ถึงแม้จะมีคำกล่าวว่า “Don’t judge a book by its cover.” แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกหยิบหนังสือเล่มที่หน้าปกสวยถูกใจก่อนอยู่ดี เช่นเดียวกันกับงาน Online Content ที่ภาพประกอบเปรียบเหมือนปกหนังสือ ยิ่งถ้าเป็น Content บนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Instagram ที่ผู้บริโภคใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการตัดสินใจว่าจะ “คลิก” หรือ “เลื่อนผ่าน” ภาพประกอบก็เรียกได้ว่าแทบจะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จเลยทีเดียว ร้อยละ 99 ของงาน Content จึงจำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับงาน Artwork ชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ 

แต่ใช่ว่า Content Writer จะสามารถทำ Artwork กันได้ทุกคน (สำหรับท่านที่ทำได้ ก็ขอซูฮกด้วยใจมา ณ ที่นี้) ตัวผู้เขียนเองก็เป็น Content Writer คนหนึ่งที่ยังต้องพึ่งพา Graphic Designer หนุ่มหน้ามนโต๊ะข้างๆ อยู่ตลอด ข้อดีคือเรามั่นใจได้ว่างานของเรามี “มืออาชีพ” มาดูแลให้ แต่ข้อเสียที่ “เจ็บมาเยอะ” ก็คือ Artwork ที่ออกมาดันไปคนละทิศละทางกับ Content ที่วางไว้ซะนี่ ต้องกลับมาแก้แล้วแก้อีก แก้ยิบแก้ย่อยกันจนเพลียทั้งสองฝ่าย ก็อย่างว่าล่ะนะ…ใครจะมาเข้าใจ Content ของเราเท่าคนเขียนอย่างเราเอง

แต่ตราบใดที่ Content ยังต้องพึ่งพา Artwork อยู่ Content Writer ตัวน้อยอย่างเราก็ยังต้องพึ่งพา Graphic Designer อยู่ตราบนั้น คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหาทางทำงานร่วมกันด้วยสันติวิธี จากประสบการณ์คลุกคลีกับ Graphic Designer มาบ้าง วันนี้เลยจะมาแชร์เคล็ดลับง่ายๆ ในการบรีฟงานกราฟิก ว่าทำยังไงให้ได้ภาพดี ตีโจทย์แตก และเสร็จทัน Deadline ได้แบบไม่มีดราม่า

hbspt.cta.load(3944609, ‘e2677fe3-7cd0-4f7d-8e4d-5009934b9a98', {“useNewLoader”:”true”,”region”:”na1″});

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

11 เทคนิคบรีฟงานกราฟิก กับ Graphic Designer ให้ได้ภาพดีดังใจ

1. ต้องการอยากได้อะไร บรีฟงานกราฟิกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้!

อย่าคิดเอาเองว่า Graphic Designer จะต้องรู้ทุกอย่าง เราอยากได้แบบไหน มีข้อมูลอะไรบ้าง พยายามบรีฟงานกราฟิกกับ Designer ให้มากที่สุด เป็นต้นว่า

  • ลงสื่อไหน แบรนด์อะไร เมื่อไร
  • ใครคือกลุ่มเป้าหมาย
  • กลุ่มเป้าหมายมีรสนิยมยังไง
  • จุดประสงค์ของ Content คืออะไร
  • Key Message ของภาพคืออะไร

หรือหากมีตัวอย่างงานแนวที่อยากได้ ก็ควรขนมากองให้ Designer ได้ดูเยอะ ๆ จำไว้ว่ายิ่งเราบอกกับเขาละเอียดมากเท่าไร เขาก็ยิ่งทำงานได้ง่าย เร็ว และตรงโจทย์มากขึ้นเท่านั้น การบรีฟงานประเภทที่ส่งไปแต่ Copy แล้วปล่อยให้ Designer ไปจินตนาการมโนแจ่มเอาเองน่ะไม่เวิร์กอย่างแรง เชื่อเถอะ ผู้เขียนเคยมาแล้ว

2. บอกด้วยว่าแบบไหนที่ “ไม่อยากได้”

ไม่ใช่อธิบายแต่แบบที่เรา “อยากได้” เท่านั้น แต่แบบไหนที่ “ไม่อยากได้” ก็ต้องบอกให้ละเอียดเหมือนกัน ไม่เอาพื้นหลังขาว ไม่เอาฟ้อนต์ Angsana ไม่อยากได้แผนภูมิวงกลม ไม่เอาภาพการ์ตูน ไม่เอานางแบบหน้าฝรั่ง ฯลฯ ลองบรีฟงานกราฟิกไปขนาดนี้ รับรองว่าลดโอกาสความผิดพลาดไปได้เยอะ

3. อธิบายให้เป็นรูปธรรม

“พี่อยากได้แบบ Wow เลยอะค่ะ แบบว่าปัง ๆ”

“ขอสีชมพูแบบวันอังคารได้ไหมคะ”

“ขอสีเขียวแบบหรู ๆ นะคะ ไม่เอาเขียวบ้าน ๆ”

เป็นการบรีฟงานกราฟิกที่แย่มากๆ ขนาดเราอ่านเองยังงงแปดตลบ แล้วคนทำภาพจะเข้าใจไหม ถามใจเราดู ฉะนั้นก่อนจะบรีฟอะไร ลองหยุดถามตัวเองสักหนึ่งวิ ว่าถ้าเป็นตัวเราเอง ได้ฟังแบบนี้จะนึกภาพออกรึเปล่า ลองหาคำอธิบายที่จับต้องได้มากขึ้น เอาภาพตัวอย่างหรือชาร์ตสีมาโชว์ให้ดูกันจะ ๆ ไปเลย หรือจะเรียกเป็นสีแดงเฮลบลูบอย เขียวเนตรนารี น้ำตาลลาเต้ อะไรก็ว่ากันไป ขอให้ชัดเจนเข้าไว้ เข้าใจตรงกัน

4. วาดให้ดูเลย ไม่สวยช่างมัน

การอธิบายภาพในหัวให้คนอื่นเข้าใจโดยไม่มีภาพประกอบ ก็ยากพอ ๆ กับการโทรไปขอเพลงกับดีเจโดยที่ไม่รู้ทั้งชื่อเพลงทั้งเนื้อร้องนั่นแหละ ถ้าคุณมีไอเดียอยู่ในใจ อย่าอายที่จะหยิบดินสอแถว ๆ นั้นมาวาดบนกระดาษให้เขาดู ถึงจะเป็นแค่เส้นหงิก ๆ งอ ๆ หรือรูปมนุษย์ก้างปลา ก็ยังดีกว่าบรีฟงานกราฟิกโดยที่ไม่มีอะไรเลย

5. อยากได้งานดี ควรให้ Deadline ที่สมเหตุสมผล

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในคืนเดียวฉันใด Artwork สวยล้ำระดับคานส์อวอร์ดก็ไม่อาจปั่นเสร็จได้ในคืนเดียวฉันท์นั้น หากคุณอยากได้งานที่ดี ก็ควรบรีฟงานกราฟิกโดยเผื่อเวลาให้ Designer ได้ปล่อยพลังให้เต็มที่ “งานดี” หรือ “งานรีบ” บางทีเราก็จำต้องเลือก ถ้าไม่อยากเลือกก็ต้องจ้าง Designer ที่เก่งกว่าในราคาที่แพงขึ้นเท่านั้น ไหวไหมล่ะ?

6. บรีฟงานกราฟิกเสร็จแล้วอย่าหายไป ควร Stand by ติดต่อได้ตลอดเวลา

ในช่วงแรก ๆ ที่เขียน Content ผู้เขียนเคยเข้าใจว่าการทำงานกับ Graphic Designer นั้นเหมือนการต้มบะหมี่สำเร็จรูป แค่ฉีกซอง ใส่เครื่องปรุง ใส่น้ำร้อน แล้วรอสามนาทีก็ออกมาเป็นบะหมี่พร้อมทาน การทำงานกับ Designer ไม่ใช่แค่การบรีฟงานกราฟิกจบแล้วรอเฉย ๆ จนออกมาเป็นภาพสวยปิ๊งพร้อมใช้ แต่ต้อง Stand by พร้อมตอบคำถามและช่วย Designer แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วย เช่น

  • หาภาพ Source ไม่ได้ เปลี่ยนเป็นแนวอื่นได้ไหม ใช้ภาพวาดได้ไหม
  • หาฟ้อนต์ที่สั่งไว้ไม่เจอ เปลี่ยนเป็นฟ้อนต์อื่นได้ไหม
  • ส่งโลโก้มาผิดอัน ช่วยส่งมาใหม่ให้หน่อย
  • Copy ที่ให้มายาวเกินไป ช่วยตัดให้หน่อย

7. ตามดูงานแต่เนิ่น ๆ จำไว้ว่ายิ่งใกล้เสร็จยิ่งแก้ยาก

หลายครั้งที่ภาพออกมาไม่ถูกใจ แต่ผู้เขียนก็น้ำท่วมปากพูดไม่ได้ เพราะงานมันมาไกลจนใกล้เสร็จเต็มที จะบอกให้แก้ทีก็งานใหญ่ ทั้งเกรงใจทั้งเสียเวลา ก็ได้แต่เขกหัวตัวเองที่ไม่ได้ติดตามดูตั้งแต่ทีแรกตอนที่ยังแก้ได้ง่ายๆ บอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า หากไม่ได้เชื่อมั่นในตัว Designer อย่างสุดจิตสุดใจแล้วล่ะก็ ควรตรวจดูงานตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเร็วยิ่งดี

8. ติเพื่อก่อ บ่นอย่างเดียวไม่ช่วยอะไร

บางครั้งคนทำภาพทุ่มเทสุดฝีมือ แต่พอส่งงานไปกลับได้คำตอบกลับมาแค่ “ไม่ชอบ ไปแก้มาใหม่” โดยไม่ได้ขยายความเลยว่าไม่ชอบอะไรตรงไหน ถึงอยากแก้ก็ไม่รู้จะแก้ยังไงดี การให้ Feedback แบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้งานดีขึ้น ยังเป็นการตัดกำลังใจกันอย่างแรงด้วย หากเราไม่ชอบงาน ก็ควรอธิบายให้ชัดว่าปัญหาคืออะไร เช่น สี ภาพ ฟ้อนต์ หรือเลย์เอ้าท์ ตรงไหนที่โอเคแล้ว ตรงไหนที่ไม่โอเค อยากให้เปลี่ยนไปทางไหน เอาให้เคลียร์กันไปเลย

9. งงตรงไหน ถามได้ไม่ต้องเขิน

เวลาทำงานกับ Graphic Designer เรามักได้ยินศัพท์แปลกๆ หลุดมา เช่น Kerning, Contrast, Saturation, Vector, Bitmap, Render ฯลฯ ที่คนทั่วไปอย่างเราๆ ฟังแล้วจะว่าเข้าใจก็ไม่ใช่ จะงงก็ไม่เชิง คล้าย ๆ ว่าจะเดาได้ว่าหมายถึงอะไร แต่ก็ไม่แน่ใจพอที่จะเอามาพูดเอง เวลาอย่างนี้อย่ามัวเก็บไว้ในใจ อะไรเป็นอะไร ถาม Designer ให้ชัดไปเลยดีกว่า จำไว้ว่ายิ่งเรารู้เยอะ งานยิ่งดี บรีฟงานกราฟิกได้ตรงมากขึ้น งานต่อๆ ไปก็ยิ่งง่าย ดีกับทุกฝ่ายแน่นอน

10. รับฟังเหตุผลของ Designer บ้าง

ถึงจะจั่วหัวไว้ว่านี่คือวิธีสื่อสารให้ได้ภาพตามที่เราต้องการ แต่บางครั้งการที่ภาพออกมาผิดจากที่เราบรีฟงานกราฟิกไว้ ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องแย่กว่าเสมอไป ก่อนจะหัวเสียลองถามเขาดูสักนิด ว่าทำไมถึงได้เลือกทำออกมาแบบนั้น ด้วยประสบการณ์และความรู้ที่มี เขาอาจมีเหตุผลที่ดีพอ หรืออาจมีไอเดียที่ทำให้ภาพสวยขึ้น สื่อสารได้ดีขึ้นก็ได้ ลองเชื่อมือพวกเขาดูสักตั้งเถอะ

11. ญาติดีกับ Designer เอาไว้ อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

ไม่แน่ใจว่ามีแต่ผู้เขียนคนเดียวรึเปล่า ที่โดน Graphic Designer “งอน” ใส่อยู่เป็นกิจวัตร อันที่จริงก็ไม่แปลก คอมเมนต์หนักเข้า แก้งานบ่อยเข้า เราก็คงไม่น่ารักน่าเอ็นดูเท่าไรในสายตา Designer อย่ากระนั้นเลย ไหนๆ ก็ลงเรือลำเดียวกันแล้ว อย่าลืมเติมกำลังใจให้กันบ้าง ตรงไหนที่เราชอบก็ชมให้มากๆ ปั่นงานดึกก็มีขนมติดไม้ติดมือมาฝากกันบ่อยๆ แค่นี้ก็อยู่ทีมเดียวกันไปได้อีกนาน

Bonus Game!

มาสวมวิญญาณ Graphic Designer กันดูสักตั้ง

กติกาก็ง่ายกว่าปอกทุเรียนเข้าปาก แค่อ่านบรีฟต่อไปนี้ตั้งแต่ Level 1-10 แล้วค่อย ๆ จินตนาการภาพตามไปทีละข้อ ตอนจบจะมีภาพเฉลยให้ว่าภาพที่โจทย์ต้องการจริง ๆ เป็นยังไง มาดูกันว่าใครจะมีแววเป็นสุดยอด Graphic Designer นักทายใจที่วาดภาพ (ในหัว) ออกมาได้ตรงโจทย์ที่สุด พร้อมแล้วก็เริ่มเลย!

Level 1: 

Copy ในภาพคือ “Debt is the worst poverty.” ช่วยคิดภาพที่สื่อข้อความนี้ให้หน่อยค่ะ จะเอาไปลงเว็บ

Level 2:  

รูปจะเอาไปประกอบบทความค่ะ เป็นบทความหัวข้อ “อุทาหรณ์มนุษย์เงินเดือน! ชีวิตพังเพราะหนี้ท่วมหัว”

Level 3:  

ขอตัวหนังสือใหญ่ ๆ เด่น ๆ หน่อยนะคะ เวลาแชร์ลง Facebook รูปขึ้นมาจะได้อ่าน Text ออกด้วย

Level 4:  

ลืมบอกไปค่ะ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของบทความนี้คือกลุ่มมนุษย์เงินเดือน คนทำงาน คนกรุงเทพฯ ประมาณคนเจนวาย ฉะนั้นในภาพก็ขอนายแบบหนุ่ม สไตล์หนุ่มออฟฟิศที่กำลังเครียดกับปัญหาหนี้สิน

Level 5:  

อีกนิดนึง ไม่เอานายแบบหน้าฝรั่งนะคะ ขอแบบเอเชียเลย คนไทยจะได้อิน

Level 6:  

ตัว Copy ขอฟ้อนต์เรียบ ๆ แต่จริงจัง หนักแน่น ไม่เอาแบบลายมือ หรือพวกลายโค้งลายตวัดนะคะ

Level 7:  

ถ้าเป็นรูปหนุ่มออฟฟิศกำลังนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานดีไหมคะ ประมาณว่าโดนทั้งงานทั้งหนี้สินรุมเร้า น่าจะเข้ากับชีวิตคนทำงานดี

Level 8:  

อืม…พี่ก็ชอบนะ แต่อยากให้มันดู “ชีวิตลำเค็ญ” กว่านี้อีกนิดอะค่ะ ขอแบบหนี้สินทับหัวเลยได้ไหมคะ เป็นรูประเบิดเลยดีไหม ประมาณว่านับถอยหลัง ก่อนชีวิตจะพังเพราะหนี้ อะไรงี้อะค่ะ

Level 9:  

งงตรงไหนคะ? พี่อธิบายขนาดนี้แล้วนะ ขอกระดาษกับดินสอหน่อยค่ะ เดี๋ยววาดให้ดู

Draft for Graphic Designer

Level 10:

ใช่เลย แบบนี้ล่ะค่ะ แต่ขออีกนี้ดดดนึง ฉากหลังไม่ค่อยโดน ขอหม่นหมองกว่านี้ค่ะ มืด ๆ ดำ ๆ ให้รู้สึกมือแปดด้าน อับจนหนทาง อะไรยังงี้ได้ไหมคะ นะ ๆ แก้ให้พี่หน่อย

เสร็จรึยัง? ถ้าเสร็จแล้วก็เลื่อนลงไปดูเฉลยได้เลย!

debt

ให้คะแนนตัวเองเท่าไรกันบ้าง? หรือใคร Design ได้สวยกว่าโจทย์บ้างรึเปล่า? จะเห็นได้ว่าพอมีบรีฟใหม่เข้ามา รูปที่เราจินตนาการไว้ก็มีอันต้องแก้ทุกที แต่ยิ่งละเอียดก็ยิ่งเข้าใกล้โจทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วลองนึกว่าถ้าคนทำภาพต้องมาเจอ “บรีฟห่วย” (เช่นบอกมาแต่ Level 1-2) ภาพจะออกมาไม่ถูกใจคนบรีฟก็ไม่แปลกนะ

สรุป

สำหรับตัวผู้เขียนเอง การทำงานกับ Graphic Designer ไม่ใช่การ “สั่งงาน” เพราะเราไม่ใช่หัวหน้ากับลูกน้อง แต่เป็นพี่น้องร่วมทีมเดียวกัน ขาดใครไปไม่ได้สักคน ติดขัดตรงไหนก็ค่อย ๆ ปรับจูนเข้าหากันไป ขอแค่รู้ว่าเรายังมีจุดหมายร่วมกันอยู่ คือเสิร์ฟ Content ดีมีคุณภาพให้ถึงมือผู้บริโภคนั่นเอง

ลองอ่านเทคนิคการทำงานเป็นทีมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณทำงานร่วมกับทีมอย่างมีความสุข 5 เทคนิคแท็คทีมทำงานให้บรรลุเป้าหมาย, เครื่องมือ Remote Team ทำงานออนไลน์ร่วมกันง่ายและผ่อนคลาย, Slack โปรแกรมคุยงานสุด Productive

ตาคุณแล้ว

พร้อมรึยังที่จะกอดคอกันทำงาน Graphic Designer อย่างสมานฉันท์ หรือถ้าคุณเป็น Graphic Designer คนนั้นที่แอบอ่านอยู่ ผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้เราเข้าใจกันมากขึ้น หากใครมีประสบการณ์สุดตราตรึงหรือเทคนิคอื่นเจ๋ง ๆ ก็เอามาแชร์กันในคอมเมนต์ได้เลย!