Chapter 4



Digital Marketing Framework

เจาะ 3 Marketing Funnel & Framework ในโลกการตลาดออนไลน์

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

วิธีในการทำการตลาดออนไลน์หรือ Digital marketing มีหลากหลายวิธี หลากหลายช่องทาง (Channels) เพื่อเสนอแบรนด์หรือสินค้า/บริการให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเหล่านี้ คือ “Resource” หรือทรัพยากรที่ธุรกิจสามารถใช้ได้

แต่วิธีการล่ะ? เราจะบริหารทรัพยาการเหล่านั้นอย่างไร เพื่อรันให้การตลาดทำงานอย่างเต็มที่ จนได้ลูกค้าหรือปิดการขายได้ในที่สุด

ด้านล่างนี้ เราจะมาเจาะลึกสิ่งที่เรียกว่า “Framework” หรือ “กรอบคิด” สำคัญๆ ที่ใช้กันบ่อยในการทำ Digital Marketing คร่าวๆ เพื่อเข้าใจว่าจะเลือกใช้อย่างไร กับจุดประสงค์แบบไหนกัน

Digital Marketing Framework คืออะไร และมีอะไรบ้างที่ควรรู้จัก

Digital Marketing Framework คือ กรอบแนวคิดในการทำการตลาดออนไลน์ โดยหน้าที่ของ Framework ก็คือการเป็นไกด์ไลน์ที่เราสามารถทำตามได้ นำทรัพยากรที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น Marketing Message คอนเทนต์ หรือช่องทางการทำการตลาด (Marketing Chennels) มาใช้ เพื่อนำแบรนด์หรือสินค้า/บริการให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ (ในทางกลับกันก็คือนำทางให้ลูกค้าเข้ามาหาแบรนด์ด้วย)

ในการทำ Digital Marketing ก็มีกรอบความคิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ 3 กรอบ Framework ด้วยกัน ได้แก่

  • Sales Funnels
  • AIDA
  • Inbound Marketing Flywheel

โดยแต่ละ Framework ก็เปรียบเสมือนกรอบในการลงมือทำ Digital Marketing ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เราสามารถเลือกใช้กรอบคิดแต่ละกรอบตามแต่ละจุดประสงค์หรือสามารถปรับใช้ร่วมกันได้ 

มาดูกันว่า แต่ละ Framework มีหลักคิด คอนเซปต์ในการใช้งานอย่างไร แล้วท้ายบทความเราจะลองมาชั่งน้ำหนักกันดูว่า ควรใช้ Framework ไหน

รู้จักกับ Sales Funnels กรอบทำการตลาดที่ใช้งานกันมากที่สุด

digital marketing framework ตัวอย่าง sales funnel
Sales Funnel
ที่มารูปภาพ salesintel.io

Sales Funnel มีลักษณะเป็น “กรวย” (Funnel) ที่หมายถึง ลำดับขั้นตอนในการกรองผู้คนให้กลายเป็นลูกค้าในที่สุด 

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ Sales Funnel ก็เสมือนกระบวนการกรองน้ำในกรวยที่เราจะใส่หิน ใส่กรวด ใส่ทราย แยกเป็นชั้นๆ เพื่อกรองน้ำดื่ม โดยน้ำที่เทเข้าไปผ่านปากกรวย (Top of Funnel หรือ ToFu) ค่อยๆ หลายผ่านชั้นกรองต่างๆ (Middle of Funnel หรือ MoFu) และเมื่อเจอชั้นกรองสุดท้าย (Bottom of Funnel หรือ BoFu) เราก็จะได้น้ำที่สะอาดดื่มได้ หรือก็คือ ลูกค้าคุณภาพนั่นเอง

แล้วทำไมธุรกิจต้องกรองลูกค้า? ยิ่งลูกค้าเยอะ ยิ่งดีไม่ใช่เหรอ?

ในมุมหนึ่ง ก็เช่นเดียวกับการกรองน้ำดื่ม เราคงไม่ดื่มน้ำที่ไม่สะอาด แต่จะดื่มนำ้ที่กรองจนแน่ใจแล้วว่า “ดื่มได้” และในอีกมุมหนึ่ง ไม่มีทางที่ธุรกิจจะได้ลูกค้าทุกคนที่เข้ามารู้จักแบรนด์ผ่านปากกรวย กว่าที่คนที่เห็นสินค้า รู้จักแบรนด์ พิจารณา จนตัดสินใจซื้อ ไม่ใช่เรื่องยาก 

Framework อย่าง Sales Funnel จะถูกนำมาใช้ทำความเข้าใจและแบ่งสเตจการทำการตลาดให้เหมาะสมกับขั้นตอนการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

อธิบาย องค์ประกอบของ Sales Funnel มีอะไรบ้าง

จริงๆ แล้ว Sales Funnel คือ คำศัพท์รวมๆ ที่ใช้เรียกถึงกระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภค (อีกคำศัพท์หนึ่งที่ใกล้เคียงกัน คือ “Buying Processes”) ที่ใช้กันทั่วโลก ไม่ว่าจะทำ Digital Marketing หรือการตลาดแบบดั่งเดิมก็ตาม ซึ่งแบ่ง Framework ที่มีหน้าตาเป็น “กรวย” อาจแบ่งออกเป็น 3 ขั้น 4 ขั้น หรือ 5 – 6 ขั้นได้เลย

แต่ในที่นี้ จะขออธิบายลำดับของ Sales Funnel ที่เป็นกลางที่สุด เพื่อให้คุณสามารถทำความเข้าใจ Sales Funnel หน้าตาอื่นๆ ได้

1. Top of Funnel (ขั้นการรับรู้ – Awareness)

Top of Funnel (ToFu) หรือส่วนปากกรวย คือ ช่วงที่ผู้คนหรือกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เข้ามารู้จักแบรนด์ อาจจะผ่านการเสิร์ชบน Google, ผ่านโฆษณาบน Social Media 

หากเทียบกับ Framework อื่น ในขั้นตอนนี้ คือ ช่วงที่กลุ่มเป้าหมายเกิด “การรับรู้” หรือ “Awareness” ทั้งรู้ว่าตัวเองมีปัญหาหรือกำลังมีความต้องการ และรับรู้ว่ามีแบรนด์นี้ๆ หรือ Solution นี้ๆ อยู่บนโลกที่น่าจะตอบโจทย์พวกเขาได้

Case Example: ยกตัวอย่างเช่น A รับรู้ว่าตัวเองมีอาการปวดหลัง เลยเสิร์ชหาวิธีแก้ปวดหลังใน Google

2. Middle of Funnel (ขั้นตอนการพิจารณา – Consideration)

Middle of Funnel (MoFu) หรือส่วนกลางกรวย คือ ช่วงต่อมาหลังจากที่ผู้คนหรือกลุ่มเป้าหมาย “รับรู้” ปัญหาหือทราบว่ามี Solution ซึ่งอาจจะเป็นสินค้าหรือบริการของแบรนด์แล้ว และขณะนี้ พวกเขากำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเลือกทางแก้ปัญหาทางไหน

Case Example: A เจอบทความบทความและวิดีโอมากมายที่บอกวิธีแก้อาการปวดหลัง ทั้งการออกกำลังกาย การเล่นโยคะ ท่าบริหารร่างกายระหว่างวัน ร้านนวด ฝังเข็มรักษาออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น และ A กำลังพิจารณาว่า ทางเลือกไหนเหมาะกับตัวเอง

3. Bottom of Funnel (ขั้นตอนการตัดสินใจ – Decision)

Bottom of Funnel (BoFu) หรือส่วนก้นกรวย คือ ช่วงที่คนตัดสินใจได้แล้วว่า จะเลือก Solution ไหนในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการของเขา เทียบกับ Funnel อื่นๆ ก็คือ “Decision” ซึ่งตอนนี้เขาจะกำลังหารายละเอียดของสินค้า/บริการ/ทางเลือกนั้นๆ ตลอดจนวิธีทำ

Case Example: A ตัดสินใจว่าจะไปร้านนวดก่อนเลย และเลือกแล้วว่าจะเลือกร้านที่ใกล้บ้านที่สุด ในขั้นตอนนี้ A จะหาราคาและวิธีเดินทางไปที่ร้าน

เราจะใช้ Sales Funnel ใน Digital Marketing อย่างไร?

ตัวอย่าง Sales funnel
ที่มารูปภาพ neilpatel.com

Sales Funnels ในอีกมุมหนึ่งก็คือ Buying Stage หรือกระบวนการตัดสินใจซื้อของลูกค้า 

จากแผนภาพ Sales Funnel ข้างต้น ในส่วนด้านขวา คือ รายการสิ่งที่ธุรกิจมอบให้ (Offers) กับผู้คนในแต่ละช่วงการตัดสินใจ ซึ่งเป็นไอเดียในการปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาให้ตรงกับช่วงการตัดสินใจ หรือเรียกว่า “ตีให้ถูกจุด” ส่งสิ่งที่เขาน่าจะสนใจไปหาและกระตุ้นให้เขาเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

หากเป็นช่วง Top of Funnel หรือ Awareness Stage สิ่งที่ธุรกิจควรทำ คือ การให้ความรู้เพื่อให้เขาตระหนักว่ามีทางเลือก Solution ทางแก้ปัญหา หรือมีสินค้า/บริการของแบรนด์อยู่ ไม่ว่าจะผ่าน Blog Post, How-to video, Infographic เป็นต้น ซึ่งมีจุดประสงค์ทำให้แบรนด์หรือสินค้าเป็นที่รู้จัก

หากเป็นช่วง Middle of Funnel หรือ Consideration ก็ควรเป็นความรู้ ข้อมูล รายละเอียด ที่ช่วยให้เขาตัดสินใจได้ว่า ควรเลือกอะไร ยังไง หรือกระตุ้นให้ตัดสินใจง่ายขึ้น เช่น Testimonial, Case Study, Demo video, FAQs page เป็นต้น มีจุดประสงค์เพื่อให้สินค้า/บริการของแบรนด์น่าเชื่อถือ อยากใช้ อยากเลือก อยากซื้อ

ถ้าเป็นช่วงก้นกรวย Bottom of Funnel หรือ Decision ก็ควรเป็นรายละเอียดหรือ Call-to-Action (สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจลงมือทำ ซึ่งอาจจะเป็นปุ่มหรือข้อความที่บอกให้ลงมือ) ที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกสินค้า/บริการของแบรนด์ เช่น รายละเอียดราคาหรือ Pricing Page, Free Trial, คูปอง เป็นต้น มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยหรือกระตุ้นการตัดสินใจให้เขากลายเป็นลูกค้า

นอกจากนี้ Sales Funnel ก็เป็น Framework การตลาดที่ธุรกิจควรนำมาประยุกต์ในการทำคอนเทนต์หรือการเลือกส่งสาร Marketing Message ที่ตอบจุดประสงค์ขั้นตอนการตัดสินใจแต่ละขั้นด้วย เพื่อพูดกับ “อนาคตลูกค้า” (Prospect) ได้เหมาะเจาะ ถูกเวลา ถูกบริบท และนำทางเขาสู่การตัดสินใจหรือซื้อสินค้าในที่สุด

รู้จักกับ AIDA Model อีกมุมมองที่ช่วยให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น

AIDA Model คือ กระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้คนผ่านสเตจความรู้สึกต่างๆ ได้แก่ Attention (สนใจ), Interest (ชอบ), Desire (ต้องการ), Action (ตัดสินใจซื้อ) โดยสิ่งที่แบรนด์จะทำ คือ การส่งข้อความการตลาดหรือคอนเทนต์ เพื่อเรียกร้องให้เขาสนใจ ชอบ และรู้จักอยากได้/ต้องการ จนนำมาสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด

ตัวอย่าง AIDA model
AIDA Model
ที่มารูปภาพ blog.hubspot.com

หน้าตาของ AIDA จะเหมือนๆ กับ Sales Funnel เพราะมีคอนเซปต์ในเชิงกระบวนการเหมือนกันและรูปทรงมีเป็นทรงกรวยเหมือนกัน โดยทั่วไป Sales Funnel กับ AIDA Model มักถูกพูดถึงหรืออธิบายปนกัน หรือเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

อธิบายองค์ประกอบของ AIDA และเราจะใช้ยังไงในการทำการตลาด

วิธีใช้ AIDA Model ก็เหมือนกับ Sales Funnel โดยการกระตุ้นให้ผู้คนขยับเข้าสู่สเตจความรู้สึกขั้นต่อไปและกลายเป็นลูกค้าในที่สุด จากรูป Framework ข้างต้น เราก็สามารถอธิบายสิ่งที่แบรนด์ต้องทำได้เพิ่มเติมง่ายๆ

1. Attention – ทำให้เขารู้สึก “สิ่งนี้คืออะไร?”

Attention เป็นช่วงที่คนอาจจะไม่ได้มีความสนใจ ไม่ได้รู้สึกอยากได้อะไร แต่พอมาได้ยินคนอื่นพูดถึง เจอโฆษณา ก็อาจจะเกิดความสนใจว่า สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้น่าสนใจยังไง 

ในมุมของแบรนด์ จึงต้อง “ดึงดูดความสนใจ” (Attract attention) เพื่อสร้างการรับรู้ให้เขาอยากที่จะเข้ามาทำความรู้จักแบรนด์หรือสินใจ อาจจะผ่านคอนเทนต์ที่ช่วยแก้ปัญหาหรือโฆษณาที่เร้าความสนใจก็ได้ 

2. Interest – ทำให้เขารู้สึกว่า สิ่งนี้น่าสนใจ “ชอบจัง”

Interest คือช่วงที่คนรู้สึกชอบใจ พึงพอใจ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขาก่อนอยู่แล้ว (สนใจสินค้าหรือตัวแบรนด์อยู่แล้ว) หรือหลังจากที่เจอคอนเทนต์หรือโฆษณาของแบรนด์ในช่วง “Attention” แล้วพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับ เห็นว่าคอนเทนต์/โฆษณาของแบรนด์น่าจะเป็นทางออก ทางแก้ปัญหาของเขาได้

สิ่งที่แบรนด์จะทำให้ช่วงนี้ คือ “สร้างความสนใจและความพึงพอใจ” (Generate Interest) ทำให้เขารู้สึกว่า อยากศึกษาต่อ เช่น หลังจากที่เขาอ่านคอนเทนต์จากสเตจแรกแล้ว แบรนด์ทำยังไงให้เขาอยากอยู่ต่อและคิดว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ดีและช่วยเหลือเขาได้ ตรงจริต หรือน่าจะใช่สิ่งที่ตามหา

3. Desire – ทำให้เขารู้สึก “ถูกใจ อยากได้สิ่งนี้จังเลย” 

Desire เป็นสเตจที่คนอยากได้ รู้สึกต้องการสินค้าหรือทางแก้ไขปัญหาของเขาแล้ว เช่นเดียวกันกับสเตจที่สอง ที่เขาอาจจะอยากได้อยู่ก่อนแล้ว หรือถูกฟูมฟักความต้องการจากสเตจ Attention และ Interest

สิ่งที่แบรนด์จะต้องมาทำในขั้นตอนนี้ก็คือ “กระตุ้นความต้องการ” (Stimulate desire) เข้าไป เพื่อผลักดันให้คนอยากตัดสินใจ ลงมาทำ ซื้อ ลงทะเบียน จอง ฯลฯ ซึ่งทำได้โดยการทำให้เขารู้สึกประทับใจ คุ้มค่า เชื่อว่าสินค้าตัวนี้ แบรนด์นี้ คือ ทางออก

ในการทำการตลาด ขั้นตอนนี้ จะสำเร็จได้ แบรนด์อาจจะต้องทำ 2 สเตจแรกให้ดี เพื่อฟูมฟักคนจนเขาต้องการ อาจจะเป็นการส่งคอนเทนต์หาเขาเรื่อยๆ จนเขาเชื่อถือ หรือเข้าใจปัญหาจริงๆ และเห็นแบรนด์เป็นทางออก

4. Action – ทำให้เขาตัดสินใจ “โอเค งั้นซื้อ”

Action คือ ช่วงที่คนตัดสินใจ ลงมือทำอะไรบางอย่างหรือตัดสินใจซื้อ 

สิ่งที่แบรนด์จะต้องทำ คือ การพาคนมาที่สเตจนี้ให้ได้มากที่สุด หล่อเลี้ยงและกระตุ้นความต้องการ (Desire) ของเขาจนเขา “โอเค เอาอันนี้” ได้ ซึ่งถ้าเป็นคอนเทนต์หรือ Marketing Message แบรนด์จะต้องบอกสิ่งที่เขาต้องทำ (Call-to-Action) และบอกคุณค่าหรือสิ่งที่เขาจะได้รับให้ชัด (Offer) 

สิ่งที่ต้องบอกเขาอาจจะเป็น วิธีการติดต่อ วิธีการซื้อ วิธีการชำระเงิน รายละเอียดสินค้า ของแถม ส่วนลด ฯลฯ โดยอาจจะเป็นปุ่มหรือโค้ดโปรโมชั่นที่กระตุ้นให้ตัดสินใจทำทันที

ไม่ว่าจะ Sales Funnel หรือ AIDA Model ต่างก็เป็นสเตจการตัดสินใจของคนหรือผู้ซื้อทั้งสิ้น (เราเรียกว่า “Buyer’s Journey”) เพียงแต่ว่า Sales Funnel จะพูดถึงช่วงๆ หนึ่งเป็น ลำดับๆ แต่ AIDA จะแยกนิยามออกเป็น ความรู้สึก

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ท้ังสอง Framework มักใช้พูดถึงรวมๆ กัน เพียงแต่ว่า Sales Funnel อาจให้ความสำคัญในฝั่งของ “แบรนด์” มากกว่า ส่วน AIDA จะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของ “ผู้ซื้อ” มากกว่า 

กรอบที่เราเลือกมาใช้ทำการตลาดก็อาจจะส่งผลต่อวิธีคิดและวิธีเข้าหา (Approach) ผู้บริโภค

ทั้ง Sales Funnel และ AIDA Model ต่างก็มักจะถูกนำมาใช้ในการวางแผนคอนเทนต์และการตลาดอยู่เสมอ แต่ด้วยรูปแบบ Framework ที่เป็น “ทรงกรวย” เราอาจรู้สึกว่า สเตจสุดท้าย คือ เส้นชัย การได้ลูกค้ามา คือ ความสำเร็จ

อีก Framework ดังที่ชวนให้เรามองไปได้ไกลกว่าการ “ได้ลูกค้า” ก็คือ Inbound Marketing ที่อยากชวนคุณมารู้จัก

Inbound Marketing Flywheel วงล้อที่ช่วยเพิ่มคุณค่าของลูกค้าต่อแบรนด์ (Lifetime value)

Inbound Marketing คือ การตลาดแบบแรงดึงดูด ที่มี Mindset สำคัญที่การ “ดึงดูด” ลูกค้า ไม่ใช่การ “ผลัก” การตลาดหรือโฆษณาไปหาเขา ไม่ใช่การกระตุ้นให้เขาสนใจ อยากได้ แต่จะ “หล่อเลี้ยง” และ “ฟูมฟัก” ความต้องการของเขาให้ไปถึงสเตจการตัดสินใจ

นอกจากนี้ Inbound Marketing Framework ยังแตกต่างจาก Marketing Framework อื่น โดยมีลักษณะเป็น “วงล้อ” (Flywheel) ที่หมุนวนไปเรื่อยๆ

ตัวอย่าง inbound marketing wheel
Inbound Marketing Flywheel
ที่มารูปภาพ hubspot.com

การที่กระบวนการ Inbound Marketing หมุนวนรอบไปเรื่อยๆ นั้น หมายความว่า กระบวนการทำการตลาดหรือความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้ายังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การปิดดีลแล้วจบไป

สิ่งที่ Inbound Marketing กำลังบอกเรา คือ การเพิ่ม Lifetime Value เมื่อคนคนหนึ่งหลายเป็นลูกค้าเราแล้ว ทำอย่างไรเขาถึงจะยังเป็นลูกค้าเราต่อไป และทำอย่างไรเขา (ที่เป็นลูกค้าเราแล้ว) จะช่วยบอกต่อและหาอนาคตลูกค้า (Prospect) มาให้กับแบรนด์

Inbound Flywheel ทำงานอย่างไร ใน Digital Marketing 

วัฏจักรของ Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด ได้แก่ Attract, Engage และ Delight ซึ่งจะขออธิบายเพียงคอนเซปต์คร่าวๆ เพื่อให้คุณรู้จักภาพรวม 

แนะนำให้คุณอ่าน Resource ความรู้ด้าน Inbound Marketing ฉบับเต็ม ลงรายละเอียดทั้งวิธีคิด วิธีทำ ข้อสงสัยต่างๆ เพิ่มเติม

ตัวอย่าง inbound marketing wheel
สิ่งที่ต้องใช้ในขั้นตอนต่างๆ ของ Inbound Marketing

1. Attract ดึงดูด

Attract คือ การดึงดูดผู้คนเข้ามาในวัฏจักรของ Inbound หรือเข้ามารู้จักแบรนด์ผ่านการทำคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ รวมถึงการทำโฆษณาเพื่อให้คนรู้จักแบรนด์หรือสินค้า

การทำ Search Engine Marketing หรือทำการตลาดบนหน้าเสิร์ชอย่าง SEO ให้เว็บไซต์ติดอันดับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ Inbound Marketing เพื่อดึงดูดคนผ่านความสงสัย ความสนใจ ความต้องการของผู้คน 

เมื่อคนเข้ามายังขั้นตอนแรกแล้ว โจทย์ต่อมาก็คือ การที่แบรนด์จะปฏิสัมพันธ์กับเขา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

2. Engage ปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วม

Engage คือ กระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้คน ซึ่งอาจเป็นการพูดคุย การนัดหมาย การที่คนทำอะไรก็ตามกับแบรนด์ รวมไปถึงการตัดสินใจซื้อหรือเป็นลูกค้าด้วย 

เทคนิคที่เกี่ยวข้องของการ Engage กับผู้คน แบรนด์จะต้องสร้างช่องทางที่สามารถติดต่อกับเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนให้เขา Follow ช่องทาง Social Media, ติดตามอีเมล, กรอกฟอร์มลงทะเบียนให้ติดต่อกลับ, จองเวลาขอเดโม่ เป็นต้น เพื่อให้แบรนด์มีช่องทางติดต่อกับเขา

3. Delight สร้างความประทับใจและสานสัมพันธ์

ไม่หยุดแค่การปิดดีล โจทย์ต่อมาของ Inbound คือ จะ “Delight” หรือสร้างความประทับใจและสานสัมพันธ์ให้กับลูกค้าอย่างไร เรื่องเหล่านี้จะเริ่มเป็นเรื่องของ Customer Service หรือ Customer Relationship Management แล้ว

วิธีง่ายๆ ในการเลี้ยงดูความสัมพันธ์กับลูกค้าก็คือ การทำให้เขาประทับใจ พึงพอใจ จนอยากเป็นลูกค้าเราเรื่อยๆ ตลอดจนอยากชวนคนอื่นๆ มาซื้อมาใช้ด้วย 

นอกจากนี้ กลยุทธ์แบบ “บัตรสะสมแต้ม” หรือ “Privilege” สำหรับลูกค้าเก่าและบริการหลังการขายก็เป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ให้ลูกค้ายังนึกถึงเราเป็นช้อยส์แรกเสมอ

กระบวนการทำ Inbound กำลังบอกอะไรนักการตลาด? 

จากกระบวนการทั้ง 3 ข้อ ใน Inbound Marketing Flywheel กำลังบอกเราว่า “แค่ Marketing ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว!” สำหรับการทำธุรกิจ 

เราจะเห็นว่า ขั้นตอนทั้งสาม ไม่ได้มีแค่ส่วนของ Marketing เท่านั้น หากแต่ยังมี Sales และ Customer Service ด้วย 

และอีกข้อสำคัญ คือ การรักษาฐานลูกค้าเดิมเป็นเรื่องสำคัญ — การหาลูกค้าใหม่อย่างไรก็ยากและมีต้นทุนมากกว่าการรักษา ‘คนที่เลือกเราอยู่แล้ว’ 

สรุป Digital Marketing Framework และสิ่งที่ต้องทำต่อ

Framework คือ ไกด์ไลน์ที่ช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นและเป็นระบบ ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปก็คือ การนำ Framework วางแผนทำ Digital Marketing

หากถามว่า ควรใช้อันไหน ใช้อย่างไร ตอบได้ว่า Framework ทั้งหมดนี้สามารถใช้ด้วยกันได้ โดยเราอาจประยุกต์ใช้รวมกันทั้งหมดหรือเลือกหยิบบางตัวมาใช้ เพียงแต่ว่า เราจะเลือกหยิบใช้อันไหน จุดประสงค์ต้องชัด ใช้ Framework นี้เพื่ออะไร ตอบลูกค้าและ Business Goal ได้อย่างไร

สุดท้าย เมื่อเราเข้าใจ Channels ซึ่งถือเป็น Resources ในการทำการตลาดและรู้จัก Framework แล้ว ในบทต่อไปเราจะมาทำความรู้จักการวางกลยุทธ์ของการทำการตลาดกัน