Inbound Marketing การตลาดแบบแรงดึงดูด คำคำนี้ค่อยๆ เป็นคำที่มีผู้คนรู้จักกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแวดวงนักการตลาดทั้งหลาย ธุรกิจหลายเจ้าเองก็กระโจนเข้ามาสู่สนาม Inbound กันมากขึ้น ด้วยเป็นวิถีการทำการตลาดแบบใหม่ แตกต่าง และเหมาะกับยุคสมัย

กลไกการทำงานของ Inbound Marketing นั้น คือ การสร้าง “แรงดึงดูด” คอยส่งมอบคุณค่า สร้างตัวตนที่น่าเชื่อถือ จนผู้คนเข้ามาหาด้วยตัวเอง จากนั้นจึงค่อยๆ ฟูมฟักให้ผู้คนพร้อมเป็นลูกค้าและอยากซื้อด้วยตนเอง แตกต่างจาก Outbound Marketing ที่เน้นผลักสาร คอนเทนต์ หรือเสนอขายแบบจู่โจม จนอาจเป็นการรบกวนผู้คน ซึ่งในยุคที่มีคอนเทนต์ทะลักล้นนี้ Inbound Marketing คือ ทางเลือกของผู้บริโภค

ด้วยหลักการและแนวคิดของ Inbound Marketing ดูจะน่าพิสมัย แต่ก็ใช่ว่าทุกธุรกิจจะสามารถทำสิ่งนี้แล้วได้ผลลัพธ์เหมือนกันเสมอไป การตลาดแบบแรงดึงดูดก็ยังมีจุดด้อยของมันอยู่ และหลายคนก็อาจจะรู้จักเพียงทฤษฎี อาจจะยังไม่เคลียร์ว่าจะใช้อย่างไร ในบทความนี้ เราอยากให้คุณรู้จัก Inbound Marketing ภาคปฏิบัติ กับ 5 แนวคิดพร้อมลงมือสร้างแรงดึงดูดให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

Shifu แนะนำ
Content Shifu เราศึกษาเรื่องนี้และทำการตลาดแบบแรงดึงดูดอย่างจริงจังตั้งแต่วันก่อตั้ง เนื้อหาในบทความนี้ เราสกัดจากประสบการณ์ Case Studies และการเรียนรู้ของเราเอง ด้วยหวังว่าคุณจะได้รับความรู้ไปเริ่มต้นหรือเพิ่ม “แรงดึงดูด” ให้กับแบรนด์หรือธุรกิจของคุณ

1.ทำ Inbound Marketing ให้แกร่งกล้าจากแก่น

แก่นในการทำ Inbound Marketing คือ การที่เราดึงดูดผู้คนให้เข้ามาหาเราเอง แต่การที่เราจะดึงดูดทุกคนให้มาสนใจเรา เป็นเรื่องที่อาจจะยากเกินไป หรือเกินจำเป็น รวมทั้ง การที่จะน่าสนใจยังต้องน่าเชื่อถืออีกด้วย และหัวใจที่ขาดไม่ได้ก็คือ การส่งมอบคุณค่า

เมื่อแปลงแก่นข้างต้นออกมา แรงดึงดูดของ Inbound Marketing จะทรงอานุภาพที่สุดหากสารหรือคอนเทนต์ส่งไปยังเป้าหมายที่ใช่ และคอนเทนต์นั้นมีคุณค่า มีพลัง

Mass is Bad, Niche is Bliss

การทำการตลาดเพื่อมวลชน หรือ ทำการตลาดเพื่อหวังให้ทุกคนสนใจ ให้ทุกคน Engage กับแบรนด์หรือโปรดักต์ของธุรกิจ เป็นเรื่องที่สูญพลังและทรัพยากรโดยใช่เหตุ แนวทางของ Inbound Marketing เน้นการทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายให้ได้ผลจริงๆ ไม่เปลืองทรัพยากรหรืองบการตลาด วิถี Inbound จะไม่ใช้การ “ผลัก” โฆษณาที่ต้องใช้งบมากมายแบบการทำการตลาดแบบดั้งเดิม (Traditional Marketing) แต่จะสร้างคอนเทนต์ให้มีประโยชน์ให้ “คนที่ใช่” อยากเข้ามาหาเอง 

และวิธีการตามหา “คนที่ใช่” นั้น เราเริ่มต้นจาก..

  1. กำหนดกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจให้ชัดเจน

ที่บริษัท Magnetolabs ธุรกิจขาหนึ่งของเรา เราตั้งต้นใช้ Inbound Marketing ตั้งแต่ก่อตั้งและใช้มาตลอด เราเริ่มจากการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) ของเรา 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มลูกค้ามุ่งหวัง คือ CEO และ Manager ของบริษัทต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการ Convert เขาให้เป็นลูกค้าของเราจริงๆ โดยการผลิตคอนเทนต์ให้ความรู้ด้านการตลาดบนเว็บไซต์ของเรา
  • กลุ่มคนหางานและนักศึกษาที่ต้องการฝึกงาน เพื่อหาทีมงานคุณภาพที่จะมาร่วมงานกับเรา ผ่านคอนเทนต์เกี่ยวกับบริษัท และการสมัครงาน เป็นต้น
  1. ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายด้วย Buyer Persona

การผลิตคอนเทนต์เพื่อดึงดูดคนทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น เราเริ่มต้นจากการ “ฟัง” เพื่อทำความเข้าใจพวกเขา สิ่งที่เราทำ คือ ทำ Persona อย่างละเอียด ศึกษาว่าเขาต้องการอะไร กำลังมองหาสิ่งใดอยู่ เมื่อเราเข้าใจเขาจริงๆ เราก็จะนำสิ่งเหล่านั้นมาแปลงเป็นคอนเทนต์ส่งมอบคุณค่าในสิ่งที่เขาต้องการ ดึงดูดให้เขาก็จะเข้ามาหาเราเองเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่กำลังตามหา

magnetolabs ทำ inbound marketing

หน้า Blog เว็บไซต์ของ Magnetolabs ที่เผยแพร่ความรู้ให้กับกลุ่มธุรกิจและกลุ่มคนหางาน

หน้าเว็บไซต์ของเรารวบรวมคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของ Persona ของเรา เพื่อดึงดูดให้เขาเข้ามารู้จักแบรนด์หรือธุรกิจของเรา และยังเป็นการ Educate กลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้รู้จักบริการ Inbound Marketing ของเราด้วย

Quality over Quantity (คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ)

อย่างที่กล่าวไปแล้ว หัวใจของการทำ Inbound Marketing คือ การส่งมอบคุณค่าให้กับผู้คน การที่เราจะดึงดูดใครได้ ไม่ใช่แค่การทำคอนเทนต์ให้ “เข้าตา” ใครเพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ เพราะคอนเทนต์คุณภาพ 1 คอนเทนต์ ไม่ว่านานแค่ไหน คนก็ยังต้องการ สิ่งที่เราต้องโฟกัสจึงไม่ใช่ปริมาณของคอนเทนต์

ยกตัวอย่างเว็บไซต์ Backlinko.com ที่ผลิตคอนเทนต์ให้ความรู้เรื่อง SEO แม้เขาจะมีบทความอยู่เพียง 40 – 50 บทความเท่านั้น แต่เว็บไซต์ของเขาก็ยังติด Search Engine มีคนเข้ามาอ่านอยู่เสมอ นั่นยืนยันได้ว่า “Quality over Quantity” เป็นจริง

Shifu แนะนำ
บทความที่จะอยู่เป็นอมตะได้นานๆ แบบ Backlinko นั้น คือ บทความคุณภาพที่เรียกว่า “บทความประเภท Evergreen” หมายความว่า ไม่ว่าเมื่อไร สาระประโยชน์บทความจะยังเป็นที่ต้องการไปอีกนาน เช่น บทความให้ความรู้ บทความ How-to บทความสอนแนวคิด เป็นต้น

สำหรับ Content Shifu แน่นอนว่าสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากขึ้นคุณภาพของบทความ แต่อีกสิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ “Consistency” หรือความสม่ำเสมอ

วางแผนคอนเทนต์ contentshifu

กราฟข้างต้นประกอบไปด้วยวงกลม 3 วง ได้แก่ คุณภาพ ปริมาณ และความสม่ำเสมอ คอนเทนต์ที่เราตั้งใจผลิต เราจะยึดส่วน Intersect ที่มีเลขระบุทั้ง 3 เรียงตามลำดับ หมายความว่า สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือ 1 เป็นคอนเทนต์ให้มีคุณภาพ มีปริมาณมาก ผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าหากยากเกินไปจะอยู่ที่ 2 คือ ทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพและความสม่ำเสมอ และสุดท้ายจริงๆ หากปริมาณไม่ได้ ความสม่ำเสมอไม่ได้ อย่างไรก็ให้อยู่ในจุดตัด 3 เพราะคุณภาพคือสิ่งที่ต้องทำให้ได้

2.Data is Power: พลังที่ขาดไม่ได้

การทำการตลาด Inbond หลักๆ ยังอยู่ที่การทำการตลาดบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพราะว่าตรงกับธรรมชาติของผู้ใช้งานในปัจจุบัน และนอกจากนั้น ดิจิทัลแพลตฟอร์มยังมีข้อดีข้อเด่นที่ทำให้ Inbound Marketing ได้ผลและคุ้มค่ากว่าการตลาดแบบดั่งเดิม

ข้อได้เปรียบของดิจิทัลแพลตฟอร์ม คือ ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลและติดตามพฤติกรรมการใช้งานของ User และนั่น คือ พลังที่ Inbound Marketing ใช้ และคงจะน่าเสียดายมาก หากเราสามารถดึงดูดคนเข้ามาหาได้สำเร็จ แต่กลับปล่อยเขาไป โดยไม่ได้แม้แต่ข้อมูลเพื่อที่จะวิเคราะห์การตลาดหรือข้อมูลติดต่อเขาอีกครั้ง

owning-data

ตัวอย่างข้อมูลที่เก็บจาก Social Media & Marketplace และ Website

 

วิธีเป็นเจ้าของข้อมูล

วิธีที่เราจะเป็นเจ้าของข้อมูลต่างๆ ได้นั้น ก็มีอยู่ด้วยกัน 2 แหล่ง ได้แก่ การเก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย และบนเว็บไซต์ของเราเอง

เก็บข้อมูลจาก Social Media & Marketplace

การทำการตลาดกับโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่า เราจะรู้ข้อมูลจำพวก ยอด Likes ยอดแชร์ ยอด Follow ฯลฯ หรือข้อมูลเชิงลึก (Insight) ไม่ว่าจะเป็นยอดคลิก ยอดคนเห็น ยอด Engagement ต่างๆ เป็นอีกหนึ่งบริการของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะพวก Ad เช่น Facebook Ad ก็จะมีข้อมูลต่างๆ ให้เรานำมาวิเคราะห์ทำการตลาดต่อไป หรือรวมทั้งข้อมูลด้าน Demograghic

ทั้งนี้ ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตเพลส ไม่ใช่ข้อมูลของเราจริงๆ แต่เป็นของ “เจ้าของแพลตฟอร์ม” ซึ่งข้อมูลเหล่านั้น วันหนึ่งอาจหายหรือเปลี่ยนแปลงไป ช่องทางที่เราอยากแนะนำในการเก็บข้อมูลผู้ใช้ที่ได้ผลมากๆ คือ การสร้างเว็บไซต์ของคุณเอง

เก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ของคุณเอง

ธุรกิจไหนที่ต้องการใช้ Inbound Marketing เราแนะนำให้คุณทำเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพราะเว็บไซต์เปรียบเสมือนบ้านหรือร้านค้าของคุณที่รอให้คนเข้ามา ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือผ่านทาง Search Engine เมื่อพวกเขากำลังตามหาสิ่งใดอยู่ นอกจากนี้ บนเว็บไซต์ของเรา เราก็สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ และมีหลายวิธีที่จะเก็บข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกด้วย เช่น

  • ติดตามพฤติกรรมการใช้งานบนเว็บไซต์ ยอดวิว ยอด Engagement หรือแม้กระทั่งเวลาที่ใช้บนหน้าเว็บไซต์ของเรา
  • การใช้ Lead Generation หรือการเก็บรายชื่อและข้อมูลติดต่อ อาจเป็น Popup หรือ Banner ในส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ที่กระตุ้นผู้ใช้ให้อยากกรอกข้อมูล
  • การทำพรีเมียมคอนเทนต์ เช่น E-book หรือ Resource อื่นๆ ให้ดาวน์โหลด แลกกับข้อมูลเล็กน้อย เช่น ชื่อ อีเมล ตำแหน่งงาน เป็นต้น เทคนิคนี้เรียกว่า “ยื่นหมูยื่นแมว” เรามีสิ่งดีๆ มอบให้เขาก่อน เขาจึงเต็มใจมอบข้อมูลให้เรา

ข้อมูลที่เราได้มาก็ต้องนำมาใช้ให้เป็นพลังให้ได้ ข้อมูลเหล่านั้นเราสามารถนำมาใช้วางแผนการทำการตลาดและติดต่อคนที่เคยให้ข้อมูลเรามา โดยนำข้อมูลมาใช้ในการส่งมอบคอนเทนต์ที่ใช่ให้กับคนที่ใช่ ในเวลาที่ใช่ หรือใช้กับระบบ Remarketing CRM และระบบ Marketing Automation

3.No Tool, No Cool: ใช้เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพ Inbound Marketing

การทำ Inbound Merketing จะรู้เพียงแนวคิด หลักการ และทฤษฎี (MindSET) และทักษะในการทำการตลาด การเขียนคอนเทนต์ (SkillSET) เพียงเท่านั้นไม่เพียงพอ การทำการตลาดที่จะสามารถแข่งขันกับใครได้จะต้องมี “ToolSET” ด้วยข้อดีต่อไปนี้

  • Tools ช่วยให้การทำการตลาดสะดวก และง่ายมากขึ้น
  • Tools ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ Inbound Marketing ในทุกขั้นตอน

Inbound Marketing ประกอบไปด้วยขั้นตอนหลายขั้น ตั้งแต่ Attract Convert Close และ Delight อีกทั้งยังเป็นการผสมผสานศาสตร์การตลาดออนไลน์ต่างๆ ไว้มากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจำเป็น

ตัวอย่างเครื่องมือที่เราใช้

  • Editorial Software
  • Content Calendar
  • Social Media Management
  • SEO & Keyword Research Tool
  • Email Marketing & CRM

ฯลฯ

ทั้งนี้ เรามีเครื่องมือที่อยากแนะนำให้คุณลองไปศึกษาต่อ ดังนี้

Software ที่เกี่ยวข้องกับการทำ Inbound Marketing

  1. For Enterprise

inbound-software-for-enterprise

  1. For SMEs

inbound-software-for-smes

Connector Tools

connector-tools

4.Case Study: ศึกษาเคสการทำ Inbound Marketing อยู่ตลอด

โลกเปลี่ยนไปทุกวัน มีอะไรให้ศึกษาทุกวัน ความรู้ด้าน Inbound Marketing เองก็พัฒนาขึ้นไปในทุกๆ วันเช่นเดียวกัน สำหรับธุรกิจที่อยากทำ Inbound อาจต้องเริ่มจากดู Case Studies ของธุรกิจที่ทำมาแล้ว ว่าเขาทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร วิธีการต่างๆ ที่เขาทำน่าสนใจ เราสามารถนำมาปรับใช้ในบริบทของเราได้อย่างไร โดยคุณควรจะดูทั้งธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันและนอกอุตสาหกรรมเพื่อขยายไอเดียให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจที่ทำมาแล้วก็ไม่ควรละเลยอัปเดตความรู้อยู่เสมอๆ

ตัวอย่างเว็บไซต์ความรู้ด้าน Inbound Marketing ที่น่าสนใจ

และอีกแหล่งที่รวบรวมไว้มากที่สุด ถือเป็นปรมาจารย์เลยก็คืออากู๋ของเรานั่นเอง คุณสามารถสอบถามความรู้ สืบดู Case Studies ต่างๆ ได้จากธุรกิจทั่วโลก

และนอกจากการศึกษากรณีตัวอย่างจากธุรกิจอื่นๆ หนึ่งในเคล็ดลับของเราก็คือการศึกษาคู่แข่ง ด้วยเราเชื่อว่า “คู่แข่งคือครูที่ดีที่สุด”

เราศึกษาอะไรจากคู่แข่งได้บ้าง

หนทางที่เราจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วอาจไม่ใช่การอ่านตำราศึกษาทฤษฎี แต่คือการศึกษาคู่แข่ง ลองดูว่าเขาทำการตลาดอย่างไร มีเทคนิคในการสื่อสารอย่างไร หรือเขาใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง และศึกษาดูว่าข้อได้เปรียบของเขาเมื่อเทียบกับเราคืออะไร จุดเด่นจุดด้อยของเขาเราจะนำมาพัฒนาให้ธุรกิจของเราแข็งแกร่งสู้เขาได้อย่างไร

วิธีศึกษาคู่แข่ง

คุณสามารถศึกษาคู่แข่งได้ง่ายๆ เพียงแค่เอาตัวคุณไปใกล้เขา ด้วยวิธีเบสิกสุดๆ แค่กดติดตามเป็น Follower หรือ Subscriber หรือสมัครรับข่าวสารของเขาทางอีเมลก็ได้ นอกจากนี้ เรายังอยากแนะนำ Tools ที่ใช้สำหรับศึกษาคู่แข่ง 2 ตัวด้วยกัน

  1. Built With เครื่องมือตัวนี้จะเป็นเครื่องมือที่ใช้สืบดูว่า เว็บไซต์อื่นๆ หรือคู่แข่งของเราใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง เช่น CRM Software, Email Automation, Lead Generation Software ฯลฯ

built-with-software

Source: builtwith.com

  1. SimilarWeb คือ เครื่องมือที่ใช้ดู Insight เกี่ยวกับผู้ใช้งาน ช่องทางที่มีผู้ใช้งานหรือที่เขาใช้มากเท่าไร คนเข้าหน้าเว็บไซต์ของเขาเท่าไร คุณอาจนำมาคิดต่อว่าทำไมเจ้านี้ถึงได้ Traffic ดี เข้าทำอะไรบ้าง ได้ซื้อ Ad ไหม ก็นำมาเป็น Case Study ให้เราศึกษาได้ รวมถึง หาแนวทางต่อสู้กับเขาก็ยังได้

similarweb-software

Source: similarweb.com

5.เสริมพลัง Inbound ด้วย Outbound & Offline Marketing

หนึ่งในข้อด้อยของ Inbound Marketing ที่คนที่จะเข้ามาทำและต้องยอมรับให้ได้ คือ เรื่องของเวลา

เนื่องจากหลักการของ Inbound คือ การดึงดูดผู้คนให้มาสนใจโดยที่ไม่รบกวนเขา งานหลักของการตลาดวิถีนี้จึงไม่ใช่การซื้อ Ad ผลักโฆษณาออกไปให้คนในวงกว้างเห็น จำเป็นต้องใช้เวลาที่คนจะค่อยๆ รู้จักเรา หรือแม้กระทั่ง Algorithm ของ Search Engine เองก็ต้องเห็นว่าเราน่าเชื่อถือก่อน และการสร้างความน่าเชื่อถือหรือ Autority จำเป็นต้องใช้เวลา จากประสบการณ์ที่เราทำ Inbound Marketing มา กว่าจะได้ผลก็เป็นปีเลย

web-growing-graph

กราฟแสดงการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ (ContentShifu)

แม้ข้อดีของการทำ Inbound Marketing จะใช้งบลงทุนน้อยและให้ผลต่อเนื่องยั่งยืน แต่ผลลัพธ์ที่น่าพอใจต้องรอเป็นปี หลายคนก็อาจท้อ หมดกำลังใจลงได้

จริงๆ แล้วการทำ Inbound Marketing ไม่จำเป็นจะต้อง “เพียว” ขนาดนั้น เราสามารถเร่งผลลัพธ์หรือเพิ่มกำลังแรงดึงดูดของ Inbound Marketing ได้ เราขอยกตัวอย่างที่ Content Shifu ทำ ใน 2 แนวทาง คือ การใช้ Outbound & Offline Marketing

Outbound & Inbound Reunited

เราผสมผสานการทำการตลาดแบบ Outbound และ Inbound เพื่อเร่งให้เกิดผลลัพธ์เร็วขึ้น แน่นอนว่าโดยวิถีของเรา เราทำการตลาดแบบแรงดึงดูดเป็นหลัก แต่ใช้ Outbound เข้ามาเสริมกำลัง โดยการยิง Ads โซเชียลมีเดีย เช่น Ad งานอีเวนต์ Ad คอร์สเรียน เป็นต้น

ข้อดีของ Outbound คือ การทำการตลาดในวงกว้าง ทำให้เราเป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับงบประมาณ

ส่วนของดีของ Inbound คือ การลงทุนด้วยงบประมาณเพียงเล็กน้อยแล้วได้ผลลัพธ์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานมาก

outbound-vs-inbound

แต่หากเรารู้จักนำข้อดีของการตลาดทั้งสองวิถีนี้มาผนวกรวมกัน เราก็จะได้สกิลหรือท่าไม้ตายไม้ ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แบบนี้..

outbound-x-inbound

เราแนะนำว่า หากธุรกิจของคุณเพิ่มเริ่มต้นทำ Inbound Marketing แล้วยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก คุณอาจจะลงทุนกับ Outbound Marketing มากหน่อย และในขณะเดียวกันก็ “สร้างบ้าน” ทำ Inbound Marketing ให้แข็งแรง เมื่อคนรู้จัก “บ้าน” ของคุณแล้ว คุณมีแขกประจำมาเยี่ยมจำนวนมากแล้ว ก็ค่อยลดการทำ Outbound Marketing ลงได้ โดยไม่ต้องห่วงว่า ผลลัพธ์ที่ลงทุนไว้จะตกลง มันก็เหมือนกับ Outbound ส่งไม้ต่อให้กับ Inbound แล้ว

Offline Never Dies

แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าหลากหลายธุรกิจทำ Digital Marketing แล้วได้ผล และแนวทางการทำ Inbound Marketing ในปัจจุบันก็พึ่งพาโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่เพื่อสอดคล้องกับวิถีการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภค แต่ก็ใช่ว่าการทำการตลาดออฟไลน์จะไม่มีความสำคัญแล้ว

เราขอบอกเลยว่า การตลาดแบบออฟไลน์ยังได้ผล และสำหรับ Inbound Marketing ก็มีฝั่งที่ทำการตลาดออฟไลน์ด้วย

Offline Inbound Marketing ที่เราทำและได้ผลจริงในตอนนี้ก็มี 3 ทางหลักๆ ได้แก่

  • ตีพิมพ์หนังสือเผยแพร่ความรู้ Content Shifu เราก็มีหนังสือ Inbound Marketing ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีสร้างความน่าเชื่อถือและแสดงความเชี่ยวชาญของเราให้ผู้คนรู้จักและเชื่อมั่น

  • จัดงาน Events เรามีงาน Event ที่เราตั้งใจจัด เช่น Inbound Marketing Talk 2019 เพื่อสร้างการรับรู้ว่าเราคือใคร เราทำอะไร ซึ่งจากที่จัดงานมา เสียงตอบรับค่อนข้างดีทีเดียว
Content Shifu บรรยายในหัวข้อ How to Make Inbound Marketing Work in 2019 ในงาน Inbound Marketing Talk 2019
  • บรรยายในงานสัมมนาที่เกี่ยวข้อง (Public Speaking) วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักและแสดงความเชี่ยวชาญ Content Shifu ก็ได้รับเชิญให้ไปแชร์ความรู้ในงานบรรยายที่เกี่ยวข้อง และหนึ่งในงานที่ใหญ่มากๆ คือ งาน Creative Talk Conference 2019 ที่ทำให้มีคนรู้จักเราเยอะขึ้นมากๆ และสนใจบริการของเราเพิ่มขึ้น
CTC-2019-Orn
Content Shifu ไปร่วมบรรยายในงาน Creative Talk Conference 2019

การจะทำ Inbound Marketing ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกออนไลน์เท่านั้น หากอยากให้พลังดึงดูดของ Inbound มีกำลังมากขึ้น สร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจได้เร็ววัน การทำการตลาดแบบ Outbound และการตลาดออฟไลน์เข้ามาช่วยก็เป็นอีกสิ่งที่เราแนะนำ

New call-to-action 

สรุป

Inbound Marketing คือ แนวทางการทำการตลาดที่เน้นการสร้างคุณค่าเพื่อดึงดูดผู้คน สำหรับคนที่ต้องการทำ Inbound Marketing ให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น ก็ลองทำตามคำแนะนำของเราทั้ง 5 ข้อข้างต้นที่สรุปได้ ดังนี้

  1. ทำ Inbound Marketing ให้แข็งแกร่งจากแก่น
  2. ใช้ Data เป็นพลังขับเคลื่อนการตลาด
  3. ใช้เครื่องมือส่งเสริม Inbound Marketing ให้มีประสิทธิภาพและง่าย
  4. เรียนรู้อยู่เสมอและศึกษาคู่แข่ง
  5. ใช้ Outbound & Offline Marketing ช่วย

ตาคุณแล้ว (Later is Never)

อยากจะทำ Inbound Marketing ให้ได้ผลลองนำคำแนะนำของเราไปใช้กันดูนะครับ แล้วหากมีข้อสงสัย สามารถคอมเมนต์ถามพวกเราได้เลย หรืออยากแชร์ประสบการณ์การทำ Inbound Marketing เพื่อเป็น Case Study ให้กับชุมชนของเรา จะเป็นประโยชน์กับทุกคนมากครับ เราจะดีใจและขอบคุณคุณมากๆ นะครับ

Shifu แนะนำ
ทั้งนี้ หากยังเข้าใจบทความนี้ไม่เคลียร์ลองโหลดสไลด์ทำ Inbound Marketing: How to make it work ไปศึกษาประกอบกันได้นะครับ

สุดท้ายนี้ หากอ่านบทความจบแล้ว ดูสไลด์จนเข้าใจแล้ว และยังไม่เริ่มทำ เราอยากบอกว่า

“Later is Never”

อย่าปล่อยให้เวลาที่คุณเพียรศึกษา สูญเปล่าไปโดยไม่ได้ลงมือทำอะไร