ในการสมัครงาน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเอกสารในการแนะนำตัว อย่าง Resume 

โดยปัจจุบันนี้หลายคนก็อาจจะไม่เห็นภาพว่า Resume กับ CV แตกต่างกันยังไงบ้าง วันนี้จึงอยากจะชวนคุณมารู้จักกับ Resume ให้มากขึ้น

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

Resume คืออะไร? แตกต่างจาก CV ยังไง?

จริงๆ แล้วความแตกต่างหลักๆ ระหว่าง Resume กับ CV มีเพียง 3 ข้อด้วยกัน นั่นคือ (1) ขอบเขต (2) วัตถุประสงค์ของข้อมูล และ (3) ความยาวหน้ากระดาษ

แต่ก่อนจะไปจุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างเรซูเม่กับ CV ว่ามีตรงไหนบ้าง เราลองมาทำความรู้จักกันก่อนว่าแต่ละอันคืออะไร

โดย Resume คือ เอกสารยาว 1-2 หน้า (โดยทั่วไปมักมีแค่หน้าเดียว) ที่สรุปคุณสมบัติและทักษะการทำงานของคุณเหมาะสมกับตำแหน่งที่คุณสมัคร โดยเป้าหมายในการเขียนนั้นก็เพื่อให้คุณได้งานในตำแหน่งตามทักษะที่คุณถนัดอย่างเฉพาะเจาะจง

ส่วน CV (Curriculum Vitae) คือ เอกสารยาวหลายหน้า (โดยทั่วไปมักมีความยาว 2-3 หน้า) ที่ให้ข้อมูลประวัติการศึกษา การทำงานแบบลงรายละเอียด โดยเป้าหมายในการเขียนนั้นก็เพื่อให้คุณได้งานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับแวดวงวิชาการหรือการทำวิจัย

สรุปความแตกต่างระหว่าง Resume กับ CV

เคล็ด (ไม่) ลับในการเขียน Resume ให้น่าสนใจ

ก่อนที่เราจะไปดูว่ามีเว็บไซต์ออกแบบ Resume ฟรี ตัวไหนน่าสนใจบ้าง ก็อยากจะแนะนำเทคนิคการเขียนยังไงให้น่าสนใจและดึงดูสายตา HR ได้ดี

โดยในพาร์ทนี้จะแนะนำทริค Do & Don’t บนเรซูเม่ เพื่อให้คุณไม่พลาดโอกาสดีๆ ในการหางานกันค่ะ!

องค์ประกอบที่ควรใส่

  1. ชื่อ-นามสกุล: เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้อย่างแน่นอนในการสมัครงาน แม้จะดูเป็นส่วนที่ง่ายแต่ก็อย่าลืมเช็คเรื่องการสะกดคำให้ถูกต้อง เพราะหากพลาดแล้วก็จะกลายเป็นจุดผิดพลาดที่ใหญ่มากเพราะแสดงถึงความไม่ Professional และความไม่ตั้งใจได้
  1. ช่องทางการติดต่อ: เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เหมือนจะไม่ยาก แต่ก็มีรายละเอียดในการเขียน โดยข้อควรระวังคือไม่เขียนช่องทางติดต่อที่มากจนเกินไป หรือไม่ใส่ช่องทางการติดต่อที่ล้าสมัยไปแล้ว อย่างน้อยควรอยู่ในรูปแบบทางการและทันสมัย เช่น อีเมล, บัญชี LinkedIn เป็นต้น
  1. Summary/Profile: เป็นเหมือนด่านแรกของการสมัครงานเลยก็ว่าได้ เพราะในส่วนนี้จะเป็นการแนะนำตัวคร่าวๆ ให้บริษัทรู้จักว่าเราเป็นใคร มีเป้าหมายอะไรบ้างในการทำงาน หรืออาจลองนึกภาพว่าหากคุณมีเวลา 30 วินาที คุณอยากแนะนำตัวยังไงให้ดูโดดเด่นในสายตาผู้สัมภาษณ์งานบ้าง
  1. ประวัติการทำงาน: เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการเขียนเรซูเม่เลยก็ว่าได้ เพราะประสบการณ์การทำงานก็บ่งบอกได้ว่าคุณเคยรับมือกับสถานการณ์แบบไหนมาบ้าง คุณมีศักยภาพในการทำงานได้มากแค่ไหน

ทริคเพิ่มเติมสำหรับคนที่ทำงานมาสักระยะแล้วก็คือ การเพิ่มประสบการณ์การทำงานด้วยค่าตัวเลขที่สามารถวัดผลได้จากการทำงานของคุณอย่าง เช่น ยอดเพิ่มขายที่เพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ซึ่งการใส่ตัวเลขนี้เองก็ทำให้คุณดูน่าเชื่อถือมากขึ้นนั่นเอง

  1. ทักษะ/ความสามารถ: เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้ส่วนการหน้านี้เลย เพราะหัวใจสำคัญของเรซูเม่ก็คือการโชว์ทักษะของคุณว่าเหมาะกับตำแหน่งที่สมัครมากน้อยเพียงใด
  1. ประวัติการศึกษา: แม้ว่าจะเป็นอีกส่วนที่สำคัญและขาดไม่ได้ในการเขียนเรซูเม่ แต่หลายคนชอบทำพลาดบ่อยๆ ด้วยการใส่วุฒิการศึกษาละเอียดเกินไป

โดยทั่วไปแล้วมักใส่แค่วุฒิการศึกษาสูงสุด หรือบางคนอาจจะใส่ 2 วุฒิล่าสุดที่เพิ่งจบการศึกษาในกรณีที่เรียนต่อปริญญาโท เช่น หากคุณเป็น First Jobber ที่เพิ่งจบป.ตรีมา คุณก็ใส่ในส่วนนี้แค่วุฒิป.ตรีอย่างชื่อสถาบัน และคณะที่เรียนมา ไม่จำเป็นต้องใส่วุฒิม.ปลายเข้ามาด้วย

ทริคการเขียนให้น่าสนใจ

แบ่งแต่ละส่วนให้ชัดเจน

ในแต่ละวัน นายจ้างหรือ HR จะต้องตรวจดูใบสมัครงานของหลายคนพร้อมกัน แน่นอนว่าเขาคงไม่มีเวลามานั่งดูเรซูเม่ของคุณอย่างละเอียดแน่นอน

โดยมากแล้วมักเป็นการอ่านผ่านๆ ตา หรือที่เรียกว่าการ Skimming ดังนั้น เรซูเม่ที่ดีควรแบ่งสรรแต่ละส่วนที่คุณต้องให้ HR เห็นได้อย่างสะดุดตาและชัดเจน

ใช้คำให้เข้าใจง่ายแต่ทรงพลัง

ข้อนี้ก็มีเหตุผลจากข้อก่อนหน้าที่นายจ้างหรือ HR มีเวลาไม่มากในการตรวจดูใบสมัครของแต่ละคน ดังนั้น คำที่เลือกใช้ในการเขียนเรซูเม่จึงสำคัญมากในดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน

โดยเฉพาะเรซูเม่ฉบับภาษาอังกฤษ จะเห็นได้ว่าคำแนะนำเชิงลึกในการเรซูเม่นั้นจะนิยมให้คำที่ทรงพลัง หรือ “Active word” เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพให้โปรไฟล์ของคุณ

ในทางกลับกัน เรซูเม่ที่มักถูกปัดตกเองก็มักใช้คำเป็นดูกลางๆ คลุมเครือ หรือที่เรียกว่า “Buzzword” ซึ่งคำพวกนี้ก็คือคำที่หลายคนมักเขียนคล้ายๆ กัน ทำให้เรซูเม่ของคุณดูไม่น่าสนใจนั่นเอง

ปรับแต่งเนื้อหาหรือเลือกทักษะที่จะเขียนให้เหมาะกับตำแหน่งงาน

อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะ เพราะข้อนี้ก็ยังคง Concept คล้ายกับข้อที่ผ่านมา เพราะเรซูเม่ก็ไม่ตางอะไรจากกลยุทธ์การตลาดเพื่อขายตัวคุณเอง

อย่างที่บอกไปว่าคุณควรเลือกคำที่ทรงพลังเพื่อดึงดูดความสนใจ เพิ่มเติมไปมากกว่านั้นคือคุณควรเลือกเขียนทักษะหรือ Skills ที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่คุณสมัครที่สุดด้วยเช่นกัน

เช่น หากคุณสมัครงานที่เน้นการใช้ Hard Skills เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า แต่เรซูเม่ของคุณกลับเน้นไปที่การใช้ Soft Skills แทน นี่ก็อาจทำให้นายจ้างหรือ HR อาจมองว่าคุณไม่เหมาะกับงานก็เป็นได้ค่ะ

เพิ่มประสบการณ์การทำงานที่ไม่ได้ค่าจ้างเข้าไปด้วย

การเพิ่มประสบการณ์ทำงานที่ไม่ได้ค่าจ้างอย่างงานอาสาสมัครก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่เหมาะสำหรับคนที่อาจจะมีประสบการณ์การทำงานไม่มาก โดยเฉพาะกลุ่ม First Jobber

นอกจากนี้การเพิ่มกิจกรรมงานต่างๆ ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้ค่าจ้าง แต่เกี่ยวข้องกับเนื้องานในตำแหน่งสมัครไปนั้นก็เขียนระบุไว้บนเรซูเม่ของคุณด้วยเช่นกัน

ในระดับเริ่มต้นอาจเริ่มจากการงานง่ายๆ เช่น การสมัครเป็น Staff อาสาสมัครกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่คุณสนใจ เป็นต้น

ตรวจทานคำผิดและข้อมูลการติดต่อหลายๆ รอบ

ก่อนจะกดส่งเรซูเม่ของคุณ อย่าลืมตรวจทานคำผิด ข้อมูลติดต่อให้ถูกต้อง รวมถึงหากใครเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็อย่าลืมเช็กไวยากรณ์ให้ถูกต้องด้วย ถ้าให้คนอื่นช่วยอ่านตรวจทานอีกรอบได้ก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการสะกดผิด เป็นจุดที่อ่านแล้วสะดุดตา อาจสร้างความประทับใจในเชิงลบแก่นายจ้างหรือ HR

นอกจากนี้ หากคุณไม่อยากเจอเหตุการณ์โชคร้ายอย่างเช่นการได้รับการตอบรับให้เข้าทำงาน แต่ทางบริษัทกลับติดต่อคุณไม่ได้เพียงเพราะคุณให้ข้อมูลติดต่อไม่ครบถ้วน หรือให้ข้อมูลตกหล่นไปจนพลาดโอกาสได้งานดีๆ ไป มันคงจะเป็นเรื่องน่าเจ็บใจไม่น้อย

ข้อควรหลีกเลี่ยง

ไม่ควรใส่รูปภาพ

เป็นหนึ่งข้อถกเถียงใหญ่ๆ ในวงการหางานเลยก็ว่าได้ เพราะหลายคนต้องเคยได้ยินเรื่องคำแนะนำในการใส่รูปบนเรซูเม่มาไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ดี ข้อที่อยากแนะนำคือไม่ใส่ไว้ก่อนก็จะเป็นการดีค่ะ เพราะแม้ว่าในไทยยังคงฮิตการใส่รูปภาพบนเรซูเม่กันอยู่ แต่ตาม Format เรซูเม่พวกบริษัทต่างประเทศในปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อย require รูปภาพของผู้สมัครเท่าไหร่แล้ว 

ดังนั้น หากเงื่อนไขในประกาศรับสมัครไม่ได้ระบุไว้ ในเบื้องต้นก็ไม่จำเป็นต้องใส่รูปภาพลงไปค่ะ แต่ทางที่ดีควรเช็คกับบริษัทก่อนว่าจำเป็นต้องใส่รูปภาพไหม

ไม่ใช้อีเมลที่ไม่ Professional

อีเมลสมัครงานที่ดีควรเป็นอีเมลมีชื่อที่ความเป็นทางการ การเขียนอีเมลส่วนตัว อีเมลที่เป็นชื่อเล่น หรืออีเมลที่มีคำไม่สุภาพไม่เหมาะสมก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของคุณดูน้อยลงได้

หากเป็นไปได้คุณควรจะสมัครอีเมลใหม่เพื่อใช้สำหรับการสมัครงานและการทำงานโดยเฉพาะ เช่น อีเมล ชื่อ.นามสกุล@gmail.com หรือ ชื่อ.นามสกุลตัวแรก@gmail.com เป็นต้น

ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวที่มากเกินจำเป็น 

เป็นอีกจุดนึงที่หลายคนมักพลาดอยู่บ่อยๆ เพราะคุณไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดข้อมูลบนเรซูเม่มากนัก 

ข้อมูลจำพวกอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง วันเกิด หรือสถานภาพการสมรส เป็นข้อมูลที่ไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาเรื่องสมัครงานอยู่แล้ว (เว้นเสียแต่ว่าคุณกำลังจะแคสงานแสดงหรืองานโมเดลลิ่ง)

นอกจากนี้ การให้ข้อมูลส่วนตัวที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่อคติหรือการด่วนตัดสินจากทัศนคติส่วนตัวของผู้คัดเลือกได้เช่นกัน

ไม่ทำเรซูเม่แบบหว่านแห

ข้อนี้ก็คล้ายๆ กับการปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับตำแหน่งงานที่สมัคร แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือนอกจากจะปรับเนื้อหาแล้ว คุณควรทำให้แน่ใจว่าเรซูเม่ชิ้นนั้นเป็นชิ้นที่ทำขึ้นเพื่องานตำแหน่งนั้น และบริษัทนั้นโดยเฉพาะ

นั่นก็เป็นเพราะว่า Job Describtion หรือ Job Duty ของงานในแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งงานที่มีชื่อตำแหน่งเหมือนกัน ก็อาจมีขอบเขตหน้าที่ที่แตกต่างกันได้เมื่อนำไปเทียบกับเนื้องานในอีกบริษัท

นอกจากนี้ การใช้คำกลางๆ คำคลุมเครือให้สามารถครอบคลุมงานได้หลายตำแหน่งนั้นก็อาจถูกปัดตกได้ เพราะบริษัทใหญ่หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศ ใช้ระบบ ATS (Application Tracking System) หรือระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์คัดกรองเรซูเม่ผู้สมัครก่อนในขั้นแรก

ไม่จำเป็นต้องใส่เกรดเฉลี่ย หากได้เกรดน้อย

หลายคนอาจเคยได้ยินว่าให้ใส่เกรดของตัวเองลงบนเรซูเม่ แต่แท้จริงแล้ว หัวใจของการเขียนเรซูเม่คือการโชว์จุดเด่นของคุณออกมาให้ได้มากที่สุด ดังนั้น หากคุณมีเกรดเฉลี่ยที่ไม่ได้สูงมากนัก (น้อยกว่า 2.75) ก็คงเป็นการดีกว่าหากคุณเก็บจุดอ่อนเอาไว้

ทริคง่ายๆ สำหรับการเขียนเรซูเม่ของคนที่เกรดน้อยคือ ไม่ต้องระบุเกรดเฉลี่ย แต่ระบุแค่ชื่อสถาบันการศึกษา คณะ และสาขาวิชาที่เรียน แล้วไปเน้นในส่วนของทักษะหรือประสบการณ์การทำงานให้เหมาะกับตำแหน่งงานที่เราสมัครไป

สรุป

การทำ Resume ไม่ได้ดูยากอย่างที่คิด เพียงแค่มีตัวช่วยดีๆ อย่างเว็บไซต์ช่วยออกแบบ Resume ฟรี เพียงแค่นี้การสมัครงานของคุณก็จะดู Professional มากขึ้นแล้วค่ะ

ก่อนจะลากันไป ขอสรุปทริค Do & Don’t บนเรซูเม่อีกรอบกันนะคะ

Do

  1. แบ่งแต่ละส่วนให้ชัดเจน
  2. ใช้คำให้เข้าใจง่ายแต่ทรงพลัง
  3. ปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับตำแหน่งงาน
  4. เพิ่มประสบการณ์การทำงานอาสาสมัครลงไปด้วย
  5. ตรวจทานคำผิดและข้อมูลการติดต่อหลายๆ รอบ

Don’t

  1. ไม่ควรใส่รูปภาพ
  2. ไม่ใช้อีเมลที่ไม่ Professional
  3. ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวที่มากเกินไป
  4. ไม่ทำเรซูเม่แบบหว่านแห
  5. ไม่จำเป็นต้องใส่เกรดเฉลี่ยหากได้เกรดน้อย

ตาคุณแล้ว

เป็นยังไงกันคะกับการทำความรู้จักการเขียนเรซูเม่ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนสามารถเขียนเรซูเม่กันได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว และหากใครมีทริคในการเขียนเรซูเม่ดีๆ ก็อย่าลืมมาแนะนำกันนะคะ