เขียนบล็อก เป็นสิ่งที่ทำกันได้ไม่ยาก เพียงแค่มีพื้นที่ให้ปล่อยของบนโลกออนไลน์ ธุรกิจส่วนใหญ่ก็หันมามองความสำคัญของการเขียนบล็อก เขียนคอนเทนต์ แต่อย่างว่า พอสร้างบล็อกขึ้นได้ง่าย ก็ทำให้มีบล็อกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน แล้วเราจะเขียนบล็อกอย่างไรให้บล็อกของเรามีความโดดเด่น และเป็นที่น่าจดจำ วันนี้เลยมาขอแนะนำเรื่องพื้นฐาน ที่นักเขียนบล็อกไม่ควรพลาด ถ้าอยากให้บล็อกเราถูกอ่านมากขึ้น โดยแบ่งเป็นสองพาร์ทคือ พาร์ทของสิ่งที่ควรคิดเมื่อเริ่มต้นเขียนบล็อกใหม่ กับสิ่งที่ควรคิดเมื่ออยากให้บล็อกที่เขียนเกิดโมเมนตัมต่อไป

เขียนบล็อก เริ่มต้นอย่างไรดี ?

1. เขียนเรื่องที่ตัวเองสนใจ และรักษาความเป็น Original content

เริ่มแรกเลย อยากให้เริ่มจากสิ่งที่เราสนใจก่อนค่ะ ถามตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราชอบคืออะไร และสิ่งที่เราอยากจะเล่า เรื่องบอกต่อคืออะไร และค่อยๆ นำความชอบเหล่านั้นมาเล่าผ่านการเขียนบล็อก สิ่งการเริ่มต้นเขียนจากสิ่งที่เราชอบ และสนใจนั้น ไม่ใช่แค่ทำให้เรามีความสุขในการเขียน แต่มันยังทำให้คอนเทนต์เรามีเอกลักษณ์ หรือความเป็น Original Content ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของตัวเราเองได้ด้วย การสร้าง Original Content หรือการสร้างสรรค์งานเขียนขึ้นมาด้วยไอเดียของเราเอง นอกจากจะไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น แล้วยังเป็นที่รักของ Google มากขึ้นด้วยค่ะ เพราะ Google เองก็มีมาตรการไม่สนับสนุนเนื้อหาที่ลอกต้นฉบับมาทั้งดุ้นเช่นกัน ซึ่งการเขียนบล็อกขึ้นมาเองเป็นการแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ก็อปปี้งานคนอื่นมานะ การที่เรารักษาความเป็น Original Content ไปเรื่อยๆ ก็จะมีส่วนช่วยให้ได้รับการสนับสนุนจาก Google และเพิ่ม Search Rank ที่ดีขึ้นได้ค่ะ

อีกทั้ง Original Content จะมีความเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร ทำให้คนอ่านรู้สึกสนใจอยากอ่านมากยิ่งขึ้น เพราะดูเป็นคอนเทนต์ที่ไม่เคยอ่านมาก่อน และหาอ่านไม่ได้ที่ไหนอีกแล้ว

เขียนบล็อก
Image from: hotpads.com

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มียอด Traffic สูงขึ้นจากการทำ Original Content ก็เช่น HotPads เว็บไซต์เกี่ยวกับการจัดหาบ้านเช่า หรืออพาร์ตเม้นท์เช่า ตอนแรกเว็บไซต์นี้ก็ประสบปัญหา Traffic ที่น้อยนิดมากค่ะ มีผู้ชมเว็บไซต์เพียงแค่เดือนละ 400 view เท่านั้น! HotPads เลยแก้ปัญหาด้วยการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน Content Marketing และนักเขียนบทความที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมา ผลลัพธ์ก็คือ มีจำนวน Traffic เพิ่มขึ้น 4,000% ภายใน 7 เดือน

หากคุณต้องการเรียนรู้วิธีการทำ SEO ที่ช่วยให้บทความหรือเว็บไซต์ของคุณมีปริมาณผู้ชมมากขึ้น สอนแบบ Step by Step ตั้งแต่พื้นฐานจนทำได้ ดูได้ที่

วิธีทำ seo 2022 แบบ Step by Step รู้ครบในโพสเดียว

 

ใครสงสัยว่า แล้ว Original Content เนี่ย เราจะสร้างขึ้นมาได้ยังไง ทางเราเคยเขียนเทคนิควิธีการเขียนไว้แล้วค่ะ ตามกันไปอ่านได้ที่บทความ “ไม่ต้อง “ก็อป” คอนเทนต์ อีกต่อไป! เทคนิคการทำ Original content ให้กับเว็บไซต์” กันได้เลยค่ะ

2. ฝึกออกแบบเนื้อเรื่องที่ชวนให้เกิดบทสนทนา

ข้อนี้สืบเนื่องมาจากการปรับ Algorithm ของ Facebook คอนเทนต์ที่จะได้รับยอด Reach ที่ดีก็คือคอนเทนต์ที่มีปฏิสัมพันธ์สูง ปฏิสัมพันธ์ในที่นี้ก็คือไม่ใช่แค่การกด Like แล้ว แต่มันรวมถึงการคอมเมนท์ การแชร์ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เขียนบล็อกและหาคนอ่านเพิ่มด้วยการแชร์ลง Facebook เป็นประจำล่ะก็ ต้องลองพิจารณาถึงเทคนิคข้อนี้กันแล้วค่ะ

เทคนิคหนึ่งที่จะเขียนคอนเทนต์ให้มีปฏิสัมพันธ์แบบนี้ก็คือ การเขียนคอนเทนต์ให้ผู้อ่านรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือ Discussion content เป็นคอนเทนต์ที่ทำให้คนมีความรู้สึกร่วม เป็นเรื่องใกล้ตัว และชวนให้คนอ่านอยากจะคอมเม้นท์ความคิดเห็นของเราลงไปบ้าง ควรเป็นคอนเทนต์ที่เปิดประเด็นด้วยคำที่ชวนตั้งคำถาม เช่น ทำไม เพราะอะไร หรือกระตุ้นให้ลองคิดหาคำตอบด้วยกันด้วยคำลงท้ายว่า จริงหรือไม่ จริงหรือเปล่า ใช่หรือเปล่า หรือนำเสนอเนื้อเรื่องให้เลือกตอบ อย่างเช่น A หรือ B ดีกว่ากัน เป็นต้นค่ะ

3. คำนึงถึงประโยชน์ต่อคนอ่าน

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามด้วยก็คือประโยชน์ต่อคนอ่านค่ะ เราควรคิดต่อด้วยว่า สิ่งที่เราเขียนขึ้นมา จะสร้างประโยชน์อะไรต่อไปแก่ผู้ที่มาอ่านบล็อกของเรา ซึ่งการเขียนแบบนึกถึงคนอ่าน ก็ช่วยให้บล็อกของเรามีคุณค่ามากขึ้น และช่วยเพิ่มความน่าสนใจ มีคนอยากเข้ามาอ่านบล็อกของเรา

ในหนังสือ Confident Digital Content ได้พูดถึงของพฤติกรรมนักอ่านออนไลน์ไว้ว่า นักอ่านออนไลน์สมัยนี้เป็นกลุ่มนักอ่านที่มองหาบทความที่ตอบสิ่งที่เขากำลังค้นหา ดังนั้น เราจึงควรเขียนบทความที่ตอบปัญหา หรือคอนเทนต์กำลังตอบสิ่งที่เขาค้นหา หรือสิ่งที่คนอยากรู้ ลองมองมุมกลับในฐานะคนอ่าน ถ้าเราเป็นคนอ่านก็อยากอ่านอะไรที่มีประโยชน์ใช่ไหมคะ ดังนั้นบล็อกที่เราเขียนก็ควรเป็นบล็อกที่มีเนื้อหาที่ให้ประโยชน์อะไรบางอย่างให้คนอ่าน เช่น อ่านแล้วได้ความรู้เรื่องสุขภาพ เรื่องการใช้ชีวิต หรือความรู้เฉพาะสายอาชีพที่คนอ่านสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

มีผลจากงานวิจัยของ Pew Research Centre ในปี 2016 ที่น่าสนใจมากว่า ผู้คนใช้เวลาอ่านบทความที่ให้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าบทความทั่วไปนานถึง 2 เท่า ผลการวิจัยนี้กำลังบอกอะไร? สิ่งนั้นก็คือ จริงๆ แล้ว คนเราไม่ได้เลือกอ่านบทความที่ความยาว ไม่เสมอไปที่บทความเนื้อหาสั้นกว่าจะได้รับความสนใจมากกว่าบทความที่มีเนื้อหายาว ถ้าบทความนั้นมีความยาวมาก แต่มันมีเนื้อหาที่ละเอียด นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจริงๆ ทำให้คนอ่านได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น คนอ่านก็ยอมให้เวลากับการอ่านบทความนั้นค่ะ

นอกจากนี้ คอนเทนต์ที่ให้ประโยชน์ต่อคนอ่านไม่ใช่แค่ดึงดูดความสนใจของคนอ่านเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับคอนเทนต์ของเราในระยะยาว พอคนอ่านได้ลองเข้ามาอ่าน และรู้สึกว่าเป็นคอนเทนต์ที่ให้ประโยชน์จริงๆ เขาก็จะสนใจติดตามเราต่อไป และเกิดการบอกต่ออีกด้วย

เขียนบล็อกยังไงให้เกิดโมเมนตัมที่น่าอ่าน

พอเราจับจุดเริ่มต้นในการเขียนบล็อกได้แล้ว สิ่งที่เราต้องก้าวไปอีกสเต็ปก็คือ หลังจากเริ่มต้นแล้ว เราจะทำอย่างไรให้บล็อกของเราน่าอ่านมากขึ้น มีคนเข้ามาอ่านเยอะ และสามารถรักษาคุณภาพบล็อกของเราให้ยั่งยืน ต่อไปนี้ คือเทคนิคการเขียนบล็อกอย่างไร ให้คนอ่านประทับใจ และเป็นที่จดจำของคนทั่วไปค่ะ

4. รู้จักทำ Headline ที่ชวนให้อยากคลิกอ่านต่อ

อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรพลาดเวลาเขียนบล็อกเลยก็คือ Headline หรือชื่อเรื่องของบล็อกเรานั่นเองค่ะ เพราะชื่อเรื่องเป็นสิ่งที่คนอ่านเจอเป็นสิ่งแรก ถ้าไม่ดึงดูดมากพอ คนอ่านจะเลื่อนผ่านไป ดังนั้น เพื่อให้คนอ่านได้เข้ามาอ่านเนื้อที่แสนดีมีคุณภาพในบล็อกของเรา เราก็ควรเขียนคำเชื้อเชิญให้น่าสนใจผ่านการตั้งชื่อ Headline ค่ะ แต่เรื่องความน่าสนใจก็เป็นความชอบส่วนบุคคลใช่ไหมละคะ ข้อความแบบนี้อาจจะโดนใจคนหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งอาจจะรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ เราก็เลยอยากแนะนำเคล็ดลับการตั้งชื่อเรื่องของบล็อกขั้นพื้นฐานที่จะเพิ่มความน่าสนใจได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยๆ ควรที่จะใส่เทคนิคเหล่านี้เข้าไปค่ะ

4.1) เขียนชื่อเรื่องให้เคลียร์ บอกถึงเนื้อหาข้างในว่าเกี่ยวกับอะไร

อันดับแรก ชื่อเรื่องก็ต้องตั้งให้ตรงกับเนื้อหาก่อนค่ะ เราเขียนเรื่องอะไร ชื่อเรื่องเราก็ควรจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เช่น ถ้าเราอยากเขียนบล็อกเกี่ยวกับเคล็ดลับการออกกำลังกายให้น้ำหนักลดลง อาจจะตั้งชื่อเรื่องว่า “เคล็ดลับออกกำลังกายอย่างไร ให้หุ่นดีกว่าเดิม”

4.2) การใช้คำคล้องจอง มีสัมผัสคำ

เสน่ห์ของภาษาไทยอย่างหนึ่งคือ เป็นภาษาที่มีจังหวะ มีโทนเสียง มีสัมผัสคล้องจอง พอพูดแล้ว อ่านแล้วเกิดความไพเราะ ซึ่งเทคนิคนี้ก็สามารถเอามาใช้ตั้งชื่อเรื่องเหมือนกันค่ะ อย่างเช่น เรามีไอเดียว่า อยากเขียนบล็อกเกี่ยวกับการทำอาหาร ที่ทานแล้วไม่ใช่แค่อร่อย แต่เป็นอาหารที่กินแล้วไม่อ้วน และยังบำรุงผิวพรรณให้ดีขึ้นได้ด้วย เราก็อาจจะตั้งชื่อเรื่องประมาณว่า “เมนูอาหารที่กินแล้วผิวดี มีหุ่นสวย” คำว่า “ดี” กับ “มี” สัมผัสกัน พออ่านแล้วรู้สึกไหลลื่น รื่นหูดีค่ะ

4.3) การใช้ตัวเลข

นี่เป็นอีกเทคนิคที่ใช้กันเยอะ และใช้กันอย่างแพร่หลายมากๆ หลายคนอาจบอกว่า เป็นเทคนิคที่ใช้จนเกร่อแล้ว จะไม่เชยไปหน่อยเหรอ แต่ส่วนตัวเรามองว่าก็ยังเป็นอะไรที่ช่วยได้ค่ะ เพราะเทคนิคนี้จะช่วยจำกัดกรอบความคิดว่า มีกี่ข้อที่เราต้องอ่าน และชวนให้คนอ่านสงสัยนิดๆ ว่า ภายใต้จำนวนเลขนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ อย่างเช่น บทความนี้เลยค่ะ “5 เรื่องที่ไม่ควรพลาดสำหรับการเขียนบล็อก ให้มีคนอ่านเยอะ”

Shifu แนะนำ
เทคนิคการตั้งตัวเลขเป็นชื่อเรื่อง ขอแนะนำว่า ถ้าเป็นบทความเนื้อหาเชิงบวก ยิ่งตัวเลขเยอะ ยิ่งน่าสนใจค่ะ เพราะคนอ่านจะรู้สึกว่า มีเทคนิคอะไรดีๆ ให้ลองทำตั้งหลายอย่าง แต่ถ้าเป็นบทความเชิงลบเช่น สิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นตัวเลขน้อยๆ จะดีกว่าค่ะ และเทคนิคอีกอย่างคือ การเลือกใช้ตัวเลขมหัศจรรย์ เขาว่ากันว่า เลขคี่จะดึงดูดความสนใจมากกว่าเลขคู่ เช่น เลข 3, 5, 7 เป็นต้นค่ะ

4.4) ชื่อเรื่องควรดึงดูดให้คนอยากเข้ามาอ่านต่อ

การตั้งชื่อเรื่องควรตั้งแบบหลอกล่อให้คนอ่านรู้สึกอยากอ่านต่อนิดนึงค่ะ อย่างเช่น “ ‘Page ร้างห่าง Reach’ ทำอย่างไรในวันที่ Facebook เปลี่ยนไป?” พออ่านแล้วจะชวนให้สงสัยนิดนึงค่ะว่า นั่นสิ…แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง แต่ก็ต้องระวังนะคะว่า ชื่อเรื่องที่ตั้งต้องไม่ใช่แนว Clickbait ตีหัวคนอ่านเข้าบ้าน พอเข้าไปแล้ว กลับกลายเป็นคนละเรื่อง เหมือนหนังไม่ตรงปก แบบนี้ก็จะทำให้คนอ่านไม่ประทับใจ และเลือกที่จะไม่คลิกเข้ามาหาบล็อกของเราค่ะ เพราะกลัวว่าจะโดนหลอกให้กดให้ไปอ่านอีก

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเทคนิคการตั้งชื่อเรื่อง ซึ่งเราก็เคยเขียนแนะนำเคล็ดลับเด็ดเกี่ยวกับการตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจโดยเฉพาะ สามารถเข้าไปเรียนรู้กันได้ที่บทความ “ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! 7 วิธีตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน” ศึกษาไว้ ได้เทคนิคแพรวพราวไปตั้งชื่อเรื่องให้บล็อกได้น่าสนใจขึ้นแน่นอนเลยค่ะ

5. ดีไซน์ รูปภาพที่น่าดึงดูด

เรื่องความสวยงาม ดีไซน์ หรือรูปภาพที่เราใช้ก็มีส่วนช่วยดึงดูดคนอ่านให้เข้ามาอ่านบล็อกของเรามากขึ้นค่ะ ซึ่งเทคนิคนี้ขอแบ่งออกไป 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่นักเขียนบล็อกพอจะทำตามได้เองค่ะ

5.1) แพทเทิร์น F

ดีไซน์ที่นักเขียนบล็อกพอจะทำได้ด้วยตนเองก็คือ การจัดเลย์เอาท์ของตัวหนังสือในพื้นที่ที่เราเขียนค่ะ นั่นก็คือ การเว้นช่องไฟ และการเว้นย่อหน้า เทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การวางเลย์เอาท์ตัวหนังสือให้คล้ายๆ กับตัว F เกริ่นเรื่องด้านบนให้น่าสนใจ และไล่หัวข้อใหญ่ๆ ลงมา คล้ายๆ กับขีดสองขีดของตัว F ซึ่ง NNGroup ได้ทำการสังเกตถึงพฤติกรรมการอ่านบล็อกออนไลน์ค่ะ พบว่าคนส่วนใหญ่จะกวาดสายตาอ่านตามจุดต่างๆ ของบล็อกเป็นลักษณะรูปตัว F อย่างในภาพนี้เป็นตัวอย่างผลพฤติกรรมการอ่านของนักอ่านออนไลน์ค่ะ พื้นที่สีแดงคือ พื้นที่ที่นักอ่านโฟกัสหรือเพ่งอ่านมากที่สุด

เขียนบล็อก
Credit Photo: uxplanet.org

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า แพทเทิร์น F จะดึงดูดทุกความสนใจไปเสียทีเดียว และบางทีการใช้แพทเทิร์นนี้ อาจจะทำให้คนอ่านพลาดข้อความสำคัญของเราไปได้ ดังนั้นเราควรมีเทคนิคเสริม เช่น เขียนหัวข้อใหญ่ในคอนเทนต์ด้วยภาษาที่กระชับ อ่านแล้วเข้าใจถึงแก่นของเรื่องในประเด็นนั้น การ Bold ข้อความที่สำคัญให้มีความโดดเด่นขึ้นมา การใช้พื้นที่สีขาวช่วยคนอ่านพักสายตา ให้อ่านง่ายขึ้น

5.2) รูปภาพคมชัด สอดคล้องกับเนื้อหา

รูปภาพที่ใช้ควรมีความสอดคล้องกับเนื้อหา เพื่อช่วยคนอ่านตีความเนื้อเรื่องของคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น และควรเป็นภาพที่มีมุมสวย มีความละเอียด คมชัด ภาพที่มีความสวยงามจะช่วยดึงดูดให้คนอยากเข้าไปอ่านเนื้อหาข้างในมากขึ้นค่ะ และที่สำคัญรูปภาพสวยๆ จะสร้าง “Good User Experience” ส่งผลต่อการจัดอันดับใน Google ด้วยนะคะ ยิ่งบล็อกที่เราเขียนสร้างประสบการณ์ที่ดีมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสติดอันดับที่หน้าแรกของ Google ค่ะ และหนึ่งเรื่องสำคัญคือ ถ้าใช้รูปภาพที่เราถ่ายเองก็จะดีมากๆ ค่ะ หรือถ้าไม่สามารถถ่ายได้ ขอแนะนำหารูปในเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ใช้รูปได้ฟรี ไม่มีลิขสิทธิ์ค่ะ

6. ความสม่ำเสมอ

เดี๋ยวเขียน เดี๋ยวหยุดก็คงไม่ดีเท่าไหร่ค่ะ เราต้องมีความสม่ำเสมอในการเขียน แล้วทำไมเราถึงต้องเขียนอย่างสม่ำเสมอ เพราะว่าการที่นานๆ มาเขียนที คนอ่านอาจจะคิดไปว่าเราเลิกเขียนไปแล้วก็ได้ หรือไม่ก็อาจทำให้เนื้อหาของบล็อกเราอาจจะห่างหายไปจากหน้าฟีด หรือในโลกออนไลน์ ทำให้คนลืม ยากที่จะจดจำ และการเขียนอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้บล็อกเรามีเนื้อหาที่เยอะขึ้น ดูเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา มีบทความหลากหลายที่ตอบสนองความชอบของนักอ่านมากขึ้น

อีกทั้งการเขียนอย่างสม่ำเสมอก็ยังเป็นการพัฒนาทักษะการเขียนของเรา ยิ่งเขียนบ่อย ยิ่งพัฒนาขึ้น พอมีการพัฒนา บล็อกของเราก็จะมีความน่าสนใจมากขึ้น สามารถทำให้อยากจะติดตามมากขึ้นค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเขียนบ่อย วันละหลายบทความ แต่อาจจะเขียนวันละบทความ หรืออาทิตย์ละบทความก็ได้ค่ะ

อย่างเช่น Content Shifu มีจุดเริ่มต้นจากงานอดิเรก แต่ก็ทำประจำสม่ำเสมอ ปล่อยบทความใหม่ทุกสัปดาห์ 1 บทความต่อ 1 สัปดาห์ สะสมมาปีกว่าๆ พอรวมๆ กันแล้ว ตอนนี้ก็มีบทความมากกว่า 100 บทความเลยค่ะ

เขียนบล็อก

Credit Photo: wishwishwish.net

หรือจะเป็นบล็อกของแคร์รี่ หญิงสาวลอนดอนวัย 27 ปี ที่เขียนบล็อกขึ้นมาจากความชอบส่วนตัวของเธอค่ะ ชื่อบล็อกว่า “Wish Wish Wish” เป็นบล็อกที่เริ่มต้นจากความชอบเกี่ยวกับแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า และการท่องเที่ยว ถ้าพูดให้เห็นภาพมากขึ้น สิ่งที่เธอสนใจก็คือแนวไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนั่นแหละค่ะ เธอมักจะถ่ายภาพต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับแฟชั่น และเขียนบล็อกที่มีเนื้อหาแนวๆ ไดอารี่ลงไปค่ะ ซึ่งบล็อกนี้เธอก็เขียนมาแล้ว 10 ปี ก็เริ่มจากการเขียนทีละเล็กทีละน้อย จนถึงวันนี้ก็มีบทความมากขึ้น และสิ่งที่เธอเขียนก็ยังสร้างเม็ดเงินให้กับเธอได้อีกด้วย เห็นไหมว่า ความชอบส่วนตัวก็สามารถเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งในการสร้างบล็อกให้สำเร็จได้ด้วยเช่นกัน

สรุป

เขียนบล็อกให้โดดเด่นบนโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทักษะและเทคนิคเยอะพอสมควรค่ะ เราจำเป็นต้องรู้ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญในการเขียนบล็อก หรือคอนเทนต์ออนไลน์ มีส่วนผสมอะไรบ้างที่ใส่ไปแล้ว จะดึงดูดคนให้เข้ามาอ่าน และให้คนอ่านรู้สึกประทับใจเมื่อคลิกออกจาหน้าบล็อกเราไป พอบล็อกที่เราเขียนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ก็จะมีคนอ่านมากขึ้น และถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้ “บล็อก” ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจล่ะก็ การรู้เทคนิคสำหรับการเขียนบล็อกให้คนอ่านเยอะ และมีความยั่งยืน ก็เป็นการเพิ่มโอการให้ลูกค้าได้เข้ามารู้จักสินค้าหรือว่าแบรนด์เราผ่านบล็อกของเราได้ และสร้างรายได้อีกมากมายจากงานเขียนค่ะ

ถึงตาคุณแล้ว

คราวนี้ลองดูกันว่า บล็อกของคุณกำลังขาดข้อไหนอยู่หรือเปล่า ลองมาเติมให้เต็ม แล้วลองเขียนบล็อกนั้นขึ้นมาอีกครั้ง ตื่นเช้าขึ้นมาอาจมีใครสักคนกำลังแชร์หรือพูดถึงบทความของคุณอยู่ก็ได้นะ!