หลายคนที่ทำคอนเทนต์หรือกำลังเสพคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียในตอนนี้ น่าจะสังเกตว่าคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่การทำ Artwork หรือการทำรูปภาพที่ใส่ข้อความลงไปเพียงอย่างเดียวแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นบน Facebook Page, Instagram, Twitter รวมถึงบนเว็บไซต์ มีการทำคอนเทนต์ที่เป็นรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวทั้งที่เป็น Motion Graphic หรือคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอกันมากขึ้น เนื่องจากได้ผลลัพธ์ที่ดึงดูดผู้เข้าชมได้ดี และมีโอกาสที่เกิดการแชร์ต่อกันบนโซเชียลได้มากกว่า

รู้ไหมครับว่าทำไมคอนเทนต์แบบวิดีโอถึงดึงดูดให้คนสนใจมากกว่า?

นั่นเป็นเพราะว่าคอนเทนต์วิดีโอเป็นสื่อที่ย่อยง่ายนั่นเองครับ เรามักจะพบว่าคอนเทนต์รูปแบบที่เป็นบทความหรือภาพกราฟิกต้องใช้เวลาอ่านและทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

แต่สำหรับคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ จะถูกทำให้เข้าใจง่ายที่สุดผ่านการคิดและกระบวนการถ่ายทำ ตัดต่อ ผู้ชมที่เข้ามาดูสามารถทำความเข้าใจได้เลยโดยที่ไม่ต้องอ่านอะไร เพียงแค่รับชมและฟังเสียงจากในวิดีโอ ก็เข้าใจแล้วว่าวิดีโอนี้ต้องการสื่อสารอะไร

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ คอนเทนต์ประเภทวิดีโอยังสามารถใส่ความบันเทิง ให้สามารถดึงดูดคนจำนวนมากเข้ามารับชมได้ ซึ่งหากเกิดการพูดถึงหรือแชร์ต่อจำนวนมากคอนเทนต์วิดีของคุณสามารถกลายเป็นไวรอล (Viral) ได้เลย

Shifu แนะนำ
วิดีโอไวรอล (Viral) เป็นคอนเทนต์วิดีโอถูกแชร์ต่อและถูกพูดถึงในวงกว้างอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ทำให้ได้ยอด View หรือยอด Engagement มีปริมาณมหาศาลซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจของคุณที่กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง

เคล็ดลับที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการทำวิดีโอคอนเทนต์ให้สำเร็จ

สังเกตได้จากการที่มี Youtuber เกิดขึ้นมา มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก หรือ Fanpage ที่เกี่ยวข้องกับด้าน อาหาร สุขภาพ ท่องเที่ยว การตลาด การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ก็ยังมีการทำคอนเทนต์ประเภทวิดีโอกันมากขึ้น มีคนสนใจที่จะแชร์ต่อ และติดตามกันเป็นจำนวนมาก

สิ่งสำคัญที่ทำให้วิดีโอเหล่านั้นประสบความสำเร็จได้คือเรื่องของการทำคอนเทนต์ ที่ตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การคิดคอนเทนต์ให้เข้าใจง่าย ถูกถ่ายทำสวยงามด้วยมุมกล้องที่หลากหลาย หลังจากนั้นก็นำไปตัดต่อ แล้วสุดท้ายโหลดไฟล์เสียงประกอบใส่ลงไป จะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้วิดีโอนั้นมากยิ่งขึ้น

ในบทความนี้ผมได้รวมแหล่งดาวน์โหลดไฟล์เสียง เอามาให้สำหรับคนที่กำลังทำคอนเทนต์วิดีโออยู่ได้มีตัวเลือกในการหาเสียงเพลงประกอบในงานวิดีโอมากขึ้น ซึ่งมีทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงินแต่คุ้มค่าแน่นอน โดยก่อนที่คุณจะดาวน์โหลดไฟล์เสียงแบบฟรีไปใช้ มาทำความรู้จักกับเรื่องข้อจำกัดและเรื่องลิขสิทธิ์กันก่อนนะครับ

ก่อนโหลดไฟล์เสียงฟรี มีข้อควรรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์เสียงบนเว็บไซต์ที่ต้องทำความเข้าใจก่อน

บนเว็บไซต์ที่เปิดให้เข้าไปโหลดไฟล์เสียงเพื่อใช้งานฟรี จะมีสัญลักษณ์บ่งบอกข้อจำกัดการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งได้รับการคุ้มครองจาก Creative Commons ที่ช่วยปกป้องลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ผลงาน

cc-เครื่องมือลิขสิทธ์สำหรับดาวน์โหลดไฟล์เสียง

โดยในเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะระบุข้อจำกัดของการนำไปใช้งาน (License) ซึ่งตามที่แสดงทั่วไปจะมี 5 ข้อที่พบได้บ่อยดังนี้

  1. CC0 : นำไปใช้งานได้ฟรี โดยสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประกอบวิดีโอ, รีมิกซ์, แชร์ต่อ โดยที่คุณไม่ต้องให้เครดิตแก่เจ้าของผลงาน
  2. CC-BY : การนำไปใช้งานต้องระบุแหล่งที่มา ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้ได้กับวิดีโอทุกรูปแบบ โดยที่คุณต้องใส่ลิงก์ต้นทางเพื่อเป็นเครดิตในคำอธิบายของวิดีโอด้วย
  3. CC-BY-SA : ข้อจำกัดการใช้งานนี้จะคล้ายกับข้อบน ที่คุณต้องใส่เครดิตและตามข้อกำหนดอื่นๆ นอกเหนือจากการให้เครดิตที่ต้องทำตามด้วย
  4. CC-BY-NC : ห้ามใช้ในวิดีโอเชิงพาณิชย์ หรือวิดีโอที่ใช้เพื่อการสร้างรายได้อื่นๆ ถ้ายังไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของผลงาน
  5. CC-BY-ND : ห้ามดัดแปลง โดยห้ามนำไปทำการรีมิกซ์หรือดัดแปลงถ้าไม่ได้รับอนุญาติเจ้าของผลงานก่อน

7 เว็บโหลดไฟล์เสียงที่มีทั้งฟรี และแบบเสียเงิน

สำหรับใครที่ต้องการใส่เสียงลงไปในวิดีโอ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความแตกต่างของไฟล์เสียงจากแต่ละแหล่งก่อนว่า แหล่งที่เอาไฟล์เสียงมานั้นมีข้อจำกัดเป็นอย่างไรบ้าง?

บางที่แจกไฟล์เสียงฟรี แต่อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ใช้ในวิดิโอเกี่ยวกับการค้าต้องขออนุญาติก่อน อันนี้ต้องระวังเอาไว้ให้ดีนะครับ

1. Youtube Audio Library

โหลดไฟล์เสียง Youtube Audio Library

ข้อจำกัดการใช้งาน : ส่วนใหญ่ใช้งานได้ฟรี (CC0) และมีส่วนน้อยที่ต้องทำตามข้อจำกัด (CC-BY-SA)

หนึ่งในแหล่งโหลดเสียงใจดีจาก Youtube ที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาโหลดไฟล์เสียงไปใช้งานได้แบบฟรี! โดยไม่ว่าจะเป็นวิดีโอแบบไหนก็นำไฟล์เสียงไปใช้ในงานได้ รวมถึงสามารถนำเสียงไปรีมิกซ์ หรือดัดแปลงได้อีกด้วย

บนเว็บจะมีทั้ง Free Music ที่มีดนตรีอยู่หลายประเภท แบ่งเอาไว้ให้เลือกมากมาย ทั้งเลือกจากอารมณ์เพลง ประเภทเครื่องดนตรี และยังมี Sound Effects ให้นำไปใช้งานได้ฟรีเช่นเดียวกัน เพียงแค่กดที่ปุ่มดาวน์โหลดโดยไม่ต้องทำการลงทะเบียนหรือล็อคอินก่อน

2. Free Sound

โหลดไฟล์เสียง Free Sound

ข้อจำกัดการใช้งาน : ฟรีโดยต้องระบุต้นทางด้วย (CC-BY)

ตอนที่ผมกดเข้าไปใช้งาน Freesound ครั้งแรกก็แทบจะกดออกมาเลยล่ะครับ เพราะหน้าเว็บดูไม่น่าใช้งานเท่าไหร่ โดยมีปุ่ม Tag ของประเภทเสียงต่างๆ ให้เลือก รวมถึงมีช่อง Search ให้เลือกหาเสียงที่ต้องการ

แม้ว่าหน้าตาไม่น่าใช้งานเท่าไหร่ แต่ Freesound เป็นแหล่งรวมเสียง Sound Effect และ Ambient (เสียงส่ิงรอบๆ ตัว เช่น เสียงลมพัด เสียงการก่อสร้างตึก)ให้เลือกใช้เยอะมาก เพราะผู้ใช้งานทุกคนสามารถอัปโหลดไฟล์เสียงของตัวเองแชร์ให้คนอื่นๆ ได้โหลดไปใช้งานได้อีกด้วย

สำหรับการใช้งาน Freesound คุณต้องทำการสมัครเพื่อทำการล็อคอินก่อน แล้วหลังจากนั้นคุณจะมีสิทธิ์ดาวน์โหลดเสียงได้จากในเว็บไซต์นี้ รวมถึงอัปโหลดไฟล์เสียงของคุณลงไปแบ่งให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ดาวน์โหลดได้อีกด้วย

3. Soundcloud

โหลดไฟล์เสียง Soundcloud

ข้อจำกัดการใช้งาน : ฟรี โดยข้อจำกัดขึ้นอยู่กับเจ้าของผลงาน (CC-BY-SA)

หนึ่งในเว็บไซต์เพลงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถอัปโหลดเสียงทั้งเสียงเพลง เสียงดนตรีประกอบ เสียงเอฟเฟค รวมถึงเสียง Ambient ลงไปเพื่อแชร์ให้กับผู้ใช้งานอื่นๆ

คุณอาจจะเคยฟังเพลงหรือฟัง Podcast บน Soundcloud มาบ้างแล้ว คุณลองค้นหาคำว่า ‘Background Music’ ดูบ้าง แล้วคุณจะพบว่ามีไฟล์เสียงจำนวนมากที่เจ้าของผลงานนำมาปล่อยให้โหลดไปใช้งานได้ฟรี

สำหรับการจะนำไฟล์เสียงจาก Soundcloud ไปใช้งาน แม้ว่าบางไฟล์จะมีปุ่มดาวน์โหลดให้นำไปใช้งานได้เลย ก็ควรอ่านข้อจำกัดการใช้งานให้ดีก่อน ว่าเจ้าของผลงานอนุญาติให้นำไปใช้งานได้ในลักษณะใดบ้าง

4. Free Music Archive

โหลดไฟล์เสียง Free Music Archive

ข้อจำกัดการใช้งาน : มีทั้งฟรี (CC0), ฟรีแต่ต้องระบุที่มา (CC-BY) / (CC-BY-SA) รวมถึงห้ามใช้ในเชิงพาณิชย์ (CC-BY-NC)

Free Music Archive เป็นเว็บไซต์รวบรวมไฟล์เสียงขนาดใหญ่ที่ให้ศิลปิน สถานีวิทยุ และเหล่าผู้สร้างสรรค์เสียงดนตรี เข้ามาแบ่งปันผลงานที่ตนเองสร้างสรรค์ให้ผู้ใช้งานได้โหลดไปใช้ได้ฟรี แต่ต้องดูเงื่อนไขการใช้งานให้ดี

ข้อดีของ Free Music Archive เรื่องแรกที่ผมเห็นคือจำนวนไฟล์เสียงที่มีเป็นหลักหมื่นเสียงในแต่ละประเภทดนตรี ซึ่งเมื่อเลือกประเภทดนตรีแล้วก็ยังแตกย่อยรายละเอียดของเสียงอีกจำนวนมาก

ถ้าใครที่มีปัญหาเรื่องการหาดนตรีประกอบที่ไม่ถูกใจสักทีอยู่ ผมว่าเว็บไซต์นี้ค่อนข้างตอบโจทย์เรื่องปริมาณการค้นหาให้คุณเลือกอย่างเต็มอิ่มแน่นอน

5. Free Stock Music

โหลดไฟล์เสียง Free Stock Music

ข้อจำกัดการใช้งาน : ฟรีแต่ต้องใส่เครดิต (CC-BY)

อีกหนึ่งเว็บไซต์โหลดเสียงเพลงฟรีที่หน้าเว็บมีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า นำไปใช้งานได้ฟรีเลย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอแบบปกติหรือเชิงพาณิชย์ แต่ต้องใส่เครดิตให้ด้วย

Free Stock Music มีเพลงให้เลือกหลายประเภทกว่า 1,000 เพลง โดยหลังจากที่โหลดเพลงจากที่นี่ไปแล้วให้คุณคัดลอกเครดิตด้านล่างเพลงไปใส่ในคำอธิบายวิดีโอของคุณด้วย

6. Audioblocks

โหลดไฟล์เสียง Audioblocks

ข้อจำกัดการใช้งาน : เสียค่าใช้จ่ายรายเดือน หรือรายปี เพื่อทำการซื้อแบบ Unlimited

Audioblock เป็นหนึ่งในสินค้าภายใต้ Storyblocks ที่เมื่อทำการจ่ายเงินแล้วคุณสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Stock วิดีโอ เสียง และภาพนิ่ง

โดยสำหรับไฟล์เสียงของ Audioblock มีให้เลือกใช้ทั้งแบบดนตรี เสียง Loop และ Sound Effect

สำหรับค่าใช้จ่ายของ Audioblock ถ้าเป็นสำหรับการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าไม่

ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์การจ่ายแบบ Standard License ก็ค่อนข้างคุ้มค่าเพราะคุณสามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบอื่น ทั้ง Stock ภาพนิ่ง และ Video Template ไปใช้ได้แบบไม่มีข้อจำกัดด้วย

7. Audiojungle

โหลดไฟล์เสียง Audiojungle

ข้อจำกัดการใช้งาน : เสียเงินซื้อตามราคาเพลง หรือจ่ายรายเดือนเพื่อซื้อแบบ Unlimited

Audiojungle เป็นหนึ่งในสินค้าภายใต้ Envato Market ที่ทำทั้ง Graphic Template, Video Template, Stock และดนตรีประกอบรวมถึง Sound Effect ด้วย

แม้ว่าราคาเสียงบน Audiojungle จะต้องเสียเงินซื้อ แต่บนเว็บไซต์มีเพลงให้เลือกหลากหลายจากศิลปินมากมายกว่า 8 แสนเพลง และเพลงส่วนใหญ่จากที่ผมฟังมาแล้วนั้นสามารถนำไปใช้ในงานวิดีโอได้ดีเลยครับ

ถ้าวิดีโอของคุณเป็นเชิงพาณิชย์ที่ทำเงินได้ ผมมองว่าการซื้อไฟล์เสียงจาก Audiojungle นั้นค่อนข้างคุ้มค่า เพราะในบางเพลงคุณอาจจะได้ถึง 5 รูปแบบไฟล์เสียง ที่เอาไปใช้ต่อได้ในงานอื่นๆ

Shifu แนะนำ
ข้อสังเกตเมื่อต้องใช้ไฟล์เสียงในงานวิดีโอของคุณ

  • ดูการอนุญาตใช้งาน (License) ให้ดี ว่าก่อนโหลดไปใช้งานต้องซื้อไฟล์ก่อนหรือไม่ หรือนำไปใช้แล้วต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง
  • บางเว็บอาจจะอนุญาตให้นำไปใช้งานฟรี แต่สำหรับการใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว อาจจะต้องแจ้งขออนุญาตกับทางเว็บไซต์ หรือเสียค่าบริการให้กับทางเว็บก่อน
  • ต้องให้เครดิตหรือไม่? ศิลปินหรือเจ้าของเว็บไซต์ที่เปิดให้โหลดไฟล์เสียงฟรี อาจต้องการให้เราใส่เครดิตที่เป็นชื่อหรือลิงก์ที่เชื่อมกลับไปยังหน้าเว็บของพวกเขา
  • สำหรับไฟล์เสียงที่ต้องนำไปใช้กับงานที่เป็นโปรเจ็คขนาดใหญ่ หรือแคมเปญ หรือภาพยนตร์ การขออนุญาตกับเจ้าของผลงานก่อนเป็นสิ่งที่จำเป็น

สรุป

7 เว็บไซต์ที่ผมได้แนะนำไปผมได้ทดลองใช้งานทั้งหมดแล้วครับ โดยมีอยู่หลายตัวที่ผมเองก็ใช้อยู่บ่อยๆ ซึ่งทุกครั้งที่นำไฟล์เสียงมาใช้งาน ผมก็ทำตามข้อกำหนดของเว็บไซต์อยู่เสมอ  

ถ้าคุณไม่อยากให้อยู่ๆ ไฟล์เสียงในวิดีโอของคุณถูกดูดหายไป ทั้งที่วิดีโอกำลังเป็นที่โด่งดังในโลกออนไลน์ หรือวันดีคืนดี ไฟล์วิดีโอของคุณถูกสั่งลบไปดื้อๆ คุณจะต้องอ่านข้อกำหนดตามที่เจ้าของผลงานแจ้งเอาไว้ให้ดีก่อน เท่านี้คุณก็ไม่ต้องกังวลถึงผลที่ตามมาภายหลังแล้วครับ

ตาคุณแล้ว

ผมได้แชร์เว็บแหล่งโหลดเสียงที่ใช้งานได้จริงๆ ทั้งแบบฟรี และเสียเงินไปแล้ว ทีนี้ก็ถึงตาคุณแชร์แหล่งโหลดไฟล์เสียงที่เจ๋งๆ บ้าง มาแชร์กันได้ในคอมเมนต์ของบทความเลยครับ