อีกไม่กี่วันนี้ ก็จะผ่านพ้นปี 2563 กันแล้ว หากย้อนกลับไปช่วงก่อนที่จะขึ้นปีใหม่ หลายๆ คนก็คงจะแพลนกันไว้ ว่าในช่วงต้นปีนี้จะทำอะไรกันบ้าง แต่สิ่งที่ทุกคนไม่คาดฝันว่าจะได้พบเจอก็ดันเกิดขึ้น นั่นก็คือวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่ได้ประสบพบเจอกันแค่ในประเทศของเรา แต่ประสบวิกฤตนี้กันไปทั่วทั้งโลก

การใช้ชีวิตในแบบใหม่ๆ ของคนทั่วทั้งโลกนั้น แน่นอนว่าต้องส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงฟีเจอร์ต่างๆ ของ Facebook บริการโซเชียลที่มีคนใช้ทั่วโลกเกือบๆ 2,700 ล้านคน ถ้างั้นในบทความนี้ เราขอพาทุกคนไปสำรวจกันว่า ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา Facebook ได้เปลี่ยนแปลง มีฟีเจอร์ใหม่ๆ และมีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง เลื่อนดูไปที่ “ยาวไปอยากเลือกอ่าน” ตรงด้านล่างนี้ แล้วเลือกหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ..

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

Facebook ออกฟีเจอร์ใหม่รับวิกฤตโควิด-19 ช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงการป้องกันโรค

ในตอนแรก เชื้อไวรัสโคโรน่าได้เริ่มแพร่กระจายที่อู่ฮั่นในช่วงเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ตอนนั้นคนทั่วโลกก็ยังไม่ค่อยตื่นตระหนกอะไรกันเท่าไหร่ จนกระทั่งมาแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลายๆ บริการออนไลน์ที่คนเราใช้กันประจำ อย่าง Google YouTube Twitter ก็ร่วมออกฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 สอดแทรกไปกับการใช้งานต่างๆ ที่ลูกค้าใช้ประจำ

ในฟากฝั่งของ Facebook เองก็ได้ร่วมทำฟีเจอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาให้ได้ใช้งานกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นหน้าที่รวบรวมสถิติต่างๆ ข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิด-19 วิธีป้องกันจากโรค และวิธีขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศของตัวเอง และฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือยังเป็นที่รวบรวมผู้ที่เดือดร้อนจากวิกฤตนี้แล้วต้องการขอความช่วยเหลือ และรวบรวมผู้ที่เต็มใจจะเสนอยื่นมือให้ความช่วยเหลืออีกด้วย น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 โดย Facebook

นอกจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 อันนี้แล้ว Facebook ยังได้ทำ COVID-19 Symptom Map ขึ้น โดยตัวเว็บนี้ จะเป็นตัวเว็บที่อยู่นอกบริการ Facebook อีกทีนึง โดยตัวเว็บนี้จะรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้ Facebook ที่ร่วมทำแบบสอบถามเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งแบบสอบถามนี้ออกโดย Carnegie Mellon University จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มา มาประมวลผลเป็นข้อมูลลงในเว็บนี้ และข้อมูลนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาครัฐในการวางแผน จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดจากโควิด-19 ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็ได้รับความเดือดร้อนที่แตกต่างกันออกไป

และสำหรับใครที่เป็นเจ้าของเพจใน Facebook ตอนที่เราจะสร้างโพสต์อะไรลงในเพจ ก็สามารถติดเครื่องหมาย “อัปเดตเกี่ยวกับโควิด-19” ได้อีกด้วย เมื่อเราต้องการโพสต์เกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำ จะบริการ หรือจะเปลี่ยนแปลงอะไร อันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้

 

สามารถตั้งค่าโพสต์ให้แสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นโพสต์ที่เกี่ยวกับ COVID-19 ได้

ในฟากของผู้ใช้งานทั่วๆ ไป การแชร์โพสต์ต่างๆ ก็มีฟีเจอร์มาช่วยด้วยเช่นกัน อย่างการแชร์บทความข่าวที่เกี่ยวกับโควิด-19 Facebook ก็จะขึ้น Pop-up แจ้งว่าบทความที่กำลังแชร์อยู่นี้เกี่ยวกับโควิด-19 นะ ข่าวนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ จากสำนักข่าวไหน เพื่อให้ผู้ใช้ไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะกดแชร์ออกไป ซึ่งเป็นการต่อยอดจากฟีเจอร์ข่าวปลอมที่ได้ปล่อยมาก่อนหน้านี้ในปีเดียวกัน

แจ้งว่าเป็นบทความที่เกี่ยวกับโควิด-19 เขียนโดยเว็บไหน ลงบทความครั้งแรกเมื่อไหร่

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ธุรกิจทุกภาคส่วนไม่ว่าจะอยู่ในวงการอุตสาหกรรมใดๆ ก็ได้รับผลกระทบกันหมด Facebook ก็ได้ตั้งกองทุนเพื่อมาช่วยธุรกิจ SME ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก (มีประเทศจีน ที่ Facebook ไม่ได้ให้บริการในประเทศนั้นด้วย) สำหรับประเทศไทย ให้เฉพาะ SME ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ด้วยการมอบเงินสดและเครดิตในการไปซื้อ Facebook Ads มูลค่ารวมประมาณ 89,000 บาท ตอนนี้โครงการนี้ได้หมดเขตรับสมัครไปแล้ว แล้วช่วงนี้ (ปลายเดือนธันวาคม 2563) ก็เริ่มมีผู้ประกอบการได้รับแจ้งผลการสมัครของโครงการนี้แล้ว

“Care – ห่วงใย” รีแอคชั่นตัวใหม่ที่อยากให้ทุกคนส่งความห่วงใยให้กันและกันในยามวิกฤตโควิด-19 นี้

จากที่ผู้ใช้ Facebook ทุกคนคุ้นเคยกับการใช้ระบบรีแอคชั่นที่ไว้กดแทนปุ่มถูกใจกันมานานแล้ว เดิมทีเวลาเราอยากจะส่งกำลังใจดีๆ หรือแสดงความห่วงใยกับเจ้าของโพสต์ที่เรากำลังอ่านอยู่ ก็จะกดรีแอคชั่นรูปหัวใจไป ซึ่งในตอนนี้ Facebook ก็ใจดี เพิ่มรีแอคชั่นตัวใหม่มาให้เป็นทางเลือกกับเราทุกคนกันแล้ว กับ “Care – ห่วงใย” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “กอด” เป็นรูปน้องอิโมจิสีเหลืองที่กำลังกอดหัวใจอยู่ เพื่อใช้แสดงความห่วงใจและการส่งกำลังใจดีๆ ให้แก่กันในช่วงเวลาวิกฤตนี้ แต่ถึงแม้ว่าในอนาคตวิกฤตนี้จะจบ แต่รีแอคชั่นตัวนี้จะอยู่กับเราไปยาวๆ อย่างแน่นอน

โพสต์แนะนำรีแอคชั่นตัวใหม่ “ห่วงใย” บนหน้า News feed ของ Facebook ในช่วงที่เปิดตัวใหม่ๆ

โลกโซเชียลต้องคู่กับการลงรูป! Facebook จัดเต็มฟีเจอร์ใหม่ๆ สำหรับการจัดการรูปภาพ

ใครๆ ก็ใช้ได้ แปลงรูป 2D ธรรมดาให้กลายเป็น 3D Photo ลง Facebook ได้เลย

หลังจากที่ Facebook ได้เปิดฟีเจอร์ให้เราสามารถอัปโหลดรูปเป็น 3D Photo มาให้ได้เล่นกันแล้ว แต่ 3D Photo ก็ใช่ว่ามือถือของทุกคนจะถ่าย 3D Photo ได้ หรือในบางรูปที่เรามีแต่แบบ 2D ปกติ ก็ดันอยากทำให้เป็น 3D Photo แล้วแบบนี้จะทำยังไง.. ล่าสุด Facebook ได้เพิ่มความสามารถให้กับฟีเจอร์ 3D Photo ไปอีกขั้น ด้วยการให้เราสามารถ อัปโหลดรูป 2D ปกติ แล้วเดี๋ยวระบบจะให้ AI ไปแปลงเป็น 3D Photo ให้ เราก็สามารถลงรูปให้เป็น 3D Photo ได้เลยทันที ก็เป็นอีกลูกเล่นนึงที่น่าสนใจเลยทีเดียว ลองไปเล่นกันได้เลย

AI ตรวจจับความตื้นความลึกบนภาพ 2D แล้วประมวลผล แปลงภาพให้เป็น 3D

แปลงตัวเราให้เป็นตัวการ์ตูนได้ ด้วย Facebook Avatar

Facebook เปิดตัว Facebook Avatar ให้เราสามารถทำรูปตัวการ์ตูนจากตัวของเราเอง มาเป็นสติ๊กเกอร์ที่ให้เราไว้ใช้ตอนไปคอมเมนต์ในโพสต์ต่างๆ อีกทั้งยังใช้ส่งในแชท Messenger และใช้เป็นรูปโปรไฟล์ใน Facebook Gaming ได้อีกด้วย

Facebook Avatar น่าเล่นไม่แพ้ใคร

โอนรูปง่ายไม่ต้องเซฟลงเครื่องก่อน โอนรูปจาก Facebook เข้า Google Photos ได้ง่ายๆ

ใครที่มีรูปภาพใน Facebook เยอะมากๆ แล้วอยากจะโหลดแบบเยอะๆ ทีเดียวไปเก็บไว้ที่อื่น ตอนนี้ก็สามารถทำได้แล้ว เพราะตอนนี้ Facebook ได้เปิดช่องทางให้เราสามารถโอนถ่ายรูปภาพจาก Facebook ของเรา ไปเก็บไว้ที่บัญชี Google Photos ของเราได้เลย โดยที่ไม่ต้องโหลดรูปลงเครื่องเราก่อน 

ทีนี้เราก็ไม่ต้องเสียเวลาทำงานหลายขั้นตอน และก็ไม่เปลืองพื้นที่คอมหรือมือถือเราในการเก็บไฟล์รูปภาพอีกด้วย ซึ่งฟีเจอร์นี้เกิดจากโครงการ Data Transfer Project ที่ Facebook Twitter Google และ Microsoft ร่วมมือกันทำขึ้น ให้ผู้ใช้สามารถส่งไฟล์หรือรูปภาพต่างๆ ข้ามบริการได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น แต่วาตอนนี้ฟีเจอร์ที่ให้เราโอนรูปจาก Facebook ไป Google Photos นั้น เพิ่งเปิดให้ใช้แค่ในสหรัฐอเมริกากับแคนาดาเท่านั้นเอง คนไทยเราก็ต้องรอกันต่อไป..

สมรภูมิบริการสตรีมเกมแข่งกันยับ! แล้ว Facebook Gaming ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง?

ตอนเราเล่นเกมก็ว่าสนุกแล้ว แต่ตอนที่เราดูคนอื่นเล่นเกมผ่านการสตรีมเกม ก็สนุกไม่แพ้กัน 

ในวงการสตรีมเกม ก็มีหลากหลายบริการให้เหล่านักแคสต์เกมและคนที่ติดตามได้เลือกใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น YouTube Gaming ของ Google, Mixer ของ Microsoft, Twitch, Discord และรวมไปถึง Facebook Gaming อีกหนึ่งบริการของ Facebook ที่ Facebook หมายมั่นปั้นมืออยากจะให้เป็นอันดับหนึ่งของวงการสตรีมเกมนี้ โดย Facebook Gaming นี้ ทุกคนสามารถเข้าไปใช้กันได้ที่เว็บไซต์ fb.gg และในแอป Facebook ปกติ ที่ Facebook Gaming เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

Mixer จาก Microsoft แอปคู่แข่งของ Facebook Gaming ที่สุดท้าย เหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ Microsoft จึงตัดสินใจ ปิดตัว Mixer ลง แล้วย้ายผู้ใช้มาอยู่กับ Facebook Gaming แทน

แอป Facebook Gaming ที่ดันมีปัญหากับ Apple 

ภายในแอป Facebook Gaming นอกจากมีการแคสต์เกมให้ดูกันแล้ว ก็ยังมี Instant game เป็นมินิเกมเล็กๆ ให้ผู้ใช้ได้เล่นเกมในแอปได้อีกด้วย แต่จากฟีเจอร์นี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาที่ว่า ไม่สามารถเอาแอปขึ้น App Store ของ iOS ได้ เพราะดันไปขัดกับกฎของ Apple ที่การเล่นเกม จะต้องทำเป็นแอปให้โหลดจาก App Store ไปเล่นโดยตรง ไม่ใช่ให้ไปเล่นในแอปอื่นอีกทีนึง ท้ายที่สุดจนถึงเดือนสิงหาคม การเจรจาน่าจะไม่ได้ผล Facebook จึงจำใจต้องตัด Instant game เฉพาะใน iOS ออก แล้วนำแอปขึ้นให้โหลดได้บน App Store ใน iOS กันซะที

แอปพลิเคชัน Facebook Gaming บน Android

Facebook Watch บริการวิดีโอออนไลน์คู่แข่ง YouTube ไปไกลถึงไหนแล้ว?

Facebook ที่มีต้นทุนที่ได้เปรียบอย่างการเป็น Social Network ที่ทุกคนต่างก็ใช้อยู่แล้ว การที่ Facebook ทำหน้าวิดีโออย่าง Facebook Watch ขึ้นมาอีกด้วย ก็ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึง Facebook Watch ได้อย่างกลมกลืนไปกับการใช้ Facebook ไปแล้ว แล้วปีที่ผ่านมา Facebook Watch เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง..

Facebook เปิดให้ Content creator สามารถเก็บเงินผู้ชมในไทยได้แล้ว

ในวิกฤตโควิด-19 เม็ดเงินการลงโฆษณาที่จ่ายให้กับ Content creator โดยตรง อย่างการจ้างรีวิว การ Tie-in สินค้า ก็น้อยลง ส่งผลต่อรายได้ของ Content creator ที่น้อยลงตามไปด้วย ล่าสุด Facebook เปิดให้ Content creator เจ้าของเพจ Facebook ในไทย สามารถเพิ่มรายได้จากผู้ชมทางบ้านได้แล้ว แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น..

Fan subscription เป็นระบบที่ให้แฟนๆ ของเพจทางบ้าน สามารถสมัครสมาชิกเป็นแฟนคลับของเพจได้ การเป็นแฟนคลับของเพจนั้น จะพิเศษตรงที่เราจะได้เข้ากลุ่มพิเศษของแฟนเพจ (คนไทยมักเรียกว่า กลุ่มลับ) เป็นกลุ่มคอมมูนิตี้ระหว่างแฟนคลับและ Content creator เจ้าของเพจ อีกทั้งในนั้นจะมีคอนเทนต์พิเศษๆ ที่ให้เฉพาะแฟนคลับดูเท่านั้น นอกจากนี้ตอนที่แฟนคลับคอมเมนต์ในแฟนเพจ ตรงคอมเมนต์ ก็จะมีข้อความ (Badge) แปะอยู่ด้วย พรีเมียมสุดๆ ไปเลย ซึ่งราคาในการสมัครสมาชิกนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 150 บาท (ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่ใช้กดสมัคร เว็บไซต์ – iOS – Android) เป็นราคาที่ Facebook กำหนด ไม่สามารถเลือกราคาเองได้

เพจที่เปิดรับ Fan subscription จะขึ้นปุ่ม “เป็นผู้สนับสนุน” อยู่ที่ด้านบนของแฟนเพจ

และอีกรูปแบบนึง ก็คือ Stars อธิบายง่ายๆ ก็คือการที่ผู้ชมไลฟ์สามารถส่งของขวัญเข้าไปให้เพจเหมือนแอปไลฟ์สดอื่นๆ ได้ สำหรับ Facebook จะใช้ “ดาว” เป็นตัวแทนของเงินที่ผู้ชมมอบให้กับเพจที่กำลังไลฟ์ โดยผู้ชมจะต้องซื้อดาวกับ Facebook ก่อนที่จะมอบให้กับเพจ หรือจะนำดาวไปซื้อ “ของขวัญเสมือนจริง” เพื่อไปมอบให้กับเพจก็ได้เช่นกัน และเมื่อเพจได้รับดาวหรือของขวัญเสมือนจริงมา ก็สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินได้อีกทีนึง ก่อนหน้านี้ระบบนี้ได้ใช้กับนักแคสต์เกมของ Facebook Gaming มาก่อนแล้ว แต่ตอนนี้เพจอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักแคสต์เกมก็สามารถใช้ได้แล้วเช่นกัน

แม้แต่ไลฟ์สด MasterChef ของช่อง 7 ก็ยังรับดาว – ของขวัญเสมือนจริง เป็นรูปสติ๊กเกอร์น่ารักๆ มากมาย

ดู MV ดูได้เลยที่นี่! Facebook Watch เพิ่มหน้าดนตรี รวม MV เพลงไว้ที่นี่ที่เดียว

ที่ผ่านมา หลายๆ ค่ายเพลง ก็ได้อัปโหลด Music video มาลงใน Facebook ด้วย แต่ก็ยังไม่ได้เห็นเป็นภาพใหญ่มากนั้น ในขณะที่ฝั่ง YouTube เอง ทุกค่ายเพลงก็ต่างไปอัปโหลด MV ลงที่นั่น Facebook จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มหน้ารวม MV ซึ่งอยู่ในหน้า Facebook Watch อีกที ภายในหน้านี้ก็ไม่ได้แค่กอง MV อยู่รวมๆ กันเท่านั้น แต่ยังได้จัดเพลย์ลิสต์ตามแนวเพลง ความนิยม และหัวข้อต่างๆ อีกด้วย ในเริ่มแรก หน้ารวม MV นี้ ได้เริ่มให้บริการก่อนที่ประเทศไทยและอินเดีย สำหรับหน้านี้ในประเทศไทย MV ส่วนใหญ่ในตอนนี้มาจาก GMM Grammy คาดว่าในอนาคต Facebook จะชวนค่ายเพลงอื่นๆ มาลงด้วย และหลังจากที่ได้ประเดิมในไทยและอินเดียไป ตอนนี้ Facebook ก็ได้เปิดหน้ารวมเพลง MV ในสหรัฐอเมริกาแล้วอีกด้วย และน่าจะขยายสู่ประเทศอื่นๆ เร็วๆ นี้

ลงทุนเก่ง! Facebook ลงทุนและซื้อกิจการในธุรกิจมากมาย ตั้งแต่ Startup คนไทย ไปจนถึงมือถืออินเดีย

ที่ผ่านมาเราก็มักจะเห็นบริษัทไอทีใหญ่ๆ ไปลงทุนตาม Tech Startup ที่ต่างๆ มากมาย แต่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา การลงทุนของ Facebook น่าจับตามองมากๆ เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น..

Facebook เข้าซื้อ Startup เสริมทัพบริการโซเชียล

GIPHY แหล่งรวม GIF สุดฮามากมาย

Facebook เข้าซื้อกิจการ GIPHY แหล่งรวม GIF ฮาๆ ที่ให้เราสามารถเลือกสรรไปใช้ทำมีมตลกๆ ใช้เป็นสติ๊กเกอร์ส่งในแชท หรือเอาไปแปะเป็นสติ๊กเกอร์สวยๆ ใน IG Story ก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมา คนที่ใช้บริการของ GIPHY กว่า 50% ก็เป็นคนที่นำ GIF ไปใช้ Instagram ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ Facebook จะเข้าซื้อ GIPHY มาอยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทของ Facebook เอง

OmniVirt AdTech Startup ของคนไทย

อันต่อมา ที่ผู้เขียนอยากขอนำเสนอมากๆ เพราะกิจการที่ Facebook มาซื้อกิจการไปนี้ เป็น Startup ที่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งนั้นเป็นคนไทย! นั่นก็คือ OmniVirt เป็น Startup ในซิลิคอนวัลเลย์ที่ทำแบนเนอร์โฆษณาในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำแบบเดิมๆ ทั้งในรูปแบบ 3D Photo, VR, AR และ 360 Photo (รูปหันดูได้รอบทิศทาง โดยหมุมมือถือไปในทิศทางต่างๆ) ตัว 3D Photo กับ 360 Photo ใน Facebook ก็เป็นลูกเล่นที่หลายๆ คนชอบใช้กัน ส่วน VR ก็มาต่อยอดกับอุปกรณ์ VR อย่าง Oculus ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Facebook

การที่ Facebook เข้าซื้อ OmniVirt ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะนำโซลูชั่นของ OmniVirt ไปต่อยอดกับบริการของตัวเองอย่างแน่นอน ก็เป็นอีกเรื่องที่น่ายินดีที่ Startup ของคนไทยเรา ได้ประสบความสำเร็จไปไกลในระดับโลกกันเลยทีเดียว

Facebook ร่วมลงขัน ลงทุนธุรกิจดิจิทัลยักษ์ใหญ่ในเอเชีย

Gojek แอปเรียกรถ – Super App คู่แข่งตัวสำคัญของ Grab

อีกหนึ่งกิจการที่ Facebook เข้าไปร่วมลงทุน เป็น Startup ที่เรามักจะได้ยินว่ามีคนไปร่วมลงทุนอยู่เรื่อยๆ นั่นก็คือ Gojek Startup สัญชาติอินโดนีเซีย จากตอนแรกที่เป็นเพียงแอปเรียกวินมอเตอร์ไซค์ จนตอนนี้ก็ได้เติบโตมาเป็น Super App ที่ให้บริการตั้งแต่เรียกรถ สั่งข้าว เป็นกระเป๋าวอลเล็ต เรียกหมอนวดมานวดถึงบ้าน ไปจนถึงเป็นแอปแชทเลยทีเดียวที่ตอนนี้ก็มาให้บริการที่ไทยด้วย จากตอนแรกที่ใช้ชื่อว่า GET! ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ GoJek ตามบริษัทแม่แล้ว การลงทุนนี้ Facebook ต้องการเข้าไปช่วยสนับสนุน SME ในอินโดนีเซียให้สามารถพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

GET! เปลี่ยนชื่อเป็น Gojek แล้ว

Jio เครือข่ายมือถือสัญชาติอินเดีย ที่มีผู้ใช้ร่วมๆ 400 ล้านคน!

และกิจการสุดท้ายที่ Facebook ได้ไปลงทุน นับว่าเป็นเคสที่น่าสนใจมากๆ เพราะ Facebook ได้ไปลงทุนใน Jio ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีผู้ใช้บริการร่วมๆ 400 ล้านคนเลยทีเดียว! 

การลงทุนนี้จะทำให้ Facebook กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในจำนวน 9.99% ของหุ้นทั้งหมด เป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง Jio ที่ Facebook ได้ไปลงทุนนี้ ไม่ได้ให้บริการแค่มือถืออย่างเดียว แต่ยังมีบริการดิจิทัลอีกมากมาย ทั้งเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ตบ้าน สตรีมมิ่งหนัง ซีรีส์ ทีวี เพลงออนไลน์ อีคอมเมิร์ซขายข้าวของใช้ประจำวัน ผลิตเครื่องสมาร์ตโฟน และแอปต่างๆ มากมาย ซึ่งรวมไปถึงแชทในชื่อ JioChat

ในประเทศอินเดีย ทั้ง WhatsApp Messenger ของ Facebook และ JioChat ของ Jio ต่างก็เป็นแอปแชทยอดนิยมในอินเดีย ก็ต้องมาจับตาดูกันต่อว่าหลังจากนี้ Facebook ในอินเดีย จะมีบริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อออกมาตอบโจทย์คนอินเดียโดยเฉพาะกันบ้าง ต้องติดตามกัน

คุณคิดว่าทำไม Facebook ถึงสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจดิจิทัลในเอเชียของเรา และจะส่งผลยังไงต่อบริการใหม่ๆ ของ Facebook ในเอเชียบ้าง?

บริการต่างๆ ทั้งโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลของ Jio คล้ายๆ กับทรูในประเทศเราที่มีบริการที่หลากหลายเช่นกัน

Messenger แอปแชทตัวชูโรงจาก Facebook ที่ปีนี้ก็จัดเต็มมิแพ้ใคร

Messenger แอปแชทที่ผูกกับ Facebook มาตั้งแต่แรก ก็เลยเป็นอีกหนึ่งแอปแชทที่ได้รับความนิยมจากคนหลายๆ คน ปีนี้ Messenger เองก็มีหลายๆ อย่างที่อัปเดตไม่แพ้กับบริการแม่อย่าง Facebook เลย ทั้งการเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ การรวมเข้ากับ Instagram Direct Message และอื่นๆ อีกเพียบ ไปดูกันดีกว่าว่าในปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

Messenger Rooms คอลห้องใหญ่ 50 คน กับลูกเล่นฟิลเตอร์มากมาย

Messenger Rooms บริการวิดีโอคอลตัวใหม่จาก Facebook สามารถคอลคุยพร้อมกันได้ถึง 50 คน โดยไม่จำกัดเวลา และเราสามารถสร้างห้องคอลแล้วเอาลิงก์เชิญเข้าห้องให้ใครก็ได้ ถึงแม้ว่าใครคนนั้นจะไม่ได้ใช้บริการใดๆ ของ Facebook เลยก็ตาม ซึ่งเราสามารถกดสร้างห้องคอลได้ผ่าน Facebook และ Messenger โดยในอนาคตจะสามารถสร้างห้องผ่าน WhatsApp Instagram และอุปกรณ์สำหรับคอลล์อย่าง Portal ได้อีกด้วย 

จุดนี้หลายๆ คนอาจจะกำลังสงสัยว่า แล้วมันต่างจาก Zoom หรือแอปคอลอื่นๆ ยังไง?

Mark Zuckerberg ได้บอกไว้ว่า แอปอื่นๆ ในท้องตลาดที่สามารถคอลได้ เหมาะกับการคอลเพื่อการทำงานมากกว่า ไม่ค่อยเหมาะกับการคอลที่ไว้ใช้คุยเล่น เม้าท์มอย หรือพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ จากแนวคิดนี้ทำให้ Messenger Rooms มีฟีเจอร์สนุกมากมายคล้ายๆ กับฟิลเตอร์ใน IG Story ที่ให้เราสามารถหยิบมาเล่นระหว่างการคอลได้ตลอดเวลาเลย ตอนนี้เปิดให้ได้ใช้กันแล้ว ลองมาเล่นกันดูได้เลย และอีกหนึ่งสิ่งที่เรียกได้ว่าเหนือกว่าคู่แข่งมากๆ เพราะ Messenger Rooms สามารถเอาสัญญาณภาพและเสียงไปออกอากาศสดผ่าน Facebook Live ได้เลย อย่างที่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราจะได้เห็นหลายๆ เพจทำรายการไลฟ์สดวิดีโอคอลคุยกันมากมาย การจะทำแบบนี้ได้ ต้องพึ่งโปรแกรมภายนอกเข้ามาช่วย แต่ฟีเจอร์นี้ก็จะมาช่วยให้สามารถทำจบได้ภายใน Facebook เลย ไม่ต้องไปใช้แอปภายนอก

Messenger Rooms คอลร่วมกันได้สูงสุดถึง 50 คน!

Messenger เปลี่ยนโลโก้ใหม่ ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์เล็กๆ ที่น่าสนใจมากมาย

ในช่วงปีที่ผ่านมา Messenger ก็ได้มีการเปลี่ยนภาพลักษณ์นิดหน่อย จากเดิมที่โลโก้ และส่วนต่างๆ ในแอปเป็นสีน้ำเงิน ตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นสีน้ำเงิน-ม่วง แบบไล่ระดับสีแล้ว ก็เปลี่ยนสีครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนสีเฉยๆ แต่ยังมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของ Messenger อีกมากมาย

วิวิฒนาการของโลโก้ Messenger

คอลไป ดูวิดีโอไปด้วยพร้อมกันผ่าน Messenger ด้วย Watch Together

ดูวิดีโอ Facebook Watch และ IGTV คลิปเดียวกันกับเพื่อนๆ ใน Messenger ด้วย Watch Together ให้เราสามารถดูคลิปเดียวกันในระหว่างการคอลคุยกับเพื่อนได้เลย ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์โมเมนต์ที่เราต้องการดูคลิปไปพร้อมกับเพื่อนๆ แล้วอยากคุยไปพร้อมกันด้วยได้อย่างสนุกสนานเฮฮาเลยทีเดียว

ดูวิดีโอที่ชื่นชอบไปพร้อมๆ กับการคอลคุยกัน

ให้คิดก่อนจะส่งต่อข้อมูลผ่านแชท กดแชร์ข้อความผ่าน Messenger ส่งได้ทีละ 5 คน

ป้องกันการส่งต่อข่าวปลอม ถ้าจะส่งต่อข้อความให้คนอื่นๆ ใน Messenger ให้แชร์ได้สูงสุด 5 ปลายทาง (คนหรือกลุ่ม) ต่อครั้งเท่านั้น เพื่อเป็นการถ่วงเวลาการแชร์ข้อมูล และทำให้ผู้ส่งมีเวลาในการคิดไตร่ตรองมากยิ่งขึ้น โดยฟีเจอร์นี้ Facebook ก็เคยได้ทำมาก่อนแล้ว ใน Whatsapp นั่นเอง

Messenger และ DM ของ IG ส่งข้อความข้ามหากันได้แล้ว

แชทข้ามหากันระหว่าง Messenger และ Instagram Direct Message ได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เราใช้ Messenger ของเรา ส่งข้อความหาคนใน Instagram ที่เรากด Follow อยู่ได้ โดยที่ไม่ได้เป็นการรวมแชทของ Messenger กับ DM ของ IG แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การแชทข้ามแพลตฟอร์มเท่านั้น สำหรับใครที่สนใจลองใช้ ก็สามารถกดที่แชทใหม่ (ปุ่มที่ให้เราเลือกเพื่อนว่าจะพิมพ์ข้อความหาใคร) แล้วค้นหาชื่อเพื่อนที่อยู่บนอีกแพลตฟอร์มนึงเพื่อเลือกแล้วส่งข้อความไปได้เลย

Vanish Mode โหมดแชทสำหรับคนรักษาความลับระดับสุดยอด

จุดจบสายแคปและแคปไว เพราะตอนนี้ Messenger และ Instagram Direct Message มีฟีเจอร์ใหม่ที่ชื่อว่า Vanish Mode ไม่ได้มาซักผ้าแต่อย่างใด แต่ฟีเจอร์นี้จะทำให้เมื่อเราส่งข้อความไปหาฝ่ายตรงข้าม แล้วเมื่อฝั่งตรงข้ามเห็นข้อความของเราแล้ว ข้อความจะสลายตัวเองไปภายในเวลาที่เรากำหนดไว้ อีกทั้งถ้าฝ่ายตรงข้ามแคปจอ เราก็จะรู้ทันทีว่าแชทของเราได้โดนแคปไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับฟีเจอร์นี้ไม่ใช่ค่าเริ่มต้นของการแชท แต่ต้องเปิดเป็นครั้งๆ ไป ด้วยการเข้าไปยังหน้าแชทของคนที่เราต้องการคุยด้วย แล้วปัดหน้าจอขึ้นไปข้างบน แอปก็จะสลับไปยัง Vanish Mode ให้เลย แต่จากที่ผู้เขียนเองสังเกตตอนนี้ ยังไม่สามารถใช้ Vanish Mode ได้เลย เป็นไปได้ว่าฟีเจอร์นี้ทยอยๆ ปล่อย ไม่ได้ปล่อยให้ผู้ใช้ทั่วโลกได้ใช้แล้ว

Messenger ยกเครื่องใหม่ไปพร้อมๆ กับโฉมใหม่ของ Instagram Direct Message เช่นกัน

Facebook Shops สร้างหน้าร้านง่ายๆ บนแฟนเพจ

ส่วนบริการสุดท้าย เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Facebook Shops ที่ให้เพจใน Facebook สามารถสร้างหน้าร้านค้าออนไลน์เป็นของตัวเอง จัดแต่งหน้าตาได้อย่างสวยงามด้วยเทมเพลตที่ Facebook ได้ทำมาให้ได้เลือกใช้กัน สามารถกดซื้อของ จ่ายเงิน และแชทกับร้านค้าได้ภายในเพจ Facebook และ Instagram ของร้านค้าได้เลย รวมทั้งในอนาคตจะสามารถให้พ่อค้าแม่ค้าเจ้าของเพจมาไลฟ์สดขายสินค้าได้อีกด้วย (ได้แรงบันดาลใจมาจากแม่ค้าประเทศเรารึเปล่านะ?) โดยฟีเจอร์นี้ได้เปิดทดลองใช้ในสหรัฐอเมริกาก่อน (เช่นเคย) และจะเปิดให้ได้ใช้กันทั่วโลกในลำดับต่อไป

หาสินค้า และชำระเงินง่ายๆ ผ่าน Facebook Shops

สำหรับการชำระเงินค่าสินค้า ผ่าน Facebook และ Messenger ก่อนหน้านี้ในประเทศไทย Facebook ได้เปิดให้ใช้บริการกันไปแล้ว โดยสามารถเลือกชำระผ่านการโอนด้วยแอปธนาคารต่างๆ หรือบัตรเครดิต-บัตรเดบิตก็ได้ ซึ่งตัว Payment gateway ในการชำระเงิน Facebook ได้ใช้บริการ Qwik ของ 2C2P แต่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Facebook ได้เปลี่ยนไปใช้ PayDii แทน ซึ่งเป็นบริการ Payment gateway ของ Kasikorn Global Payment บริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย

“ความเป็นส่วนตัว” ข้อครหาที่ Facebook โดนโจมตีมาตลอด กับมาตรการที่ Facebook ทำมาเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้

เมื่อ Facebook เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น ความเป็นส่วนตัวของเราก็เริ่มอยู่บน Facebook มากยิ่งขึ้นเช่นกัน จากหลายๆ สิ่งที่ทำให้หลายๆ ฝ่าย หลายๆ คน กังวลกับการดูแลรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน Facebook จึงได้ออกมาตรการผ่านฟีเจอร์ใหม่ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็น..

Manage Activity จัดการโพสต์ได้ในหน้าเดียว

Manage Activity หรือ จัดการโพสต์ ให้ผู้ใช้งานสามารถจัดการโพสต์ รูปภาพ คลิปวิดีโอ สิ่งที่เราแชร์ต่างๆ หรือโพสต์ที่เราถูกคนอื่นแท็กได้ภายในหน้าเดียว เราสามารถเลือกโพสต์ทีละโพสต์หรือทีละหลายๆ โพสต์เพื่อกดลบทิ้ง ลบแท็กออก และซ่อนจากไทม์ไลน์ได้อย่างง่ายดายกันเลยทีเดียว ตอนนี้พร้อมให้ใช้แค่ในเวอร์ชั่นแอป ทั้ง Facebook และ Facebook Lite ส่วนเวอร์ชั่นเว็บจะมีให้ได้ใช้กันเร็วๆ นี้

ลองใช้ Manage Activity กันได้แล้ว ในแอป Facebook

Login Notifications ล็อกอินที่แอปอื่นปุ๊บ ก็แจ้งเตือนปั๊บ

ฟีเจอร์ต่อมา หลายๆ คนน่าจะได้เห็นกันไปแล้ว กับฟีเจอร์ Login Notifications ที่เวลาเราใช้บริการอื่นของ Facebook แล้วเราใช้บัญชี Facebook ในการล็อกอินเข้าสู่ระบบเพื่อการใช้งาน Facebook จะทำการแจ้งเตือนเราผ่าน Notification ของ Facebook เองในการแจ้งเตือนว่า เราใช้บัญชี Facebook ในการไปล็อกอินบริการข้างนอก Facebook มานะ แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าไม่ใช่เราแน่ๆ ที่ไปล็อกอิน อาจเป็นไปได้ว่าเราอาจจะถูกแฮ็ก เอาบัญชี Facebook ไปใช้ เราก็สามารถกดลบบริการนี้ให้เลิกเชื่อมต่อกับ Facebook ของเราได้เลย

Privacy Checkup ตรวจสุขภาพความปลอดภัยข้อมูลของเรา

และอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ออกมาไล่เลี่ยกับ Login Notifications นั่นก็คือ Privacy Checkup ให้ผู้ใช้ได้มาตรวจสอบความเป็นส่วนตัวในการใช้ Facebook ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ใครบ้างที่สามารถเห็นโพสต์ของเราได้ วิธีการรักษาการเข้าใช้บัญชี วิธีที่คนอื่นจะหา Facebook ของเราเจอ จัดการแอปและบริการภายนอกที่เชื่อมต่อกับ Facebook ของเรา การที่ระบบจดจำใบหน้าของเรา (มักถูกนำไปใช้ตอนที่ Facebook แนะนำให้เราแท็ก Facebook เพื่อนในรูปภาพของเรา) และการกำหนดโฆษณาที่เราจะได้เห็นใน Facebook ก็สามารถจัดการได้ที่นี่เลย สามารถใช้ได้แล้วในเว็บไซต์ Facebook โดยกดที่เครื่องหมาย “?” ด้านขวาบนของหน้าต่างได้เลย

สามารถลองเข้าไปเช็กความปลอดภัยข้อมูลของเราได้ที่เว็บไซต์ Facebook

จัดการบัญชีทุกบริการของ Facebook ได้ในที่เดียว ที่ Accounts Center

Facebook เองก็มีหลากหลายบริการที่ทุกๆ คนใช้กัน Facebook จึงทำหน้าใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า Accounts Center ให้เราสามารถเข้าไปจัดการสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับบัญชีการใช้งานของเรา ทั้ง Facebook, Messenge และ Instagram จากเดิมที่แต่ละแอปก็มีหน้าจัดการบัญชีเป็นของตัวเอง แต่หลังจากนี้ไป ทั้งสามแอปจะใช้หน้า Accounts Center ร่วมกัน เราสามารถตั้งค่าข้อมูล ความเป็นส่วนตัว การโพสต์ และจัดการช่องทางการชำระเงินของ Facebook Pay ได้ภายในหน้าเดียวกันนี้

Accounts Center จะใช้บนแอปไหน ก็เหมือนกัน

นานาประเทศกดดันให้ Facebook ต้องแบ่งรายได้ให้กับสำนักข่าว แต่ Facebook บอกไม่ยอม แค่ขาดข่าวไป ก็ไม่เป็นไร

ฟีเจอร์นี้ในไทยคงจะไม่ได้เห็นกันเท่าไหร่ กับ Facebook News หน้าที่รวบรวมบทความข่าวสารจากเว็บไซต์สำนักข่าวต่างๆ ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข่าวต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น (คล้ายๆ กับ Google News) ในมุมของ Facebook Facebook ก็ได้ผู้ใช้มากขึ้นจากการที่เข้ามาใช้ในฟีเจอร์นี้ พอยอดผู้ใช้มากขึ้น รายได้ของ Facebook จากการลงโฆษณาก็มากขึ้นตาม จากจุดนี้ทำให้รัฐบาลของออสเตรเลียและไอร์แลนด์มองว่าการที่ Facebook เอาข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ มาแสดงบน Facebook นั้น Facebook ไม่ได้แบ่งรายได้ใดๆ ให้กับสำนักข่าวเลย

ทางรัฐบาลออสเตรเลียและไอร์แลนด์จึงได้เรียกร้องและเตรียมที่จะออกกฎให้ Facebook และ Google ต้องแบ่งรายได้ให้กับสำนักข่าวด้วย แต่ล่าสุดนั้น Facebook ได้ออกมาบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ที่ต้องแบ่งรายได้ให้กับสำนักข่าว โดย Facebook “ไม่แคร์” จะตัดการนำเนื้อหาข่าวมาแสดงบนแพลตฟอร์ม Facebook ก็ได้ เพราะตอนนี้ Facebook ได้เน้นไปให้แสดงโพสต์จากเพื่อนมากกว่าเพจมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว Facebook ก็พร้อมจะตัดฟีเจอร์ Facebook News นี้ออก หากรัฐบาลต้องแบ่งรายได้ให้กับสำนักข่าวจริงๆ ก็ต้องรอติดตามกันว่า Facebook จะทำยังไงกับเรื่องนี้ต่อไป

Facebook News รวบรวมข่าวมากมายหลากสำนักไว้ในหน้าเดียว

“ข่าวปลอม” สิ่งสำคัญที่ Facebook จะต้องกำจัด กับหลากหลายฟีเจอร์ที่มาช่วยจัดการ

ข้อมูลข่าวสารใน Facebook ต้องเรียกได้ว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้ทุกคนมาใช้ Facebook กัน แต่ในหลายๆ ส่วนในข้อมูลขนาดใหญ่นี้ ก็มีข่าวปลอมและข้อมูลปลอมอยู่ไม่น้อย ซึ่งครึ่งปีที่ผ่านมา Facebook ก็ได้เปิดฟีเจอร์ใหม่ๆ มากมายทั้งเรื่องข่าวปลอม และการยืนยันถึงที่มาของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น..

Facebook เพิ่มข้อมูลที่บอกว่าโพสต์จากเพจที่เราเห็นอยู่ ถูกโพสต์มาจากประเทศไหน

ที่ผ่านมา การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ถูกหลายๆ ฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่ามีข่าวปลอมที่ถูกปล่อยมาจากเพจ Facebook ต่างประเทศ ที่ทำข่าวปลอมมาโจมตีทางการเมืองในประเทศ ซึ่งฟีเจอร์นี้ได้เริ่มใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา ทั้งกับ Facebook และ Instagram

Facebook แปะข้อมูลไปบนโพสต์ ที่ถูกโพสต์จากเพจที่เป็นของหน่วยงานรัฐบาล หรือได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล

ฟีเจอร์ต่อมา คนไทยหลายๆ คนน่าจะเคยเห็นกันแล้วใน YouTube ถ้าช่อง YouTube นั้นเป็นของภาครัฐ เช่น NineEntertain MCOT ของ อสมท. หรืออย่าง Thai PBS ใต้เพลเยอร์จะขึ้นข้อความว่า “ช่อง … ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนหรือทั้งหมดจากรัฐบาลของประเทศไทย” Facebook เอง ก็ได้ทำฟีเจอร์แบบนี้ขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ใช้ได้รู้ว่าเป็นโพสต์มาจากภาครัฐแล้ว ยังทำให้ผู้ใช้ได้ตระหนักด้วยว่า โพสต์ที่มาจากภาครัฐนี้ อาจเป็นการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองของพรรคที่กำลังเป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่ก็เป็นได้..

นอกจากจะแปะข้อมูลไปบนโพสต์แล้ว ในหน้าเพจก็จะถูกแปะว่าเป็นเพจของรัฐเช่นกัน

Facebook ดึงข้อมูลจากวิกิพีเดียมาแสดงบนหน้าค้นหา

ฟีเจอร์ถัดมา อันนี้เป็นการต่อยอดจากฟีเจอร์ค้นหาใน Facebook ที่จะดึงข้อมูลจากวิกีพีเดียมาแสดงด้วย คล้ายๆ กับใน Google ยกตัวอย่างเช่น หากเราค้นหาด้วยชื่อของดาราคนนึงเพื่อต้องการที่จะเข้าแฟนเพจของดาราคนนี้ ในหน้าแสดงผลการค้นหา ก็จะขึ้นข้อมูลของดาราคนนี้ซึ่งดึงมาจากวิกิพีเดียอีกทีนึง ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองอยู่ น่าจะปล่อยให้ได้ใช้กันเร็วๆ นี้

เมื่อค้นหา Donald Trump ใน Facebook ก็จะขึ้นประวัติ Donald Trump จากวิกิพีเดียมาให้ดูด้วย

เลือกปิดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้ หากไม่ต้องการ

ผ่านกันไปแล้วกับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา การหาเสียงในยุคสมัยนี้ ก็ยังหาเสียงผ่านโซเชียล ยิงโฆษณา บูสต์โพสต์กันอีกด้วย ซึ่งผู้ใช้หลายๆ คนอาจจะไม่ชอบ ไม่ต้องการรับการหาเสียงผ่านช่องทางนี้ ผู้ใช้ก็จะสามารถเลือกที่จะไม่ให้ Facebook แสดงโฆษณาหาเสียงเหล่านี้ได้

เตือนก่อนแชร์ ถ้าบทความนั้นเก่าแล้ว

ส่วนฟีเจอร์สุดท้าย ดูจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแล้ว แต่ว่าฟีเจอร์นี้จะมาช่วยเตือนให้ผู้ใช้ที่กำลังจะแชร์บทความเก่าซึ่งเป็นลิงก์จากภายนอก Facebook ที่มีอายุเกิน 3 เดือนแล้ว ให้ผู้ใช้ตัดสินใจก่อนว่าจะแชร์บทความนี้ไปจริงๆ หรือไม่ เพราะบทความที่เรากำลังจะแชร์นั้น อาจเป็นข้อมูลเก่า ที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น หากเราเจอบทความที่บอกว่าเพิ่งมีโรคอุบัติใหม่ที่ประเทศจีน แต่ความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงปัจจุบัน ฟีเจอร์นี้ก็จะแจ้งเตือนขึ้นมาว่า บทความนี้ถูกเขียนขึ้นมามานานเกิน 3 เดือนละนะ จะยืนยันที่จะแชร์ต่อหรือไม่

บทความนี้มีอายุเกิน 3 เดือนแล้ว ยืนยันที่จะแชร์ต่อหรือไม่ ?

Donald Trump เป็นเหตุ กับประเด็น Hate speech ที่ทำให้แบรนด์ดังร่วมกันกดดันผ่านการบอยคอตต์ไม่ลงโฆษณาใน Facebook

จากเหตุโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของ George Floyd ในสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้คนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาต่างกันออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเขา และเรียกร้องให้หยุดการเหยียดสีผิว ในวันที่ทั่วทั้งโลกเข้าใจและตระหนักในความเท่ากันของคนทุกคน ไม่ว่าใครคนนั้นจะมีสิผิว เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่ออย่างไรก็ตาม

จากเหตุการณ์นี้ Donald Trump ได้ออกมาโพสต์ใน Facebook เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ แต่ในโพสต์นั้น กลับมีการใช้ Hate speech ที่รุนแรง และได้กล่าวถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทำให้ประชาชนหลายๆ ส่วนในสหรัฐอเมริกาเกิดความไม่พอใจ จึงเกิดการเรียกร้องให้ Facebook ออกมาดำเนินการลบโพสต์นี้ทิ้ง แต่ทาง Facebook ยืนยันที่จะไม่ลบโพสต์นี้ทิ้ง เพราะว่าโพสต์นี้เป็นโพสต์ที่มาจากบุคคลของรัฐบาล ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรับทราบถึงสิ่งที่รัฐบาลออกมาให้ข้อมูล ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะรุนแรงหรือหยาบคายขนาดไหนก็ตาม

Stop Hate for Profit แคมเปญที่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงการสร้างความเกลียดชังในสังคม

การที่ Facebook เลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย ทำให้ประชาชนหลายๆ ส่วนซึ่งรวมไปถึงพนักงานของ Facebook เองด้วย ออกมากดดันให้ Facebook ต้องดำเนินการกับโพสต์นี้ และรณรงค์ให้มีการจัดการกับ Hate Speech ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มของ Facebook ผ่านแคมเปญ Stop Hate for Profit ที่เรียกร้องให้ Facebook ต้องจัดการกับปัญหานี้ 

ซึ่งแคมเปญนี้ ก็มีหลากหลายบริษัท ธุรกิจต่างๆ มากกว่า 400 แบรนด์ ที่เข้าร่วมกับแคมเปญนี้ ผ่านการกดดัน Facebook ด้วยการบอยคอตต์ ไม่ลงโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มของ Facebook เลย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Sony, Starbucks, Unilever, Coca-Cola, PepsiCo, BMW, Adobe, HP, Viber, Verizon, North Face และอีกหลายๆ แบรนด์มากมายที่มาร่วมแคมเปญนี้ ก็ต้องมาจับตาดูกันต่อว่า ความไม่พอใจของประชาชนผ่านแคมเปญนี้ จะทำให้ Facebook เปลี่ยนใจกับการจัดการปัญหานี้หรือไม่ ก็ต้องติดตามกัน

สังคมออนไลน์ ที่ที่ทำให้คนมาเชื่อมต่อกัน กับฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ Facebook ทำให้คนเชื่อมต่อกันได้มากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา ความเป็น Community ของ Facebook ก็ทำให้คนมาเชื่อมต่อกันมากมาย ผ่าน Facebook Group ที่ทำให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน มาอยู่ในกลุ่มเดียวกันคุยเรื่องต่างๆ มากมาย ซึ่ง Facebook Group ก็ได้เปิดมาให้ทุกคนได้ใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ในปีที่ผ่านมา Facebook ก็ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ ทั้งสำหรับ Group เอง และฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย

ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่มาทำให้การใช้งาน Group สนุกขึ้น

ในปีที่ผ่านมา มีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจของ Group ที่ทำให้การใช้งาน Group ของทุกคนสนุกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น..

  • แนะนำเนื้อหาที่สนใจ จากกลุ่มที่เปิดเป็นสาธารณะที่เราไม่ได้เป็นสมาชิก โดยจะนำมาแสดงที่หน้าฟีดบนหน้าแรกของ Facebook Group
  • สร้างกลุ่มแชท จาก Facebook Group เพื่อคุยกันได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
  • Prompts และ Q&A โพสต์แบบใหม่ มีลูกเล่นแบบการ์ดหลายๆ การ์ด ปัดไปปัดมาได้
  • เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของเราเป็นอีกรูปหนึ่ง เมื่อเราอยู่ใน Group ต่างๆ ให้รูปไม่ซ้ำกับรูปโปรไฟล์หลักของเรา
  • Admin Assist ตำแหน่งใหม่ในการบริหารจัดการกลุ่ม
  • New Topics ใส่แฮชแท็กหัวข้อต่างๆ ให้กับโพสต์ต่างๆ ภายในกลุ่มเพื่อจัดระเบียบให้หาโพสต์ตามหัวข้อต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • Brand Collabs Manager ให้แบรนด์สามารถเข้ามาจัดการสินค้าที่ขายอยู่ในกลุ่มได้

ทั้งหมดนี้เป็นฟีเจอร์ใหม่ ที่มาพร้อมกับการครบรอบ 10 ปีของ Facebook Group พอดี ช่วยให้การใช้งาน Group ของเราสะดวกและสนุกไปกับการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

Prompts และ Q&A โพสต์แบบใหม่ มีลูกเล่นแบบการ์ดหลายๆ การ์ด ปัดไปปัดมาได้

Campus ฟีเจอร์ใหม่บน Facebook ที่ให้คนในมหาลัยมาเจอกัน

ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ Facebook เพิ่งเกิดได้แรกๆ ในตอนนั้น Facebook ก็เป็นสื่อสังคมออนไลน์สำหรับคนในมหาลัยเดียวกัน ตอนนี้ Facebook ได้ทำสิ่งนี้อีกครั้งกับฟีเจอร์ Campus ที่ให้ผู้ใช้ Facebook ที่เรียนอยู่ในมหาลัยเดียวกัน มาอยู่ใน Campus เดียวกัน

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ Campus เหมือนเป็น Facebook Group อีกแบบ ที่ให้เฉพาะผู้เรียนในมหาลัยเดียวกันเท่านั้นมาอยู่ด้วยกัน ยืนยันการเข้ามาด้วยอีเมลของมหาลัย ภายในกลุ่มก็จะมี News Feed เป็นของตัวเอง สามารถให้เราแอดเพื่อนคนใหม่ๆ ในมหาลัยเดียวกันได้ สามารถสร้างอีเวนต์ใน Campus ให้คนกดเข้ามาร่วมได้อีกด้วย

Campus สามารถเข้าสู่หน้านี้ได้ผ่านแท็บนำทางหลักของแอปเลย

ฟีเจอร์นี้ยังเปิดให้ใช้เฉพาะ 30 สถาบันในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ก็ต้องกันต่อไปว่า หากฟีเจอร์นี้เวิร์คและได้ไปต่อจริง ก็อาจจะมาจับมือับมหาลัยในไทยให้คนไทยได้ใช้กันด้วยก็เป็นได้

Neighborhoods อีกหนึ่งฟีเจอร์ใหม่ที่ให้คนในชุมชนเดียวกันได้รู้จักกัน

ยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเป็นชุมชน ข้างบ้านทักทายกัน เยี่ยมเยียน อาจจะไม่ได้เท่ากับเมื่อก่อน Facebook ก็เลยเปิดอีกหนึ่งฟีเจอร์ใหม่ นั่นก็คือ Neighborhoods ให้คนในชุมชนเดียวกันได้มาพบปะกันผ่าน Facebook

ขออธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ กันอีกรอบ Neighborhoods ก็เหมือนเป็น Facebook Group ที่ให้คนในชุมชนเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน ได้มาทำความรู้จักกัน โพสต์เรื่องราวต่างๆ ที่ต้องการจะพูดคุยกับคนในชุมชนได้ (อารมณ์คงจะคล้ายๆ กลุ่มไลน์นิติหมู่บ้านคอนโด) ฟีเจอร์นี้ Facebook ได้ทดสอบในวงแคบที่แคนาดาก่อน แล้วอาจจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในลำดับถัดไป

 

Drives ตู้ปันสุขบนโลกออนไลน์ ใครมีอะไรอยากแบ่งปัน มาแปะบอกได้ที่นี่

สังคมแห่งการแบ่งปันเกิดขึ้นได้ทุกที่บนโลก แม้แต่บนโลกออนไลน์ Facebook เปิดตัว Drives ตู้ปันสุขออนไลน์ สำหรับคนที่มีอะไรอยากแบ่งปันให้คนอื่น ก็สามารถนำไปโพสต์ลงได้ที่นี่เลย เมื่อมีคนมาให้แล้วสนใจ ก็จะติดต่อไปยังเจ้าของโพสต์ หรือไปตามสถานที่ที่ระบุไว้ในแคปชั่นเพื่อไปรับสิ่งของนั้นๆ ได้เลย

Drives เป็นฟีเจอร์ย่อยที่อยู่ในหน้า Community Help อีกทีนึง ซึ่ง Community Help เป็นหน้าที่รวบรวมน้ำใจเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ มากมาย ซึ่งหน้า Community Help ตอนนี้ได้ให้บริการในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

Community Help บอร์ดกลางสำหรับการแบ่งปันและให้ความช่วยเหลือ

เรื่องโฆษณาบน Facebook ปีนี้ก็น่าจับตามองไม่แพ้กัน

การลงโฆษณาบน Facebook น่าจะเป็นเรื่องที่ชาว Content Shifu ได้ติดตามกันมาอยู่แล้ว ในปีที่ผ่านมาก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง ทั้งเรื่อง iOS14 ที่ส่งผลต่อ Targeted Ads และกฎ 20% ที่ยกเลิกแล้ว เลื่อนไปอ่านต่อกันเลยว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้ต้องจับตา การทำ Targeted Ads ของ Facebook ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จาก iOS14

การที่เราเห็นโฆษณาในแอปหรือเว็บต่างๆ ที่ตรงกับความสนใจของเราได้ เป็นเพราะแอปหรือเว็บต่างๆ นั้นได้นำความสนใจของเราจากการใช้งานต่างๆ ไปประมวลผลแล้วนำโฆษณาที่ผู้ลงโฆษณาต้องการให้คนที่มีความสนใจแบบเราได้เห็นโฆษณาชิ้นนั้นๆ โฆษณาแบบนี้ เรียกว่า Targeted Ads ซึ่งเป็นรายได้มหาศาลของ Facebook เลยทีเดียว

แต่ Targeted Ads ดันมาเกิดเหตุที่ทำให้ทุกคนต้องมาติดตามก็เพราะว่า iOS 14 ระบบปฏิบัติการล่าสุดให้ Apple ปล่อยมาให้ใช้กับ iPhone (และรวมถึง iPad ในชื่อ iPad OS) ต้องให้ผู้ใช้กดยินยอมในการให้ข้อมูลความสนใจ หรือที่เรียกว่า Advertising Identifier (IDFA) กับแอปนั้นๆ แอปนั้นๆ ถึงจะเก็บข้อมูลเพื่อไปประมวลผลในการแสดงโฆษณาที่ตรงใจกับเราได้

มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ใช้หลายๆ คนอาจจะกดไม่ยินยอมในการให้ข้อมูลนี้ตรงนี้ ซึ่งส่งผลต่อความแม่นยำในการทำ Targeted Ads อย่างแน่นอน พอโฆษณาที่แสดงไม่ตรงใจกับผู้ใช้ ยอดคลิกก็น่าจะน้อยลงตาม ส่งผลให้โฆษณาก็มีประสิทธิภาพน้อยลง และรายได้ของ Facebook ก็น้อยลงตามด้วย แต่ถ้าคิดในอีกแง่นึง Apple ก็ต้องการให้ผู้ใช้รักษาสิทธิ์ในการให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่นด้วย จะเรียกว่าแฟร์กับผู้ใช้ของ Apple ก็ได้เหมือนกัน

จะข้อความเยอะแค่ไหนก็บูสต์ผ่าน! ไม่มีกฎตัวอักษรต้องน้อยกว่า 20% ของพื้นที่รูปแล้ว

ที่ผ่านมา เวลาเราจะทำสื่อไปลงใน Facebook เพื่อไปลงโฆษณาอีกที ก็ต้องพยายามไม่ให้ตัวอักษรทั้งหมดมีไม่เกิน 20% ของพื้นที่รูปทั้งหมด ในแง่หนึ่งมันก็ดีแต่ประสบการณ์ของผู้ใช้ หากเห็นข้อความเยอะๆ ก็อาจจะไม่สนใจรูปของเราได้ แต่บางสื่อที่เราทำ มันก็จำเป็นต้องมีตัวอักษรมากกว่า 20% การจะบีบให้ไม่เกิน 20% ได้ ก็อาจทำให้บางข้อความ จำเป็นต้องตัดออกไป

แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา Facebook ก็ได้ยกเลิกกฎ 20% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะข้อความขนาดไหนก็บูสต์ผ่านได้ แต่ถึงยังไงก็ตาม Facebook ก็ยังแนะนำให้รักษาระดับตัวอักษรให้ไม่เกิน 20% อยู่ดี เพื่อประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของโฆษณาที่เราลงอีกด้วย

UX/UI ใหม่ของ Facebook ที่มอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้

นอกจาก Messenger กับ Instagram แล้ว ในส่วนของ Facebook เองก็มีการรีดีไซน์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหน้าเว็บของ Facebook ที่เปลี่ยนแปลงจากหลังมือเป็นหน้ามือเลยทีเดียว ตามไปดูต่อกันเลยว่ามีตรงไหนของ Facebook บ้างที่เปลี่ยนแปลง

หน้าเว็บ Facebook แบบใหม่ รีดีไซน์จนแทบจำไม่ได้

หลังจากที่ Facebook ในรูปแบบเว็บได้ปล่อยหน้าตาดีไซน์แบบใหม่มาให้ใช้กันมาสักพักก่อนหน้านี้แล้ว บางคนก็ได้ บางคนก็ไม่ได้ สำหรับคนที่ได้ ก็ยังสามารถสลับกลับไปใช้แบบเก่าได้ด้วย แต่ว่าตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา Facebook ก็ได้ให้ทุกคนใช้หน้าตาเวอร์ชั่นใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หน้าตาแบบใหม่ เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากของเก่าไปอย่างสิ้นเชิง อย่างในหน้าแรกของเว็บ เพิ่มปุ่มไปยังหน้าต่างๆ บนแท็บด้านบนของเว็บ (Top Navigation) คล้ายกับแอปของ Facebook เมนูด้านซ้ายของจอก็เพิ่มพื้นที่ให้ใหญ่มากยิ่งขึ้น รวมถึงหน้าอื่นๆ ของ Facebook ที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน อีกทั้งเครื่องมือต่างๆ บางเครื่องมือก็มีการเปลี่ยนตำแหน่งอีกด้วย และที่หลายๆ คนรอคอย Dark Mode ก็มีให้ใช้งานแล้วในดีไซน์ใหม่ของ Facebook ใครชอบ Dark Mode ก็ไปจัดกันได้เลย (ส่วน Dark Mode สำหรับเวอร์ชั่นแอป ตอนนี้ Facebook ก็ได้เริ่มปล่อยให้ใช้ในผู้ใช้บางคนกันแล้ว)

สำหรับหน้าเว็บ Facebook ที่ใช้ผ่านเบราเซอร์บนมือถือ ก็ได้เปลี่ยนเป็นดีไซน์ใหม่เช่นเดียวกัน โดยจะมีความคล้ายกับแอปของ Facebook เอง

หน้าตาใหม่ของเว็บ Facebook ที่มาพร้อมกับ Dark Mode ให้ได้เลือกใช้กันด้วย

Facebook เปลี่ยนหน้าเพจให้คล้ายกับหน้าโปรไฟล์ แยกไม่ออกกันเลยทีนี้

อย่างที่เราทราบกัน ว่าใน Facebook ก็มีทั้งโปรไฟล์ ที่เป็นผู้คนทั่วไป กับหน้าแบบเพจ ที่ไว้ใช้สำหรับแบรนด์ ธุรกิจ หรือบุคลลสาธารณะ สำหรับเพจที่เป็นบุคคลสาธารณะ Facebook ได้รีดีไซน์หน้าใหม่ ให้คล้ายกับหน้าโปรไฟล์ธรรมดาของบุคคลทั่วไป ย้ายรูปโปรไฟล์มาอยู่ตรงกลาง วางซ้อนอยู่บนรูปปก และตัดปุ่มกดถูกใจออก แล้วเน้นให้ผู้ใช้กดปุ่มติดตามแทน อีกทั้งยังแสดงยอดผู้ติดตาม แทนยอดผู้กดถูกใจอีกด้วย

จากที่ได้ตรวจสอบมา พบว่าเริ่มมีเพจของบุคคลสาธารณะบางคนแล้วที่ได้รับการเปลี่ยนไปเป็นดีไซน์แบบใหม่ คาดว่า Facebook จะเริ่มทยอยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

แฟนเพจหน้าตาใหม่ บุคคลสาธารณะหลายๆ คนเริ่มได้รับแล้ว

Oversight Board หน่วยงานที่จะมาคานอำนาจกับ Facebook ในการจัดการกับเนื้อหาในแพลตฟอร์ม

ในแง่ของการเมือง ฝ่ายบริหารคือรัฐบาล ก็มีฝ่ายนิติบัญญัติอย่างรัฐสภา มาคานอำนาจ ที่ผ่านมา Facebook ก็มีปัญหาเรื่องการจัดการกับเนื้อหาในแพลตฟอร์ม ทั้ง Hate Speech ความรุนแรง ข่าวปลอมต่างๆ แต่จะให้จัดการเอง ก็อาจโดนข้อครหาได้ว่าอาจไม่โปร่งใสได้ Facebook ก็เลยจัดตั้งหน่วยงานนึงขึ้นมาที่มีชื่อว่า Oversight Board ถึงแม้ว่า Facebook จะจัดตั้งขึ้นมาเอง แต่การบริหารงาน ถือว่ามีความอิสระต่อกัน

Oversight Board (ชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ: คณะกรรมการกำกับดูแล) มีอำนาจในการสั่งให้ Facebook และ Instagram ลบเนื้อหาออกหรือให้เนื้อหานั้นคงอยู่ต่อไป หรือหากผู้ใช้แจ้ง Facebook หรือ Instagram ให้ลบเนื้อหาๆ ใดออก แต่แพลตฟอร์มพิจารณาว่าไม่ลบออกให้ ผู้ใช้ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ไปยัง Oversight Board เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาแล้วกลับคำตัดสินของแพลตฟอร์มได้อีกด้วย และคำตัดสินของคณะกรรมการจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกด้วย

คณะกรรมการของ Oversight Board มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่มาทำงานตรงนี้ ทั้งนักสื่อสารมวลชน ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย จากหลากหลายประเทศ

Facebook เริ่มมีแนวคิดในการจัดตั้ง Oversight Board ตั้งแต่ปี 2561 จนปี 2563 Oversight Board จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาได้สำเร็จ และได้เริ่มปฏิบัติงานในช่วงพฤศจิกายน – ธันวาคมที่ผ่านมา มีหลายๆ เคสที่น่าสนใจ สามารถตามเข้าไปดูได้ที่นี่


เรียกได้ว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา Facebook ได้จัดเต็มหลากหลายฟีเจอร์มากมายที่มาตอบโจทย์การใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ของคนทั่วทั้งโลก และนอกจากความเปลี่ยนแปลงของ Facebook แล้ว ตลอดหนึ่งปีที่ผ่าน มีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นรอบโลกบ้าง Facebook ก็ได้ทำสรุปออกมาเช่นกัน สามารถเข้าไปดูกันได้ที่นี่เลย

และสำหรับปีหน้า 2564 Facebook จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ (และดราม่าใหม่ๆ) อะไรอีก ไว้ปีหน้าเราจะมาอัปเดตกันให้ฟังอีกที สำหรับบทความนี้ต้องขอลาไปก่อน สวัสดีครับ ^^

 

New call-to-action