Meta Tags คงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนทำ SEO ต้องได้ยินและได้เจอกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะนักการตลาดออนไลน์ที่เริ่มมาจับทางทำการตลาดสร้าง Organic traffic นั้น คงต้องมาทำความรู้จักและทำความเข้าใจเรื่องนี้กันเยอะเลยค่ะ

บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกทุกเรื่องของ Meta Tags ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการประยุกต์ใช้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Meta Tags คืออะไร สำคัญต่อ SEO อย่างไร Meta Tags แบบไหนที่ต้องรู้ รวมทั้งวิธีเขียน Meta Tags ที่ช่วยให้อันดับ SEO ของเว็บไซต์ดียิ่งขึ้น

Meta Tags คือ อะไร

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันว่า Meta Tags คืออะไร จริงๆ แล้ว Meta Tags ก็คือ ข้อความตัวอักษร ทำหน้าที่อธิบายคอนเทนต์ในเว็บเพจหน้านั้นว่าคืออะไร เกี่ยวกับอะไร โดยจะปรากฏเฉพาะหน้า Source code ของเว็บเท่านั้น ไม่ได้ปรากฏอยู่ภายในหน้าเว็บไซต์

โดย Search engines และ Web crawlers จะใช้ Meta Tags เพื่อตัดสินว่า เว็บเพจนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร แล้วจะดึงข้อมูลจาก Meta Tags มาแสดงผลบนหน้าผลการค้นหา (Search Engine Result Page) เมื่อมีคนเสิร์ชหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Meta Tags นั้น ๆ

Meta Tags สำคัญต่อ SEO หรือไม่ อย่างไร

นักการตลาดมือใหม่ที่เริ่มลงสนามหันมาทำ SEO อาจสงสัยว่า Meta Tags กับ SEO เกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้ว Meta Tags สำคัญต่อ SEO จริงหรือ 

แน่นอนค่ะ ว่า Meta Tags สำคัญต่อการทำ SEO โดย Meta Tags มีส่วนช่วยในการจัดอันดับบนหน้า Search engines สามารถทำให้เว็บเพจหรือเว็บไซต์ของคุณติดอันดับต้นๆ รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายมีแนวโน้มคลิกเข้ามาได้ง่ายขึ้น

หากคุณต้องการเรียนรู้วิธีการทำ SEO ที่ช่วยให้บทความหรือเว็บไซต์ของคุณมีปริมาณผู้ชมมากขึ้น สอนแบบ Step by Step ตั้งแต่พื้นฐานจนทำได้ ดูได้ที่

วิธีทำ seo 2023 แบบ Step by Step รู้ครบในโพสเดียว

ต้องบอกก่อนว่า หัวใจหลักที่ช่วยให้เว็บไซต์อยู่ในอันดับต้นๆ บน Search engines ได้ ต้องประกอบด้วย คอนเทนต์ดีมีคุณภาพ และดีไซน์ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ซึ่ง Meta Tags ประเภทต่างๆ จะเข้ามาเสริมสองส่วนนี้ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่คุณควรทำความรู้จัก Meta Tags ค่ะ

มาดูกันว่า Meta Tags ใดบ้าง ที่จำเป็นต้องรู้จัก เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างเว็บไซต์และคอนเทนต์สำหรับเพิ่มอันดับ SEO ต่อไป

Meta Tags มีกี่ประเภท อะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว Meta Tags มีหลายประเภท มีหน้าที่ช่วยจัดอันดับ SEO และนำไปใช้งานแตกต่างกันไป บทความนี้จะนำเสนอเฉพาะ Meta Tags ที่จำเป็นและควรรู้จักกันก่อน พอให้คุ้นชื่อและฟังก์ชันกันนะคะ

Title Meta Tags คือ

ชื่อเพจหรือข้อมูลที่แสดงผลตรงด้านบนสุดของเว็บเบราว์เซอร์ และยังแสดงผลตรง Headline บน Search engines 

Title Meta Tags

ที่มา: Advancedwebranking

Title Meta Tags จะช่วยให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์เข้าใจได้ทันทีว่าเว็บเพจที่แสดงผลในหน้าค้นหานั้น คืออะไร เกี่ยวกับอะไร และเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขากำลังค้นหาอยู่หรือไม่ รวมทั้งทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะคลิกเข้ามาอ่านข้างในต่อหรือไม่ คุณจึงควรคิดและวางแผนว่าจะเขียน Title Meta Tags อย่างไร ให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายด้วยค่ะ

Meta Description คือ

ข้อมูลสรุปย่อเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งหมดของเว็บเพจ โดยจะแสดงผลในหน้า Search engines เป็นรายละเอียดด้านล่าง ต่อจาก Headline หรือ Title Meta Tags ค่ะ

โดยทั่วไปแล้ว Meta Description ควรอธิบายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้ทันที คุณจึงต้องสรุปเฉพาะข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายค้นหาจริงๆ 

Meta Descriptions คือ

ที่มา: Advancedwebranking

ถึงแม้ Meta Description จะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ช่วยในการจัดอันดับเว็บไซต์บนหน้า Search engines แต่การใส่ keyword ที่กลุ่มเป้าหมายใช้ค้นหาไว้ใน Meta Tags ส่วนนี้ รวมทั้งเขียนให้น่าสนใจจนคนคลิกเข้ามาในเว็บไซต์นั้น ก็ช่วยให้ Click-Through-Rate หรือ CTR ดีขึ้น ซึ่งเป็นทางหนึ่งในการเพิ่มอันดับบน Search engines ได้

Meta Tags อื่นๆ ที่ควรรู้จัก

Alternative Text (ALT) Tag คือ tag ที่ใช้ในภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์ ควรใส่คำหรือวลีที่เกี่ยวข้องกับภาพ โดยความยาวตัวอักษรอยู่ระหว่าง 50 – 55 ตัวอักษร รวมทั้งรูปภาพที่ใช้ควรเป็นไฟล์ Original ไม่ควรย่อขนาดไซส์จนลดทอนคุณภาพของไฟล์รูป

Shifu แนะนำ
หากคุณต้องการเพิ่มโอกาสให้คนเสิร์ชเจอเว็บไซต์ของเรามากยิ่งขึ้น การเพิ่ม keyword ใส่ใน ALT ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้ค่ะ เพราะการทำ SEO ไม่ได้จบอยู่ที่งานเขียนคอนเทนต์ แต่ต้องเน้นรูปภาพสอดคล้องกับเนื้อหา ประกอบกับเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเหมือนกัน แนะนำให้ดูวิธีทำ SEO รูปภาพให้ติดอันดับกันเพิ่มเติมค่ะ

Meta Robots คือ Tag ที่ทำงานร่วมกับ Search engines ช่วยให้รู้ว่า Search engines ควรสำรวจ (Crawling) ภายในเว็บไซต์อย่างไร ควรและไม่ควรไปหน้าเว็บใด รวมทั้งควรและไม่ควร Follow ลิงก์ใดภายในหน้าเว็บนั้นบ้าง

Meta Refresh Redirect คือ ชุดคำสั่งที่ช่วยกำหนดการ Redirect ผู้ใช้งานในเว็บไซต์ ไปยัง URL อื่น ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจส่งผลต่อ SEO ด้วย เพราะ Meta Tags ตัวนี้ ไม่ซัพพอร์ตกับเว็บเบราว์เซอร์ทุกแบบ รวมทั้งอาจทำให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์รู้สึกยุ่งยาก เกิดความสับสน และคิดว่าเว็บไซต์นี้ไม่ปลอดภัยได้

Meta Charset คือ ตัวอักษรเข้ารหัสในหน้าเว็บเพจ ช่วยทำให้ตัวอักษรหรือข้อความแสดงบนหน้าเว็บได้อย่างถูกต้อง Meta Charset มีกลุ่มตัวอักษรเข้ารหัสหลายร้อยกลุ่ม แต่ที่ใช้กันทั่วไปอย่างแพร่หลายมี 2 กลุ่ม ได้แก่ UTF-8 (ตัวอักษรเข้ารหัสของ Unicode) และ ISO-8859-1 (ตัวอักษรเข้ารหัสสำหรับ Latin alphabet)

Meta Viewpoint คือ Tag ที่ช่วยกำหนดพื้นที่ในการแสดงเว็บเพจให้เหมาะสมและรองรับกับอุปกรณ์ที่เข้าถึงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเลต หรือสมาร์ทโฟน 

Meta Viewpoint

ที่มา: ahrefs

Meta Tag ตัวนี้ มีส่วนช่วยในการจัดอันดับบนหน้าการค้นหา เพราะ Google จะให้คะแนนเว็บไซต์ที่ออกแบบ UX รองรับกับสมาร์ทโฟนของผู้ใช้งาน หรือที่เรียกว่า Mobile-user friendly

Social Media Meta Tags มีสองส่วนด้วยกัน ได้แก่ Open Graph Meta Tags ซึ่งช่วยโปรโมตเว็บไซต์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ลิงก์อิน กูเกิล และเว็บไซต์ต่างๆ ที่แชร์เว็บเพจนั้น และ Twitter Cards ที่ช่วยโปรโมตเว็บเพจผ่านทางทวิตเตอร์

Social Media Meta Tags

ที่มา: wpexploror

Header Tags คือ Tag ที่ใช้สร้าง Header ต่างๆ ภายในเว็บเพจ ซึ่งเรียงจาก Header ใหญ่สุดไปยังเล็กสุด ได้แก่ H1 H2 H3 H4 H5 และ H6 

Meta Tags เขียนอย่างไรให้ดีต่อ  SEO

Meta Tags จะส่งผลให้อันดับการค้นหาเว็บไซต์ของคุณดีขึ้นได้ในกรณีที่ CTR เพิ่มขึ้น แน่นอนว่า Meta Tags ที่ดี ก็มีส่วนกระตุ้นให้คนอยากจะคลิกเข้ามายังเว็บไซต์เราเช่นกัน การเขียน Meta Tags ที่ดึงดูดและน่าสนใจนั้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่้เราไม่ควรมองข้ามค่ะ

วิธีเขียน Meta Tags ที่นำมาฝากกันวันนี้ จะเน้นไปที่ Title Meta Tags และ Meta Description ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

วิธีเขียน Title Meta Tags

Title Meta Tags ที่ดี กระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายคลิกเข้ามาอ่านนั้น ต้องมีลักษณะ ดังนี้

  • Headline ควรสื่อสารใจความสำคัญหรือเนื้อหาภาพรวมของเว็บเพจ
  • ควรระบุ Keyword ไว้ในช่วงต้นๆ ของ Headline
Shifu แนะนำ

แม้จะเป็นคำสั้น ๆ เพียงคำเดียว แต่ Keyword ถือเป็นแกนหลักในการทำ SEO เลยก็ว่าได้ การคิดและวางแผน Keyword ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและภาพรวมทั้งหมดของเว็บเพจแต่ละหน้านั้น จึงสำคัญไม่แพ้กัน 

โดยคุณสามารถค้นหาได้จาก keyword planner หรือ Ubersuggest โปรแกรมทำ SEO ที่เป็นมากกว่าค้นหาคำหลัก แต่ยังช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้คุณมีไอเดียมาทำ SEO ให้เว็บเพจน่าสนใจและหลากหลายยิ่งขึ้น ลองมาติดตามรีวิวการใช้งาน Ubersuggest ได้เลยค่ะ

  • ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่ใช้สื่อสารตามธรรมชาติ ไม่ยัดเยียด Keyword มากเกินไป
  • ควรเขียน Title Meta Tags เฉพาะของแต่ละเว็บเพจ ไม่ควรใช้ Title Meta Tags อันเดียวกับทุกเว็บเพจ
  • ควรใส่ชื่อแบรนด์ของคุณต่อท้ายข้อความ Headline ทุกครั้ง ในกรณีที่พอมีพื้นที่เขียนได้อยู่
  • ครีเอตข้อความให้มีความยาวประมาณ 60 – 64 ตัวอักษร เพราะข้อความอาจแสดงไม่ครบกรณีที่เขียนยาวมากกว่านั้น
  • เน้นเนื้อหาสั้น กระชับ ได้ใจความ
  • เลี่ยงการใช้คำบรรยายทั่วไป คลุมเครือ ไม่ชัดเจน
  • ‘ดึงดูด' ให้คนคลิก ไม่ใช่ ‘หลอกล่อ' ให้คลิก 

นอกจากนี้ คุณอาจตรวจสอบว่า Title Meta Tags ที่เขียนนั้น มีความยาวเหมาะสม และแสดงผลได้จริงหรือไม่ ด้วยเครื่องมือ SERPSim ซึ่งใช้ได้ฟรีค่ะ

SERPSim เครื่องมือตรวจ Title Meta Tags

หาก Title Meta Tags สั้นไป ก็ควรเพิ่มเติมข้อความลงไปค่ะ

Title Meta Tags 1

แต่หากขึ้นแถบสีแดง แสดงว่าข้อความของคุณยาวเกินไป จำเป็นต้องตัดทอนข้อความออกให้เหมาะสมนะคะ

Title Meta Tags 2

วิธีเขียน Meta Description

การเขียน Meta Description ให้น่าอ่าน และทำให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ได้มากยิ่งขึ้น มีดังนี้

  • เว็บเพจแต่ละหน้าควรมี Meta Description เฉพาะของเว็บเพจหน้านั้นๆ
  • เน้นสรุปเนื้อหาภาพรวม กระชับ ชัดเจน
  • ควรมี Keyword อยู่ใน Meta Description โดยเนื้อหาต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายกำลังค้นหา
  • สื่อสารออกมาได้น่าสนใจ กระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายอยากคลิกเข้ามาอ่านเนื้อหาข้างในมากขึ้น
  • ควรมี CTA หรือ Call-to-Action เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้ว่าต้องทำอะไร และจะได้อะไรจากการคลิกเข้าไปในเว็บไซต์
  • ความยาวของ Meta Description ที่ดี ควรอยู่ระหว่าง 150 – 154 ตัวอักษร หากข้อความยาวเกินไป จะแสดงผลบนหน้าการค้นหาได้ไม่ครบ
  • ‘ดึงดูด' ให้คนคลิก ไม่ใช่ ‘หลอกล่อ' ให้คลิก วิธีการเขียน Meta Descriptions

หากคุณต้องการตรวจสอบว่า Meta Description ที่เขียนนั้นโอเคหรือไม่ ก็ทำได้ โดยตรวจจาก SERPSim หรือ Yoast เหมือนตรวจสอบ Title Meta Tags ได้เลยค่ะ

สรุป

Meta Tags ถือเป็นหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยให้การทำ SEO สำหรับเว็บไซต์ง่ายขึ้น รวมทั้งมีอันดับที่ดีขึ้นได้ ถึงแม้ Meta Tags จะมีอยู่หลายตัว หลายประเภท แต่ก็มี Meta Tags บางตัวเท่านั้นที่ต้องใส่เข้าไปทุกครั้งในการสร้าง Organic traffic โดย Meta Tags เหล่านั้นจะช่วยเสริม Elements แต่ละส่วนภายในเว็บไซต์ของคุณให้มีคุณภาพ และตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ค่ะ

New call-to-action

ตาคุณแล้ว

บทความนี้เป็นเพียงใบเบิกทาง ที่ทำให้คุณรู้จักหนึ่งในอาวุธช่วยเพิ่มอันดับ SEO ให้กับเว็บไซต์คุณได้ Meta Tags ยังมีเทคนิคอีกมากมายที่ต้องศึกษา พร้อมกับอัปเดตข้อมูลอัลกอริธึ่มของกูเกิลและ search engines อื่น ๆ ควบคู่กันไป 

และวิธีที่จะช่วยให้คุณรู้ว่า ควรลงลึกประเด็นใดเกี่ยวกับเทคนิคการสร้าง Meta Tags ขั้นกว่าได้นั้น ก็คือ เริ่มลงมือทำด้วยตัวเองค่ะ เพราะความรู้จากการจดจำ ก็สู้การลงมือทำจริง ซึ่งช่วยให้เห็นผลไม่ได้แน่นอน