การคิดหัวข้อในการเขียนบทความนั้นบอกเลยว่าไม่ง่ายเลย บางครั้งนั่งคิดแล้ว คิดอีก คิดแล้ว คิดอีก ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี การหาเรื่องที่จะเขียนถึงนั้นว่ายากแล้ว แต่การหาเรื่องที่น่าสนใจมาเขียนนี้ยิ่งยากไปใหญ่

เรื่องการหาหัวข้อบทความมาเขียนนี่ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตกที่นักเขียนแทบจะทุกคนต้องเจอ หรือต้องเคยเจอมาก่อนเลยก็ว่าได้ ขนาดผมเขียนบน Content Shifu แค่เดือนละ 1-2 บทความ ในบางครั้งผมยังรู้สึกยากในการหาเรื่องที่น่าสนใจมาเขียนเลย

บทความนี้ผมจะมาแชร์วิธีการเจ๋งๆ ในการหาหัวข้อมาเขียน ซึ่งบางวิธีเป็นวิธีที่ผมใช้เป็นประจำ และบางวิธีก็ไม่เคยใช้มาก่อน แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ใช้ได้ (สาเหตุที่ไม่ได้ใช้เพราะวิธีเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เหมาะกับลักษณะของคอนเทนต์ที่ผมเขียนอยู่)

อ่านบทความนี้จบ ผมรับรองว่าคุณจะสามารถหาหัวข้อดีๆ มาเขียนได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอนครับ

New call-to-action

เขียนบทความอะไรดี? ใช้วิธีเหล่านี้สิ

1. Google และ Facebook พ่อทุกสถาบัน

Google และ Facebook นั้นมีผู้ใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นตัวพ่อบนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่พวกเขาเก็บไว้นั้นเรียกได้ว่ามีมากมายมหาศาล ซึ่งถ้าคุณใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของพวกเขาให้ดี จะทำให้คุณสามารถคาดการณ์ได้ว่าบทความไหนน่าสนใจ หรือบทความไหนน่าถูกเขียนถึง

สำหรับ Google วิธีการค้นหาหัวข้อที่ผมอยากให้ลองใช้มีอยู่ 4 อย่าง

1. Google Keyword Planner

Keyword Planner_Google AdWords_R1

คุณสามารถใช้ Google Keyword Planner เพื่อเช็คดูว่า Keyword ไหน หรือหัวข้อไหนมีคนค้นหาเยอะได้ ยิ่งมีคนค้นหาเยอะ แสดงว่า Keyword หรือหัวข้อนั้นๆ มีความน่าสนใจ

Shifu แนะนำ
บาง Keyword ที่ค่อนข้างสั้น อาจจะมีการแข่งขันสูง ผมแนะนำให้เอา Keyword สั้นๆ อันนั้นเป็นไอเดีย และค้นหา Longtail keyword เพื่อเอามาเขียนครับ

คุณสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Longtail keyword ได้ “keyword คืออะไร และ หา keyword ของเว็บไซต์อย่างไรให้รายได้ของคุณพุ่ง

2. Google Trend

Google Trends

คุณสามารถใช้ Google Trend เพื่อดูความสนใจของคนในภาพใหญ่ได้ เช่นจากตัวอย่างข้างบน Google Trend จะบอกว่าในประเทศไทย 5 ปีหลังสุดนั้นมีคนสนใจคำว่า Football มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

3. Google Autofill

คุณสามารถใช้ Google Autofill เพื่อดูได้ว่า Google แนะนำให้ค้นหาคำว่าอะไร เช่นจากตัวอย่างข้างบน ผมพิมพ์คำว่าการตลาด Google ก็เลยแนะนำ Keyword อื่นๆ ที่มีคำว่าการตลาดอยู่ด้วยมาให้ผม

4. Related Search

หลังจากที่คุณใส่ Keyword ที่คุณต้องการค้นหา และคลิกปุ่ม “ค้นหา” แล้ว Google จะแสดงผลการค้นหาให้คุณมากมาย ซึ่งถ้าคุณเลื่อนลงมาข้างล่าสุดคุณจะเห็นว่า Google จะแนะนำคำค้นหาอื่นๆ ให้คุณด้วยเช่นกัน

สำหรับ Facebook นั้น จะเห็นได้ว่าในตอนนี้ พวกเขาก็พยายามทำตัวเองเป็น Search Engine ในระดับนึงเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นวิธีที่ผมอยากจะแนะนำคือลองพิมพ์ Keyword ที่คุณอยากเช็คใน Facebook จากนั้นก็ไปที่ Tab Post (หรือ Hashtag) แล้วเลื่อนเช็คดูว่าปกติแล้วมีคนเขียนถึง Keyword นั้นๆ ว่าอะไรบ้าง ผมคิดว่าข้อมูลที่คุณจะได้จาก Google และ Facebook นั้นจะเป็นคนละแบบกัน ซึ่งในความเห็นผม ผมคิดว่าคุณจะได้ข้อมูลที่ลงรายละเอียดและเป็น How-to มากกว่าถ้าค้นหาผ่าน Google แต่ถ้าค้นหาใน Facebook คุณจะได้ข้อมูลที่เป็นลักษณะการแชร์ประสบการณ์มากกว่า

2. โคนันยอดนักสืบ

ดังสุภาษิตที่ว่าไว้ว่า “Good artists copy, great artists steal”

สุภาษิตข้างบน ถ้าแปลเป็นภาษาไทย อาจจะแรง และขัดใจคนหลายๆ คน เพราะฉะนั้นผมขอเปลี่ยนคำว่า “Steal” เป็นคำว่า “เรียนรู้” แล้วกันนะครับ เพราะผมคิดว่าในบริบทนี้ ความหมายมันคล้ายกัน

ตัวอย่างในข้อก่อนหน้าเป็นการเรียนรู้จากไอเดียจากระบบที่เก็บข้อมูลไว้เป็นจำนวนมากอย่าง Google และ Facebook แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณสามารถใช้วิธีอื่นเพื่อหาไอเดียมาเขียนบทความได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นถ้าคุณมีบล็อก หรือเว็บไซต์ของคนที่คุณชื่นชอบ และตามอ่านเป็นประจำ, คนที่เขียนบทความในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงจากคุณ หรือแม้แต่คู่แข่งของคุณ คุณสามารถเอาเรื่องที่พวกเขาเขียนมาวิเคราะห์ และเรียนรู้ได้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี หรือะไรที่พวกเขายังขาดอยู่

การที่เอาของคนอื่นมานั้น ไม่ใช่เป็นการเอาโครงสร้างในการเขียน หรือเอาเนื้อหามาแล้วทำการดัดแปลง แต่เป็นการเรียนรู้แนวคิดหรือหัวข้อมา แล้วเอามาค้นคว้า และเรียบเรียงเองในรูปแบบของคุณ

Shifu แนะนำ
อย่างของผมเอง บทความเกือบทุกบทความที่ผมเขียนขึ้นมา ไม่ได้อยู่ๆ คิดค้นขึ้นมาเอง แต่เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่คนเขาคิดค้นกันมาอยู่แล้วเช่นกัน ผมเพียงแค่เอามาเรียนรู้ ค้นคว้า ทดลอง และต่อยอด จากนั้นก็เอามาเขียน และเรียบเรียงในรูปแบบของผม

Neil Patel (ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing คนหนึ่ง)​เองก็ยังเคยพูดอยู่เป็นประจำว่าวิธีการที่เรียนรู้จากคนอื่นที่ทำได้ดีนั้นใช้ได้ผล เพียงแต่ว่าคุณต้องทำได้ดีกว่าเช่น ถ้ามีคนเขียนบทความ “12 วิธีการเขียนบทความให้น่าอ่าน” แล้วมีคนสนใจเยอะ Neil ก็จะแนะนำว่าให้ไปศึกษาบทความนั้นๆ และเขียนให้ได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น “100 วิธีการเขียนบทความให้น่าอ่านแบบง่ายๆ” เป็นต้น

เครื่องมือที่ช่วยให้คุณสามารถเรียนรู้จากคนอื่นได้ง่ายๆ มีอยู่ 4 ตัวได้แก่

1. Buzzsumo

จริงๆ แล้ว Buzzsumo นั้นทำอะไรได้หลายอย่าง หนึ่งในสิ่งที่มันทำได้ก็คือการพิมพ์ Keyword ลงไป แล้วมันจะบอกมาว่าคอนเทนต์ไหนเป็นที่นิยม และมันถูกแชร์ผ่าน Social Media ต่างๆ เท่าไหร่

2. Pocket และ Feedly

Pocket และ Feedly เป็นเว็บ/แอพคล้ายๆ กันคือคุณสามารถเก็บ Feed จากบล็อกที่คุณชอบอ่านไว้ได้ และมันจะคอย Push บล็อกที่คุณติดตามมาให้เสมอๆ เมื่อพวกเขามีอัปเดต

3. Unroll.me

Unroll.me เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณรวม Subscription ของคุณอยู่ในอีเมลเดียว ข้อดีของมันคือมันจะทำให้คุณได้อีเมลไม่บ่อยเกินไป แต่ข้อเสียคือมันอาจจะทำให้คุณพลาดอีเมลสำคัญๆ หรืออีเมลเจ๋งๆ ที่มีคอนเทนต์ดีๆ ไป

3. ถามแฟนๆ

วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างตรงตัวมา ถ้าคุณอยากรู้ว่าคุณควรจะเขียนอะไรดี คุณก็ถามคนอ่านสิ!

บทความที่คุณเขียนขึ้นมานั้น เขียนเพื่อให้คนที่ติดตามคนอยู่ หรือคนที่สนใจในเรื่องนั้นๆ อ่าน ซึ่งถ้าคุณลองถามคนอ่าน คุณอาจจะได้ไอเดียการเขียนบทความใหม่ๆ ก็เป็นได้

วิธีการที่ง่ายที่สุดคือพิมพ์ถามเข้าไปใน Social Media เลย หรือว่าคุณอาจจะสร้างฟอร์มจาก Google Form หรือ Typeform แล้วให้พวกเขากรอกมาก็ได้

4. ของเก่ามีค่า

ในบางครั้งคนเราก็มองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไป

บทความเก่าๆ ที่คุณเคยเขียนมานั้นถือเป็นตัวใบ้ชั้นดีให้กับคุณว่าคุณสามารถเขียนบทความอะไรต่อได้ โดยปกติแล้วบทความหนึ่งบทความนั้นไม่สามารถเขียนถึงทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างครอบคลุมได้ คุณสามารถดึงเอาหัวข้อเล็กๆ ในบทความที่คุณเคยเขียนถึงไปแล้วมาขยายความต่อได้ หรือในทางกลับกันคุณอาจจะเคยเขียนถึงหัวข้อเล็กกว่า คุณก็สามารถเอาภาพที่ใหญ่กว่าหัวข้อนั้นๆ มาเขียนบทความต่อได้ เช่น

บทความ “คอนเทนต์เราไม่เก่าเลย! วิธีการชุบบทความดีๆ ในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” คาบเกี่ยวกับข้อที่ 4 ในบทความนี้ หรือบทความ “ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! 7 วิธีการตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของบทความ “7 วิธีการเขียนบทความออนไลน์แบบไล่คนอ่านไปไกลๆ เป็นต้น

หรืออีกวิธีนึง คุณอาจจะเขียนภาคต่อของบทความที่คุณเคยเขียนก็ได้ เช่น Content Shifu เคยมีคอนเทนต์เกี่ยวกับ On-page SEO อยู่แล้ว ผมก็เลยเขียนภาคต่ออย่างเรื่อง Off-page SEO ต่อเลย เป็นต้น

สรุป

และนี่ก็คือ 4 วิธีเจ๋งๆ ในการหาหัวข้อมาเขียนบทความนะครับ

หลายๆ ครั้งที่คุณต้องเขียนบทความบ่อยๆ หรือเขียนเป็นจำนวนมากๆ คุณอาจจะรู้สึกตื้อ รู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่างเปล่า ไม่มีไอเดียในหัวเลย แต่ถ้าลองเอา 4 ไอเดียนี้ไปใช้ ผมรับรองว่าคุณจะมีไอเดียใหม่ๆ ในการเขียนบทความเพิ่มขึ้นอีกเยอเลย รับรอง! ที่สำคัญสำหรับใครที่กำลังศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Content Marketing อยู่ล่ะก็ ทาง Content Shifu ก็มีบทความดีๆ อีกเพียบที่รอให้คุณเข้าไปอ่าน

Shifu แนะนำ
4  วิธีนี้คงทำให้คุณได้เห็นว่า บทบาทการเป็นนักเขียนยุคใหม่นั้นการใช้ Microsoft Word เป็นอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่การเป็น “Digital Writer” หรือนักเขียนที่เข้าใจกลไกดิจิทัลต่างๆ ได้ดี คือทักษะในยุคใหม่ Content Shifu ผมก็เลยอยากขอแนะนำให้คุณดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่คอร์ส Digital Content Writing Certification ครับ

ตาคุณแล้ว

คุณมีวิธีอื่นในการหาหัวข้อบทความดีๆ มาเขียนบ้างรึเปล่า? มาแชร์กันต่อได้ในคอมเมนต์ทางด้านล่างเลยครับ 🙂