Tell me something good

คำพูดง่ายๆ ที่แปลเป็นไทยได้ว่าบอกอะไรดีๆให้ฉันหน่อยได้มั้ย กลายเป็นหนึ่งในฟังก์ชันใหม่ของ Google Assistant ผู้ช่วยมากความสามารถจาก Google

มันเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับแนวคิดของ Google ในครั้งนี้ เพราะปกติเราคงคุ้นชินกับการให้ Google Assistant หาข้อมูล เปิด Calendar เช็คงาน เส้นทาง หรือแม้แต่ตรวจสอบสภาพอากาศ ถ้าจะเปิดข่าวมาก็คงจะเจอแต่ข่าวซีเรียสๆ เช่น เศรษฐกิจและสังคม

นี่คือ Solution ทางใจ จากบริษัทใหญ่ที่นำเสนอสู่ทุกคน

Remark: ฟีเจอร์นี้ยังไม่พร้อมใช้งานในไทย บทความนี้ต้องการนำเสนอข่าวสารให้ทราบล่วงหน้า และชวนมาอ่านบทวิเคราะห์สั้นๆ อ่านสนุกกันว่าทำไม Google ถึงทำฟีเจอร์นี้ออกมา

การนำเสนอข่าวดีภายใต้แบรนด์ Google

ก่อนอื่นผมอยากให้ทุกท่านได้ดูวิดีโอนำเสนอของ Google เพื่อรับชมสิ่งที่ทางทีมพัฒนาได้กล่าวเอาไว้


   

ปัจจุบันหากเราเปิดหน้าฟีดข่าว สิ่งที่ได้เจอมักจะเป็นหัวข้อที่ทางผู้นำเสนอคิดว่า “ขายได้” เป็นหลัก แล้วอะไรที่มันขายได้สำหรับมนุษย์กัน      

ดราม่า การเน้นอารมณ์ความรู้สึก ความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน เรื่องแย่ๆ มักจะถาโถมเข้ามาในช่วงเวลาที่เรากำลังจิบกาแฟหรือชาเพื่อรับชมข่าวในแต่ละวัน และบางทีมันก็ทำให้จิตใจของเราขุ่นมัว จนหมดอารมณ์ทำงานในช่วงเวลาถัดมาเลย       

การกล่าว Tell me something good กับ Google Assistant เป็นเหมือนการบอกกับเลขาของเราว่า       

“คุณๆ ผมขอข่าวดีๆมาช่วยจรรโลงใจผมหน่อยได้มั้ย”          

แน่นอน การทำงานของมันเหมือนกับการที่เราคุยกับ Google ตามปกติ สิ่งที่แฝงอยู่ คือ Google จะรับข่าวหรือบทความในเชิง positive แล้วโชว์ให้เราดู

มันไม่ใช่บทความหรือข่าวในเชิงให้กำลังใจ แต่มันเป็นเรื่องราวดีๆในสังคมที่ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังอมยิ้มได้ โดยในที่นี้ Google ร่วมมือกับ Solution Journalism Network ที่ไม่เน้นด้านการนำเสนอปัญหา แต่เน้นด้านการนำเสนอปัญหาที่ได้รับการแก้ไขไปแล้วด้วย

เช่นการกู้ภัยที่ประสบความสำเร็จ การพบเจอกันกับสัตว์เลี้ยงที่หายไปและเจ้าของ ไปจนถึงข่าวการค้นพบยารักษาโรคใหม่ๆ เพื่อให้เรารู้สึกว่า โลกนี้ยังมีเรื่องดีๆ แฝงอยู่

แล้ว Google ได้อะไร?

1. Brand Loyalty

แน่นอนว่า Google ไม่ได้ออกปากว่าพวกเขาได้อะไรอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้ตั้งแต่เห็นวิดีโอนี้เลย คือ การสร้าง Brand Loyalty ที่เหนือกว่าปัจจุบัน

ภาพลักษณ์ของ Google คือแบรนด์ Search Engine ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่มันไม่เพียงพอสำหรับพวกเขา

นี่ไม่ใช่เป็นการแทนที่ภาพลักษณ์ แต่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากเราเปิดเข้าโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook หรือ Twitter แล้วพบเจอข่าวด้านลบ การเข้ามาของ Tell me something good จะกลายเป็นตัวเลือกถัดมาทันที

“ข่าวแย่ๆ มีทุกที่ แต่ข่าวดีๆ มีใน Google แน่นอน”

ผู้คนโหยหาข่าวและดราม่า แต่ไม่ได้ยินดีกับมันทุกเรื่อง สุดท้ายแล้ว Google จะกลายเป็นผู้รองรับทุกอย่างในอนาคตแทน ไม่ใช่ในด้านเทคโนโลยี แต่เป็นทางจิตใจด้วย

2. เข้าถึงผู้ใช้งานใหม่ๆ

การเข้ามาของ Tell me something good จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มผู้ใช้งาน Google Assistant ในอนาคต เพราะมันเป็นการเปิดประตูความสะดวกสบายสำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้ และหลังจากใช้งานฟังก์ชั่นนี้ไปแล้ว มันก็มีโอกาสที่เขาเหล่านั้นจะใช้งาน Google Assistant ในแง่อื่นด้ว ยเช่นกัน

บางคนอาจจะไม่เคยใช้ Google assistant มาก่อนด้วยซ้ำ แต่เมื่อเห็นข่าวของ Tell me something good ก็อาจลองเปิดแล้วถามข่าวดีจาก Google ไปด้วยก็ได้

นี่คือพลังของข้อมูลเชิงบวกนั่นเองครับ

3. Traffic

จากเดิมที่ว่า “ถามอะไรๆ ก็ Google” ในตอนนี้มันจะกลายเป็นว่าแค่หาข่าวดีให้ตัวเอง เราถาม Google Assistant เพื่อจรรโลงใจไปแล้ว

แน่นอนว่าข่าวทุกอย่างมันไม่ได้อยู่ใน Google.com แต่ตัว Traffic ทั้งหมดยังไงก็ต้องผ่าน Google และหลังจากที่ผู้คนเริ่มชินกับ assistant แทนที่เราจะไปนั่งเลื่อนหน้าฟีดในโซเชียลมีเดีย หลังจากนี้เราอาจจะมาถามมือถือของตัวเองก็ได้ว่า

“เฮ้ Google มีข่าวดีอะไรมั่งมั้ย?”

นำเสนอแต่ข่าวดีมีอีกมั้ยนอกจากของ Google

ผมตอบสั้นๆว่ามีครับ

มีมานานแล้วพักใหญ่ๆ ด้วย โดยเฉพาะเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ ที่แต่ละเว็บไซต์จะขึ้นจั่วหัวข้อเฉพาะเลยว่า Good news

ทั้งจาก Telegraph Today หรือแม้แต่ MSN (เวอร์ชั่นต่างประเทศ) ที่นำเสนอข่าวในแง่บวก ตั้งแต่ข่าวการช่วยม้าขึ้นจากโคลน ข่าวการรักษามะเร็ง ข่าวการแต่งงานของคู่รักไปจนถึงข่าวการช่วยหมาหลง ให้คนอ่านชุ่มชื่นหัวใจไม่น้อยเลย

ในส่วนของโซเชียลมีเดียเองก็มีอะไรคล้ายๆ กัน แต่จะเน้นไปทางด้านจัดการข่าวปลอมเสียส่วนใหญ่ เพราะสิ่งที่ Facebook Twitter หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทำได้ คือ การนำเสนอสิ่งที่เจ้าของบัญชีนั้นๆ สนใจเท่านั้น

สรุป

ข่าวนี้ทำให้เราตระหนักได้อย่างหนึ่งว่า…โลกไม่ได้มีแค่สิ่งแย่ๆ เราแค่มองไม่เห็นมัน

ผมลอง Search ชื่อที่ Google นำเสนอในวิดีโอ Tell me something good หนึ่งในนั้นคือ Steven Pinker นักจิตวิทยาชาวแคนาดา-อเมริกัน ผมขออนุญาตยกตัวอย่างคำพูดเขามาซักเล็กน้อย

คุณ Steven กล่าวว่า “เราไม่มีทางได้อาศัยอยู่ในโลกที่เพอร์เฟ็คไปเสียทุกอย่าง แต่เราก็ไม่มีข้อจำกัดในการปรับปรุงมันให้ดีขึ้น และใช้ความรู้เพื่อความเจริญของมนุษย์ นี่ไม่ใช่ตำนาน และไม่ได้เป็นเรื่องสมมติ นี่เป็นความจริงเสียยิ่งกว่าจริง ยิ่งเราเรียนรู้เรายิ่งเข้าใจว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด และเป็นบทเรียนให้เราก้าวต่อไปข้างหน้า”

เราไม่ผิดที่จะรับรู้ข่าวดีหรือแย่ แค่ขอให้มันมีความพอดี ไม่กระทบต่อการทำงาน ต่อการก้าวไปของเรา เพราะสุดท้ายแล้วบางครั้งการรับรู้สิ่งที่เจ็บปวด อาจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราในอนาคตก็ได้

โลกไม่ได้มีแค่ข่าวร้ายเสมอไป

ตาคุณแล้ว

หน้าฟีดของหลายๆ ท่านอาจเต็มไปด้วยเรื่องงานและเรื่องเครียดๆ ที่ถาโถมเข้ามา ปกติแล้วแต่ละคนหาข่าวดีๆ จากที่ไหน หรือมีผู้ช่วยแบบเดียวกับ Google Assistant หรือเปล่า

ตอนนี้ตาคุณแล้วครับ ลองแชร์ประสบการณ์กับพวกเราหน่อยว่า ปกติแล้วคุณหาข่าวดีจากที่ไหนกันบ้าง

ความคิดเห็นเพิ่มเติมจากกองบรรณาธิการ
ถึงแม้จะยังใช้งานในบ้านเราไม่ได้ในขณะนี้ แต่บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจที่มาที่ไป และแนวคิดของฟีเจอร์นี้ให้ได้อ่านกัน

วงการการเสพคอนเทนต์เริ่มนิยมทำเป็นรูปแบบ Conversational หรือการสนทนากันเพิ่มมากขึ้น ต่อไปนี้เราอาจจะไม่ทราบแม้กระทั่งว่าเราต้องการจะค้นหาคำว่าอะไร แต่เราทราบแค่ว่า ‘เราต้องการอ่านอะไรดีๆ ที่น่าอ่าน' ช่วยส่งมาให้หน่อยสิ

จะเห็นได้ว่าบริการนี้จึงไม่ใช่แค่ Search engine แต่ต่อยอดไปสู่การทำ Content curation ด้วย ไม่จำเป็นต้องรอให้คนทราบก่อนว่าจะหาอะไร แต่พร้อมที่จะส่งคอนเทนต์ที่คัดมาแล้วตรงไปหาคนๆ นั้นเลย