ตอนนี้อะไรกำลังขึ้นเทรนด์นะ? ลูกค้าของเราพอใจกับสินค้าเราหรือเปล่า? ใครกำลังพูดถึงแบรนด์เราอยู่? 


เพื่อจับกระแสและตามหา ‘เสียงของลูกค้า’ ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่หลายล้านข้อความผ่านตาไปทุกวัน นักการตลาดจำเป็นต้องใช้ Social Listening Tools เครื่องมือการตลาดออนไลน์ในการช่วยดักจับคำพูดของลูกค้า เพื่อให้แบรนด์สามารถเข้าถึงความต้องการและทันทุกความเคลื่อนไหวของสังคมที่เร็วกว่าความเร็วแสง แต่จะมีเครื่องมืออะไรบ้างนะ วันนี้ขิงรวบรวมมาให้ทุกคนแล้วค่ะ!

Social Listening Tools: เครื่องมือที่นักการตลาดไม่ควรมองข้าม

Social Listening Tools คือ เครื่องมือการตลาดออนไลน์สำหรับเก็บข้อมูล Insight ของกลุ่มเป้าหมายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Twitter ฯลฯ ว่าใครพูดถึงแบรนด์เรายังไงบ้าง ใช้คีย์เวิร์ดอะไร และพวกเขาต้องการอะไรจากแบรนด์

 โดยจุดประสงค์หลักของเครื่องมือนี้ มีเพื่อให้เรา ‘ได้ยินเสียงของลูกค้า (Sentiment)’ ทั้งแง่ดีและไม่ดีเพื่อใช้วิเคราะห์ความต้องการ จับกระแสเทรนด์ วางกลยุทธ์การตลาด และ มอนิเตอร์เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกับแบรนด์ได้อย่างทันท่วงที 

เปรียบเทียบง่ายๆ คือ ถ้าเราอยากจีบใครสักคน เราก็ต้องรู้จักเขาให้ดีก่อนถึงจะวางแผนเข้าหาได้ตรงใจใช่ไหมล่ะคะ เจ้าเครื่องมือ Social Listening ก็เหมือนเพื่อนซี้ที่รู้ทุกเรื่องและช่วยสืบข้อมูลของคนคนนั้นมาให้เรายังไงล่ะ

รวมรีวิว 9 Social Listening Tools ยอดฮิตทั้งฟรีและเสียเงิน เจ้าไหนที่เหมาะกับคุณ

ปัจจุบันมีบริษัท Tech หลายเจ้าสร้างเครื่องมือ Social Listening ออกมาแข่งกันเต็มไปหมด แต่ละตัวก็มีข้อดีแตกต่างกันไป แล้วเครื่องมือตัวไหนกันนะที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ? วันนี้ขิงเลยจับ 9 Social Listening Tools ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน มาสรุปจุดเด่น พร้อมแนะนำฟีเจอร์ปังๆ ไว้ในบทความเดียว จะมีอะไรกันบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ 😉

แบบฟรี

1. Google Trends

Social Listening Tools: Google Trend

Google Trends คือ เว็บไซต์ Social Listening ฟรีจาก Google สำหรับค้นหาและตรวจสอบความนิยมของ keyword จากคนใช้งานบน Google และ Youtube ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจากทั่วโลก ที่ทำให้เรารู้ว่าตอนนี้กลุ่มเป้าหมายของเรากำลังสนใจเรื่องอะไร และใช้คีย์เวิร์ดแบบไหน ได้อย่าง Real-Time และ Worldwide

ให้เห็นภาพกันมากขึ้น ขิงลองเอากระแสสุดปังอย่าง ‘แจ๊คสัน หวัง’ ที่ไปร้องเพลงในรายการร้องข้ามกำแพงมาค้นหาเทรนด์ความนิยม จะเห็นจากกราฟว่าในช่วงวันที่ 28-30 ก.ค. 65 มีคนให้ความสนใจและเสิร์ชคีย์เวิร์ดคำว่า ‘มิลลิ’ มากกว่า ‘แจ๊คสัน’ และ ‘แจ๊คสัน หวัง’ เกือบเท่าตัว

Google Trends

และฟีเจอร์ Related Topic ที่ถูกเสิร์ชต่ออย่าง ‘มิลลิ อายุ’ และ ‘มิลลิ คือ ใคร’  ทำให้เห็นว่าคนไทยดูรายการที่แจ๊คสันมาออก แต่ก็ให้ความสนใจกับ ‘มิลลิ’ ต่อด้วย เป็นการพิสูจน์กระแสมาแรงของศิลปินสาวคนนี้ ถ้าเราอยากทำคอนเทนต์เชิง ‘เส้นทางสู่ความสำเร็จของ MILLI’ หรือ หา Influencer สักคนที่จับกลุ่มวัยรุ่นไทย มิลลิก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากเลยค่ะ

ฟีเจอร์เด่น : 

  • Search Keyword – ฟีเจอร์ที่ให้เรากรอกคีย์เวิร์ดที่สนใจลงไป พร้อมกับเลือกระยะเวลาที่ต้องการแล้วกราฟแสดงผลกระแสโซเชียลจะปรากฏขึ้นทันทีว่ามีคนสนใจคีย์เวิร์ดนี้เท่าไร
  • Comparison Trending & Location – ฟีเจอร์สำหรับเปรียบเทียบความหนาแน่นของแต่ละคีย์เวิร์ดในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ดูว่ามีคนใช้คีย์เวิร์ดนี้ในประเทศ หรือ จังหวัดไหนมากที่สุด และ เปรียบเทียบคีย์เวิร์ดด้วยกันเองว่าคนใช้คำไหนค้นหามากกว่ากัน
  • Related Topics  – คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ นอกจากจะใช้เป็นไอเดียในการค้นหาคีย์เวิร์ดแล้ว ยังใช้ดู Search Intent หรือ จุดประสงค์ของคนที่ใช้คีย์เวิร์ดนี้ได้ด้วยว่าเขาต้องการค้นหาไปเพื่อทำอะไร เพื่อต่อยอดในการวางแผน Marketing Strategy ได้ 
  • Trending Searches – ไม่รู้จะค้นหาอะไร แค่อยากรู้เทรนด์ Real-Time ว่าตอนนี้เขาสนใจอะไรกัน ฟีเจอร์นี้จะช่วยสรุปมาให้เลย
  • Year In Search – ฟีเจอร์สรุปประเด็น, คีย์เวิร์ด และกระแสที่ถูกพูดถึงในแต่ละปี

เหมาะกับ : นักการตลาดที่อยากทำ Real-Time Marketing หรือ Seasonal Marketing แบบที่มีคีย์เวิร์ดในใจแล้ว โดย Google Trends เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้รู้ว่าตอนนี้กลุ่มเป้าหมายของเราสนใจคีย์เวิร์ดอะไรอีกบ้าง เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ Content Strategy ได้อย่างตรงจุด

2. WISESIGHT TREND

Social Listening Tools: 
WISESIGHT TREND

WISESIGHT TREND คือ เครื่องมือการตลาดออนไลน์ฟรีจากบริษัท WISESIGHT อะไรที่กำลังขึ้นเทรนด์ Social Listening ตัวนี้จะนำเสนอขึ้นมาทันที โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การแบ่งหมวดหมู่เทรนด์ตามอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เลือกดูเทรนด์ที่สนใจได้แบบ Real-Time และตรงกลุ่มเป้าหมาย

โดย WISESIGHT จะแบ่งเป็น 3 เทรนด์ใหญ่ๆ คือ

  • General Trends – ภาพรวมเหตุการณ์มาแรงจากทุกอุตสาหกรรมที่คนกำลังพูดถึง แสดงผลเป็นหน้าแรกของเว็บไซต์
  • Highlight Trends – รวมเทรนด์กลุ่ม Lifestyle, Entertainment และ Business-Investment ฯลฯ เป็นหลัก เหมาะกับคนที่อยากทำคอนเทนต์เชิงบันเทิง หรือ ข่าวที่คนสนใจ
  • Brand Trends – อันนี้จะเน้นเทรนด์พวกโปรโมชั่น และ งานโฆษณาจากหลายกลุ่ม เช่น Retail, Automotive, eCommerce ฯลฯ ที่ใครอยากหาไอเดียทำโปรโมชั่นหรือส่องคู่แข่งก็จัดเลย
WISESIGHT TREND คืออะไร

ฟีเจอร์เด่น:

  • Trending – รวมฮิตเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแสจากแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ แบบ Real-Time และมีให้เลือกเทรนด์จากหลายอุตสาหกรรม
  • Top Content – สำหรับใครที่อยากดูมุมของคอนเทนต์ว่าคนส่วนใหญ่เขาชอบคอนเทนต์แบบไหน ก็เลือกฟีเจอร์นี้ โดยระบบจะแสดงผลจากยอด Engagement ในแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เราได้ไอเดียเด็ดๆ ไปวาง Content Strategy
  • Top Hashtag – ตัวพีคของ WISESIGHT TREND เลย เพราะ เป็นฟีเจอร์ที่จับคีย์เวิร์ด #Hashtag บนเทรนด์โลกออนไลน์มาแสดงผล โดยเราสามารถเลือกที่มาจาก Facebook, Twitter, Instagram ได้
  • Social Media Channel Sources – จุดเด่นอีกอย่างของ Social Listening Tools ตัวนี้คือ การมีแพลตฟอร์มให้เลือกหลากหลายทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, Forum (Pantip), News, Blog และ Youtube ทำให้เห็นเทรนด์ที่แตกต่างกัน สำหรับนักการตลาดถือว่าเป็นข้อมูลชั้นดีในการคิดกลยุทธ์ให้เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์ม

เหมาะกับ: การตลาดแบบ Real-Time Marketing ฉบับไม่เจาะจงคีย์เวิร์ด เพราะ  WISESIGHT TREND จะเน้นอัปเดตภาพรวมเทรนด์ตามกระแสโดยจำแนกเป็นแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้เห็นภาพเทรนด์ที่กว้าง และ เป็นแหล่งขุมทรัพย์สำหรับไอเดียในการคิดกลยุทธ์การตลาด ใครไอเดียตัน คลิก WISESIGHT TREND เลย!


ตอนนี้ WISESIGHT TRENDS เปิดให้ทดลองใช้ Beta ของเวอร์ชั่นใหม่แล้ว ขิงลองเข้าไปส่อง ใช้งานง่าย และ เป็นระบบมากขึ้น ใครที่สนใจสามารถไปลองใช้งานกันได้เลยค่ะ!

 

3. FanpageKarma

FanpageKarma คืออะไร

FanpageKarma คือ เครื่องมือ Social Listening Tools ฟรีที่ใช้งานง่าย มีจุดเด่นในด้านการวิเคราะห์หลังบ้าน เพราะมีฟีเจอร์ Profiles & Competitor Analysis และ ฟีเจอร์อื่นๆ ที่ตอบโจทย์การจัดระบบหลังบ้าน อีกทั้งยังลิงก์กับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้หลากหลาย เช่น Facebook Page, Facebook Group ฯลฯ 

ทำให้ FanpageKarma เป็นหนึ่งในตัวเลือกของเครื่องมือการตลาดออนไลน์สายฟรีสำหรับใครหลายคน อีกทั้งลูกเล่น UX/UI ที่มีกิมมิค ง่ายต่อการใช้งาน ทำให้มัดใจนักการตลาดได้ไม่อยาก รับรองว่าทดลองใช้แค่ 10 นาทีก็ใช้เป็นได้เลย!

FanpageKarma

ฟีเจอร์เด่น:

  • Profiles Analysis – FanpageKarma จะลิงก์กับแพลตฟอร์มของเราและวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านออกมาตาม marketing  Metrics ที่เราเลือก สามารถเปรียบเทียบแต่ละช่วงเวลา เพื่อทำให้เห็นภาพการเติบโตของเพจที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์สำหรับ Social Admin และ แบรนด์สื่อ Media มากๆ เลย
  • Explore Competition – เป็นอีกฟีเจอร์ที่ชอบมากเพราะเขาจะให้เรากรอก ID Page ของเราและคู่แข่งเพื่อเปรียบเทียบกับแบบเจ้าต่อเจ้า ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เห็นจุดอ่อนจุดแข็งได้ดี
  • Discovery Trends – เลือกดูกระแสเทรนด์ต่างๆ ได้แบบ Real-Time จากทั่วโลก 
  • Customized Report – นอกจากจะวิเคราะห์ข้อมูลได้แล้วก็ยังสามารถ Export Report ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย นำไปใช้วางแผนร่วมกับทีมต่อได้ทันที
  • Schedule & Automate post – อีกจุดเด่นของ FanpageKarma ที่ไม่ได้แค่จัดการหลังบ้าน แต่ยังสามารถ Schedule ตั้งเวลาโพสต์คอนเทนต์ไปยังแพลตฟอร์มที่เราลิงก์ไว้ได้ด้วย
  • Reply Message – คล้ายกับ Inbox ของ Facebook แต่จะละเอียดกว่าตรงที่เราสามารถดูได้ว่าคนในทีมเราคนไหน ตอบใครไปบ้าง และ เหลือข้อความที่ยังไม่ได้ตอบกี่ข้อความ ทำให้แบ่งงานกันหลังบ้านได้ง่ายขึ้น ไม่ตกหล่น

เหมาะกับ: นักการตลาด และ เจ้าของธุรกิจที่กำลังตามหาเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านของโซเชียลมีเดียแบรนด์ ความต้องการกลุ่มเป้าหมาย สำหรับวางกลยุทธ์ และ ทำ Report อย่างง่าย โดยเน้นประหยัดเวลาศึกษา และไม่มีค่าใช้จ่าย แนะนำตัวนี้เลยค่ะ

4. Mentionmapp

Mentionmapp คืออะไร

Mentionmapp คือ เครื่องมือ Social Listening Tools ที่ออกแบบมาเพื่อการตลาดบนแพลตฟอร์ม Twitter โดยเฉพาะ หน้าตาของเว็บไซต์ค่อนข้างน่าสนใจตามชื่อ map เพราะเขาจะลากเส้นเชื่อมโยงระหว่าง Twitter account ของเรากับ ทวิตเตอร์อื่นที่ Retweet, Mention, Hashtag เกี่ยวกับแบรนด์ 

ทำให้เรามองเห็น ‘ลูกค้าตัวจริง’ ที่ให้ความสำคัญ มีน้ำหนักต่อแบรนด์ ได้แบบ Real-Time ต่อยอดด้านกลยุทธ์การทำโฆษณา Twitter และ คอนเทนต์ได้

ฟีเจอร์เด่น: 

  • Search & Discover – เชื่อมโยง Account และ Hashtag ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์แบบ Real-Time
  • Schedule Mapps – เป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจมาก เพราะ สามารถให้เราเซฟ Mapps ที่เราอยากติดตามความคืบหน้า เช่น เราสนใจ #AbortionRights แล้วอยากติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเดิมในอีก 7 วัน เราสามารถเซฟและตั้งเวลาให้แจ้งเตือนแสดงผลไดด
  • Mention, Retweet Mapps  – เก็บข้อมูล Leads ที่ Retweet และ Mention ถึงแบรนด์ได้ลึกขึ้นด้วย Filter เจาะลึกแต่ละ Account ไม่เกินทีละ 9 Accounts
  • Conversation Sentimental – เครื่องมือจะแสดงชื่อ Accounts ที่พูดถึงแบรนด์แล้วแบ่งเป็นสีเขียวคือทางบวก และสีแดงคือกลุ่มที่พูดถึงในทางลบ ให้เราทันทุกดราม่าเกี่ยวกับแบรนด์ และรับมือได้ทันเวลา

เหมาะกับ: แบรนด์ นักการตลาด เจ้าของธุรกิจที่ใช้ Twitter เป็นช่องทางหลัก หรือ แบรนด์ที่เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น โดยใช้กระแสสังคมในโลกออนไลน์ ก็ควรมีเครื่องมือนี้ไว้ติดตัว

สำหรับใครที่อยากรู้จัก mentionmapp มากขึ้น เราแนะนำบทความ Guide to Mentionmapp ให้ได้เข้าไปอ่านเพิ่มเติมกันนะคะ

แบบมีค่าใช้จ่าย 

** เนื่องจากมีเครื่องมือบางตัวที่ไม่แสดงราคาแพ็คเกจ ขิงจึงขอละข้อมูลด้านราคาบางส่วนไว้นะคะ

5. DOM

DOM (Data Opinion Mining) คือ Social Listening สัญชาติไทยที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นจากโซเชียลมีเดีย มีจุดเด่นที่การวิเคราะห์อารมณ์ (Sentiment Analysis) และ แนวโน้มของความคิดเห็น (Trends Analysis) ทำให้แบรนด์สามารถ Crisis Management หรือ รับมือกับกระแสโซเชียลที่มีต่อแบรนด์ทั้งดีและไม่ดีได้

โดยจะแสดงผลผ่าน Interactive Dashboard ที่รองรับการรูปแบบการแสดงผลที่หลากหลาย สามารถเรียกดูข้อมูลทั้งในภาพรวมและรายละเอียดเชิงลึกได้อย่างง่ายดาย

ฟีเจอร์เด่น:

  • Real-time Monitoring –  เก็บรวบรวมข้อมูลจาก Social Media แบบ Real-time ในหลักวินาที ทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมไปถึง Crisis Management ได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
  • Sentiment Analysis – วิเคราะห์ Sentiment หรืออารมณ์ความรู้สึกของข้อความจากโซเชียลมีเดียด้วยเทคโนโลยี Natural Language Processing (NLP) ที่ทำงานร่วมกับ Machine Learning สามารถจำแนกข้อความเป็นความคิดเห็นเชิงบวก เชิงกลาง และเชิงลบ ได้อย่างแม่นยำ
  • Influencer Analysis – วิเคราะห์และจัดอันดับ Influencer จาก Engagement ที่ได้รับ เพื่อให้เรากำหนด Influencer ที่ตรงกับแบรนด์และยังมี Network Graph ช่วยในการดูเครือข่ายการสื่อสารของ Influencer คนนั้นว่าจะส่งผลบวก-ลบต่อแบรนด์หรือไม่ ทำให้รัดกุมในการคัดเลือก Influencer มากขึ้น
  • Location Analysis – วิเคราะห์ Sentimental ของคนในโลกโซเชียลที่พูดถึงหน้าร้านของแบรนด์ในพื้นที่ต่างๆ เหมาะกับธุรกิจที่มีหน้าร้าน

เหมาะกับ:  นักการตลาด เจ้าของธุรกิจ SME ที่มีหน้าร้านหรือออนไลน์ที่มีการซื้อขาย-บริการตลอด องค์กระดับ Enterprise และ นักเขียนในธุรกิจประเภท Retail, Insurance, Banking, Logistics, FMCG, Healthcare เพราะเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้อง Monitoring การเปลี่ยนแปลงของแบรนด์ และ กระแสโซเชียลตลอดเวลา 

ราคา: มีทั้งแพ็คเกจแบบรายเดือนและรายปี เริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน และมี Free Trial ให้ทดลองใช้งานฟรี


DOM คืออะไร พร้อมเจาะลึกฟีเจอร์และราคา อ่านได้ ที่นี่ เลย

 

6. Zocial Eye

อ้างอิง: Zocial Eye

Zocial Eye คือ เครื่องมือ Social Listening จาก WISESIGHT ที่ครบสูตรสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ด้วยฟีเจอร์ที่ครอบคลุมทุกจุดประสงค์การใช้งาน Zocial Eye มี AI ตัวเก่งอย่าง KIRIN ENGINE ที่ช่วยในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ 

และในปี 2022 ทาง WISESIGHT ได้อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ที่ละเอียดกว่าเดิมในการดักจับ Insight ผ่านภาพและโลโก้  เพิ่มฟีเจอร์ Intelligence Analytics ที่จะช่วยให้นักการตลาดวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเก็บข้อมูลผ่าน Instagram Reel และ TikTok ได้แล้วด้วย บอกได้คำเดียวว่า ครบมาก!

Zocial Eye มีหน้าแสดงผลอยู่ 3 แบบคือ 

  1. Campaign View
  2. Comparison View
  3. Trend View
อ้างอิง: Zocial Eye

ฟีเจอร์เด่น:

  • Deep Social Listening & Monitoring – เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและบทสนทนาในกระแสสังคมในเชิงลึกได้รวดเร็วด้วยเทคโนโลยี AI แล้วนำมาแสดงผลในรูปแบบกราฟหน้า Campaign View ที่ชัดเจน
  • Intelligence Analytics – ฟีเจอร์ใหม่จาก WISESIGHT ที่จะช่วยให้นักการตลาดเข้าใจข้อมูลเชิงลึกแม้อาจจะไม่มีความเข้าใจในเรื่องนั้น โดยถอดแบบโมเดลระบบจากประสบการณ์ทำงาน 20 ปีของนักวิเคราะห์ใน WISESIGHT ช่วยให้นำข้อมูลไปใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Account Label – ตัวช่วยจำแนก Audience Account ว่าเป็นคนธรรมดา Influencer หรือ แบรนด์ รวมถึงจำแนกประเภทธุรกิจ
  • Brand Involvement – ฟีเจอร์ที่ทำงานร่วมกับ Account Label โดยนำข้อมูลจากงาน Thailand Zocial Award ตลอดระยะเวลา 10 ปีมาจำแนกลงลึกถึงผลลัพธ์ความนิยมแต่ละ Account ช่วยในการคัดเลือก Influencer หรือ Partners ที่จะร่วมงานด้วยอย่างละเอียด
  • Logo Detection – ฟีเจอร์ที่มีแค่ใน Zocial Eye เท่านั้นกับการจับ Insight ผ่านภาพที่มีโลโก้ของแบรนด์ ช่วยแก้ปัญหาจับ Insight ผ่านข้อความที่ไม่พูดถึงแบรนด์แต่มีการใช้โลโก้ของแบรนด์
  • Image Label – ช่วยระบุ Insight ของภาพว่ามีใครและอะไรอยู่ในภาพบ้าง เหมาะกับแพลตฟอร์ม Instagram และ สะดวกในการทำ Data Labeling ต่อด้วย

เหมาะกับ:  ธุรกิจระดับ Enterprise หรือกลุ่ม Advertising & Entertainment ที่ต้องติดตามกระแสสังคมและจำเป็นต้องมีข้อมูลมหาศาลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์วางแผนกลยุทธ์การตลาด กับ โฆษณาของแบรนด์ ด้วยฟีเจอร์ของ Zocial Eye จึงเหมาะมากๆ กับองค์กรและธุรกิจแนวนี้

ราคา: ติดต่อไปสอบถามเพิ่มเติม

7. Mandala Analytics

Mandala Analysis
อ้างอิง: Mandala System

Mandala Analytics คือ เครื่องมือ Social Listening & Analytics เจ้าใหญ่เจ้าหนึ่งจากบริษัท Ocean Sky Network ที่นักการตลาดและแบรนด์ธุรกิจระดับ SMEs ถึง Enterprise เลือกใช้ ด้วยจุดเด่นด้านความหลากหลายและความยืดหยุ่นของฟีเจอร์ที่ถูกคิดมาเพื่อให้สามารถพลิกแพลงและปรับใช้กับหลายวัตถุประสงค์ทางการตลาด

พูดได้ว่าเป็น Social Listening Tool ที่เหมาะกับจุดประสงค์ในการทำการตลาดครบวงจรมากๆ อย่างการทำ Listening & Monitoring, Insight Research, Content Creative Strategy, Improve Sales & Engagement, Business Development และ Influencers & Trends เป็นต้น

Mandala Analysis
อ้างอิง: Mandala System

ฟีเจอร์เด่น:

  • Data Timeline – แสดงผลภาพรวมของข้อมูลจาก Mention ที่คนใช้พูดถึงเราตามคีย์เวิร์ดที่เราเลือก โดยเปรียบเทียบจากทุกแพลตฟอร์มและเปรียบเทียบได้ทุกระยะเวลา
  • Social Platform Analysis – สามารถเจาะดูข้อมูลแต่ละแพลตฟอร์มโดยเฉพาะได้ โดยแสดงผลทั้งกราฟลำดับ Mention & Engagement, Top Channel, Sentiment, Interation Summary
  • Top Channel – แสดง Top 10 Channel แต่ละแพลตฟอร์มตามลำดับ Mention 
  • Keyword & Hashtag – เจาะดูคีย์เวิร์ดและแฮชแท็กที่กลุ่มเป้าหมายเลือกใช้ หรือ ที่กำลังขึ้นเทรนด์โดยแสดงเป็นแผนผผังภาพ และ กราฟตาม Timeline แบบเจาะลึก
  • Sentimental Analysis – แสดงผลค่าอารมณ์ของคนที่พูดถึงแบรนด์ โดยสามารถดูได้ทั้งภาพรวมและกดดูทีละโพสต์ที่เครื่องมือกวาดเก็บมาได้ด้วย
  • Platform Mention & Engagement – แสดงผลกราฟลำดับ Mention & Engagement ของแต่ละแพลตฟอร์มในแบบ Data Visualization ที่เข้าใจง่าย เพื่อดู Performance ของแต่ละแพลตฟอร์ม

เหมาะกับ:  ธุรกิจกลุ่ม SMEs ขนาดกลางไปจนถึง Enterprise ขนาดใหญ่ ด้วยฟีเจอร์ที่ยืดหยุ่นและ UX/UI ที่แสดงผลในแบบดาต้าถูกใจสายวิเคราะห์ เราจึงเห็นรีวิว Social Listening จากนักการตลาดสายดาต้าส่วนใหญ่มักเลือกใช้ Mandala Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูล

ราคา: มีทดลองใช้ Free Trial 7 วัน และแพ็คเกจหลากหลายให้เลือกตามความเหมาะสม

8. SocialEnable 4.0

SocialEnable คือ
อ้างอิง: SocialEnable

SocialEnable 4.0 คือ Social Mangement Platform จาก Computerlogy บริษัท Tech Startup ในประเทศไทยเวอร์ชั่นล่าสุดที่เก็บข้อมูลทั้ง Owned Media และ Earned Media ในแพลตฟอร์มเดียว สามารถดูความเคลื่อนไหวของแบรนด์ ร่วมถึงจับกระแสรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว จุดเด่นเลยคือ เวอร์ชั่นนี้ให้เราสามารถตอบข้อความลูกค้าจากทุกแพลตฟอร์ม ด้วยเหตุนี้ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ใช้ SocialEnable จึงเป็นกลุ่ม B2B มากกว่า B2C

ฟีเจอร์เด่น:

  • Social Listening & Monitoring – แสดงผลกระแสโซเชียลที่ Mention, Engage, Message ถึงแบรนด์ของเรา และ ยังสามารถมอนิเตอร์เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์เราโดยเฉพาะ
  • Social Trends Spotting – จับกระแสเทรนด์ที่เกี่ยวกับแบรนด์มาแสดงในหน้า Dashboard ทั้งที่เกี่ยวกับเราและคู่แข่ง
  • Chat bot

เหมาะกับ: องค์กรระดับ Enterprise

ราคา: ติดต่อไปสอบถามเพิ่มเติม

9. Zanroo

Zanroo คืออะไร
อ้างอิง: Zanroo

Zanroo (แสนรู้) ชื่อสุดเก๋ทั้งฉบับไทยและอังกฤษ สำหรับ Zanroo เครื่องมือ Social Listening & Analytics สัญชาติไทยอีกเจ้า โดยจุดเด่นของ Zanroo อยู่หน้าตาการใช้งานที่เข้าใจง่าย แต่รวบรวมข้อมูลมาได้หลากหลาย อีกทั้งยังมี NPL ซอฟต์แวร์รองรับหลายภาษา

ฟีเจอร์เด่น:

  • Real-time Listening & Monitoring – ฟีเจอร์จับกระแสโซเชียลได้ Real-Time รวดเร็วไม่ต้องประมวลผลนาน รวมถึงการมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวที่อาจส่งผลต่อแบรนด์เพื่อการ Crisis Mangement ได้อย่างตรงจุด
  • NPL for multiple languages – รองรับภาษาที่หลากหลาย เช่น ไทย, อังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, พม่า และอีกมามาย
  • Multi-level Keywords structure และ Auto-Tagging functions – ทำให้สามารถเจาะลึกข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดที่ยืดหยุ่นไปถึงระดับบุคคล และนำมาจัด Category ด้วย Tag เพื่อการวิเคราะห์ที่ชัดเจนมากขึ้น

เหมาะกับ:  ธุรกิจระดับ Enterprise ที่ต้องใช้ข้อมูลในการวางแผนธุรกิจ และ เจาะตลาดต่างประเทศ ด้วยฟังค์ชั่น NPL รองรับหลายภาษาเป็นจุดที่น่าสนใจของเจ้าตัวนี้ที่เป็นทั้ง Listening Tool และ Analytics Tool ในเครื่องมือเดียว

ราคา: ติดต่อไปสอบถามเพิ่มเติม


Essential Martech : รู้ก่อน รุ่งก่อน ติดปีกให้ธุรกิจด้วยความรู้ Martech

ตะลุยจักรวาล Martech แบบเจาะลึกพร้อมรู้จักกลยุทธ์ 4P Framework ในการเลือกใช้เครื่องมือ Martech ให้เหมาะกับธุรกิจของคุณแบบจัดเต็ม

 

สรุปแล้วเลือก Social Listening Tools ตัวไหนดี?

สำหรับสายฟรีสามารถเลือกใช้ตามวัตถุประสงค์เลย ถ้าอยากจับเทรนด์ก็ Google Trends, WISESIGHT TREND แต่ถ้าอยากเชิงวิเคราะห์หลังบ้านก็เป็น FanpageKarma และ Mentionmapp 

ส่วนใครที่อยากลงทุนสักหน่อย สำหรับธุรกิจกลุ่ม SMEs เล็ก-กลาง ขิงแนะนำเป็น Mandala, DOM เพราะฟีเจอร์ที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องมีพื้นฐานการวิเคราะห์มากนักก็เข้าใจและนำข้อมูลไปทำงานต่อได้ 

แต่ Zocial Eye, Zanroo และ SocialEnable ค่อนข้างมีฟีเจอร์ที่แยกย่อยและละเอียด เหมาะกับธุรกิจกลุ่ม Enterprise โดยเฉพาะตัว DOM นั่นยังมีฟีเจอร์แบบละเอียดที่เหมาะกับนักการตลาดที่มีพื้นฐานความเข้าใจด้าน Data Analytics เช่นกันค่ะ

จบกันไปแล้วกับรีวิว 9 Social Listening Tools ใครเคยใช้เครื่องมือไหนกันมาแล้วบ้าง? คอมเมนต์ด้านล่างบทความเพื่อรีวิวประสบการณ์หรือแนะนำเครื่องมือตัวอื่นกันได้เลยนะคะ หรือใครอยากได้ความรู้ด้านไหนอีก คอมเมนต์บอกกันนะ แล้วเจอกันบทความหน้าค่า ;))