ถ้าจะให้พูดถึง Social Platform ที่อัปเดตข่าวสารได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นไวรัลเทรนด์ฮิต หรือข่าวที่ออกสดใหม่แค่ไหน แอปที่ตามได้ทันตลอด ก็คงจะหนีไม่พ้นทวิตเตอร์ และหนึ่งในทวีตที่สร้างกระแสไวรัลและคนให้ความสนใจกันมากก็คงหนีไม่พ้นการ ‘รีวิว’ อะไรที่เขาว่าดี ก็พากันซื้อไปตามๆกัน มีรีวิวหลากหลายเรื่องตั้งแต่สกินแคร์หลักร้อย จนถึงคอนโดหลักล้าน

‘รีวิว’ มักจะเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจอยู่เสมอ เพราะมันจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ยิ่งถ้ามีการระบุตัวตนหรือได้ภาพจากผู้ใช้งานด้วยแล้ว ก็ยิ่งดูน่าเชื่อ ซึ่งทางทวิตเตอร์เองก็มีฟีเจอร์เด็ดๆ ให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากการรีวิวของผู้ใช้งานทั่วไปได้ โดยฟีเจอร์นี้มีชื่อว่า ‘Allowlisting’

Allowlisting คืออะไร

Allowlisting คือ ฟีเจอร์อย่างหนึ่งของ ทวิตเตอร์ ที่ทำให้แบรนด์สามารถนำทวีตรีวิวของผู้ใช้งานคนไหนก็ได้ที่พูดถึงสินค้าหรือบริการของตนเอง มาทำการยิงโฆษณาเพื่อกระจายรีวิวดีๆ ให้คนอื่นๆหรือกลุ่มเป้าหมายเห็นมากขึ้น โดยด้านล่างของทวีตจะมีการใส่ข้อความ “Promoted By” เพื่อแจ้งแก่ผู้ใช้งานว่า ทวีตนี้ได้รับการโปรโมตจากผู้ทำโฆษณา แต่ก่อนที่จะใช้โปรโมตได้ แบรนด์จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของทวีตนั้นก่อน (ซึ่งในส่วนนี้เราจะพูดถึงในส่วนต่อๆไป)

Allowlisting คือ

ทำไมนักการตลาดถึงควรใช้ฟีเจอร์ Allowlisting?

เพราะ Allowlisting จะช่วยซับพอร์ตให้นักการตลาดสามารถยิงโฆษณาในรูปแบบของการรีวิวจากบุคคลที่สามได้ ซึ่งสอดคล้องกับจุดเด่นของทวิตเตอร์ที่เป็นพื้นที่ที่รวบรวมการสนทนาของสิ่งที่เกิดขึ้นมากมาย จากหลากหลายคน หลากหลายอาชีพ และหลากหลายมุมมอง

1. โอกาสที่จะได้ลูกค้าใหม่

ผู้คนบนทวิตเตอร์มีแนวโน้มจะ “ทดลองซื้อ” สิ่งใหม่ๆ มากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 19% (GlobalWebIndex, 2020) เพราะฉะนั้น ถ้ายิ่งกลุ่มเป้าหมายเห็นทวีตที่คุณโปรโมตมากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะได้ยอดขายเพิ่มก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย

2. ได้ Brand Awareness เพิ่มขึ้น

หลังจากที่ซื้อสินค้าแล้ว ผู้คนบนทวิตเตอร์ยังชอบที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าใหม่ๆ นั้นให้กับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว โดยมีแนวโน้มจะแบ่งปันมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 19% (GlobalWebIndex, 2020) ซึ่งเป็นโอกาสทองที่จะทำให้คนรู้จักแบรนด์ของคุณเพิ่ม 

3. ได้คอนเทนต์ที่คนชอบ

จากที่เราได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่าคนชอบอ่านรีวิวต่างๆ คนในทวิตเตอร์ก็ชอบรีวิวสินค้าเช่นกัน จะเห็นได้จาก Hashtag ที่คุ้นเคยที่คนบนทวิตเตอร์ใช้เพื่อการรีวิวสินค้าและบริการ เช่น #รีวิว #ของมันต้องมี #ป้ายยา #ไว้รีวิวห้ามขายของโว๊ยยย ซึ่ง Hashtag เหล่านี้ได้จำนวนการสนทนาจำนวนมหาศาลใน 1 ปีที่ผ่านมากว่า 38 ล้านการสนทนาเลยทีเดียว (Brandwatch, 2020) ซึ่งในข้อนี้เป็นอะไรที่สำคัญมากๆ เพราะผู้คนบนทวิตเตอร์ยังมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการจากการอ่านคำสนทนาที่ดีในสินค้านั้นๆ จากผู้ใช้งานอื่นๆ มากกว่าคนเล่นอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 16% (GlobalWebIndex, 2020) อีกด้วย

Allowlisting twitter

จะสังเกตได้ว่า นักการตลาดสามารถใช้ประโยชน์จากข้อความสนทนาหรือการรีวิวในส่วนนี้ได้มากเลยทีเดียว การทำ Allowlisting จึงเหมาะมากๆ และน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดี แล้วถ้าใครเริ่มที่จะสนใจการทำโฆษณาในรูปแบบนี้แล้ว เราจะพาไปทำรู้จักกับฟีเจอร์นี้มากขึ้น ตามไปดูกันเลยค่ะ

ฟีเจอร์ “Allowlisting” สามารถทำแบบไหนได้บ้าง?

Allowlisting มอบโอกาสให้แบรนด์สร้างคุณค่าร่วมกันจากทวีตสนทนาของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นทั้ง influencer หรือผู้ใช้งาน ที่กล่าวชมหรือแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าและบริการของแบรนด์ สามารถเริ่มทำได้ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหนก็ตาม เพราะบนทวิตเตอร์ มีคำสนทนาที่เกี่ยวกับแบรนด์มาจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ

1. ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหนก็ทำ Allowlisting ได้ 

ทวิตเตอร์เป็นสถานที่ที่คนมาพูดคุยและแบ่งปันเรื่องราวที่พวกเขาสนใจอย่างหลากหลาย และนี่คือตัวอย่างการสนทนาหรือทวีตเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่างๆ 

  • อาหารและเครื่องดื่ม = 384M
  • อาหาร = 273M
  • เครื่องดื่ม = 111M
  • การเงินและธนาคาร = 33M
    • การเงินและการลงทุน = 26M
    • ประกัน = 7M
  • รถยนต์ = 47M
  • ความสวยงามและการดูแลตัวเอง = 119M
  • เพลง = 269M 
  • อสังหาริมทรัพย์ = 11M
  • เกม = 50M 

(Brandwatch, 2020) 

2. การโปรโมตโพสต์ของ Influencer ด้วย Allowlisting

การทำการตลาดโดยใช้ Influencer เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้และมักจะได้ผลดี ซึ่งถ้าแบรนด์ไหนมีการใช้งาน Influencer อยู่แล้ว สามารถนำทวีตของ Influencer ไปโปรโมตด้วยฟีเจอร์ Allowlisting ได้เลย ฟีเจอร์นี้มีแนวโน้มที่จะช่วยเพิ่มความสนใจซื้อสินค้าและบริการต่อแบรนด์ได้ถึง 29.7 Percentage Points (GlobalWebIndex, 2020) เลยนะ

3. การโปรโมตโพสต์ของผู้ใช้งานทั่วไป ด้วย Allowlisting

สำหรับแบรนด์ไหนที่ไม่มี Influencer ก็สามารถโปรโมตโพสต์แบบ Allowlisting ได้เช่นกัน โดยสามารถใช้ Social Listening Tool เพื่อค้นหาข้อความจากผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์ที่พูดถึงสินค้าหรือบริการของแบรนด์คุณ หรือ ใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดโดยการค้นหาผ่านในฟีเจอร์ Twitter Search ที่หน้า Explore ก็ได้เช่นกัน

เคล็ดลับการใช้ Allowlisting ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ก่อนที่เราจะเริ่มต้นใช้งานกัน เราอยากให้เพื่อนๆได้ทำความเข้าใจกับข้อจำกัดของฟีเจอร์นี้ก่อน จะได้นำไปใช้กันได้อย่างถูกต้องค่ะ

1. นักการตลาดและนักโฆษณาไม่สามารถเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้ได้เอง

Allowlisting เป็นฟีเจอร์ที่แบรนด์ไม่สามารถเปิดใช้งานเองได้ ซึ่งถ้าแบรนด์ไหนต้องการใช้ฟีเจอร์นี้ จะต้องให้ทาง ทวิตเตอร์ หรือตัวแทนจำหน่ายโฆษณาอย่างเป็นทางการของ ทวิตเตอร์ ในประเทศนั้นๆเป็นคนทำให้ (ตัวแทนของประเทศไทย คือ MediaDonuts)

2. ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ใช้งานเป็นลายลักษณ์อักษร

ทางทวิตเตอร์ได้ให้ความสำคัญ ในการเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ดังนั้นทางแบรนด์จะต้องขออนุญาตผู้ใช้งานในการนำทวีตไปใช้เพื่อการโฆษณาเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน โดยผ่านการช่วยเหลือจากทีมงานทวิตเตอร์ 

3. บัญชีที่ใช้ยิงโฆษณาแบบ Allowlisting

บัญชีที่ใช้สำหรับซื้อโฆษณาได้จะต้องเป็นบัญชีประเภทการทำโฆษณาโดยเฉพาะ (Ad Account) ซึ่งทางทีมงานตัวแทนจำหน่ายโฆษณาอย่างเป็นทางการของทวิตเตอร์ จะเป็นผู้จัดการทำเรื่องให้ ส่วนบัญชีที่ใช้โปรโมตโฆษณาสามารถใช้บัญชีของผู้ใช้งานทั่วไปได้เลย เช่น Consumer ที่รีวิวสินค้า หรือ Influencer ที่แบรนด์จ้างให้รีวิวก็ได้

สรุป

ฟีเจอร์ Allowlisting ถือว่าเป็นการโปรโมตแบรนด์อีกหนึ่งรูปแบบที่น่าจับตามอง ซึ่งถ้าเราไม่ได้สังเกตดีๆ เจ้าฟีเจอร์นี้สามารถกลมกลืนไปกับทวีตอื่นๆ ได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นนักการตลาดใช้ฟีเจอร์นี้มากขึ้นก็ได้

MediaDonuts Allowlisting

ตาคุณแล้ว

มากระจายคำสนทนาดีๆ บนทวิตเตอร์กันเถอะ! พร้อมหรือยังที่จะส่งต่อความประทับใจของแบรนด์คุณให้กับคนอีกมากมาย ถ้าใครพร้อมแล้วสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดต่อขอแบบฟอร์มได้ที่ MediaDonuts ได้ผลอย่างไรกันบ้างสามารถกลับมาบอกเล่าประสบการณ์ดีๆ ให้เพื่อนๆ คนอื่นได้ทราบทางช่องคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยค่ะ 

[Sponsorship Disclosure] บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก MediaDonuts แต่เนื้อหาและความคิดเห็นเป็นความรับผิดชอบของ Content Shifu ทั้งสิ้น