ปลายปี 2023 เกิดปรากฏการณ์สำคัญในวงการ Digital Marketing เมื่อ Google ประกาศว่าจะเปลี่ยนการแสดงผลการค้นหาใหม่ มาเป็นแบบ Search Generative Experience (SGE) 

(อ่านสรุป Google Algorithm Updated 2023 ได้ที่บทความนี้)

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะ Google คือหนึ่งในเว็บที่คนเข้ามากที่สุดทั้งไทยและโลก เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักที่นักการตลาดออนไลน์ใช้เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้คน 

ซึ่งหากไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ก็มีความเสี่ยงที่ปริมาณผู้เข้าชมสินค้าจาก Google จะลดลงอย่างฮวบฮาบ จนอาจเกิดผลเสียกับธุรกิจ

“อยากจะเป็นคนที่ถูกกลืน หรืออยากยืนอยู่เหนือคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงทางเลือกเป็นของคุณ”

สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์, CEO of Content Shifu

โดยผลกระทบต่อเรื่อง SEO ส่วนตัวเห็นว่า “SEO is not dead” เพราะ SGE ยังแสดง Organic Search ในจุดที่คนมองเห็นง่าย เว็บไซต์ที่ทำ SEO จึงมีโอกาสได้รับ Organic Traffic เหมือนเดิม 

คำถามคือ ทำอย่างไรให้เว็บไซต์ปรากฏในจุดที่มองเห็นง่าย 

จากการหาข้อมูล ผมพบว่า ผู้เชี่ยวชาญ SEO ต่างประเทศเกือบทุกคนฟันธงว่า เว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็น E-E-A-T คือเว็บไซต์ที่ Search Generative Experience จะเลือกมาแสดงผล

แล้ว E-E-A-T คืออะไร ทำอย่างไรให้กูเกิ้ลมองว่า เว็บไซต์เรามีคุณสมบัติแบบ E-E-A-T เรามาลงรายละเอียดกันเลยครับ

E-E-A-T คืออะไร 

E-E-A-T คือ หลักเกณฑ์ที่ Google ใช้พิจารณาเนื้อหาของเว็บไซต์  เว็บไซต์ซึ่งถูกพิจารณาแล้วว่า มีคุณสมบัติเป็น E-E-A-T Website  ถือว่าเป็นเว็บคุณภาพในสายตาของ Google จึงมีโอกาสสูงที่เว็บจะปรากฏในตำแหน่งที่เห็นง่ายของผลการค้นหา

E-E-A-T นั้นย่อมาจาก Experience, Expertise, Authoritativeness, and Trustworthiness ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

  • Experience (ประสบการณ์) |  เว็บมีเนื้อหาที่บอกเล่า “ประสบการณ์” เช่น สิ่งที่พบจากการลงมือปฏิบัติจริง  ปัญหาที่เจอ วิธีแก้ไข ผลลัพธ์ที่เกิด
  • Expertise (ผู้เชี่ยวชาญ) : เนื้อหาเว็บเขียนโดยนักปฏิบัติซึ่งรู้ลึกรู้จริงในเรื่องนั้น
  • Authoritativeness (มีชื่อเสียง) : ผู้เขียนเนื้อหาหรือตัวเว็บไซต์มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงการ โดยสะท้อนจาก เว็บไซต์ได้รับลิงก์ ถูกอ้างถึง เอ่ยชื่อ จากเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มอื่น เช่น You Tube Facebook LinkedIn
  • Trustworthiness (ปลอดภัย) : เว็บไซต์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ผู้ใช้เว็บได้รับความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่ถูกนำไปใช้เกินกว่าข้อตกลง ไม่มีลิงก์หรือเนื้อหาที่หลอกลวงให้เสียทรัพย์ หรือ เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์

ประวัติของ E-E-A-T 

ต่อไป เรามาดูว่า E-E-A-T มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จะได้เข้าใจว่า E-E-A-T จะส่งผลต่อการทำ SEO อย่างไรบ้าง 

ปี 2015 โดย Google ได้เผยแพร่เอกสาร Search Quality Rating Guidelines ทางอินเตอร์เน็ต เอกสารดังกล่าว อธิบายว่า กูเกิ้ลใช้หลักการอะไรในการพิจารณาว่า บทความใดเป็นบทความคุณภาพ ซึ่งโดยสรุป หลักการที่ Google ใช้ก็คือ E-E-A-T

โดยหลักการของ E-E-A-T คือ  ในโลกความจริง ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปใช้งานได้ มักมาจากประสบการณ์ของผู้ที่ลงมือทำจริงๆ อีกทั้งผู้ให้ข้อมูลควรมีประสบการณ์ คลุกคลีในวงการนั้นๆ มายาวนาน

ซึ่งต่อมา Google ได้เผยแพร่บทความใน Official Google Blog โดยบอกใบ้ว่า หากบทความอยากประสบความสำเร็จใน Google Search ให้นำหลักการของ E-E-A-T ไปประยุกต์ใช้กับเว็บ

cr : https://developers.google.com/search/blog/2023/02/google-search-and-ai-content

จากข้อมูลข้างต้น นักการตลาดออนไลน์จึงควรรู้ว่า ทำอย่างไรให้ Google มองว่า เว็บมีคุณสมบัติเป็น E-E-A-T Website เพราะเว็บเราจะเป็นเว็บคุณภาพในสายตากูเกิ้ล เพิ่มโอกาสที่จะ ทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จ อันนำมาซึ่ง Organic Traffic จำนวนมาก

วิธีสร้างเว็บให้เข้าเกณฑ์ E-E-A-T

E-E-A-T SEO

วิธีสร้างเว็บให้มีลักษณะเป็น “Experience”

สร้างคอนเทนต์หรือเขียนบทความแชร์ประสบการณ์

หนึ่งในวิธีสร้างเว็บให้มีลักษณะ Experience  คือ สร้างคอนเทนต์หรือเขียนบทความแบบ “แชร์ประสบการณ์”

บทความแบบแชร์ประสบการณ์ หมายถึง เล่าประสบการณ์จริงเกี่ยวกับบางสิ่ง สิ่งที่เจอ ผลลัพธ์ที่ได้ ปัญหา วิธีแก้ไขหรือพัฒนาให้ดีขึ้น

โดยตัวอย่างบทความประเภทนี้ ผมขอยกบทความ “5 AI เขียนบทความที่ทดสอบแล้วว่าดีจริง” ซึ่งผมเขียนแล้วติดอันดับ 1 ในคีย์เวิร์ด “AI เขียนบทความ” สามารถสร้าง Organic Traffic ให้เว็บได้อย่างน่าพอใจ

บทความนี้ ผมเขียนจากประสบการณ์ทดลองใช้ AI Writer มาแล้วหลายยี่ห้อ เนื้อหาบทความแสดงตัวอย่างใช้จริง ผลลัพธ์ที่ได้ แสดงความเห็นส่วนตัว โดยมีคำที่สื่อถึงประสบการณ์จริง เช่น “ทดลอง ตัวอย่างจริง ผลลัพธ์” กระจายอยู่ทั่วบทความ

สรุปคือ ในการเขียนบทความของเว็บไซต์ นอกจากจะมีบทความประเภท “ Information Keyword” [บทความที่มีคีย์เวิร์ดประมาณว่า “…..คืออะไร , วิธีทำ……” ] แล้ว ก็ควรมีบทความแชร์ประสบการณ์เผยแพร่เป็นระยะ เพื่อให้ Google มองว่า เว็บไซต์เขียนโดยผู้มีประสบการณ์นั่นเองครับ

วิธีสร้างเว็บให้มีลักษณะเป็น “Expert”

สร้างหน้า About Me ให้ถูกหลัก

ประเด็นสำคัญที่ Google ใช้ตัดสินว่า เว็บไซต์ไหน์มีลักษณะ “Expert” คือ คุณสมบัติของผู้เขียนบทความหรือสร้างเนื้อหา

โดยวิธีปฎิบัติในการทำให้กูเกิ้ลรู้ว่า เว็บเราสร้างเนื้อหาโดยผู้เชี่ยชาญ คือ สร้างหน้า About Me ที่น่าเชื่อถือ โดยรายละเอียดที่ควรใส่ในหน้า About Me มีดังนี้

  • วุฒิการศึกษา & ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์(ศ.), รองศาสตราจารย์ (รศ.) ของเจ้าของเว็บ
  • ประสบการณ์ & ความสำเร็จในการทำงาน 
  • Social Proof: ความเห็นของบุคคล (ยิ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในวงการนั้นๆ ยิ่งดี) ต่อผู้เขียนหรือเจ้าของเว็บไซต์
  • Certificate จากองค์กร หรือ บริษัทที่น่าเชื่อถือ
  • ในกรณีเป็นเว็บบริษัท  การแสดงเอกสาร Official Partner กับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Google , Microsoft  หรือเป็นสมาชิกของสมาคมระดับประเทศ  จะยิ่งสะท้อนความเป็นผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น 

ตัวอย่าง About Me ที่ดี

Cr: www.backlinko.com

เขียน blog ต่อเนื่อง

คำถามคือ หากเราคือคนที่สนใจมุ่งมั่นปฏิบัติในเรื่องหนึ่งแบบจริงจังต่อเนื่อง แต่ไม่ได้จบการศึกษาในสาขานั้น ไม่มีตำแหน่งวิชาการสูงๆ  ไม่ใช่คนดัง แบบนี้จะทำอย่างไรให้กูเกิ้ลมองว่าเราคือผู้เชี่ยวชาญ

คำตอบคือ เขียน blog หรือ แชร์ประสบการณ์บนเว็บไซต์ โดยเทคนิคการเขียน blog เพื่อให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีดังนี้

  • เขียนต่อเนื่องและนานพอ | เขียน blog ลงในเว็บไซต์ หรือ Writing Platform (Blockdit, Medium)  อย่างต่อเนื่องและนานพอ โดยส่วนตัว คำว่านานหมายถึง เขียนต่อเนื่องเกิน 2 ปี 

    โดยเนื้อหาในการเขียน ควรเน้นที่การแชร์ประสบการณ์ทำจริง สิ่งที่เจอ ปัญหา อุปสรรค วิธีการแก้ไข ผลลัพธ์ที่ได้ 
  • อ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือ | หากเนื้อหาบทความ มีการอ้างอิงข้อมูลที่เป็นตัวเลข สถิติ ผลการวิจัย ควรมีการสร้าง Outbound link ไปยังแหล่งอ้างอิง โดยคุณควรตรวจสอบด้วยว่า เว็บที่คุณนำมาอ้างอิงนั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ผู้ให้ข้อมูลคือใคร

    การอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ จะทำให้กูเกิ้ลมองว่า เว็บของคุณเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกหลักวิชาการ อันสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของผู้เขียน
  • ศึกษา SEO Writing  | SEO Content Writing คือ เทคนิคการทำให้บทความของคุณปรากฏลำดับต้นๆ ในผลการค้นหาของ Google เมื่อผู้คนเห็นบทความคุณบน Google และเข้ามาอ่านบ่อยๆ จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น การเสนอขายสินค้า หรือ เรื่อง Personal Branding

    เมื่อคุณเขียนบทความอย่างต่อเนื่อง แล้วเสริมด้วยการทำ SEO Content Writing สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Googleจะเข้าใจว่าคุณคือผู้เชี่ยวชาญได้ในระยะเวลาอันสั้นกว่า เมื่อเทียบกับการที่คุณเขียนบทความอย่างเดียว

    ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

    คำตอบคือ หลักการจัดอันดับบทความของ Google นั้น เริ่มจากจะตรวจสอบว่า บทความมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ลองจินตนาการว่า เมื่อ Google พบบทความของคุณมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องๆ Google จะเกิดการเรียนรู้ว่า คุณเป็นผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ส่งผลให้คุณเป็น Expert ในสายตา Google นั้นเอง

    โดยคุณสามารถศึกษาวิธีการเรียนรู้สรรพสิ่งของกูเกิ้ลได้ที่บทความ | What is “Google's Knowledge Graph”

วิธีสร้างเว็บให้มีลักษณะเป็น “Authoritativeness”

สร้างลิงก์จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

Authoritativeness หมายถึง เป็นเว็บไซต์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ถูกกล่าวถึงในวงการ ได้รับเชิญไปให้ข้อมูลในสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

การที่คุณถูกเชิญออกสื่อ หรือ กล่าวถึงบ่อยๆ เป็นการสะท้อนว่าคุณต้องมีอะไรดีหรือมีสิ่งที่คนสนใจอยากทราบ  ซึ่งกูเกิ้ลก็ใช้สิ่งนี้เพื่อประเมินว่า เว็บไซต์หรือมีผู้เขียนมีลักษณะแบบ Authoritativeness หรือไม่

หนึ่งในการทำให้เว็บไซต์คุณมีลักษณะเป็น Authoritativeness และเป็นสิ่งที่ถ้าคุณทำได้ จะส่งผลบวกต่ออันดับของเว็บไซต์อย่างนัยยะสำคัญ คือ การได้รับลิงก์จากเว็บที่เกี่ยวข้องกับเว็บคุณ

ตัวอย่างเช่น  Contentshifu คือเว็บที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง Martech & Digital Marketing หาก Shifu ได้รับลิงก์จากเว็บที่มีเนื้อหาเฉพาะทางด้าน Digital Marketing อย่าง Marketing Opps! , Rainmaker  แบบนี้ถือว่า Content Shifu ได้รับลิงก์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำ SEO อย่างมาก 

E-E-A-T : link

เป็นแขกรับเชิญบนแพลตฟอร์มออนไลน์

การได้รับเชิญไปออกแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook Live, YouTube, Podcast หรือ การได้เขียนบทความบนเว็บไซต์อื่น จะส่งผลเว็บไซต์คุณมีค่า Authoritativeness มากขึ้น เพราะเมื่อชื่อคุณปรากฏในเว็บไซต์อื่น หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ จะเป็นการส่งสัญญาณให้ Google ทราบว่า คุณเป็นผู้มีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือในสายงานนั้น

คุณ Bank (CEO of Shifu) ไปแชร์ข้อมูลที่  ISUZU 

รูปเมื่อผมไปแชร์ข้อมูลใน Shifu Talk

คำถามคือ หากคุณเพิ่งเริ่มต้นสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักคุณ จะมีวิธีการใดให้แพลตฟอร์มต่างๆ เชิญคุณไปแชร์ข้อมูล?

คำตอบคือ ให้คุณเริ่มสร้าง Business Connection 

Business Connection คือ การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ด้วยการพบเจอ พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบุคคล หรือ ธุรกิจในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ง่ายขึ้น

การมี Business Connection เช่น รู้จักเจ้าของช่องยูทูป หรือ เว็บไซต์ที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มโอกาสที่คุณจะได้รับเชิญไปให้ข้อมูลในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ยิ่งหากคุณมีเว็บไซต์หรือยูทูปของตัวเองแล้ว อะไรๆ ก็จะง่ายขึ้น เพราะการที่คุณและเพื่อนต่างเชิญกันและกันไปออกสื่อออนไลน์ ส่งผลให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เกิดผลดีต่อธุรกิจด้วย

ส่วนตัว วิธีสร้าง Business Connection ที่ทำได้ง่ายแถมทรงพลังมาก คือ เข้าคอร์สที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง เพราะผู้เข้าคอร์สคือคนที่อยู่ในสายงานเดียวกับธุรกิจของคุณ ซึ่งปัจจุบัน หลังจากอบรมเสร็จ มักมีการเปิดกลุ่มทางโซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อพูดคุยกัน คุณสามารถใช้กลุ่มเหล่านี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลมีประโยชน์ เพิ่มโอกาสได้รับเชิญไปแชร์เรื่องราวในแพลตฟอร์มต่างๆ อันทำให้ความเป็น Authoritativeness ของเว็บไซต์คุณสูงขึ้นด้วย

วิธีสร้างเว็บให้มีลักษณะเป็น “Trustworthiness”

ติดตั้ง HTTPS

HTTPS ย่อมาจาก Hypertext Transfer Protocol Secure  คือ วิธีการรับส่งข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตระหว่างผู้ใช้งานกับ Web Server โดยข้อมูลจะถูกเข้ารหัสเอาไว้ ข้อดีของ HTTPS คือ ข้อมูลจะมีความปลอดภัยสูงขึ้น เพราะมีแค่ผู้ใช้งานกับ Web Server เท่านั้นที่สามารถรู้รายละเอียดของข้อมูลที่รับส่ง

cr : https://officience.com/technology-science/what-is-ssl-certificate-simple

การติดตั้ง HTTPS จะทำให้เว็บไซต์ดูปลอดภัยและน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เว็บแบบ E-Commercial หรือ สถาบันการเงิน เพราะ ผู้ใช้เว็บต้องมีการส่งข้อมูลการเงิน เช่นเลขที่บัตรเครดิต รหัส หรือบัญชีธนาคาร ไปที่ Web Server  เว็บที่มี HTTPS จะทำให้ลูกค้ามั่นใจว่า ข้อมูลการเงินจะไม่ถูกขโมยหรือนำไปใช้นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต 

เผยแพร่ข้อมูลติดต่อที่เป็นความจริง

เว็บไซต์ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลติดต่อ เช่น บ้านเลขที่บริษัท เบอร์โทร อีเมล ชื่อผู้บริหาร

โดยข้อมูลดังกล่าว ควรเป็นข้อมูลจริง เบอร์โทรติดต่อได้ ไม่ใช่ข้อมูลสมมติขึ้นมา การเผยแพร่ดังกล่าว จะทำให้ผู้ใช้เว็บไซต์รู้สึกว่า เว็บมีผู้รับผิดชอบที่เป็นบุคคลซึ่งมีตัวตนจริง น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

สร้าง Google My Business 

การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เว็บมารีวิวความพอใจในการใช้สินค้า หรือ แสดงความเห็นเกี่ยวกับเว็บไซต์ของคุณ คือ หนึ่งในวิธีการเพิ่มค่า Trustworthiness เพราะเป็นการสะท้อนว่า เว็บไซต์มีการส่งมอบคุณค่าบางอย่างให้กับผู้ใช้เว็บจริง มิใช่มิจฉาชีพที่เปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงผู้คนให้เสียทรัพย์สิน 

ในทางปฏิบัติ การสมัคร Google My Business (GMB) คืออีกหนึ่งวิธีการเพิ่มรีวิวให้เว็บไซต์ เนื่องจาก GMB มีฟีเจอร์ “Review” ฟีเจอร์ดังกล่าว เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เว็บหรือผู้ใช้สินค้ามาแสดงให้คะแนน แชร์ประสบการณ์ ความรู้สึกหลังจากใช้สินค้าของคุณได้

ข้อดีอีกอย่างของ GMB คือ เวลาสมัคร GMB คุณต้องส่งรายละเอียดที่อยู่บริษัท ทำการปักหมุดบนแผนที่ แสดงเบอร์ติดต่อจริง เพื่อให้ Google ตรวจสอบก่อนอนุมัติ ดังนั้นการมีบัญชี GMB จึงเป็นเหมือนการคัดกรองเบื้องต้น เพื่อให้กูเกิ้ลและผู้ใช้เว็บรู้สึกว่า เว็บไซต์ธุรกิจคุณมีตัวตนจริง อันเป็นการเพิ่มค่า Trustworthiness ให้กับเว็บไซต์คุณด้วย

สรุป

ปลายปี 2023 Google มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดงผล มาเป็นแบบ Google Search Generative ซึ่งหากเจ้าของเว็บอยากทำ SEO ให้ติดอันดับต้นๆ ต้องทำเว็บให้เข้าเกณฑ์ E-E-A-T

โดยวิธีทำเว็บให้เข้าเกณฑ์ E-E-A-T มีดังนี้

  • E [Experience] | แชร์ประสบการณ์ทำงานและเผยแพร่บนเว็บต่อเนื่อง
  • E [Expert] | สร้างหน้า About Me ที่น่าเชื่อถือ
  • A [Authoritativeness] | สร้างลิงก์จากเว็บเกี่ยวข้องและไปแชร์ข้อมูลในแพลตฟอร์มออนไลน์
  • T [Trustworthiness] | ติดตั้ง HTTPS และทำเว็บให้ผู้ใช้มีความปลอดภัยในการใช้งาน

ตาคุณแล้ว

บทความนี้ ผมได้แชร์เรื่อง E-E-A-T Factor และวิธีการทำเพื่อให้เข้าเกณฑ์เรียบร้อย แล้วคุณล่ะครับ มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ E-E-A-T หรือเทคนิคการทำ SEO ดีๆ ก็สามารถแชร์กันใต้คอมเมนต์ได้เลยนะครับ ขอบคุณครับ