คุณอยากไลฟ์สดเอง แต่คิดไม่ออกว่าจะพูดอะไรหรือจะเริ่มต้นยังไงดีอยู่หรือเปล่าคะ?

ก่อนที่เราจะฝึกไลฟ์สดก็เคยคิดว่าขั้นตอนยุ่งยากเหลือเกิน แต่พอได้ลองทำก็ค้นพบว่า โอ้โห! การไลฟ์สดไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด ใครที่กลัวว่าไลฟ์แล้วจะดูไม่เป็นมืออาชีพหรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นไลฟ์ยังไง

วันนี้เราจะมาแนะนำขั้นตอนการไลฟ์สดแบบง่ายที่สุดในสามโลก สำหรับนักไลฟ์สดมือใหม่ที่ต้องการไลฟ์ให้ดูดีแบบมืออาชีพ รับรองว่าคุณอ่านบทความนี้จบแล้วจะต้องไลฟ์สดได้ เพราะขั้นตอนไม่ยากอย่างที่คิดแน่นอนค่ะ

ในบทความนี้ เราขอแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ นะคะ

  • การวางแผนคอนเทนต์ 
  • การเลือกอุปกรณ์ 
  • การเลือกแพลตฟอร์มสำหรับไลฟ์สด

เริ่มที่ขั้นตอนแรกกันเลยค่ะ

ไลฟ์สดให้ดี เริ่มต้นที่การวางแผนคอนเทนต์

ขั้นตอนแรกนี้เป็นขั้นตอนที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญมากที่สุดในการไลฟ์สดเลยค่ะ เพราะว่าเนื้อหาจะกำหนดว่าไลฟ์ของเราควรมีหน้าตา รูป รส กลิ่น เสียงออกมาเป็นยังไงบ้าง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น รายการเล่าเรื่องผีจัดแสงสว่างจ้า คงจะดูไม่น่ากลัว, รายการทำอาการที่ใช้แสงสีฟ้าทำให้อาหารดูไม่น่ากิน, รายการชวนคุยเรื่องวิชาการ แต่ใส่ชุดนอนคงดูไม่น่าเชื่อถือ 

เราควรจะตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเราจะไลฟ์สดเพื่ออะไร กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร และอยากให้กลุ่มเป้าหมายของเราทำอะไรหลังจากรับชมไลฟ์สดของเรา (Call to action) เพื่อเตรียมตั้งแต่เสื้อผ้า หน้า ผม สถานที่ และอุปกรณ์ให้พร้อม 

ถ้าคุณอยากไลฟ์สด แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องอะไร เราขอเสนอวิธีการคิดคอนเทนต์ ด้วยการไล่เป็น step ง่ายๆ แบบนี้ค่ะ

  • Categories หากคิดอะไรไม่ออกอาจจะเริ่มจากคิดว่าอยากจะทำไลฟ์แนวไหน เช่น ให้ความรู้ (Educational / How-to) หรือ ให้ความบันเทิง (Entertainment) ฯลฯ
  • Activities ต่อด้วย คิดกิจกรรมเรื่องคอนเทนต์ว่าจะทำอะไรเพื่อให้ความรู้/ความบันเทิงตาม Category ที่เราวางไว้
  • Details ทีนี้เรามีกรอบแล้วว่าจะทำอะไร เราก็มาลงรายละเอียดกันค่ะ
  • Steps ขั้นต่อมาเพื่อให้ไลฟ์ของเราไม่สะเปะสะปะ เราควรที่จะแตกขั้นตอนในการไลฟ์สดให้ละเอียด เพื่อเป็นการทบทวนขั้นตอนในการไลฟ์ด้วย ว่ามันน่าสนุกหรือขาดอะไรหรือเปล่า (ถ้าไลฟ์แล้วพลาด อาจโป๊ะได้นะคะ)

แนะนำอุปกรณ์ไลฟ์สดง่ายๆ และใช้งานอย่างมืออาชีพ

ขั้นตอนที่สองคือการเลือกอุปกรณ์ค่ะ อุปกรณ์ที่ใช้ในการไลฟ์สดไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เราสามารถเริ่มต้นจากอุปกรณ์ที่ทุกคนมีติดตัวอยู่แล้วอย่างโทรศัพท์มือถือ หากต้องการคุณภาพหรือความคมชัดมากขึ้น ก็สามารถติดตั้งอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมในภายหลังได้ 

โทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือ (ที่มีกล้องในตัว) เป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนพกพาติดตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว เราสามารถหยิบขึ้นมาจากกระเป๋ากางเกง จากนั้นเข้าแอพที่เราต้องการจะไลฟ์สด ต่อด้วยการตั้งค่าความละเอียดของกล้องและเสียง (หรือบางแอปไม่จำเป็นต้องตั้งค่าอะไรเลย) แล้วก็กดปุ่ม ‘Live’ เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยค่ะ

Shifu แนะนำ
หากคุณต้องการไลฟ์สดให้มีความเสถียร ไม่สะดุด พร้อมกับภาพที่คมชัดมากที่สุด เพื่อบันทึกวิดีโอพร้อมกันไปด้วย จำเป็นต้องแลกมากับพื้นที่จัดเก็บและอินเตอร์เน็ตที่มีความแรงมากพอด้วย โดยความเร็วอินเตอร์เน็ตที่เหมาะสมสำหรับการไลฟ์ ตามบทความของ Appdisqus แนะนำว่าควรอยู่ที่ 4-6 Mbps แต่ถ้าใครยังอ่านค่าความเร็วไม่เป็นแบบเรา ลองศึกษาจากบทความเกี่ยวกับการเช็คความเร็วเน็ตได้เลยค่ะ

คอมพิวเตอร์

การไลฟ์สดผ่านคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำได้ง่ายมาก เช่นเดียวกับการไลฟ์ผ่านทางโทรศัพท์ เพราะในคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในแบบ Labtop มีทั้งกล้องและไมโครโฟนในตัวอยู่แล้ว 

ข้อดีคือเราสามารถต่ออุปกรณ์เสริมและใช้ซอฟต์แวร์ช่วยเสริมให้ Live สดมีความคมชัดและสมบูรณ์แบบมากขึ้นได้ด้วย

กล้อง

กล้องที่หาง่ายที่สุดคือกล้องที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ของเราอยู่แล้ว เช่น กล้องจากโทรศัพท์มือถือ หรือ Labtop โดยสามารถตั้งค่าความละเอียดได้ตามที่ต้องการ

หากต้องการภาพที่มีความคมชัดและความละเอียดที่มากขึ้น คุณสามารถหยิบกล้อง Mirrorless , กล้อง DSLR หรือ Webcam มาต่อกับโปรแกรมไลฟ์สดที่เราจะแนะนำในลำดับต่อไป

ไมโครโฟน 

ไมโครโฟนที่หาง่ายที่สุดก็คือไมโครโฟนที่ติดมาพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ อยู่แล้วเช่นเดียวกัน แต่คุณภาพเสียงอาจจะไม่คมชัดเท่าการใช้ไมโครโฟนเข้ามาช่วยเสริม 

ถ้าต้องการให้เสียงชัดขึ้น อาจจะเริ่มจากไมโครโฟนจากหูฟังที่คุณใช้ดูหนังทุกวันนี้ก่อนก็ได้ค่ะ จากนั้นถ้าต้องการความละเอียดในการถ่ายทำมากขึ้น ค่อยซื้อไมโครโฟนแยกต่างหากออกหาเสริมทีหลัง 

โปรแกรม Live Streaming

ซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้การไลฟ์สดมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งโปรแกรมที่เราจะแนะนำวันนี้เป็นโปรแกรมที่คุณสามารถดาวน์โหลดฟรีจากอินเตอร์เน็ตได้เลย แล้วทั้งสองโปรแกรมนี้ก็เป็นโปรแกรมที่เค้กเคยใช้สำหรับการไลฟ์สดในระหว่างฝึกงานในสถานีโทรทัศน์จริงๆ ด้วยค่ะ

1.OBS (Open Broadcaster Software)

โปรแกรมแรกคือ OBS (Open Broadcaster Software) เป็นโปรแกรม live streaming และบันทึกวีดิโอ เหมาะกับคนที่ต้องการไลฟ์ ควบคู่กับการใช้งานโปรแกรมที่ใช้ CPU หนัก เช่น การแคสเกมส์ เป็นต้น 

OBS มีข้อดีคือสามารถตั้งค่าความละเอียดทั้งภาพและเสียงก่อนไลฟ์สดได้ รวมถึงสามารถดาวน์โหลดฟรีจากอินเตอร์เน็ตได้ทั่วไป และในขณะที่เรากำลังไลฟ์อยู่ก็จะมีค่าการใช้งาน CPU บอกอยู่ที่มุมขวาล่างด้วยค่ะ

OBS โปรแกรม ไลฟ์สด

2.Wirecast

โปรแกรมถัดมาที่เราอยากแนะนำคือ Wirecast อีกหนึ่งโปรแกรม Live streaming และบันทึกวีดิโอที่ใช้ง่ายเช่นกัน ส่วนตัวเรารู้สึกว่าโปรแกรมนี้ใช้งานง่ายเหมาะสำหรับมือใหม่มากกว่า เนื่องจากมีการตั้งค่าภาพและเสียงสำหรับการ Live สดมาให้แล้ว (ต่างจาก OBS ที่ต้องตั้งค่าในส่วนนี้เอง) 

Wirecast เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้งานหลายกล้องพร้อมกัน เพราะว่าหน้าจอจะแสดงภาพ Preview ให้ตลอดเวลา เพียงแค่คลิกก็เปลี่ยนภาพได้เลย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายมีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน ลองเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานดูนะคะ 

Wirecast โปรแกรม ไลฟ์สด

เลือกช่องทางสำหรับไลฟ์สด

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วค่ะทุกคน นั่นคือการเลือกช่องทางสำหรับไลฟ์สดนั่นเอง (เย่!) ช่องทางการ Live สดยุคนี้ไม่ได้มีเฉพาะ Facebook Live และ Youtube Live เท่านั้น แต่เรายังสามารถไลฟ์สดผ่านทางแอพอื่นๆได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Instagram Live, Zoom หรือ Google Hangouts Meet ที่เราเริ่มคุ้นตากันมากขึ้น

คุณเบนซ์เคยพูดถึงเรื่องช่องการไลฟ์สดไว้ว่าแต่ละช่องทางมีการอัปเกรดตัวเองให้โหลดไลฟ์แล้ว แต่ละช่องทางก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของเรา

เพราะฉะนั้น ส่วนวิธีการเลือกช่องทางไลฟ์สดนั้น เราควรเลือกจากช่องทางที่เรามีผู้ติดตามมากและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น เรามีฐาน Follower ใน Facebook อยู่แล้ว อาจจะใช้ Facebook live ในการเข้าถึงผู้ติดตามที่มากขึ้น, อยากประชุมที่มีความเป็นทางการมากขึ้น Zoom หรือ Google Hangouts Meet ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจค่ะ 

ในวันนี้เราจะขอยกตัวอย่าง 2 ช่องทางยอดฮิตที่มือใหม่สามารถทำตามได้ง่ายที่สุด นั่นก็คือ Facebook Live และ Youtube Live นั่นเอง 

Facebook Live

Facebook เป็นแอปที่ทุกคนเข้าเป็นประจำ เพื่อติดตามสถานการณ์ พูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์อยู่แล้ว เท่ากับว่าเรามีเพื่อนและผู้ติดตามมากกว่า โอกาสที่จะมีคนเลื่อน Feed มาเจอ Facebook Live ของเราก็มีมากขึ้น 

นอกจากนี้ เรายังสามารถปักหมุด Live สดของเราขึ้นมาเป็นโพสต์แรก และสร้าง Watch Party ชวนเพื่อนๆมาดูพร้อมกันได้อีกด้วย

ตัวอย่าง Facebook Live 1

ตัวอย่าง Facebook Live 2

Youtube Live

ในฝั่งของ Youtube Live ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ข้อดีที่น่าสนใจกว่า Facebook Live อย่างหนึ่งคือผู้ชมที่ติดตามย้อนหลังสามารถเลือกค่าความละเอียดของวีดิโอได้ ไม่ต่างจากการดูวีดิโอใน Youtube ทั่วไปเลย ส่วนข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือคุณต้องมี 1,000 subscribers ก่อน จึงจะสามารถ Live บนมือถือได้  

Shifu แนะนำ
ไม่ว่าจะเลือกช่องทางไหน หากนำเพลงหรือภาพจากข้างนอกมาประกอบ ให้ระวังเรื่องลิขสิทธิ์ด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกบล็อกไม่ให้ Live ได้ (เพราะเราเคยเจอในระหว่างฝึกงานมาแล้วค่ะ :P) อาจจะลองดาวน์โหลดจากแหล่งโหลดไฟล์เสียงฟรี เพื่อนำไปใช้งานได้เลยค่ะ

ตัวอย่าง YouTube Live 1

ตัวอย่าง YouTube Live 2

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณกำลังมองหาเครื่องมือที่จะช่วยในการทำ Livestreaming ไปหลายๆ ที่พร้อมกัน Restream คือหนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจ

Tips & Tricks! ไลฟ์สดอย่างไรให้ดูเป็นมืออาชีพ ดูโปรสุดๆ 

เตรียมฉากให้สวยงาม

ฉากเป็นหนึ่งในภาพแรกที่ผู้ชมจะได้เห็น เชื่อไหมคะว่าเพียงแว๊บเดียวผู้ชมก็ตัดสินและควาดหวังคอนเท้นต์ของเราผ่านฉากแล้ว ฉากที่ดีจึงเป็นฉากที่เหมาพสมกับเนื้อเรื่องที่จะเล่า ดูไม่รก และไม่มีอะไรดึงดูดสายตาไปตากตัวเราหรือสิ่งที่เราต้องการเน้น

เปิดไฟให้สว่าง

คุณรู้สึกไหมคะว่าไลฟ์ที่มืดทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดอยู่หลายครั้งทีเดียว ตอนนี้คุณคงอยากจะเดินไปเปิดไฟให้ห้องสว่างขึ้นแล้ว พยายามเปิดไฟให้สว่าง แล้วหาทิศทางที่แสงจะฉายมาบนหน้าของเราชัดๆ 

ถ้าไฟไม่พอลองใช้ไฟโทรศัพท์หรือโคมไฟอันใหญ่ ๆ มาช่วยให้สว่างขึ้น หรือถ้าถ่ายตอนกลางวันลองถ่ายข้างหน้าต่าง ใช้แสงธรรมชาติช่วย จะทำให้ภาพละมุนมากและดูเป็นธรรมชาติขึ้นด้วยค่ะ

เสื้อผ้าหน้าผมพร้อมหรือยัง?

ก่อนจะกดปุ่ม Live ลองดูว่าเสื้อผ้าของเราเหมาะสมกับเรื่องที่จะเล่าไหม ผมของเรายุ่งเหยิงชี้ไปทางโน้นที ทางนี้ทีอยู่หรือเปล่า หน้าตาของเรามีความมันจนสะท้อนแสงในกล้องไหม แว่นตายังเต็มไปด้วยคราบต่างๆอยู่หรือเปล่า ถ้ามั่นใจว่าดูดีแล้วก็อย่ารอช้า…กดปุ่ม live ได้เลยค่ะ

สรุป

การไลฟ์สดไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ แค่เราหยิบโทรศัพท์มือถือออกมาจากกระเป๋ากางเกงก็สามารถเริ่มต้น live สดได้แล้ว หากต้องการความมืออาชีพในการ live มากขึ้น สามารถหาอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมได้อีกด้วย ยิ่งมีอุปกรณ์มากก็ยิ่งช่วยให้ความละเอียดของภาพและความคมชัดของเสียงดีขึ้นด้วยค่ะ

ทบทวนขั้นตอนการไลฟ์สดแบบมืออาชีพและไปเริ่มไลฟ์กันเลยค่ะ

1.วางแผนคอนเทนต์ให้ชัดเจน

2.เตรียมอุปกรณ์การถ่ายทำให้พร้อม

3.เลือกช่องทางการไลฟ์สด

4.ตรวจสอบความเรียบร้อยของภาพ เสียง และตัวเราเอง

ตาคุณแล้ว

อย่ารอช้า…หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาลอง Live ดูสิคะ เพราะการลงมือทำจะช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการมากขึ้นเยอะเลยค่ะ ถ้าคุณยังรู้สึกเขินอยู่ อยากลองซ้อม Live สด ใน Facebook ตอนนี้ก็มี feature ใหม่ให้ลองไลฟ์สดได้ด้วยค่ะ