จากบทความก่อนหน้าเราได้เห็นเส้นทางของเว็บพอร์ทัลไทยจากจุดเริ่มต้น…สู่การเดินทางอันยาวนานกว่า 20 ปีจนถึงปัจจุบัน การจะขึ้นมาเป็นเว็บไซต์อันดับต้นๆ ของไทยต้องฝ่าฟันอุปสรรคไม่ใช่น้อย ทั้งการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงของโลกและอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นบทความนี้เราจะเจาะลึกเว็บพอร์ทัลยักษ์ใหญ่แต่ละเจ้าในเมืองไทย มาดูความแข็งแกร่งของ 4 ‘ผู้อยู่รอด' ที่ทำให้เว็บสามารถยืนหยัดอย่างต่อเนื่องมาได้จนถึงทุกวันนี้

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

Sanook พอร์ทัลเว็บแรก จาก Tencent

หน้าแรกของเว็บไซต์ Sanook รวมถึงหน้าแรกของหมวดหมู่ต่าง ๆ จะมีปุ่มทางลัดไปยังเรื่องราวที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น อย่างในรูปภาพ ที่มีปุ่มทางลัดไปยัง “เอเชียนเกมส์ 2018” “ดูดวง” และ “ตรวจหวยงวดล่าสุด” – Sanook.com

Sanook เว็บพอร์ทัลแรกของไทย ที่มีประวัติศาสตร์มากมาย เป็นเว็บพอร์ทัลที่มีเนื้อหาครอบคลุมในทุก ๆ แง่มุมรอบตัวเรา รวมทั้งยังมีคอนเทนต์ในรูปแบบการให้บริการอีกด้วย ซึ่งหลาย ๆ บริการ ก็ได้แรงสนับสนุนมาจาก Tencent บริษัทแม่ของ Sanook อีกด้วย

คอนเทนต์ประเภทเนื้อหา.. มีครบ

คอนเทนต์ประเภทเนื้อหาจาก Sanook จะมีทั้งที่ทีมงานของ Sanook ทำเอง และเนื้อหาจากสำนักข่าว และเว็บไซต์พันธมิตร ทั้งรายเล็ก รายใหญ่มากมาย คล้าย ๆ กับที่ Line TODAY หรือที่ MSN ทำอยู่

สำหรับหมวดหมู่ของบทความ (Categories) ก็เรียกได้ว่าครอบคลุมมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น..

  • อัปเดตทันสถานการณ์ : ข่าวสารทั่วไป ข่าวบันเทิง และกีฬา
  • ข่าวสารในวงการ ทริก และรีวิว : เกม ไอที รถยนต์ หนัง/ละคร เพลง และ การเงิน
  • เรื่องราวไลฟ์สไตล์ : ผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น กิน/เที่ยว สุขภาพ บ้าน และ โมชิ โมชิ (เรื่องราวและวัฒนธรรมญี่ปุ่น)

ในยุคที่เว็บไซต์ที่ทำเนื้อหาเฉพาะในด้านนั้น ๆ จะเกิดขึ้นมากมาย แทนที่ Sanook จะมองเป็นคู่แข่ง ในทางกลับกัน Sanook ได้ติดต่อขอซื้อเนื้อหาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ มาลงที่ Sanook ซึ่งประโยชน์ก็ได้ทั้ง Sanook เอง ที่มีเนื้อหามากยิ่งขึ้น และเว็บไซต์นั้น ๆ ที่มีช่องทางในการสื่อสารกับผู้อ่านมากยิ่งขึ้นด้วย

ส่วนหนึ่งของพันธมิตรสื่อของ Sanook – Sanook หมวดหมู่ ข่าว ไอที บ้าน สุขภาพ และ การเงิน

Streaming ส่งตรงถึงมือคุณ

นอกจากคอนเทนต์ประเภทเนื้อหาที่สนุกรวบรวมไว้อย่างแน่นมาก ๆ คอนเทนต์ที่ให้บริการด้านความบันเทิง ก็มีเช่นกัน ทั้ง..

  • ฟังเพลง : Joox แอปพลิเคชันฟังเพลงของ Tencent ประเทศจีน ที่ให้บริการบนเว็บไซต์ ผ่าน Sanook ร่วมกับหน้าเว็บไซต์ในหมวดหมู่เพลง ซึ่งนอกจากเพลงที่มีเยอะมาก ๆ แล้ว ยังมีถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตที่จัดเอง และคอนเทนต์เสียงอื่น ๆ อย่างเช่นรายการดูดวง เล่าเรื่องสยองขวัญอีกด้วย
  • อ่านการ์ตูน : ร่วมมือกับ OokbeeComics ผู้ให้บริการอ่านการ์ตูนออนไลน์ ที่มีผลงานจากนักเขียน นักวาดมากมาย
  • เรียนออนไลน์ : จับมือกับ SkillLane วิดีโอคอร์สเรียนออนไลน์ที่ให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะของตัวเอง ทั้งในการทำงาน และงานอดิเรก
Tencent เป็นอะไรกับ Ookbee ??

  • Ookbee ก่อตั้งโดย คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ และมีผู้ร่วมลงทุนคือ Tencent (จากประเทศจีน ไม่ใช่ Tencent Thailand) Intouch และ Transcosmos
  • Ookbee เป็นผู้ให้บริการ E-Book และ Ookbee U ที่เน้นไปที่การสร้าง UGC (User-Generated Content) ที่มีบริการต่าง ๆ ทั้ง OokbeeComics Fungjai Storylog Fictionlog และ ธัญวลัย ซึ่ง Ookbee U เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Ookbee และ Tencent (จากประเทศจีน ไม่ใช่ Tencent Thailand)
  • ในเมื่อ Tencent Thailand และ Ookbee ต่างมี Tencent เป็นผู้ลงทุน ก็เท่ากับว่า Joox ของ Tencent Thailand กับ Fungjai ของ Ookbee เป็นญาติกัน โดยที่ Joox เน้นเพลงทั่วไป เพลงในกระแส ส่วน Fungjai เน้นไปที่เพลงอินดี้

สามารถฟังเพลงผ่าน Joox บนคอมพิวเตอร์ได้ทั้ง music.sanook.com และ www.joox.com

ส่วนอื่น ๆ ที่ช่วยเติมเต็ม Sanook

นอกจากนี้ ส่วนหลัก ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังมีส่วนอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรม ทั้ง ไทย – ไทย ไทย – อังกฤษ ที่เวลาเราจะค้นหาความหมายของคำผ่านช่องค้นหาของกูเกิล ก็จะพบคำตอบจาก Sanook ไม่ก็ Longdo อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมี กูรู-รอบรู้ และ How To ที่รวบรวมความรู้ และเคล็ดลับต่าง ๆ รอบตัว ที่เวลาเราสงสัยอะไร แล้วค้นหาจากกูเกิล ก็มักจะพบจากที่นี่เช่นกัน

รวมทั้งยังมี เว็บบอร์ด ที่อยู่คู่กับเว็บมาเนิ่นนาน แต่ตอนนี้ก็ดูเหมือนว่า หลัง ๆ จะมีแต่กระทู้พีอาร์ขายของ ไม่ก็เว็บไซต์อื่น เอาคอนเทนต์ของเว็บตัวมาตั้งเป็นกระทู้ที่นี่ และยังมี ทีวีออนไลน์ ที่มีแค่ ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 คลิปวิดีโอ ที่รวบรวมมาจาก YouTube อีกที แกลเลอรี ที่รวบรวมรูปภาพสวย ๆ จากที่ต่าง ๆ อีกด้วย และ สารบัญเว็บไซต์ รวบรวม URL เว็บไซต์ต่าง ๆ อย่างเป็นหมวดหมู่

Facebook Fanpage ที่ Sanook มี

ยอดการกดถูกใจของเพจ Sanook รวมทั้งเพจของหมวดหมู่ย่อย Joox และ NoozUp (เฉพาะเพจที่ Active อยู่) ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2561

  • Sanook : 3,449,331 คน
  • Sanook News : 5,834,487 คน
  • Sanook TV/Movies : 476,662 คน
  • Sanook Sport : 196,656 คน
  • Sanook Music : 61,627 คน
  • Sanook VDO : 55,477 คน
  • Sanook Horoscope : 169,243 คน
  • Sanook! Game : 86,840 คน เป็นเพจเดียวของ Sanook ที่มีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)
  • Sanook Money : 327,777 คน
  • Sanook Travel : 196,901 คน
  • Sanook Health : 15,048 คน
  • Sanook Hitech : 141,477 คน
  • Sanook Auto : 253,288 คน
  • Sanook Women : 187,300 คน
  • Sanook Men : 104,802 คน
  • Sanook Campus : 95,647 คน
  • Sanook Home : 10,737 คน
  • Sanook Webboard : 1,584,958 คน ในเพจ ไม่มีลิงก์จาก Sanook Webboard มาแชร์เลย มีแต่บทความจากหมวดหมู่อื่น ๆ
  • Joox : 491,898 คน
  • NoozUp : 10,243 คน
บริการของ Tencent Thailand ในแบรนด์อื่น ๆ
นอกจาก Sanook กับ Joox แล้ว Tencent Thailand ก็ยังมีบริการอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น..

  • NoozUP แอปพลิเคชันอ่านข่าวบนมือถือ ที่เอาเนื้อหามาจาก Sanook และพันธมิตรของ Sanook อีกที
  • Tencent Game ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ และเกมบนมือถือ ที่มีสาขาทั่วโลก ส่วนหนึ่งในหลาย ๆ เกมสุดฮอตจากค่ายนี้ ก็คือ League of Legend PUBG และ RoV นั่งเอง (RoV ในบางประเทศ รวมถึงไทย จัดจำหน่ายโดย Garena แทน ซึ่ง Garena เป็นส่วนหนึ่งของ SEA Group และ Tencent เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนของ SEA Group) สำหรับเกมที่ Tencent Thailand ให้บริการด้วยตัวเอง คือเกม Naruto Online
  • VOOV แอปพลิเคชันไลฟ์สดจากผู้ใช้ทางบ้าน ที่หลาย ๆ คนในไทยรู้จักกัน จากที่ BNK48 ไปไลฟ์ในแอปฯ นี้
  • WeChat ที่จากเดิม สำนักงานในไทยจะโฟกัสไปที่การสร้างผู้ใช้ในประเทศ แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปโฟกัสที่การพาผู้ประกอบการไทย ไปทำการตลาดกับผู้บริโภคชาวจีนแทน
  • Tencent Cloud ผู้ให้บริการ Cloud
  • Topspace เอเจนซี ด้านการตลาดดิจิทัล
  • ม่วน (ມ່ວນ) เว็บพอร์ทัลสำหรับชาว สปป. ลาว

ม่วน (ມ່ວນ) เว็บพอร์ทัลสำหรับชาว สปป. ลาว (แต่ยังมีโฆษณาจากไทยหลุดมาอยู่ด้วย) – muan.sanook.com

https://www.youtube.com/watch?v=bIJ4WHV0FVg

สมาชิกจาก BNK48 แวะเวียนมาไลฟ์เป็นประจำที่ VOOV

และนอกจากนี้ ยังมีบริการที่เราคุ้นหูกัน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ก็คือ QQ บริการแชตจาก Tencent ซึ่งในประเทศไทย Sanook ได้นำเข้ามาเปิดบริการ ตั้งแต่ก่อนที่ Tencent จะเข้ามาซื้อ Sanook เสียอีก และเว็บซื้อขายของมือสองอย่าง Dealfish ที่เปลี่ยนไปเป็น OLX (แบรนด์ OLX เป็นแบรนด์ที่ Naspers ใช้กับเว็บประเภทนี้ทั่วโลก) จนล่าสุด ในปี 2557 เว็บซื้อขายของมือสองระดับโลก ทั้ง OLX จาก Naspers และ Kaidee จาก 701Search (Schibsted Media Telenor Group และ Singapore Press Holding) ควบรวมกัน ทำให้ในไทย OLX ควบรวมกับ Kaidee จาก 701Search เป็น Kaidee ในปัจจุบัน (เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น OLX ไม่ถึงปี เปลี่ยนชื่ออีกแล้ว) ซึ่งในปัจจุบัน Kaidee ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Sanook (Tencent Thailand) ดั่งเช่นในสมัยที่เป็น Dealfish แล้ว

QQ ก็มี WeChat ก็มี
ในประเทศจีน Tencent ให้บริการโปรแกรม-แอปพลิเคชันแชตพร้อมกันทั้งสองตัว ทั้ง WeChat และ QQ

สรุปจุดเด่นที่น่าสนใจ

  • หน้าตาเว็บไซต์ที่ใช้งานง่าย จัดหน้าสวยงาม เป็นมิตรกับผู้อ่าน
  • มีคอนเทนต์ที่หลากหลายมาก จากทั้งทีมงาน Sanook เอง และสื่อพันธมิตร
  • มีเนื้อหาที่เป็นทริก ความรู้ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้คนค้นหาอยู่เป็นประจำ
  • Joox แอปพลิเคชันฟังเพลง ที่ให้บริการฟรี มีเพลงหลากหลาย ทั้งไทยสากล ไทยลูกทุ่ง และเพลงจากต่างประเทศ และยังถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของวงการเพลงไทย ที่ทำให้คนไทยหันหลังให้กับการฟังเพลงผิดลิขสิทธิ์อีกด้วย (4Shared ไม่ต้องแล้ว ใช้ Joox ง่ายกว่า)
  • เป็นบริษัทลูกของ Tencent ประเทศจีน ที่มีนวัตกรรมด้านความบันเทิงบนโลกออนไลน์มากมาย เมื่อที่จีนมีอะไรใหม่ ๆ คนไทยก็อาจจะได้ใช้ด้วย

แอปพลิเคชันของ Sanook

Kapook พอร์ทัลหนึ่งเดียว ที่ไม่ได้มาจากทุนใหญ่

หน้าเว็บไซต์ Kapook ที่ให้ผู้ชมสามารถเปลี่ยนการแสดงบทความเด่นในแต่ละหมวดหมู่ได้ – Kapook.com

Kapook เว็บพอร์ทัลที่เรตติ้งที่ตีคู่สูสีมากับ Sanook ที่มีผู้ก่อตั้งคนเดียวกัน แต่ทว่า.. Kapook ก็เป็นเว็บพอร์ทัลเดียว ที่ไม่มีนายทุนรายใหญ่มาเป็นผู้ถือหุ้นเลย เงินไม่หนาเหมือนใคร ๆ แต่ก็ยังยืนหยัดมาได้ ในตำแหน่งที่สูงมากๆ ของวงการ จนถึงทุกวันนี้

คอนเทนต์หลากลาย ครบ จบที่เดียว

Kapook ก็เป็นอีกหนึ่งเว็บพอร์ทัล ที่มีหมวดหมู่หลากหลายเช่นกัน รวมทั้งยังมีหมวดหมู่ของบทความ ที่เจาะลึกยิ่งกว่าที่อื่นอีกด้วย สำหรับในส่วนของเนื้อหา มีทั้งที่ทีมงานของ Kapook เขียนเอง และนำมาจากสื่อพันธมิตร

  • อัปเดตทันสถานการณ์ : ข่าวสารทั่วไป ฟุตบอล (ไม่มีหมวดหมู่กีฬา) และ การศึกษา
  • เรื่องราวโลกแห่งความบันเทิง : บันเทิงเกาหลี ละคร ดูหนัง และ เพลง (Music Station)
  • เรื่องราวไลฟ์สไตล์ : ผู้ชาย ผู้หญิง (ข่าวบันเทิง เป็นส่วนหนึ่งของหมวดหมู่ผู้หญิง) สูตรอาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ ดูดวง แม่และเด็ก แต่งงาน สัตว์เลี้ยง บ้านและการตกแต่ง มือถือ และ รถยนต์

จากการสำหรับของผู้เขียนเอง พบว่า สัดส่วนเนื้อหาจากสื่อภายนอก มีน้อยกว่า Sanook อีกทั้งยังพบว่า หลาย ๆ หมวดหมู่ ยังไม่มีการแก้ไขให้เข้ากับการดีไซน์ใหม่ และเนื้อหาในบางหมวดหมู่ ไมมีการอัปเดตมานานแล้ว เช่น หมวดหมู่ย่อย การศึกษาต่อ ทุนการศึกษา กิจกรรมจากนักศึกษา ค่ายสำหรับน้อง ๆ ม.ปลาย (ภายใต้ชื่อ รอบรั้ว Campus) ในหมวดหมู่การศึกษา ไม่มีการอัปเดตตั้งแต่ปี 2559 แล้ว

หมวดหมู่การศึกษา ที่ดีไซน์ และบางหมวดหมู่ย่อยยังไม่ได้รับการอัปเดต – education.kapook.com

ในหมวดหมู่ Music Station ก็มีเพลงให้ฟังเช่นกัน (แต่เป็นการฝังวิดีโอจากเว็บที่ค่ายเพลงไปฝากวิดีโอไว้อีกที) – Music Staion คิดถึงจัง(มาหาหน่อย)

ส่วนอื่น ๆ ที่เติมเต็ม

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว Kapook ก็ยังมีหน้าเว็บที่รวบรวมรูปภาพจากที่ต่าง ๆ และคลิปจาก YouTube ในชื่อว่า World อีกทั้งยังมีหมวดหมู่ Infographic ที่รวบรวมชิ้นงาน Infographic ที่ทีมงาน Kapook เพื่อใช้ประกอบบทความต่าง ๆ ของเว็บไซต์ ตัวผู้เขียนเอง ได้มีโอกาสเห็น Infographic จาก Kapook บ่อยพอสมควร แต่ไม่ได้เห็นจากหน้าเว็บของ Kapook แต่เห็นจากแฟนเพจบน Facebook ของผู้อื่น ที่คัดลอกไปโพสต์ใหม่ หรือไม่ก็พบในกลุ่มไลน์ ที่คุณพ่อคุณแม่อยู่ ฮา !! (แสดงว่าทำได้สวยมาก เนื้อหาครบ จนใคร ๆ ก็อยากเอาไปบอกต่อ)

สำหรับข้อมูล ที่คนมักจะค้นหาบ่อย เช่นวันสำคัญต่าง ๆ ถ้าในช่วงวัยเรียน ใครได้ทำรายงานส่งครู แล้วหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องเอามาจาก Kapook แน่นอน โดยเรามักจะพบข้อมูลวันสำคัญต่าง ๆ ที่มีข้อมูลทั้งประวัติของวันสำคัญวันนั้น ๆ จนถึงคำขวัญในแต่ละปีของวันนั้น ๆ อีกด้วย ซึ่งเราจะพบหน้าพวกนี้ ใน URL hilight.kapook.com ซึ่งตอนนี้ ผู้เขียนเองก็ยังหาไม่เจอ ว่า Kapook ได้รวบรวมเป็นหน้าหมวดหมู่ที่สามารถกดจากหน้าเว็บรึเปล่า

Infographic บางส่วนจาก Kapook ทั้งสวยงาม และข้อมูลครบ – infographic.kapook.com

จะวันสำคัญไหนๆ Kapook ก็มีครบ – Google

การศึกษา ที่ Kapook ให้ความสำคัญ

นอกจากหมวดหมู่ข่าวสารด้านการศึกษาแล้ว Kapook ก็ได้ทำคอร์สเรียนออนไลน์ด้วย ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับน้อง ๆ ม.ปลาย และคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานบนโลกออนไลน์ ในชื่อ Bundit Center (ชื่อเดียวกับบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของ Kapook)

Facebook Fanpage ที่ Kapook มี

ยอดการกดถูกใจของเพจ Kapook รวมทั้งเพจของหมวดหมู่ย่อย (เฉพาะเพจที่ Active อยู่) ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2561

  • Kapook : 3,115,765 คน
  • Kapook! Music Station : 7,806 คน เป็นเพจเดียวของ Kapook ที่มีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) และเนื้อหาในเพจมีแต่รูปภาพทรงพระเจริญตามวโรกาสต่าง ๆ
  • Kapook Football : 16,697 คน
  • Kapook Movies โปรแกรมหนัง ดูหนังเด็ดๆ : 15,008 คน
  • Kapook Health : 78,921 คน
  • Kapook Women : 112,768 คน
  • Kapook Infographic : 12,635 คน
  • Kapook Home & Decor : 109,101 คน
  • Kapook Money : 8,378 คน
  • สูตรอาหารง่ายๆ by Kapook.com : 543,611 คน
  • รถใหม่ไฟกระพริบ ราคารถใหม่ ข่าวรถยนต์มากมาย by Kapook.com : 20,514 คน

สรุปจุดเด่นที่น่าสนใจ

  • หมวดหมู่หลากหลาย เจาะลึกว่าเว็บไซต์อื่น ๆ และมีหมวดหมู่ที่บางเว็บไซต์ไม่มีอีกด้วย
  • Infographic สวยงาม ข้อมูลครบ จนอยากที่จะแชร์ต่อ
  • หน้าเว็บไซต์ที่ออกแบบใหม่ ใช้สะดวก อ่านง่าย แต่บางหมวดหมู่ ยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยน

แอปพลิเคชันของ Kapook

MThai พอร์ทัลครบเครื่อง จาก Mono

หน้าแรกของ MThai รูปแบบคล้ายกับ Sanook และ Kapook ที่ด้านบนของหน้าแรกได้รวบรวมเรื่องเด่นจากหมวดหมู่ต่าง ๆ ไว้ที่ตรงนี้ – MThai.com

เว็บพอร์ทัล ที่ยังเป็นเบอร์รอง Sanook และ Kapook แต่ถ้าดูในแง่บริการต่าง ๆ ของ Mono Group แล้ว ต้องบอกว่าเหนือกว่าอย่างชัดเจน เพราะการที่มี Mono29 ช่องทีวีดิจิทัลเกิดใหม่ ที่มีเรตติ้งอันดับ 1 (ตีคู่สูสีมากับช่องเวิร์คพอยท์) และนิตยสารต่าง ๆ ที่ยังไม่ตายไม่จากแผงหนังสือ (ในขณะที่หลาย ๆ เจ้า ล่มไปกันแล้วมากมาย) เป็นส่วนช่วยที่ให้เนื้อหาบน MThai นั้น แข็งแกร่งมาก ๆ ไม่ต้องมีเนื้อหาจากสื่อเว็บไซต์อื่น ๆ เลย

  • Mono29 ทีวีดิจิทัล SD ที่ไม่ได้มีแต่หนังและซีรีส์ แต่ยังมีสำนักข่าว จากเกณฑ์ของ กสทช. ที่ทำให้ช่องวาไรตี้ ต้องมีการนำเสนอข่าวด้วย
  • นิตยสารหัวต่าง ๆ มากมาย ทั้งนิตยสารข่าวบันเทิง GossipStar นิตยสารสำหรับผู้ชาย Rush และ A'Lure นิตยสารสำหรับผู้หญิง Snap Signature นิตยสารสำหรับวัยรุ่น Campus Star และนิตยสารภาพยนตร์ Bioscope

หมวดหมู่ครบ ไม่น้อยหน้าใคร ๆ

  • ข่าวทันสถานการณ์ : ข่าวทั่วไป ข่าวบันเทิง (เรื่องย่อละคร อยู่รวมกับข่าวบันเทิง) และ กีฬา
  • เรื่องราวในโลกบันเทิง : เพลง หนัง เกม การ์ตูน ทีวี (มี เรื่องย่อละคร อยู่ในหมวดหมู่ทีวีด้วย ซึ่งเป็นคนละหน้ากับในข่าวบันเทิง)
  • ไลฟ์สไตล์ครบ : ผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น ที่เที่ยว แนะนำร้านอาหาร เทคโนโลยี ยานยนต์ สุขภาพ ดูดวง ตกแต่งบ้าน และ หนังสือ
  • และยังมี หน้าภาษาอังกฤษ ที่มีบทความในเรื่องราวต่าง ๆ ในรูปแบบภาษาอังกฤษอีกด้วย

บทความใน MThai เว็บไซต์ หรือสื่ออื่น ๆ สามารถนำไปใช้ได้ โดยต้องมาขออนุญาตกับทาง MThai ก่อน ผ่านแบบฟอร์มที่สามารถกดได้ผ่านปุ่มสีเหลืองนี้ ที่อยู่ท้ายบทความต่าง ๆ ของ MThai – ตัวอย่างบทความที่มีปุ่มแบบนี้

มากกว่ารวมรูป รวมคลิป ต้อง MThai

ที่ MThai ก็มีหน้ารวมรูป รวมคลิปเช่นกัน อย่าง Picpost (ที่ MThai คุณผู้ชายน่าจะชอบมากกว่าเว็บไหน ๆ) หน้าวิดีโอ ที่รวบรวมคลิปเด็กจากที่ต่าง ๆ และยังมีซีรีส์เกาหลีให้ชมกันฟรี ๆ อีกด้วย (พิเศษกว่าเว็บไหน ๆ) รวมทั้งรายการจาก Mono29 นอกจากนี้ ยังมี หน้าพูดคุย ออกแนวคล้าย ๆ เว็บบอร์ด ที่ตอนนี้เต็มไปด้วยข่าวพีอาร์ (แบบ Sanook) Scoop ที่รวบรวมข้อมูลวันสำคัญ และความรู้ต่าง ๆ Glitter ที่รวบรวมภาพ GIF พร้อมคำคมโดน ๆ ไว้โพสต์กันในโซเชียล (ยังมีใครใช้กันอยู่รึเปล่า ??) Dictionary แปลอังกฤษ – ไทย และเรื่องสยองขวัญ สำหรับใครที่ไม่ถนัดฟังใน Joox ก็มาอ่านที่ MThai ได้เลย

ใน MThai ก็มีแล้ว แต่ก็ยังจะมีเว็บเพิ่มอีก

นอกจากหน้าวิดีโอ และวัยรุ่น ใน MThai แล้ว Mono ก็ยังมีอีกสองเว็บที่เหมือนจะคล้าย ๆ กับที่มีใน MThai อยู่แล้ว ทั้ง SeeMe ที่มีซีรีส์จากนานาประเทศ คอนเทนต์จากผู้ผลิตรายการทีวี (นอกช่อง Mono29) ที่เอามาลงรีรัน คลิปที่ หมวดหมู่ต่าง ๆ ของ MThai และนิตยสารในเครือ Mono ทำเอง และคลิปจาก YouTuber ที่จีบให้มาอัปโหลดลงที่นี่ด้วย เช่น JUSTดูIT แชนเนลรีวิวภาพยนต์ที่โด่งดังใน YouTube

และ Campus Star ที่นอกจากนิตยสารแจกฟรี ก็มีเว็บไซต์ด้วย มีหมวดหมู่คล้าย ๆ กับหมวดหมู่ย่อยของหมวดหมู่วัยรุ่นใน MThai เช่น แฟชั่น หนุ่มสาวหน้าตาดี แต่ Campus Star มีหมวดหมู่ที่หลากหลายกว่า แลดูตั้งใจไปชนกับ Dek-D มากกว่า แต่ยังห่างไกลอีกเยอะ

เว็บไซต์ Campus Star – campus-star.com

Facebook Fanpage ที่ MThai มี

ยอดการกดถูกใจของเพจ MThai รวมทั้งเพจของหมวดหมู่ย่อย Campus Star และ SeeMe (เฉพาะเพจที่ Active อยู่) ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2561

  • Mthai : 1,220,237 คน
  • MThai News : 312,696 คน
  • Gossipstar : 2,679,907 คน
  • MThai Music : 119,836 คน
  • MThai Movie : 88,499 คน
  • MThai Sports : 100,534 คน
  • MThai Video : 381,559 คน
  • MThai Games : 76,507 คน
  • MThai Men : 229,563 คน
  • MThai Women : 197,924 คน
  • MThai Horoscope : 66,242 คน
  • MThai Tech : 72,884 คน
  • MThai Teen : 36,287 คน
  • MThai Travel : 82,106 คน
  • MThai Auto : 83,981 คน
  • MThai Food : 17,294 คน
  • MThai Book : 732 คน
  • MThai Picpost : 32,665 คน
  • MThai.English : 10,120 คน เป็นเพจเดียวที่มีเครื่องหมายจุด (.) มาคั่นกลาง
  • SeeMe : 106,102 คน
  • Campus Star : 103,118 คน

นอกจากนี้ MThai ก็มี Twitter ที่แต่เดิมก็ได้เพียงแปะลิงก์จากเว็บฯ มาลงในที่นี่ แต่จากเหตุการ์ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง Twitter ของ MThai ก็ได้หันมาอัปเดตสถานการณ์แบบทันท่วงที ได้ใจชาวทวิตเป็นอย่างมาก จนทำให้ยอดผู้ติดตามสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2561 มียอดผู้ติดตาม 1.13 ล้านคน จากความฮอตของ Twitter ในเหตุการณ์ถ้ำหลวงนี้ จึงได้ต่อยอดไปเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กอีกด้วย

ดิจิทัลมีเดียอื่น ๆ Mono จัดเต็ม
นอกจาก MThai Mono29 และนิตยสารหัวต่าง ๆ แล้ว Mono ก็ยังมีบริการความบันเทิง และดิจิทัลมีเดียมากมาย ที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้บริการเนื้อหาเพียงอย่างเดียว (Content Provider) แต่ยังเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองด้วย

  • สำนักพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊กต่าง ๆ ทั้ง Her Publishing Horo Life Publishing Maxx Publishing Geek Book Publishing และ Move Publishing
  • Mbookstore ร้านหนังสือออนไลน์ ทั้ง E-book และเป็นเล่ม ๆ แบบดั้งเดิม
  • ช่องทีวีดาวเทียม Mono Plus จัดเต็มเรื่องหนังยิ่งกว่า Mono29
  • ค่ายเกม Mono Game
  • Mono Astro ผู้ให้บริการดูดวง ผ่าน MThai หน้าดูดวง และ Neptune ทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน
  • ทีมบาสเกตบอล Black Scorpions และ Mono Vampire (คุณพิชญ์ เจ้าของ Mono โปรดปรานกีฬาชนิดนี้มาก ๆ)
  • Mono Mobile บริการ SMS ผ่านมือถือ
  • Mono MAXXX บริการดูหนัง ซีรีส์ และรายการอื่น ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ (มีทั้งฟรีและเสียเงิน)
  • ค่ายหนัง T Moment ที่จับมือกับคุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ที่แยกตัวมากจาก GTH
  • Mono Film ผู้จัดจำหน่ายภาพยนต์ ทั้งจากต่างประเทศ และในไทย โดยจัดจำหน่ายให้กับค่ายพระนครฟิล์ม
  • ค่ายเพลง Mono Music ที่เคยมีเกิร์ลกรุ๊ปสุดปัง อย่าง G20 Candy Mafia และจัดคอนเสิร์ตต่าง ๆ
  • Mono Talent Studios ศูนย์รวมผู้ที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์
  • คลื่นวิทยุ Mono Fresh FM 91.5 MHz ในขณะที่หลาย ๆ คลื่นเริ่มปิดตัว หรือไม่ก็มาทำออนไลน์แทน Mono กลับเปิดสวนกระแส
  • บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และเช่ารถ HotelThailand.com
  • Tutor Me คอร์สเรียนออนไลน์ ทั้งติวหนังสือเตรียมสอบ ดนตรี การออกกำลังกาย และทักษะการทำงานต่าง ๆ

ถ้าจะเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็ขอยกตัวอย่างเป็น “Mono = Tencent + GMM Grammy” โดยที่ Tencent เป็นตัวแทนของด้านดิจิทัลมีเดีย และ GMM Grammy เป็นตัวแทนด้านผู้สร้างคอนเทนต์ความบันเทิงต่าง ๆ ซึ่ง Mono มีคู่แข่งคนสำคัญ คือ True Media ซึ่งจะพูดถึงใน TrueID ต่อไป

สรุปจุดเด่นที่น่าสนใจ

  • เนื้อหาแน่น ทั้งบันเทิง และไลฟ์สไตล์ จากการที่ Mono มีสื่อต่าง ๆ มากมาย ทั้งทีวีและนิตยสาร
  • หน้าเว็บที่รวบรวมคลิปวิดีโอ มีมากกว่า ครบถ้วนกว่าเว็บพอร์ทัลอื่น ๆ
  • เนื้อหา 18+ สำหรับผู้ชายแน่นมาก จนเป็นเอกลักษณ์ของเว็บ

แอปพลิเคชันของ MThai

TrueID ศึกพอร์ทัลครั้งนี้ True เอาจริง

หน้าแรกของเว็บไซต์ TrueID โดยด้านบนจะเป็นสไลด์ที่รวบรวมลิงก์ไปหาบทความไฮไลต์ต่าง ๆ และโปรโมชันของ TrueID รองลงมาจะเป็นพื้นที่ของเรื่องที่เป็นกระแสอยู่ ณ ขณะนี้ อย่างตอนนี้เป็น Premier League ที่เพิ่งเปิดฤดูกาล โดยก่อนหน้านี้เป็น Show Me The Money Thailand และฟุตบอลโลก 2018 – TrueID.net

มาถึงที่เว็บพอร์ทัลน้องใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ ถูกเปิดตัวเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมสิทธิพิเศษ และ Streaming ทั้งทีวี เพลง และหนัง สำหรับลูกค้า True ที่ตั้งใจให้เกิดมาชนกับ AIS Play แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่พอ จึงนำ TrueID เดิม เข้ามาร่วมกับเว็บพอร์ทัล TrueLife กลายเป็น TrueID ในปัจจุบัน ที่มีทั้ง Streaming เนื้อหาคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้อ่าน และสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า True ที่ยังมีอยู่เหมือนเดิม (เฉพาะบนแอปพลิเคชัน สำหรับเว็บไซต์ ยังอยู่บนเว็บของ TrueYou เหมือนเดิม)

จากการที่ TrueID เดิม รวมเข้ากับ TrueLife ทำให้เป็นเว็บพอร์ทัลที่แตกต่างจากเว็บอื่น ๆ พอสมควร ทั้งหมวดหมู่ที่หลากหลายไม่เท่าเว็บพอร์ทัลอื่น ๆ (แต่หลัก ๆ ก็มีครบ) บริการ Streaming ที่เด่นชัดมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น..

  • ช่องกีฬา ช่องทีวีต่าง ๆ จาก TrueVisions
  • การถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตต่าง ๆ ที่ True เป็นผู้สนับสนุน
  • รายการบันเทิงจากเหล่าไอดอล SM Entertainment
  • ภาพยนตร์ ซีรีส์ ต่าง ๆ ซึ่งมีภาพยนตร์ที่เพิ่งออกจากโรงหนังใหม่ ๆ อีกด้วย

สำหรับเนื้อหาต่าง ๆ สามารถอ่านกันได้ฟรีอยู่แล้ว แต่สำหรับ Streaming จะมีทั้งดูฟรี และต้องมีแพกเกจ “TrueID Unlimited HD” ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงฟรีเฉพาะลูกค้า True เท่านั้น ยังไม่มีการจัดจำหน่าย การที่มีแพกเกจนี้ จะทำให้สามารถรับชม Streaming ได้มากยิ่งขึ้น

รูปแบบแพกเกจจาก TrueID – TrueID

การที่ TrueID มีคำว่า “True” อยู่ในชื่อแบรนด์ ก็ทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่าต้องเป็นลูกค้า True เท่านั้น จึงจะใช้งานได้ (คนใกล้ ๆ ตัวผู้เขียนเอง ก็เข้าใจผิดเช่นกัน) ถึงแม้ว่าทาง TrueID เอง จะพยายามโปรโมตมาตลอดว่า “จะใช้เครือข่ายใด ๆ ก็ดาวน์โหลดได้” ก็ตามที

หมวดหมู่น้อย แต่ครบ

ถึงหมวดหมู่จะน้อย แต่พูดได้เลยว่าครบ เพียงพอต่อความต้องการของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น..

  • บันเทิงดารา ที่มีทั้งข่าวบันเทิง และเรื่องย่อละคร
  • ข่าวสารวงการเพลง และ TrueID Music ฟังเพลงฟรี ไม่มีโฆษณาคั่นแบบ Joox
  • ดูทีวีออนไลน์ จากทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และช่องทีวีบางส่วนจาก TrueVisions
  • ดูช่องทีวีบางส่วนจาก TrueVisions (ช่องจาก TrueVisions จะมากขึ้นตามระดับสมาชิก TrueVisions ที่ลูกค้า True สมัครไว้อยู่) หนัง ซีรีส์ ผ่านหน้า TrueID TV สำหรับหนังใหม่ และหนังพรีเมียม ต้องมีตั๋วเช่าหนัง (ซื้อต่างหาก หรือรับฟรีจากแพกเกจ TrueID Unlimited HD) และดูผ่านแอปฯ TrueID หรือ TrueID TV เท่านั้น
  • กีฬา เป็นเนื้อหาที่เขียนขึ้นเอง เรียกได้ว่า TrueID ได้เปรียบเว็บอื่นกว่ามาก ๆ เพราะ TrueVisions ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬามากมาย ทั้งใน และต่างประเทศ และยังมีหน้าต่างหาก ที่เกี่ยวกับพรีเมียร์ลีกอีกด้วย (แต่ในปีหน้า BeIn Sport ผู้ถือลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ที่ขายต่อให้ TrueVisions อีกที กำลังจะถูกเปลี่ยนมือเป็น Facebook แล้ว ต้องรอดูกันว่า TrueID จะเอายังไงต่อ กับพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้า)
  • ไลฟ์สไตล์ ที่มีทั้งหมวดหมู่ ท่องเที่ยว ที่รวมการแนะนำร้านอาหารไว้ในหมวดหมู่นี้ด้วย และหมวดหมู่สำหรับ คุณผู้หญิง (ดูดวง อยู่กับหมวดหมู่นี้)
  • คลิป รวบรวมคลิปเด็ด ๆ จาก YouTube และ Facebook (หมวดหมู่นี้ เว็บไหน ๆ ก็ต้องมี)
  • เนื้อหา Exclusive เช่น คอนเสิร์ต ฉากพิเศษที่ไม่ได้ออกอากาศบนทีวี รายการบันเทิงจาก SM Entertainment สามารถรบชมผ่านแอปฯ TrueID หรือ TrueID TV เท่านั้น

อยากครบกว่านี้ ต้องดูเว็บอื่น

True บริษัทโทรคมนาคม ที่มีทั้งโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ยังเป็นผู้ให้บริการความบันเทิงและดิจิทัลมีเดียอีกด้วย ในชื่อว่า True Media ซึ่งมี TrueID เป็นหนึ่งในนั้น สำหรับบริการประเภทเว็บไซต์ ยังมี Online Station สื่อยักษ์ใหญ่เกี่ยวกับเกม ที่ True ซื้อมาตั้งแต่ปี 2550 และข่าวสารบ้านเมือง ผ่านเว็บไซต์ของช่อง TNN24 และ True4U

หน้าเว็บไซต์ Online Station – online-station.net

Facebook Fanpage ที่ TrueID มี

ยอดการกดถูกใจของเพจ TrueID รวมทั้งเพจของหมวดหมู่ย่อย และ Online Station (เฉพาะเพจที่ Active อยู่) ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2561

  • TrueID : 757,180 คน
  • TrueID Lifestyle : 88,871 คน
  • TrueID Music : 103,766 คน
  • TrueID Sports : 43,837 คน ที่ชื่อเพจมี s แต่ URL ของหมวดหมู่นี้ ไม่มี s (sport.trueid.net)
  • True Sport : 709,297 คน คนละเพจกับก่อนหน้านี้ คอนเทนต์ในเพจเน้นให้ข้อมูลที่จบและครบในเพจเลย โดยที่ไม่มีลิงก์ที่ให้คลิกไปหน้าบทความบนเว็บของ TrueID มาแปะร่วมอยู่ด้วย
  • Online Station : 526,185 คน
True Media อาณาจักรดิจิทัลมีเดีย ที่ไม่แพ้ Mono

แบรนด์ต่าง ๆ ภายใต้ True Media – True Spirit News

  • Online Station เว็บไซต์เกี่ยวกับเกมอันดับ 1 ที่ตอนนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการ์ตูน อนิเมะ และหนังอีกด้วย ซึ่งสามารถอ่านผ่าน TrueID ได้ เฉพาะช่องทางแอปฯ เท่านั้น
  • OS Influencer Network เครือข่าย YouTuber จาก Online Station ที่เป็นสื่อกลางให้กับ Creator และผู้ลงโฆษณา
  • TrueVisions ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกรายใหญ่ที่สุด
  • True4U ทีวีดิจิทัล SD ที่มีรายการหลากหลาย มีกีฬาไทยอย่างฟุตบอลไทยลีกเป็นเอกลักษณ์ของช่องนี้
  • TNN24 ช่องข่าวเรตติ้งรั้งท้ายทีวีดิจิทัล
  • True CJ Creation บริษัทผลิตรายการทีวี เปิดร่วมกับ CJ E&M จากเกาหลีใต้ เพื่อผลิตรายการป้อนให้กับ True4U โดยเพิ่งผลิตรายการประกวดแร็ปที่มีเสียงตอบรับมากมาย (ทั้งทางดีและทางลบ) อย่าง Show Me The Money Thailand
  • AP&J บริษัทผู้ผลิตรายการเกมโชว์ และเรียลลิตี้โชว์ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ The Voice Thailand (ได้ข่าวมาว่าจะย้ายจากช่อง 3 ไป PPTV แล้วทำไมถึงไม่กลับมา True4U ??)
  • ค่ายเพลง ทั้ง i am และ True Fantasia ที่มีศิลปินทั้งจาก AF และ The Voice รวมถึงวงอีทีซี
  • SM True ตัวแทนจำหน่ายผลงานเพลง และคอนเสิร์ตของค่าย SM Entertainment จากเกาหลีใต้
  • True Select และ True Shopping ทีวีช็อปปิ้งที่ TrueVisions เปิดร่วมกับ GS Shop จากเกาหลีใต้ ซีพีออลล์ และเดอะมอลล์กรุ๊ป
  • Panther Entertainment ผู้จัดงานแสดงต่าง ๆ ทั้งกีฬา ดนตรี กายกรรม
  • True Digital Plus (Good Games) ค่ายเกมที่มีเกมดังอย่าง Special Force ทั้ง 1 และ 2 (แต่ดูเหมือนว่า ตอนนี้ Good Games และค่ายเกมอื่น กระแสจะแผ่วลง แพ้ Garena แล้ว) และบริษัทพัฒนาเกมน้องใหม่อย่าง True Axion ที่ร่วมมือกับ Axion จากแคนาดา
  • ช่องเพลง 24 ชั่วโมง TrueMusic
  • สำนักข่าวบันเทิงจากช่อง TrueInside ที่เป็นช่องเสียเงินของ TrueVisions เคยมีหน้าเว็บไซต์ ลงข่าวบันเทิง แต่ได้ปิดไปแล้ว
  • ค่ายหนัง Transformation Film โดยเปิดร่วมกับ M Pictures บริษัทจำหน่ายภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ Bangkok Film Studio ทีมงานเก่าจาก Film Bangkok ของช่อง 3 และ Matching บริษัท Post Production ในเครือช่อง 7
  • True iContent ผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูน Pokémon ในประเทศไทย
  • ทีมฟุตบอล True Bangkok United
  • True Clicklife สื่อการสอนออนไลน์ที่พัฒนาให้กับโรงเรียน สำหรับน้อง ๆ อนุบาล ประถม มัธยม

อีกทั้งยังมีเว็บไซต์ให้ความรู้ ทั้งการศึกษาต่อ และความรู้ในรายวิชาต่าง ๆ (เดี๋ยวนี้เพิ่มบทความไลฟ์สไตล์มาด้วย) ในชื่อ ทรูปลูกปัญญา ซึ่งจัดทำโดยทีม CSR ของ True มีทั้งเว็บไซต์ ทีวี นิตยสารแจกฟรี และยังสามารถอ่านได้ ผ่าน แอปฯ TrueID เช่นเดียวกับ Online Station

นอกจากนี้ ในแต่ละปี ได้มีการจัดอีเวนต์เอาใจสายโอตะ สายเกมเมอร์ และสายคอมมิค ไม่ว่าจะเป็น..

  • Bangkok Comic Con จัดโดย TrueVisions ที่เน้นไปทางการ์ตูนตะวันตก ซึ่งในปีนี้ จัดร่วมกับงาน Thailand Comic Con ที่เน้นไปทางการ์ตูนญี่ปุ่น จากค่าย Hobbie Plus
  • Thailand Game Show จัดโดย Online Station ร่วมกับ Show No Limit ของคุณหนุ่ย แบไต๋ ซึ่งก่อนหน้านี้คือ BIG Festival จัดโดย G Square และ Online Station แล้วมาควบรวมกับ Thailand Game Show (ที่ก่อนหน้านี้ Show No Limit จัดร่วมกับ Compgamer สื่อเกมคู่แข่ง Online Station) เป็น Thailand Game Show BIG Festival และครั้งที่กำลังจะจัดในปีนี้ ตัดทอนชื่อให้สั้นลง เป็น Thailand Game Show

หน้าเว็บไซต์ True Plookpanya – trueplookpanya.com

ยุค TrueLife อันแสนเจ็บปวด

แต่งบ้านตัวเองบนโลกออนไลน์ ผ่าน miniHOME – Decor Report

ในช่วงยุค TrueLife ได้ผุดบริการมาหลายตัวมากมาย เพื่อสร้างความแตกต่างกับเว็บพอร์ทัลอื่น ๆ แต่สุดท้ายก็แป้ก และเงียบหายไป (แต่บางอย่าง ก็เข้าใจว่าเปลี่ยนไปตามสภาพของโลกออนไลน์) ไม่ว่าจะเป็น..

  • miniHOME เว็บบล็อกในรูปแบบการแต่งบ้านของตัวเองบนโลกออนไลน์ ที่สามารถให้เพื่อน ๆ มาเยี่ยมบ้านเราได้อีกด้วย (คล้าย ๆ กับ LINE Play ในตอนนี้) ได้รับต้นแบบมาจาก Cyworld.com ของเกาหลีใต้
  • onTM TrueLife โปรแกรมแชตผ่านตัวละครอวาตาร์สามมิติ และสามารถโทรศัพท์เข้าเบอร์ปกติได้ด้วย
  • SchoolBus แหล่งรวมวัยรุ่นวัยเรียน และเรียนกวดวิชาผ่านออนไลน์ที่บ้าน จากคณิต อ.เจี๋ย ภาษาไทยครูลิลลี่ (ปัจจุบัน สถาบันกวดวิชาเจี๋ย ถูก KPN ซื้อ และเปลี่ยนเป็น KPN Smart)
  • TrueMusic Radio คลื่นวิทยุ ที่บางรายการออกอากาศคู่ขนานกับช่อง TrueMusic
  • TrueLife Exclusive Club อัปเดตเรื่องราวจากคนดัง ทั้งจากตัวคนดังเอง และจากทวิตเตอร์ของคนดังอีกที ส่งเป็น SMS ถึงมือถือระบบ TrueMove
  • Guru Daily รวบรวมคนดังจากวงการต่าง ๆ มาเขียนบทความอัปเดตในวงการนั้น ๆ คล้าย ๆ กับคอลัมน์คนดังนั่งเขียนของไทยรัฐออนไลน์
  • myLife สื่อสังคมออนไลน์ และโปรแกรมแชต ที่ใช้กับฟีเจอร์โฟนของ True ได้ด้วย
  • G Square ช่องทีวีที่พูดถึงเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเกมและไอที ช่องแรกของประเทศไทย
  • Life Interactive รายการไลฟ์สดออนไลน์ ที่มาอัปเดตเรื่องราวต่าง ๆ โดยให้ทางบ้านสามารถแชตเข้าไปทักทายผู้จัดได้ด้วย โดยตอนหลังได้เพิ่มช่องทางทางทีวีด้วย โดยการเปลี่ยนโฉมช่อง G Square จากช่องเกม เป็นช่องไลฟ์สไตล์แทน ซึ่งหลังจากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น Guru TV พร้อม ๆ กับการเปิดตัว Guru Daily จนภายหลัง ได้ปิดตัว Guru Daily จึงเปลี่ยนเป็น TrueLife TV หลังจากปิดตัว ทีมงานบางส่วน ที่ทำเนื้อหาเกมมาก่อน ก็ย้ายไปอยู่ที่ YouTube Channel ของ Online Station
  • E-Book ที่เปิดให้บริการตั้งแต่เป็น TrueWorld โดยร่วมมือกับ Zinio จากสหรัฐอเมริกา
  • True Digital Bookstore แพลตฟอร์ม E-Book ที่กลับมาเปิดอีกครั้ง โดยให้โหลดเป็นไฟล์ PDF อ่านบนคอมพิวเตอร์ หรือผ่านบน เครื่อง E-Ink ของ BenQ จนตอนหลังได้ยกเลิกการดาวน์โหลด PDF ให้อ่านบนออนไลน์เท่านั้น ภายหลังได้ร่วมมือกับ Magzter จากสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนชื่อเป็น TrueBook
  • NC True ค่ายเกมออนไลน์ที่เปิดร่วมกับ NC Soft จากเกาหลีใต้ (ดูท่าทาง True จะชอบเปิดบริษัทร่วมกับเกาหลีใต้) หลังจากปิดค่ายไป ได้ย้ายบางเกมไปอยู่กับ Good Games แทน
  • สำนักพิมพ์ TrueLife (ชื่อเดิม Papyrus by TrueLife) มีทั้งผลงาน พ็อกเก็ตบุ๊กที่เชิญบล็อกเกอร์คนดังจากโลกออนไลน์มาเขียน และนวนิยายแปลจากต่างประเทศ
  • App Maker แอปพลิเคชันที่ให้ผู้ประกอบการ SME สามารถสร้างแอปพลิเคชัน E-Commerce ได้ด้วยตัวเอง

จาก TrueLife ที่ดู ๆ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ หลาย ๆ โปรเจกต์ก็ต้องพับเก็บไป แต่พอมาเป็น TrueID แล้ว ดูเหมือนว่าครั้งนี้ True จะเอาจริงแล้ว เพราะลงทุนไปกับคอนเทนต์ที่มาลงใน TrueID กว่าพันล้านบาท น่าจะไม่มาเล่น ๆ แบบตอน TrueLife แล้ว

myLife โซเชียลจากค่าย TrueLife ที่สุดท้าย ก็ต้องปิดตัวไป..

Ascend ในอดีต ก็คือ TrueLife
ในอดีต True มีธุรกิจที่มากมาย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ TrueMove TrueOnline TrueMoney TrueVisions และ TrueLife ซึ่งใน TrueLife นอกจากบริการในปัจจุบัน ก็ยังมีเว็บไซต์ E-Commerce ทั้ง WeLoveShopping และ iTrueMart รวมทั้งยังมี EGG Digital ผู้ให้บริการ Marketing Platform

โดยในภายหลัง True ได้ย้าย TrueMoney WeLoveShopping iTrueMart (ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น WeMallEGG Digital และ TrueIDC (Data Center ของ TrueOnline) มารวมเป็น Ascend และเปลี่ยนบริษัทแม่ จาก True มาเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์แทน เหตุผลที่ทำแบบนี้ในตอนนั้น เพราะว่า True ต้องการเอาเงินจากการขายบริษัทนั่นเอง จนตอนนี้ Ascend ก็มีบริการเพิ่มเติมจากเมื่อก่อนอีกมากมาย

จากที่ TrueMoney Wallet กับ TrueID ก็ต่างเป็นแอปพลิเคชันพี่น้องกัน ใน TrueID ตอนนี้ นอกจาก Streaming ที่ขึ้นชื่อแล้ว ยังสามารถใช้ TrueID จ่ายเงินที่ร้านค้าต่าง ๆ โดยหักเงินจาก TrueMoney Wallet ได้ด้วย โดยการจ่ายช่องทางนี้ เฉพาะลูกค้าที่ใช้ TrueMoveH จะได้แต้ม TruePoint ด้วย และสามารถแลก TruePoint เป็นสินค้าใน 7 Eleven หรือสินค้าและบริการอื่น ๆ ผ่านแอปฯ ของ TrueID ได้เลย

สรุปจุดเด่นที่น่าสนใจ

  • เนื้อหากีฬาแน่นมาก ๆ ทั้งเนื้อหา และ Streaming ทั้งจากไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะฟุตบอล จาก TrueVisions
  • มีบริการฟังเพลงฟรี ไม่มีโฆษณาคั่น และช่องทีวีที่มากมาย ทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และช่องจาก TrueVisions
  • ลูกค้า True สามารถดู Streaming ได้จุใจ และรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ มากมาย
  • เนื้อหาเกมแน่นที่สุด ทั้งเกมพีซี เกมคอนโซล และเกมบนมือถือ (ต้องเข้าที่ Online Station แทน)

แอปพลิเคชันของ TrueID

TrueID เป็นทั้งเว็บ เป็นทั้ง Account
แรกเริ่มเดิมที ตั้งแต่สมัยที่ยังมี TrueLife “TrueID” เป็นชื่อเรียกของ Account ที่ให้ลูกค้าใช้ Log in ในเว็บไซต์ต่าง ๆ ในเครือ True แต่ ณ ตอนนี้ ที่ TrueID กลายเป็นเว็บพอร์ทัลแล้ว แต่ Account ที่ใช้ในการ Log in นี้ ก็ยังเรียกว่า TrueID เหมือนเดิมอยู่ดี อาจจะทำให้ลูกค้าบางคนสงสัยในการใช้งานว่า.. “ไม่มีแอปฯ TrueID แล้วจะ Log in เว็บนี้ได้รึเปล่า ??”


เมื่อเราเข้าใช้งานเว็บไซต์ True iService เพื่อใช้งานบริการหลังการขาย หรือ TrueYou เพื่อรับสิทธิพิเศษ ในการ Log in หน้าเว็บจะพามา Log in ที่หน้าของ TrueID แทน – หน้า Log in

สรุป

ในยุคที่โซเชียลบูมมาก ๆ ถึงแม้ว่าคนไทยจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเพียงใด แต่สื่อใหม่ ๆ ทั้งเว็บไซต์ และเพจต่าง ๆ ก็เกิดมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เจาะจงเรื่องนั้น ๆ ที่เป็นที่จดจำของผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากหาร้านอาหารอร่อย ๆ เราคงไม่เข้าไปอ่านบทความในหมวดหมู่อาหารของเว็บพอร์ทัล เราก็คงจะเข้า Wongnai แทน แต่เราอาจจะมีโอกาสที่จะคลิกเข้าไปอ่านบทความอาหารของเว็บพอร์ทัลต่าง ๆ เหล่านั้น ผ่านเฟซบุ๊กที่เพื่อนของเราแชร์ หรือที่แฟนเพจของเว็บพอร์ทัลนั้น ๆ มาแชร์ลงเพจอีกที ไหนจะเว็บไซต์จากสำนักข่าวต่าง ๆ ที่มีข่าวในเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ที่มาชนกับเว็บพอร์ทัล ที่ชูจุดเด่นเรื่องการอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ เช่นกัน

ผ่านมา 20 ปี วงการเว็บพอร์ทัล หรือที่ในยุคเริ่มต้นเรียกว่า “ธุรกิจดอตคอม” มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในแง่เจ้าของเว็บไซต์ การเสริม Streaming เพิ่มเข้ามาร่วมกับการทำบทความที่มีอยู่แล้ว ดีไซน์ที่ออกแบบใหม่ การออกแอปพลิเคชัน และช่องทางทางโซเชียลต่าง ๆ ที่เป็นช่องทางในการเรียกให้คนคลิกเข้ามาอ่านบทความ หลังจากนี้ก็ต้องคอยติดตามกันว่าจะมีอะไรมาเพิ่มเติมจากเดิม ที่จะมาสู้กับสื่อต่าง ๆ ที่เกิดใหม่ขึ้นทุกวัน ๆ ในโซเชียลกันบ้าง..

ตาคุณแล้ว

แต่ถ้าเรื่องของเว็บพอร์ทัลที่ผมรวบรวมมายังจุใจไม่พอ ผมขอแนะนำรายการแฟนพันธุ์แท้ “เว็บไซต์ไทยแลนด์” เมื่อปี 2547 ซึ่งในรายการได้พูดถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ตอนนี้ไม่ได้เห็นกันแล้วด้วย บางเว็บไซต์นี่ เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักกันเลยทีเดียว และผู้เข้าร่วมแข่งขันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่จะเป็นใครบ้างนั้น.. คลิกปุ่มเพลย์ รับชมกันได้เลยครับ สำหรับบทความนี้ ต้องขอขอบคุณที่ติดตาม สวัสดีครับ 😀