเขียนเองด้วย แหะๆ) คงทำเอาหลายๆ คนรู้สึกหวาดหวั่น แต่ก็ต้องยอมรับส่วนนึงว่า “ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่เกิดเสียที” อยากจะสร้าง Big Thing ก็ต้องมีคนขับเคลื่อน มีเงินทุนหล่อเลี้ยง ดังนั้นเรื่องนี้เราถือว่าเป็นข่าวดีเรื่องนึง อย่างน้อยก็รู้สึกว่าวงการคอนเทนต์ในภาค UGC มีความรุดหน้าสูง

เคส Ookbee U ซึ่งเป็น Creativity-based มันก็เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่สร้างโดยคนที่มีความเป็นศิลปิน มันจึงมีคุณค่าในแบบของชิ้นงานศิลปะ นั่นเปิดโอกาสให้ User นั้นๆ สามารถหารายได้จากการทำคอนเทนต์ได้

ความฝันแรกในชีวิตของอรวี คืออยากเป็นนักเขียนการ์ตูน สมัยนู้นซักปี 2003 ได้ เรามีต้นฉบับของตัวเองเป็นครั้งแรก จะต้องทำยังไง ส่งสำนักพิมพ์ไหน เรายังไม่รู้เลย แต่อย่างน้อยวันนี้ก็มีพื้นที่ชัดๆ ออกมาแล้ว เด็กรุ่นใหม่ที่มีความฝันก็จะได้มีพื้นที่ทำผลงานของตัวเองให้โลกได้เห็นบ้างซักที : ) (ทุกวันนี้การ์ตูนของเราไม่รู้หายไปไหนแล้ว)

วิเคราะห์อีกฝั่งหนึ่งที่แม้ว่าจะยังไม่มีข่าว

ข่าวของ Ookbee U ช่วยให้เราเห็นความเคลื่อนไหวในวงการ UGC ของไทย ซึ่งถือเป็นวงการใหญ่ของคอนเทนต์วงการนึง แต่แน่นอนว่าวงการคอนเทนต์ก็ยังมีมุมอื่นด้วย

อีกฝั่งนึงนอกจาก UGC นั่นคือคอนเทนต์ที่ไม่ได้เกิดจาก User ทั่วไปสร้างขึ้น แต่เกิดจากคนในโลก Business สร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาเพื่อการทำ Content Marketing หรือ Inbound Marketing เพื่อประโยชน์ในระดับธุรกิจ ซึ่งต่างจาก UGC ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบุคคลนั้นๆ

เราเชื่อว่าปัจจุบันนี้ภาคธุรกิจได้เห็นความสำคัญของ Online content แล้ว แต่ปัญหาคือ หลายๆ ธุรกิจอาจจะยังสร้างไม่ได้ หรือสร้างได้ไม่ดีเท่าที่ควร

เราเชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่ขาดแคลนคนทำคอนเทนต์ คนรอบตัวก็บ่นๆ ว่าขาดกันทั้งนั้น ซึ่งเราว่าปัญหาคือหน้าที่การสร้างคอนเทนต์มันมักผูกติดอยู่กับคนไม่กี่คนในบริษัท นั่นคือคนในฝ่ายคอนเทนต์ซึ่งมักไม่เคยพอ หรือไม่ก็ไม่เคยมีฝ่ายคอนเทนต์ด้วยซ้ำ แต่ต้องยกให้เป็นหน้าที่คนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบอื่นๆ อยู่แล้ว มาทำคอนเทนต์ด้วย

บางทีเราควรมี UGC สำหรับบริษัท

สิ่งหนึ่งที่ข่าว UGC จุดประการให้กับเราก็คือ “บางทีเราควรมีการทำ UGC กันเองภายในบริษัท” ซึ่งแปลว่ามันควรเกิดจากหลายๆ คนในองค์กรร่วมมือกัน ไม่ได้ปล่อยให้คนเขียนคอนเทนต์เขียนอยู่คนเดียว

เราจะขอเรียกโมเดลแบบนี้ว่า “Employee-Generated Content” ตัวอย่างองค์กรที่เราเห็นวัฒนธรรมแบบนี้อย่างชัดเจนมากก็คือ moz.com ซึ่งบล็อกของเขา มีคอนเทนต์เยอะมาก อัปเดตสม่ำเสมอ คนเขียนก็ไม่ใช่ใคร เป็นพนักงานของบริษัท moz ทั้งนั้นเลย ถ้าได้เข้าไปดูโปรไฟล์คนเขียนแต่ละคน จะเห็นกับชื่อตำแหน่งอันแสนหลากหลาย ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ดูเหมือนว่าแทบทุกคนในบริษัทนี้จะมีส่วนร่วมในการเขียนบล็อกของบริษัท อย่างภาพด้านล่างนี้ก็คือตัวอย่างของพนักงานที่เป็น Support Engineer เขียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และเกี่ยวข้องกับงานของบริษัท

ถึงจะเรียกว่า Employee-Generated Content แต่จริงๆ แล้ว อย่างในเคส moz เอง คนที่เขียนบ่อยสุดก็คือคนที่เป็นผู้ก่อตั้งด้วยนะ (อย่าไปยึดติดกับคำว่า Employee เป็นคำเรียกเฉยๆ นะจ้ะ)

เป็น Practice ที่น่าสนใจที่ทุกบริษัทควรลองปรับใช้นะคะ ลองให้ฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดเริ่มต้นก่อนก็ได้ เช่น นักการตลาด ฝ่ายขาย ควรฝึกทำคอนเทนต์เองด้วย

เคยมีบล็อกเกอร์ท่านหนึ่ง คุณ KristaKotrla ได้มารีวิวถึงการใช้แนวคิด Inbound Marketing ในสร้าง Content Culture ในองค์กร รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้รับกลับมา

บางทีเราควรจะสร้างเชือกสำหรับกิ่งไม้ในบริษัท

ถ้าบริษัทของคุณยังไม่มีบล็อก บางทีคุณควรเริ่มคิดเรื่องการสร้างบล็อกของตัวเองตั้งแต่วันนี้ อย่างน้อยก็เป็นขั้นแรกในการสร้างเชือกมัดกิ่งไม้ในองค์กรตนเอง

แน่นอนว่าสำหรับการเป็นบริษัท การมัดคอนเทนต์รวมกันอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ การมี Distribution platform อย่างเดียวไม่พอ เพราะมีระบบขั้นตอนการทำธุรกิจมาเกี่ยวข้อง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงคิดว่า Inbound Marketing จะเป็นอีกเทรนด์นึงที่จะมาในปีนี้

ในอนาคตจะมีเชือกขนาดใหญ่ที่มัดหลายองค์กรเข้าด้วยกันหรือไม่? สำหรับโลก E-commerce เราได้เห็นแล้วว่ามันมี Marketplace อย่าง Lazada ที่มัดหลายคนเข้าด้วยกันอยู่ แต่ในมุมของการทำคอนเทนต์เพื่อ Branding องค์กร นั้น การเริ่มต้นสร้างฐานทัพจากภายใน เป็นเรื่องสำคัญที่เราน่าจะต้องคิดกันก่อนในตอนนี้

หากไม่แน่ใจว่าจะทำ “เชือก” สำหรับคอนเทนต์ในองค์กรยังไง พวกเรา Content Shifu กำลังดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ หากคุณสนใจฝากคอนแทคต์ไว้ก่อนได้นะคะ แล้วเราจะติดต่อกับคุณเพื่อพูดคุย และช่วยเหลือด้านคอนเทนต์กับคุณค่ะ

สนใจคุยกับ Content Shifu เรื่องการทำคอนเทนต์ให้บริษัท Pre-Register ที่นี่

หรือ สนใจคุยกับ Content Shifu เรื่องงานสายคอนเทนต์ Pre-Register ที่นี่